Image

“เปิงด้าจก์”
ข้าวแช่มอญดับร้อน
แบบไทยๆ

Image

คิด-cool

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ยุคที่ยังไร้ไฟฟ้า อาหารการกินล้วนสัมพันธ์กับฤดูกาล

เมื่อฤดูร้อนมาเยือน ชาวมอญรู้จักนำข้าวสุกขัดยางข้าวออก ต้มในน้ำสะอาด อบควันเทียนและดอกไม้หอมอย่างกุหลาบมอญ มะลิ กระดังงา ตามแต่จะหาได้ในรั้วบ้าน แล้วเก็บรักษาอุณหภูมิในหม้อดินเผาใบใหญ่ข้ามคืนจนได้น้ำเย็น เรียกอาหารนั้นว่า “เปิงด้าจก์” แปลว่าข้าวน้ำ

ถึงคราวกินก็จับคู่ “ลูกกะปิทอด” ที่ผสมรสจากหลากวัตถุดิบ

ที่เห็นตรงหน้าคือสูตรของ “ร้านคุณป้าสุดจิตร” เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผสมเนื้อหมู ตะไคร้ กระชาย หัวหอม หัวกะทิ แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลม ๆ พอดีคำ ทอดให้กรอบ

ส่วนผสมเดียวกันยังนำมาทำ “พริกหยวกสอดไส้” หรือ “หัวหอมแขกยัดไส้” โดยคว้านไส้พริกหยวกหรือหัวหอมแขกออก แล้วยัดลูกกะปิใส่แทน ก่อนนำไปชุบไข่และแป้งสาลีแล้วทอดจนเป็นสีเหลืองทอง

Image

ยิ่งอร่อยเมื่อกินเคียงเครื่องผัดหวาน อย่างหมูฝอย ไชโป๊ผัดไข่ กระเทียมดองผัดไข่ ช่วยให้อิ่มท้องแบบได้คลายร้อนและหอมน้ำดอกไม้ชื่นใจ

คนไทยรู้จักสำรับนี้ในชื่อ “ข้าวแช่ชาววัง” นับแต่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีเชื้อสายมอญ ได้ปรุงข้าวแช่ขึ้นถวายคราวแปรพระราชฐานยังพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และถ่ายทอดวิธีทำข้าวแช่แก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในราชสำนักและเพชรบุรี

ต่อมาข้าวแช่ได้รับการเผยแพร่นอกวังและปรับปรุงสูตรจนเป็นที่นิยมของประชาชน ปัจจุบันยังหากินได้ตามชุมชนมอญในไทยและจังหวัดเพชรบุรี


แต่ยุคโลกร้อน น้ำเย็นคงไม่พอ จึงใส่น้ำแข็งในข้าวแช่ด้วย