Image
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“UNICON I
คือความพยายาม
สร้างมังกร”

ศ.ดร. สุรินทร์ คำฝอย
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

หนึ่งในสถาบันระดับอุดมศึกษาที่พยายามวิจัยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในเมืองไทย คือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ก่อนกระแสความสนใจรถ EV จะขึ้นสูงในสังคมไทย พวกเขามีโครงการที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ แต่หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจคือโครงการรถ EV รับส่งบุคลากรภายในวิทยาเขต “UNICON”

ชื่อนี้ย่อมาจาก University Connected โดยออกแบบให้มีหน้าตาคล้ายรถรางไฟฟ้าในเมืองแซนแฟรนซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร. สุรินทร์ คำฝอย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการเล่าว่า UNICON เริ่มต้นเมื่อปี ๒๕๖๒/ค.ศ. ๒๐๑๙ สมัยดอกเตอร์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นอธิการบดี และเขาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน “มีความคิดว่าอยากมีรถยนต์ EV วิ่งรับส่งบุคลากรในมหาวิทยาลัย มีบริษัท เอกชนเสนอราคารับจ้างเดินรถ EV หลายเจ้า ผมคุยกับรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาว่าเราน่าจะทำเองได้...”

จึงเตรียมทีมนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์สุรินทร์ดูเรื่องระบบชาร์จไฟฟ้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอีกท่านช่วยดูแลเรื่องมอเตอร์ไฟฟ้า ฯลฯ วางกรอบการทำงาน จากนั้นจึงเสนอโครงการไปที่ฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อของบประมาณ
Image
UNICON I วิ่งใน มจล. 
“เรามองว่านักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเมื่อเรียนจบจะต้องทำงานได้จริง ที่ผ่านมาเราทำโครงงานทุกปี แต่มักเป็นโครงการย่อย แยกส่วน เราต้องการโครงการที่จะเป็นพื้นฐานทางการศึกษา (education platform) ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่คนเรียน” อาจารย์สุรินทร์อธิบายที่มาก่อนจะบอกว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนวิธีการทำโครงการทั้งหมด “โครงการรถ EV ในมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นสนามให้เขาลงมือทำจริงจากเดิมที่มักจะได้แต่ทฤษฎีติดตัวเท่านั้น”

โครงการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการราว ๒ ปีจึงเป็นรูปร่างอาจารย์สุรินทร์ระบุว่าเวลาส่วนมากเสียไปกับขั้นตอนเอกสารราชการ แต่ในส่วนเทคนิคทำได้เร็วกว่า “เราได้งบประมาณ ๒ ล้านบาท ส่วนที่ใช้เวลาที่สุดคือสั่งซื้อแบตเตอรี่ lithium-ion จากต่างประเทศ หน้าตาของรถได้จากรถรางของเมืองแซนแฟรนซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยใส่สีขาวกับสีส้ม อันเป็นสีของ สจล. ลงบนตัวรถ

อาจารย์สุรินทร์ลงรายละเอียดว่า โครงร่างพื้นฐานของ UNICON ได้ช่วงล่างจากรถยนต์สันดาปยี่ห้อ Isuzu MU-X “เราเอามาขยาย รองรับตัวรถให้หน้าตาคล้ายรถรางแบตเตอรี่คือส่วนที่ต้องลงทุนมากสุด เพราะมีมูลค่ากว่าร้อยละ ๔๐ ของตัวรถ เป็น lithium ferro-phosphate จุ ๔๐ กิโลวัตต์  มีทั้งระบบชาร์จกระแสตรง (DC-ชาร์จเร็ว) ใช้เวลา ๓๐ นาทีและกระแสสลับ (AC-ชาร์จช้า) ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง”
Image
ขณะที่อาจารย์ธีรพลเสริมว่า มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใส่รถมีขนาด ๒๐ กิโลวัตต์ แบตเตอรี่ชาร์จหนึ่งครั้งวิ่งได้ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด ๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับผู้โดยสารได้ครั้งละ ๒๐ คน  ส่วนของตกแต่งทำจากวัสดุประยุกต์ เช่น ราวจับดัดแปลงจากราวผ้าม่าน กระดิ่งมาจากหลายวัด ไฟเลี้ยวซื้อจากเว็บไซต์ eBay พวงมาลัยได้จากรถโฟล์คสวาเกน (รถเต่า) ไฟหน้านำเข้า ส่วนที่นั่งทำจากลังไม้เก่า บางส่วนก็ถอดมาจากรถไฟ “หนังที่เห็นหุ้มพนักพิงเราก็เย็บเอง”

UNICON I (รุ่นที่ ๑) เสร็จในปี ๒๕๖๔/ค.ศ. ๒๐๒๑ โดยได้รับความช่วยเหลือจากศิษย์เก่าของ สจล. ที่ช่วยในขั้นตอนประกอบรถ

“เริ่มต้นเราตั้งใจทดลองวิ่งวนภายในมหาวิทยาลัยซึ่งแบ่งเป็นสี่ส่วน ดังนั้นเรามีแผนว่าจะทำสี่คัน แล้วสร้างจุดเชื่อมรอยต่อของพื้นที่ต่าง ๆ  คันแรกที่ทดลองวิ่งก็มีคนรอใช้บริการแต่ช่วงที่ผ่านมาพอเกิดปัญหาน้ำท่วม ต้องสลับรถบัสปรกติมาให้บริการแทน”

อาจารย์สุรินทร์บอกว่า UNICON I ยังไม่สมบูรณ์ แต่ละปีนักศึกษาปี ๓ และปี ๔ ในภาควิชาจะมาทำโครงการในแต่ละส่วน “เราตั้งใจสร้างเพิ่มอีกสามคัน วางเป้าหมายให้เป็นรถ EV ที่เดินรถได้แบบอัตโนมัติ ไม่ต้องมีคนควบคุม ในแง่การศึกษาจะเป็นสนามให้นักศึกษาได้ลองวิชา  นอกจากนี้เรายังมีโครงการกับเอกชนที่จะมาพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้กับUNICON ในอนาคต”
Image
ยามที่ไทยยังไม่มีบริษัทรถยนต์สัญชาติไทยที่เป็นธุรกิจระดับโลก อาจารย์สุรินทร์มองว่าในระดับปริญญาตรีพวกเขาต้องการ “มังกร” มาให้นักศึกษาที่ถูกฝึกได้ปราบ “ที่ผ่านมาเราทำแต่โครงการเล็ก ๆ คล้ายกับขี่ช้างจับตั๊กแตน เราสอนเขาเรื่องใหญ่แต่ตัวอย่างมันเล็กมาก เลยสร้างมังกรขึ้นมาให้เขาปราบ”

โดยอาจารย์ทั้งสองท่านเชื่อว่า รถยนต์ EV จะมาแน่นอนและอุปสรรคสำคัญตอนนี้คือ “ปัญหาเรื่องระเบียบ เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องของรถ EV เราล้าหลังกว่าของอเมริการาว ๓๐ ปี” ยังไม่นับนโยบายที่ไม่สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศอย่างจริงจัง

“ผมเชื่อว่ารถยนต์สันดาปจะกลายเป็นของหายากในอนาคตโลกใน ค.ศ. ๒๐๒๒ คล้ายกับ ค.ศ. ๑๙๐๓ มาก สมัยนั้นคนขับรถยนต์สันดาปเป็นของแปลก มีแต่รถม้าเต็มถนน แต่ ๑๐ ปีต่อมาคือ ค.ศ. ๑๙๑๓ รถม้าหายไปหมด ตอนนี้ก็เช่นกัน”

พวกเขาเชื่อมั่นว่า UNICON I คืออนาคตของการสัญจรใน สจล.  
“ผมเชื่อมั่น
ในรถยนต์ EV”

เสกสรร สุดแสน (หมู )
ผู้ให้กำเนิด “รถจี๊ป EV” คันแรกของยโสธร

“ก่อนสร้างรถ EV ผมเคยทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก สนใจเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าด้วยจึงหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ตเข้ากลุ่มเพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยทำเอง’ มีสมาชิกถึง ๕ แสนคน บางคนเรียนจบปริญญาเอกบางคนเป็นช่าง ได้ความรู้จากที่นี่

“ผมไปซื้อซากมอเตอร์ไซค์เก่า จักรยานเก่า มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กมาติดตั้ง สร้างจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งให้ลูกวิ่งได้ ๕-๑๐ กิโลเมตรต่อชาร์จ ใช้แบตเตอรี่ลูกเล็กของรถยนต์จ่ายไฟ หลังจากนั้นก็ทำมอเตอร์ไซค์ EV อีกสามคัน คันแรกขายให้เพื่อนที่ทำงาน คันที่ ๒ ขายให้เพื่อนบ้านที่จังหวัดยโสธรตอนผมลาออกแล้วย้ายกลับมาเปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าคันที่ ๓ สร้างเพื่อใช้งานเอง

“ผมกลับบ้านเกิดเพราะงานบริษัทต้องซ่อมรถแบ็กโฮ รถสิบล้อ รถเครน ที่บริษัทประมูลเรื่องดูแลมาได้ ต้องเดินทางหลายจังหวัด ลูกสาวก็กำลังจะเรียนต่อจึงอยากอยู่เป็นที่มากขึ้น เลยหันมารับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมไดนาโม ตอนนี้เอง ที่ผมคิดจะสร้าง EV คันที่ ๔ โดยเป็นรถที่ใหญ่ขึ้น ตอนนั้นเพื่อนที่เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสร้างรถยนต์เองทำเป็นทรงกระป๋อง เลยคิดว่าเราเครื่องมือก็มากกว่า น่าจะทำรูปทรงเท่กว่าได้ จึงคิดทำรถจี๊ปซึ่งเป็นรถทรงที่ทำไม่ยาก
Image
“ผมใช้เศษอะลูมิเนียม เหล็ก ประกอบเป็นตัวถังรถ สั่งแบตเตอรี่ lithium-ion โดยนำก้อนแบตเตอรี่มาประกอบเข้าด้วยกัน ใส่มอเตอร์ไฟฟ้าที่สั่งจากจีน ได้รถจี๊ปสีแดงวิ่งได้ ๓๐ กิโลเมตรต่อชาร์จ ความเร็วสูงสุด ๕๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมงใช้เวลาชาร์จไฟกระแสสลับ (AC) ๔ ชั่วโมง  ความยากคือทำอย่างไรให้มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ กับช่วงล่างทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น เพราะระบบไฟฟ้า ระบบเลี้ยว ซับซ้อนกว่ามอเตอร์ไซค์มาก

“พอเริ่มเอาจี๊ปคันแรกไปใช้งาน มีคนรู้จักที่ทำงานอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์จังหวัดมาเจอตอนผมขับไปซื้อส้มตำ เขาก็บอกนักข่าวที่ประจำอยู่ศาลากลางจังหวัด พอนักข่าวมาทำข่าวก็เลยได้รับความสนใจขึ้น ไม่นานก็มีคนวางเงินมัดจำ ๒ หมื่นบาทขอซื้อ ทราบภายหลังว่าสามีเขาเป็นคนจีน มีโครงการนำเข้ารถ EV เขาอยากเอารถไปวางโชว์หน้าร้าน หลังรถจี๊ปคันนี้ถูกนำไปโชว์ในงานกาชาดจังหวัด ให้กระทรวงพลังงานยืมไปออกงาน ผมจึงขายต่อให้เขาในราคา ๖ หมื่นบาท ช่วงสงกรานต์ปี ๒๕๖๕

“ดีใจที่มีคนสนใจ แต่สักพักคนโทร. มามากขึ้นจนผมไม่ได้พัก ต้องไม่รับสายไปช่วงหนึ่ง ส่วนมากก็ถามข้อมูลจนผมแทบไม่ได้ทำอาชีพหลัก หลังจากนั้นผมยังสร้างรถจี๊ป EV ขึ้นมาอีกคันก็มีลูกค้าจากย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี มาซื้อ แล้วผมก็สร้างมอเตอร์ไซค์ EV อีกสองคัน รถจี๊ป EV อีกสี่คันขายให้ลูกค้าที่มาจากบุรีรัมย์ กาญจนบุรี ส่วนคันที่ทีมงาน สารคดีเห็นคือ EV คันที่ ๑๒ (นับทุกแบบที่สร้างมา) ซึ่งผมยังทำไม่ค่อยเรียบร้อย
Image
“ปรกติจะใช้เวลาสร้างมอเตอร์ไซค์ EV ๑ เดือน จี๊ป EV ราว ๒ เดือนครึ่ง รถจี๊ป EV มีต้นทุนคันละ ๕-๘ หมื่นบาท ทุกคันแตกต่างกันเพราะผมสร้างไปคิดอะไรได้ก็ใส่เข้าไป แต่คนที่โทร. มาถามเพื่อซื้อมักถอยเมื่อรู้ต้องวางมัดจำ ส่วนมากถ้าขายจะโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ‘ชมรมรถไฟฟ้าไทยทำเอง’ กับ ‘รถไฟฟ้ายโสธร by หมูไฟ’

“รถยนต์ไฟฟ้าซื้อไปแล้วไม่มีภาระดูแลรักษามากนัก ไม่ต่างจากพัดลมตั้งโต๊ะ อาจใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดตัวถังบ้าง น้ำท่วมครึ่งล้อรถก็ยังวิ่งได้ อย่างเดียวที่อย่าทำคือขับรถลุยน้ำจนแบตเตอรี่จมใต้น้ำ  แบตเตอรี่มีอายุมากกว่า ๕ ปี ยิ่งถ้ามีพื้นฐานทางระบบไฟฟ้า ก็สามารถซื้อชุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วยตัวเองได้

“ไม่นับงานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า คิดเฉพาะรถยนต์ EV ถ้ามีคำสั่งซื้อหนึ่งคันต่อเดือน ผมคิดว่าเลี้ยงตัวเองได้ ทุกวันนี้ผมขับรถ EV ไปซื้อของตำรวจก็มอง บางคนถามเพราะสนใจจะมีปัญหาคือกับกรมสรรพสามิตจากส่วนกลางที่มาแนะนำให้จดทะเบียนเพื่อขายให้ถูกต้อง แต่พอผมไปที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ยโสธรกลับบอกไม่มีกฎเกี่ยวกับรถยนต์ชนิดนี้ จะรีบไปไหน อยากทำขายก็ขายไปก่อนได้เลย  ส่วนสำนักงานขนส่งจังหวัดยโสธรบอกไม่มีกฎเรื่องจดทะเบียน ให้ขับไปก่อน เกิดเรื่องค่อยคุยกัน ซึ่งผมก็ไม่อยากให้เกิด ถ้าต้องทดสอบก็เหมือนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรับรองมาตรฐานไม่ต่ำกว่าคันละ ๕ หมื่นบาท ถ้าผมทำอาจขายยากเพราะราคารถจะพุ่งไปที่ ๒-๓ แสนบาท  ถ้ารัฐสามารถแก้ระเบียบ สนับสนุนนักประดิษฐ์ไทย ผมเชื่อว่าจะมีคนไทยทำรถยนต์ EV ได้อีกหลายคน และจะนำไปใช้บนถนนสาธารณะอย่างถูกต้อง

“พอมีข่าวว่าผมทำรถยนต์ EV ขาย ผลด้านกลับคือคนไม่กล้าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้ามาซ่อมเพราะกลัวดองงานเขา ทั้งที่จริง ๆ ผมใช้เวลาทำรถยนต์ EV ในช่วงเย็น ตอนนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชิ้นซ่อมเสร็จแล้วเจ้าของไม่มารับเสียทีเพราะคิดว่าผมยังไม่ซ่อม (หัวเราะ)”  
> POWER PIG EV โทร. ๐๙-๒๖๕๑-๗๒๗๘ <
Facebook : รถไฟฟ้ายโสธร by หมูไฟ

“EV คืออนาคตของยานยนต์”
โสภณ โพธิ์ขาว 
ผู้ก่อตั้ง Garage Gravity (Gravity Custom) และผู้สร้าง Space Samurai (มอเตอร์ไซค์ EV)

Image
“ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกล ย้อนกลับไปอีกก็เคยเรียนช่างยนต์ เรียนจบก็มาทำงานกับบริษัทรถยนต์ข้ามชาติ  ส่วนตัวผมชอบมอเตอร์ไซค์คลาสสิกชอบแต่งรถอยู่เป็นทุนเดิม อาชีพหลักก็เป็นงานด้านเทคนิคและดูแลรถยนต์ของลูกค้า

“ในปี ๒๕๖๓/ค.ศ. ๒๐๒๐ ผมเพิ่งทราบว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดหลักสูตรระยะสั้นเรื่องการออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับคนทั่วไป ผมสนใจมากเพราะอยากลองทำมอเตอร์ไซค์ EV มองว่า EV คืออนาคตของยานยนต์ ตอนนั้นโควิดก็ระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ เวลาว่างเราก็มีมากเพราะมีการปิดเมือง จึงพยายามสมัครและติดตามผลตลอด ก่อนหน้าก็ไปลงเรียนพื้นฐานรถ EV ที่สถาบันยานยนต์แห่งประเทศไทย

“หลักสูตรที่เปิดสอนทำให้ผมทราบเรื่องที่ไม่เคยรู้เยอะมากตั้งแต่ที่มาของรถยนต์ EV วิธีคิดเรื่องการออกแบบรถยนต์ แรงบันดาลใจ จากเดิมมองรถยนต์ก็ดูแค่มันสวยดี ก็มารู้ว่าเส้น รูปทรง เขามีไว้เพื่ออะไร ผมเคยสร้างรถแบบสันดาปด้วยตัวเองมาแล้วคือ Bug scooter (มอเตอร์ไซค์แบบคลาสสิก), Monster Bug, Bug kart (มอเตอร์ไซค์สี่ล้อ รูปทรงเฉพาะราคาขายราว ๕ หมื่นบาท), BUG-E, Neo 50’s (มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสี่ล้อ) และเริ่มจดทะเบียนแบรนด์ชื่อ PLATONIC (ปี ๒๕๖๕/ค.ศ. ๒๐๒๒) เพื่อเตรียมพัฒนาต้นแบบและจดสิทธิบัตรมอเตอร์ไซค์ EV เป็นธุรกิจแบบ startup
Image
“ตอนสร้างมอเตอร์ไซค์แบบสันดาป ผมแค่ลอกแบบรูปทรงรถที่ฝรั่งทำ ใส่ความเป็นตัวเองบ้าง ส่วนที่เคยดัดแปลงจากสันดาปเป็นไฟฟ้าก็เป็นกรณีเฉพาะ แต่พอเรียนเรื่องการออกแบบในหลักสูตรนี้ ผมก็เริ่มใช้วิธีคิดของตัวเองทั้งหมด ข้อได้เปรียบคือบ้านของพี่สาวเป็นโรงเหล็ก ผมสามารถใช้พื้นที่ตัด เชื่อม ชิ้นงานที่เกี่ยวข้องได้ แต่ตอนนี้ก็เช่าเวิร์กช็อปสำหรับงานของตัวเองแล้ว

“ความยากของการออกแบบรถ EV คือ ทำอย่างไรที่จะหนีจากภาพเดิมของรถสันดาป ให้ผู้พบเห็นทราบทันทีว่านี่คือ EV  ส่วนต่อมาคือหาตำแหน่งวางอุปกรณ์ต่าง ๆ บนโครงรถเดิมรถสันดาปมีถังน้ำมัน เครื่องยนต์ ตอนนี้เราต้องใส่มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เข้าไปแทน  การไม่มีถังน้ำมันทำให้มีอิสระในการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้น มอเตอร์ไซค์ EV บางรุ่นใส่มอเตอร์ที่ล้อ จึงออกแบบรูปทรงตัวถังให้โฉบเฉี่ยวอย่างไรก็ได้ เราจะเลือกขนาดมอเตอร์โดยดูขนาดของรถว่าต้องการอัตราเร่งเท่าไร ระยะทางวิ่งแค่ไหน ซึ่งการคำนวณเรื่องพวกนี้จะชัดเจน

“ผลจากการเรียนหลักสูตรนี้คือสร้างมอเตอร์ไซค์ EV ที่ชื่อ Space Samurai  เดิมผมตั้งชื่อแรกว่า Lost Samurai เพราะแรงบันดาลใจมาจากมอเตอร์ไซค์รุ่น Suzuki Katana และ big bike ที่วางขายในทศวรรษ ๑๙๘๐ และผมนำมันกลับมา ตอนหลังใส่คำว่า Space เพราะเหมือนมาจากนอกโลก

“หลักสูตรนี้จะให้นักศึกษาปี ๓ ของภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาทำงานกับเรา ผมมีประสบการณ์สร้างรถยนต์ น้อง ๆ ช่วยเรื่องการออกแบบผ่านโปรแกรม 3D โดยดูจากแนวคิดเรา เขาก็ได้ประสบการณ์ เราก็ได้แนวคิดเขา ร่วมกันพัฒนาแบบ

“สมัยผมทำมอเตอร์ไซค์คนเดียว จะใช้เวลาราว ๑-๒ เดือนแต่ Space Samurai ใช้เวลากับการออกแบบมาก เพราะต้องหา ‘ภาษาของการออกแบบ (design language)’ ของเราให้เจอ เรื่องนี้รถยนต์แต่ละแบรนด์ในตลาดจะไม่เหมือนกันแต่โดยรวมใช้เวลาเกือบ ๑ ปี
Image
“โครงรถผมใช้โครงบางส่วนของมอเตอร์ไซค์ Kawasaki มีเวลาน้อย จึงไม่ได้ขึ้นรูปเฟรมเอง เพราะต้องการส่งประกวดในงาน Bangkok Motorbike Festival 2022 เดือนพฤษภาคม  ส่วนระบบรถ ผมหามอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ lithium-ion มาติดตั้ง เรื่องราคาแบตเตอรี่ไม่ได้กระทบเรามากนักเนื่องจากไม่ได้ผลิตจำนวนมาก ส่วนบอดี้ชิ้นงานที่ผม DIY ขึ้นรูปจากพลาสติก ABS 

“ผมตั้งใจทำให้ Space Samurai เป็นมอเตอร์ไซค์ EV คันแรกของแบรนด์ PLATONIC ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด ๓,๐๐๐ วัตต์ วิ่งได้ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตรต่อชาร์จ ยังไม่คิดจะขายแต่ถ้าต้องขายราคาคงเหยียบหลักแสน เพราะมีต้นทุนต่าง ๆ  ตอนไปประกวดในงาน Bangkok Motorbike Festival 2022 ผมไม่เคยคิดว่าจะได้รางวัลประเภท Electric Bike ในการแข่งขัน Bangkok Custom Bike Competition ขั้นต่อไปผมจะพยายามตั้งเป็นบริษัท startup และวางแผนทำมอเตอร์ไซค์แบบตามสั่งหลายรุ่น รถที่ขายควรทำให้คนซื้อขับสนุก และเข้าถึงคนจำนวนมาก

“ผมเชื่อว่ามอเตอร์ไซค์ EV ใช้แทน big bike ได้ บิดกุญแจเครื่องติดทันที ไม่ส่งเสียงดังรบกวนใคร คนขับยังรู้สึกได้ถึงเสียงมอเตอร์ไฟฟ้าระดับ ๓,๐๐๐ วัตต์ที่ให้ความรู้สึกแน่นคล้ายเครื่องยนต์ ในอนาคตแบตเตอรี่ก็จะพัฒนามากขึ้น น้ำมันจะหมดจากโลกไปเรื่อย ๆ รถ EV ได้ไฟฟ้าจากหลายแห่งที่เป็นต้นทาง จากพลังงานหมุนเวียนก็ได้ มีชิ้นส่วนไม่มาก แน่นอนว่าจะมีคนคิดถึงรถสันดาป แต่คงกลุ่มเล็ก ๆ

“สำหรับเมืองไทย อุปสรรคของผู้ประกอบการรายเล็กแบบผมคือกฎหมาย  การสร้างรถมีหลายอย่างต้องทำ ทั้งเรื่องการทดสอบ ภาษี ซึ่งเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทุนมาก

“รถที่สร้างตามคำสั่งซื้อบ้านเรายังไม่สามารถจดทะเบียนได้อยู่ในฐานะของสะสมมากกว่า ถ้าจะให้จดทะเบียนต้องสร้างโรงงาน ผลิตจำนวนมาก ระดมทุน  ตอนนี้ผมทำแบบรายย่อย สร้างความต่างให้ตัวเอง อยากทำรถที่มีจำนวนจำกัดและใช้งานอย่างมีคุณค่าก่อน

“ในอนาคตถ้ารัฐสนับสนุนแหล่งทุนและจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ น่าจะมีทางไปได้มากขึ้น”  
> Gravity Custom โทร. ๐๘-๖๘๘๐-๑๔๗๕ <
Facebook : Gravity Custom