ถั่วเน่าคืออาหารที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมไทใหญ่ โดยเฉพาะถั่วเน่าแผ่นที่ทุกครอบครัวต้องมีไว้ติดบ้าน
จากถั่วเหลือง
สู่ถั่วเน่า
รากเหง้าของชาวไทใหญ่
ไทยเจริญรส
เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
คนไม่เคยรู้จักอาจนึกฉงนกับอาหารที่พ่วงคำว่า “เน่า” หรือคนไม่เคยกินเมื่อได้ชิมคำแรกอาจถึงขั้นหน้าเบ้รับไม่ไหวกับกลิ่นรสแรงขึ้นจมูกที่มีเอกลักษณ์ของถั่วเน่า
ชาวบ้านในชุมชนไทใหญ่ บ้านปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ผลิตถั่วเน่าแผ่นส่งขายให้หลายจังหวัด
เชื้อราขาว
และถั่วเน่าซา
วนิจชญา กันทะยวง หรือ “หลิว” นอกจากรับผิดชอบงานอยู่ในเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยแล้ว เธอยังเปิดบ้านพักของครอบครัวเป็นโฮมสเตย์ ต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจอยากมาสัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านต่อแพและชุมชนใกล้เคียง
ช่วงเช้าวันนี้ วนิจชญาตั้งใจพาผู้มาเยือนไปเยี่ยมชมการทำถั่วเน่าที่บ้านของ “บุญ” หญิงชาวไทใหญ่ที่ชุมชนบ้านหลวงซึ่งอยู่ติดกับบ้านต่อแพ
บ้านต่อแพมีประชากรราว ๓๐๐ ครัวเรือน ส่วนบ้านหลวงมีขนาด ๑๐๐ กว่าครัวเรือน เดิมเคยเป็นชุมชนเดียวกันก่อนจะแยกเป็นสองหมู่บ้านภายหลัง โดยชาวบ้านทั้งสองฝ่ายล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องที่ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ
เมื่อพวกเราไปถึงบ้านของบุญ เธอกำลังนั่งคัดเลือกเมล็ดถั่วเหลืองในกระจาดอยู่ที่ลานหน้าบ้านท่ามกลางแสงแดดอ่อน
ถั่วเหลืองเหล่านี้เป็นผลิตผลจากไร่ที่บุญและสามีปลูกเอง เมื่อจะนำมาหมักทำถั่วเน่า ขั้นแรกก็ต้องคัดให้ได้เมล็ดสมบูรณ์ที่สุด โดยคัดแยกเมล็ดลีบเล็ก มีสีดำ รวมทั้งสิ่งสกปรก เช่น กรวด หิน ดิน ทราย ฯลฯ ออกไปให้หมด ก่อนนำไปต้ม
ขณะที่บุญเทถั่วเหลืองลงหม้ออะลูมิเนียมแล้วยกไปตั้งไฟบนเตาฟืน วนิจชญาอธิบายว่า ระหว่างการต้มต้องเติมฟืนตลอด เพื่อให้ได้ความร้อนสูงจนน้ำเดือดจัด กระทั่งเมล็ดถั่วเหลืองเปื่อยยุ่ยได้ที่ ปรกติใช้เวลาราว ๓-๔ ชั่วโมง
“ชาวบ้านที่นี่ไม่ทำถั่วเน่าในฤดูฝนเพราะไม่ค่อยมีแดด แต่จะเริ่มทำช่วงต้นฤดูหนาวอย่างนี้ แล้วจะทำกันมากในเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งแดดจัด และเป็นช่วงพักจากงานเกษตรในไร่นา” วนิจชญาเล่าเพิ่มเติมระหว่างรอการต้มถั่วเหลืองให้ได้ที่
การต้มถั่วเหลืองต้องใช้ไฟแรงให้น้ำเดือดจัดกระทั่งเมล็ดถั่วเหลืองเปื่อยยุ่ยได้ที่
ขั้นตอนการทำถั่วเน่า เริ่มจากนำเมล็ดถั่วเหลืองไปต้มให้สุกแล้วจึงนำไปหมัก
“ผู้หญิงจะทำถั่วเน่าเป็นหลัก ผู้ชายมาช่วยได้บ้าง สมัยก่อนทุกบ้านมักทำถั่วเน่ากินเอง จะ ‘เอามื้อ’ กัน พวกผู้หญิงจะมาช่วยกันทำถั่วเน่าเวียนไปแต่ละบ้าน อย่างวันนี้ทำที่บ้านนี้เสร็จ อีกวันก็ย้ายไปช่วยอีกครอบครัวหนึ่ง ก็เป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเรียนรู้เรื่องการเตรียมอาหารให้ครอบครัว”
มาถึงปัจจุบัน ชาวชุมชนไม่ได้ทำถั่วเน่ากินเองทุกบ้าน ในรายของบุญนอกจากทำถั่วเน่าไว้กินเองในครอบครัว เธอยังทำส่งขายตลาด และแบ่งขายให้เพื่อนบ้านร่วมชุมชน
“ในชุมชนเรายังมีการแบ่งปันกัน” วนิจชญากล่าวต่อ “อย่างบางครอบครัวมีเมล็ดถั่วเหลือง แต่ไม่มีเครื่องมือทำถั่วเน่า เขาก็เอาเมล็ดถั่วเหลืองมาให้คนทำเช่นบุญ สมมุติเอาถั่วเหลืองมาให้ ๑ ถัง ทำถั่วเน่าแผ่นได้ ๑๐ กิโล ก็จะแบ่งกันคนละ ๕ กิโล”
กระทั่งน้ำในหม้อต้มเดือดปุด ๆ ส่งไอน้ำสีขาวพวยพุ่ง บุญใช้กระบวยไม้คนดูว่าเมล็ดถั่วเหลืองในหม้อเปื่อยได้ที่แล้ว ก็ยกหม้อเทถั่วเหลืองที่ยังส่งควันฉุยลงไปใน “ก๋วย” หรือตะกร้าไม้ไผ่สานที่กรุด้วยใบตองตึง จากนั้นปิดปากก๋วยให้มิดชิดทั้งที่ภายในยังร้อนกรุ่น แล้วนำไปตั้งตากแดดเพื่อหมักทิ้งไว้ราว ๒-๓ วัน
วนิจชญาอธิบายว่า “ขั้นตอนนี้สำคัญ คือต้องใส่ถั่วเหลืองลงไปในก๋วยขณะที่มันกำลังร้อนอยู่ แล้วก๋วยต้องกรุด้วยใบตองตึงหรือใบตองสักเท่านั้น เพราะมีคุณสมบัติเก็บความร้อนได้ดี ระหว่างที่หมักห้ามเปิดฝาก๋วยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้อากาศหรือความเย็นข้างนอกเข้ามา เราต้องการเก็บความร้อนไว้ข้างใน”
หัวใจสำคัญของการเก็บกักความร้อนไว้ในก๋วย ก็เพราะต้องการให้แบคทีเรียที่ทนความร้อนได้ดีอย่างแบคทีเรียในกลุ่มบาซิลลัส (Bacillus sp.) ช่วยทำหน้าที่ในกระบวนการหมัก เพื่อเปลี่ยนถั่วเหลืองให้กลายเป็นถั่วเน่า
ถั่วเน่าที่หมักได้ดีต้องมีสีอ่อน ไม่เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นที่เกิดจากการหมักมีเมือกลื่นเล็กน้อย และที่สำคัญต้องมีราสีขาวขึ้นฟู
“การหมักถั่วเน่าถ้าไม่ขึ้นราจะไม่อร่อย ในทางวิทยาศาสตร์บอกว่าเชื้อราสีขาวเป็นราดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่เหมือนราดำที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง” วนิจชญาบอก
ถั่วเน่าที่หมักได้ในขั้นตอนนี้เรียกว่า “ถั่วเน่าซา” ซึ่งในภาษาไทใหญ่คำว่า “ซา” หมายถึงรานั่นเอง
ถั่วเหลืองที่ผ่านกระบวนการหมักกลายเป็น “ถั่วเน่าซา” ที่มีราขาวขึ้น
การทำถั่วเน่าแผ่นต้องนำถั่วเน่าซาไปบดให้เป็นเนื้อละเอียด สมัยก่อนชาวบ้านใช้ใบตองฮุกรองฝ่ามือ
ช่วยในการปั้นและรีดเป็นแผ่น
ถั่วเน่าแข็บ
และ
ความมั่นคง
ทางอาหาร
ถั่วเน่าซาเรียกได้ว่าเป็นถั่วเน่าตั้งต้น ที่นำไปปรุงหรือแปรรูปเป็นถั่วเน่าชนิดอื่นต่อไป ได้แก่ “ถั่วเน่าเมอะ” และ “ถั่วเน่าแข็บ” หรือถั่วเน่าแผ่น
ถั่วเน่าเมอะทำโดยนำถั่วเน่าซาไปโขลกหรือบดให้เป็นเนื้อละเอียด ใส่เกลือ หอมแดง กระเทียม และพริกแห้งลงไปด้วยเพื่อปรุงรส จากนั้นห่อด้วยใบตองแล้วเอาไปนึ่งหรือย่างไฟ
คนที่เคยเดินเที่ยวตลาดสดของจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ อาจเคยพบถั่วเน่าเมอะวางขายตามแผงอยู่ทั่วไป
“คนทางภาคเหนือไม่ว่าคนเมืองหรือกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ กินถั่วเน่ากันทั้งนั้น แต่โดยมากเขาจะกินถั่วเน่าซาและถั่วเน่าเมอะ” วนิจชญาบอก
“ส่วนถั่วเน่าแข็บหรือถั่วเน่าแผ่นมักมีแต่คนไทใหญ่ที่ทำกินกัน”
เช่นเดียวกับการหมักถั่วเน่าของบุญในวันนี้ ก็มีปลายทางอยู่ที่นำไปทำเป็นถั่วเน่าแข็บนั่นเอง
วนิจชญาเล่าว่า การทำถั่วเน่าแข็บในสมัยก่อนจะใช้ครกตำถั่วเน่าซาให้ละเอียด ปั้นให้เป็นก้อนกลม จากนั้นใช้ใบตองฮุกประกบแล้วใช้มือรีดให้เป็นแผ่นกลมแบน ก่อนนำไปตากแดด
สาเหตุที่ใช้ใบตองฮุกเพราะผิวของมันมีขนอ่อนอยู่ทั่วไป ทำให้ลื่น ไม่ติดเนื้อของถั่วเน่าที่บดแล้ว จึงช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
ตัดภาพกลับมายุคปัจจุบัน เครื่องจักรเข้ามามีบทบาทช่วยทุ่นแรงในการทำถั่วเน่าแผ่นมากขึ้น
บุญเทถั่วเน่าซาที่เธอหมักใส่ก๋วยไว้แล้วก่อนหน้านี้ลงถัง แล้วยกไปเทใส่เครื่องโม่ไฟฟ้าเพื่อบดให้ละเอียด จากนั้นปั้นเป็นก้อนกลม ใช้แผ่นพลาสติกบาง ๆ ประกบด้านบนและล่าง แล้วนำไปวางบนเครื่องหนีบ ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่นไม้หนาสี่เหลี่ยมที่ติดบานพับกับไม้อีกแผ่นสำหรับกดทับด้านบน
วางเรียงถั่วเน่าแผ่นบนตะแกรงไม้ไผ่ก่อนนำไปตากแดด
“พ่อเล่าว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวบ้านต้องวิ่งลงหลุมหลบภัยที่ไทใหญ่เรียกกันว่า ‘รู’ พวกเขาเอาข้าวกับถั่วเน่าแผ่นติดไปด้วย ทำให้มีชีวิตรอดได้”
วนิจชญา กันทะยวง
ถั่วเน่าแผ่นที่ตากแดดจนแห้งสนิทสามารถเก็บไว้กินได้นานนับปี
น้าผู้หญิงของบุญเป็นคนช่วยกดแผ่นไม้ ก้อนถั่วเน่าถูกหนีบจนกลายเป็นแผ่นกลมแบนเรียบเสมอกัน เมื่อลอกพลาสติกออกก็นำไปวางเรียงไว้บนตะแกรงไม้ไผ่สาน
จากนั้นบุญยกตะแกรงไม้ไผ่ที่มีถั่วเน่าแผ่นวางเรียงรายอยู่เต็มไปตั้งตากแดดกลางแจ้ง
ขณะที่ถั่วเน่าซาและถั่วเน่าเมอะมีอายุการเก็บได้ไม่กี่วัน แต่ถั่วเน่าแข็บที่ตากแดดจนแห้งสนิทเป็นสีน้ำตาลเข้มเก็บไว้ได้นานนับปี หากจะกินเมื่อไรก็นำมาย่างไฟอ่อน ๆ แล้วค่อยนำไปปรุงอาหาร
“การทำถั่วเน่าแผ่นจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารของคนไทใหญ่” วนิจชญากล่าว
“อย่างที่พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวบ้านต้องวิ่งลงหลุมหลบภัย ที่ไทใหญ่เรียกกันว่า ‘รู’ พวกเขาจะเอาข้าวกับถั่วเน่าแผ่นติดไปด้วย ถึงไม่มีอะไรกินก็กินถั่วเน่ากับข้าว ทำให้มีชีวิตรอดได้
“ผู้เฒ่าผู้แก่จึงสอนให้รู้จักเตรียมความพร้อมในการดูแลครอบครัว แต่ละบ้านจะต้องมีถั่วเน่าแผ่นที่ตากแดดเตรียมไว้กินเต็มกระบุงตลอดทั้งปี ในยามวิกฤตทั้งเกิดสงคราม โรคระบาด หรือข้าวยากหมากแพง อย่างน้อยพวกเรายังมีข้าวกับถั่วเน่าไว้กิน
“มาถึงยุคปัจจุบันที่เกิดการระบาดของโรคโควิด บางครอบครัวที่ติดเชื้อจนต้องกักตัว ในบ้านเขามีข้าวกับถั่วเน่าก็ทำให้ผ่านช่วงเวลานั้นได้โดยไม่ลำบากนัก...”
ชาวบ้านต่อแพทำถั่วเน่าในช่วงที่ฝนไม่ตกและมีแดดจัด
ตั้งแต่ต้นฤดูหนาวไปจนถึงราวเดือนเมษายน
คุณค่า
ทางอาหาร
ที่มาพร้อม
คุณค่าทางใจ
วันต่อมา วนิจชญาเข้าครัวตั้งแต่เช้า เทถั่วเน่าซาที่ได้จากบ้านของบุญใส่ถ้วยเตรียมไว้ เธอตั้งใจจะทำอาหารไทใหญ่ดั้งเดิมให้แขกที่มาพักโฮมสเตย์ได้ลองชิมกัน
“เมนูนี้คือ ‘ถั่วเน่าซาคั่ว’ โดยใช้ถั่วเน่าซา พริก กระเทียม หอมแดง เกลือ มะเขือเทศ ผงขมิ้น ตะไคร้” เธออธิบายขั้นตอนการทำว่า “เราโขลกพริกกับเกลือ ตะไคร้ และกระเทียมเข้าด้วยกันก่อน แล้วเอาลงไปคั่วในกระทะที่ตั้งไฟอ่อนใส่ผงขมิ้น หลังจากนั้นค่อยเอามะเขือเทศใส่ลงไปกับหอมแดง คั่วไปสักพักหนึ่ง สังเกตดูว่าส่วนผสมเริ่มเคี่ยวเข้ากัน แล้วมีกลิ่นหอม เราค่อยเอาถั่วเน่าซาลงไปคั่ว สักนาทีเดียว คั่วให้มันเข้ากัน ก็ยกเสิร์ฟได้”
วนิจชญาบอกว่าถั่วเน่าซาคั่วนั้นกินกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวยก็เข้ากันได้ดี และจะยิ่งอร่อยถ้ากินแนมกับสารพัดผักสด เช่น “หอมด่วน” หรือใบสะระแหน่ รวมทั้งแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว ฯลฯ
ในทางโภชนาการมีข้อมูลระบุว่าถั่วเน่าอุดมไปด้วยโปรตีน เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุ เช่น เหล็ก แคลเซียม รวมทั้งวิตามิน B2 และ B12 ดังนั้นถั่วเน่าซาคั่วจึงนับเป็นอาหารไทใหญ่ที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะนอกจากถั่วเน่าแล้วยังมีส่วนผสมของบรรดาพืชสมุนไพร เช่น พริก ขมิ้น กระเทียมหอมแดง รวมทั้งบรรดาผักต่าง ๆ ที่กินเป็นเครื่องเคียง
“อาหารไทใหญ่ส่วนมากจะใส่ถั่วเน่าเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยชูรสให้กลมกล่อม โดยเฉพาะน้ำพริกต่าง ๆ เช่น น้ำพริก
ถั่วเน่า น้ำพริกอ่อง ส่วนถั่วเน่าแผ่นก็เอาไปทำผงปรุงรส โดยบดเป็นผงแล้วผสมพริกกับเกลือ ใช้โรยใส่ในแกงผัก เช่น แกงเลียง แกงฟักทอง ฯลฯ ช่วยให้อาหารอร่อยโดยไม่ต้องใส่ผงชูรสเลย”
ถั่วเน่าซาคั่ว อาหารไทใหญ่ที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ
บทบาทสำคัญของผู้หญิงไทใหญ่ เช่น วนิจชญา กันทะยวง คือการเตรียมอาหารสำหรับทุกคนในครอบครัว อาหารไทใหญ่มักมีถั่วเน่าเป็นส่วนประกอบหรือเครื่องปรุงรส
วนิจชญาเล่าว่าตั้งแต่เกิดมาเธอก็เห็นพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่กินถั่วเน่ากันอยู่แล้ว
“พ่อแม่ให้เรากินอาหารที่ทำจากถั่วเน่ามาตั้งแต่เด็ก หรืออย่างเมื่อก่อนไม่มีขนม ถั่วเน่าจี่นี่ละเป็นขนมของเรา คือถั่วเน่าแผ่นเอามาย่างให้เหลือง ๆ เป็นเหมือนขนม เด็ก ๆ ได้กินก็เอร็ดอร่อยแล้ว” เธอรำลึกความหลัง
คนไทใหญ่ได้กินถั่วเน่าตั้งแต่เล็กจนโต จึงคุ้นเคยกับกลิ่นและรสของถั่วเน่าจนกลายเป็นความผูกพัน อย่างที่วนิจชญาบอกว่า
“อะไรที่เรารู้จักผูกพันมาตั้งแต่เกิด มันจะเข้าไปอยู่ในจิตวิญญาณโดยไม่รู้ตัว อย่างเมื่อเราต้องจากไปไหนนาน ๆ เวลาที่ได้กลับบ้านมาอยู่ในที่ที่คุ้นเคย ได้กินอาหารที่คุ้นเคยกับกลิ่นรส ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจ”
วนิจชญาบอกว่าเด็ก ๆ และคนหนุ่มสาวในชุมชนของเธอยังกินถั่วเน่ากันอยู่ไม่ต่างจากคนรุ่นก่อน
“ลูก ๆ หลาน ๆ ที่นี่ยังกินถั่วเน่ากันเยอะค่ะ อย่างลูกชายไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างจังหวัด ตอนนี้อยู่ชั้นปี ๒ เราต้องทำน้ำพริกส่งไปให้เขาตลอดเลย เดี๋ยวเขาก็โทร. มาแล้ว ขอน้ำพริกถั่วเน่า น้ำพริกคั่ว หรือน้ำพริกผง เขาบอกว่ามันประหยัดแค่เจียวไข่แล้วเอาน้ำพริกผงราดก็กินได้แล้ว เป็นรสชาติที่เขาชอบด้วย อีกอย่างหนึ่งเขาบอกว่ากินแล้วมีความสุข เหมือนแม่อยู่ใกล้”
เธอกล่าวทิ้งท้าย
ถึงลูกพร้อมรอยยิ้ม
ฤดูหนาวปลายเดือนธันวาคม
เช้ามืดวันนั้นอากาศเย็นยะเยือก หมอกลงจัดปกคลุมทั่วบริเวณหมู่บ้านต่อแพชุมชนเก่าแก่ของชาวไทใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ไฟถนนมองเห็นเป็นดวงสว่างพร่ามัวอยู่บนยอดเสา ชีวิตยามเช้าเริ่มต้นเคลื่อนไหว รถมอเตอร์ไซค์บางคันวิ่งผ่านไปท่ามกลางหมอกสลัวราง บ้างหิ้วปิ่นโตไปทำบุญที่วัดต่อแพ ศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ขณะบางคนมุ่งหน้าไปสู่ไร่นาของตนเอง
ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พืชเศรษฐกิจที่ปลูกเป็นหลัก ได้แก่ ข้าวโพด กระเทียม รวมทั้งถั่วเหลือง ที่ชาวไทใหญ่จะนำไปแปรรูปโดยการหมักให้เป็นอาหารที่เรียกว่า “ถั่วเน่า”
คนไม่เคยรู้จักอาจนึกฉงนกับอาหารที่พ่วงคำว่า “เน่า” หรือคนไม่เคยกินเมื่อได้ชิมคำแรกอาจถึงขั้นหน้าเบ้ รับไม่ไหวกับกลิ่นรสแรงขึ้นจมูกที่มีเอกลักษณ์ของถั่วเน่า
แต่สำหรับชาวไทใหญ่แล้ว ถั่วเน่าเป็นของกินที่ผูกพันกับวิถีชีวิตอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ดั้งเดิม อาหารของไทใหญ่แทบทุกอย่างใส่ถั่วเน่าเป็นส่วนผสม เพื่อชูรสให้อร่อยกลมกล่อม
“ผู้หญิงไทใหญ่หลังคลอดลูกแล้ว อาหารที่กินได้คือถั่วเน่า”
วนิจชญา กันทะยวง ผู้หญิงไทใหญ่บ้านต่อแพ พูดให้ฟัง
“จึงบอกได้ว่าคนไทใหญ่กินถั่วเน่ากันมาตั้งแต่เกิดเลย ผ่านทางน้ำนมของแม่ ”
ถั่วเน่าไทใหญ่
ไปไกลถึงสมุทรปราการ
บ้านปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือชุมชนไทใหญ่ที่มีชื่อเสียงเรื่องการเป็นแหล่งผลิตถั่วเน่าแผ่นอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ
ชาวบ้านรวมกลุ่มกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงผลิตภายในบ้านของอาจารย์เทวัญ ปัญญาประเสริฐ รองนายก อบต.ปางหมู และอดีตข้าราชการครู ซึ่งสืบทอดกิจการทำถั่วเน่าของครอบครัวมาเป็นรุ่นที่ ๓ แล้ว
“ถั่วเน่าแผ่นคืออาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ จริง ๆ แล้วคือการถนอมอาหาร ถั่วเน่าทั้งใช้ทำอาหารและเป็นเครื่องปรุงรส เหมือนกะปิของคนภาคกลาง หรือปลาร้าของคนอีสาน” อาจารย์เทวัญอธิบาย
“ขั้นตอนสำคัญคือการหมัก รวมถึงต้มด้วยนะ การต้มถ้าไฟร้อนไม่ถึง ต้มถั่วเหลืองไม่เปื่อยได้ที่ พอเอามาหมักมันจะไม่ขึ้นรา พอไม่ขึ้นรา รสชาติจะเปลี่ยน ออกรสเปรี้ยว รสขม แต่ถ้าเมื่อไรมีราขาวขึ้นและมีกลิ่นหน่อย พอบดออกมาปุ๊บ มันจะเหนียว ตีขึ้นแผ่นแล้วจะไม่แตกไม่ยุ่ย”
อาจารย์เทวัญได้รู้เห็นกระบวนการทำถั่วเน่าของครอบครัวนับแต่ยุคแรกที่บดถั่วเน่าซาโดยใช้ครกตำ แล้วใช้ใบตองฮุกรองฝ่ามือตอนรีดเป็นแผ่น พอรุ่นต่อมาเริ่มนำเครื่องโม่มาบดถั่วเน่าแทนครก และใช้เครื่องหนีบเพื่อรีดถั่วเน่าเป็นแผ่น
ความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องมาถึงรุ่นของเขา จากกิจการในครัวเรือนค่อย ๆ ขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น จึงไม่ได้หมักถั่วเหลืองในก๋วย แต่ใส่ในถุงกระสอบป่านใบใหญ่แทนเพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตที่เพียงพอ
อาจารย์เทวัญ ปัญญาประเสริฐ หนึ่งในผู้ผลิตถั่วเน่าแผ่น บ้านปางหมู สืบทอดกิจการของครอบครัวมาเป็นรุ่นที่ ๓
นอกจากนั้นยังนำตู้อบลมร้อนมาใช้ ทำให้ที่นี่ผลิตถั่วเน่าแผ่นได้ตลอดทั้งปีไม่เว้นแม้แต่ในฤดูฝนที่ไม่ค่อยมีแดด ก็ยังนำถั่วเน่าแผ่นเข้าไปอบให้แห้งสนิทในตู้อบลมร้อนที่ใช้พลังงานจากแก๊สได้
“ปางหมูเป็นแหล่งทำถั่วเน่า นอกจากบ้านผมแล้วก็มีอีกเจ็ดแปดเจ้า ตอนนี้เราจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เวลาจะส่งของก็แพ็กใส่ถุงชั่งน้ำหนัก แล้วมารวมกันไว้ที่นี่ ทางผมเป็นคนจัดส่งไปให้ลูกค้า”
อาจารย์เทวัญเผยว่าเฉพาะกิจการของบ้านเขา ผลิตถั่วเน่าแผ่นได้ประมาณวันละ ๗๐ กิโลกรัม
“เราทำทุกวันครับ ยกเว้นวันพระใหญ่ จะหยุดตามประเพณีท้องถิ่น เพราะชาวไทใหญ่ถือว่าวันพระใหญ่จะไม่ทำงานหนัก คนจะไปทำบุญที่วัด”
เขายังบอกอีกว่า “ลูกค้าที่ผมส่งประจำคือตลาดเชียงใหม่ มีอยู่สามเจ้าใหญ่ ๆ แล้วก็มีลูกค้ากลุ่มย่อยอย่างที่ชลบุรีและสมุทรปราการ ที่พี่น้องไทใหญ่ไปทำงานโรงงานที่นั่นกันเยอะ ก็เหมือนคนอีสานต้องหิ้วปลาร้าไปด้วย ประมาณนั้น
“ลูกค้าสมุทรปราการเขาจะสั่งมาประมาณ ๒ เดือนครั้ง โดยรับไปครั้งละประมาณ ๓,๐๐๐ กิโล บรรทุกไปเยอะเลย เต็มหลังรถปิกอัป”
คำบอกเล่าของอาจารย์เทวัญ คงยืนยันความผูกพันที่คนไทใหญ่มีต่อถั่วเน่าได้ดี ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ไหน ย่อมมีถั่วเน่าตามไปถึงที่นั่นด้วย