Image
อาชีพกับความน่าเชื่อถือ
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ผมเชื่อว่าแต่ละคนต้องเคยตั้งคำถามว่า เราจะเชื่อคนตรงหน้าหรืออีกฟากหนึ่งของการติดต่อ (เช่น ผ่านออนไลน์) ได้มากน้อยแค่ไหน และอาจลามไปถึงการเกิดทัศนคติแบบ “เหมารวม” ว่า คนบางอาชีพ เช่น นักการเมือง ทนายความ ศาล ทหาร หรือนักวิทยาศาสตร์ เชื่อถือได้แค่ไหน

คนในประเทศต่าง ๆ มีรูปแบบการเชื่อถือคนตามอาชีพบ้างหรือไม่ ?

มีบริษัทวิจัยตลาดระดับโลกของฝรั่งเศสแห่งหนึ่งชื่ออิปซอส (IPSOS - Institut de Publique Sondage d’Opinion Secteur) ซึ่งมีสาขาอยู่ในประเทศไทยด้วย ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๓ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ ipsos.com) แต่เป็นงานวิจัยในอังกฤษซึ่งใช้การสัมภาษณ์ต่อหน้า ล่าสุดการสำรวจครั้งที่ ๒๓ ใน ค.ศ. ๒๐๒๐ ติดปัญหาจากโควิด-๑๙ จึงใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แทน คราวนี้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่รวม ๙๕๗ คน และวัยรุ่น (อายุราว ๑๘ ปี หรือเกินกว่านั้นไม่มาก) รวม ๙๑๖ คน โดยทั้งหมดนั้นเป็นคนอังกฤษ

ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจมากทีเดียว

อาชีพที่คนอังกฤษให้ความเชื่อถือสูงที่สุดคือพยาบาลและแพทย์ (คิดเป็น ๙๓ เปอร์เซ็นต์ และ ๙๑ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ) ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับที่สำรวจใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ที่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าหากพยาบาลและแพทย์ให้ข้อมูลแล้ว คนส่วนมากเชื่อว่าเป็นความจริง

น่าสังเกตว่าการสำรวจเกิดขึ้นช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชราได้รับการระบุถึงความน่าเชื่อถือโดยได้รับคะแนนสูงทีเดียวคือ ๗๖ เปอร์เซ็นต์ “สูงกว่า” ตำรวจและบาทหลวงเสียอีก !

อีกกลุ่มที่โดดเด่นขึ้นมาที่ระดับแทบเท่ากันคือ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ พวกส่งของตามสั่งไปตามบ้านหรือ “ดิลิเวอรี” นั่นเอง

กลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับคะแนนความน่าเชื่อถือรองลงมาจากพยาบาลและแพทย์ ก็มีทั้งบุคลากรสาธารณสุข วิศวกร ครูอาจารย์ ศาสตราจารย์ ผู้พิพากษา ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ และนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มนี้ได้คะแนนความน่าเชื่อถืออยู่ในช่วง ๘๒-๘๙ เปอร์เซ็นต์

ถัดจากกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มของตำรวจ ทนายความ ข้าราชการพลเรือน บาทหลวง โดยได้คะแนนอยู่ที่ ๖๐-๗๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแทบไม่ดีกว่าคนทั่วไปที่ไม่รู้อาชีพ (๕๗ เปอร์เซ็นต์) สักเท่าไร

หลายคนเชื่อหลวงพ่อที่เจอทุกอาทิตย์มากกว่าคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักแค่นิดเดียว !

แต่ก็ยังดีกว่ากลุ่มที่มีภาพลักษณ์ “เป็นลบ” และได้รับการโหวตว่าเป็นอาชีพที่ “เชื่อไม่ค่อยได้” ไม่ว่าจะเป็นนายธนาคารเจ้าหน้าที่หน่วยงานบริหารท้องถิ่น ผู้นำธุรกิจ นักฟุตบอลอาชีพ นายหน้าอสังหา-ริมทรัพย์ และนักข่าว โดยกลุ่มนี้ได้คะแนนแค่ ๒๓-๔๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อาชีพสามอันดับแรกของคนที่เชื่อถือไม่ได้ในมุมของคนอังกฤษคือ ผู้บริหารในบริษัทโฆษณา (๑๓ เปอร์เซ็นต์) นักการเมืองทั่วไป (๑๕ เปอร์เซ็นต์) และรัฐมนตรี (๑๖ เปอร์เซ็นต์)

เมื่อเทียบกับผลสำรวจก่อนหน้า ตัวเลขก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก โดยมีอาชีพที่ได้คะแนนมากขึ้นนิดหน่อยก็คือ หัวหน้าองค์กรการกุศล ทนายความ นักฟุตบอล และนักเศรษฐศาสตร์ สวนทางกับที่ได้คะแนนลดลงคือผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และบาทหลวง
ทั้งนี้เมื่อเจาะลึกรายละเอียดลงไปอีกก็พบว่า ช่วงอายุก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคนกลุ่มอายุแตกต่างกันก็ให้คะแนนหลายอาชีพแตกต่างกันมากทีเดียว

ความเห็นของกลุ่มอายุ ๑๘-๓๔ ปี จะแตกต่างจากกลุ่มอายุ ๖๕ ปีหรือมากกว่าค่อนข้างมาก เช่น คนกลุ่มอายุน้อยเชื่อถือเจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่สหภาพการค้ามากเป็นพิเศษขณะที่กลุ่มสูงอายุมีแนวโน้มเชื่อผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์บาทหลวง และตำรวจมากกว่าค่อนข้างชัดเจน

ในสามอาชีพหลังสุดที่เพิ่งกล่าวถึงไป เมื่อเทียบความเห็นคนอายุน้อยกับอายุมาก ผลที่ได้ก็คือ ๓๙ เปอร์เซ็นต์ต่อ ๕๖ เปอร์เซ็นต์ กับ ๕๑ เปอร์เซ็นต์ต่อ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ต่อ ๗๖ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ไม่แน่ใจว่ามีการสำรวจทำนองนี้ในหมู่คนไทยบ้างหรือไม่ อันที่จริงก็น่าทำอยู่มาก คงได้ข้อมูลน่าสนใจมาดูกัน

มีการสำรวจจากอีกสำนักหนึ่งใน ค.ศ. ๒๐๒๐ คือพิวรีเสิร์ช (Pew Research) โดยสำรวจใน ๒๐ ประเทศ ครอบคลุมภูมิภาคยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย น่าเสียดายว่าไม่มีการสำรวจในประเทศไทย แต่มีประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงด้วยคือมาเลเซียและสิงคโปร์

ใครสนใจรายละเอียด ใช้คำว่า “pew research science 2020” ค้นดูได้

ข้อสรุปโดยรวมกว้าง ๆ ก็คือ สาธารณชนใน ๒๐ ประเทศนี้ให้ความเชื่อถือ “นักวิทยาศาสตร์และทหาร” ค่อนข้างสูงว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อสาธารณชน แต่มีแนวโน้มว่าจะไม่ค่อยเชื่อถือหรือเชื่อถือน้อยกว่าในกรณีของรัฐบาลสื่อมวลชนหรือนักข่าว รวมไปถึงผู้นำธุรกิจด้วย

อย่างไรก็ตามน่าสนใจว่าคนใน ๑๘ จาก ๒๐ ประเทศให้คะแนนสำนักข่าวค่อนข้างบวกสำหรับการพาดหัวข่าวด้านวิทยาศาสตร์ และเห็นพ้องกันว่าปัญหาใหญ่สุดในประเทศของตนคือยังมีระดับความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์น้อย จึงมักไม่เข้าใจสิ่งที่พาดหัวสักเท่าไร

คนส่วนใหญ่ในทั้ง ๒๐ ประเทศเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับสาธารณชน โดยมีจำนวนน้อยมากที่ไม่เชื่อเลยหรือเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์น้อย

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ส่วนใหญ่แล้วคนก็เชื่อถือทหารคล้ายคลึงกันด้วยในแทบทุกประเทศ โดยมีคน ๓๖ เปอร์เซ็นต์เท่ากันที่ “เชื่อถือเป็นอย่างมาก” ทั้งนักวิทยาศาสตร์และทหาร

อันนี้เป็นค่าเฉลี่ย

อย่างไรก็ตามความเชื่อถือโดยเปรียบเทียบของสองวิชาชีพนี้แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ โดยมีแปดประเทศที่เชื่อทหารมากกว่านักวิทยาศาสตร์ เช่น อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่แข่งขันกันสะสมอาวุธและพยายามทำตัวเป็น “มหาอำนาจทางทหาร”

ตรงกันข้าม มีหกประเทศซึ่งทั้งหมดอยู่ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เยอรมนี ที่ประชาชนเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์มากกว่าทหาร ขณะที่มีห้าประเทศที่เชื่อถือสองอาชีพนี้เท่า ๆ กัน ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้คือออสเตรเลีย
Image
มีอยู่ประเทศหนึ่งที่โดดเด่นเรื่องความเชื่อในรัฐบาลแห่งชาติ นั่นก็คือสิงคโปร์ โดยมีมากกว่าครึ่งหนึ่ง (๕๔ เปอร์เซ็นต์) ที่เชื่อถือในรัฐบาล และเชื่อถือทหารมากเช่นกัน แต่มีเพียงหนึ่งในสามของคนสิงคโปร์เท่านั้นที่เชื่อถือนักวิทยาศาสตร์

ระดับการศึกษาก็มีผลต่อความเชื่อถือเช่นกัน ใน ๑๔ ประเทศมีรูปแบบคล้ายคลึงกันว่า คนที่ได้รับการศึกษาระดับสูงกว่าแสดงความเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง คนแคนาดาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์ราว ๕๔ เปอร์เซ็นต์ (มากกว่าครึ่ง) ขณะที่คนที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าเชื่อถือเพียง ๓๓ เปอร์เซ็นต์ (หนึ่งในสาม) เท่านั้น  ในสหราชอาณาจักร บราซิล เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และสวีเดน ก็เห็นรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน

อายุก็ส่งผลต่อระดับความเชื่อถือเช่นกัน โดยวัยรุ่นจะเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์มากกว่า (เป็นเช่นนี้ในแปดประเทศ) เช่น วัยรุ่นอังกฤษเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์ ๔๗ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พวกอายุเกินค่าเฉลี่ยเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์แค่ ๓๗ เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ “ความคิดเห็นทางการเมือง”

ผลสำรวจพบว่าคนที่ประเมินว่าตัวเองเป็น “ฝ่ายซ้าย” หรือ “เสรีนิยม” มักเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์มากกว่าพวก “ฝ่ายขวา” หรือ “อนุรักษนิยม” ควบคู่ไปกับการที่ฝ่ายซ้ายเหล่านี้ก็เชื่อถือทหารน้อยกว่าด้วย ความแตกต่างเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ในสี่ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ-อเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยในสหรัฐฯ พวกเสรีนิยม ฝั่งเดโมแครตเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์จะทำเพื่อสังคมมากถึงสองในสาม ตรงกันข้ามกับที่พวกรีพับลิกันซึ่งเชื่อแบบนี้แค่ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ พวกอนุรักษนิยมในกลุ่มรีพับลิกันนี่เชื่อในทหารว่าจะทำเพื่อประชาชนมากถึง ๘๓ เปอร์เซ็นต์

พวกซ้ายในยุโรปก็เชื่อนักวิทยาศาสตร์มากกว่าเช่นกัน ดังเห็นได้จากผลการสำรวจในเยอรมนี อิตาลี สวีเดน สเปน และเนเธอร์แลนด์

ประเด็นสุดท้ายที่น่าจะสำคัญกับคนในแวดวงสื่อและวิทยาศาสตร์คือ เรื่องที่ประชาชนทั้ง ๒๐ ประเทศมีร่วมกันคือไม่ค่อยเชื่อถือพวกสื่อต่าง ๆ หรือสำนักข่าวมากนัก โดยมีประเทศที่นำโด่งคือฝรั่งเศส (๗๕ เปอร์เซ็นต์) และเกาหลีใต้ (๖๙ เปอร์เซ็นต์)

ปัญหาใหญ่ของสื่อกับเรื่องทางวิทยาศาสตร์มีอยู่สามเรื่อง ได้แก่ เรื่องแรกสำคัญสุดคือสาธารณชนไม่ค่อยเข้าใจถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ที่สื่อพาดหัว (ค่าเฉลี่ย ๕๒ เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือสื่อมักจะแปลงสารให้ง่ายลงมากเกินไปจนขาดความถูกต้อง (oversimplify) (๑๖ เปอร์เซ็นต์) และสุดท้ายคือตัวนักวิจัยเองกล่าวอ้างการประยุกต์ความรู้ที่ตัวเองศึกษามาได้มากหรือไกลเกินกว่าความเป็นจริง (๑๓ เปอร์เซ็นต์) 

หากจะแก้ปัญหาทั้งสามเรื่องที่ว่ามา คงต้องหาทางสื่อสารและให้ความรู้แก่สาธารณชนมากขึ้น (แก้ปัญหาข้อแรก) ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อ “ถ่วงดุล” กับเนื้อหาที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน ซึ่งต้องทำโดยคนในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่ต้องเผยแพร่อย่างกว้างขวางให้ถึงสาธารณชน (แก้ปัญหาข้อ ๒ และ ๓)
สรุปว่าประชาชนมี “ภาพจำ” ความน่าเชื่อถือของอาชีพต่าง ๆ อยู่จริง และน่าตกใจที่อาชีพที่ควรมีความน่าเชื่อถือสูง เช่น นักการเมือง ทนายความ ฯลฯ กลับมีภาพลักษณ์ย่ำแย่ และสุดท้ายคือประชาชน ยังเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์อยู่มาก แม้ว่าจะเชื่อถือในความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์มากพอควรก็ตาม