Image
ฮาวทูทิ้งช่วงน้ำท่วม
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
การซื้อเป็นเรื่องง่าย แต่การจำหน่ายจ่ายแจกหรือกำจัดสิ่งของเป็นเรื่องยากเพราะเมื่อใดก็ตามที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของก็ยากที่จะ “ปล่อยมือ” ยิ่งหากเป็นของที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อผู้ซื้อและคนรอบตัว แม้แต่สิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราก็มักมีเหตุผลให้ตัวเองเสมอ เช่น เดี๋ยวก็ได้ใช้ เก็บไว้ให้ลูกหลานใช้ เป็นต้น เราจึงมักมีสิ่งของทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจสะสมเต็มตู้ เต็มห้องเก็บของ และเต็มบ้าน

สมัยนี้จึงมีอาชีพใหม่คือธุรกิจจัดเก็บบ้าน ซึ่งนับวันจะได้รับความนิยมในยุคที่เราสั่งซื้อสินค้าได้เพียงแค่สัมผัสหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เมื่อใดรู้สึกเหงาหรือเศร้า หันไปหยิบโทรศัพท์มือถือ เราจะเห็นภาพสินค้าที่กลไกเทคโนโลยีในโซเชียลมีเดียนำเสนอแบบ “รู้ใจ” ราวกับมานั่งอยู่ในใจ เราซื้อของจากภาพโฆษณา ไม่เห็นของจริง ไม่ได้จับต้อง  เมื่อของมาถึง ลองใช้ลองใส่แล้วไม่ถูกใจก็วางทิ้งไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือห้องเก็บของตลอดกาล


ผู้เขียนมีเพื่อนทำธุรกิจขายเสื้อผ้า
มือสอง เธอมักได้รับการติดต่อให้ไปเหมาซื้อเสื้อผ้าตามบ้านเรือน เธอบอกว่าส่วนใหญ่เป็นของใหม่ ใช้ไม่กี่ครั้ง และมีไม่น้อยบรรจุอยู่ในกล่องพัสดุที่เจ้าของยังไม่ได้เปิดดู  เมื่อซื้อเสื้อผ้ามากเกินจึงต้องเรียกใช้บริการร้านขายเสื้อผ้ามือสองมาเคลียร์ตู้เสื้อผ้าให้ว่างเพื่อหาซื้อเสื้อผ้าใหม่มาใส่ตู้ให้เต็มอีกครั้ง

ในภาพยนตร์ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไร
ไม่ให้เหลือเธอ ตัวเอกที่ตั้งใจทำบ้านตึกแถวของครอบครัวให้เป็นสำนักงานแบบมินิมอล คือ โปร่งโล่งสะอาดตา มีสิ่งของน้อยชิ้นที่สุด ตัดใจกำจัดสิ่งของในบ้าน รวมถึงสิ่งของในความทรงจำของตัวเองและครอบครัว เรียกได้ว่า “หักดิบ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสมาชิกในครอบครัวต่างมีของรักของหวงด้วยกันทั้งนั้น
ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ช่วย “หักดิบ” หรือ “ตัดใจ” ทิ้งสิ่งของได้ดีที่สุดคือการเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินและบีบคั้น เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งผ่านมา

เมื่อมีข่าวว่าน้ำจะท่วมใหญ่ เพื่อนของผู้เขียนจึงเริ่มเก็บของที่สำคัญและจำเป็นเพื่อเคลื่อนย้ายขึ้นสู่ที่สูง เธอรื้อของในตู้โชว์ขนาดใหญ่ที่เป็นของสะสมของคุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งของตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคย
ถูกหยิบมาใช้สอยหรือดูชม แล้วนำไปบริจาคให้แก่องค์กรเพื่อการกุศลเหลือสิ่งของที่สำคัญและจำเป็นเพียงไม่กี่อย่าง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์บีบคั้น
ไม่ว่าน้ำท่วมหรือภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ซื้อได้น้อยลง ล้วนเป็นการจัดการสิ่งของที่ปลายเหตุ เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผู้คนก็มักหาซื้อสิ่งของที่เคยมีมาทดแทน กลับสู่วงจรเดิมคือสะสมจนล้นบ้านอีกครั้ง

แนวทางที่ดีที่สุดคือสร้างนิสัยการบริโภคที่เป็นมิตรต่อตัวเองและโลก โดยเริ่มจากตระหนักรู้ว่าการซื้อสิ่งของ
ไม่เพียงแค่เสียเงิน แต่ยังเสียเวลาและพลังงานในชีวิตด้วย  การซื้อสินค้าออนไลน์ เรามักใช้เวลาเปรียบเทียบสินค้าจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ  บางคนซื้อของไม่ถึง ๑๐๐ บาท แต่ท่องอินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบราคาทั้งวันเพื่อประหยัดเงินหลัก ๑๐ บาท เหลือเวลาไปทำสิ่งสำคัญลดลง เช่น ทำงานประจำ งานบ้านงานอดิเรก หรืออยู่ร่วมกับคนในครอบครัว

ตรงกันข้าม การลด ละ เลิกซื้อสินค้า
ที่ไม่จำเป็นจะทำให้จิตใจเราปลอดโปร่ง หลุดพ้นจากวงจรการบริโภค ที่นักการตลาดมักทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรามีอยู่ยังไม่ดีพอ มีไม่มากพอ ต้องซื้อเพิ่มเรื่อย ๆ การจำกัดและควบคุมสิ่งของในชีวิตจึงนับเป็นอิสรภาพอย่างหนึ่ง และการพอใจกับสิ่งของที่เรามีอยู่คือความสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายหาเงินมาซื้อของไม่จำเป็น มีเวลาทำสิ่งที่อยากทำและมีคุณค่าอื่น ๆ ได้มากขึ้น  
Image
• ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ของชีวิตลดลง คนส่วนใหญ่คิดว่าการชอปปิงนั้นเสียแค่เงิน แต่จริง ๆ แล้วยังทำให้เสียเวลา เสียสุขภาพ และเสียโอกาสในการลงทุนชีวิตด้านอื่นด้วย เช่น นำเงินและเวลาดังกล่าวไปทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิตและคนรอบข้าง 

• ระวังแม่เหล็กแห่งการซื้อ
ของบางอย่างเมื่อซื้อแล้วต้องซื้ออุปกรณ์เสริมด้วย เช่น ซื้อโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องซื้อเคส สายชาร์จ อะแดปเตอร์ ฟิล์มกันรอย หูฟัง พื้นที่จัดเก็บข้อมูล เป็นต้น 

• สำรวจวงจรหรือพีระมิดความต้องการ 
เริ่มจากฐานพีระมิดคือ ใช้ของที่มี ยืม แลกเปลี่ยน ขายเป็นของมือสอง ทำใช้เอง จนถึงยอดสูงสุดของพีระมิดคือการซื้อ  หากสำรวจขั้นตอนทั้งหมดแล้วยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการจึงค่อยซื้อ

• ใหม่มา เก่า (ต้อง) ไป
 ทุกครั้งที่จะซื้อของใหม่ ให้หาวิธีจำหน่ายจ่ายแจกของเก่า เช่น หากจะซื้อโทรศัพท์ใหม่ ต้องคิดว่าจะเอาโทรศัพท์เครื่องเดิมที่ยังใช้ได้ให้ใคร ถ้าเราไม่สามารถกำจัดของเก่าได้ ทำไมจึงต้องการของใหม่ล่ะ

• บอกลาของฟรี 
เราอยู่ในกองของฟรี ไม่ว่าปากกา สบู่ ยาสีฟัน พวงกุญแจ ของฟรีมักทำให้เราเสียเวลาและพลังงานในการกรอกเอกสารออนไลน์หรือทำแบบประเมินผล ให้ถามตัวเองว่าในอนาคตจะเกิดอะไรกับของฟรีเหล่านี้ เราจะได้ใช้วันละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง หรือเป็นแค่ของสะสมเปื้อนฝุ่นที่เราจะไม่แตะต้องมัน ดังนั้นการปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้เราไม่เหน็ดเหนื่อยกับการกำจัดสิ่งของที่จะกลายเป็นขยะในบ้านภายหลัง