ทำไมคนชอบเล่นหวย ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงชอบซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดินหรือชอบเล่นพนันแบบอื่น ๆ กันมากนัก ทั้งที่มักเสียเงินมากกว่าได้เงิน ?
ปัจจัยหรือเหตุผลบางอย่างเห็นได้ชัดมาก เช่น การเล่นหวยในหลาย ๆ ประเทศนั้นทำได้ง่ายมาก แค่เดินไปที่ซุ้ม ซื้อแล้วเอามาขูดดูได้เลยว่าถูกหรือเปล่า
สำหรับประเทศไทย การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร มีคนเร่ขายเยอะแยะไปหมดตามบริเวณที่คนไปรวมกัน เช่น ตลาด ตลาดนัด หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า ยิ่งคนขายเป็นผู้พิการ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกดีว่าได้ช่วยเหลือคนอื่น ยิ่งเดี๋ยวนี้ซื้อผ่านแอปพลิเคชันได้แล้วก็ยิ่งง่ายเข้าไปอีก ส่วนหวยใต้ดินก็มีเจ้ามือที่ “เข้าถึงไม่ยาก” กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ลอตเตอรี่ส่วนใหญ่มักล่อใจโดยตั้งราคาแบบ “จับต้องได้” (แม้ว่าจะแพงขึ้นทุกทีก็ตาม) มีเงิน เลือกเลขที่ชอบ ซื้อสลาก แล้วก็รอลุ้นวันหวยออก ง่ายสุด ๆ !
แต่ยังมีเหตุผลสลับซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในหัวหรือในใจเราเอง นั่นก็คือมนุษย์เรามีความสามารถไม่มากในการจินตนาการเกี่ยวกับโอกาส
ศาสตราจารย์รอเบิร์ต วิลเลียมส์ แห่งมหาวิทยาลัยเลทบริดจ์ ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการพนันไว้มาก อธิบายว่าสมองของเราไม่อาจทำความเข้าใจจำนวนที่มีมาก เช่น ๖๐ ล้านนี่มันมากแค่ไหนกันแน่ เราบอกไม่ได้จริง ๆ เพราะพ้นจากความเคยชินเรื่องจำนวนคุ้นเคยที่วน ๆ อยู่ไม่เกินหลักหมื่นหรือหลักแสน
ในทางกลับกัน เวลาเราบอกว่าค่าจากการคำนวณมีโอกาสถูกรางวัลแค่ ๑ ใน ๖๐ ล้าน ในหัวก็จะแยกไม่ออกว่ามันน้อยกว่า ๑ ใน ๖ ล้านแค่ไหน ทั้งที่แตกต่างกันมาก แต่ไม่ว่าจะ ๑ ใน ๖๐ ล้าน หรือ ๖ ล้าน ต่างก็ถือว่ามีโอกาสริบหรี่เหมือน ๆ กัน
แต่หากเปลี่ยนเป็นตัวเลขที่น้อยลงมา เช่น โอกาส ๑ ใน ๑๐ หรือ ๑ ใน ๑๐๐ เราก็จะ “รู้สึก” เข้าถึงได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น
จะว่าไปแล้วปัจจัยสำคัญจริง ๆ เรื่องหนึ่งอาจจะเป็นความตื่นเต้นที่ได้ลุ้น และความหวัง ความฝันว่า หากถูก “รางวัลที่ ๑” แล้วจะเอาเงินไปทำอะไรดี
ความตื่นเต้นนี่ทำให้เสพติดได้บางคนเลยเสพติดการกินอาหารอร่อยชอปปิง เล่นกีฬาเอกซ์ตรีม ทำอะไรแผลง ๆ เช่น ปีนขึ้นไปถ่ายเซลฟีบนยอดตึกสูง ๆ จนตกลงมาตายก็มี ฯลฯ
สำหรับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนรวยอาจได้เงินเดือนหลักล้านหรือสิบล้านไม่ยาก ส่วนคนจนแค่ได้เงินเดือนหลักหมื่นต้น ๆ ก็ดีใจจนเนื้อเต้น มีเงินใช้เดือนชนเดือน มีเงินจ่ายหนี้ได้ก็บุญถมแล้ว อย่าไปพูดถึงเงินเก็บหรือการลงทุนเลย การเล่นหวยอาจถึงกับเป็น “ทางออก” ของปัญหาชีวิตได้ทีเดียว
การฝันถึงชีวิตหลังถูกหวยเป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หากเล่นมากไปก็อาจจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ เกิดหนี้สินและความยุ่งยากเพิ่มเติมได้
มีงานวิจัยเรื่อง “Gambling on the Lottery : Sociodemographic Correlates Across the Lifespan” ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Gambling Studies ค.ศ. ๒๐๑๑ สรุปผลไว้ว่า คนที่เล่นหวยเป็นประจำนั้น มีแนวโน้มว่าเป็นคนในกลุ่มยากจน และจำนวนมากมาจากชนกลุ่มน้อยของสังคม ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบนี้เห็นได้ชัดเจน
นักวิจัยสรุปไว้ว่าคนจะกล้าเสี่ยงมากขึ้น (และซื้อหวยมากขึ้น) ในยามที่ชีวิตกำลังตกทุกข์ได้ยาก !
ดังนั้นสลากกินแบ่งรัฐบาลจะต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไปตรงที่ ยิ่งเศรษฐกิจแย่เท่าไร ยิ่งขายดีมากขึ้นเท่านั้น
นักวิจารณ์บางคนถึงกับกล่าวว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลก็คือ “ภาษีแบบหนึ่งที่คนจ่ายส่วนมากได้แก่คนจนและพวกการศึกษาไม่สูงนัก” แน่นอนว่าการ “ถูกกิน” บ่อย ๆ อาจทำให้รู้สึกว่ายากจะร่ำรวยจากวิธีการนี้ แต่จำนวนเงินสูงมากที่อาจได้เมื่อถูกรางวัลใหญ่ ซึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตที่ตกที่นั่งลำบากให้สุขสบายขึ้นในพริบตา ก็เป็นแรงจูงใจที่มีพลังรุนแรงเกินห้ามใจจริง ๆ
เรื่องที่เป็นไปได้เช่นกันคือ มีบางคนที่ “ซื้อเล่น ๆ” ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่เสี่ยงโชคและลุ้นพอสนุก ๆ ถ้าแบบนี้ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรมากมายนัก
ปัจจัยหนึ่งที่พบมากคือสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า “ต้นทุนจม (sunk-cost)” สรุปแบบสั้น ๆ คือ เสียไปแล้วก็เลยเสียดาย ตัดใจไม่ได้ เมื่อเสียเพิ่มอีกซ้ำ ๆ ก็ยิ่งรู้สึกมากขึ้นว่า มีต้นทุนจมเพิ่มมากขึ้นที่ต้องเอาคืนให้ได้ อยาก “ถอนทุนคืน” คำสุดท้ายนี่แหละทำเอาวอดวาย หมดเนื้อหมดตัวกันมานักต่อนักแล้ว สมัยก่อนถึงกับขายลูกขายเมียหรือแม้แต่ขายตัวเองก็มาก
การพนันทุกรูปแบบนั้น ผลลัพธ์ที่จะออกในอนาคตไม่ได้ยึดโยงใด ๆ กับผลลัพธ์ในอดีตเลย
มีอคติแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับแทบทุกคนคือ การเชื่อว่าเงินที่ลงทุนไปแล้วยังมีโอกาส “ได้ทุนคืน” ทั้งต้นทั้งดอก เรียกว่าเป็นการมองโลกแง่บวกที่ผิดที่ผิดทาง จึงทำให้ลงเงินเพิ่มไปเรื่อยไม่หยุดหย่อน แถมบางคนยังเชื่อเรื่อง “โชคของมือใหม่” อีกต่างหาก จนสุดท้ายก็อาจหมดตัว เป็นหนี้เป็นสินรุงรัง
ในทางธุรกิจมักยกกรณีของเครื่องบินคองคอร์ด (Concorde) เป็นตัวอย่างเพราะรัฐบาลสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสใช้เงินมหาศาลกับเครื่องบินเร็วเหนือเสียงนี้ แม้ผลประกอบการเป็นลบมาอย่างยาวนาน ก็ยังคิดว่าควรสนับสนุนต่อ ไม่กล้า “ตัดจบความสูญเสีย” ก่อนลุกลาม สุดท้ายโครงการก็ล้มระเนระนาดไปต่อไม่ไหว ทำให้เจ็บตัวหนักกันถ้วนหน้า
เรื่องแบบนี้พวกเล่นหุ้นรู้จักกันดี เพราะเกิดกรณีคล้ายกันคือ “ตัดใจไม่ลง” ได้บ่อย ๆ
อีกตัวอย่างยอดนิยมที่พบได้ในชีวิตประจำวันคือการโทรศัพท์แล้วต้องรอ
คนส่วนใหญ่เมื่อรอถึงจุดหนึ่งแล้วจะตัดใจวางสายทิ้งไม่ได้ เกิดเสียดายเวลาที่เสียไปแล้ว แม้บางครั้งอาจพบว่าเสียเวลาเปล่า หนักกว่าตัดสายทิ้ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะคาใจว่าถ้าไม่ตัดสายทิ้งอาจมีโอกาสได้คุยแล้วก็ได้
ความคิดแบบนี้แหละที่ทำให้เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
ความคิดแบบ “ต้นทุนจม” มักผนวกเข้ากับความคิดผิด ๆ หรือเหตุผลวิบัติ (fallacy) อีกแบบคือ ความเชื่อที่ว่าเลขรางวัลที่ไม่ออกมาสักพักกำลังจะได้เวลาออกแล้ว หรือ “มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น”
แต่ความคิดแบบนี้ไม่จริงเลยมีกรณีคลาสสิกของบ่อนที่มอนติ-คาร์โลใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ที่บอลในเกมรูเลตต์ตกในช่องดำติดต่อกัน ๒๖ ครั้งแล้ว นักพนันจำนวนมากจึงทุ่มเงินก้อนใหญ่แทงในตาที่ ๒๗ ว่า บอลต้องตกในช่องแดงแน่ ๆ มันคงไม่ออกซ้ำเป็นครั้งที่ ๒๗ อีก
แต่บอลก็ลงช่องดำอีกครั้ง !
ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ เพราะเลขหรือสีที่ออกไปแล้ว ไม่มีผลต่อเลขหรือสีที่กำลังจะออก สุดท้ายทางกาสิโนก็ได้เงินก้อนใหญ่ไป เพราะไม่มีอะไรห้ามไม่ให้ลงช่องดำเป็นครั้งที่ ๒๗ ได้
ในกรณีนี้เรามีสมมุติฐานว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญล้วน ๆ ไม่มีกลไกอะไรที่ทางบ่อนอาจทำไว้เพื่อเอาเปรียบคนเล่น
อีกกรณีหนึ่งสำหรับคนซื้อลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ เช่น เพาเวอร์บอลแจ็กพอต (Powerball jackpot) ก็มีนายรอเบิร์ต ไบลีย์ ชาวนิวยอร์กให้พูดถึง เขาซื้อหวยเลขเดิม ๆ ติดต่อกัน ๒๕ ปี และไม่เคยถูกรางวัลเลย แต่ใน ค.ศ. ๒๐๑๘ เขาถูกแจ็กพอตถึง ๓๔๓.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่ากรณีแบบนี้นาน ๆ ทีก็อาจเกิดขึ้นได้
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้วิธีการนี้จะได้แจ็กพอตแบบเดียวกับนายไบลีย์
ปัจจัยสำคัญสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ การที่คนเล่นหวยมีโอกาสถูกรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ หากเล่นติดต่อกันนานพอ เรื่องแบบนี้ทำให้ความหวังไม่หมดไม่สิ้น
อันที่จริงอย่าว่าแต่การถูกรางวัลเลขท้ายจะทำให้เกิดความหวังและกำลังใจที่จะซื้อต่อไป แค่ตรวจผลแล้ว “เฉียดไปเฉียดมา” ก็ทำให้อารมณ์พลุ่งพล่าน เชื่อว่างวดต่อไปต้องถูกแน่ !
โดยสรุปแล้วคำแนะนำสำหรับคนที่คิดว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลยังเป็นเรื่องจำเป็นก็คือ วางแผนให้ชัดเจนว่าจะไม่ซื้อเกินครั้งละเท่าไร และหักห้ามใจให้หยุดแค่จำนวนเท่านั้นให้ได้ รวมทั้งอย่าเผลอไผลฝากอนาคตไว้ว่า ถูกหวยงวดนี้แล้วก็จะมีเงินจ่ายหนี้สารพัดสารพัน เพราะมีโอกาสจะเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าจะเกิดขึ้นจริง
การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงควรเป็นแค่การเล่นสนุก เป็นความตื่นเต้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต ไม่เล่นจนติดหรือตั้งความหวังมากจนเกินไป
และคิดเสียว่าถ้าได้เงินรางวัลก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าอับโชคก็ถือเสียว่าเป็นการทำบุญ เสียสละเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป