Image
ร้าน Slow Ride Coffee & Cafe บนถนนเลียบทางรถไฟ ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
Image
กลับมาเติมเต็มชีวิต
ที่​ Slow Ride
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : ปนัดดา ปิ่นแก้ว
ภาพ : ณัฐนิชา หมั่นหาดี
Slow Ride Coffee & Cafe
๓ กันยายน ๒๕๖๕
ถึงพ่อที่คิดถึง
วันนี้อากาศไม่ร้อนมาก เพราะมีเมฆสีเทาปุกปุยลอยปกคลุมเต็มผืนฟ้าและดูท่าเหมือนว่าฝนกำลังจะตก ทำให้ลูกรู้สึกคิดถึงบ้านไม่น้อย

ตอนนี้ลูกอยู่ในร้านกาแฟที่มีป่าสีเขียวร่มรื่นตั้งแต่ทางเข้าให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในสวนป่าหลังบ้านของเราเลยนะ แอบคิดในใจว่าถ้าพ่อมาด้วยกันก็คงดี เพราะพ่อชอบปลูกป่า พืชผักสวนครัว และชอบดื่มกาแฟ เห็นบรรยากาศแบบนี้ลูกเลย อดไม่ได้ที่จะเขียนจดหมายถึงพ่อ

จำได้ว่าเมื่อมาถึงท่ารถ ลูกโทรศัพท์ถามเพื่อนที่มารออยู่ก่อนแล้วถึงวิธีเดินทาง ปลายสายพูดเพียงว่า “ลงพัทยาเหนือนะ”

ในใจลูกนึกสงสัยว่ามีพัทยาเหนือ-ใต้ด้วยอย่างนั้นหรือเลยค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ความโดยสรุปว่า เมืองพัทยามีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเข้ามาเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้เหมาะกับการลงทุนและการค้าต่าง ๆ มีปริมาณเม็ดเงินกระจายในพื้นที่ค่อนข้างสูง จึงได้รับการยกฐานะเป็นเขตการปกครองพิเศษ มีการบริหารจัดการเมืองเอง ไม่ขึ้นตรงกับจังหวัดชลบุรี แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ส่วนคือ พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และหาดจอมเทียน

พ่อรู้ไหมว่าพัทยาเหนือเป็นพื้นที่ตลอดถนนสายนาเกลือ-พัทยา จนถึงวงเวียนปลาโลมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนเลียบชายหาดยาวไปจนถึงพัทยาใต้

พัทยากลางมีโรงแรมที่ส่วนมากไม่ใหญ่มาก แต่จะมีบาร์เบียร์ ร้านขายเสื้อผ้า และบาร์อะโกโกอยู่เยอะเลย
“ผมรู้สึกสบายใจกับต้นไม้ กับผักที่เราปลูก กับสิ่งที่เราทำ ถ้าเราสบายใจที่ไหนก็อยากจะอยู่ที่นั่น”

จักรพงศ์ หมั่นหาดี

ชมวิดีโอเต็ม คลิกลิงก์
https://www.youtube.com/watch?v=C3l8ANn7-90
create by : ปิยธิดา แหวนทองคำ
Image
สองพี่น้องคนรุ่นใหม่ผู้ร่วมพัฒนาร้าน Slow Ride Coffee & Cafe แบงค์ - จักรพงศ์ หมั่นหาดี วิศวกรผู้ชื่นชอบการทำอาหาร และมอส - ชัชพงศ์ หมั่นหาดี สถาปนิกและบาริสตา
พัทยาใต้มีความโค้งมากจากถนนเลียบชายหาด แถบนี้นี่เองที่ลูกเคยได้ยินว่าเป็นถนนคนเดินพัทยา

ส่วนพื้นที่ของหาดจอมเทียนถูกแบ่งจากส่วนอื่น ๆ ด้วย เนินเขาด้านหลังของพัทยาใต้ ถ้าพ่อขับรถผ่านเนินเขาและพระพุทธรูปใหญ่ก็จะลงมาสู่ชายหาดที่ค่อนข้างเงียบ ที่นี่เป็นที่นิยมของกีฬาทางน้ำด้วยนะ

พอมาถึงพัทยาแล้วระหว่างรอรถโดยสารเพื่อเดินทางต่อสายตาลูกก็พลันเห็นแผ่นป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองพัทยาอยู่ในจุดบริการนักท่องเที่ยว

น้อยคนนักที่จะรู้ที่มาที่ไปของชื่อ “พัทยา” จริง ๆ  หนึ่งในนั้นก็คือลูกนี่แหละ

แล้วพ่อล่ะรู้ไหมว่าชื่อเมืองนี้มีข้อสันนิษฐานว่าเคยเรียกว่า “ทัพพระยา” เพราะเป็นที่ที่กองทัพทหารเดินผ่าน แล้วยังเป็นที่ตั้งทัพของพระยาตากด้วย แต่บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจาก “พัทธยา” ชื่อลมที่พัดผ่านจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน

ร้านกาแฟที่ลูกตั้งใจมานี้จะเรียกว่าอยู่ที่พัทยาก็ได้ แต่อยู่ห่างจากวงเวียนปลาโลมาขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนืออีกราว ๑๐ กิโลเมตร ถ้าตามเขตพื้นที่ต้องบอกว่าอยู่บนถนนเลียบทางรถไฟ ในตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง ทางเข้าของร้านมีป้าย Slow Ride Coffee & Cafe โดดเด่นเชื้อเชิญให้ลูกค้าที่ผ่านไปมาเข้าไปเยี่ยมชม บรรยากาศร่มรื่นเป็นป่าเกือบทั้งหมดเลยนะพ่อ บนพื้นที่ ๑๘ ไร่นี้จัดสรรใช้สอยได้อย่างลงตัวเลยละ

ลูกเดินเข้ามาในร้าน ทักทายกับเพื่อนที่นัดกันไว้แล้ว ก็เลือกได้ทำเลที่นั่งข้างบ่อปลาคาร์ป ในนี้เป็นตู้ขนาดใหญ่ที่ผลิตด้วยเหล็กหรือที่พ่อคุ้นเคยจนเรียกติดปากว่าตู้คอนเทนเนอร์แบบที่ใช้บรรจุสินค้าสำหรับการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลานานนั่นแหละ ทางร้านประยุกต์ให้เป็นที่นั่งรับประทานอาหารและดื่มกาแฟ ผนังด้านที่ติดกับบ่อปลาเป็นกระจกบานใหญ่ มองออกไปเห็นธรรมชาติ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทางได้ดีมากเลย

ลูกนั่งเล่นอยู่สักพักก็พบกับชายหนุ่มผิวเข้มในชุดเสื้อสีฟ้าอ่อนดูสบายตา มอส-ชัชพงศ์ หมั่นหาดี ผู้เป็นทั้งบาริสตาและร่วมสร้างร้านนี้ด้วย

ในระหว่างที่มอสกำลังเตรียมอุปกรณ์ชงกาแฟ เขาบอกเล่าเรื่องราวถึงความเป็นมาของร้าน Slow Ride Coffee & Cafe ให้พวกเราฟังว่า

“ร้านนี้เกิดจากกลุ่มมอเตอร์ไซค์เล็ก ๆ ของครอบครัวโดยเราตั้งคำถามกันว่าจะเป็นยังไงถ้ามีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ได้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน เป็นบทสนทนาบนโต๊ะกาแฟเล็ก ๆ บนม้าหินอ่อน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Slow Ride Coffee & Cafe”

แววตาของมอสเป็นประกายและดูภาคภูมิใจกับสิ่งที่หล่อหลอมเขามาอย่างมากเลยนะพ่อ คำที่เขาพูดให้พวกเราได้ยินบ่อย ๆ คือคำว่าครอบครัว ตอกย้ำความรู้สึกคิดถึงที่ลูกมีถึงพ่อยิ่งขึ้นทุกครั้ง
คอกสัตว์ที่มีการเลี้ยงและดูแลตามธรรมชาติจากคนในบริเวณชุมชนที่เข้ามาทำงานเพื่อเพิ่มรายได้
Image
Image
เขาเล่าให้ฟังอีกว่า คงเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ตอนนั้นพี่ชายของเขาเพิ่งจะเรียนจบ พ่อและอาของเขาก็เจอช่วงวิกฤตว่างงานจากเศรษฐกิจ ตึกสร้างน้อยลง แต่ทุกอย่างกลับลงตัวทำให้เกิดพื้นที่นี้ขึ้นมา เพียงแค่ต้องการมีร้านเล็ก ๆ ไว้นั่งปรึกษากัน โดยให้กาแฟเป็นสื่อกลาง ที่นี่ทำให้พ่อกับลูก พี่ชายกับน้องชายได้มาคุยกัน ได้อยู่ด้วยกัน

ความหลงใหลในกาแฟของครอบครัวนี้ทำให้ลูกนึกถึงบทความจาก สารคดี เรื่องหนึ่งที่เปิดเผยเรื่องราวของกาแฟรสชาติขม ๆ ที่พ่อชอบดื่ม กาแฟในโลกนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันในเชิงพาณิชย์มีเพียงสองชนิดคืออะราบิกาและโรบัสตา

อะราบิกามีรสชาติดีแต่ปลูกยาก ต้องเป็นพื้นที่สูงและมีอากาศเย็น ส่วนโรบัสตามีรสชาติเข้มข้นและขมกว่าแต่ปลูกได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องปลูกบนพื้นที่สูง ส่วนมากจะพบกาแฟสายพันธุ์นี้ที่ภาคใต้ของไทย

ผืนดินก็เป็นส่วนสำคัญ ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟตามสภาพความเป็นกรดด่าง ข้อนี้มอสอธิบายเสริมเป็นความรู้ให้พวกเราฟังว่า กาแฟไทยรสชาติจะไปทางตระกูลถั่ว ส่วนกาแฟที่มาจากประเทศเอธิโอเปียจะเปรี้ยวและสดชื่นเหมือนผลไม้จำพวกเบอร์รี ให้ความรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย

กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของกาแฟลอยฟุ้งภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกปรับแต่งให้พร้อมใช้งาน ผนังฉาบทาด้วยสีดำรับกับแสงไฟสีส้มนั้น สะท้อนให้ใบหน้าของบาริสตาหนุ่มดูมีเสน่ห์ขึ้นทันตา

“คุณดูหลงใหลกาแฟมากเลย” ลูกทักเขาอย่างนั้น

“ผมว่ามันดีนะถ้าเราหลงใหลอะไรสักอย่างในชีวิต แค่อย่างเดียวก็เกินพอแล้ว” พวกเรายิ้มให้กับคำตอบของเขาเลย

มอสนำแก้วออกมาเรียงและบรรจงรินกาแฟที่เพิ่งทำสด ๆ อย่างใส่ใจทีละแก้ว ส่งให้ลูกและคนอื่น ๆ  ระหว่างที่ลูกดื่มกาแฟอยู่นั้น เขาก็เล่าถึงที่มาของตัวเองว่า

“ผมจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตก่อนหน้านี้เคยทำงานที่กรุงเทพฯ แต่พอต้องเข้าไปทำงานในตัวเมือง มีรถติด ผู้คนแออัด ทั้งเรื่องการเดินทาง ค่าใช้จ่าย ฯลฯ จึงรู้ว่านั่นคือของจริงที่คนเมืองต้องพบเจอ ผมไม่เคยซึมซับเลยตอนอยู่ที่บ้าน  ที่รู้สึกมากก็คือเวลาฝนตก ถ้าเป็นที่บ้านผมจะสบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่อึดอัด แต่ที่กรุงเทพฯ มันแตกต่างกัน  ผมอยู่กรุงเทพฯ จนรู้สึกอิ่มตัว เต็มที่กับที่นั่นแล้วในใจลึก ๆ รู้ตัวมานานแล้วว่าอยากทำอะไรเพื่อครอบครัวการไปเรียนที่กรุงเทพฯ เป็นเพียงหน้าที่”

“แล้วคุณคิดยังไง ถ้าเด็กจบใหม่อยากกลับบ้าน” ลูกอดถามไม่ได้

“ไม่อยากให้สังคมตีกรอบว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด อยากให้ถามพวกเขามากกว่าว่าทำสิ่งนี้แล้วมีความสุขไหม ไม่อยากให้มีใครมาบอกว่าจะกลับบ้านทำไม กลับมาก็ไม่มีอะไร มันคือการตัดความหวังของคนคนหนึ่งไปเลย ให้พวกเขาได้ลองก่อนชีวิตไม่ได้มีแค่วันเดียว อีก ๑๐ ปีค่อยมาว่ากันอีกทีได้”

นาฬิกาบนข้อมือบอกเวลาใกล้เที่ยงวัน ลูกค้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่เริ่มทยอยเดินเข้ามานั่งตามโต๊ะอาหารที่ว่างอยู่ บ้างพากันมาเป็นครอบครัวใหญ่ดูแล้วอบอุ่นใจ จนแอบคิดว่าอยากพาพ่อมากินอาหารที่นี่ด้วยกัน
Image
ในบริเวณร้านมีสัตว์หลายพันธุ์เป็นตัวเชื่อมโยงธรรมชาติกับผู้คน
มอสเดินนำพวกเราเข้าไปในครัว ลูกเห็นชายหนุ่มผิวสีแทนอีกคนใส่ชุดเชฟสีขาวสะอาดตา ยืนสู้ไฟอยู่หน้าเตาที่มีไฟลุกโชน ทำให้เขาดูโดดเด่นกว่าใคร แบงค์-จักรพงศ์ หมั่นหาดี ชายหนุ่มผู้ค้นพบว่าตนเองชื่นชอบการทำอาหารตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขาเป็นทั้งผู้จัดการ เป็นทุกอย่างภายในร้าน และเป็นพี่ชายของมอสด้วย

“เข้ามาดูด้านในได้นะ” แบงค์หันมาพูดและยิ้มให้พวกเราด้วยสายตาขี้เล่นพร้อมท่าทีกวน ๆ อย่างมีเอกลักษณ์

ไม่รอให้เขาเชิญเป็นครั้งที่ ๒ สองเท้าก้าวเข้าไปบริเวณในครัวใกล้กับที่เขากำลังทำอาหารอยู่ เสียงการทำอาหารปลุกเสียงร้องของท้องทันที ได้ยืนชมการทำอาหารในระยะใกล้ขนาดนี้ พ่อคิดดูนะจะสนุกขนาดไหน

“ชอบทำอาหารก่อนที่จะรู้ตัวว่าชอบงานปัจจุบันซะอีกทำอาหารมันสนุก มีไฟ เด็กชอบเล่นไฟอยู่แล้ว การทำอาหารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง การที่คุณก่อไฟแล้วเอาเนื้อก้อนใหญ่ลงไปย่างมันเหมือนแค้มปิง การผจญภัย การทำอาหารของผมเป็นการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง” แบงค์พูดและทำอาหารไปด้วย

ผัดผักบุ้งไฟแดงอาหารจานโปรดของใครหลาย ๆ คน หนึ่งในนั้นก็เป็นพ่อด้วย ถูกตักจากกระทะนำมาจัดใส่จานอย่างประณีตและชำนาญ สีหน้าของแบงค์ดูภูมิใจกับเมนูตรงหน้ามากเลยละพ่อ

พ่ออาจคาดไม่ถึงก็ได้นะว่า เบื้องหลังของพ่อครัวเอกคนนี้คือเขาเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยรังสิต เขาเคยทำงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างอยู่ปีครึ่งจนงานที่ทำอยู่ตอนนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เลยตั้งใจออกมาทำงานที่ Slow Ride Coffee & Cafe

“มันเหมือนกับเราซึมซับมาทั้งชีวิต ก็คงชอบงานที่ทำสืบต่อกันมา แต่ก็คงไม่ชอบเท่ากับความรู้สึกลึก ๆ ในใจที่อยากทำจริง ๆ เพราะทุกคนก็เติบโตมาในช่วงแตกต่างกัน มันอาจจะทำให้ความชอบนั้นเปลี่ยนไปได้ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเราก็ไม่อยากฝืน ลองมาทำสิ่งที่เราชอบดูสัก ๒-๓ ปี เราเรียนมหาวิทยาลัยตั้ง ๔ ปี การที่จะมาเรียนหลักสูตรขายอาหาร ๓ ปีคงไม่นานเกินไป เลยคิดว่าลองทำดู แต่กลับกลายเป็นว่าไปได้ดีกว่าสิ่งที่เราโดนปลูกฝังและซึมซับมาทั้งชีวิต ตอนนั้นคิดได้ว่าเราควรเลือกในสิ่งที่ชอบและผลที่ออกมามันก็ดีด้วย” แบงค์เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

หลังจากงานในครัวเบาลง แบงค์ชวนพวกเราไปหาที่นั่งอีกมุมหนึ่งของร้านที่อยู่ห่างจากห้องครัวพอสมควร  พวกเราเดินผ่านแมกไม้นานาพรรณ ชมนกชมไม้ไปตลอดทาง นกแก้วที่มีขนหลากสีเกาะคอนส่งเสียงร้องดัง เรียกร้องความสนใจจากผู้มาเยือน เป็นภาพที่เห็นแล้วสบายตาสบายใจเมื่อได้สัมผัสมาก ๆ เลยละพ่อ ระหว่างเดินแบงค์ก็เล่าถึงจุดเด่นของร้านนี้ด้วยน้ำเสียงชวนฟัง
Image
พัทยาไม่ได้มีแค่ทะเล แต่ยังมีความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับเสียงดนตรีจากฝีมือคนรุ่นใหม่ในพื้นที่สีเขียวแห่งนี้
“ทุกคนที่ทำร้านอาหารก็จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง เกิดจากความรักในสิ่งสิ่งนั้นก่อน เราต้องรักในสิ่งที่จะเป็นก่อน แล้วก็แสดงออกว่าชอบแบบนี้  ร้านของผมที่เป็นป่าเพราะผมรู้สึกสบายใจกับต้นไม้ กับผักที่เราปลูก กับสิ่งที่เราทำ ถ้าเราสบายใจที่ไหนก็อยากจะอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นกาแฟบรรยากาศโต๊ะ เก้าอี้ และสิ่งที่อยู่ที่ร้านนี้เป็นตัวเราหมด จะได้อยู่กับมันนาน ๆ  เราไม่ได้ทำธุรกิจเกาะกระแส แต่ทำเพื่อความยั่งยืน มั่นคง เราไม่ได้เปิดร้านเพื่อกอบโกยแล้วจากไปเพราะนี่คือที่ของเรา เราต้องการความมั่นคง เป็นการบริหารแบบครอบครัว เหมือนบ้านของเราเอง”

นอกจากจะเป็นร้านกาแฟและอาหารแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันให้มาพบปะหารือกันด้วยนะพ่อ เหมือนที่มอสพูดไว้ว่าอยากให้ร้านมีชีวิตชีวา ไม่อยากให้เป็นแค่พื้นที่ทางธุรกิจ ไม่อยากให้ใครมาระบุว่าที่นี่คือร้านกาแฟเท่านั้น  ความคิดของแบงค์ก็คล้าย ๆ กันคือ พยายามพัฒนาให้มีกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์คนยุคใหม่

ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ ระบาดอย่างหนักร้านนี้ก็ยืดหยัดอยู่ได้ เพราะบรรยากาศโดดเด่นด้วยพื้นที่กลางแจ้งเป็นธรรมชาติที่มีสีเขียวเยอะ  นี่คือสิ่งที่หลายคนโหยหา มาทะเลและมีป่าให้พักผ่อนหย่อนใจ ขับรถผ่านอาจรู้สึกร้อน พอเลี้ยวเข้ามาแล้วรู้สึกเย็น แต่สุดท้ายแล้วร้านกาแฟและอาหารก็ต้องคำนึงถึงการบริการ รสชาติ ราคา ซึ่งที่นี่ก็ทำได้ดี

พ่ออาจจะพอเดาได้แล้วนะว่า ที่นี่มี workshop เกี่ยวกับเครื่องดื่มด้วย ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสและให้คำปรึกษาแก่คนภายนอกที่สนใจอยากหาอะไรทำยามว่าง รวมกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ได้ทั้งพบปะเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ และได้ความรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย

แต่ลูกก็ยังนึกสงสัยว่า การเรียนจบแล้วไม่ได้ทำงานในกรุงเทพฯ จะโดนดูถูกจากคนรอบข้างไหม จึงถามออกไปเจ้าของร้านครุ่นคิดชั่วครู่ ก่อนตอบกินใจลูกมากว่า

“ผมคิดว่าทุกอาชีพมีเกียรติในตัวเองหมดแหละ อยู่ที่มุมมองความคิดของเรา และตัวเราเองมั่นใจ แน่วแน่กับสิ่งที่จะทำหรือเปล่า”

ลูกเห็นแววตาเปล่งประกายเมื่อเขาพูดถึงสิ่งที่ทำได้

“งานที่เราทำตอนนั้นเหมือนสืบทางสายเลือดที่ปู่ พ่อ อาทำเราก็เลยเรียน แล้วก็มองเห็นว่าสิ่งที่เค้าทำมันคุ้มกับความเหนื่อยที่ลงแรงไป เราเลยทำตาม”
Image
Image
พวกเรามาถึงตู้คอนเทนเนอร์อีกตู้ที่ถูกปรับแต่งผนังภายนอกด้านหนึ่งเป็นสีเหลือง ด้านหน้าเป็นกระจกใสบานใหญ่ เผยให้เห็นถึงวัตถุด้านในชัดเจน เขาชี้มือเป็นเชิงให้พวกเราเข้าไปนั่งสนทนากันด้านใน

“เรามีทุนในการรับเหมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะแบบเหล็ก นั่งร้านอุปกรณ์ต่าง ๆ  การที่เรากลับมาบ้าน มีพื้นที่ วัตถุดิบ บุคลากรอยู่ที่นี่ มันเป็นความรู้สึกว่ามีคนสนับสนุน ผมเชื่อว่าถ้าเรามีฐานรากที่ดีจะยืนได้อย่างมั่นคงที่สุด” เขาเล่าพลางจัดแก้วที่วางอยู่ให้ดูเป็นระเบียบ

“แล้วคำว่า ‘บ้าน’ ของคุณคืออะไร”

“ถ้าเปรียบตัวเองเป็นโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง บ้านของผมคืออะแดปเตอร์กับสายชาร์จ ปลั๊กจะเป็นที่ไหนก็ได้ คุณจะอยู่ที่ไหนก็ได้ บ้านคือที่เติมพลังบวกให้คุณ  ที่ไหนที่คุณอยู่แล้วรู้สึกว่าชีวิตมีพลังบวก นั่นแหละคือบ้านสำหรับผม”

“คุณมองอนาคตบ้านหลังนี้ไว้ยังไง”

ลูกถามเขาด้วยความใคร่รู้อีกครั้ง สายตาของเขามองออกไปนอกกระจกใสรอบ ๆ ร้านพลางนึกคิด

“หวังว่าสักวันร้านจะไปต่อได้ด้วยตัวเอง มีผู้จัดการแทนเราได้เลย จะเป็นใครก็ได้ที่เราไว้ใจให้จัดการบ้านหลังนี้แทนผมได้ทุกอย่าง”

เขายังพูดไม่ทันจบ พนักงานหญิงก็เข้ามายื่นโทรศัพท์มือถือที่มีคนปลายสายรอพูดคุยกับเขาอยู่

พวกเราปล่อยให้เขาทำธุระส่วนตัว เพื่อน ๆ เดินพักผ่อนหย่อนใจและถ่ายภาพในมุมต่าง ๆ ส่วนลูกก็เดินเล่นอยู่แถวนั้นแหละ เพื่อหามุมถ่ายภาพไว้มาอวดพ่อด้วยไงล่ะ

ที่ร้านมีสถานที่สวย ๆ เต็มไปหมด  มุมสูงก็ออกแบบให้มีทางเดินเหล็กด้านบน สูงถึงขนาดเดินเทียบกับยอดต้นไม้สูงในร้านได้ มองลงมาเห็นคนตัวนิดเดียว ได้บรรยากาศไปอีกแบบ

เมื่อได้กลับมาร่วมสนทนาด้วยกันอีกครั้ง ลูกเลยมีโอกาสถามถึงสิ่งที่สงสัยมานาน

“คิดยังไงถ้าคนรุ่นใหม่เรียนจบแล้วเขาเลือกที่จะกลับบ้าน”
“จริง ๆ แล้วเหมือนกับ comfort zone อย่างน้อยก็ได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน เพิ่งเรียนจบถ้ายังคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำงานอะไรดี กลับมาบ้านลองให้ตกผลึกความคิดดูก่อน การกลับมาอยู่บ้านเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีพลังด้านบวกมากกว่าที่เคยอยู่ตัวคนเดียว ได้ดูแลคนที่เรารักมากที่สุดในชีวิต พวกเขาได้เห็นเราประสบความสำเร็จใกล้ ๆ  สำหรับผมการทำร้านอาหารแล้วมีพ่อแม่เดินเข้ามากินข้าวทุกวัน ผมมีความสุขมาก”

ยามเย็นที่แดดร่มลมตก ลูกค้าเริ่มซาลงบ้างแล้ว แบงค์ชวนพวกเราเดินชมสวนป่าที่เขาและครอบครัวช่วยกันปลูกเขาไม่ลืมที่จะชวนน้องชายไปด้วย

สองพี่น้องนำเราไปยังบริเวณใกล้ทางออกของร้าน ต้นไม้นานาพรรณต่างยืนต้นสูงเต็มสองข้างทางเดิน ถัดจากทางเดินตรงกลางมีบ่อน้ำที่มีปลาอยู่บ้าง

เสียงร้องของแพะหลายตัวเรียกความสนใจให้ผู้มาเยือนหยิบยอดกระถินที่กองอยู่นอกกรงติดไม้ติดมือมาฝากบ้าง

สองคนพี่น้องดิ่งตรงนำเราไปยังต้นมะนาวที่ทางร้านใช้เป็นวัตถุดิบในครัว พร้อมนำมีดออกมาฝานมะนาวให้ดูกันสด ๆ
ตรงนั้น 

“มะนาวปลอดสารพิษ เปลือกหนา น้ำน้อย เม็ดเยอะ” แบงค์พูดติดตลก

เขาพาพวกเราเดินลัดเลาะไปในพื้นที่ป่าที่มีเกือบ ๑๘ ไร่

“ต้นนี้พ่อผมเอามาปลูกตั้งแต่ต้นยังเล็ก ๆ” แบงค์ชี้ให้ดูต้นไม้คล้ายต้นหมากที่สูงกว่าพวกเรามาก ๆ หลายต้น ปลูกรวม ๆ กันอยู่ในป่า

ลูกก็ยังคิดว่าบรรยากาศแถวนี้คล้ายกับสวนป่าหลังบ้านของเราที่พ่อปลูกต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ไว้นะ เพื่อไม่ให้ที่ดินว่างเปล่า หันมาปลูกพืชผักสวนครัวแซมเข้าไปด้วยก็ดีไม่น้อย ที่นี่ก็เหมือนกันนะพ่อ  ลูกเห็นว่ามีหน่อไม้ด้วย วัตถุดิบในครัวบางอย่างหาได้จากบนที่ดินของพวกเขาเองนี่แหละ
Image
Image
มากกว่าสถานที่คือบ้านและครอบครัว ที่นี่ทำให้พ่อกับลูก พี่ชายกับน้องชายได้มาคุยกัน ได้อยู่ด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิด และเติบโตไปพร้อมกันกับต้นไม้ในสวนหลังบ้าน
ถ้าจำไม่ผิด พ่อเคยพูดให้ฟังเรื่องภาษีที่ดินอยู่บ้างว่าเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ถ้ามีที่ดินว่างเปล่าก็จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงกว่าที่ดินที่เอาไปทำประโยชน์อื่น ๆ  แบบนี้หรือเปล่านะพ่อถึงได้ใช้ที่ดินปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ที่พ่อชอบและให้ร่มเงาแก่บ้านของเราด้วย

ลูกมีเพื่อนที่มีบ้านอยู่พัทยาคนหนึ่ง เขาบอกว่าป่าในพัทยาไม่ค่อยมีแล้ว ภาพจำที่คนส่วนใหญ่นึกได้คือพัทยามีแค่ทะเลแต่พอวันนี้ลูกได้มาเห็นพื้นที่ของ Slow Ride Coffee & Cafe ก็คงจะเก็บเอาเรื่องราวนี้ไปแย้งกับเพื่อนได้ว่าอย่างน้อยพัทยาก็ยังมีป่าให้เห็นอยู่นะ ไว้มีโอกาสก็จะชวนเพื่อนมาดูด้วยกัน

เดินเข้าไปในป่าได้ครู่หนึ่ง เสียงสวบจากใบไม้แห้งเรียกร้องความสนใจของพวกเราให้หันไปมองตาม แล้วสายตาก็พลันสะดุดกับสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ไกล ๆ  หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า พ่อคิดว่ามันคืออะไร

พวกเราเดินเข้าไปใกล้พอควร ยืนมองอยู่ตั้งนาน

“แม่เสือสาวและเพื่อน ๆ” แบงค์พูดพลางชี้มือ

ใช่ ! พ่ออ่านไม่ผิดหรอก แม่เสือสาว

แบงค์ชี้ให้เห็นวัวสีน้ำตาลลวดลายคล้ายเสือและผองเพื่อนทั้งวัวและควาย พวกมันกำลังยืนเล็มหญ้า ทั้งหมดมาจากการไถ่ชีวิตโคกระบือ พวกมันยืนทำหน้างง ๆ เหมือนกำลังจะบอกเป็นภาษาที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ เวลาแซวเหล่าสัตว์โลกว่า “มองหน้าเราทำไมนุด”

สองพี่น้องเดินนำหน้าพวกเราพลางชี้นกชี้ไม้ตามประสาพี่สอนน้อง มีเสียงหัวเราะดังมาเป็นระยะ ๆ ดูอบอุ่นเหมือนกับว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ชาร์จพลังและเติมเต็มชีวิตให้พวกเขา

ครู่หนึ่งพวกเราได้ยินเสียงเพลงดังมาจากด้านในร้านจึงเร่งสาวเท้าเร็วขึ้น

กลับมาถึงพื้นที่ส่วนที่เป็นร้าน ผู้คนหนาตากว่าตอนกลางวันมาก มีดนตรีสดมาสร้างสีสันยามค่ำคืน สิ่งที่เห็นบ่อย ๆ คือคนในครอบครัวของแบงค์และมอสก็มาช่วยงานที่ร้านแห่งนี้ด้วย ภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัสเหล่านี้ทำให้เสียงของมอสที่เคยพูดก่อนหน้าดังแว่วเข้ามาในความคิดว่า

“ที่นี่ทำให้พ่อกับลูก พี่ชายกับน้องชายได้มาคุยกัน ได้อยู่ด้วยกัน”

เสียงเพลงยังคงบรรเลงต่อไป อากาศเริ่มเย็นลง แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจกลับมีไอของความอบอุ่นค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นอย่างไม่รู้จบ
รักและคิดถึงเสมอ
ลูกของพ่อ
ป.ล. การเดินทางมาไกลจากบ้านในวันนี้ สอนวิชาที่จะอยู่ในโลกใบใหญ่ให้ลูกได้เป็นอย่างดีเลยละ หวังว่าวันหนึ่งเมื่อลูกของพ่อคนนี้ได้เรียนรู้และอิ่มตัวจากสังคมเมือง อยากจะกลับไปซบไหล่อุ่น ๆ กลับไปเติมเต็มชีวิตที่บ้าน ขอให้เจ้าของไหล่อุ่นยินดีต้อนรับการกลับไปด้วยนะ  
Image