Image
Image
Laem Yah Rayong  Surf Club
คลับของคนรักคลื่น
เปลี่ยนบ้านเพให้เป็น Surf City
แห่งแรกของอ่าวไทย
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : รักษิณา สิทธิคงศักดิ์
ภาพ : ธัชธรรม โตสกุล
คลับแห่งนี้รูปร่างคล้ายตู้คอนเทนเนอร์สีขาว มีกระจกขอบไม้สองบานประดับไว้ทั้งซ้ายและขวา พื้นปูด้วยเสื่อสานไม้ไผ่ ประตูกระจกบานใหญ่ตรงกลางถูกเปิดไว้ให้ลมทะเลและเสียงคลื่นฝั่งตรงข้ามพัดคลอเข้ามา
Image
อู๋ -เสฎฐวุฒิ ไชยวัฒน์ บาริสตา ครูสอนโต้คลื่น นักกีฬา และผู้ก่อตั้งแบรนด์ The SeT Wax แวกซ์สำหรับเซิร์ฟบอร์ดเจ้าแรกของไทยจากการพัฒนาสูตรที่ทะเลบ้านเกิด
ชมวิดีโอเต็ม คลิกลิงก์
https://youtu.be/0Baad5d2u1Y
create by : เจษฎา ขิมสุข
ระลอกคลื่นสูงราวเข่าพัดเข้าหาฝั่งเป็นระยะ ชายหนุ่มนั่งคร่อมกระดานโต้คลื่น พลางทอดสายตาไปยังทะเลเบื้องหน้าอย่างใจจดใจจ่อ

เขากำลังเฝ้าสังเกตคลื่นที่อยู่ไกลออกไปในทะเลลึก คลื่นลูกนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามา มันปรากฏรูปร่างชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าใกล้ฝั่ง เห็นเป็นสันนูนเหมือนภูเขาลูกเล็ก ๆ กลางทะเล นั่นคือจังหวะที่ชายหนุ่มรอคอย เขาไม่รอช้า บังคับทิศทางของกระดานให้หันหน้าเข้าหาฝั่ง นอนคว่ำลงในท่าวิดพื้น ใช้มือทั้งสองข้างพายจนสุดแรง เหลียวมองฟองคลื่นสีเขียวผ่านหัวไหล่ แล้วลุกขึ้นยืนก่อนที่มันจะแตกเป็นฟองสีขาว

นับตั้งแต่วินาทีนั้น เขาเคลื่อนที่อย่างมหัศจรรย์ราวมีเวทมนตร์ ด้วยพลังงานจากคลื่นทะเล

“อยากลองดูว่ามันคือกีฬาอะไร ทำไมคนต่างชาติมาเล่นกันเยอะ โดยที่คนพื้นเพเราไม่เคยเล่นหรือไม่มีใครรู้ศักยภาพของทะเลหน้าบ้านเลย จึงตัดสินใจเอาตัวเองเข้าไปตรงนั้นเพื่อจะได้รู้ศักยภาพทั้งหมดของทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวเรา”

ติ๋ว-วรินทร คงทอง นักกีฬาโต้คลื่นชาวบ้านเพและเจ้าของโรงเรียนสอนโต้คลื่น Laem Yah Rayong Surf Club (LYSC) ณ หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง พูดขณะนั่งอยู่ใน “คลับ”

คลับแห่งนี้รูปร่างคล้ายตู้คอนเทนเนอร์สีขาว มีกระจกขอบไม้สองบานประดับไว้ทั้งซ้ายและขวา พื้นปูด้วยเสื่อสานไม้ไผ่ ประตูกระจกบานใหญ่ตรงกลางถูกเปิดทิ้งไว้ให้ลมทะเลและเสียงคลื่นฝั่งตรงข้ามพัดคลอเข้ามา

ในคลับมีกระดานไม้ที่ใช้บันทึกเรื่องราวการเดินทางโต้คลื่นของคนบ้านเพ ชัยชนะครั้งแรกของนักโต้คลื่นในเสื้อกล้ามสีขาวที่กำลังเดินขึ้นจากทะเลด้วยรอยยิ้ม คลื่นใหญ่ที่เกิดจากพายุปาบึกใน ค.ศ. ๒๐๑๙  เวทีมอบรางวัลจากการแข่งขันโต้คลื่นที่งาน Rayong Log Jam ครั้งแรก และสัญลักษณ์นางเงือกถือบอร์ดซึ่งเป็นโลโก้ของคลับ

ณ ชายหาดฝั่งตรงข้ามโรงเรียน กระรอกสีขาวปนเทาตัวอวบอ้วนราวเจ็ดถึงแปดตัว กำลังง่วนอยู่กับการวิ่งขึ้นลงและข้ามไปมาระหว่างต้นหูกวางและสนทะเล ท่อนไม้ยาวราว ๒ เมตรถูกวางพาดเป็นสะพานเชื่อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกมันเก็บเกี่ยวเศษผลไม้ ซึ่งคนใจดีนำมาวางไว้ให้ในขวดน้ำพลาสติกที่ถูกตัดครึ่ง ฉากหลังของมื้ออาหารอันโอชะของเหล่ากระรอกหางปุยคือชายหาดทอดยาว ๑๒ กิโลเมตร ทะเลสีครามที่กระแสน้ำแปรปรวนในฤดูมรสุม เตยทะเลต้นกลาง ๆ กำลังเติบใหญ่ ในระหว่างนั้นถูกใช้เป็นราวตากผ้าของผู้มาเยือน

หันหน้าออกสู่ท้องทะเลกว้าง อาจไม่สดใสบ้างในยามฝนพรำลงมา ชายตามองไปทางซ้าย ไม้ปริศนาต้นหนึ่งเอียงลำต้นกล่าวทักทายจากเขาแหลมหญ้า มองกลับมาทางขวา หน้าต่างที่เรียงกันอย่างสมมาตรของคอนโดมิเนียมคู่สีขาวทะลุโผล่ขึ้นมาจากยอดทิวสนทะเลและหูกวาง ถนนแคบ ๆ ที่พอให้รถยนต์หรือซาเล้งขับสวนกันได้ตัดคั่นระหว่างชายหาดและอาคารสิ่งก่อสร้าง เสียงรถขายไอศกรีมดังขึ้นเป็นระยะ

ณ ที่แห่งนี้ ผู้คนเรียกขานกันว่า “หาดแม่รำพึง” หรือ “หาดกินคน”
อุปกรณ์หลักมีเพียงกระดานโต้คลื่นกับสายรัดข้อเท้า โดย LYSC มีทีมโค้ชเปิดสอนเซิร์ฟให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ รวมถึงผลักดันศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ เป็นทีมเด็กบ้านเพ ส่งไปแข่งขันและคว้ารางวัลกลับมานับไม่ถ้วน
Paddle Out
~ พายออกไปตามความฝัน ~

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าที่สุดที่บันทึกการมีอยู่ของกีฬาโต้คลื่นคือสมุดจดของกัปตันเจมส์ คุก และเรือโท เจมส์ คิง นักสำรวจชาวอังกฤษที่เดินทางไปยังหมู่เกาะฮาวาย และได้เห็นการโต้คลื่นโดยใช้กระดานไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกของชนเผ่าพื้นเมืองฮาวาย บันทึกนี้จดไว้ใน ค.ศ. ๑๗๗๗-๑๗๗๙

ไม่มีใครจดบันทึกไว้ว่าการโต้คลื่นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร แต่พบข้อมูลว่าทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมี surf spot หรือจุดที่โต้คลื่นได้ ถูกค้นพบแล้วถึง ๒๑ แห่ง กระจายตัวอยู่ใน ๑๐ จังหวัด ๓ ภาค (ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก) ได้แก่ หาดปะการัง (Memories beach) และหาดนางทอง เขาหลัก จังหวัดพังงา, หาดกะตะ หาดป่าตอง หาดกะหลิม หาดกมลาหาดสุรินทร์ หาดบางเทา หาดในทอน จังหวัดภูเก็ต, อ่าวนาง จังหวัดกระบี่, หาดเฉวง เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, หาดหินงามและหาดสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช, หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา, เกาะพยาม จังหวัดระนอง, หาดเขาตะเกียบ หัวหิน, หาดบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (รอยต่อจังหวัดชุมพร), หาดเจ้าหลาวและหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี และหาดแหลมแม่พิมพ์ อ่าวไข่ และหาดแม่รำพึงหรือก้นอ่าว จังหวัดระยอง

จากคำบอกเล่าของติ๋วและชาวบ้านในพื้นที่บ้านเพ ผู้บุกเบิกกีฬาโต้คลื่นริมหาดแม่รำพึงไม่ใช่ชาวระยอง แต่เป็นชาวญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

หลังจากเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่นานหลายปี ติ๋วสมัครเรียนคอร์สพื้นฐาน Try Surf กับโรงเรียนสอนโต้คลื่นที่เปิดโดยชาวต่างชาติในละแวกบ้าน ใช้เวลาเรียนประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง ประกอบด้วยทฤษฎีบนบก ๓๐ นาที ตั้งแต่ทำความรู้จักอุปกรณ์ ความปลอดภัยในการเล่น ซ้อมท่ายืนและฝึกพายบนบก จากนั้นเรียนภาคปฏิบัติในทะเลอีก ๑ ชั่วโมง โดยมีครูประกบอย่างใกล้ชิด เรียนตั้งแต่การพายออก การยืนบนกระดานโต้คลื่น และการพายเพื่อจับคลื่น

จากนั้นเขาก็ศึกษาวิธีการเล่นจากอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นมีแต่ข้อมูลภาษาอังกฤษ ผสมกับครูพักลักจำจากยูทูบ แล้วหัดเล่นด้วยตัวเอง ก่อนตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเพไปเรียนโต้คลื่นอย่างจริงจังที่จังหวัดภูเก็ต

ที่นั่นติ๋วได้พบครูเด-เดชา สิทธิเดช ครูคนแรกอย่างเป็นทางการของเขา ที่โรงเรียนสอนโต้คลื่น Andaman Sea Surf ณ หาดป่าตอง

หลังจากการพบกันครั้งนั้น ติ๋วกลับมาฝึกฝนต่อที่ทะเลหน้าบ้าน แล้วเดินทางไปยังภูเก็ตอีกครั้งเพื่อคว้ารางวัลที่ ๑ ในรุ่น Beginner จากการแข่งขันโต้คลื่นในงาน Kata Contest 2017 นับเป็นนักกีฬาโต้คลื่นจากฝั่งอ่าวไทยคนแรก ๆ ที่เอาชนะนักโต้คลื่นเจ้าถิ่นฝั่งอันดามันได้สำเร็จ พิสูจน์ให้เห็นว่าคลื่นอ่าวไทยก็มีศักยภาพในการฝึกฝนนักกีฬาไปแข่งชนะในทะเลอื่นได้เหมือนกัน กลายเป็นเรื่องราวความสำเร็จของนักกีฬาโต้คลื่นหน้าใหม่ที่เดินทางเกือบ ๑,๐๐๐ กิโลเมตรจากทะเลอ่าวไทย ไปลงแข่งรายการแรกในชีวิตที่ทะเลอันดามัน แล้วคว้ารางวัลที่ ๑ มาได้สำเร็จ

เบื้องหลังความสำเร็จคือความพยายามอย่างสม่ำเสมอ ติ๋วใช้เวลาฝึกเป็นปี ๆ ทุกเช้าเขาตื่นมานั่งรอคลื่นที่ทะเลหน้าบ้านลองจับคลื่นที่คิดว่าน่าจะดีสักลูก ล้มตู้ม คลื่นซัดเข้าหน้าแล้วพายออกไปนั่งรอคลื่นลูกใหม่ ลองจับคลื่นเป็นร้อยเป็นพันลูกเพื่อจะได้เรียนรู้ศักยภาพของมัน แม้แต่คลื่นลูกเล็กเท่าหัวเข่าก็มีความซับซ้อนซ่อนอยู่ให้นักโต้คลื่นเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

เขาต้องออกกำลังกายทุกวันเพื่อให้มีกล้ามเนื้อ จะได้มีแรงในการพายออก เรียนรู้เทคนิคการเล่นจากพี่ ๆ ที่อยู่ในคอมมูนิตีเดียวกัน แล้วขอโอกาสจากสปอนเซอร์เพื่อสนับสนุนให้ลงแข่งซึ่งสปอนเซอร์ของนักกีฬาหน้าใหม่ในเวลานั้นก็คือครอบครัวของเขานั่นเอง

“มีอยู่วันหนึ่ง ติ๋วมาบอกพ่อว่าขอตังค์ซื้อกระดานโต้คลื่นหน่อย กระดานมือสอง สามหมื่นกว่าบาท พ่อก็จ่ายให้ ก็เลยไปแข่งขันได้แชมป์มือใหม่มาจากภูเก็ต พ่อก็ภูมิใจนะ ทุกครั้งที่ไปแข่งก็สนับสนุนตลอด” พ่อของติ๋วกล่าว
Image
ทิวทัศน์ต้นหูกวางสลับสนทะเลตัดด้วยฟ้าสีครามบรรจบฟองคลื่นขาวคือที่ตั้งของหาดแม่รำพึงที่ครั้งหนึ่งมีฉายาว่า “หาดกินคน”
~ คลับของคนรักคลื่น ~
การพบกันระหว่างติ๋วและครูเดที่จังหวัดภูเก็ตไม่เพียงแต่เปลี่ยนเด็กบ้านเพคนหนึ่งให้เป็นแชมป์กีฬาโต้คลื่นเท่านั้นแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโรงเรียนสอนโต้คลื่นและสร้างเซิร์ฟคอมมูนิตีที่หาดแม่รำพึงด้วย

“พี่เดเป็นนักกีฬามาก่อนครับ ฝ่าฟันอะไรมาเยอะ การที่นักกีฬาคนหนึ่งจะโตขึ้นมาได้ต้องมีสปอนเซอร์ ซึ่งจะสนับสนุนก็ต่อเมื่อเห็นถึงเซิร์ฟคอมมูนิตีที่ใหญ่และเข้มแข็งมากพอ พวกเราเลยพยายามทำให้กีฬาโต้คลื่นเป็นที่รู้จักในประเทศไทยด้วยการสร้างเซิร์ฟคอมมูนิตีตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่โต้คลื่นได้ อย่างเขาหลัก จังหวัดพังงา, หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี, หาดเขาตะเกียบ หัวหิน และหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง” ติ๋วเล่าถึงเบื้องหลังการก่อตั้งเซิร์ฟคอมมูนิตีที่บ้านเกิด

ติ๋วรวบรวมคนบ้านเพที่อายุไล่เลี่ยกันและหลงใหลในคลื่นเหมือนกัน เพื่อปั้นให้เป็นครูสอนโต้คลื่นที่สามารถสอนและพานักเรียนไปฝึกในทะเลได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบันโรงเรียนสอนโต้คลื่นแห่งนี้มียอดจองกว่า ๒๐๐ คนต่อสัปดาห์ในช่วงฤดูมรสุม

“เมื่อก่อนผมเป็น surfer ที่พร้อมจะเอาแพสชันไปลุยกับทุกอย่าง แต่มีพี่ที่รู้จักเตือนว่าการจะสร้างคอมมูนิตีได้ อย่างหนึ่งคือต้องมีเงินหมุน เลยขยายโรงเรียนให้ใหญ่ขึ้น ทำอะไรให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ครูทุกคนมีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว ไปเที่ยว ไปซื้อบอร์ดใหม่ ไปทำอะไรก็แล้วแต่ให้ตัวเองมีความสุขขึ้น นั่นคือความสมบูรณ์แบบที่ผมคิดว่ามันควรจะเป็น” ติ๋วอธิบายความสำคัญของการก่อตั้งโรงเรียนสอนเซิร์ฟ เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาวงการกีฬาโต้คลื่น และส่งนักกีฬาไปแข่งในงานต่าง ๆ ได้

หนึ่งในความสำเร็จที่ชัดเจนของเซิร์ฟคอมมูนิตีและโรงเรียนสอนโต้คลื่น LYSC แห่งนี้คือติ๋วปั้นเด็กบ้านเพจากทะเลอ่าวไทยให้เป็นครูและนักกีฬาโต้คลื่นได้จริง ๆ โดยใช้ทะเลหน้าบ้านเป็นสนามฝึกนักกีฬา ส่งไปแข่งไกลถึงฝั่งอันดามัน แล้วคว้ารางวัลกลับมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นงาน Khao Lak Surfing Contest & Festival 2018 จังหวัดพังงา, งาน Surf to the Moon 2022 จังหวัดจันทบุรี และการแข่งขันกีฬากระดานโต้คลื่นระดับนานาชาติ ณ หาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ ๒๓-๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕

กี๋-ประกิต สุขเทศ นักศึกษาอายุ ๑๘ ปี ครูสอนโต้คลื่นอายุน้อยที่สุดใน LYSC และนักกีฬาผู้คว้ารางวัลที่ ๑ ในรุ่นกระดานยาว (Long Board) จากงาน Surf to the Moon 2022 ณ หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงปนเขินอาย หากแต่เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจในการเดินทางโต้คลื่นของตนเอง

“ตอนแรกผมชอบเล่นเกม ชอบขี่รถเล่น การมาเล่นเซิร์ฟทำให้ผมพ้นจากตรงนั้น ได้ออกกำลังกาย ห่างไกลยาเสพติดเลิกเรียนแล้วก็อยากกลับบ้านมาเล่นเซิร์ฟ เคยช่วยแม่ขายเตียงได้เงินนิดเดียว พอมาเป็นครูสอนก็ได้เงินเยอะมาก”

จากเด็กที่คอยช่วยป้าเสิร์ฟอาหารและช่วยแม่เก็บเงินค่าเช่าเตียงริมชายหาด ปัจจุบันกี๋หารายได้เสริมจากการเป็นครูสอนโต้คลื่นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
การปรับภาพจำของหาดแม่รำพึงเป็นที่มาของกฎสำคัญข้อหนึ่งที่ติ๋วตั้งขึ้นคือ นักกีฬาโต้คลื่นจะต้องมีวินัยออกกำลังกายทุกเช้าและไม่ยุ่งกับยาเสพติด ทั้งหมดนี้เพื่อแลกกับความสุขเสี้ยววินาทีบนกระดานโต้คลื่น
เซิร์ฟคอมมูนิตียังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ส่งต่อความตั้งใจดี ๆ และภาพลักษณ์ใหม่อันสดใสโดยไม่ลืมใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นรากฐานของชุมชนบ้านเพที่เข้มแข็งและยั่งยืนคู่ทะเลระยอง
LYSC ยังมีครูสอนโต้คลื่นอีกประมาณ ๑๗ คน อายุตั้งแต่ ๑๘-๔๘ ปี คอยผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาสอนเมื่อถึงฤดูกาลที่คลื่นมาเยือน และที่สำคัญครูทุกคนล้วนเกิดและเติบโตที่บ้านเพ จังหวัดระยอง

“พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นคอมมูนิตีเดิม ๆ ที่เห็นกันตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ต่างคนก็ต่างไปทำอะไรในช่วงวัยหนึ่ง แล้วพอมาติดเซิร์ฟก็กลับมารวมตัวกันใหม่ในมุมที่ดีขึ้น ได้ใช้ชีวิตจริง ๆ ได้เงินมีความสุข หลุดพ้นออกจากบ่วงอะไรก็ตามที่เจอมา ณ ตอนนั้น” ติ๋วเสริม

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อก่อนปัญหายาเสพติดในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรง วัยรุ่นชอบนัดกันมานั่งมั่วสุมริมทะเลในเวลากลางคืน แต่กีฬาโต้คลื่นต้องอาศัยความแข็งแรงทางกายและวินัยในการฝึกฝน จึงเป็นที่มาของกฎข้อหนึ่งคือจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

นักโต้คลื่นยังต้องตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ฝึกการทรงตัว ฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้เพื่อแลกกับความสุขเพียงเสี้ยวนาทีเมื่อได้ยืนบนบอร์ดและไหลระบำไปกับเกลียวคลื่น

“อุปสรรคจริง ๆ ไม่อยากจะนับ มันไม่มีทางจะสดใส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ผมไม่อยากจะนับเพราะรู้สึกว่าเราพร้อมที่จะฝ่ามันไป ถ้าจำเยอะมันก็เหนื่อยฟรีเปล่า ๆ” ติ๋วเล่าเสริม
Green Season
~ ฝนฤดูแล้งของชุมชน ~

แม้หาดแม่รำพึงจะเป็นจุดหมายปลายทางที่โด่งดังด้านความงดงามของทะเล แต่ไม่ใช่ทะเลหน้าฝนที่มีคลื่นลมแรงและมีป้ายสีแดงของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดปักเตือนไว้ว่า “อันตราย ห้ามลงเล่นน้ำ” ทำให้โรงแรมหลายแห่งไม่มีแขกเข้าพักในช่วงฤดูฝน รวมถึงร้านอาหารก็ขาดลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น หากลองเสิร์ชคำว่า “หาดแม่รำพึง” ในกูเกิลคำต่อท้ายที่ถูกแนะนำอัตโนมัติอันดับต้น ๆ คือ “อันตราย” เมื่อคลิกเข้าไป คุณจะพบข่าวที่พาดหัวไว้อย่างน่าสยอง อย่าง “สังเวยอีกศพ” “เซ่น” หรือ “คลื่นซัดดับ” และกระทู้เล่าเรื่องลี้ลับอีกมากมายที่พร้อมใจกันเกิดขึ้น ณ หาดแม่รำพึง

แต่ข้อมูลสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่เคยถูกนำมาใช้พาดหัวข่าวคือสาเหตุของอุบัติเหตุทางน้ำเหล่านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “rip current” หรือกระแสน้ำไหลย้อนกลับสู่ทะเล ซึ่งพัดพาคนเล่นน้ำใกล้หาดออกไปยังจุดน้ำลึกจนเกิดอันตรายได้

ปรากฏการณ์นี้มีจุดสังเกตคือสีของน้ำจะขุ่นเข้มกว่าบริเวณรอบข้าง เพราะกระแสน้ำพัดเอาตะกอนมาสะสมไว้ วิธีเอาตัวรอดคือตั้งสติ แล้วว่ายออกด้านข้างขนานกับชายฝั่ง เพื่อให้พ้นจากบริเวณที่เกิดกระแสน้ำไหลกลับ

ที่สำคัญคือปรากฏการณ์ธรรมชาติ “คลื่นดูด” นี้พบได้ทุกที่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่หาดแม่รำพึง

rip current เป็นอันตรายสำหรับคนเล่นน้ำที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วยพยุงตัว เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะว่ายต้านแรงของกระแสน้ำได้ แต่สำหรับคนที่ลงน้ำพร้อมกระดานโต้คลื่น rip current เปรียบเสมือนช่องทางพิเศษที่จะพาพวกเขาไปยังจุดที่คลื่นมักจะยกตัว (line up) ได้อย่างรวดเร็วและประหยัดแรงในการพายออก (paddle out) เพราะได้แรงของกระแสน้ำที่กำลังไหลกลับสู่ทะเลมาช่วยผ่อนแรงแขน

การเข้ามาของกีฬาโต้คลื่นได้ลบภาพจำความน่ากลัวแห่งท้องทะเลเหล่านั้น กลับดึงดูดนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาให้มาเยือนหาดแม่รำพึงในฤดูฝน และทำความเข้าใจธรรมชาติของทะเล ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ พายออกไปยังจุด line up แล้วจับคลื่นสวย ๆ ให้ได้สักลูก
Image
เรื่องราวการเดินทางของแหลมหญ้าระยองเซิร์ฟคลับ (LYSC) ถูกจารึกไว้บนบอร์ดไม้เล็กๆ ในคลับ บอกเล่าภาพประทับใจ รวมถึงการแข่งขันต่างๆ โดยเฉพาะ Rayong Log Jam การแข่งขันโต้คลื่นครั้งแรกในฝั่งอ่าวไทย ที่ LYSC ร่วมจัดงาน
Image
แวกซ์เป็นสิ่งจำเป็นในการกันลื่นของเซิร์ฟบอร์ดระหว่างโต้คลื่น แต่ด้วยวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้การขนส่งมีปัญหา แวกซ์ที่ปรกติต้องนำเข้านั้นขาดตลาดและราคาสูง อู๋จึงพัฒนาสูตรที่เหมาะสมกับอุณหภูมิประเทศไทย ในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง และอู๋ยังเป็น team rider ให้แบรนด์กระดานโต้คลื่น NSP  สินค้าเหล่านี้มีวางจำหน่ายในคลับเล็กๆ ขนาดตู้คอนเทนเนอร์ของติ๋วด้วย
นอกจาก LYSC จะเป็นโรงเรียนสอนโต้คลื่นแล้ว ยังเป็นทั้งร้านกาแฟ เซิร์ฟช็อป บาร์ในคืนวันสุดสัปดาห์ และเป็นทำเลทองสำหรับพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น น้ำชง ลูกชิ้นทอด ส้มตำ ไก่ย่างและเกี๊ยวทอด เพราะที่นี่มักเนืองแน่นไปด้วยนักโต้คลื่น ผู้หิวโหยมองหาของกินเพิ่มแรงก่อนจะวิ่งลงน้ำไปลุยต่อกับคลื่นชุดถัดไป

“คนจะเยอะขึ้นเวลามีคลื่น อะไร ๆ ก็ดีขึ้น ถึงแม้จะมีโควิด-๑๙ แต่คนก็ยังมาเที่ยวอยู่ อย่างโรงแรมข้าง ๆ เค้าก็รอเซิร์ฟ รอมรสุม ถ้าไม่มีเซิร์ฟก็ไม่มีคน”

คำบอกเล่าจากพ่อของติ๋ว ผู้เป็นเจ้าของรีสอร์ตเล็ก ๆ ริมหาดแม่รำพึง ช่วยยืนยันอีกเสียงว่า กีฬาโต้คลื่นทำให้ทะเลที่มักจะซบเซาช่วงมรสุมได้คึกคักราวกับทะเลฤดูร้อน ด้วยภาพคนหนุ่มสาวสวมกางเกงว่ายน้ำและบิกินี ถือบอร์ดไว้ข้างเอว วิ่งเท้าเปล่าลงทะเลด้วยแววตาที่ไร้ความเกรงกลัวใด ๆ

อีกหนึ่งอีเวนต์ที่เป็นปรากฏการณ์ของหาดแม่รำพึงคืองาน Rayong Log Jam การแข่งขันกีฬาโต้คลื่นครั้งแรกของฝั่งอ่าวไทย จัดขึ้นครั้งแรกโดยทีม LYSC ในปี ๒๕๖๒ และจัดเรื่อยมาในช่วงฤดูมรสุมของทุกปี ถือเป็นอีเวนต์ที่เรียกคนรักคลื่นและคนที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์โต้คลื่นมารวมตัวกัน ณ หาดแม่รำพึง

ยอดจองโรงแรมเต็มแทบทุกครั้งที่จัดงาน รถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนแทบทุกจังหวัดทั่วไทยจอดเรียงรายเต็มสองข้างทางเป็นภาพที่คนในชุมชนและผู้ประกอบการคงไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็นในช่วงฤดูมรสุม

ความสัมพันธ์ระหว่างกีฬาโต้คลื่นและการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนในช่วง low season นี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในประเทศไทยเท่านั้น งานวิจัยด้านเศรษฐกิจที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Hawaii Business Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๘ ระบุว่า การแข่งขันกีฬาโต้คลื่น “Vans Triple Crown of Surfing” ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ สร้างเม็ดเงินกว่า ๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ ๗๗๒ ล้านบาทไทย ให้แก่เศรษฐกิจของหมู่เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  นอกจากนี้กีฬาโต้คลื่นยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และเป็นกีฬาที่ทำให้ฮาวายกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ใฝ่ฝันของคนทั่วโลก
~ คลื่นทะเลเปลี่ยนชีวิต ~
เพียงคลื่นลูกเล็กเท่าหัวเข่า ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายไม่สิ้นสุด

คลื่นที่หาดแม่รำพึงเกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาวประกอบกับลักษณะพิเศษของพื้นใต้ทะเลที่มีแนวร่องน้ำลึกและสันทรายทอดตัวยาว ๔ กิโลเมตรตั้งแต่บริเวณก้นอ่าวหาดแม่รำพึง ทำให้เกิดคลื่นที่เรียกว่า “beach break” หรือคลื่นที่แตกตัวหน้าหาด

สำหรับนักโต้คลื่นแล้ว นี่เป็นคลื่นที่ปลอดภัยและเล่นง่ายที่สุด เพราะผู้เล่นไม่ต้องพายออกไปรอคลื่นในจุดที่น้ำลึกและไม่มีโขดหินหรือแนวปะการังใต้ทะเลที่กีดขวางเส้นทางการเล่น

ด้วยลักษณะของคลื่นที่ไม่ใหญ่และแรงจนเกินไป ทำให้หาดแม่รำพึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเปิดโรงเรียนสอนโต้คลื่น

อย่างไรก็ตามกีฬาโต้คลื่นไม่ได้ทำให้เกิดอาชีพครูสอนโต้คลื่นเพียงอย่างเดียว

“ที่คลับเรามีแต่คนระยอง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา ช่างทำบอร์ด ครูสอนโต้คลื่น กรรมการตัดสินกีฬาโต้คลื่น นายแบบ คนขายอุปกรณ์โต้คลื่น เทรนเนอร์ ช่างภาพ คนทำงานศิลปะ อีกเยอะเลยที่ไม่ได้พูดถึง”
Image
Image
การพลิกฟื้น “ชื่อเสีย” จนเงียบเหงาของหาดแม่รำพึงสู่ความคึกคักนี้ ทำให้เศรษฐกิจของบ้านเพเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะ low หรือ high season
พี-ฐานิศ เนื่องจันทร์พัฒน์ อดีตช่างภาพโฆษณาถ่ายสินค้าที่ production house เล็ก ๆ ในกรุงเทพฯ ผู้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำกลับมาเป็นครูสอนโต้คลื่นและช่างภาพที่บ้านเกิด เล่าให้ฟัง (เท่าที่นึกออก) ว่า กีฬาโต้คลื่นสร้างอาชีพอะไรให้คนในชุมชนบ้าง

พียังเป็น content creator ผู้ดูแลเพจ Laem Yah Rayong Surf Club ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดตามกว่า ๒ หมื่นคนแล้ว หน้าที่ของพีคือทำคอนเทนต์รายงานสถานการณ์คลื่น ให้ความรู้เกี่ยวกับกีฬาโต้คลื่น ชวนเพื่อน ๆ มา try surf หรือพายซับชมวิวพระอาทิตย์ตก สอดแทรกแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ อย่างโครงการเก็บขยะริมทะเลแลกชั่วโมงเช่าบอร์ดฟรี

ที่สำคัญ พีได้นำทักษะการถ่ายภาพของตนเองมาใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรมการโต้คลื่นท่ามกลางหาดแม่รำพึงผ่านมุมมองของคนที่เติบโตมากับทะเลและรู้จักกีฬาโต้คลื่นเป็นอย่างดี ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นภาพหาดแม่รำพึงในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม

ส่วนโครงการเก็บขยะแลกชั่วโมงบอร์ดเริ่มจากการที่ริมทะเลมีขยะเยอะจนครูเก็บกันไม่ไหว เก็บเช้า บ่ายก็มีขยะลอตใหม่ซัดเข้ามาอีก จึงเกิดไอเดียชวนนักท่องเที่ยวมาเก็บขยะให้เต็มถุงดำ (ขนาดกลาง) แล้วให้เช่าบอร์ดฟรี ๓ ชั่วโมง นอกจากจำนวนขยะที่ลดลงแล้ว ผลพลอยได้ที่สำคัญมาก ๆ คือได้เจอเยาวชนหน้าใหม่ในพื้นที่ที่อยากเล่นกีฬาโต้คลื่น แต่ไม่กล้าขอเช่าบอร์ดฟรี แม้ว่าทางโรงเรียนมีโครงการให้ยืมบอร์ดฟรีสำหรับเยาวชนในพื้นที่อยู่แล้ว โครงการเก็บขยะจึงเป็นประตูก้าวแรกที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเซิร์ฟคอมมูนิตีแห่งนี้ และได้ต่อยอดฝึกฝนเพื่อเป็นนักกีฬาและเป็นครูต่อไป
“อยากลองดูว่ามันคือกีฬาอะไร ทำไมคนต่างชาติมาเล่นกันเยอะ โดยที่คนพื้นเพเราไม่เคยเล่น จึงตัดสินใจเอาตัวเองเข้าไปตรงนั้น เพื่อจะได้รู้ศักยภาพทั้งหมดของทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวเรา”
ติ๋ว-วรินทร คงทอง หนุ่มชาวระยองโดยกำเนิด เริ่มฝึกกีฬาโต้คลื่นที่ทะเลหน้าบ้านจากการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตและยูทูบ ก่อนตัดสินใจเดินทางไปเรียนโต้คลื่นที่จังหวัดภูเก็ต
Image
อู๋-เสฎฐวุฒิ ไชยวัฒน์ บาริสตา ที่ปัจจุบันเป็นทั้งครูสอนโต้คลื่น, team rider ให้กับแบรนด์กระดานโต้คลื่น NSP และนักกีฬาโต้คลื่นที่ล่าสุดบินไปไกลถึงภูเก็ต เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งโต้คลื่นระดับนานาชาติ ณ หาดกะตะในวันที่ ๒๓-๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ และได้เข้าแข่งในรอบแปดคนสุดท้ายร่วมกับ โรเจอร์ คาซูเกย์ นักกีฬาโต้คลื่นเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ ค.ศ. ๒๐๑๙ จากประเทศฟิลิปปินส์

นอกจากนี้อู๋ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ The SeT Wax แวกซ์ขี้ผึ้งสำหรับขัดบอร์ดเพื่อกันลื่น แบรนด์นี้เริ่มจากวิกฤตแวกซ์ขาดตลาดซึ่งทำให้แวกซ์ราคาสูงมาก

อู๋ส่งแวกซ์ให้เพื่อนนักโต้คลื่นไปทดลองใช้ในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเพื่อปรับสูตรให้ลงตัว แล้วบรรจงปั๊มโลโก้ลงบนแวกซ์ทุกก้อนเอง  อู๋ใส่กลิ่นกาแฟเข้าไปด้วย เพื่อสื่อถึงสองสิ่งที่หลอมรวมกันเป็นตัวเขา คือการโต้คลื่นและการชงกาแฟ ปัจจุบัน The SeT Wax วางขายอยู่ที่ LYSC และร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการโต้คลื่นที่จังหวัดอื่น ๆ อย่างร้าน The Place ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา รวมทั้งขายในช่องทางออนไลน์ด้วย

“คลื่นทะเลมันเปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิงเลยครับ จากตอนแรกผมตื่นสายมาก ๆ พอมารู้จักกีฬาโต้คลื่น ตอนนี้ต้องตื่นเช้าเพื่อมาเฝ้าดูคลื่น เพราะคลื่นช่วงเช้าจะดีที่สุด แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดเล็ก ๆ แต่มันจะเปลี่ยนทั้งวัน ทั้งเดือนทั้งปีไปเลย” อู๋กล่าว
~ คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด ~
“ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยจะจบแล้ว เขามาบอกพ่อว่าไม่เรียนแล้ว จะเล่นกีฬา พ่อก็คิดว่าถ้าเรียนหนังสือแล้วไม่ได้มาทำอะไรให้บ้านของตัวเอง มันก็เท่านั้น แต่ถ้าไม่ได้เรียนแล้วมาทำอาชีพที่ชอบ ทำได้ดีในสิ่งที่ชอบ มาพัฒนาบ้านเกิดก็ดีกว่าที่จะเรียนแล้วไม่ได้ทำอะไร”

พ่อของติ๋วเล่าย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อลูกชายตัดสินใจหันมาประกอบอาชีพนักกีฬาและครูสอนโต้คลื่นแบบเต็มตัว

“เคยถามตัวเองว่าอยากอยู่ที่นี่มั้ย อยากอยู่ทะเลหรืออยู่ที่อื่น ก็ตอบตัวเองว่าเราอยากอยู่ทะเล”

ณ จุดหนึ่งของชีวิต ติ๋วตั้งคำถามว่าเขาจะเลือกเดินเส้นทางไหน

“ผมคิดว่าศักยภาพของเมืองไม่ได้อยู่ที่สิ่งก่อสร้าง แต่อยู่ที่คนรอบข้าง พอคนรอบข้างมี mindset ที่ดี เมืองก็จะน่าอยู่พอเมืองน่าอยู่ สังคมก็ดูดี  ที่นี่คุณขับมอเตอร์ไซค์ ผมปลิวโกรกลม ขับรถด้วยมือข้างหนึ่งจับพวงมาลัย มืออีกข้างยื่นออกไปนอกรถได้ มีบรรยากาศดี ๆ และรถไม่ติด พอแล้วครับชีวิตแค่นั้นเอง” ติ๋วเสริม
Image
Image
ตลอดเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา Laem Yah Rayong Surf Club
เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งที่มองเห็นได้และไม่ได้ด้วยตาเปล่า การท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้นแม้ในช่วงมรสุม ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของผู้คน ชายหาดที่แม้จะมีขยะเท่า ๆ เดิมแต่เพิ่มเติมคือมีคนเก็บขยะมากขึ้น และรถเข็นขายอาหารริมถนนที่มีคนต่อคิวกันทั้งวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเส้นทางที่ติ๋วและเพื่อน ๆ เลือกเดินไปตามกระแสน้ำและแรงคลื่น เป็นได้ทั้งอาชีพที่สร้างรายได้ งานอดิเรก เป็นความภาคภูมิใจและความพึงพอใจในชีวิต และเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเกิดของพวกเขาน่าอยู่ขึ้นได้จริง ๆ

สุดท้ายแล้ว ศักยภาพของทะเลระยองจะไปได้ไกลแค่ไหนจะทำให้บ้านเพเป็น surf city แห่งแรกของอ่าวไทยได้อย่างเป็นทางการหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่
“เรื่องของทะเล ถ้าไม่ใช่เด็กบ้านเพที่เป็นคนบอกต่อประชาชน แล้วจะเป็นใคร ใช่มั้ยล่ะครับ”

ติ๋วกล่าวปิดท้าย  

กี๋ -ประกิต สุขเทศ (กลาง) ครูและนักกีฬาโต้คลื่นที่อายุน้อยที่สุดในคลับ บอกเราว่า นอกจากกีฬาเซิร์ฟจะช่วยสร้างรายได้ให้เขา ยังช่วยให้ห่างไกลยาเสพติดและมีสุขภาพที่ดี
หมายเหตุ
ผู้สนใจเรียนโต้คลื่น เช่ากระดานโต้คลื่น หรือพายซับที่ Laem Yah Rayong Surf Club ณ หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ติดต่อสอบถามได้ที่ https://www.facebook.com/LAEMYAHRAYONGSURFCLUB

ช่วงเดือนที่เหมาะสำหรับการโต้คลื่นคือ พฤษภาคม-กันยายนและธันวาคม-กุมภาพันธ์

เปิดบริการทุกวัน ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. (แนะนำสอบถามพยากรณ์คลื่นทางเฟซบุ๊กของโรงเรียนก่อนเดินทาง)

ขอขอบคุณ 
วรินทร คงทอง, ประกิต สุขเทศ, ฐานิศ เนื่องจันทร์พัฒน์, 
เสฎฐวุฒิ ไชยวัฒน์ และทีม Laem Yah Rayong Surf Club

อ้างอิง
เว็บไซต์
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี. (๒๕๕๗). ไขปริศนา “หาดแม่รำพึง”.สืบค้นจาก https://www.voicetv.co.th/read/110728

ปริญญา ชาวสมุน. (๒๕๖๔). “‘เซิร์ฟ’ จะตายเพราะ ‘ทราย’ จะเติม”.สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/952873

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระยอง. “ปรากฏการณ์กระแสน้ำพัดออก”. สืบค้นจาก https://www.fisheries.go.th/mf-emdec/mainweb/km_html/km_ripcurrent.html

Dew Promchareon. (๒๕๖๔). “ประวัติศาสตร์ของการโต้คลื่นและ

ความหมายของ surf culture”. สืบค้นจาก https://www.bettersurfthailand.com/post/surf-history

Jade Bremner. (๒๕๖๐). “World's 50 best surf spots”. สืบค้นจาก https://edition.cnn.com/travel/article/50-surf-spots/index.html

Jeff Hawe. (๒๕๖๐). “Surf Competition Pumps Millions into Oahu Economy”. สืบค้นจาก https://www.hawaiibusiness.com/surf-competition-pumps-millions-into-oahu-economy/

Laem yah surf club. (๒๕๖๔). Our surf team. สืบค้นจาก https://laemyahsurfclub.com/out-surf-team/

Malibu J. (๒๕๖๒). “จากอดีตแชมป์เอเชีย ๒ สมัย สู่เป้าหมายในการปั้นนักเซิร์ฟทีมชาติไทยไป SEAS Games”. สืบค้นจาก https://up-th.com/decha-sithidej-day-andaman-sea-surf/

Rip Curl. (๒๕๖๔). “THAILAND SURF DESTINATION”. สืบค้นจาก https://ripcurl.co.th/th/blogs/ข่าวสาร/thailand-surf-destinationRobert Elgar. “Do Surfers Like Rip Currents? (& How to Use Them Safely)”. สืบค้นจาก https://www.watersportgeek.com/surfers-rip-currents/

Surfers Hype. (๒๕๖๕). “A surfers' guide to understanding rip currents”. สืบค้นจาก https://surfershype.com/a-surfers-guide-to-understanding-rip-currents

Surfer Today. “What is a swell ?”. สืบค้นจาก https://www.surfertoday.com/surfing/what-is-a-swellThailand Tourism Directory. (๒๕๖๔). “หาดแม่รำพึง”. สืบค้นจาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/3091

Image