กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบงเป็นกลุ่มที่ “พี่ฉัตร”-ทิพย์อุสา จันทกุล รวมเยาวชนในพื้นที่ให้มาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้เกิดการอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ของตัวเองได้
เสน่ห์ทะเลดุหยง
พาคนรุ่นใหม่กลับบ้าน
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด
เรื่อง : ปณิชา ปานกลาง
ภาพ : กัญจน์ มั่นจีระ
เกลียวคลื่นขนาดใหญ่สาดซัดเป็นระลอกเข้าหาประติมากรรมหินที่สรรค์สร้างจากฝีมือธรรมชาติ เวิ้งทะเลจดแผ่นขอบฟ้าสีแดงอมส้มยามพระอาทิตย์อัสดงที่สะพานหินคือฉากหลังอันงดงามราวกับภาพวาด
ในความเงียบสงบ เสียงคลื่นกระทบโขดหินดังก้อง ใครคนหนึ่งบอกเราว่าช่างเหมือนภาพสะท้อนชีวิตของเธอและเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคนที่ต้องผ่านด่านทดสอบมากมาย แรงกระทบจากปัจจัยภายนอกคือบทพิสูจน์ว่าร่างกายและจิตใจมีกำลังต้านไหวแค่ไหน
หนุ่มสาวผู้เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินที่ล้อมรอบด้วยผืนน้ำ ออกเดินทางไปใช้ชีวิตตามเส้นทางที่ตนเองเลือกโลกข้างนอกกว้างใหญ่รอคอยให้พวกเขาและเธอเสาะแสวงหาประสบการณ์ ครั้นถึงช่วงเวลาหนึ่งเงื่อนไขบางอย่างในชีวิตนำพาพวกเขาและเธอหวนกลับบ้านอีกครั้ง
ณ ถิ่นดุหยง บนเกาะลิบง
ชมวิดีโอเต็ม คลิกลิงก์
https://www.youtube.com/watch?v=v4KXGnW2Pxo
create by : กันต์สินี จิรมาศสุนท
กลับมา
เป็นตัวเอง
ที่บ้านเกิด
เรือหางยาวค่าตั๋วเพียง ๕๐ บาท ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะรับส่งผู้คนสัญจรข้ามฟากไปมานับครั้งไม่ถ้วน จากท่าเรือหาดยาวมุ่งหน้าสู่เกาะลิบงใช้เวลาเดินทางราว ๒๐ นาที
เกาะลิบงเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของท่าเรือประมาณ ๓ กิโลเมตร คลื่นทะเลแรงซัดเรือจนโคลงเคลงไปมาแต่ไม่น่ากลัวมากนัก อาจเพราะรู้สึกไว้ใจคนขับเรือมากประสบการณ์ที่อยู่กับอาชีพนี้มาเกือบครึ่งชีวิต
เรือจอดเทียบท่าที่ท่าเรือบ้านพร้าว รถซาเล้งพ่วงข้างซึ่งเป็นยานพาหนะหลักในการเดินทางทั้งในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนและบริการรับส่งนักท่องเที่ยวไปยังจุดต่าง ๆ มารอรับเราเพื่อเดินทางไปยังที่พัก
เกลียวคลื่นสีขาวม้วนตัวซัดเข้าหาผืนทรายเป็นจังหวะคือเสียงแรกที่ได้ยินเมื่อก้าวลงจากรถซาเล้งพ่วงข้าง ทิวมะพร้าวริมทะเลโอนเอนเมื่อลมพัดโชยมา ให้ความรู้สึกเย็นสบาย ฉัตร-ทิพย์อุสา แสงสว่าง วัย ๔๔ ปี เป็นบุคคลแรกที่เข้ามาต้อนรับเรา เธอคือเจ้าของลิบงแคมป์โฮมสเตย์และร้านกาแฟเล็ก ๆ พ่วงด้วยบทบาทอาสาสมัครนักอนุรักษ์แห่งเกาะลิบง
ฉัตรเป็นผู้หญิงโฉบเฉี่ยวและมั่นใจ เธอสวมเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด โพกศีรษะด้วยผ้ารูปโลมา และสวมสร้อยคอรูปพะยูนตัวน้อยที่ทำจากไม้เทพทาโร บุคลิกที่เป็นกันเองและเข้าถึงง่ายทำให้เราผ่อนคลายเมื่อได้เริ่มต้นทำความรู้จัก ฉัตรยืนประจำที่เคาน์เตอร์ร้านกาแฟ เราแนะนำตัวและชวนคุยถึงเรื่องราวชีวิตของเธอ
“ตอนกลับมาอยู่บ้านใหม่ ๆ พี่ก็ไม่ชินนะ เคยทำงานทุกวันแต่ต้องมาปรับตัวให้ชีวิตมันช้าลง”
ฉัตรเป็นคนเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยกำเนิดชีวิตเธอผูกพันกับทะเลตั้งแต่เล็กจนโต แต่การออกไปเรียนหนังสือ ทำงาน และใช้ชีวิตข้างนอกก็ทำให้ไม่ได้กลับบ้านบ่อยนัก เส้นทางชีวิตไม่ได้แตกต่างจากหนุ่มสาวคนอื่นเท่าไรที่เมื่อถึงเวลาก็อยากออกไปหาประสบการณ์
แรกเริ่มเดิมที “พี่ฉัตร” อาสาสมัครแห่งเกาะลิบง จังหวัดตรัง ออกไปทำงานนอกชุมชนและไม่ได้สนใจเรื่องการอนุรักษ์เลย แต่ท้ายสุดก็เลือกกลับบ้านเกิดและเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงอีกด้วย
ฉัตรเรียนจบปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาวรักอิสระ ใช้ชีวิตโลดโผน ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามเป็นอาจารย์สอนวิชาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ของวิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดยะลา อาชีพที่ทำดูเหมาะกับบุคลิกเข้ากับคนง่ายและห้าว ๆ ลุย ๆ ของเธอไม่น้อย
“เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่าจะต้องกลับบ้าน เราปราดเปรียวมากเราฟิน เราชิล ไฟแรง คิดว่าต้องหาประสบการณ์ให้เยอะ ๆ
จนสักพักหนึ่งถึงจุดอิ่มตัว แต่เราไม่ค่อยได้กลับบ้าน เลยไม่รู้จะกลับมาทำอะไร”
เธอทำงานเป็นนักข่าวอยู่ประมาณ ๕ ปี หลังจากนั้นลาออกเพราะพ่อป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เธอพาตัวเองมาอยู่ใกล้บ้าน ทำงานในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จากนั้นสอบได้จึงย้ายมาทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ ๓ จังหวัดตรัง
ฉัตรเล่าว่าตนเองเป็นคนชอบทำงานสังคม ชอบคุยกับชาวบ้าน จนถึงช่วงเวลาหนึ่งบทบาทการทำงานเปลี่ยนไป นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เครียดและไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ
“พอไปนั่งโต๊ะทำงาน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเราแล้วเรามาทำอะไรตรงนี้ อยู่ ๆ ก็คิดไปเองว่าเราเสียเวลากับงานแบบนี้ไปทำไม มันไม่มีความสุขเลย”
กว่า ๑๐ ปีที่ทำงานไปพร้อมกับตั้งคำถามกับตนเอง จนกระทั่งตัดสินใจลาออก และหวนกลับมายังบ้านเกิดที่เกาะลิบง
การกลับบ้านมีความเสี่ยง เธอไม่ได้ตัดสินใจทันที อย่างน้อยต้องมีฐานรองรับ และคงเป็นความโชคดีเมื่อธุรกิจโฮมสเตย์ขนาดเล็กพอเป็นหลักประกันว่าจะหล่อเลี้ยงชีวิตของเธอและครอบครัวได้
“เมื่อก่อนแม่พี่ยอมรับไม่ได้เลย ผู้ใหญ่ชอบเปรียบเทียบเรากับคนอื่น พี่จบปริญญาโท บางคนมองว่าทำไมต้องมาทำงานที่ลิบง แต่ตอนนี้พี่ว่าผู้ใหญ่หลายคนทัศนคติเปลี่ยนไป มันมีทางเลือกเยอะขึ้น”
ลิบงแคมป์โฮมสเตย์เกิดขึ้นตั้งแต่ฉัตรเรียนจบมหาวิทยาลัยเธอต่อเติมโฮมสเตย์ทีละเล็กละน้อยให้รองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักได้ โดยทำเลที่ตั้งคือผืนดินของบรรพบุรุษ ติดริมทะเลเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวไม่น้อย เพราะมองเห็นทะเลได้สุดลูกหูลูกตา และบริเวณหน้าโฮมสเตย์ยังเป็นแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญในการอนุรักษ์
ไม่เพียงแต่กลับมาเพื่อทำธุรกิจโฮมสเตย์เท่านั้น อีกหนึ่งบทบาทที่ทำให้ตัวตนของฉัตรชัดเจนขึ้นอีกครั้ง คือการเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง
“ทีแรกไม่ได้อินกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่รู้สึกว่าบ้านเกิดของเรามีทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เราอยากเห็นพะยูน หญ้าทะเล สัตว์ทะเลยังคงอยู่ที่ลิบง เลยอยากช่วยดูแลร่วมกันกับชุมชนและเยาวชนในพื้นที่”
การทำงานอาสาสมัครทำให้เกิดเครือข่ายกว้างขวาง เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาหนุนเสริมธุรกิจ โฮมสเตย์ของเธอจึงไม่ได้เป็นเพียงที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ของทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ รวมถึงเยาวชนและเครือข่ายการทำงานอื่น ๆ
“เมื่อก่อนพี่มีอุดมการณ์มากเลยนะ จิตอาสาของพี่คือไม่เอาเงินเลย แต่ชีวิตเรามันก็ต้องอยู่รอดด้วย ไม่งั้นหมดกำลังใจ พอทำงานร่วมกับคนเยอะ ๆ มีทีมงานมาเราก็ได้ช่วยเหลือเรื่องที่พัก ประสานงาน จิตอาสามันเกิดจากใจ บางทีไม่รู้จักกันเราก็ช่วย ถ้าเกินความสามารถก็อีกเรื่องหนึ่ง”
ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนฉัตรมองว่าทุกอย่างขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ เรียกว่าเป็นการกลับบ้านที่มีความหมายกับชีวิตอย่างแท้จริง
อาสาสมัคร
พิทักษ์ดุหยง
“คนในชุมชนเกาะลิบงรักและผูกพันกับพะยูนเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่ใช่แค่มาเรียม แต่กระแสของมาเรียมทำให้คนข้างนอกรู้จักกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงและตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ในแถบทะเลอันดามัน เกาะลิบงถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดและเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพะยูนฝูงสุดท้ายในประเทศไทย ที่นี่จึงถูกขนานนามว่าเป็นบ้านของพะยูน หรือชื่อในภาษามลายูเรียกว่าบ้านดุหยง มีความหมายว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล
“พี่ฉัตร” บอกว่า การจะทำให้พื้นที่เข้มแข็งต้องเกิดจากการร่วมมือกันของคนในชุมชน ชุมชนจึงจะพัฒนาต่อได้ เหมือนกับกลุ่มแม่บ้านที่มาร่วมมือกันทำกระเป๋ารักษ์โลกสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชน
วิถีชีวิตของชาวเกาะลิบงสัมพันธ์กับท้องทะเลและพะยูนมานาน การออกเรือประมงในอดีตมักมีโอกาสพบเจอพะยูนเป็นเรื่องปรกติ เกิดตำนานเล่าขาน ความเชื่อต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อเริ่มมีการสำรวจอย่างจริงจังก็พบว่าจำนวนพะยูนลดลงไปอย่างน่าใจหาย ความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรในท้องทะเลและการตระหนักรู้ที่มากขึ้นของคนบนเกาะลิบงทำให้เกิดกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงขึ้นมา ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เมื่อปี ๒๕๕๕ โดยมีนายสุเทพ ขันชัย เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีเยาวชนและคนในชุมชนเป็นสมาชิก
แรกเริ่มเดิมทีกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกิดจากการนั่งคุยกันของคนรุ่นน้ารุ่นลุงสี่ถึงห้าคนที่ร้านโกปี๊ในหมู่บ้านเหตุการณ์ก่อนหน้าฉัตรเล่าว่ามีคนนั่งเรือเข้ามาติดตามดูพะยูนบริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะและใช้วิทยุสื่อสาร คนในชุมชนเกิดความรู้สึกว่าวิธีการดังกล่าวนั้นผิด เพราะการติดตามดูพะยูนในระยะใกล้ชิดเช่นนั้นส่งผลให้พะยูนตื่นตกใจและอาจจะไม่กลับเข้ามาในบริเวณนั้นอีก จากวงคุยเล็ก ๆ ในวันนั้นเกิดข้อตกลงกันว่าต้องมีตัวแทนชุมชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา การที่มีคนเข้ามาทำอะไรกับทรัพยากรในบ้านเกิด ทุกคนในชุมชนต้องรับรู้ด้วย
สิบปีกับการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทว่ากลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงกลับเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อมีกระแสมาเรียม ลูกพะยูนเพศเมียที่เกยตื้นบริเวณอ่าวทึง จังหวัดกระบี่ หลังจากนั้นถูกนำมาอนุบาลที่แหลมจูโหยบนเกาะลิบงเนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์
สัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลมาเรียมอย่างใกล้ชิด ฉัตรเป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการทำงาน ทำหน้าที่ประสานงานในฐานะคนในพื้นที่ คอยดูแลช่วยเหลือทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร
กระทั่งวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ มาเรียมได้จากไปผลการชันสูตรพบเศษพลาสติกหลายชิ้นในลำไส้ จนมีอาการอุดตันและอักเสบ มีแก๊สสะสมในระบบทางเดินอาหาร ติดเชื้อในกระแสเลือด และปอดเป็นหนอง
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสที่ทำให้สังคมหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นเตือนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องเข้มงวดกับเรื่องกฎหมายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ห้องเรียน
ธรรมชาติ
ของนักอนุรักษ์
รุ่ นใหม่
เวลาประมาณ ๔ โมงครึ่ง หลังฝนตก ฟ้าเปิด มองจากหน้าโฮมสเตย์ของฉัตร น้ำทะเลลดระดับลงไปไกลกว่า ๑ กิโลเมตรชาวบ้านหลายคนถืออุปกรณ์ที่เรียกว่าปาโต๊ะ ลักษณะคล้ายค้อน ปลายเป็นเหล็กแหลมใช้ในการกะเทาะหอยนางรมตามโขดหิน บางส่วนใช้อุปกรณ์แตกต่างกันไปเดินลงทะเลหาหอยชักตีน หอยหลอด ท้องทะเลยังเป็นแหล่งอาหารหลักของคนเกาะลิบง ไม่ต้องเสียเงินสักบาทก็ได้เมนูอาหารมื้อเย็น
ฉัตรเปิดห้องเรียนธรรมชาติ ชักชวนทีมเยาวชนหกคนพาเราลงสำรวจแปลงหญ้าทะเลบริเวณหน้าโฮมสเตย์ของเธอ ทุกคนเตรียมอุปกรณ์ แบ่งหน้าที่กันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ปรารถนา หมาดหลี วัย ๒๖ ปี หนึ่งในอาสาสมัครเดินมาหยุดอยู่ข้าง ๆ เธอชวนให้เราซึมซับบรรยากาศลมทะเลเย็น ๆ ในขณะที่ฉัตรเล่าถึงภาพทะเลในความทรงจำวัยเด็กว่าอุดมสมบูรณ์ดีนัก ต่างจากปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเยอะ ทรัพยากรในทะเลลดน้อยลง การประมงต้องเดินเรือออกไปไกลกว่าเดิม ชาวประมงต้องแบกรับความเสี่ยงหลายอย่าง สิ่งที่ได้มาอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับการประกอบอาชีพประมงเท่านั้น ในพื้นที่เกาะลิบงมีหญ้าทะเล ๑๒ ชนิด เป็นอาหารของเต่า พะยูน และเป็นที่อยู่อาศัยของกุ้งหอยปูปลาและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แต่ปัจจุบันคลื่นลมและสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเลจนลดน้อยลง การไถเปิดหน้าดินเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทำให้มีตะกอนดินไหลทับถมหญ้าทะเลจนไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ และอีกหนึ่งสาเหตุคือเกาะลิบงตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียนอยู่ห่างจากฝั่งบ้านเจ้าไหมไปทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร น้ำจืด น้ำเสียใกล้ชุมชนที่ไม่ได้รับการบำบัดไหลลงสู่ทะเลเกิดแพลงก์ตอนหรือสาหร่ายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วปกคลุมหญ้าทะเล แย่งธาตุอาหารจนไม่อาจเจริญเติบโตต่อไปได้
หญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เป็นเรื่องที่น่ากังวลหากกิจกรรมของมนุษย์ไปรบกวนการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ระบบนิเวศอื่น ๆ ที่เคยสมบูรณ์อาจจะหายไปเช่นกัน
ปรารถนาชี้ให้เราเห็นและแนะนำให้รู้จักกับสัตว์หน้าดินหลายชนิดที่พบเจอระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นหอยแครงตัวใหญ่เท่าฝ่ามือ ดอกไม้ทะเลที่บานสวยงามและหุบอย่างฉับพลัน เมื่อถูกรบกวน ปลิงทะเลสีชมพู ปลิงกาหมาด กุ้งหอยปูปลาตัวเล็ก ๆ สัตว์เหล่านี้คือดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแปลงหญ้า อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนเกาะลิบง
“ทีแรกไม่ได้อินกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่รู้สึกว่าบ้านเกิดของเรามีทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เราอยากเห็นพะยูน หญ้าทะเล สัตว์ทะเลยังคงอยู่ที่ลิบง เลยอยากช่วยดูแลร่วมกันกับชุมชนและเยาวชนในพื้นที่”
ทิพย์อุสา จันทกุล
ในชุมชนเกาะลิบงมีการทำของที่ระลึกและของฝากจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวคือกระเป๋าพลาสติกจากกระสอบข้าวสาร เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัปไซคลิงจากขยะในชีวิตประจำวัน
“ใครเจอดอเทศช่วยบอกด้วยนะ”
ฉัตรที่เดินตามมาติด ๆ ตะโกนบอกทีมเยาวชนของเธอ ความตื่นเต้นฉายชัดออกมาจากน้ำเสียงและแววตา ผ่านไปไม่นานใครสักคนจึงร้องเรียกว่าพบสิ่งที่ตามหาแล้ว
“นั่นไง เจอแล้วดอเทศของพี่” ฉัตรบอกอย่างตื่นเต้นอีกครั้ง ทำเอาเราพลอยตื่นเต้นไปด้วย เจ้าดอเทศที่ว่าคือปลิงตัวใหญ่สีดำเข้มนอนเอกเขนกอยู่บนพื้นทราย ผิวของมันเป็นหนามขรุขระ ใกล้ ๆ กันพบเพรียงและปูตัวเล็ก ดอเทศเป็นสัตว์หน้าดินชนิดหนึ่ง ความพิเศษคือทำหน้าที่เป็นเทศบาลดักจับสิ่งสกปรกและตะกอนในแนวหญ้าให้หายไป ถ้าเจอดอเทศเยอะ นั่นหมายถึงว่าบริเวณนั้นระบบนิเวศดี ลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือมันจะฉีดยางออกมาป้องกันตนเอง
“พี่กับเด็ก ๆ ยังตื่นเต้นกับการได้เจอสัตว์ใหม่ ๆ เพราะมันบ่งบอกได้ว่าบ้านเรายังดีอยู่ ยังมีสิ่งเหล่านี้ให้เห็น ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วเฉยผ่านไป แบบนั้นมันไม่มีแรงกระตุ้น”
ทันทีที่มาถึงแปลงหญ้าทะเล ทีมเยาวชนเริ่มต้นหาหมุดที่วางไว้เป็นอันดับแรก เพราะการสำรวจติดตามสถานภาพและประเมินเปอร์เซ็นต์หญ้าทะเลจะต้องทำซ้ำในจุดเดิม และเพื่อความแม่นยำจึงต้องใช้ GPS เข้ามาช่วยระบุตำแหน่ง
การสำรวจติดตามสถานภาพหญ้าทะเลส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายคนทำงานด้านการอนุรักษ์ทางทะเล องค์กร มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการสนับสนุนเครื่องมือ เช่น GPS กล้องถ่ายภาพใต้น้ำ อุปกรณ์สำหรับลงแปลงหญ้า มหาวิทยาลัยหลายสถาบันเข้ามาสอนการใช้เทคโนโลยี การบินโดรน เก็บข้อมูล ลงข้อมูลในโปรแกรม เพื่อให้เยาวชนมีความรู้และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ใน ๑ ปี พวกเขาจะติดตามสถานภาพและประเมินเปอร์เซ็นต์หญ้าทะเลสองช่วงเวลา คือไฮซีซันและโลว์ซีซันและต้องเป็นช่วงน้ำใหญ่หรือน้ำเป็น ซึ่งในช่วงข้างขึ้นและข้างแรม ๑-๓ ค่ำ และ ๑๒-๑๕ ค่ำ เป็นช่วงเวลาที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว ระดับน้ำขึ้นสูงและลงต่ำมาก
ติยเชษฐ์ แก้วเสน อายุ ๒๐ ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำหน้าที่วางเทป เขาลากเทปความยาว ๕๐ เมตรลงบนบริเวณแปลงหญ้า (ต้องวางสามไลน์คือ หัว กลาง และท้าย) จากนั้นวางตารางควอแดรต (quadrat) ขนาด ๕๐x๕๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการประเมินความหนาแน่นของหญ้าทะเล และปริมาณสัตว์หน้าดินในแนวหญ้าทะเลตารางควอแดรตทำด้วยท่อ PVC ขึงด้วยเส้นเอ็น ในตารางกำหนดเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้การประเมินง่ายขึ้นพวกเขาจะแบ่งออกเป็นสี่ช่อง ช่องละ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเริ่มต้นประเมินชนิดของหญ้าทะเล สัตว์หน้าดินที่พบ และลักษณะของดินบริเวณนั้น
“หญ้าคา ๒ หอยปากจาด ๑ เสฉวน ๑๐ ดินทรายปนโคลน”
อาดัง แสงสว่าง เด็กชายวัย ๘ ขวบ อาสาสมัครอายุน้อยที่สุดขานขึ้น ขณะที่สมาชิกในทีมจดบันทึกข้อมูล
หญ้าทะเลบางชนิดคล้ายคลึงกัน เกิดในบริเวณเดียวกัน ต้องใช้เวลาในการสังเกต สัมผัส โดยไม่ทำลายหญ้า รวมถึงสังเกตสัตว์หน้าดินว่ามีกี่ชนิด หากมีมากกว่า ๑๐ ขึ้นไปจะใช้การคาดคะเน
ในระยะ ๒๕ เมตร พวกเขาวางทุ่นแนวดิ่งความยาว ๓๐ เซนติเมตรเอาไว้ เพื่อดูว่าการทับถมของตะกอนดินมีเท่าไรเพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและทิศทางของลมด้วย หากในช่วงมรสุมหญ้าทะเลอาจถูกตะกอนดินทับถมอยู่ด้านล่าง เมื่อถึงช่วงเวลาที่ลมพัดพาตะกอนออกไป หญ้าทะเลจะกลับมาเจริญเติบโตเช่นเดิม
เมื่อจุดแรกผ่านไปเรียบร้อย พวกเขาเคลื่อนตัวไปยังจุดที่ ๒ คนหนึ่งวางตารางควอแดรต อีกคนประเมินเปอร์เซ็นต์หญ้าและขานเสียงดังชัดเจนเพื่อการบันทึกผลที่แม่นยำ พร้อมทั้งช่วยกันสังเกตลักษณะดินและสัตว์หน้าดินที่อยู่บริเวณเดียวกันพวกเขาต้องวางตารางควอแดรตในระยะเท่า ๆ กันไม่ต่ำกว่า ๓๐ จุด จึงต้องใช้ความรวดเร็วในการทำงานเพราะแข่งกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง และต้องทำทั้งหมดเก้าพื้นที่บนเกาะลิบง
การติดตามเช่นนี้ไม่ได้ติดตามแค่สภาพหญ้าทะเลอย่างเดียวแต่รวมร่องรอยพะยูนมากินหญ้า สถานภาพสัตว์หน้าดินและขยะในแนวหญ้าด้วย
“ปลาขยะ” ศิลปะจากขยะที่เก็บมาได้ ฝีมือเยาวชนในชุมชน เป็นการใช้ของที่ไม่สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์
ขยะในแนวหญ้า
สู่ งานศิลปะ
ที่มีความหมาย
“ขยะในแนวหญ้ามีผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เวลามาลงแปลงจะเจอขยะเยอะมาก และเราจะเก็บกลับไปด้วย เพราะขยะพวกนี้พร้อมที่จะเป็นไมโครพลาสติก”
เยาวชนในทีมนอกจากจะมีเครื่องมือประเมินเปอร์เซ็นต์หญ้า ในมือยังถือถุงตาข่ายอวนสีเขียวติดไปด้วยทุกครั้ง เมื่อพบขยะพวกเขาจะเก็บกลับขึ้นไปบนฝั่ง ขยะเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าอะไร แต่ถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมเพื่อสื่อสารเรื่องราวบนเกาะลิบง
ขยะคือปัญหาโลกแตกและการทำงานกับสิ่งสกปรกก็ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก
“เป็นจิตอาสาไปเก็บขยะ ขยะ ขยะ ทำงานกับสิ่งสกปรกน่ะเป็นพี่พี่ก็เบื่อ ไม่มีใครไปเก็บขยะทุกวันหรอก”
ฉัตรบอกเช่นนั้น เพราะการทำงานรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ ไม่มีการสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ พลอยทำให้เยาวชนถอดใจเอาเสียง่าย ๆ จากขยะไร้ค่าในแนวหญ้าที่เจอทุกวันจึงนำมาสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะที่มีความหมาย
เชือกอวน ถุงพลาสติก เศษรองเท้า กระป๋อง ขวดน้ำ ซองขนม โฟม เชือกฟาง เศษผ้า และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้คือขยะในแนวหญ้าที่เยาวชนรวบรวมมาได้เมื่อลงแปลงเก็บข้อมูลประเมินเปอร์เซ็นต์หญ้า ขยะจะถูกคัดแยก ล้างทำความสะอาดและตากแดด ก่อนนำมาสื่อสารลงบนเฟรมผ้าใบ ผลงานทุกชิ้นล้วนเกิดจากจินตนาการที่เยาวชนต้องการสื่อให้สาธารณะรับรู้ว่าบนเกาะลิบงแห่งนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
การนำขยะมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนรู้สึกว่าขยะไม่ได้เป็นเรื่องน่าเบื่อ แม้การจัดการจะซับซ้อนและวุ่นวาย แต่กลับสร้างความสุขและความภาคภูมิใจในผลงานที่มาจากความคิดของเขา ผลงานนั้นมีความหมายและคุณค่ามากขึ้นเมื่อถูกนำไปจัดแสดงในงานวันพะยูนแห่งชาติ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ รวมถึงเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ไม่เพียงเท่านั้นกิจกรรมดังกล่าวยังสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและสาธารณะเห็นว่าในท้องทะเลไทยมีขยะมากมายที่พร้อมกลายเป็นไมโครพลาสติกและส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล
เศษเสี้ยวของรองเท้าสีน้ำตาลผลิตจากยางพารานำมาตัดให้มีรูปทรงคล้ายกับตัวพะยูน เชือกอวนที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือประมง ออกแบบให้ผูกติดกับหางของพะยูน นี่คือผลงานศิลปะจากขยะในแนวหญ้าของ ธีระพัฒน์ อนุพันธ์ สมาชิกกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง วัย ๓๐ ปี เขาต้องการสื่อให้เห็นว่าเครื่องมือประมงมีส่วนทำให้พะยูนบาดเจ็บ เมื่อมันแหวกว่ายและสะบัดหางไปมา หางของมันมักจะไปติดพันกับเชือก ทำให้ไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ ส่วนเชือกฟางสีเขียวและขยะเศษเล็ก ๆ ที่พบเจอได้บ่อยในแนวหญ้า นำมาวางให้มีลักษณะเหมือนหญ้าทะเลที่พะยูนกิน ลงสีพื้นหลังของเฟรมภาพด้วยดินสอสีเป็นภาพท้องทะเลและเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็นแหล่งที่มองเห็นพะยูนได้ชัดเจนโดยไม่รบกวนการกินหญ้าของมัน องค์ประกอบทั้งหมดบอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับพะยูนบนเกาะลิบง
ร่องรอยพะยูน
สะท้อนความ
อุดมสมบูรณ์
ของท้องทะเล
“เจอร่องรอยพะยูนกินหญ้าแล้ว”
ใครบางคนตะโกนขึ้นมาระหว่างที่กำลังสำรวจบริเวณแนวหญ้าทะเล พื้นที่ที่พบร่องรอยพะยูนมองเห็นผืนหญ้าทะเลสีเขียวอ่อนขนาดกว้างราวกับสนามฟุตบอล หญ้าชนิดเดียวที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือหญ้าใบมะกรูด ลักษณะใบมน เล็ก และนิ่ม เป็นอาหารที่พะยูนโปรดปราน จึงไม่แปลกใจว่าเพราะอะไรถึงมีร่องรอยพะยูนจำนวนมากในบริเวณนี้
ร่องรอยพะยูนที่พบมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายตัวของพะยูน ธีระพัฒน์อธิบายให้ฟังว่า พะยูนมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงร่องรอยที่พบนั้นมีขนาดเล็กใหญ่สันนิษฐานว่ามันมาด้วยกันหลายตัว ลักษณะรูปร่างของพะยูนเป็นกระสวยคล้ายโลมา ส่วนหัวประกอบด้วยปากที่หนาใหญ่ มีตาและหูขนาดเล็กจิ๋วอย่างละคู่ มีรูหูเปิดเล็ก ๆ ไม่มีใบหู เมื่อต้องการหายใจมันจะโผล่ขึ้นมาเฉพาะส่วนหัว มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่ข้างลำตัวและหัวนมอยู่ด้านหลังครีบ
พะยูนกินหญ้าทะเลโดยใช้ปากขนาดใหญ่ดุนหญ้าและดินทรายเป็นรอยไถ ขณะกินหญ้าจะเกิดตะกอนทรายฟุ้งกระจายอย่างเห็นได้ชัด เป็นลักษณะที่สังเกตได้เมื่อมีการสำรวจทางอากาศ
เมื่อพบร่องรอยพะยูนกินหญ้า ทีมอาสาสมัครจะวัดขนาดความยาวจากหัวไปท้าย วัดความกว้างของลำตัว ถ้าลักษณะของปากกว้าง คะเนได้ว่าเป็นพะยูนตัวใหญ่ และยังระบุได้ว่าร่องรอยกินหญ้านั้นเป็นรอยเก่าหรือรอยใหม่ หากเป็นรอยเก่า บริเวณนั้นจะเริ่มมีหญ้าอ่อนโผล่ขึ้นมา ถ้ายังเป็นรอยใหม่เพิ่งกินไปไม่นาน ๑-๒ วัน บริเวณดินตรงนั้นจะไม่มีหญ้าขึ้น
“พี่ยังคงตื่นเต้นกับรอยพะยูนนะ เพราะทำให้รู้ว่าพะยูนมันได้กินหญ้า และวันนี้มันคงกินอิ่มแล้ว”
ฉัตรบอกว่าการพบร่องรอยพะยูนกินหญ้าเป็นเรื่องปรกติของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง แต่พวกเขากลับมีความสุขและตื่นเต้นทุกครั้งที่เจอมัน นั่นเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ฟังแล้วอิ่มเอมในหัวใจ
แต่ในขณะเดียวกันพะยูนที่ขึ้นมากินหญ้าอาจจะมีชะตากรรมทำให้ไม่ได้กลับไปหาฝูงของมันอีก
บริเวณแปลงหญ้าทะเล เราพบไซดักปูซึ่งเป็นเครื่องมือประมงจมอยู่ในผืนทราย โดยปรกติชาวประมงจะไม่เข้ามาวางไซในแนวหญ้า แต่นี่คงโดนคลื่นลมคลื่นน้ำพัดพาเข้ามา เมื่อพะยูนมากินหญ้าจะสะบัดหางตีกับสายเชือกทำให้ได้รับบาดเจ็บและเสี่ยงต่อการเกยตื้น
เหตุการณ์พะยูนได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมงจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กรณีเช่นนี้หากมีชาวประมงพบเจอก็รีบช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถในเบื้องต้น อย่างไรก็ตามความรวดเร็วในการช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญที่จะตัดสินว่าพะยูนตัวนั้นจะรอดชีวิตหรือไม่
“เวลาเจอ ถ้าเป็นช่วงน้ำลงชาวประมงเอาเรือออกไม่ได้มันติดแห้ง ก็พูดคุยกันว่าเราต้องการเรือยางเพื่อที่จะช่วยกันหามลงทะเลและออกไปช่วยพะยูนได้ทัน อัตราการรอดจะมีสูงแต่มันค่อนข้างราคาสูง”
ไม่เพียงแต่พะยูนที่ต้องได้รับการดูแล เต่าทะเลที่อยู่ในบริเวณเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากขยะที่มากับน้ำ ไมโครพลาสติกที่เต่ามักจะเข้าใจว่าคือแมงกะพรุนและเผลอกินเข้าไปนั้นเป็นอันตรายและทำให้ตายได้เช่นกัน
ขึ้นเขาบาตูฯ
ดูวิถีพะยูน
หมุดหมายของการมาเยือนเกาะลิบง ขึ้นเขาบาตูปูเต๊ะเพื่อดูพะยูน ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พลาดไม่ได้
ภูเขาหินปูนสูงชันแห่งนี้เป็นจุดดูพะยูนที่มองเห็นได้ชัดเหมาะสำหรับการเฝ้าดูโดยไม่รบกวนการกินหญ้าและการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของมัน และยังได้เห็นทิวทัศน์ท้องทะเลแบบแพโนรามา สถานที่แห่งนี้เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวขึ้นไปรอดูพะยูนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถซาเล้งพ่วงข้างเพื่อเดินทางมาขึ้นเขาและท่องเที่ยวจุดอื่น ๆ ได้ เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง
บันไดที่สูงชันและต้องเดินผ่านถ้ำหิน ปีนป่ายขึ้นไปจนถึงระเบียงไม้ที่ทำไว้สำหรับเป็นจุดดูพะยูนค่อนข้างยากลำบากเส้นทางท้าทายสำหรับนักผจญภัย หากไม่ได้เตรียมพร้อมร่างกายมาอาจจะอ่อนล้าจนไม่อยากเห็นพะยูนแล้วก็ได้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังปีนไปตามซอกหิน ขึ้นไปยังยอดสูงสุดของเขาบาตูปูเต๊ะได้อีกชั้น เมื่อทอดสายตาลงไปยังผืนน้ำทะเลสีเขียวใส จะมองเห็นพะยูนได้ชัด
เราขึ้นมาถึงระเบียงซึ่งเป็นจุดดูพะยูนในเวลา ๐๙.๔๐ น. สายตาจดจ้องไปยังผืนน้ำทะเลที่เรียบนิ่ง แสงแดดส่องกระทบเป็นประกายระยิบระยับ ข้อดีของแสงแดดคือช่วยให้มองเห็นพะยูนในขณะที่มันขึ้นมาหายใจได้ชัดขึ้น ทว่าในช่วงเวลานั้นเรากลับไม่พบการเคลื่อนไหวใด ๆ รอคอยอยู่ร่วมชั่วโมง จนกระทั่งทุกคนบอกว่าวันนี้คงไม่ได้เจอพะยูนแล้วถ้ามีโอกาสต้องกลับขึ้นมาใหม่
แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียดาย ในวันต่อมาเราและทีมจึงวางแผนเพื่อขึ้นเขาบาตูปูเต๊ะอีกครั้ง
ฉัตรทำหน้าที่เป็นไกด์อีกเช่นเคย เธอบอกว่าวันนี้น้ำขึ้นช้ากว่าปรกติราวครึ่งชั่วโมง เราต้องไปรอก่อน ๙ โมงเช้า เมื่อน้ำขึ้น พะยูนขึ้นมากินหญ้า มีโอกาสได้เจอสูง
“แล้วแต่อารมณ์ของเขานะ บางทีก็ขึ้นมาโชว์ตัวแค่แว่บเดียวแล้วก็หายไป บางวันเขาก็ขึ้นมาให้เห็นทั้งตัวเลย”
ธรรมชาติมักไม่แน่นอน เช้าวันนี้ท้องฟ้าอึมครึม ไม่มีแดด เราขึ้นเขามารอพะยูนบริเวณระเบียงไม้จุดเดิม ทอดสายตาออกไปยังเกาะสองแห่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ไกลโพ้น เห็นไอสีขาวจาง ๆ ลอยตัวอยู่เหนือยอดเขา ที่นั่นฝนกำลังตกหนักท้องฟ้าเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเข้ม ภาวนาว่าอย่าให้ฝนตกมาถึงบริเวณนี้
คลื่นน้ำแผ่ขยายเป็นวงกว้างบริเวณทุ่นกันโซน เป็นสัญญาณว่ามีความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตบางอย่าง น้ำทะเลสีเขียวใสจนมองเห็นก้อนหินและการกระจายตัวของทรายอย่างชัดเจน ความคาดหวังเห็นจะเป็นจริง เมื่อมีเสียงร้องตะโกนจากยอดเขาข้างบนว่า
“มาแล้ว เห็นไหม”
เรากวาดสายตาหาพะยูนที่โผล่ขึ้นมาเป็นตัวแรก แต่ทันทีที่เหลือบไปเห็นก็คล้ายกับว่ามันได้ม้วนตัวลงสู่ทะเลเรียบร้อยแล้ว
“มาเร็วไปเร็วมาก”
ฉัตรให้ข้อมูลว่าพะยูนจะขึ้นมาหายใจทุก ๓-๕ นาที บางทีมันดำน้ำลงไปกินหญ้าและไปโผล่อีกที่หนึ่ง เวียนกินไปเรื่อย ๆพะยูนกินหญ้าใช้เวลานานเพราะกินเยอะตามน้ำหนักของมัน และขึ้นอยู่กับปริมาณหญ้าในบริเวณนั้นด้วย ถ้าหญ้าไม่เยอะ มันกินไม่นาน แล้วย้ายที่ไปที่อื่นแทน
เวลาผ่านไป ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เรายังคงเฝ้ารอพะยูนขึ้นมาหายใจอีกครั้ง และไม่นานพวกมันก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นติด ๆ ในเวลาไม่กี่วินาทีและม้วนหายลงไปเช่นเดิม
มองจากระยะไกลพะยูนตัวเล็กนิดเดียว เห็นเป็นก้อนสีเทาอมชมพูจาง ๆ เคลื่อนไหวสะบัดหางไปมา ทุกครั้งที่พะยูนโผล่ขึ้นมาพวกเราร้องตะโกนด้วยความดีใจ อย่างน้อยก็ได้เจอกันแล้ว แต่บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะไม่ได้มีเพียงพะยูนเท่านั้น เต่าทะเลหลายตัวยังผลัดกันขึ้นมาแหวกว่ายให้หลงผิดคิดว่าเป็นพะยูนอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อคลื่นทะเล
พาเรากลับบ้าน
การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่หรือใครคนใดคนหนึ่ง เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนมีส่วนช่วยปกป้องรักษาบ้านของตนเอง เพื่อให้ทั้งคนและธรรมชาติอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลกันอย่างสมดุล
นั่นจึงเป็นภารกิจสำคัญของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงที่ต้องการเชื่อมร้อยเยาวชนให้เข้ามาเป็นนักอนุรักษ์เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ทรัพยากรในท้องทะเล พวกเขาเหล่านี้เป็นเยาวชนหลากหลายช่วงอายุ ไม่เพียงแต่ต้องการทำประโยชน์เพื่อชุมชนหรืออยากรักษาทรัพยากรในบ้านของตนเองเท่านั้น แต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้เพิ่มศักยภาพและพัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้าน ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้และลงมือทำจริง
“ชุมชนเรามีความเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เรายังอยากอยู่ร่วมกับธรรมชาติไปนาน ๆ”
ปรารถนา หมาดหลี บอกเหตุผลของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เธอเป็นหญิงสาวที่มีพลังถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านเกิดตนเองสูง ทุกครั้งที่ได้ฟังเธอเล่าเรื่อง น้ำเสียงและแววตาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ปรารถนาทำงานอาสาสมัครมา ๕ ปี ตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย และเมื่อกลับมาบ้านเธอมักจะปลีกตัวมาช่วยงานในกลุ่มเสมอ นอกเหนือจากความรักในบ้านเกิด การมาทำงานอาสาสมัครช่วยเพิ่มทักษะความมั่นใจ พัฒนาศักยภาพของเธอให้ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำเยาวชนได้
ปวุฒิ พิทักษ์ หนุ่มร่างผอมสูง วัย ๒๑ ปี ที่อาจดูเข้าถึงยากในครั้งแรกที่เจอ ทว่าเมื่อได้เริ่มต้นบทสนทนากลับมีเรื่องราวที่ทำให้เรารู้สึกสนใจไม่น้อย เขาเป็นคนพูดน้อยเหนียมอาย หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เลือกที่จะไม่เรียนต่อ เมื่อมีเวลาว่างจากการช่วยพ่อแม่ทำงาน เขาจะมาช่วยงานในกลุ่ม ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างตั้งแต่ฝึกคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ลงมือทำ และทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนในช่วงวัยใกล้เคียงกัน
และ คุณพัฒน์ หวังบริสุทธิ์ หนุ่มวัย ๒๓ ปี เรียนจบ ปวส. ด้านการไฟฟ้าที่จังหวัดตรัง เขาสะสมประสบการณ์และฝึกตัดผมด้วยตนเอง เมื่อเรียนจบจึงตั้งใจกลับมาปักหลักเปิดร้านตัดผมในบ้านเกิด เมื่อเว้นว่างจากงานหลัก คุณพัฒน์ยังเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยงานในกลุ่มเช่นเดียวกัน
“เข้ากลุ่มเพราะตามเพื่อนมา พอได้เป็นอาสาสมัครรู้สึกว่าสนุก พี่ฉัตรช่วยสอนอะไรมากมาย ได้ความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรในบ้านเกิดด้วย”
นั่นเป็นเสียงของเยาวชนบางส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม โดยมีฉัตรทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยง เพื่อน น้า หรือแม่ของเยาวชนกลุ่มนี้ เธอเริ่มต้นจากการพาเยาวชนไปทำกิจกรรม ให้เขากล้าเปิดเผยตัวเองในเรื่องของการทำงานอาสาสมัคร เยาวชนเหล่านี้จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่ ความสนุกของการได้ลงพื้นที่และได้ลองทำสิ่งใหม่เป็นสิ่งที่ยึดโยงให้พวกเขาทุกคนอยากกลับมาทำต่อเรื่อย ๆ
“เด็กที่มาอยู่ตรงนี้หลายคนไม่มีความมั่นใจ แต่เราต้องให้เขามีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานตรงนี้ ได้นำเสนอ ได้บอกกล่าวสิ่งที่บ้านเขามี ซึ่งมันต้องเกิดจากการที่เขาเข้าใจก่อนถึงจะสื่อสารออกไปได้”
ในขณะเดียวกันการชักชวนเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละช่วงวัยมีความสนุก ความสนใจแตกต่างกัน ที่สำคัญการพาเยาวชนมาเรียนรู้ ฉัตรต้องสร้างความไว้ใจต่อผู้ปกครองของเขาด้วย
“พ่อแม่เขาต้องไว้ใจเราระดับหนึ่งเด็กพวกนี้ถึงจะมาทำกิจกรรมได้ เราก็มีค่าตอบแทนให้ แต่จะไม่ตั้งราคาตั้งแต่ต้นสิ่งที่ให้ถือเป็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ”
กิจกรรมสำคัญของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงคือการสำรวจและเก็บข้อมูล โดยมีตารางควอแดรตเป็นอุปกรณ์หลักในการติดตามสถานภาพและประเมินเปอร์เซ็นต์หญ้าทะเล ทำให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์หรือผลกระทบทางลบได้
ความปรารถนาดีในการอยากให้เยาวชนได้เรียนรู้ ทำให้ฉัตรได้รับความไว้ใจจากผู้ปกครอง ในขณะเดียวกันเยาวชนต้องรู้สึกไว้ใจเธอเช่นกัน เธอมองพวกเขาเหมือนลูกหลานคนหนึ่งที่อยากให้โอกาสและนำพาพวกเขาไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
การมีเครือข่ายการทำงานกว้างขวางถือเป็นต้นทุนที่ดี ฉัตรประสานงานและเขียนโครงการเสนอองค์กรต่าง ๆ เพื่อต้องการสนับสนุนเยาวชนให้ได้ทำกิจกรรม เพราะนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงเยาวชนให้มีกำลังใจในการทำงานและพัฒนาศักยภาพตนเองต่อไป จนปัจจุบันเยาวชนในกลุ่มมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด พวกเขาเรียนรู้และลงมือทำอย่างตั้งใจ ฉัตรมองว่าแรงจูงใจในการทำงานอาสาสมัครของเยาวชนไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่เชื่อว่าเยาวชนทุกคนมีจิตใจของการเป็นอาสาสมัคร อยากทำประโยชน์เพื่อชุมชน การที่พวกเขาทำงานออกมาดีหรือไม่ดีนั้น พวกเขาต้องเรียนรู้ ทดลอง และประเมินผลด้วยตนเอง
อนาคตลิบง
ในมือคนรุ่นใหม่
“ในความคิดของผู้ใหญ่มักจะคิดว่าการที่ลูกเรียนจบสูง ๆ ลูกต้องไปทำงานข้างนอก หาเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่เยาวชนในทีมเขาพาตัวเองกลับมาเพราะอยากอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ อยากทำงานที่เป็นประโยชน์ให้ชุมชนแค่นั้นเอง”
การเห็นเยาวชนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรในบ้านหรือทำประโยชน์ในแง่มุมอื่น คือความหวังและสะท้อนว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อไปในอนาคต
ไม่เพียงแต่การเป็นอาสาสมัครดูแลทรัพยากรในชุมชน แต่ฉัตรมองไปถึงการฝึกฝนให้เยาวชนทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเอง และยังสามารถสื่อสารเรื่องราวของเกาะลิบงในฐานะที่เป็นลูกหลานคนเกาะลิบงอีกด้วย
ในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ เศรษฐกิจซบเซา ธีระพัฒน์เป็นอีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจหวนกลับบ้าน ช่วงเวลานั้นเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง ซึ่งไม่เพียงแต่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรร่วมกับทีม แต่ยังใช้ทักษะความสามารถจากการเป็นไกด์ที่ภูเก็ตมา ๗-๘ ปี ทำหน้าที่ขับรถซาเล้งพ่วงข้างพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวตามจุดต่าง ๆ พร้อมรับหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเกาะลิบง
“พี่ว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดนอกกรอบ ไม่ว่าจะจบจากสาขาไหนก็เอามาพัฒนาได้หมด ไม่ใช่ว่าจบปริญญาตรีแล้วไปทำงานบริษัทอย่างเดียว แต่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองได้ด้วย และใช้ความสามารถที่ตัวเองมีให้เกิดความยั่งยืนในแบบที่ชุมชนเราเป็น”
ฉัตรเฝ้าติดตามพัฒนาการของเยาวชนในทีมอย่างใกล้ชิด เธอบอกอย่างภาคภูมิใจว่า การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาให้เกาะลิบงในทางที่ดี หลายคนต่างวิธีการ แต่เป้าหมายมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน คือต้องการเห็นชุมชนพัฒนาทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากร
สิ่งแวดล้อม
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะการพัฒนาเชิงโครงสร้าง ทำให้ผู้คนบนเกาะลิบงใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น หลายสิ่งเริ่มแปรเปลี่ยนตามกระแสสังคม ธุรกิจ
โฮมสเตย์ รีสอร์ต และการเข้ามาของนายทุน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังเด่นชัดเป็นเสน่ห์ของเกาะลิบงคือวิถีของคนมุสลิม ผู้คนยังพึ่งพาอาศัยกันอย่างแนบแน่น รักใคร่กันเสมือนเครือญาติทำให้เกาะลิบง ถิ่นดุหยงแห่งนี้ กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่สนใจด้านการอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวที่มองหาความสงบพร้อมกับเรียนรู้วิถีชีวิตของคนมุสลิม พร้อมเคารพกฎกติกาของชุมชนอย่างเคร่งครัดเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“ลิบงเปลี่ยนแปลงแน่นอน คนในชุมชนคือตัวขับเคลื่อนหลัก เป็นตัวสะท้อนว่าจะเปลี่ยนไปได้สักแค่ไหน เราคงต้องอยู่ให้ได้อย่างก้อนหินที่โดนคลื่นกระทบตลอดเวลา ก้อนหินมั่นคงและกร่อนได้ยาก เราต้องเข้มแข็งมั่นคงแบบนั้น
เพื่อให้ความยั่งยืนและเสน่ห์ของความเป็นลิบงยังคงอยู่”
ปัจจุบันและอนาคตของพะยูน
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจพบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรพะยูนประมาณ ๒๕๐ ตัว โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน พบมากที่สุดบริเวณเกาะลิบงและเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง ประมาณร้อยละ ๗๐ ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลแหล่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
มีการสำรวจและติดตามประชากรพะยูนบริเวณเกาะลิบงและเกาะมุกด์ทางอากาศครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๐ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินปีกขนาดเล็กไมโครไลต์และอัลตราไลต์ ที่เหมาะสมกับการสำรวจในระดับความสูงไม่เกิน ๓๐๐
เมตร และมีความคล่องตัวสูง บันทึกพิกัดด้วย GPS พร้อมกับบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิทัลเลนส์ซูม เพื่อป้องกันการนับจำนวนคลาดเคลื่อน
การสำรวจในปี ๒๕๔๔ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ พบพะยูนจำนวน ๑๒๓ ตัว และปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีประชากรพะยูนสูงถึง ๑๕๐ ตัว ต่อมาในปี ๒๕๕๒ พบว่าบริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ มีประชากรพะยูนจำนวนสูงสุด ๑๓๕-๑๕๐ ตัว มีการพยายามอนุรักษ์พะยูนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยหลักของพะยูน และพบว่ามีสถิติเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
กว่า ๒ ทศวรรษที่สถาบันฯ ได้ศึกษา สำรวจ และติดตามสถานการณ์ของพะยูนอย่างใกล้ชิด พบสถิติการตายและเกยตื้นของพะยูนในช่วงปี ๒๕๔๖-๒๕๖๒ มีพะยูนตายจากกิจกรรมของมนุษย์อย่าง “เครื่องมือประมง” เฉลี่ย ๑๒ ตัวต่อปี มีการคาดการณ์ว่าหากปริมาณการตายยังคงเป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือผลกระทบจากฝีมือมนุษย์ ไม่นานพะยูนจะหายไปจากท้องทะเลอย่างแน่นอน
อ้างอิง
หนังสือ
กาญจนา อดุลยานุโกศล. (๒๕๔๙). พะยูนและการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย. ภูเก็ต : เวิลด์ออฟเซ็ท.
วรนุช ล้อมสุนทร. (๒๕๖๓). ปูเลา...ลิบง งานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ การถ่ายภาพเพื่อการท่องเที่ยว ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. การวิจัยเฉพาะเรื่อง ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ๊งภากรณ์.
เว็บไซต์
กาญจนา อดุลยานุโกศล และ สุรศักดิ์ ทองสุกดี. (๒๕๔๙). การสำรวจพะยูนบริเวณเกาะมุกด์และเกาะตะลิบง จังหวัดตรัง (รายงานผลการวิจัย). สืบค้นจาก https://www.dmcr.go.th/detailLib/352
รู้จักการสำรวจพะยูน เพื่อเข้าใจการเกยตื้น. (๒๕๖๒). สืบค้นจาก https://bottomlineis.co/Social_Environment_Marium_Yamin_and_Thai_Dugong
สถานภาพของพะยูนในประเทศไทย. สืบค้นจาก https://km.dmcr.go.th/c_10/d_935