ครุฑ-เก่อเส่ทู คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ผู้ริเริ่มโรงเรียนขยะลอแอะ (ขยะน่ารัก) โดยจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักรักสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากขยะ อย่างนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาทำเครื่องดนตรีเตหน่า
ขยะลอแอะ
ภารกิจกลับบ้าน ฟื้นฟูขยะ
และวิชาปกาเกอะญอ
ของ เก่อเส่ทู ดินุ
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด
เรื่อง : สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์
ภาพ : ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล
ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไฟฟ้า น้ำประปา และถนนที่เข้าถึงชุมชนบ้านหนองเต่าตลอด ๔๐ ปี ปริมาณขยะที่แปรผันตามความสะดวกคือสิ่งกระตุกให้ครุฑ-เก่อเส่ทูตัดสินใจหวนกลับมาอยู่บ้านเกิดอย่างจริงจัง และลุกขึ้นมาเก็บ คัดแยก สร้างคุณค่าให้กับขยะ
บนทางหลวงชนบทหมายเลข ๑๐๑๓ ท่ามกลางเส้นทางเขาคดเคี้ยวที่เหล่านักท่องเที่ยวนิยมขับรถผ่านเพื่อเดินทางไปยังดอยอินทนนท์ จุดมุ่งหมายหลักคงหนีไม่พ้นการยลโฉมธรรมชาติที่งดงามบนดอย ในขณะที่เส้นทางขับผ่านคงเป็นเพียงดงต้นไม้สูงให้ได้ทอดมองพักสายตา ทว่าหากชะลอรถช้าลงสักนิด คุณอาจสังเกตเห็นกองขยะหลายสิบจุดซุกซ่อนอยู่ตามข้างทางไม่ใช่ธรรมชาติที่งดงามอย่างที่คิด
นี่คือสิ่งที่ครุฑ-เก่อเส่ทู ดินุ มองเห็นและมองเป็นปัญหาที่ต้องลงมือแก้ไข ไม่ใช่เพราะเขาขับรถช้ากว่าคนอื่นแต่อย่างใดหากเพราะที่นี่คือบ้านของเขา บ้านและถนนที่เขาสัญจรผ่านเป็นประจำทุกวัน ณ ชุมชนบ้านหนองเต่า ๑ ใน ๑๓ หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอจากทั้งหมด ๑๙ หมู่บ้าน ใต้เขตการปกครอง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไฟฟ้า น้ำประปา และถนนที่เข้าถึงชุมชนบ้านหนองเต่าตลอด ๔๐ ปี ปริมาณขยะที่แปรผันตามความสะดวกคือสิ่งกระตุกให้ครุฑตัดสินใจหวนกลับมาอยู่บ้านเกิดอย่างจริงจังและลุกขึ้นมาเก็บ คัดแยกสร้างคุณค่าให้กับขยะ เริ่มต้นจากตัวคนเดียวจนกลายเป็น “โรงเรียนขยะลอแอะ” ที่รวมเยาวชนกว่า ๓๐ ชีวิตมาร่วมเก็บขยะทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนขยายสู่การสร้างวิชาชุมชนที่ชวนผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่มาเรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ
เมื่อบ้านที่อาศัยอยู่ทุกวันไม่สะอาด หากคนในบ้านมองไม่เห็นแล้วใครจะเห็น และหากมองเห็นแต่ไม่ลงมือทำแล้วใครจะทำ
ชมวิดีโอเต็ม คลิกลิงก์
https://www.youtube.com/watch?v=yFaOYL9I4Ys
create by : จุฬาลักษณ์ กุลชะโมรินทร์
“ตามสบายนะ คิดซะว่าที่นี่เหมือนที่บ้าน” ชายหนุ่มวัย ๓๙ ปีในเสื้อพื้นบ้านและกางเกงขายาวสบาย กล่าวต้อนรับด้วยรอยยิ้มพร้อมผายมือเชิญชวนให้เราก้าวเข้าสู่บ้านของเขาซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นห้องเรียนขยะลอแอะ หลังใช้เวลาเดินทางร่วม ๒ ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนพาชมพื้นที่โดยรอบ
ผิวกรำแดดของคนตรงหน้าบ่งบอกว่าห้องทำงานของเขาไม่ใช่ออฟฟิศแบบคนเมือง แต่เป็นผืนนาและผืนป่า เพราะหากไม่เห็นตัวเรือนห้องเรียนไม้ไผ่ ที่นี่คงเรียกได้ว่าเป็นฟาร์มขนาดย่อม หันไปทางซ้ายก็เจอโรงเรือนเลี้ยงเป็ดและไก่ อีกทางมีแปลงผักและผลไม้ นาข้าวขนาดเล็ก บ่อปลาดุก เดินลึกเข้ามาอีกนิดเป็นลานจัดเก็บขยะที่กองแยกประเภทไว้ ถัดไปเป็นทางเดินไปยังห้องน้ำสีสันสดใสที่ทำมาจากขวดเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบ้านดินที่ใช้ยางรถยนต์เก่าประยุกต์เป็นหน้าต่าง
ขั้นตอนอันตรายอย่างการตัดปี๊บ ตอกตะปู เป็นหน้าที่ของครุฑคนเดียว ส่วนเด็กๆ จะช่วยทำความสะอาดวัสดุที่ได้มา และคอยดูแลเครื่องดนตรีเมื่อประกอบเสร็จ
วัสดุจากขยะที่ใช้ทำเครื่องดนตรีเตหน่า ได้แก่ ไม้เก่า เอามาประกอบให้เป็นรูปทรงและขัดผิวไม้ สายเบรกจักรยาน และแผ่นเหล็กจากกระป๋องปี๊บ ส่วนวัสดุที่ต้องซื้อเพิ่มมีเพียงลูกบิดสายกีตาร์
การทำเตหน่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๒-๓ วัน เนื่องจากต้องรอให้สีและแล็กเกอร์เคลือบไม้แห้ง จึงจะขึงสายได้
“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือในชุมชนเริ่มมีขยะมากขึ้น ประมาณ ๑๐-๒๐ ปีก่อนเราแทบมองไม่เห็นขยะแต่ทำไมทุกวันนี้มีถนนดี มีไฟฟ้า มีน้ำประปา ขยะกลับเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน เราเลยมองว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว”
ครุฑเล่าย้อนถึงสิ่งที่เขามองเห็นก่อนตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดถาวรหลังระบบการศึกษาพาเขาออกจากหมู่บ้านไปเรียนที่ตัวอำเภอตั้งแต่ ม. ๔ จนจบปริญญาตรีสาขาวิทยาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และทำงานเป็นนักดนตรีรับจ้างควบคู่กับการเรียนปริญญาโท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและพื้นที่นอกชุมชนหลายจังหวัด กระทั่งเห็นขยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่กลับบ้าน
ขยะกองเดียวกันบนถนนที่หลายคนไม่ได้มองเป็นปัญหา ครุฑบอกว่าสำหรับเขา ขยะเหล่านั้นกำลังทำร้ายบ้านของเขาเอง
“การที่เราทิ้งขยะแบบนั้นเหมือนกับทิ้งขยะในบ้านตัวเอง แม้ไม่ได้ทิ้งในบ้านเรา แต่ทิ้งบริเวณอื่น ทิ้งนอกหมู่บ้านก็เหมือนเป็นบ้านของเราด้วย เพราะสิ่งที่ได้รับผลกระทบคือสัตว์เลี้ยง แม่น้ำ เวลาฝนตกเศษขยะพวกนั้นก็จะลงสู่แม่น้ำ เกิดปัญหา โดยเฉพาะพี่ที่อยู่ต้นน้ำเอง”
เพราะต้องการให้บ้านสะอาดขึ้น จึงเริ่มลงมือแก้ไขง่าย ๆ ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ไปเก็บขยะพร้อมถุงกระสอบในทุก ๆ วันก่อนนำขยะมากองแยกไว้บริเวณหลังบ้าน ทั้งกองขวดแก้ว ขวดน้ำ กระป๋องอะลูมิเนียม และขยะพลาสติก ทว่าในวันแรกเริ่ม เสียงรอบข้างที่ครุฑได้ยินกลับกลายเป็นความกังวลของพ่อแม่และคำวิจารณ์จากคนในหมู่บ้านที่กล่าวว่าสิ่งที่เขาทำคือการสร้างภาพให้ตัวเอง
“มีหลายคนบอกว่าเรียนก็จบแล้วนะ ทำไมต้องไปเก็บขยะรายได้ก็ไม่ได้ แถมยังเป็นสิ่งสกปรกด้วย รวมถึงมีหลายคนที่มองว่าพี่เป็นคนสร้างภาพให้ตัวเอง ไม่ได้ทำแบบจริง ๆ จัง ๆ”
ฟังดูน่าเจ็บปวดไม่น้อยหากความตั้งใจดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนถูกแปะป้ายว่าเป็นการทำเอาหน้า แต่เพราะเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าการออกไปเก็บขยะย่อมมีเสียงตอบรับเชิงลบ เขาจึงเลือกรับมือด้วยการไม่เก็บคำเหล่านั้นมาใส่ใจและเดินหน้าเก็บขยะต่อไป
“ตอนนั้นพี่ไม่สนใจ เพราะว่าวันแรกที่เดินออกไปเก็บขยะพี่รู้ว่าจะต้องมีเรื่องที่คนอื่นเขาพูดกัน แต่พี่ทบทวนก่อนจะมาทำแล้วว่าเพราะเขาไม่ได้มาเก็บขยะกับเรา เขาจึงไม่รู้ไม่เข้าใจพี่ก็เลยออกไปเก็บทุกวัน ๆ เหมือนอย่างวันนี้”
กองขยะที่ถูกทิ้งจากฝีมือคนนับร้อย จะแก้ไขด้วยมือคู่เดียวก็คงเป็นไปได้ยาก คงจะดีไม่น้อยถ้ามีคนมาช่วยลงมือเก็บขยะเพิ่ม แต่ใครเล่าจะสนใจ
“ตี่แอ้ เล่นอะไร ช่วนสอนหน่อยได้ไหม” คำถามจากเด็ก ๆในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นหลังได้ยินเสียงเพลงจากเตหน่า เครื่องดนตรีท้องถิ่นของชนเผ่าปกาเกอะญอที่ครุฑหรือพะตี่แอ้ชอบเล่นยามว่างหลังเก็บขยะในแต่ละวันกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ปี ๒๕๕๙ พลเก็บขยะเพิ่มขึ้นอีกสองหน่วยหลังเด็ก ๆ มาขอเรียนเตหน่าด้วย จึงเกิดเป็นข้อตกลงที่ครุฑเสนอให้เด็ก ๆ มาช่วยเก็บขยะในช่วงเช้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการสอนเตหน่าในช่วงบ่ายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีขนม อาหาร และผลไม้สดจากสวนเป็นค่าเหนื่อย นับเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนขยะลอแอะ
ลอแอะ ภาษาปกาเกอะญอแปลว่าน่ารัก ขยะลอแอะจึงแปลว่าขยะที่น่ารัก ไม่ใช่สิ่งสกปรกเหมือนที่ทุกคนเข้าใจ
“พอได้อยู่คลุกคลีกับเรื่องขยะ ทำให้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วขยะไม่ใช่สิ่งที่สกปรก แต่เป็นสิ่งที่น่ารัก เพราะก่อนกลายเป็นขยะ สิ่งเหล่านี้เป็นอาหาร เครื่องใช้ และเป็นสิ่งที่สวยงามให้มนุษย์ แต่พอหลังจากมนุษย์ใช้เสร็จแล้วก็โยนความผิดให้กลายเป็นขยะ เป็นสิ่งที่สกปรก”
มุมมองใหม่ในการทำความรู้จักแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของขยะถูกถ่ายทอดให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ง่ายด้วยการตั้งคำถามและชวนมองต้นตอของขยะว่าใครเคยกินขนมบ้าง กินแล้วทิ้งหรือไม่สัตว์กินขนมแล้วทิ้งใช่ไหม และท้ายที่สุดแล้วใครเป็นคนทิ้งขยะกันแน่
ทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กๆ จะมาช่วยเก็บขยะทั้งภายในหมู่บ้านและข้างถนนบนเส้นทางผ่านไปดอยอินทนนท์ เพื่อแลกกับการให้ครุฑสอนเล่นเตหน่า
แน่นอนว่าคำตอบคือมนุษย์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนทั้งพวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่
“พี่บอกกับเด็ก ๆ ว่า จริง ๆ แล้วพะตี่นี่แหละคือขยะ” ใช้เวลาสอนและออกไปเก็บขยะกว่า ๑๐ ครั้ง เด็ก ๆ จึงเริ่มเปลี่ยนความคิดและตระหนักถึงการดูแลธรรมชาติด้วยการเก็บและแยกขยะ เพราะบทเรียนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องท่องจำแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง
ในขณะที่ผู้ปกครองบางคนกังวลไม่อยากให้ลูกต้องเจอแดดเจอฝนและเสี่ยงติดเชื้อจากขยะ ครุฑเลือกที่จะไม่บังคับเด็ก ๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด หากพ่อแม่ใครอนุญาตให้มาเรียนดนตรีเพียงอย่างเดียวก็ย่อมได้ แต่ไม่นานนัก ความกังวลของพ่อแม่ก็ค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นความภูมิใจในตัวลูกเมื่อเด็ก ๆ ได้รับคำชมจากชุมชนที่เริ่มสะอาดขึ้นและเริ่มมีผลงานแสดงดนตรีบนเวทีที่ครุฑพาวงดนตรีขยะลอแอะออกไปโชว์ฝีมือทั้งในและนอกหมู่บ้าน
ปัจจุบันห้องเรียนแห่งนี้มีลูกศิษย์รวม ๓๐ กว่าคนในชุมชนที่สลับกันแวะเวียนมาร่วมกิจกรรมประจำวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น
ในวันเสาร์ที่ฟ้าเปิดแดดส่องสดใส หนุ่มน้อยเก้าคนทยอยมายังห้องเรียนขยะลอแอะตั้งแต่เช้า หยิบเสื้อพื้นบ้านที่ครุฑใช้วิธีเย็บโครงเสื้อของผู้ใหญ่กับแขนเสื้อของเด็กแต่ละวัยเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาต้องซื้อเสื้อใหม่ทุกปีมาสวมทับ คล้ายเป็นยูนิฟอร์มประจำโรงเรียน
ไร้ซึ่งสัญญาณคำสั่ง เด็ก ๆ ลงมือเตรียมอาวุธด้วยตัวเอง ทั้งถุงกระสอบสองถุง เหล็กคีบขยะ เกวียนเข็นขยะ และตะกร้าขนาดกลาง พร้อมเริ่มภารกิจออกเดินทางเก็บขยะรอบหมู่บ้านณ เวลา ๐๘.๓๐ น.
จากคำบอกเล่าของครุฑ ปัจจุบันคนในหมู่บ้านจะรวมขยะในครัวเรือนไปทิ้งที่บ่อขยะประจำชุมชน ฟังดูแล้วคงไม่มีปัญหาหากขยะทั้งหมดถูกคัดแยกและทิ้งอย่างเหมาะสม เพียงแต่ความเป็นจริงที่ปรากฏคือขยะจำนวนมากถูกทิ้งขว้างอยู่เต็มข้างทางในหมู่บ้านและบนถนนใหญ่จากทั้งคนในชุมชน นักท่องเที่ยวสัญจร พ่อค้าแม่ค้า และคนนอกชุมชน
หากไม่ใช่ฤดูฝนที่ขยะเปียกและเปื่อยได้ง่าย ทีมขยะลอแอะจะบึ่งรถจากห้องเรียนสู่ถนนใหญ่เพื่อวนเก็บขยะตามจุดหลัก ๆ ซึ่งมีมากถึง ๒๒ จุด ครอบคลุมระยะทางจากหมู่บ้านถึง ๑๒ กิโลเมตร ตั้งแต่เส้นทางไปยังบ้านแม่สะป๊อก บ้านห้วยตอง บ้านโป่งลมแรง และทางขึ้นดอยอินทนนท์ แต่เพราะช่วงสัปดาห์นี้ยังมีฝนตกประปราย จุดนัดหมายของเราในวันนี้จึงเป็นการเดินเก็บขยะในหมู่บ้านแทนถนนใหญ่
หลังเริ่มตบเท้าเดินเลี้ยวขวาออกจากหน้าบ้านมายังบริเวณถนนได้ไม่ถึง ๕๐ เมตร เด็กหนุ่มพุ่งตัวไปเก็บซองขนมพลาสติกที่ฝังอยู่ในดินและแก้วพลาสติกเปื้อนฝุ่นที่เราไม่ทัน
ได้สังเกตใส่กระสอบอย่างคล่องแคล่ว ด้วยแววตาสดใสราวกับว่ากิจกรรมเก็บขยะนี้ยังเป็นเรื่องสนุกสำหรับพวกเขา แม้จะเก็บซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกสัปดาห์
กระสอบใบแรกถูกแยกไว้ใส่กระดาษและถุงพลาสติก ใบที่ ๒ ใส่ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และกระป๋องอะลูมิเนียม ส่วนขยะชิ้นใหญ่ใส่ตะกร้าบนเกวียนเป็นการทุ่นแรง
เดินไปสักพักหน่วยเก็บขยะก็วิ่งปรู๊ดไปหยิบขยะตลอดสองข้างทาง หากขยะชิ้นไหนแมลงเกาะเยอะก็ให้หน่วยคีบหนีบมาทิ้งแทน ส่วนหน่วยถือกระสอบมีหน้าที่เดินตามให้ทัน ท่ามกลางชาวบ้านที่ส่งยิ้มทักทาย รวมถึงผู้ใหญ่บ้านที่ชูนิ้วโป้งให้เมื่อขับรถผ่าน คล้ายเป็นภาพที่ทุกคนคุ้นชิน แต่เมื่อหันไปอีกที เราเห็นทุกหน่วยวางกระสอบลงบนพื้นและวิ่งไปปีนต้นฝรั่งเพื่อเก็บผลกินเสียแล้ว
ครุฑเล่าเสริมระหว่างปล่อยให้เด็ก ๆ เป็นคนเลือกเส้นทางเดินนำเก็บขยะว่า ปรกติขยะที่เก็บได้มีทั้งขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ถุงพลาสติก และซองขนมต่าง ๆ ซึ่งส่วนที่ขายได้อย่างกระป๋องอะลูมิเนียมและขวดพลาสติกจะขายให้ร้านรับซื้อขยะในชุมชน ส่วนที่ขายได้ยากอย่างขวดแก้วจะนำมาแปรรูป เช่น เอามาทำห้องน้ำ ผนังกั้นแปลงผัก เป็นต้น
“จริง ๆ แล้วขยะแต่ละชนิดมีคุณค่าภายในอยู่แล้ว แต่เรามองไม่เห็นแค่นั้นแหละ อันไหนที่ขายได้พี่ก็จะขายไปอันที่แปรรูปได้พี่ก็จะเอามาใช้ประโยชน์ เพราะพี่อยากคืนคุณค่าให้ขยะ”
ด้วยความเป็นนักดนตรีช่างประดิษฐ์ ครุฑทดลองเปลี่ยนเศษวัสดุที่คนไม่ต้องการมาสร้างเตหน่าโดยมีต้นทุนอุปกรณ์จากลูกบิดกีตาร์และนอตเพียง ๑๒๐ บาทเท่านั้น จากราคาขายปรกติ ๒,๐๐๐ บาท เพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนมีเครื่องดนตรีเล่นพร้อมกันด้วยราคาที่ประหยัดเกิน ๑๐ เท่า
หลังทดลองทำเตหน่าถึง ๖๐ ตัวจากวัสดุต่าง ๆ จนได้เวอร์ชันที่พอใจ เขาอธิบายว่าวัสดุที่ใช้ล้วนเป็นของที่คนไม่ต้องการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ซ้อ ไม้เนื้อแข็งระดับกลางที่คนไม่นิยมใช้สร้างบ้าน แต่เป็นไอเท็มชั้นเลิศในการนำมาแกะสลักเป็นตัวเครื่องเพราะเนื้อไม่แข็งเกินไป สายเบรกจักรยานที่อู่รถนำมาทิ้งไว้ใช้เป็นสายดีดหกเส้น ปี๊บน้ำมันจากกองขยะใช้เป็นแผ่นปิดเครื่องเพื่อเก็บเสียง ก่อนตอกตะปูประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกันและขึงสายให้ตึงพร้อมบรรเลง
ปัจจุบันเขาสร้างรายได้ส่วนหนึ่งจากการทำเตหน่า อีกส่วนจากขยะที่ขายได้ และเก็บเงินทั้งหมดไว้เป็นทุนสำหรับกิจกรรมในห้องเรียน
หลังเดินเก็บขยะครบ ๑ ชั่วโมงก็ได้เวลาแวะร้านรับซื้อขยะในขากลับเพื่อขายขวดพลาสติก ขวดแก้ว และกระป๋องอะลูมิเนียมทั้งหมดที่เก็บได้ ก่อนจะพบว่าผลประกอบการของเด็ก ๆ ทั้งเก้าคนได้กลับมาเป็นเหรียญ ๕ บาทหนึ่งเหรียญเท่านั้น
“คุ้มค่าเหนื่อยไหม” เราอดถามครุฑไม่ได้ ไม่ใช่แค่ ๕ บาทในวันนี้ แต่หมายถึงความพยายามสร้างรายได้จากการเก็บขยะ
“ไม่คุ้มครับ การเก็บขยะถ้าบอกว่าคุ้มราคาไหม ไม่คุ้มหรอก แต่อยากให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าเราต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลบ้านเรานะ เด็ก ๆ ออกมาเก็บบ่อยก็ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไป ถ้าบอกว่าเหนื่อยก็เหนื่อยแต่มันคุ้มคุณค่า เพราะเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะเติบโตไปข้างหน้า”
เมื่อมีโอกาสถาม ปารินทร์ พะแกลี พี่ใหญ่ชั้น ม. ๒ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำทุกวันเสาร์นานกว่า ๔ ปี ว่าทำไมเราต้องเก็บขยะทั้งที่ค่าตอบแทนได้เพียงน้อยนิด คำตอบที่เรียบง่ายและแสนจริงใจสะท้อนว่าคุณค่าที่ครุฑตั้งใจส่งไปถึงเด็ก ๆ แล้ว
“คิดว่าต้องรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาธรรมชาติ ถ้าไม่มีธรรมชาติเราก็อยู่ไม่ได้ครับ” ปารินทร์เอ่ยสั้น ๆ ตอบเรา
นอกจากความตระหนักของเด็ก ๆ ที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ผู้ดูแลชุมชนในวันข้างหน้า ครุฑเล่าเสริมว่าทุกวันนี้ขยะในชุมชนยังคงเพิ่มขึ้นแม้บางบ้านจะเริ่มแยกขยะแล้วก็ตามเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มากมายที่มีให้เลือกสรรมากขึ้นทำให้คนยังกินและทิ้งมากขึ้น
ดูคล้ายจะเป็นการลงแรงที่ไร้ซึ่งผลลัพธ์ ทว่านั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่กลุ่มขยะลอแอะตั้งใจสูญเปล่าไปเสียหมดเพราะหลายชุมชนใกล้เคียงต่างเริ่มรณรงค์จัดการเก็บและแยกขยะอย่างจริงจัง ดังเช่นอำเภอแม่แจ่ม ชุมชนในจังหวัดตาก หมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรื่องขยะกับชุมชนเหล่านั้นและการติดตามแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านช่องทางเฟซบุ๊กของครุฑ
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมที่เขาทำผ่านการเก็บขยะ วิชาดนตรีในช่วงบ่ายเป็นอีกกิจกรรมที่ช่วยไม่ให้เตหน่าสูญหายไปจากบ้านหนองเต่า หลังเผชิญความท้าทายจากยุคสมัยที่อิทธิพลของเครื่องดนตรีสากลเข้ามาและระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ทำให้เด็กไม่ได้กลับมาเรียนรู้เรื่องชุมชนของตนเอง
“เครื่องดนตรีปกาเกอะญอกำลังจะสูญหาย เพราะว่าเราไม่มีพื้นที่ให้เด็ก ๆ ไม่มีพื้นที่ให้เครื่องดนตรี ทุกวันนี้เด็กไม่ได้เรียนวิชาของตัวเองแล้ว แต่ว่าไปเรียนวิชาข้างนอก ทำให้เด็ก ๆไม่ได้อยู่กับวัฒนธรรมของตัวเอง ก็เลยไม่ได้ผูกพัน ไม่ได้เรียนรู้” เขาอธิบาย
ดังนั้นเสียงดนตรีเตหน่าของหนุ่มน้อยที่ดังก้องออกไปนอกห้องเรียนแห่งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ยังมีชีวิตชีวาด้วยกำลังของครุฑ เช่นเดียวกันกับ “ธา” หรือบทกวีของชาวปกาเกอะญอที่ครุฑนำมาถ่ายทอดผ่านเนื้อเพลงประกอบการเล่นเตหน่าทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คำสอนของคนรุ่นก่อนในเวลาเดียวกัน
เป่อออที เป่อเก่อตอที เป่อออเดะ เป่อเก่อตอเล
เราดื่มน้ำ ต้องรักษาน้ำ เรากินกบต้องรักษาผา
เป่อออกญ่า เป่อเก่อตอกวิ เป่อออที เป่อเก่อตอที เก่อตอดอเปอทีควะคิ
เรากินปลา รักษาแหล่งปลา เราดื่มน้ำ รักษาน้ำ ร่วมรักษาต้นน้ำ
เก่อตอเกเป่อสวี่เก่อญอที
ร่วมรักษาสายเลือดของปกาเกอะญอ
บรรยากาศการเรียนการสอนเล่นเตหน่า เด็กๆ ทุกคนต่างมีความสุขและชื่นชอบในเสียงดนตรีจากเตหน่า
ถามว่าคนไหนชอบเล่นเครื่องดนตรีอะไร คำตอบที่ได้มักแตกต่างกันไปบ้างชอบเล่นกีตาร์ กลอง เตหน่า แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเด็กๆ ทุกคนชอบเสียงดนตรี และเมื่อมีเวลาว่างก็จะมานั่งล้อมวงเล่นดนตรี
เนื้อเพลงข้างต้นมาจากเพลง “ขยะลอแอะ” ที่แต่งขึ้นด้วยปลายปากกาของครุฑเพื่อสอดแทรกคำสอนในการรักษาธรรมชาติของปกาเกอะญอที่สืบทอดมาช้านานอย่างวลี “ออทีเก่อตอที ออก่อเก่อตอก่อ” หมายถึง “กินน้ำต้องรักษาน้ำกินอยู่กับป่าต้องรักษาป่า” เพราะในชุมชนปกาเกอะญอที่สรรพวิชาและคำสอนของบรรพบุรุษไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร บทธาจึงทำหน้าที่เป็นสมุดบันทึกฉบับเสียงขับร้อง ใช้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง
“ถ้าคำสอนหรือธาหายไปเมื่อไร วิถีชีวิตของปกาเกอะญอจะไม่เหลืออยู่แล้ว ถ้านิทานปกาเกอะญอไม่มีคนสืบทอด ก็ไม่มีเด็กเรียนรู้ ความเป็นปกาเกอะญอก็จะไม่มีแล้ว เหมือนกับว่าเราถูกวัฒนธรรมอื่นกลืนเข้าไป”
แน่นอนว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่ชอบเล่นเตหน่า บางคนชอบกีตาร์มากกว่า บางคนชอบร้องเพลง บางคนชอบเล่นซนกับเพื่อนเฉย ๆ แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบเตหน่าจนอาสาสอนเพื่อน ๆและน้องใหม่ที่ยังเล่นไม่คล่องเป็นประจำอย่างปารินทร์ เขากล่าวด้วยรอยยิ้มเขินอายว่า “อยากเล่นเตหน่าไปจนโต แล้วก็น่าจะสืบทอดและสอนรุ่นหลังอีกครับ”
เช่นเดียวกับแม่ของปารินทร์ที่เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของลูกมาตลอด ๔ ปี เธอมองว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้ปารินทร์มีความรับผิดชอบในการดูแลตัวเอง หันมาช่วยแยกขยะในบ้านและลดปัญหาการมั่วสุมของเด็กในชุมชน
ภารกิจการสืบทอดคำสอนผ่านดนตรีและรักษาสิ่งแวดล้อมดำเนินมาตลอดหลายปี ควบคู่ไปกับการพาเด็ก ๆ ออกไปเรียนรู้วิชาชุมชนอีกหลายอย่าง ทั้งการเดินเที่ยวไร่หมุนเวียน เดินป่าฟังบทธา หรือทำกาแฟจากปราชญ์ชุมชนที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมเล่นดนตรีให้ธรรมชาติฟัง ณ บริเวณป่าต้นน้ำที่ครุฑใช้โอกาสชี้ให้เด็ก ๆ เห็นว่าน้ำประปาที่ใช้ในบ้านเรือนต่างมาจากแม่น้ำสายนี้ จึงต้องช่วยกันรักษาดูแลให้สะอาดเสมอ
นับเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่เรียนรู้ระหว่างผู้ใหญ่ในชุมชนและเด็กรุ่นใหม่ และเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ที่ทำให้เด็ก ๆ สนุกกับการเรียนรู้ด้วยบรรยากาศไม่ซ้ำเดิม แต่คงน่าเสียดายหากวิชาชุมชนเหล่านี้มีเพียงเด็กๆ กลุ่มขยะลอแอะที่ได้เรียน
ปี ๒๕๖๔ ครุฑผลักดันวิชาชุมชนร่วมกับเด็ก ๆ ช่วยกันระดมสมองว่าอยากเรียนอะไรเพิ่ม จนเกิดเป็นโครงการ “เจ็ดวิชาปกาเกอะญอ” ด้วยความร่วมมือครั้งสำคัญกับโครงการ Feel Trip โครงการด้านการศึกษาที่สร้างการเรียนรู้แก่เยาวชนผ่านการลงพื้นที่ และปราชญ์ชุมชนที่ครุฑขอความร่วมมือให้มาช่วยสอน วิชาทั้งเจ็ด ได้แก่ วิชาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ บทธา การจัดการป่า ไร่หมุนเวียน เครื่องดนตรีเตหน่า การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรนั่นเอง
แม้ปัจจุบันกลุ่มคนที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนเรียนรู้จะมีเพียงกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย โครงการ Feel Trip และกลุ่มผู้จัดนิทรรศการ Hear & Found เท่านั้น ทว่าครุฑกล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า เขายินดีต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและทุกคนที่สนใจมาเรียนรู้พร้อมเชิญชวนให้ติดต่อเขาได้เสมอ
ด้วยความตั้งใจที่อยากขยายความรู้ไปให้ไกลมากที่สุด ครุฑเริ่มต้นอีกโครงการหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ ร่วมกับ Feel Trip และสถาบันส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้ชื่อ “เป่อทีล่อลี” (ภาษาปกาเกอะญอหมายถึงน้ำบ่อหลัง) ที่ขยายไปสอนวิชาทั้งเจ็ดในโรงเรียนโดยตรง
เก็บขยะเสร็จก็นำไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า รายได้จะให้เด็กๆ ส่วนขยะที่ขายไม่ได้จะนำมาทำประโยชน์อื่น เช่น ห้องน้ำขวดแก้ว
“พี่ครุฑ” ยังมีกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่โรงเรียนขยะลอแอะ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิต เช่น ปลูกข้าว ผัก ผลไม้ เลี้ยงไก่ไข่ เป็ด ปลา
“พี่อยากจะให้มีจำนวนเด็กเพิ่มขึ้น เพราะเด็กส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจตัวเองแล้วว่าตัวเราคือปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอคืออะไร เด็กตอบไม่ได้ พี่เป็นห่วง เลยคุยประสานกับโรงเรียนว่าอยากให้เด็กในระบบมาเรียนด้วย หรือจะให้พี่หรือพะตี่คนอื่นเข้าไปสอน”
แนวคิดเบื้องหลังเป่อทีล่อลีไม่ได้มุ่งไปที่เด็กนักเรียนตั้งแต่ต้น แต่เกิดจากการมองเห็นปัญหาในช่วงโควิด-๑๙ เมื่อเยาวชนหลายคนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดและเผชิญความท้าทายในการอยู่รอด ประกอบกับคนในชุมชนที่ตกงานและอาหารที่ขาดแคลน
ด้วยเหตุนี้การมีวิชาท้องถิ่นติดตัวเป็นน้ำบ่อหลังเพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกดูจะช่วยให้ทุกคนเดินตามความฝันได้อย่างมั่นคงและอุ่นใจมากกว่าเดิม
เป้าหมายในอนาคตที่ครุฑแอบกระซิบว่าอยากไปให้ถึงคือการบรรจุวิชาชาติพันธุ์เหล่านี้ในหลักสูตรของโรงเรียน
ทุกวันนี้แม้ภารกิจเดินเก็บขยะจะยังไม่สำเร็จ วิชาปกาเกอะญอยังมีคนเรียนไม่มาก และโครงการน้ำบ่อหลังเพิ่งจะเริ่มออกสตาร์ต แต่การหวนกลับบ้านมาฟื้นฟูวัฒนธรรมปกาเกอะญอ เปิดพื้นที่เชื่อมต่อเด็ก ๆ และคนนอกชุมชนกับผู้เฒ่าผู้แก่ต่างเป็นสัญญาณที่ดีว่าวัฒนธรรมเหล่านี้คงไม่สูญหายไปจากบ้านหนองเต่า ด้วยแรงและศักยภาพของผู้คนในชุมชนอย่างแน่นอน
กว่า ๖ ปีที่ครุฑกลับมาอยู่บ้านจริงจังและตั้งใจลงมือผลักดันกิจกรรมมากมายด้วยกำลังของตน เขาสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้และเข้าใจจากงานที่ทำได้สามสิ่ง
หนึ่ง-เข้าใจภายในของตัวเอง สอง-เข้าใจเด็ก ๆ และท้ายสุด-เข้าใจบ้านของตัวเองมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่พี่เข้าใจมากที่สุดก็คือเรากลับมาเข้าใจตัวเอง เข้าใจวิถีชีวิตของปกาเกอะญอนี่แหละ เพราะนี่คือสิ่งที่พี่เป็นห่วงมากที่สุด อยากให้เด็ก ๆ ได้สืบทอดเรียนรู้แบบนี้เหมือนกับที่พี่ได้เรียนรู้มา”
การกลับบ้านในครั้งนี้จึงไม่ได้หมายถึงบ้านทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกลับมามองเห็นปัญหาในชุมชน กลับมาค้นหารากเหง้าปกาเกอะญอ และกลับมาสร้างบ้านให้แข็งแรงพร้อมสืบทอดต่อไป
“การกลับมาอยู่บ้านไม่ใช่ว่าเราจะอยู่แค่ในครอบครัวตัวเอง เราต้องอยู่กับเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง อยู่กับแม่น้ำ ต้นน้ำ แล้วก็สัตว์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นบ้านของเราครับ”
เพราะสิ่งแวดล้อมทุกอย่างต่างหมายถึงบ้าน และการจัดวางวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ลงมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง แม้จะมีหลายครั้งที่รู้สึกท้อและไร้กำลัง ครุฑตอบอย่างคมชัดแต่นุ่มนวลว่าสำหรับเขาท้อบ้างก็ไม่เป็นไร แต่หยุดทำไม่ได้ เพราะหากไม่มีใครทำเด็ก ๆ คงไม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตปกาเกอะญอ
“เวลาทำงานถ้าทุ่มเกินไปจะเหนื่อยเร็ว หมดแรงเร็ว แต่ถ้าค่อย ๆ ก้าวไปทีละนิด ก็จะไปได้ไกลมาก เราต้องเดินเหมือนเต่า เพราะว่าที่นี่บ้านหนองเต่าใช่ไหมครับ”
แม้จะเป็นการหวนกลับมายังบ้านเกิดที่คุ้นเคย แต่ทุกวันนี้ครุฑกำลังเดินตามหาเส้นชัยใหม่ไม่ต่างจากนิทานกระต่ายกับเต่า เส้นชัยที่มีการกลับบ้านเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
เส้นชัยที่สิ่งแวดล้อมสวยงามยิ่งขึ้น ขยะลดลง เยาวชนและผู้คนได้กลับมาเรียนวิชาปกาเกอะญอของตนเอง
เส้นชัยที่งดงาม และลอแอะสำหรับชุมชนบ้านหนองเต่าและเด็ก ๆ ทุกคน
อ้างอิง
หนังสือ
ฐปรัฏฐ์ สีลอยอุ่นแก้ว. (๒๕๕๔) “การประเมินความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และศักยภาพการสะสมคาร์บอนในระบบนิเวศป่าไม้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านหนองเต่า อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่”. (ปริญญามหาบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เว็บไซต์
“องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน : ชุมชนน่าอยู่ คู่เศรษฐกิจพอเพียง”. สืบค้นจาก http://www.maewin.net/index.php?ge=nav_view&gen_lang=230519102531&nav_price=3&nav_topic=ประวัติความเป็นมาและข้อมูลพื้นฐาน&lang=