Image
Keep Portland Weird !
ห้วงคำนึงถึง “แดนฮิปปี้”
ใน ค.ศ. ๒๐๒๓
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
พริบตาเดียวเวลาผ่านไป ๑ ทศวรรษ
ผมอุทานกับตัวเองเมื่อพบเข็มกลัดทรงกลมสองอัน สภาพเก่า บางจุดมีคราบสนิมเกาะให้เห็น แต่เหนืออื่นใด ข้อความบนนั้นยังชัดเจน

Keep Portland Weird ! - ทำให้พอร์ตแลนด์แปลกต่อไปอีกชั่วกาลนาน !

ข้อความนี้ทำให้ภาพพอร์ตแลนด์ (Portland) เมืองขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ไปกว่าตัวเมืองเชียงใหม่ ชัดเจนขึ้นในความทรงจำ

ผังเมืองตารางสี่เหลี่ยมละเอียดยิบชนิดที่เดินไม่มีทางหลง (หากจับทิศได้) อากาศเย็นสบายสลับอบอุ่นตลอดปีจากอิทธิพลกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ด้านทิศตะวันตก แม่น้ำวิลลาเมต (Willamette) สายใหญ่ไหลผ่ากลางเมืองมุ่งขึ้นตะวันตกเฉียงเหนือ สะพานเรียงรายเชื่อมสองฝั่งน้ำนับสิบจนทำให้บางขณะหวนคิดถึง “บางกอก-ธนบุรี”

พอร์ตแลนด์ เมืองหลวงของรัฐออริกอน (Oregon) หนึ่งในกลุ่มรัฐชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่คนอเมริกันเรียกว่า Pacific Northwest 

เมื่อทศวรรษที่แล้ว ที่นี่เป็นที่กล่าวขานในหมู่ “ฮิปสเตอร์” ชาวไทยว่าเป็นเมืองในฝัน ด้วยเมืองนี้ต่างจากเมืองอื่นในอเมริกาอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่นอเมริกาคือประเทศที่ “รถยนต์” คืออวัยวะที่ ๓๓ ของมนุษย์ แต่พาหนะหลักของ Portlander (ชาวพอร์ตแลนด์) กลับเป็นจักรยาน จนทำให้เมืองมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเต็มรูปแบบ ราวกับยกกรุงอัมสเตอร์ดัม (เมืองหลวงจักรยานโลก) มาจากยุโรป

อเมริกันชนส่วนมากทำงานกันจริงจัง แต่ที่พอร์ตแลนด์ทุกห้วงเวลาของชาวเมืองราวกับอยู่ในโลกตะวันออก บรรยากาศไม่เคร่งเครียด  ครั้งหนึ่งบนรถรางผมเคยเห็นพวกเขาเปิดแชมเปญและเล่นไวโอลินกันอย่างสนุกสนาน แม้ว่าแต่ละคนจะไม่รู้จักกัน  อากาศที่อบอุ่นกำลังดียังทำให้ดอกไม้ในเมืองนี้งดงาม จนพอร์ตแลนด์ได้ชื่อว่าเป็น “นครแห่งมวลดอกไม้” (City of Roses)
Image
สิ่งที่ผมเห็นใน ค.ศ. ๒๐๑๒ คือบทสรุปของเมืองที่ก่อตั้งจากการบุกเบิกตะวันตกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ ของสยาม) พอร์ตแลนด์ไม่ต่างกับเมืองอื่นในอเมริกาคือเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้อพยพ ทั้งจากยุโรปและเอเชีย ที่เข้ามาหาโอกาสดำเนินชีวิตในโลกใหม่

เอกสารหลักฐานในหอจดหมายเหตุของเมืองและหนังสือของนักเขียนท้องถิ่นหลายเล่ม ระบุว่าพอร์ตแลนด์ยุคแรกเต็มไปด้วยแก๊งชาวเอเชียและองค์กรอาชญากรรมที่หนักมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปราม 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้เศรษฐกิจเจริญ ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคบุปผาชนในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ พอร์ตแลนด์กลายเป็นที่รวมของกลุ่มคนที่มีมุมมองทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberal) ซึ่งใช้ระบบประชาธิปไตยต่อรองให้ได้มาซึ่งสิทธิต่าง ๆ

บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ทำให้พอร์ตแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเสรีชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต (Democratic Party)

หลายอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไปเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใน ค.ศ. ๒๐๑๗ (ดำรงตำแหน่งจนถึง ค.ศ. ๒๐๒๐) ผมเห็นข่าวการประท้วงที่พอร์ตแลนด์บ่อยครั้ง เพื่อต่อต้านนโยบายรัฐบาลกลางหลายเรื่อง ยิ่งเมื่อเกิดกรณี จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd - กรณีตำรวจผิวขาวจับกุมชายผิวดำอย่างทารุณจนทำให้เสียชีวิต) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๐ พอร์ตแลนด์ก็เกิดการประท้วงใหญ่เช่นเดียวกับเมืองอื่นในอเมริกาและทั่วโลก

ยิ่งเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมกับกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง สถานการณ์ก็เลวร้ายลง ผลคือมีการปล้นสะดมร้านค้าในตัวเมืองหลายแห่ง จนเกิดความเสียหายหลายร้อยล้านดอลลาร์

ถึงตอนนี้ (ค.ศ. ๒๐๒๓) แม้ว่าจะยังไม่ได้รับข่าวร้ายจากพอร์ตแลนด์อีก แต่การเมืองอเมริกากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกตั้งกลางเทอมที่ทำให้ดุลอำนาจในวุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (Congress) เปลี่ยนไปรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๒๑) ถึงแม้จะยังมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่ก็อยู่ในภาวะลำบากมากขึ้น เพราะสูญเสียการควบคุมสภาคองเกรส

สโลแกน Keep Portland Weird ! ที่ชาวเมืองภาคภูมิใจนักหนา ถึงขนาดขึ้นป้ายเบ้อเร่อกลางเมือง จะยังมีเสน่ห์ดุจเดิมหรือไม่ในยุคนี้
บางทีคงต้องหาโอกาสกลับไปพิสูจน์อีกครั้ง