Image
เรื่อง : รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
รูปป่าหิมพานต์ในจิตรกรรมฝาผนัง แต่มีพันธุ์ไม้คล้ายป่าชายหาด ลำต้นขนาดเล็กสีแดง แตกทรงพุ่มดูคล้ายต้นเสม็ดชุนหรือเสม็ดแดง (Syzygium antisepticum (Blume) Merr. & L.M. Perry) เป็นพันธุ์ไม้ที่พบเห็นได้ง่ายและมีมากในสังคมพืชบนสันดอนทรายของสงขลา ซึ่งปัจจุบันพบน้อยแล้ว ในอดีตจิตรกรคงวาดจากพืชที่เห็นอยู่รอบ ๆ นั่นเอง
[ จิตรกรรมฝาผนัง โบสถ์วัดโพธิ์ปฐมาวาส ]
Image
พรรณไม้ในจิตรกรรมฝาผนังยากที่จะเดาได้ว่าเป็นชนิดใดแน่ชัด เพราะจิตรกรอาจไม่ได้เจาะจงพืชใดเป็นพิเศษ หรือพืชที่มีลักษณะเด่นนั้นอาจไม่พบในพื้นที่อีกแล้ว  ในภาพนี้จากลักษณะต้นสูงใหญ่ลำต้นสีออกแดง และโครงสร้างการแตกกิ่ง ประกอบกับพื้นที่สันดอนทรายชายฝั่ง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นต้นยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don) หรือยางวาด (Dipterocarpus chartaceus Symington) เนื่องจากเป็นไม้เด่นของป่าดิบแล้งบนสันดอนทรายชายฝั่ง และเป็นลักษณะเด่นของพืชในเขตทะเลสาบสงขลาด้วย
[ จิตรกรรมฝาผนัง โบสถ์วัดคูเต่า ]
Image
จิตรกรวาดช่อใบที่มีสามใบรองรับช่อดอกสีเหลืองนวลไว้ แม้จะไม่เหมือนจริง แต่สันนิษฐานว่าเป็นต้นกุ่มน้ำ [Crateva magna (Lour.) DC.] ได้ค่อนข้างมั่นใจ กุ่มน้ำเป็นพืชในเขตสังคมพืชริมฝั่งน้ำ (riverine) ที่พบมากทั่วไป ปัจจุบันยังพบได้ตามริมคลองในแถบคลองอู่ตะเภาและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งยังไม่มีการสร้างเขื่อนหรือทำนบคอนกรีต  
[ จิตรกรรมฝาผนัง โบสถ์วัดคูเต่า ]
Image
อาจเป็นพืชในกลุ่มมังคุด-ชะมวง (Garcinia spp.) พันธุ์ไม้ที่พบมากในภาคใต้ตอนล่าง มีลูกที่ดึงดูดพวกค้างคาวผลไม้
[ จิตรกรรมฝาผนัง โบสถ์วัดคูเต่า ]