Image
พื้นที่แหล่งอนุรักษ์
ทะเลอันดามันตอนบน
เพื่อเสนอขึ้นทะเบียน
เป็นมรดกโลก
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
สภาพพื้นที่ ทั้งหมด ๗,๒๐๐ เฮกตาร์ หรือ ๔๔,๙๕๐ ไร่ อยู่ในตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลนาเตย ตำบลบางทองและตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แบ่งเป็นสองส่วนคือ บริเวณหาดท้ายเหมือง และบริเวณเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ  
๑. พื้นที่บริเวณหาดท้ายเหมือง ริมฝั่งทะเลอันดามัน มีชายหาดยาว ๑๓.๖ กิโลเมตร มีส่วนกว้างที่สุดเพียง ๑.๖ กิโลเมตร ส่วนแคบที่สุดประมาณ ๓๕๐ เมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๙,๓๗๕ ไร่ หรือ ๑๕ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมด ปลายสุดของหาดเป็นแหลมเรียกว่าแหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด ซึ่งน้ำส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี 
๒. พื้นที่บริเวณเทือกเขาลำปี เป็นภูเขาสลับซับซ้อนตามแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วยเขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง ยอดสูงที่สุดคือยอดเขาขนิม ประมาณ ๖๒๒ เมตรจากระดับน้ำทะเล
คุณค่าสำคัญ 
๑. แนวชายหาดเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่าทะเลสี่ชนิดได้แก่ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea), เต่ากระ (Eretmochelys imbricata), เต่าตนุ (Chelonia mydas) และเต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) สำหรับเต่ามะเฟือง ที่นี่อาจนับว่าเป็นแหล่งวางไข่สำคัญแหล่งสุดท้ายบนชายฝั่งทะเลอันดามัน

๒. ป่าสันทรายชายหาดตามธรรมชาติที่เป็นผืนต่อเนื่องที่สมบูรณ์ที่สุดที่เหลืออยู่ในประเทศไทย มีสังคมพืชชายหาดที่มีคุณค่าสูง    

๓. ด้านประวัติศาสตร์ มีซากเรือขุดแร่แบบกระเชอตัก (bucket dredge) ที่ทำด้วยคอนกรีตลำแรกของประเทศไทย สำหรับใช้ในการทำเหมืองเมื่อปี ๒๕๒๐ และซากอุปกรณ์เครื่องจักรประกอบเรือขุดแร่ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในอดีตของคนในพื้นที่
Image
Image
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง
>  เนื้อที่ ๓๕,๖๗๐ เฮกตาร์ พื้นที่นำเสนอมรดกโลกทางธรรมชาติ ๒๗,๒๐๐ เฮกตาร์
>  พื้นที่ชายฝั่งปกคลุมด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
>  เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด เช่น ลิ่นชวา  ชะนีมือขาว เสือปลา นางอายหรือลิงลม ค้างคาวแม่ไก่เกาะ  นกในป่าชายเลน เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
>  เนื้อที่ ๑๔,๑๒๕ เฮกตาร์ เป็นหมู่เกาะกลางทะเลโครงสร้างทางธรณีเป็นหินแกรนิต
>  แนวปะการังริมฝั่ง (fringing reef) หลุมปะการัง (blue hole) อ่าวแม่ยายและอ่าวช่องขาด
>  แหล่งวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณเกาะรีและเกาะไข่ (เกาะตอรินลา)
>  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๒๘ ชนิด พบมากที่สุดคือ กลุ่มค้างคาว มีค้างคาวหน้ายักษ์ขนาดเล็ก เป็นค้างคาวชนิดใหม่ของโลก
>  นก ๑๐๕ ชนิด เช่น นกเปล้าใหญ่ นกขมิ้นน้อยสีเขียว นกมุ่นรกสีน้ำตาล นกกระแตผีชายหาด นกชาปีไหน นกจับแมลงอกสีส้ม นกเงือกกรามช้าง เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติแหลมสน
>  เนื้อที่ ๓๑,๕๐๐ เฮกตาร์ พื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๖๐ กิโลเมตร  
>  ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลหลากหลาย ชะวากทะเล ป่าชายเลน ป่าชายหาด ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง
>  พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน นกประจำถิ่น และนกอพยพ เป็นที่วางไข่ของเต่าหญ้าและเต่ามะเฟือง
อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
>  เนื้อที่ ๗,๗๐๐ เฮกตาร์ หาดทรายเป็นแนวยาวต่อเนื่อง
>  แนวปะการังริมฝั่งกว้างประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ ๑๐๑ เฮกตาร์ พบปะการังมากกว่า ๕๒ ชนิด
>  แหล่งหญ้าทะเล
ป่าชายเลนจังหวัดระนอง
>  เนื้อที่ประมาณ ๑๔,๒๓๐ เฮกตาร์
>  ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เพื่ออนุรักษ์ ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และเพื่อการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
>  เนื้อที่ ๑๔,๐๐๐ เฮกตาร์ เป็นหมู่เกาะกลางทะเลที่มีเขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหินรูปร่างต่าง ๆ
>  ปะการังหลากหลายชนิดและสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย
>  แหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก เช่น กระเบนราหู วาฬหัวทุย วาฬเพชฌฆาต วาฬเพชฌฆาตดำ โลมากระโดด โลมาลายแถบ  
>  แหล่งวางไข่ของเต่าตนุ  
อ้างอิง 
- โครงการจัดทำแผนการจัดการพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันและเอกสารนำเสนอ (Nomination Dossier) พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
- แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช