Image
ทุ่งนาสีเขียวและอากาศเย็นกำลังดี
เหมาะสำหรับทำกิจกรรมที่ “ละอ่อนโฮม” 
จัดเตรียมไว้ให้เด็กๆ เล่นและเรียนรู้ร่วมกัน

Image
“ละอ่อนโฮม”
บ้านสร้างเด็ก
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : ปาลิดา วีระวัฒน์
ภาพ : อภิสิทธิ์ ปานวิเศษ
“ถุงใบใหญ่ ใส่วีว่า ใส่ออก้า ใส่ออโต้ ใส่อันนา ใส่ภูชิก ใส่ข้าวหอม ใส่มายเดียร์ ใส่ก้ามปู ใส่ปั้นแป้ง ใส่โมเดียว ใส่ชีตาร์…”
เด็กวัยกำลังซน ๑๐ กว่าชีวิตร้องขานชื่อของตนเองและเพื่อน ๆ ต่อกันไปเรื่อย ๆ ตามกติกาที่กำหนด เสียงเจื้อยแจ้วยิ่งกว่านกแก้วนกขุนทองนี้ดังมาจากบ้านกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้นหลังหนึ่งในชุมชนบ้านหนองเลา พื้นที่ชนบทเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาในอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

หญิงอายุราว ๓๐ ปีท่าทางใจดีกำลังพาเด็ก ๆ ที่มารวมตัวกันเข้าสู่กิจกรรมแรกของวันตามกำหนดการ นั่นคือ “ถุงใบใหญ่” เป็นการแนะนำตัวและสร้างความคุ้นเคยระหว่างกลุ่มคนที่ยังไม่เคยพบกันมาก่อน ถึงแม้เด็กส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีอยู่แล้วเพราะอาศัยอยู่ในบ้านหนองเลาและบ้านธาตุภูซางที่อยู่ติดกัน แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่มีสมาชิกใหม่เดินทางมาจากตัวอำเภอเชียงคำ ซึ่งอยู่ห่างไปจากอำเภอภูซางประมาณ ๑๕-๒๐ นาที มาร่วมกิจกรรมด้วย การแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่จึงถือเป็นเรื่องจำเป็น

กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มละอ่อนโฮม มีแอมมี่-กัญธิมา มงคลดี และภูซาง-วรสถิตย์ บัวแดง อดีตนักกิจกรรมหนึ่งคู่ที่ตัดสินใจกลับบ้านเพื่อมาทำงานพัฒนาศักยภาพเด็กและชุมชนเป็นหัวเรือใหญ่

“เรากลับบ้านมาเป็นนักจัดการชุมชน”

ก่อนจะกลับบ้าน

ฉันเชื่อว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ แต่ต่างจากการเรียนรู้ของเด็กวัยฟันน้ำนมอยู่มาก เพราะด้วยอายุที่ถือว่าเข้าใกล้วัยผู้ใหญ่มากขึ้นอีกขั้น ความอิสรเสรีก็มากขึ้นตาม สิ่งนี้ทำให้วัยรุ่นสำรวจโลกได้กว้างขึ้น ตั้งคำถามกับโลกรอบตัว ซึ่งนำไปสู่การหาคำตอบและลงมือแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ได้จริง

แอมมี่เล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักกิจกรรมจากเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว หลังมีโอกาสไปเข้าค่ายอาสาบำเพ็ญประโยชน์ตามพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเชียงรายที่กำลังศึกษาอยู่ จนเริ่มต้นเรียนรู้และมองเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ของสังคมมากขึ้น ประกอบกับเวลานั้นทางบ้านของเธอประสบปัญหาถูกกลั่นแกล้งเรื่องสิทธิที่ดิน ทำให้เธอตระหนักว่าปัญหาในสังคมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ต่อมาแอมมี่จึงเลือกไปทำงานกับมูลนิธิที่ดูแลประเด็นเรื่องที่ดินทำกิน ที่ดินที่มีข้อพิพาท จนมีโอกาสได้ลงพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ  ทั้งชุมชนที่พี่น้องร้องเรียนเรื่องเหมืองแร่ การสร้างเขื่อนหรือชุมชนชาติพันธุ์ที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินในเขตป่ากับภาครัฐและนายทุน

“เราศึกษาลงพื้นที่มาโดยต่อเนื่อง แล้วเห็นว่าสังคมมันมีอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลที่เขาให้ชาวบ้านและนักศึกษาเป็นด้านที่เขาอยากให้รู้เท่านั้น เราเห็นว่าโลกไม่ได้ยุติธรรมเลยเลือกมาทำงานด้านนี้”

ประสบการณ์จากการลงพื้นที่จริงทำให้เธอตระหนักถึงความไม่ยุติธรรมของสังคม ได้สัมผัสปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย จนกระทั่งเล็งเห็นว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ไปมาก

“สังคมชนบทในไทยเป็นสังคมแหว่งกลาง” คือคำอธิบายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ครัวเรือนในสังคมชนบทส่วนมากประกอบด้วยคนสองรุ่น คือรุ่นปู่ย่าตายายและวัยเด็ก ช่วงวัยที่หายไปคือวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน ซึ่งต้องออกไปแสวงหาโอกาสในพื้นที่อื่นอย่างในเมืองหลวง เพราะพื้นที่บ้านเกิดล้มเหลวในฐานะการเป็นพื้นที่ให้พวกเขาเติบโต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การงานหรือแม้แต่จะหยิบยื่นและต่อยอดความฝัน
Image
พี่แอมมี่ - กัญธิมา มงคลดี อธิบายว่าวันนี้เด็กๆ จะทำกิจกรรมอะไรกันบ้างและร่วมเล่นเกมด้วยกันก่อนจะทำกิจกรรมอื่นๆ
ในเรื่องนี้ ภูซางเองก็ดูเหมือนจะเข้าใจเป็นอย่างดี “จริง ๆ ไม่ได้อยู่บ้านนานจนไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะกลับบ้าน ด้วยความที่เราเดินทางเยอะ เราก็ไปอยู่กับกลุ่มงานนู้นงานนี้ เราเห็นหลายอย่างก็รู้สึกว่าประเทศไทยสิ้นหวังมาก เลยมีแผนอยากจะหนีไปอยู่เมืองนอก”

เมื่อสังคมที่อยู่ไม่สามารถตอบรับความคาดหวังและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนเราจะเริ่มมองหาทางหนีทีไล่ไปยังสถานที่ใหม่ที่มีโอกาสมากมายคอยให้เราไปไขว่คว้า

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อแอมมี่ตั้งครรภ์ลูกสาว อีกทั้งเหตุการณ์การลงพื้นที่ครั้งหนึ่งที่บ้านดอยเทวดา ตำบลสบบง อำเภอภูซาง ทั้งคู่ต้องหันมาทบทวนเส้นทางของตัวเองกันใหม่อีกครั้ง ด้วยสถานะของผู้ที่ต้องรับผิดชอบอีกหนึ่งชีวิตนอกจากตัวเองอาจทำให้การทำงานด่านหน้าไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

“ตอนนั้นลูกสาวอายุได้ประมาณขวบสองเดือน ชาวบ้านก็โทร. มา บอกว่าอยากเดินขบวน เพราะมีปัญหาเรื่องปากท้องและถูกคุกคามสิทธิที่อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน เลยขอให้เราขึ้นไปเพื่อเขียนป้ายให้ เราก็ขึ้นไปแล้วเดินขบวนกันในหมู่บ้าน กำนันและหน่วยงานละแวกนั้นก็โทร. ไปแจ้ง จนมีทหารหนึ่งกองร้อยเข้ามาจับชาวบ้านรวมถึงเราด้วยไปสอบปากคำที่โรงพัก เรากับชาวบ้านรวมกัน ๑๔ คน หนึ่งในนั้นมีเยาวชนที่เป็นผู้พิการทางสมองอยู่ด้วย เราก็ยังเป็นแม่ลูกอ่อน ลูกยังกินนมติดเต้าอยู่เราไม่สามารถบอกแม่ได้ว่าตอนนี้อยู่โรงพักนะให้มารับลูกไปหน่อย เพราะถ้าลูกหิวนมจะทำอย่างไร ก็เลยต้องนอนโรงพักด้วยกันทั้งคืน”

จากชีวิตในฐานะนักกิจกรรมที่คลุกคลีอยู่กับประเด็นร้อนและต้องทำงานบนความเสี่ยง แอมมี่และภูซางจึงหันกลับมาสนใจการพัฒนาเชิงรับ ซึ่งคือการสร้างให้ชุมชนมีฐานรากที่แข็งแรงเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เข้ามา

ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นจะมีการสร้างโรงงานโม่หินที่อำเภอภูซาง ทั้งคู่จึงเข้าไปมีส่วนร่วมศึกษาข้อมูล  ลักษณะพื้นที่อำเภอภูซางเป็นแอ่งกระทะซึ่งจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก รวมถึงเป็นพื้นที่ต้นน้ำซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างได้

“พอมาช่วยเขาแล้วก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย เราก็ไปช่วยที่อื่นตั้งเยอะ ทำไมบ้านตัวเองไม่กลับวะ”

ในปี ๒๕๖๐ การกลับบ้านของภูซางและแอมมี่จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

เริ่มต้นไม่ง่าย

“พอกลับบ้านมาหลังจากไม่ได้อยู่บ้าน ๑๐ กว่าปี สังคมเหมือนเดิมเลย กลับมาบ้านแผนพัฒนาชุมชนก็หนีไม่พ้นแค่สามเรื่อง คือ น้ำ ถนน ไฟฟ้า”

ภูซางเล่าว่า “บ้าน” ที่เขากลับมา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากบ้านในความทรงจำเมื่อ ๑๐ ปีก่อนนัก

“สังคมต่างจังหวัดหรือชุมชนรอบนอกมีอะไรให้ทำไม่กี่อย่างไม่มีร้านหนังสือเหมือนในเมือง ไม่มีพื้นที่ให้กิจกรรมต่าง ๆ เช่นเราชอบเต้น มันจะมีพื้นที่ให้ไปเต้นมั้ย  เราชอบเล่นดนตรี จะมีพื้นที่ให้เล่นดนตรีหรือเปล่า  ชอบภาษา มีพื้นที่ให้ไปเรียนไหมฉะนั้นการรวมกลุ่มของเด็กบ้านนอกอย่างเราก็คือชวนเพื่อนมานั่งกินเหล้า แล้วก็หนีไม่พ้นชกต่อยมีเรื่องกันซึ่งตอนวัยรุ่นเราก็เป็น”

พวกเขามองว่าเมื่อความเจริญจากภายนอกรุดหน้าเข้ามา แต่พื้นที่ชนบทยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของคน พวกเขาจึงมุ่งวางแผนพัฒนาชุมชนผ่านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่

“เอาเข้าจริง ๆ เรามองว่าอนาคตชุมชนก็อยู่ที่เด็ก อยู่ที่คนที่จะกลับมา ตอนนี้เรามาเตรียมพื้นที่เตรียมพื้นฐานไว้รอคนรุ่นใหม่ที่เขาจะกลับเข้าชุมชน”

โครงการละอ่อนโฮมจึงถือกำเนิดขึ้น

แอมมี่เริ่มอ่านหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูก พัฒนาการของเด็กและฐานครอบครัวจำนวนมากเพื่อเตรียมพร้อมกับการเป็นแม่ แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้การทำงานกับเด็ก

ทฤษฎี ๗ ๗ ๗ ที่ว่าด้วยช่วงวัยการพัฒนาของเด็กสามขั้นคือ ช่วงอายุ ๗ ปีแรกเด็กจะต้องการความรักและการสานสัมพันธ์กับครอบครัวที่เหนียวแน่น เพื่อให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คอยโอบอุ้มพวกเขา  ในช่วง ๗ ปีที่ ๒ ซึ่งเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะต้องการเพื่อน สังคม และอยากรู้อยากลอง  ไปจนกระทั่งช่วง ๗ ปีที่ ๓ ซึ่งต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจและการปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งหมดเป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนมากต่อการเติบโตของเด็ก แต่หลายครั้งเด็กในสังคมชนบทที่พ่อแม่ไปทำงานในเมืองหลวงจะขาดความเข้าใจและการสนับสนุนจากครอบครัว
กระท่อมน้อยกลางทุ่งนาเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กๆ จะได้ร่วมกันจับปลาเพื่อนำมาทำอาหารกลางวัน
แม้ละอ่อนโฮมจะไม่สามารถเติมเต็มหน้าที่ของครอบครัวให้เด็กทั้งหมดได้ แต่ก็มีเป้าประสงค์ที่จะดึงเด็ก ๆ ในชุมชนให้มารู้จักตัวเองและรับผิดชอบตัวเองได้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆในพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสร้างขึ้น คุณสมบัติการรับผิดชอบตัวเองจะเป็นสารตั้งต้นของการเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป

“ถ้าจะให้นิยามความเป็นละอ่อนโฮมง่าย ๆ ละอ่อนก็คือเด็กโฮมคือบ้าน ก็เด็กบ้าน ๆ น่ะ ละอ่อนโฮมคือเด็กบ้าน ๆ ที่รู้จักตัวเองและก็รู้จักชุมชน”

จนถึงวันนี้ ละอ่อนโฮมกำลังจะอายุครบ ๖ ปีแล้ว แต่เส้นทางการเติบโตไม่เคยง่าย

“แรก ๆ ถือว่าเป็นงานหนักเลย เพราะว่าด้วยมุมมองวิถีชายขอบ พ่อแม่ก็อยากจะเห็นลูกมีหน้ามีตาในสังคมประมาณนั้น แต่ว่าเรากลับมาแบบไม่มีอะไรเลย ที่บ้านตอนแรกก็งง ๆ อยู่ว่าอะไรยังไงของมึงเนี่ย เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่”

ข้อกังขาจากคนในครอบครัวเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่เลือกจะกลับบ้านหลายคนต้องเจอ แต่โชคยังดีที่ในกรณีของภูซาง ประสบการณ์การทำงานสอนให้เขารู้จักตัวเองและแน่วแน่กับความตั้งใจมากพอจะเปลี่ยนความคิดของครอบครัวได้

“ความหนักแน่นของเราก็คือเราเดินทางค่อนข้างบ่อย เคยทำงานมาแล้ว แล้วรู้สึกว่าสำหรับเราเงินมันไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการขนาดนั้น เราเลยกลับมาคุยกับที่บ้านแล้วก็ยืนยันความคิดของตัวเอง แต่ก็ปีสองปีเหมือนกันนะ กว่าเขาจะเข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่”

ถึงกระนั้นเมื่อด่านครอบครัวผ่านไปแล้ว ยังเหลืออีกหนึ่งด่านสำคัญที่ต้องฝ่าฟัน คือการได้รับการยอมรับและความร่วมมือจากคนในชุมชน

ในระยะแรกชุมชนไม่เข้าใจกิจกรรมของละอ่อนโฮม บ้างเข้าใจผิดว่าพี่ภูซางเข้ามาทำงานอาสาเพื่อลงเล่นการเมืองบ้างก็กล่าวหาว่าเอาเด็กมาเล่นอะไรไม่รู้เรื่อง แต่สถานการณ์กลับมาดีขึ้นด้วยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

“กว่าจะมาเป็นละอ่อนโฮมในปัจจุบันก็ฝ่าฟันเสียงวิจารณ์ ข้อกังขาอะไรมาเยอะพอสมควร ก่อนหน้านี้ที่เราทำไปชุมชนรับรู้ แต่หน่วยงานข้างนอกไม่ได้ให้ความสนใจ จนกระทั่งเปลี่ยนนายอำเภอ ซึ่งคนปัจจุบันให้ความสำคัญกับงานของเด็กและเยาวชนมาก”

ช่วงเดือนธันวาคมของปี ๒๕๖๔ ละอ่อนโฮมร่วมกับโครงการพัฒนาเยาวชนและชุมชนในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่จัดงานปล่อยของ ซึ่งคืองานโชว์ความสามารถของเด็กในโครงการ เมื่อส่งหนังสือเชิญไปที่นายอำเภอ ปรากฏว่านายอำเภอสนใจมาก เพราะยังไม่เคยมีที่ไหนในอำเภอภูซางที่ทำงานลักษณะนี้ งานนั้นนายอำเภอจึงมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานและร่วมรับประทานอาหารเชฟเทเบิลที่เด็กเป็นคนทำด้วย

“เมื่อเห็นว่ามีหน่วยงานรัฐเข้ามา ทางชุมชนก็เริ่มเปิดใจเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพลักษณ์สำคัญมาก ๆ ถ้าเราทำงานโดยปราศจากองค์กรภาคีเครือข่ายของภาครัฐ การทำงานจะยากมาก มันเหมือนกลุ่มเถื่อน เหมือนสิ่งที่เขาไม่ยอมรับ”

เป็นรูปเป็นร่าง

ฉันออกเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยรถยนต์ส่วนตัวเพื่อมายังสถานที่ตั้งของละอ่อนโฮม ระยะทางราว ๒๔๐ กิโลเมตร ใช้เวลานานกว่าปรกติด้วยเป็นเส้นทางคดเคี้ยวข้ามเขา ฝนที่ตกปรอย ๆ อยู่ตลอดทั้งวันทำให้เกิดเมฆหมอกลอยต่ำอยู่ตามหุบเขาที่รถแล่นผ่าน แต่ความสวยงามของธรรมชาติเขียวขจีสองข้างทางยังทำให้ฉันซึ่งเคยชินกับชีวิตในเมืองหลวงตื่นตาตื่นใจได้ตลอดเส้นทาง

เด็ก ๆ ที่เราเดินทางมาพบในครั้งนี้เป็นเด็ก ๆ ในโครงการละอ่อนโฮมรุ่นที่ ๓ คือช่วงวัยของเด็กเล็กตั้งแต่อนุบาล ๒ ถึง ป. ๔ แต่ก่อนหน้านี้ภูซางและแอมมี่เริ่มทำงานกับเด็กโตหรือวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการลองผิดลองถูกและค้นหาตัวเอง ละอ่อนโฮมจึงเข้ามาสนับสนุนกระบวนการเหล่านี้ของเด็ก ๆ พร้อมกับส่งเสริมเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
Image
พี่ภูซาง - วรสถิตย์ บัวแดง และเด็กๆ หยิบอุปกรณ์คนละไม้คนละมือเพื่อจับปลามาประกอบอาหารกลางวัน
ระยะแรกละอ่อนโฮมชวนเด็ก ๆ จากในพื้นที่หมู่ที่ ๘ บ้านธาตุภูซาง และหมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองเลา มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเป็นค่ายพัฒนาศักยภาพที่อาศัยเกมกระบวนการอย่างเกมชุมชนในฝันที่ให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดองค์ประกอบของชุมชน

“เริ่มแรกเด็กยังไม่เข้าใจว่าชุมชนคืออะไร เราจึงวางรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างชุมชนก่อน จากนั้นจึงทำกิจกรรมที่มุ่งให้เด็กมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนอย่างการหยิบเอาวัตถุดิบในชุมชนมาทำเป็นอาหารเชฟเทเบิล ซึ่งก็ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย”

แฟง-พัชริดา เบ็ญชา เด็กสาววัย ๑๕ ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นบุกเบิกของละอ่อนโฮม เธอค้นพบความชื่นชอบในการทำอาหารตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จึงรับหน้าที่เชฟใหญ่ประจำครัว นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นอาหารจานพิเศษเสิร์ฟให้คนที่เดินทางผ่านไปน้ำตกภูซางหรือภูชี้ฟ้า

“การที่มาอยู่กับละอ่อนโฮมสนุก ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ได้ออกต่างจังหวัดตลอด อยู่บ้านเฉย ๆ ก็จะเบื่อ แต่นี่มีกิจกรรมให้ทำตลอด ได้ความรู้และได้ค้นหาตัวเอง”

นอกจากการพัฒนาเด็กที่ยึดโยงกับฐานชุมชนแล้ว ละอ่อน-
โฮมยังมีโครงการเปิดรับครูอาสาเพื่อมาสอนคลาสพิเศษให้เด็กทั้งในและนอกพื้นที่ที่สนใจ ได้แก่ ห้องเรียนดนตรี ภาษาจีน-อังกฤษ การทำอาหาร การทำหนังสั้น และการผลิตสื่อ

โก๊ะ-กชพรรณ จันอิน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของละอ่อนโฮมตั้งแต่แรก ๆ จากการชักชวนของแฟงอีกที เธอสนใจการเขียน จึงเข้าร่วมห้องเรียนผลิตสื่อและได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโดยเฉพาะ แต่นอกจากทักษะทางการเขียน โก๊ะเล่าว่าละอ่อน-โฮมเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้และค้นหาศักยภาพซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักตัวเอง

“ครั้งหนึ่งช่วงปีแรก ๆ เขาจัดงานลอยกระทงกัน หนูได้ลองเป็นพิธีกรดู แล้วมันแย่มากเลย แต่ปีที่ ๒ พี่ ๆ ก็ยังให้โอกาสลองใหม่ ก็กลายเป็นว่าทำได้”

กิจกรรมนั้นทำให้โก๊ะรู้สึกภูมิใจและเชื่อมั่นในตัวเอง รวมถึงกล้าแสดงออกมากขึ้น

นอกจากนี้จากการคลุกคลีอยู่กับงานอาสาและการพัฒนาชุมชนของละอ่อนโฮม โก๊ะและเพื่อนร่วมทีมของเธอได้ริเริ่มทำโครงการศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากับเด็กในโรงเรียนชุมชนบ้านหนองเลา โดยมีทีมจากละอ่อนโฮมช่วยปรับแก้โครงการและคอยให้คำแนะนำ

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังทำโครงการนี้ คงเป็นการได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์และการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น”

โก๊ะเล่าว่าย่างเข้าปีที่ ๖ แล้วที่เธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของละอ่อนโฮม  สำหรับเธอ ละอ่อนโฮมถือเป็น “บ้านหลังที่ ๓” รองจากครอบครัวและโรงเรียน

จนปัจจุบันภูซางและแอมมี่เริ่มมองว่าการวางพื้นฐานความคิดควรเริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก จึงริเริ่มทำละอ่อนโฮมรุ่นฟันน้ำนมในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ ชวนเด็กเล็กในพื้นที่ชุมชนมาทำกิจกรรมกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมอบบทบาทใหม่ให้แฟงรับหน้าที่เป็น play worker หรือผู้อำนวยการเล่น คอยช่วยเหลือดูแลน้อง ๆ ด้วย
“เราคิดว่าอนาคตชุมชนก็อยู่ที่เด็กอยู่ที่คนที่จะกลับมา ตอนนี้เรามาเตรียมพื้นที่เตรียมพื้นฐานไว้รอคนรุ่นใหม่ที่เขาจะกลับเข้าชุมชน”

วรสถิตย์ บัวแดง


เรียน ๆ เล่น ๆ (แต่ได้จริง)

กิจกรรมถุงใบใหญ่จบลง แอมมี่เริ่มแบ่งเด็ก ๆ ออกเป็นสามกลุ่มใหญ่เพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดเตรียมอาหารกลางวัน  ในหนึ่งวันนั้นเด็ก ๆ ต้องเป็นคนช่วยกันเตรียมอาหารด้วยตนเองทุกขั้นตอน

เมนูวันนี้ ได้แก่ ส้มตำ ปลาปิ้ง และไข่ป่าม ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของทางภาคเหนือ

เมื่อแบ่งกลุ่มกันเรียบร้อย แต่ละทีมก็ช่วยกันระดมความคิดว่าแต่ละเมนูจะต้องใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์อะไรบ้าง เสร็จแล้วจึงแยกย้ายกันเดินไปตามบ้านต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อหยิบยืมอุปกรณ์และเครื่องปรุงที่จำเป็น

ฉันขอติดตามกลุ่มส้มตำไปเอาครกที่บ้านของสมาชิกคนหนึ่งซึ่งอยู่ถัดจากฐานทัพหลักของละอ่อนโฮมไปไม่กี่ประตูจากนั้นแก๊งเด็กขนาดสี่ถึงห้าคนจึงพาเราเดินไปจุดจัดกิจกรรมต่อไปตามที่พี่แอมมี่นัดหมายไว้ ไม่ไกลจากบริเวณนั้นก็จะมีต้นมะละกอให้เก็บมาทำส้มตำด้วย

เดินตามเด็ก ๆ ออกจากบริเวณหมู่บ้านสักพักจึงเข้าสู่เขตทุ่งนา หันมองไปทางไหนก็เห็นนาข้าวชอุ่มทอดยาวสุดลูกหูลูกตา สีของทุ่งนาเขียวสดราวกับมีจิตรกรมาบรรเลงสาดสีลงผืนผ้าใบ แล้วจึงเพิ่มมิติให้ภาพด้วยเงาของภูเขาน้อยใหญ่ที่มีเมฆหมอกในเวลาเช้าปกคลุมอยู่บางๆ ตบท้าย แม้ท้องฟ้าจะดูอึมครึมอยู่บ้าง แต่เสียงคุยกันเจื้อยแจ้วของเด็ก ๆ ช่วยพาให้บรรยากาศสดใสขึ้นได้ตลอดทาง

“เฮ้ย ระวังรถนะ” เสียงของไกด์ พี่ ป. ๓ ร้องเตือนน้อง ๆ ที่เดินอยู่ข้างหน้าเมื่อเห็นว่ามีรถกระบะวิ่งโขยกเขยกมาจากทางด้านหลัง เด็ก ๆ ข้างหน้าได้ยินจึงร้องตะโกนเตือนกันต่อไปเป็นทอด ๆ

เดินเล่นไปคุยไปกับน้อง ๆ ประมาณ ๑๕ นาทีก็ถึงที่หมายซึ่งเป็นบริเวณเถียงนายกใต้ถุนสูง เด็ก ๆ ทีมปลาปิ้งเริ่มลงมือก่อไฟกันแล้ว อีกประเดี๋ยวก็จะต้องลงมือจับปลาจากคูน้ำข้าง ๆ ด้วย

ปลาที่เด็ก ๆ จะได้จับนั้นเป็นปลาดุกที่เตรียมมาแล้วปล่อยลงคูรอ ถึงแม้จะไม่ใช่ปลาตามธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเพราะแอมมี่อธิบายให้ฟังว่า เป้าหมายของการให้เด็กทำอาหารเอง นอกจากจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ และเรียนรู้ขั้นตอนการทำอาหารอย่างจริงจังแล้ว สิ่งสำคัญที่เธอเชื่อว่าน้อง ๆ จะได้รับคือความผูกพันระหว่างเด็กและชุมชน

“อาหารเป็นเครื่องมือเท่านั้น แต่สิ่งที่เด็กจะได้จริง ๆ เป็นเรื่องภายใน การทำอาหารจะเป็นสิ่งที่ยึดโยงเขาเข้ากับชุมชนกับข้าวและวัตถุดิบที่เอามาทำก็เป็นของพื้นถิ่น มันไม่ใช่แค่ได้กระบวนการเรียนรู้ แต่เป็นเรื่องภายในจิตวิญญาณที่เขาจะเป็นเด็กที่โตมาจากชุมชน เป็นลูกหลานของชุมชน แล้วมันจะมีความรักความหวงแหน”

ระหว่างนี้ทีมส้มตำกำลังจะเริ่มนำมะละกอมาปอกเปลือกแล้ว

“ใครจะเป็นคนปอกมะละกอ” เสียงเล็กหนึ่งถามขึ้นพลางชูมะละกอลูกโตขึ้นเหนือหัว

“หนูจะเป็นคนขูด” มีนา น้อง ป. ๒ รีบยกมือออกตัวไว้ล่วงหน้า

แต่เมื่อไม่มีใครอยากปอก สุดท้ายคนขูดจึงต้องรับหน้าที่ปอกเอง จนกระทั่งไกด์ พี่ ป. ๓ คนเดิมกับที่ร้องเตือนให้น้อง ๆหลบรถนั่นแหละรับอาสามาช่วยน้องปอก

มือซ้ายจับมะละกอ มือขวาจับมีดไว้มั่น แล้วลงมือปอกอย่างชำนาญ ปากก็ยังคุยเล่นกับน้อง ๆ คนอื่นไปด้วย เมื่อปอกจนเปลือกมะละกอเกลี้ยงผิว น้อง ๆ ก็ช่วยนำเปลือกไปทิ้งและจะนำมะละกอไปขูดเป็นเส้น แต่ไกด์ก็ยังยืนยันว่าจะทำหน้าที่ขูดต่อด้วย

ไกด์นั่งขูดมะละกออย่างขะมักเขม้นอยู่นานสองนาน สักพักก็เริ่มปล่อยมือ นำนิ้วมาโชว์ให้เราดูว่าเป็นรอยสีแดงแจ๋จากการออกแรงกดซ้ำ ๆ ไปที่จุดเดิม เราสงสัยจึงถามน้องไปว่าทำไมถึงไม่ให้คนอื่นช่วยขูด
เด็กๆ เดินเรียงแถวไปตามคันนาเพื่อไปบ่อตกปลา
ไกด์ตอบเราเสียงแผ่วต่างจากเสียงปรกติที่คุยเล่นกับเพื่อนอยู่มากว่า

“ก็คนอื่นจะได้ไม่ต้องเจ็บมือเหมือนผม”

เราชะงักไปสักครู่แล้วจึงหันไปถามเด็ก ๆ ว่ามีใครอยากช่วยพี่ไกด์ขูดมะละกอบ้าง หลายคนยกมือแล้ววิ่งเข้ามาหาบริเวณที่ไกด์นั่งอยู่ พี่ไกด์จึงช่วยสอนวิธีขูดมะละกอให้น้อง ๆ ผลัดกันขูดบ้าง ถ้าช่วยกันหลายคนก็จะไม่มีใครต้องเจ็บมือ

ชวนกันทำชวนกันเล่นจนอาหารกลางวันเสร็จในที่สุดเด็ก ๆ นั่งล้อมวงกันบนเถียงนาเพื่อเตรียมกินข้าว ตรงกลางมีใบตองใบใหญ่ห้าหกทางที่ถูกตัดมาจากต้นสด ๆ ร้อน ๆ สำหรับรองอาหาร ได้แก่ ข้าวเหนียว ส้มตำ ปลาดุกปิ้ง และไข่ป่าม (ฉันเองก็เพิ่งได้รู้ว่าไข่ป่ามคือไข่ที่นำมาตีปรุงรสแล้วย่างในใบตอง) จัดวางกระจายไว้ทุกมุมให้ทุกคนเอื้อมถึง

เมื่อกินข้าวเสร็จแล้ว กิจกรรมถัดไปคือการฟังนิทานชุมชน

บ่ายแล้ว เมฆสีมัวปกคลุมทั่วท้องฟ้า เป็นเหมือนผ้าม่านของธรรมชาติที่ช่วยกรองแสงไม่ให้แดดลงมาแผดเผาจนเด็กทำกิจกรรมไม่สนุก ทุกคนเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งลัดเลาะไปตามคันนาเพื่อพบกับแขกรับเชิญพิเศษคือ หลวงลุงสมชาติ ยะมงคล ซึ่งเคยเป็นปราชญ์ชุมชนที่เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์พื้นที่ หลวงลุงเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนอย่างละเอียดในขณะที่เด็ก ๆ กำลังยืนอยู่ในสถานที่จริง

จากนั้นจึงเล่านิทานพื้นบ้านให้เด็ก ๆ ฟัง เมื่อฟังนิทานเสร็จแล้วทุกคนนำดินเหนียวจากในนามาปั้นเป็นรูปร่างตามนิทาน

ก่อนจะถึงมื้อเย็นก็เป็นเวลาของกิจกรรมสุดโปรดที่เด็ก ๆ ตั้งตาคอยมาตั้งแต่เช้า นั่นคือการไปเล่นน้ำในคลองที่ดงชาวบ้าน ความพิเศษคือละอ่อนน้อยจะพากันกระโดดลงน้ำจากสะพานสีแดงที่ใช้สัญจรข้ามคลอง ใครเคยกระโดดสะพานแล้วก็จะถือว่าเป็นคนเก่ง

แต่ “ถ้ายังเด็ก ก็ต้องรอให้โตกว่านี้ก่อน” น้องบอกกับฉัน

วันแรกของกิจกรรมจบลงที่การล้อมวงกินข้าวเหนียวกับไข่เจียวหรือไข่ดาวที่เด็ก ๆ ทอดเองจานไข่ของแต่ละคนเต็มไปด้วยสีสันสดใสจากดอกไม้อย่างดอกอัญชัน ดอกดาวเรืองและดอกเข็มที่ทุกคนช่วยกันเก็บมาประดับจานตามความชอบฉันถามน้องว่าดอกไม้กินได้จริงไหม น้องตอบอย่างมั่นใจว่ากินได้หมดเลย พร้อมนำดอกไม้เข้าปากให้ดูทั้งดอก
ดอกอัญชันรสชาติอมหวานนิด ๆ มีกลิ่นออกเขียว แต่ไม่เหม็น

กิจกรรมเหล่านี้แอมมี่มองว่าเป็นการ “เรียน ๆ เล่น ๆ แต่ได้จริง” คือจะมีการกำหนดเป้าหมายของกิจกรรมเสมอ เช่น กิจกรรมเล่นน้ำต่างจากการเล่นน้ำกันเองของเด็กตรงที่จะต้องทำให้เด็กว่ายน้ำเป็นด้วย รวมถึงละอ่อนโฮมยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่รวบรวมให้เด็ก ๆ มาเจอกันและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์เพราะในยุคที่คนทุกเพศทุกวัยหมดเวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับสมาร์ตโฟน ดูเหมือนการละเล่นของเด็กก็ใช้พื้นที่น้อยลงมาก เหลือเพียงบนหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เท่านั้น

โดยทั่วไปละอ่อนโฮมจะแบ่งกิจกรรมเป็น ๒ วัน คือวันเสาร์และอาทิตย์ วันหนึ่งจะนัดกันไปที่บ้านของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ส่วนอีกหนึ่งวันจะเป็นกิจกรรมนอกบ้าน ใช้พื้นที่ตามธรรมชาติรอบบริเวณหมู่บ้าน หรือพาเด็ก ๆ ออกนอกสถานที่ เช่น ไปน้ำตกภูซางหรือพระธาตุภูซาง ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้พื้นที่ชุมชนอย่างเต็มที่

“การผลัดกันไปบ้านของเด็กแต่ละคนทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ วันไหนไปบ้านใครเด็กเจ้าของบ้านก็ย่อมรับหน้าที่จัดแจงสิ่งต่าง ๆ ส่วนเด็กที่เป็นผู้มาเยือนก็จะรู้จักขออนุญาตในการจะหยิบจับอะไรในบ้านของคนอื่น พอถึงคราวต่อไปอำนาจก็จะเปลี่ยนมือไปที่เด็กเจ้าของบ้านคนถัดไป รวมถึงกิจกรรมก็จะหลากหลาย เพราะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ของบ้านแต่ละคนด้วย”
Image
หลังจับปลาเสร็จแล้ว เด็กๆ ก็มาเล่นน้ำอย่างสนุกสนานที่คลองหลังหมู่บ้าน
สัปดาห์นั้นเป็นคราวไปบ้านของชีตาร์และอันนาทั้งคู่เข้าร่วมโครงการละอ่อนโฮมตั้งแต่แรก ๆ โดยชีตาร์เป็นพี่ ป. ๖ ที่โตกว่าน้อง ๆ และเคยเข้าร่วมค่ายกับละอ่อนโฮมรุ่นแรกมาก่อน ปัจจุบันจึงรับหน้าที่เป็น play worker คู่กับ
แฟงด้วย

ผู้ปกครองของชีตาร์และอันนาเล่าให้ฟังว่า ทั้งคู่เปลี่ยนแปลงไปเยอะหลังได้ร่วมกิจกรรมกับละอ่อนโฮม พูดแล้วฟังมากขึ้น อย่างชีตาร์เองมีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักล้างถ้วยล้างจานเองหลังกินเสร็จ และเริ่มสนใจเรื่องทำกับข้าวมาก จากที่เมื่อก่อนอยู่บ้านไม่เคยทำ

“ภูมิใจนะ เมื่อก่อนชีตาร์ไปเข้าค่ายของละอ่อนโฮมที่น้ำตกตัวเล็กกว่าหมู่ เดี๋ยวนี้เป็นผู้นำดูแลน้อง ๆ แล้ว โตขึ้นเยอะเลย”

ทุกเสียงมีค่า

โครงการละอ่อนโฮมได้รับทุนจากหลายองค์กรเพื่อมาดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและเยาวชน เช่น มูลนิธิอาสา-สมัครเพื่อสังคม (มอส.) โครงการอาสาคืนถิ่น ซึ่งสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงองค์กรระดับนานาชาติอย่างองค์การหน่วยอาสาสมัครอังกฤษ (VSO) 

ในอนาคตอันใกล้ แอมมี่เล่าว่าเธอกำลังวางแผนจะสร้างพื้นที่เรียนรู้ถาวรในชุมชน ให้เป็นส่วนกลางที่เด็ก ๆ จะมา “เรียน ๆ เล่น ๆ” กันได้อย่างเต็มที่ แต่กระนั้นการจะพัฒนาชุมชนได้อย่างเต็มที่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากวัยอื่น ๆ ด้วย

อีกโครงการหนึ่งที่แอมมี่ดูแลอยู่จึงเป็นการตั้งกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปวัตถุดิบในชุมชนมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำพริกข่า น้ำพริกคั่วหมู คุกกี้ถั่วลายเสือ เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในชุมชนทำกันอยู่แล้วแต่เธอเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการหาตลาด ระบบซื้อขายออนไลน์และคำนวณเงินทุนและกำไรให้ สิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้แอมมี่และภูซางเข้าถึงชาวบ้านในชุมชนได้ และยังทำให้เด็กและผู้ใหญ่มาทำงานร่วมกัน โดยจัดให้เด็กและเยาวชนไปเรียนรู้งานจากแม่ ๆ ป้า ๆ ในชุมชนอีกที

เธอเชื่อว่าการทำงานร่วมกันจะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ลดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ เพราะเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เห็นว่าจริง ๆ ผู้ใหญ่ไม่ได้มีแต่คำตักเตือนดุด่า แต่พร้อมที่จะมอบองค์ความรู้ให้ ผู้ใหญ่ก็จะเห็นว่าเด็กก็มีศักยภาพและตั้งใจที่จะรับองค์ความรู้นั้นมาปรับใช้

“การมีส่วนร่วมของทุกคนจะทำให้ชุมชนพัฒนาไปอย่างถูกที่ถูกทาง อย่างกลุ่มผู้สูงอายุเองเขาก็มีความต้องการของเขา กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้านก็อยากจะพัฒนาในแนวของเขา เพราะทุกเสียงมีค่า การมีส่วนร่วมของทุกคนจึงสำคัญที่สุด”

อย่างไรก็ตามการพัฒนาชุมชนอย่างที่แอมมี่และภูซางกำลังทำคงคล้ายกับการปลูกต้นไม้ดูแลป่า เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลาและต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะบรรลุผล

“จริงอยู่ที่เราทำตอนนี้อาจจะไม่ถึงขั้นทำให้ทุกเสียงในชุมชนมารวมกันได้สำเร็จ แต่เราก็ตั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว คือ ๑๐-๒๐ ปีไปเลย ตอนนี้เราอยู่ที่การทำให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทและมีตัวตนในชุมชนมากขึ้น พอผู้ปกครองรู้ว่าเค้ามีตัวตน มีความสามารถดูแลจัดการตัวเองได้มีความรับผิดชอบระดับหนึ่ง ก็จะเกิดความไว้วางใจและให้พื้นที่แก่เยาวชนในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น แต่หนทางก็อีกยาวไกล ตอนนี้ชุมชนเพิ่งเข้าใจว่าเราทำอะไร 
ลำดับต่อไปก็ต้องอาศัยความเชื่อใจที่จะเริ่มลงมือเรียนรู้ร่วมกัน แล้วพัฒนาร่วมกันเป็นทีม”
Image