Image
เปิดงานวิจัยปี ๒๕๔๙
ว่าด้วยสังคมพืช
ผู้รอดชีวิตจากสึนามิ
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
เห็นได้ชัดว่าสังคมพืชชายหาดเป็นตัวกรองทั้งแรงจากคลื่น และน้ำทะเลที่ล้นทะลักขึ้นมา
แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ ๙.๐ ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งอันดามัน

ในช่วงเดือนแรกหลังเกิดเหตุ รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐและรองศาสตราจารย์ ดร. พรศิลป์ ผลพันธิน สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ) ได้เข้าไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรชีวภาพตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมพืชบริเวณชายหาดซึ่งได้รับผลกระทบจากสึนามิโดยตรง
อาจารย์กิติเชษฐ์เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดฝั่งธนบุรี ริมคลองบางกอกน้อย หลังเรียนจบด้านพฤกษศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาต่อปริญญาเอกด้านพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) ประเทศออสเตรีย เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อร่วม ๒๐ ปีก่อนว่า 

“เราออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ทาง ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ พังงา เรื่อยขึ้นไปถึงระนอง พบว่าสังคมพืชดั้งเดิมบริเวณชายหาดถูกเปลี่ยนสภาพไปหมดตั้งแต่ก่อนเกิดสึนามิ  ชายหาดส่วนมากถูกบุกรุกจับจองเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าการท่องเที่ยว ประมง หรือแม้แต่ค่ายทหาร  สังคมพืชพื้นเมืองดั้งเดิมถูกบุกรุกทำลายจนหมดสภาพ ยกเว้นอยู่เพียงบริเวณเดียวที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา” 

คณะวิจัยจึงใช้หาดท้ายเหมืองซึ่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นพื้นที่ศึกษา ติดตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๒-๓ ปี โดยเดินสำรวจตลอดแนวป่าชายหาด จดบันทึกและถ่ายภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์มากที่สุดสำหรับอธิบายการฟื้นตัวตามธรรมชาติของสังคมพืช  

ผลการวิจัยพบว่าพันธุ์ไม้ชายหาดหลายชนิด เช่น กระทิง จิกทะเล เตยทะเล ซึ่งทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงบริเวณหาดทรายหรือสันดอนทรายชายทะเล ยังอยู่ในสภาพดี  ส่วนพันธุ์ไม้ที่ได้รับความเสียหายมากอยู่ในสังคมไม้พุ่มชายหาดคือรักทะเล ตายลงเกือบทั้งหมดในช่วงแรก  พันธุ์ไม้ที่อยู่ในแนวหลังถนนริมหาดท้ายเหมืองจำนวนมากใบแห้งเหลือง แต่ไม่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่ามาจากสาเหตุใด

อาจารย์กิติเชษฐ์ให้รายละเอียดว่า ความเสียหายแบ่งออกเป็นความเสียหายทางกายภาพ (mechanical damage) และความเสียหายทางเคมี (chemical damage) 
Image
ความเสียหายทางกายภาพเกิดจากแรงคลื่นกระทำโดยตรงกับต้นไม้ โดยเฉพาะพวกไม้ล้มลุก เช่น ผักบุ้งทะเล รักทะเล  ส่วนไม้ยืนต้นที่มีเนื้อไม้ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากบนสันทรายชายหาดแบ่งเขตเป็นสังคมทุ่งหญ้าชายฝั่ง (coastal grassland vegetation), สังคมไม้พุ่มชายฝั่ง (coastal scrub vegetation) และ สังคมป่าไม้ชายฝั่ง (coastal woodland vegetation) ซึ่งไล่ระดับความสูงจากผิวดินขึ้นไปตามลำดับ ทำให้สามารถต้านทานแรงกระทำจากลมในฤดูมรสุมและไอเค็มจากทะเล  เมื่อถูกคลื่นซัดจึงช่วยลดความรุนแรงเป็นชั้น ๆตามธรรมชาติ  เห็นได้ชัดว่าสังคมพืชชายหาดเป็นตัวกรองทั้งแรงจากคลื่น และน้ำทะเลที่ล้นทะลักขึ้นมา

ส่วนความเสียหายทางเคมีอาจก่อผลในระยะยาว  เกิดจากน้ำทะเลท่วมเข้ามาลึกในแผ่นดินบริเวณที่ไม่เคยมีการสะสมของเกลือ แล้วทำให้มีเกลือตกค้างอยู่ เป็นอันตรายต่อพืชที่ไม่ทนเค็ม ส่งผลโดยตรงต่อระบบราก การลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ ทำให้เกิดอาการเช่น ใบเหลือง ร่วง และตาย ความเสียหายทางเคมีต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบซึ่งยังไม่อาจสรุปได้ในชั้นนี้  

บริเวณที่มีความเสียหายมากคือสังคมไม้ยืนต้นหลังแนวชายหาด มีพะยอมเป็นไม้เด่น ซึ่งไม่ใช่ไม้ทนเค็ม แต่พบบริเวณใกล้ชายฝั่ง เพราะมีสังคมพืชในแนวรับลมด้านหน้าคอยป้องกันละอองไอเกลือจากทะเลไว้ให้ แต่สึนามิทำให้น้ำทะเลทะลักท่วมเข้ามาด้านใน

หลังจากอาจารย์กิติเชษฐ์ติดตามศึกษาสังเกตการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องก็พบว่า สังคมพืชทุ่งหญ้าชายฝั่งที่มีไม้เด่นคือ ผักบุ้งทะเล ถั่วคล้า กกมารีกลับคืนสภาพปรกติภายใน ๑ ปี สังคมไม้พุ่มชายฝั่ง เช่น พลับพลึงทะเลรักทะเล เตยทะเล ที่เสียหายมาก กลับคืนสภาพปรกติในปีถัดมา 

ส่วนของสังคมป่าไม้ชายฝั่งที่หาดท้ายเหมืองแบ่งออกเป็นสองแนว แนวแรกได้รับลมเต็มที่ เช่น จิกทะเล เตยทะเล กระทิง หูกวาง งาไซ ฟื้นตัวได้ในปีถัดมา  ส่วนแนวหลัง เช่น พะยอม เสม็ดชุน ได้รับความเสียหายอย่างหนักในปีแรกและปีที่ ๒ ยังไม่ฟื้นตัว  แต่เมื่อถึงปี ๒๕๕๐ พบว่าตอเก่าของพะยอมหลายต้นงอกต้นใหม่ขนาดเล็ก รวมทั้งแตกใบใหม่บนกิ่งเดิมที่คิดว่าตายแล้ว นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าพืชในแนวนี้อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการทำให้ระบบรากฟื้นตัว

ในเนื้อหาของงานวิจัยยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชหลังจากได้รับผลกระทบจาก สึนามิ ยกตัวอย่างเช่น
๑) พันธุ์ไม้หลายชนิดที่ขึ้นตามชายหาดหลายแห่งถูกปลูกโดยคนมาเป็นเวลานาน จนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมตามธรรมชาติ  พันธุ์ไม้ที่เสียหายอาจไม่ใช่พันธุ์ ไม้ที่ผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection)

๒) การประเมินความเสียหายของสังคมพืชทำได้ยาก เพราะไม่เคยมีการสำรวจเบื้องต้นไว้ก่อน

๓) หลังจากเวลาผ่านไป ๑ เดือน กลุ่มพันธุ์ไม้ดั้งเดิมในเขตภูมิศาสตร์ป่าชายหาดเกือบทั้งหมดกลับมาเจริญเติบโตได้ดีอีกครั้ง แต่ต้องเป็นอยู่ในบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนซ้ำจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

๔) การปลูกป่าที่ไม่เข้าใจพลวัตของสังคมพืชจะทำลายสังคมพืชดั้งเดิมมากกว่าการถูกภัยธรรมชาติอย่างสึนามิรบกวน ยกตัวอย่างการนำพืชโตเร็ว เช่น กระถินเทพา สนทะเล มาปลูกในโครงการปลูกป่าชายหาดหลังสึนามิ โดยตัดฟันต้นไม้ดั้งเดิมหลายต้นที่คิดว่าตายแล้ว  เมื่อต้นไม้งอกต้นใหม่ แตกใบใหม่ ก็ไม่อาจเติบโตแข่งกับพืชโตเร็วทำให้การเจริญเติบโตชะงัก  ขณะที่ในบริเวณซึ่งไม่มีการปลูกป่า สังคมไม้พุ่มชายฝั่งกลับมามีสภาพสมบูรณ์เป็นปรกติ  แต่ไม้พื้นเมือง เช่น รักทะเล พลับพลึงทะเล จะฟื้นคืนกลับมาได้ยากมากในบริเวณที่นำต้นสนทะเลเข้ามาปลูก  
อ้างอิง 
รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติบริเวณชายฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากคลื่นยักษ์ในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ และระนอง ปี ๒๕๔๙ โดย กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ และ พรศิลป์ ผลพันธิน สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์