Image

ปริศนา “หงส์รามัญ”
หัตถกรรมพื้นบ้านเกาะเกร็ด

Hidden (in) Museum]

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

พบของดีตั้งอยู่ในเขต “วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร” เกาะเกร็ด นนทบุรี

เมื่อขึ้นท่าเรือชื่อเดียวกับวัดเดินเยื้องไปทางเจดีย์มุเตา จะเจออาคารสองชั้นสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเคยเป็นกุฏิอดีตเจ้าอาวาส แล้วปรับเป็นหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา เล่าของดีชาวมอญเกาะเกร็ด

บริเวณที่เปิดให้ชมคือห้องชั้นล่าง ทักทายผู้มาเยือนด้วยหุ่นช่างทำเครื่องปั้นนั่งทำงานหน้าเตาเผาจำลอง เดิมทุกหมู่บ้านจะลงขันสร้าง “เตาหลังเต่า” ตามวิถีมอญไว้ใช้ร่วมกัน (ภายหลังเปลี่ยนมาใช้ “เตาแมงป่อง” ขนาดใหญ่แบบจีน) เพื่อนำเข้าสู่โลกศิลปวัฒนธรรมของชาวมอญผู้อพยพมาตั้งรกรากที่เกาะเกร็ดตั้งแต่ยุคปลายกรุงธนบุรี  หนุ่มมอญมีทักษะด้านเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะของชิ้นใหญ่อย่างโอ่ง อ่าง หม้อ ครก กระถาง จึงปั้นใช้เองในครัวเรือน  ต่อมาเริ่มผลิตแลกข้าวปลาอาหารและของใช้จำเป็นจากคนนอกชุมชน  นับเป็นจุดกำเนิดชื่อเสียง “เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด”

นิทรรศการยังฉายสภาพแวดล้อม-อดีตของชุมชนผ่านวีดิทัศน์ในช่วงเวลาน่าสนใจ อย่างปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ที่เกิดอุทกภัย ชาวเกาะเกร็ดไม่สามารถปั้นเครื่องใช้ดินเผาจำหน่าย  ปี ๒๕๔๐ รัฐช่วยเหลือโดยให้ร่วมโครงการ Amazing Thailand พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ  แต่นั้นเกาะเกร็ดก็ถึงกาลปรับตัวสู่ชุมชนการค้าเต็มรูปแบบ ย่อส่วนของใช้ขนาดใหญ่เป็นของที่ระลึก รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้-สอนปั้นแก่ผู้สนใจ  เลื่องลือว่าดินเหนียวเกาะเกร็ดเหมาะทำเครื่องปั้นดินเผาที่สุด ครั้นใช้จนแทบหมดชุมชน จึงต้องซื้อจากจังหวัดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง  ปัจจุบันนิยมดินเหนียวจากอ่างทอง

Image

ในห้องเล็กเป็นระเบียบด้วยเครื่องปั้นดินเผาหลากรูปทั้งมี-ไม่มีลวดลายตามแต่จะปั้นเพื่อเหตุใด หากเป็นโอกาสพิเศษหรือมอบแก่บุคคลสำคัญจะรังสรรค์รูปทรง-ฉลุลายงดงาม กระทั่งฝาภาชนะก็ประดับรูปปั้นแกะสลักอวดฝีมือเชิงช่างเป็นเกียรติแก่ฐานะทางสังคมของผู้ครอบครอง

ท่ามกลางเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อเครื่องดินไม่เคลือบสีส้มอ่อน-เข้มบ้างเป็นสีดำจากการผสมแกลบในขั้นตอนเผาด้วยไฟอุณหภูมิสูง น่าสนใจรูปปั้น “หงส์” สัตว์สัญลักษณ์ของชนชาติมอญแต่โบราณ ที่ปั้นจากดินเหนียว ความสูงราวกระถางปลูกไม้พุ่ม บรรจงแกะสลัก-กรีดลายพิถีพิถัน...โดยไม่เผา

นั่นหมายถึงต้องถนอมให้ห่างน้ำและความชื้นสูง ป้องกันไม่ให้ผลงานอันวิจิตรคืนสู่สภาพดิน แต่หากผ่านการเผาพลังงานความร้อนที่อุณหภูมิสูง จะทำปฏิกิริยาเคมีกับผลึกดินให้เนื้อวัสดุคงทนแข็งแรง สัมผัสน้ำได้สบาย เหมาะกับภูมิศาสตร์ของชุมชนชาวเกาะที่ล้อมรอบด้วยน้ำ

ทว่าไม่มีคำอธิบายหน้าสิ่งจัดแสดงถึงเหตุที่ช่างปั้นไม่เผาหงส์มอญชิ้นโบแดงนี้ แต่คาดว่าเป็นใครก็คงยอมลุ้นรอดจากอุทกภัยทุกปีดีกว่าเสี่ยงส่งผลงานที่หวงแหนเข้าเตาเผาแล้วเกิดเหตุไม่คาดคิดในพริบตา

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู  

หอไทยนิทัศน์
เครื่องปั้นดินเผา

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร 
หมู่ ๗ ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐

เปิดให้บริการ วันจันทร์-ศุกร์ 
เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. 

วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ 
เวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น.

โทร. ๐-๒๕๘๔-๕๑๒๐