Image
ขุมทรัพย์ในความเงียบ
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
เงียบเหงา เงียบงัน หรือเงียบสงบเป็นคำวิเศษณ์เกี่ยวกับความเงียบที่บ่งบอกมุมมองของผู้ใช้เป็นอย่างดี
คนส่วนใหญ่มักมองความเงียบเป็นเรื่องผิดปรกติและการอยู่คนเดียวในเชิงลบจนมีคำศัพท์ที่เชื่อมโยงความเงียบกับการอยู่คนเดียวคือโดดเดี่ยว ซึ่งจะยิ่งเพิ่มระดับอารมณ์เชิงลบขึ้นหากใช้ร่วมกับคำว่า “เดียวดาย”

คนที่แทบไม่เคยกินข้าวหรือใช้ชีวิตคนเดียวเลย ถือว่าการอยู่คนเดียวหรือความเงียบเป็นการลงโทษ คิดว่าความเงียบเท่ากับความเหงาและสามารถฆ่าคนได้ผ่านภาวะซึมเศร้า ดังนั้นจึงมีคนไม่น้อยที่ทนอยู่กับความเงียบไม่ได้ ต้องเปิดทีวีหรือโทรศัพท์มือถือให้เสียงเป็นเพื่อน

แท้จริงการอยู่คนเดียวหรือความเงียบเป็นสภาวะกลาง ๆ ไม่ดี ไม่แย่ ไม่บวกหรือลบ แต่วัฒนธรรมและสังคมส่วนใหญ่ทำให้เราคิดและเชื่อว่านั่นหมายถึงการบกพร่องด้านความสัมพันธ์ ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนคบ นอกจากนี้สังคมยังฟันธงซ้ำอีกว่าคนกลุ่มนี้มักรู้สึกเหงา เศร้า ไม่มีความสุข อันเป็นที่มาของคำว่า “เงียบเหงาเศร้าซึม” ส่วนคนที่มีความสุขจะต้องมีเพื่อน คนรัก ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานพร้อมหน้า มีกิจกรรมร่วมกับผู้คนไม่เว้นวัน เช่น ดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ชอปปิง เดินป่า

เคยไหมที่คนรอบข้างถามเราว่า “ทำไมอยู่คนเดียว”  “ทำไมไม่หาใครมาอยู่ด้วย” “หาหมาแมวมาเป็นเพื่อนสักตัวก็ยังดี” “อย่าอยู่คนเดียว ออกไปทำอะไรบ้างเถอะ”

หากเราไม่ตกหลุมพรางความเชื่อนี้ก็จะทำให้สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวเองและสิ่งรอบตัวมากขึ้น จนพบความสนุกสนานหรือสุขสงบแม้อยู่คนเดียวซึ่งมีคำศัพท์เรียกสภาวะนี้ว่า “สันโดษ”

มีคนพยายามค้นหาและอธิบายว่าความเหงาคืออะไร เพื่อที่เมื่อรู้ความหมายจะได้หาหนทางไปสู่ความไม่เหงา สเตฟาน
จอปพิช (Stephan Joppich) นักเขียนใน medium.com เขียนเรื่องความเหงาไว้หลายตอนบอกว่า การให้ความหมายความเหงาเป็นเรื่องเฉพาะคน สิ่งที่ตรงข้ามความเหงาคือความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวเอง กับผู้คนและโลกรอบตัว ดังนั้นถ้าเราอยู่คนเดียวกับความเงียบแล้วเชื่อมโยงกับตัวเองและผู้คนรอบข้างได้ก็ไม่ถือว่าเหงา  ส่วนคนที่แวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงหรือผู้คนนับสิบนับร้อย หากไม่รู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวเองและคนเหล่านั้นเลย กลับรู้สึกเหงา ไม่มีใคร หรือแปลกแยก
ผู้เขียนมีเพื่อนหลายคนที่ชอบใช้ชีวิตและทำกิจกรรมคนเดียว เช่น อยู่บ้านไปกินข้าว ไปดูหนังได้อย่างไม่เก้อเขิน บางคนอึดอัดด้วยซ้ำหากต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นแบบ “เกาะติด” หรือ “ตาม ๆ กันไป”  พวกเขาและเธอมองว่าการอยู่คนเดียวคืออิสรภาพ สามารถกิน นอน นั่ง เดิน และทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องใส่ใจความต้องการและความคาดหวังของผู้อื่น

สำหรับผู้เขียน การอยู่คนเดียวกับความเงียบ คือเปิดโอกาสให้ตัวเองสัมผัสประสบการณ์และการค้นพบใหม่ ๆ  เมื่อไม่นานนี้ผู้เขียนได้เข้าหลักสูตรปฏิบัติธรรมที่มีข้อกำหนดให้เก็บโทรศัพท์มือถือไว้กับผู้จัดการหลักสูตร ปิดวาจา ห้ามมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมปฏิบัติธรรม รวมถึงการสื่อสารด้วยสายตาหรือภาษามือ ระยะเวลา ๑๐ วัน ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่กับ
ตัวเองยาวนานที่สุดในชีวิต นอกเหนือจากการนั่งดูลมหายใจและความรู้สึกในร่างกาย ก็มักมีเรื่องราวและความคิดผุดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทำให้มีโอกาสใคร่ครวญเรื่องเหล่านั้นและค้นพบคำตอบสำคัญอย่างน่าอัศจรรย์

แท้จริงเราไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติธรรมแล้วจึงจะค้นพบขุมทรัพย์ความเงียบ  ในชีวิตประจำวันถ้าเรามองความเงียบและการอยู่คนเดียวเป็นเรื่องปรกติ และความเหงาเป็นความรู้สึกหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ เช่นเดียวกับความรู้สึกอื่น ๆ เช่น เศร้า รัก ชอบ ชัง โกรธ  หากเราไม่ตัดสินตีความว่าความเหงาเป็นสิ่งบกพร่องหรือความรู้สึกเชิงลบ มันจะเป็นสัญญาณบ่งบอกและนำพาเราไปพบความต้องการที่สำคัญของชีวิตได้ เช่น ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ความรัก การดูแลเอาใจใส่ เป็นต้น

ความเงียบจะสร้างพื้นที่ให้เราตั้งคำถามว่า “ทำไม” เราจึงรู้สึกอยากแยกห่างจากเพื่อน “ทำไม” ตอนนี้เราจึงอยากมีเพื่อนเหลือเกิน  เหนือสิ่งอื่นใดการอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ช่วยให้เราเชื่อมโยงกับตัวเองเชิงลึกเพราะรู้ว่าอะไรให้พลังและดูดพลังเรา

ดังที่ สเตฟาน จอปพิช บอกว่าความหิวกับความเหงาเหมือนกันตรงเป็นกลไกการเอาตัวรอดของมนุษย์ เป็นสัญญาณของชีวิตให้ออกไปหาสิ่งเติมเต็มให้มีความสุขและพึงพอใจมากขึ้น ความเหงาเผยถึงความเชื่อมโยงของมนุษย์ ส่วนความหิวจะนำไปสู่การหาอาหารใส่ท้อง
ด้วยเหตุนี้ความเงียบจึงเป็นสิ่งที่ควรโอบกอด ชื่นชม รื่นรมย์ และสนุกสนาน มิใช่ผลักไสแล้วพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่และวงล้อมของผู้คนและสรรพเสียง ที่บ่อยครั้งไม่ใช่เสียงที่เป็นมิตรกับตัวเองเลย  
Image
• ตัดขาดจากเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญเวลาเราอยู่เดียว

• งานนี้ทำเสร็จแล้ว เวลาดูปฏิทินงาน ให้ใส่ดาวเอาไว้ว่า “ปิดจ็อบ” จะได้ไม่ต้องกลับมาดูซ้ำ เพื่อเตรียมเริ่มงานหรือแผนการอื่น

• เขียนจดหมายหรือจดโน้ตในกระดาษแทนใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยให้เราช้าลง มีเวลาคิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่จะเขียนหรือคนที่เราเขียนถึงมากขึ้น

• ใคร่ครวญถึงภารกิจสำคัญของชีวิต จดจ่อว่าเราจะต้องทำอะไรให้เสร็จสิ้น และเราอยากจะเป็นใคร

• ทบทวนและประเมินเป้าหมายชีวิต  หากเห็นว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ไม่สำคัญอีกต่อไปก็พร้อมละวางและเพิ่มเติมเป้าหมายจำเป็น

• วางแผนการผจญภัยใหม่ ๆ อาจลงวันในปฏิทิน ซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือติดต่อคนที่เราอยากไปด้วย

• แก้ปัญหาเรื่องชีวิตและการงาน การอยู่คนเดียวจะทำให้มีเวลาครุ่นคิดและมีความชัดเจน อาจส่งข้อความ วางแผนการประชุม และพยายามเขียนทุกอย่างลงบนกระดาษเพื่อเห็นปัญหาจากมุมสูงและมุมกว้าง และใช้เวลาอยู่กับตัวเอง คิดใคร่ครวญว่าควรทำหรือไม่ทำสิ่งใด

• จดรายชื่อคนที่เราต้องการติดต่อเชื่อมโยงสัมพันธ์ด้วย ทั้งโทรศัพท์หาหรือเดินทางไปเยี่ยม 

• อ่านอะไรก็ได้ที่ช่วยให้รู้สึกดีและมีความสุข ออกไปสัมผัสธรรมชาติบ้าง เพราะร่างกายเราต้องการแสงแดดและการออกกำลังกาย 
เรียบเรียงจาก 
10 Things You Should Try 
Doing In Your Alone Time/
Katie E. Lawrence/medium.com