วิถีฮกเกี้ยน
ในบ้านเก้าสิบสอง
Hidden (in) Museum
เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
สนับสนุนการลงพื้นที่ : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ด้านหน้าเป็นร้านกาแฟทันสมัย ด้านในเป็นบ้านอาศัยแบบโบราณ
คือจำกัดความอย่างเข้าใจง่ายสุดของบ้านเก้าสิบสอง (บ้าน 92)
เมื่อชาวภูเก็ตย่านเมืองเก่าพร้อมใจปัดฝุ่นวิถีดั้งเดิมเสริมการท่องเที่ยวให้แขกบ้านต่างเมืองได้หลงรักทรัพยากรทางวัฒนธรรมบ้าง ทายาทจึงปรับปรุงตึกรามอาคารเก่าสถาปัตยกรรมผสมจีนกับตะวันตกผสานภูเก็ตกับปีนัง บรรจงออกแบบคาเฟ่เล็กจากต้นทุนของบ้านหลังใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้หลงใหลรสนิยมย้อนยุคมาชิมรสเรื่องราวของครอบครัวในบรรยากาศชุมชนคนจีน
แล้วค่อย ๆ ทำความรู้จักกันให้มากเมื่อเดินลึกเข้าสู่ส่วนกลาง สัมผัสห้องหับรับแขกที่ตั้งโต๊ะเคารพสิ่งศรัทธา อวดประเพณีที่ผสมวัฒนธรรมจนเป็นอัต-ลักษณ์ถิ่น ประดับประดาเครื่องเรือนไม้สัก เครื่องใช้ผสมทองเหลือง เหล็ก แร่ดีบุก รายล้อมรูปถ่ายบรรพชนสวมชุดบ้าบ๋าฉบับลูกผสมสาวภูเก็ต-หนุ่มฮกเกี้ยน ท่ามกลางสิ่งสะสมและข้าวของเครื่องใช้ในยุคที่ชาวภูเก็ตเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก
สิ่งละอันพันละน้อยไม่เพียงเสริมเสน่ห์ให้บ้านเก่ามีมนตร์สะกด บางสิ่งยังหมุนเวียนออกใช้งานเพิ่มชีวิตชีวาและสะท้อนฐานะของชนชั้นกลางที่พึงใจในรากเหง้า-ชาติกำเนิด
สะดุดตา “เสี่ยหนา” ภาชนะไม้ไผ่ผสมโลหะคล้ายปิ่นโตลงรักปิดทอง
คำจีนฮกเกี้ยนแปลว่า “มงคล” เสี่ยหนาจึงมักเป็นของใช้ในพิธีสมรส
มีรูปทรงสองแบบ ทั้งทรงกระบอกมีฐานและฝาแบนเรียบกับทรงรีมีฐานและฝาโค้ง ที่เหมือนกันคือด้ามจับมีห่วงโลหะไว้สำหรับใส่คาน และบนตัวของเสี่ยหนาตกแต่งด้วยลวดลายมงคลอย่างเทพเจ้า สัตว์ ดอกไม้ และต้นไม้ นิยมขนาดหลากหลายตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดชั้น
สำหรับชาวจีนฮกเกี้ยนโบราณเสี่ยหนาเป็นของใช้สำคัญในพิธีหมั้นก่อนแต่งงานญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจะนำของหมั้นอย่างแหวนหรือขนมมงคลใส่ในเสี่ยหนามามอบให้ญาติฝ่ายเจ้าสาว แม้ยุคสมัยจะเข้ามาปรุงวิถีให้บทบาทของเสี่ยหนาเปลี่ยน แต่ไม่เคยหายจากชุมชน บางคราวจึงเห็นหญิงภูเก็ตหยิบเสี่ยหนาขนาดเล็กมาประยุกต์ใช้แทนกระเป๋าถือเมื่อสวมชุดย่าหยา
ห้องถัดไปยังคงแสดงสรรพสิ่ง-บันดาลใจของเจ้าบ้าน โดยจัดสรรมุมหนึ่งเป็นครัวใช้งานจริง เมื่อมีหมู่คณะมาเยี่ยมชมเตาหุงต้มก็พร้อมเนรมิตสำรับคาว-หวานพื้นถิ่น อย่างผัดหมี่ฮกเกี้ยน หมูฮ้อง ซาลาเปา หมั่นโถว ฯลฯ เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนชิมวิถี
จึงได้รู้จักขนม “อังกู๊” คำจีนฮกเกี้ยนหมายถึง “เต่าแดง”
ก่อนที่ปัจจุบันจะดัดแปลงไปหลายสี เดิมนิยมใช้แม่พิมพ์เหล็กรูปเต่า-สัตว์ที่มีนัยถึงอายุมั่นขวัญยืน เหมาะสำหรับรับขวัญเด็กเกิดใหม่ อวยพรคู่บ่าวสาวหรือบูชาเทพเจ้าในเทศกาลสำคัญ และใช้สีแดง-สีมงคลผสมอาหารเพื่อให้สอดรับกับพิธีที่นำมาซึ่งความเจริญ
อังกู๊แต่ละชิ้นใหญ่พอให้แบ่งกินในสองสามคำ รสหวานมันของส่วนผสมไส้สีทองทำจากถั่วเขียวต้มสุกกวนกับน้ำตาลจนแห้ง ห่อด้วยแป้งข้าวเหนียวที่ผ่านการนวดกับน้ำ น้ำมันพืช และน้ำตาลจนเข้ากัน ก่อนกดลงแม่พิมพ์แล้วนำไปนึ่ง
เป็นขนมในโอกาสพิเศษที่หากินไม่ง่าย แต่หากมาเยือนบ้านเก้าสิบสองช่วงเวลาสำคัญที่มีการจัดโต๊ะบูชาเทพเจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ ก็จะได้สัมผัส-ชิมรสสิริมงคลที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรมครอบครัว
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
บ้านเก้าสิบสอง
๙๒ ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่
อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ๘๓๐๐๐
เปิดทุกวัน เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น.
โทร. ๐๙-๙๔๖๕-๗๓๓๙