Concur Patchwork กางเกงผ้าปะหลากสีสัน สวยงามที่ปะติดปะต่อคนในชุมชนเข้าด้วยกัน
Concur Patchwork
รอยเย็บ ตะเข็บผ้ามือสอง
ที่ชายแดนใต้
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด
เรื่อง : นทธร เกตุชู
ภาพ : อภิชญา ผ่องพุฒิ
ปัจจุบันคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เป็นความหวังที่จะเปลี่ยนยุคสมัยใหม่ให้พื้นที่เริ่มตั้งคำถามกับการต้องโยกย้ายจากบ้านเกิดเพื่อหาความปลอดภัยและความมั่นคง ว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือที่พวกเขาต้องจากบ้านเกิด และทำไมจึงไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่ของตนเองได้
“ลงไปที่นั่นไม่กลัวตายหรือน้อง”
คำพูดของวินมอเตอร์ไซค์หลังจากเขารู้ว่าปลายทางจากสนามบินดอนเมืองของเราครั้งนี้คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คำถามสั้น ๆ แต่ดังก้องในหัว นานพอกับฝนที่ยังคงปรอยลงมาในบ่ายวันพุธนั้น
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต พื้นที่ที่คนนอกหวาดกลัวและคนในโยกย้าย
แต่การเปลี่ยนผ่านของวันเวลาทำให้วันนี้ “คนหนุ่มสาว” ชายแดนใต้เลือกที่จะพัฒนาบ้านเกิด มากกว่าเข้าเมืองหลวงเพื่อไขว่คว้าคุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ไม่มีจริง
เช่นเดียวกับแบรนด์เสื้อผ้า Concur Patchwork วัฒนธรรมและแฟชั่นจากผ้ามือสองของคนรุ่นใหม่ ที่อยากนำด้ายผ้าเหล่านี้มาร้อยเรียงอัตลักษณ์ชายแดนใต้ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนรอบตัว
Concur
แปลว่ารวมกัน
คงไม่ใช่ฝนแปดแดดสี่ แต่เป็นฝนแปด แดดเหลือแค่หนึ่ง
พายุฝนทำให้การเดินทางเลื่อนออกไปช้ากว่ากำหนด โชคยังดีที่เรามาถึงสนามบินหาดใหญ่ไม่เย็นมาก รวมถึงฟ้าฝนที่ภาคใต้ปลอดโปร่งกว่าที่กรุงเทพฯ เป็นไหน ๆ
หลังจากนั่งรถมา ๑ ชั่วโมงเศษ ผ่านป่ายาง ทะเล และตัวเมืองสักระยะ หนุ่มผิวเข้ม สวมหมวกมิกิ (miki hat) และกางเกงต่อปะ (patchwork) กำลังยืนรออยู่หน้าโรงเรียนเทศบาล ๕ ในตัวเมืองปัตตานี นั่นคือคนที่เราเดินทาง ๗๘๓ กิโลเมตรเพื่อมาหา
“สวัสดีครับผม เดินทางเหนื่อยมั้ย เดี๋ยวนั่งรถตามผมมาเลย” เสียงต้อนรับจากจู หรือ ฮุสนีย์ สาแม เจ้าของแบรนด์ Concur Patchwork
เดินทางผ่านหอนาฬิกากลางเมือง บรรยากาศในปัตตานีครึกครื้นกว่าที่เราคิด ร้านอาหารริมทาง ชายวัยกลางคนใส่ชุดโต๊ปในวงสภาน้ำชา และผู้คนที่เดินตลาดนัดยามเย็น ฮุสนีย์เล่าว่า ในบรรดาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีคือจังหวัดครึกครื้นที่สุด
ฮุสนีย์เป็นเด็กจบใหม่จากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ม.อ. ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) หนุ่มผิวเข้มไว้เคราแพะประปราย ถึงเขาจะเกิดและเติบโตที่จังหวัดยะลา แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นต้องศึกษาเล่าเรียน เขาจึงโยกย้ายไปมาทั้งในปัตตานีและนราธิวาส
ฮุสนีย์เสริมว่า พอพูดถึงความเป็นคนสามจังหวัดฯ เลยไม่ได้เฉพาะที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เพราะคนที่นี่ก็ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับเขตชายแดนคือตลาดผ้ากระสอบซึ่งส่งมาจากหลากหลายที่ ทั้งโคลัมเบีย มาเลเซีย ฯลฯ จากภาพที่เห็นจนชินตาได้กลายมาเป็นความชอบ ฮุสนีย์จึงเริ่มสนใจอาชีพนี้จนเกิดเป็นพ่อค้าเสื้อผ้ามือสอง
งานอดิเรกของเขาในช่วงมหาวิทยาลัยคือการขาย-ประมูลเสื้อผ้ามือสอง จากความชอบและต้องการทดลองกลุ่มตลาดเล็ก ๆ อย่างเสื้อผ้าทหาร ทั้งสิ่งของจากยุคสงครามและผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแบรนด์ต่าง ๆ ความชอบเสื้อผ้าทหารของฮุสนีย์นั้นมาจากประสบการณ์ที่เคยดูสารคดีประวัติศาสตร์สงคราม เขาไม่ได้หลงใหลแค่ลวดลายพราง-คาโมฯ (คามูฟลาจ-camouflage) แต่รู้สึกว่าสิ่งที่หลงเหลือจากประวัติศาสตร์เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเด็กและได้นำมาต่อยอด
งานอดิเรกผกผันมาเป็นการหาเงินค่าขนมในช่วงมหาวิทยาลัย จากเสื้อผ้าทหารเปลี่ยนเป็นกางเกงยีน เริ่มจากการขายให้เพื่อนและขยับมาเป็นช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าคนอื่นมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกกางเกงยีนเพื่อนำมาตัด และนำเศษผ้ามาปะติดเป็นกางเกงที่มีลวดลายหลากหลายและสีสันที่สวยงาม
วันหนึ่งฮุสนีย์บังเอิญเห็นเพื่อนขายผ้า patchwork เป็นชุดที่นำเอาผ้าต่าง ๆ มาปักเย็บใหม่ เขาจึงสนใจและค้นคว้าการปักเย็บผ้าประเภทนี้มากขึ้น จนเจอเทคนิคการเย็บผ้าของญี่ปุ่นอย่างโบโระและซาชิโกะ ซึ่งนำเศษผ้าเก่ามาเย็บ-ปะ-ต่อ-ปัก และทำให้มีลวดลายใหม่ไม่ซ้ำใคร เกิดเป็นความคิดที่จะนำมาผนวกกับอัตลักษณ์ของชายแดนใต้ เพื่อให้ได้ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ยิ่งขึ้น
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Concur Patchwork
ปัจจุบัน Concur Patchwork มีสินค้าหลักเป็นกางเกงยีนและหมวกมิกิ การออกแบบทั้งหมดจะมาจากฮุสนีย์ และร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ ถึงวันนี้จะยังเป็นช่วงลองผิดลองถูก แต่เขามีแผนการจะขยับขยายในอนาคต ทั้งในแง่ของสินค้าและช่องทางการจำหน่าย
แม้จะร่ำเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เล็ก แต่คำว่า concur เห็นจะเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตานัก เราเลยถามฮุสนีย์ว่าทำไมถึงเลือกชื่อนี้
“มาจากงานผ้า patchwork มันคือการเอาเศษผ้ามาเย็บรวมกัน อีกนัยหนึ่งที่เราตั้งใจเลือกชื่อนี้ เพราะเราอยากให้แบรนด์พาผู้คนและอัตลักษณ์ที่นี่กลับมารวมกันอีกครั้ง”
เมื่อปะติด จึงปะต่อ
แปดโมงเช้าที่ยะลา วันแรกของเดือนกันยายน ฮุสนีย์นัดเราเพื่อพาไปกินข้าวเช้าที่ร้านอาหารใกล้บ้าน
ด้วยประชากรในพื้นที่ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม อาหารเช้ามักจะเป็นแป้งจำพวกนานและจาปาตี กินคู่กับแกงต่าง ๆ รวมถึงข้าวหมกหลากหลายหน้า ทั้งเนื้อ ไก่ แพะ เป็นต้น ถึงหน้าตาจะใกล้เคียงกับอาหารอินเดีย แต่รสชาติจะเลี่ยนน้อยกว่า กลิ่นเครื่องเทศที่มีพริกไทยเด่นชัดทำให้อาหารประเภทแกงกินง่ายและกินได้เรื่อย ๆ
หลังจากจัดการอาหารเช้าพร้อมตบท้ายด้วยชาปากีที่อยู่ตรงหน้าอย่างหมดจด ได้เวลาที่เราจะไปดูต้นทางสินค้าของ Concur Patchwork กางเกงและหมวกจากชายแดนใต้ที่มีออร์เดอร์จากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสาย
ฮุสนีย์พาเรามาถึงเขตชานเมืองหรือพื้นที่ชนบทของจังหวัดยะลา จากข้างทางที่เป็นถนนและเสาไฟ เริ่มเป็นป่าสวนยางและไร่ข้าวโพด
ระหว่างทางเกือบชั่วโมง เราจึงชวนฮุสนีย์คุยถึงคำว่า “concur-รวมกัน” ที่เขามองเห็น
“ตอนที่คิดว่าจะทำ เรามีแค่ไอเดีย เราปักเย็บไม่เป็น คิดอยู่นานว่าทำยังไงดี เลยเดินไปหาคนแถวบ้าน บอกเขาตรง ๆ แบบงง ๆ เลยว่าช่วยเย็บให้หน่อย เราเป็นคนคิดลาย คิดอะไรให้ เดี๋ยวจะจ่ายเป็นส่วนแบ่ง ๑๕๐ บาทต่อตัว เขาก็ทำให้” ฮุสนีย์ขำทิ้งท้ายให้กับความฝันที่เต็มกระเป๋าในช่วงแรกเริ่ม
ผ้ามือสองเหล่านี้ฮุสนีย์ไปเลือกซื้อที่ตลาดมะพร้าว ซึ่งเป็นแหล่งผ้ามือสองขึ้นชื่อของจังหวัด มีทั้งขายแยกเป็นตัวและกระสอบ บางครั้งก็สั่งเป็นกระสอบจากมาเลเซีย ยี่ห้อกางเกงที่เขาเลือกใช้จะเป็นของ Levi’s ด้วยเหตุผลว่า เพราะทนและเป็นแบรนด์ที่คนทั่วไปรู้จัก
จากตัวแรกที่ขาย ๔๘๐ บาท มาจนถึงวันนี้ Concur Patchwork มีลูกค้าไม่น้อยที่ยอมควักแบงก์เทาสองถึงสามใบ เพื่อจ่ายกางเกงหนึ่งตัว
กะนุรมา หนึ่งในพาร์ตเนอร์ของแบรนด์ Concur Patchwork ผู้หลงรักในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นคนวางแบบลายผ้าต่างๆ ให้กับทางแบรนด์
แต่สิ่งสำคัญที่ฮุสนีย์เล่าถึงการรวมกัน คือการทำงานระหว่างแบรนด์และชุมชน
การร่วมมือนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะฮุสนีย์ไม่ได้มีทักษะปักเย็บ แต่เขามองเห็นปัญหาของพื้นที่ ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจพังจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สินค้าที่อาจเป็นเศษผ้าในสายตาคนอื่น แต่สำหรับชุมชนพาร์ตเนอร์ นี่เป็นอีกทางรอดหนึ่งภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้
การที่ฮุสนีย์เลือกใช้เทคนิคการปักเย็บแบบโบโระและซาชิโกะ ไม่ใช่เพราะลวดลายที่สวยเพียงอย่างเดียว เทคนิคเหล่านี้มีหัวใจสำคัญ คือการใช้คนในชุมชนเป็นคนทำงาน เขารู้ดีว่าคนแถวบ้านมีหลายครัวเรือนที่ยากจนและพยายามเอาตัวรอดจากพิษเศรษฐกิจ เขาอยากสร้างงาน สร้างรายได้ และพยายามสร้างทางออกให้ชุมชน
“พอมีรายได้มากขึ้น พวกเขาจะมีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น ทั้งไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ สามารถพาครอบครัวไปเที่ยวได้ เขามีกำลังที่จะส่งเด็ก ๆ ไปเรียน เด็กไม่ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ขายของ เราอยากทำตรงนี้ สร้างการพัฒนาให้พื้นที่ที่เราอยู่” แววตาของฮุสนีย์บอกเราว่า เขาคิดกับมันอย่างจริงจัง
ฮุสนีย์ไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำเป็นการกลับบ้านเกิดเพื่อมาพัฒนาแต่อย่างใด เพราะเขาไม่ได้จากบ้านเกิดไปไหน ถ้าให้นิยามสิ่งที่เขากำลังทำ เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ภูมิภาคนิยมที่คนรุ่นใหม่ออกจากเมืองกลับสู่ท้องถิ่น เขาคงจะเป็น “คนรุ่นใหม่อยู่บ้านเกิด” มากกว่า
สักพักเราก็มาจนถึงชุมชนบันนังสาเรง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ชุมชนที่เป็นพาร์ตเนอร์ของ Concur Patchwork ถึงแม้ว่าจะเป็นเขตชนบท แต่ก็มีคนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๗๐ หลังคาเรือน
ด้านหน้าของชุมชนเป็นมัสยิดและโรงเรียนบ้านกะตูปะ สถานศึกษาประจำชุมชน ส่วนด้านหลังติดกับแม่น้ำปัตตานี ฮุสนีย์พาเราเดินไปที่บ้านปูนเปลือยกลางชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหล่ากะ (พี่สาว) จะมาเย็บ ปัก สอยกางเกงและหมวกเกือบทุกวัน
พนักงานของ Concur Patchwork มีทั้งหมดห้าคน เป็นฝ่ายปักเย็บสี่คนและมีคนวางแบบหนึ่งคน ทุกคนมีจุดร่วมคล้ายกัน คือเป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถหางานได้ด้วยพิษเศรษฐกิจโควิด-๑๙ และต้องเลี้ยงลูกที่บ้าน
กระบวนการผลิตของ Concur Patchwork เริ่มที่ฮุสนีย์จะเป็นคนไปหาผ้ามา ส่งให้กะนุรมาเป็นคนวางแบบ ซึ่งกะนุรมาคือคนแรกที่ฮุสนีย์ทาบทามให้มาช่วย จากนั้นจึงส่งให้กะแย กะยัง กะด๊ะ และกะบ๊ะ เก็บงานในส่วนสุดท้าย การวางระบบนี้ฮุสนีย์มองว่าจะทำให้การผลิตเป็นไปแบบไม่ลำบากจนเกินไป ท่ามกลางบุคลากรที่น้อย
เราทักทายพี่สาวทั้งสี่คนจากฝ่ายปักเย็บ ที่กำลังบรรจงสอยด้ายกางเกงลอตต่อไป ก่อนที่จะถูกส่งไปเกือบทุกภูมิภาคในประเทศไทย
“ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปทำงาน รายได้จริง ๆ มาจากฝั่งผู้ชายที่ทำงานรับจ้างทั่วไป ก่อสร้างบ้าง ทำสวนบ้าง ที่นี่
ถ้าปรกติก็จะกรีดยาง เก็บข้าวโพด คือเราเป็นลูกจ้างนะ ไปเก็บผลผลิตในที่ของเจ้าของ แล้วเขาก็จะแบ่งเงินให้เราคนละครึ่ง” กะแยเล่าถึงที่มารายได้ของคนในชุมชนบันนังสาเรง
สาเหตุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องอยู่ที่บ้านก็เพราะว่าลูกหลานยังเล็ก การฝากใครให้ดูแลก็จะพลอยพะวงหน้าพะวงหลัง ซึ่งทางออกคือการรับจ้างแถวบ้าน แต่พอโควิด-๑๙ ระบาด ก็
ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจพังไปหมด ผู้คนจำนวนมากตกงาน และเกิดภาวะ “งานหดเงินหาย”
“แต่ก่อนผู้หญิงจะถักกะปิเยาะห์ (หมวกของชาวมุสลิม) แล้วขายส่ง หมวกใบหนึ่งเราได้เงินแค่ ๑๒ บาทเอง ถักเป็น
๑๐ ใบก็ได้ ๑๐๐ กว่าบาท มันไม่พอเลี้ยงคนทั้งครอบครัว”
กะยังพูดถึงความไม่ปรกติด้วยสีหน้าเรียบเฉย ขณะเย็บกางเกงไปด้วย
ระหว่างที่พูดคุยถึงความเป็นไปในชีวิต ที่มุมซ้ายของห้อง แดดช่วงเที่ยงวันกระทบลงกางเกงที่กะด๊ะกำลังเย็บอยู่ ความประณีตที่ใส่ลงไปในกางเกงยีนเก่า ๆ เศษผ้าสีฟ้า สีแดง สีขาวจากกางเกงที่ใช้การไม่ได้แล้ว ค่อย ๆ ถูกจับให้มาอยู่บนเนื้อผ้าเดียวกัน
ในช่วงแรกที่ฮุสนีย์เริ่มทำแบรนด์นี้ เขาใช้ตัวเองเป็น
ตัวต้นแบบ ทดลองใส่ หาความพอดีให้กับสินค้า แต่ด้วยงาน patchwork มีการปักเย็บแปลกตา บางคนอาจมองเป็นงานศิลปะ แต่บางคนก็ว่าเป็นเศษผ้าที่ไม่น่ามอง เคยมีคนแถวบ้านหาว่าเขาแต่งตัวเหมือนคนบ้า ใส่กางเกงไร้รสนิยม ซึ่งทำให้เขาเจ็บใจไม่น้อย
แต่ความสะเปะสะปะของงาน patchwork คือจุดเด่น
ของศิลปะประเภทนี้ บางครั้งความสวยงามอาจไม่จำเป็นต้องร้อยเรียงกันอย่างเป็นระบบ การอยู่อย่างอิสระ ไร้แบบแผนการยอมรับแผลเป็นบนตัวเรา สิ่งเหล่านี้ก็สวยงามไม่แพ้กัน เหมือนความหลากหลายบนเนื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของ Concur Patchwork
“อย่างกางเกง คือมีคนวางแบบมาให้แล้ว จะทำเสร็จอยู่ที่หนึ่งถึงสองตัวต่อวัน แต่ถ้าเป็นหมวกจะตกอยู่ที่สามถึงสี่ใบ
ต่อวัน” กะยังเล่าถึงกำลังผลิต
ถ้าจะเอาจำนวน เอายอด ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นใช้เครื่องจักรหรือผลิตที่โรงงานแทนฝีมือชาวบ้าน แต่ฮุสนีย์ยังคงยึดมั่นว่า อยากให้แบรนด์เติบโตอย่างมั่นคงและชาวบ้านยังมีรายได้ด้วยนอกจากนี้ในแง่ของการตลาด เขามองว่างานแฮนด์คราฟต์มีคุณค่ามากกว่าที่เครื่องจักรมอบให้
รายได้ที่ฮุสนีย์มอบให้กับเหล่ากะเริ่มต้นที่ ๑๐๐ บาทต่อกางเกงหนึ่งตัวหรือหมวกหนึ่งใบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแบบที่ให้ทำว่ามากหรือน้อย บางครั้งหากมีออร์เดอร์เยอะก็จะมีโบนัสเป็นข้าวสารหรืออาหารต่าง ๆ การให้โบนัสรูปแบบนี้เป็นการตกลงระหว่างสองฝ่าย หากพวกเขาได้ข้าวสารไป เท่ากับว่าทั้งเดือนนั้นเหล่ากะจะลดรายจ่ายลงไปได้มาก
“ก็ยังดีที่เดะ (น้องชาย) มาชวนทำ เงื่อนไขต่าง ๆ มันทำให้เราออกไปทำงานนอกบ้านไม่สะดวก การทำงานที่บ้านและมีรายได้เพียงพอเป็นทางออกที่ช่วยเหลือผู้หญิงที่นี่ได้เยอะ”
แดดช่วงบ่ายฉายความร้อนแข่งกับเสียงหัวเราะของพวกเรา บทสนทนาในวันนั้นไม่ได้แลกเปลี่ยนแค่วัฒนธรรม แต่เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวและสลักมันลงบนความทรงจำของกันและกัน
เราร่ำลาเหล่ากะพร้อมรอยยิ้ม ก่อนที่จะออกจากหมู่บ้านเพื่อเดินทางต่อ
หมวกทรงกลมไม่มีปีกกับสีสันแปลกตา กางเกงยีนเก่า ๆ ที่เอาเศษผ้ามาปะติดปะต่อแบบไม่ซ้ำใคร ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ฮุสนีย์อยากทำอาจไม่ใช่แค่การเอาผ้าเก่า ๆ มาอยู่รวมกัน แต่เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่หายไปได้กลับมาอยู่บนจังหวัดยะลา ทั้งชุมชนอิ่มท้อง ไม่มีเด็กคนไหนต้องหลุดจากระบบการศึกษาและผู้คนมีสิทธิ์ที่จะฝันมากขึ้น
สำหรับคนที่เกิดและเติบโตในยะลาอย่างฮุสนีย์ เรื่องเหล่านี้คงเป็นการเย็บ-ปะ-ต่อ ที่อยากให้มันปะ “ติด” และได้ปะ “ต่อ” มากที่สุด
โบโระ (ぼろ)
คือศิลปะงานผ้าต่อของชาวชนบทในประเทศญี่ปุ่น เป็นกระบวนการเย็บ ปะ ต่อ เดิมจะใช้ผ้าคอตตอนหรือผ้าเดนิมที่เหลือใช้ นำมาปะบนเสื้อผ้าที่มีรอยขาดซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เพราะคนสมัยก่อนเสียดายผ้าและอยากใช้ผ้าทั้งหมดให้มีประโยชน์มากที่สุด ถือได้ว่าโบโระเป็นเทคนิคการ up cycling ที่มีมานานมาก
โบโระคือการนำของเก่ามาซ่อมแซม ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญในการออกแบบลวดลายผ้า การวางผ้า การเย็บผ้าเพื่อให้ชิ้นงานออกมาสวยงามน่าประทับใจ เกิดเป็นของที่มีคุณค่าน่าใช้งาน ไม่ใช่การนำขยะมาเพิ่มให้เป็นขยะมากขึ้นไปอีก
ซาชิโกะ (刺し子)
รูปแบบการเย็บด้วยมือแบบง่าย ๆ ของชาวญี่ปุ่นโบราณ ด้วยการด้นตะลุย (running stitch) เป็นลวดลายซ้ำ ๆ หรือสานเป็นลวดลายต่าง ๆ คล้ายงานปักด้นของชาวไทยภูเขา
สันนิษฐานกันว่ามีที่มาจากการเย็บผ้าหลาย ๆ ชั้นติดกัน เพื่อให้ใช้งานได้ทนทาน ป้องกันความหนาวเย็น ฯลฯ เนื่องจากเนื้อผ้าที่ทอใช้ในครัวเรือนแบบดั้งเดิมไม่แข็งแรงทนทานเช่นปัจจุบัน ต่อมาจึงพัฒนาลวดลายจนกลายเป็นงานเย็บปักที่แพร่หลายทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่สตรีที่อยู่ตามท้องไร่ท้องนาและผู้ใช้แรงงาน ได้นำงานปักซาชิโกะมาใช้ซ่อมแซมเสื้อผ้าและของใช้ เช่น ฟูก หมอน ผ้ากันเปื้อน เสื้อคลุม ฯลฯ
จุดนัดพบตรงกลาง
ระหว่างศาสนา
อัตลักษณ์ และแฟชั่น
“จริง ๆ เราไม่ใช่เด็กเรียนดีหรอก ไม่ถึงกับตั้งใจเรียน แต่ก็ไม่ได้สอบตกทุกเทอมแบบนั้น”
บทสนทนาของเด็กจบใหม่แบบเรากับฮุสนีย์คละคลุ้งพอ ๆกับกลิ่นกาแฟคั่วที่อบอวลอยู่ในร้าน Gratio คาเฟ่ชื่อดังในตัวเมืองยะลา ช่วงวัยที่พกความฝันมาเต็มกระเป๋า และยังไม่รู้ว่ามีกำแพงอะไรรออยู่ข้างหน้าอีกบ้าง ถึงอย่างนั้นความฝันที่มีในปัจจุบันก็เพียงพอจะจุดเชื้อไฟให้ชีวิตไปได้อีกสักระยะ
ฮุสนีย์มีพี่ชายห้าคน เขาเป็นคนที่ ๖ พี่ชายทั้งหมดเทไปที่ด้านการเรียน เขาเล่าเสริมว่าตอนเด็กทางบ้านไม่ได้มีเงินมากมาย พ่อแม่ก็คงอยากให้พี่ ๆ มีวิชาเลี้ยงตัวเอง แต่พอมาถึงเขา พ่อแม่ก็เลยให้อิสระมากกว่า
“ตั้งแต่เด็กแม่ก็ให้หาเงินเอง เอาขนม เอาอะไรไปขายที่โรงเรียนบ้าง น่าจะทำให้เราชอบทำธุรกิจนะ มันสนุกดี เราได้ออกแบบหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดคือมันเลี้ยงตัวเองได้นี่แหละ”
ถึงอย่างนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ ว่าทำไมทุกครั้งที่เราเจอกันฮุสนีย์ถึงต้องสวมหมวกและกางเกงของทางร้านอยู่ตลอด เป็นเพราะเขาแต่งแบบนี้อยู่แล้วหรือเพราะเรามาหา
“จริง ๆ อย่างหมวกมิกิเนี่ย มันคือกะปิเยาะห์ ทางอิสลามเขาจะส่งเสริมให้สวมใส่กะปิเยาะห์เวลาละหมาด ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิงใส่ฮิญาบอย่างที่เราเข้าใจกัน ผู้ชายก็มี”
กะปิเยาะห์เป็นทรงกลม เพราะทางศาสนาอิสลามจะไม่ใส่หมวกมีปีก
ฮุสนีย์กล่าวว่า ในช่วงแรกเขาไม่ได้นึกถึงแฟชั่นหรืออยากจะแหวกขนบ การออกแบบลายให้ทันสมัยและสวยกว่าเดิมนั้นแค่อยากทำเป็นทางเลือกหนึ่งให้คนใส่ สิ่งที่ฮุสนีย์มองเห็นไม่ใช่แค่ความมั่นใจที่จะใส่ชุดตามหลักศาสนา แต่ยังรักษาความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ด้วย
เช่นเดียวกันกับกางเกง patchwork ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วัยรุ่นมักจะนิยมใส่กางเกงยีนขาด ซึ่งใกล้เคียงจะผิดหลักศาสนาที่ห้ามเผยร่างกายเหนือหัวเข่า การที่ Concur Patchwork ใช้ยีนมือสองมาปะเย็บรอยแหว่งเหล่านั้น ก็เป็นความตั้งใจที่อยากให้วัยรุ่นยึดถืออัตลักษณ์ของพื้นที่เช่นกัน
“ด้วยความที่เราคบแต่เพื่อนที่โตกว่า อาจจะทำให้ดูหัวโบราณ แต่เรามองว่ามันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งอยากให้รักษาตรงนี้ไว้ เราว่ามันไม่ใช่เรื่องแย่อะไร พอมองเกาหลี ญี่ปุ่น ทั้งคนในหรือคนนอกเขายังใส่ชุดประจำชาติเลย เราว่ามันต้องเริ่มจากให้คนในพื้นที่ภูมิใจกับบ้านเกิดตัวเองก่อน เราเข้าใจว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีพลวัต แต่ถ้าไม่มีอะไรให้ยึดถือเลย อย่างนั้นเราคือใคร”
ด้ายผ้าของแบรนด์ Concur Patchwork อาจมีอยู่เพื่อที่จะนำศาสนา อัตลักษณ์ท้องถิ่น และแฟชั่นเย็บ ปะ ต่อเข้าด้วยกัน
การเย็บลักษณะนี้เป็นอีกหนึ่งแพตเทิร์นของแบรนด์ โดยแพตเทิร์นของการเย็บก็จะแตกต่างกันไปตามที่กะนุรมาวางแบบไว้
ส่งงานต่อถึงแผนกเย็บผ้า ซึ่งจะมีกะ (พี่สาว) ทั้งสี่คน ได้แก่ กะแย กะยัง กะด๊ะ และกะบ๊ะ เป็นผู้ปิดจบในกระบวนการส่วนสุดท้าย ก่อนที่จะส่งไปถึงมือลูกค้าที่ออร์เดอร์เข้ามา
วันใหม่
ที่อคติไม่เคยเก่า
“มายะลาเป็นครั้งแรกหรือครับ เป็นไงบ้าง สนุกไหม” อับดุลย์ มะสะอิ หรือบัง (พี่ชาย) อดัม เจ้าของร้านกาแฟ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ ม.อ. ปัตตานีของฮุสนีย์ เข้ามาทักทาย หลังจากที่คงเห็นว่าเราคุยกันอย่างออกรสมาชั่วโมงกว่าแล้ว
“ยะลาเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า” บังอดัมถาม
จู่ ๆ ความจำเมื่อ ๒ วันก่อนที่สนามบินดอนเมืองแล่นเข้ามาในหัว นั่นคือสายตาที่คนนอกมองเข้ามา แล้วคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองเขามองเรื่องนี้อย่างไร เมื่อพวกเขาคือผู้คนที่ถูกตีตราด้วยอคติมาโดยตลอด
“แค่เข้าหาดใหญ่ ถ้ามาจากที่อื่นเขาให้ผ่านไปเลยนะ แต่ถ้ามาจากสามจังหวัดฯ ต้องขอตรวจบัตร ขอถ่ายรูป ทั้ง ๆ ที่เราก็เข้ามาเที่ยว มาทำธุระเหมือนคนอื่นเขา” คำพูดของฮุสนีย์ทำให้เรานึกเปรียบเทียบบรรยากาศในสามจังหวัดฯ ว่าถ้าหากเกิดขึ้นในเมืองหลวง คงไม่มีใครยอมให้ทำกันแบบนั้น
“ตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อ ๑๘ ปีก่อน ภาพจำมันเปลี่ยนไปหมด ถามว่ามีกลุ่มคนในพื้นที่ที่ไม่ก่อความสงบแต่ก่อนไหม ก็มี แต่กี่ครั้งที่เขามาจับผิดคน เด็กวัยรุ่นที่ไปเรียนจังหวัดอื่น ถ้ากลับบ้านมาแล้วมีเหตุระเบิดนะ โดนเพ่งเล็งหมด ทั้งที่จริงฝ่ายไหนทำก็ไม่รู้ จับมือใครดมก็หาตัวไม่ได้”
เมื่อ ๑๘ ปีก่อนมีเหตุการณ์ปล้นปืนในปี ๒๕๔๗ ที่ค่ายปิเหล็ง กองพันพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับแต่นั้นชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยาวนานเพื่อคุมสถานการณ์ จนกลายเป็นภาพจำของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จนถึงปัจจุบัน
ปัญหาอย่างหนึ่งของชายแดนใต้คือการที่คนหนุ่มสาวโยกย้ายกันไปหมดตั้งแต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทำให้เป็นพื้นที่สีแดง เพราะหลายครั้งที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ถูกจับกุมอย่างไม่มีสาเหตุเมื่อพวกเขากลับมาบ้านพร้อมกับเกิดเหตุความไม่สงบขึ้น
หากคนหนุ่มสาวซึ่งจะเป็นกำลังในการพัฒนาย้ายออกไปแล้วใครกันที่จะสร้างสรรค์บ้านเกิดของพวกเขา
“หลายปีแล้วที่พวกผมนั่งอยู่ก็ได้ยินเสียงระเบิด จนหลัง ๆ ก็ ‘อ่อ เหรอ ระเบิดเหรอ โอเค’ แล้วก็นั่งกินข้าว กินน้ำชากันต่อ คือกลายเป็นว่าเราชินไปแล้ว”
การโยกย้ายของคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดฯ ไม่ได้มีเพียงปัจจัยจากความปลอดภัยในพื้นที่เพียงอย่างเดียว ผลจากความไม่มั่นคงที่รัฐมอบให้ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำลงไปด้วย มีคนจำนวนมากโดยเฉพาะสตรีต้องไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเพื่อนำเงินกลับบ้าน เพราะการหางานในบ้านเกิดไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ต้องกลับไปตั้งคำถามว่า สิ่งที่รัฐไทยกระทำในภาคใต้ก่อให้สูญเสียรายได้ในท้องถิ่นขนาดไหน
ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันคนหนุ่มสาวผู้เป็นความหวังที่จะเปลี่ยนยุคสมัยใหม่ให้พื้นที่ เริ่มตั้งคำถามกับการต้องโยกย้ายจากบ้านเกิดเพื่อหาความปลอดภัยและความมั่นคง ว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือที่พวกเขาต้องจากบ้านเกิด และทำไมพวกเขาจึงไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่ของตน
บังอดัมและฮุสนีย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในคนเหล่านั้น ที่พยายามตั้งคำถามต่อบ้านเกิดและพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
ตราบทะเลยังคงพาคลื่นลูกใหม่เข้าสู่ชายฝั่ง ไม่ใช่การกัดเซาะผิวทราย แต่คือการพัดพาแร่ธาตุมาสู่ผืนดิน คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ยังปรากฏตัวขึ้นเรื่อย ๆ และตั้งใจที่จะทำให้คนรุ่นต่อจากพวกเขาไม่จำเป็นต้องจากบ้านเกิดไป
ปาก-ท้อง-หัวใจ
ขั้นตอนสุดท้ายของ Concur Patchwork คือการกระจายรายได้และช่วยเหลือสังคม
ปลายเดือนสิงหาคมที่เราไปถึง ตรงกับช่วงที่ฮุสนีย์จะนำเงินหนึ่งในสามจากกำไรสุทธิของแต่ละเดือน ไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้ เขาจึงชักชวนเราไปด้วย เป้าหมายครั้งนี้คือผู้หญิงในชุมชนจือแรนิบงอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
อากาศยามเย็นของปัตตานีดีกว่าที่เราคิด รวมถึงสวนผักแบบไฮโดรโปนิกส์และสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยเด็กหนุ่มตรงทางเข้าชุมชน ทำให้เราเข้าใจว่าปัญหาของที่นี่คงเป็นความเจริญหรือการขยายตัวของเมืองที่ยังเข้าไม่ถึง เหมือนกับต่างจังหวัดอื่น ๆ
แต่นั่นก็เป็นแค่ภาพตรงทางเข้า
ฮุสนีย์เล่าว่า ถึงจะเป็นในตัวเมืองปัตตานี แต่ก็ยังเป็นตัวเมืองของต่างจังหวัด และเป็นชายแดนใต้
“จริง ๆ หลายหลังก็เช่าเขาอยู่นะ บ้านที่คนอยู่เป็นเจ้าของจริง ๆ ไม่เยอะหรอก มันแยกไม่ยาก บ้านหลังไหนดูดีหน่อยก็เจ้าของเป็นผู้อยู่อาศัย บ้านไหนที่ดูโทรม ๆ …เกือบทุกหลังนั่นแหละ เช่าเขาอยู่หมด”
ฮุสนีย์เล่าถึงประวัติชุมชนที่เรากำลังจะไปแจกของ บ้านหลังหนึ่งราคาเช่าต่อเดือนจะอยู่แค่ ๒,๐๐๐ กว่าบาท แต่เงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้หาง่ายนักสำหรับพวกเขา
ในแต่ละครั้งฮุสนีย์จะไปแจกของหรือช่วยเหลือชุมชนที่ลูกค้าอยู่หรือใกล้เคียง ทำให้เขาประสานงานง่ายและรู้ว่าบ้านหลังไหนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ
ลมสัมผัสหน้าอย่างเบา ๆ ระหว่างเรานั่งรถพ่วงข้างมอเตอร์ไซค์พร้อมข้าวสารเต็มคันรถ ในครั้งนี้มีหมุดหมายปลายทางคือบ้านแปดหลังเพื่อแจกของ เงิน ๓,๐๘๐ บาท
อาจเป็นค่าขนมทั้งเดือนของใครหลายคน หรืออาจเป็นเพียงค่าอาหารมื้อหนึ่งของบางคน แต่เงินจำนวนนี้สามารถประทังความหิวของหลายครอบครัวไปได้อีกเดือน
บ้านแต่ละหลังจะได้ข้าวสารสี่ถุง หรือประมาณ ๒๐ กิโลกรัม หลังจากถามไถ่ชาวบ้าน เราถามฮุสนีย์ตรง ๆ ว่าทำไมถึงเลือกกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้ คนกลุ่มนี้แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นอย่างไร
“คำว่าผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้ไม่ได้หมายความถึงความรุนแรงอะไร แต่สภาพเศรษฐกิจและการหางานที่นี่มันยากสำหรับผู้หญิง อย่างการต้องเลี้ยงดูลูก เรื่องศาสนา ที่หนัก ๆ เลยคือโควิด-๑๙ ผู้หญิงได้รับผลกระทบเยอะมาก เราเลยเลือกที่จะช่วยเหลือกลุ่มนี้เท่าที่ทำได้”
บ้านทุกหลังที่เราไปมีคนอยู่กันอย่างน้อยสี่คนขึ้นไป เมื่อรายจ่ายของครอบครัวมากกว่ารายรับ ซ้ำร้าย รายได้ในบางเดือนอาจไม่พอยาไส้ การได้รับความช่วยเหลือเป็นการประคับประคองให้พวกเขาดำเนินชีวิตผ่านไปได้
เรื่องราวของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ทั้งกะที่ไม่สามารถไปทำงานได้เพราะต้องเลี้ยงลูกหลานสองถึงสามคนพร้อม ๆ กัน แรงงานประมงข้ามชาติชาวกัมพูชาที่ย้ายมาอยู่ที่นี่จนมีครอบครัว หรือกระทั่งบ้านหลังหนึ่งสภาพผุพัง ไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้าใช้เสียด้วยซ้ำ
นั่นคือความหลากหลายของความเหลื่อมล้ำที่เราพบเจอ
Concur
Patchwork
ให้ชายแดนใต้ได้
Continue
เสียงละหมาดจากมัสยิดใกล้เคียงบอกให้เรารับรู้ได้โดยไม่ต้องมองท้องฟ้าว่าพระอาทิตย์กำลังตกดินแล้ว
ถึงฮุสนีย์จะนับว่าตัวเองเป็นคนยะลา แต่ความเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แยกกันไม่ขาด วันหนึ่งหากเขามีกำลังมากพอ ก็อยากจะขับเคลื่อนทั้งสามจังหวัดผ่านการประสานและร่วมงานกับชุมชนอื่น ๆ มากขึ้น หรือแจกของให้ครอบคลุมหลายพื้นที่กว่านี้
เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อในการกระจายอำนาจ เชื่อว่าวันหนึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปตามหาความฝันกลางแสงสีที่อื่น การกระจายรายได้ผ่านชุมชนจะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ระหว่างนั่งดูท้องฟ้าหลังฝนที่ระเรื่อด้วยสีชมพู ฮุสนีย์ยื่นขนมปังปิ้งหน้ามะพร้าวให้ เราถามฮุสนีย์ว่าปลายทางที่อยากเห็นในธุรกิจนี้คืออะไร
“เราไม่ได้แค่อยากรวย เราอยากสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนแถวบ้าน” ฮุสนีย์คุยไปพลางกัดขนมปังไป
ปลายทางที่ฮุสนีย์อยากเห็น เขาไม่ได้มองแค่เรื่อง GDP ของพื้นที่ต้องเติบโตมากขึ้น ไม่ได้มองแค่ว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่ดี แต่สิ่งที่เขามองเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่านั้น เขาเพียงแค่อยากให้คนในพื้นที่ “อิ่มท้อง”
แน่นอนว่าการแจกของที่เขาทำนี้ไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นสิ่งยั่งยืนหรือเปล่าและช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้จริงไหมแต่ฮุสนีย์กลับตั้งคำถามในใจว่า หากเขาไม่ทำ สิ่งที่ต้องทนเห็นคือคนจำนวนมากต้องอดตายอย่างนั้นหรือ
สิ่งที่เขาเชื่อไม่ใช่การแก้ปัญหาของระบบในคราเดียว แต่เขาปรารถนาที่จะเห็นการช่วยเหลือเหล่านี้ถูกส่งต่อ จนวันหนึ่งจะได้คุยกันว่า “จะพัฒนาพื้นที่ยังไง” มากกว่ามานั่งถามตัวเองว่า “วันนี้จะมีอะไรกิน”
คงจริงอย่างที่ฮุสนีย์ว่า หากท้องไม่อิ่มคงทำอะไรต่อไม่ไหวและการตัดสินใครว่าดี-เลว ก็คงทำได้ยาก
วันหนึ่งหากกลุ่มคนที่ได้รับการช่วยเหลือพอที่จะลืมตาอ้าปากได้ พวกเขาจะส่งต่อเรื่องดี ๆ เหล่านี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมให้คนที่ต้องการ ท้ายที่สุดนี่เป็นการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อม ๆ กันของคนชายแดนใต้
“นั่นเป็นปลายทางที่เราอยากเห็น อยากเห็นบ้านเกิดดีขึ้น” ฮุสนีย์กล่าว และเราก็หวังให้มันเกิดขึ้นจริง
กลับไปกรุงเทพฯ คราวนี้คงไม่พ้นต้องเจอกับคำถามที่ว่า “กล้าไปได้ยังไง” หรือ “เจอระเบิดหรือเปล่า”
แต่ที่เราจำได้เห็นจะมีแต่กลิ่นเครื่องเทศ แกงแพะ รสชาติข้าวหมก สีของชาปากี รอยเย็บ ปะ-ปัก-ต่อ กับสัญญาที่ว่าจะไปเที่ยวฆูนุงซีลีปัตในครั้งหน้า
เท่านั้นแหละ
จู - ฮุสนีย์ สาแม เจ้าของแบรนด์ Concur Patchwork อายุ 23 ปี คนรุ่นใหม่ผู้นำรายได้มาให้คนในชุมชนที่เป็นเสมือนครอบครัวและเป็นบ้านที่เขาได้เกิดและเติบโตมา
เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี ๒๕๔๗
๔ มกราคม - เกิดเหตุเผาโรงเรียน ๒๐ แห่งในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทหารเสียชีวิตสี่นาย ผู้ก่อเหตุได้อาวุธปืนไปกว่า ๔๑๓ กระบอก ทำให้รัฐบาลเสียหน้า พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไม่พอใจมาก ตำหนิทหารที่ไม่ระมัดระวังถึงกับพูดว่า “ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั่น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย”
๕ มกราคม - มีประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่องการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ (สามจังหวัด) ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอตากใบอำเภอสุไหงปาดี อำเภอยี่งอ และอำเภอสุไหงโก-ลก (อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน ประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ส่วนอำเภอเจาะไอร้องประกาศตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑) จังหวัดปัตตานี เฉพาะอำเภอกะพ้อและจังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอรามัน (อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง และอำเภอยะหา ประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ส่วนอำเภอกาบังประกาศตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑)
๒๖ มกราคม - มีประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่องการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ (๔ จังหวัด) ส่งผลให้ครอบคลุมจังหวัดนราธิวาสทั้งจังหวัด (๑๓ อำเภอ) จังหวัดปัตตานี ทั้งจังหวัด (๑๒ อำเภอ) จังหวัดยะลาทั้งจังหวัด (๘ อำเภอ) และจังหวัดสตูล (๔ จาก ๗ อำเภอ) เฉพาะอำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอละงู และอำเภอท่าแพ (เลิกใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดสตูลเมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ และเลิกใช้ในจังหวัดอื่นเมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘)
๘ กุมภาพันธ์ - ศูนย์ประสานงานคณะกรรมการอิสลามประจำสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยุบหน่วยงานเนื่องจากไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร
๑๒ มีนาคม - สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่รับทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในชายแดนใต้ถูกลักพาตัว
๒๘ เมษายน - เกิดเหตุการณ์ปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต ๑๐๗ คน ทหารและตำรวจเสียชีวิต ๕ นาย
๕ ธันวาคม - กลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพเป็นแกนนำจัดกิจกรรมโปรยนกกระดาษกว่า ๖๐ ล้านตัวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการ “๖๐ ล้านใจ สานสายใยพี่น้องใต้ ด้วยดอกไม้และนกกระดาษ” จากนั้นมีกลุ่มไม่หวังดีแจกใบปลิวในจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียงขู่ฆ่าประชาชนที่เก็บนกกระดาษ
ปี ๒๕๔๗ นี้ฮุสนีย์และบังอดัมกล่าวว่าเป็นจุดตัดสำคัญทำให้สถานการณ์หลาย ๆ อย่างและภาพจำของชายแดนใต้เปลี่ยนไปจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
หนังสือ
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (๒๕๔๙). ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศรยุทธ์ เอี่ยมเอื้อยุทธ. (๒๕๖๕). กลายเป็น-มลายู : บทสำรวจอัตลักษณ์ในรัฐไทยและการค้นหาความหมายแห่งตัวตน. กรุงเทพฯ : ยิปซี.
Mullett-Bowlsby, Shannon. (2021). Boro & Sashiko, Harmonious Imperfection : The Art of Japanese Mending & Stitching. US : Stash Books.
เว็บไซต์
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล. (๒๕๖๕). ระเบิด-วางเพลิงป่วน ๓ จังหวัดภาคใต้ รวม ๑๙ จุด มุ่งทำลายระบบเศรษฐกิจ. BBC NEWS ไทย. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/c03lymn2qjpo
ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘. สืบค้นจาก https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/A/388.PDF
มติชน. (๒๕๔๗). ผู้นำมุสลิม ๓ จว. แถลงการณ์ ยุติร่วมมือรบ. สืบค้นจาก https://wbns.oas.psu.ac.th/shownews.php?news_id=3986
ศูนย์ข่าวภาคใต้. (๒๕๖๓). ชายแดนใต้เผชิญวิกฤติ “โควิด-ปิดด่าน-ยางถูกเท”. สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นจาก https://www.isranews.org/content-page/item/86266-seal.html
Muh Nahdohdin, Desca Angelianawati, Ardi Putra Prasetya, Kenneth Yeo Yaoren, Jennifer Dhanaraj, Iftekharul Bashar, Sylvene See and Amalina Abdul Nasir. “SOUTHEASTASIA. Counter Terrorist Trends and Analyses”. Vol. 11, No. 1, Annual Threat Assessment (January 2019), pp. 25. สืบค้นจาก https://www.jstor.org/journal/counterrtrenana