สังเกตขนาดคนเทียบกับขนาดเนินทรายงาม
เนินทรายงามชุมพร
หนึ่งเดียวในสยาม
อนุรักษ์หรือทำลาย ?
เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
หากค้นคำว่า “เนินทรายงาม” ในกูเกิลจะพบการแนะนำสถานที่แห่งนี้ในเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่า “หนึ่งเดียวในสยามที่คุณต้องแวะมาชมสักครั้งเมื่อเดินทางมาเยือนชุมพร ซึ่งปรากฏการณ์เนินทรายริมชายหาดแห่งนี้ เกิดจากอิทธิพลของพายุรุนแรงริมฝั่งทะเลในฤดูมรสุมที่พัดพาทรายมาทับถมกัน จนกลายเป็นเนินเขาย่อม ๆ เมื่อมาเจอกับสภาพแห้งแล้งและแสงแดดแรงกล้านอกฤดูมรสุม จึงทำให้บรรยากาศบริเวณนี้ดูไม่ต่างจากทะเลทรายเลยทีเดียว”
คำอธิบายกำเนิดสันทรายตรงที่ขีดเส้นใต้ไว้นี้ไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา แต่หลาย ๆ เว็บไซต์ก็กล่าวถึงกำเนิดเนินทรายงามชุมพรด้วยข้อความเดียวกันนี้
ถ้าค้นในกูเกิลต่อไปอีกสักหน่อย เราจะพบงานวิจัยชื่อ “การเกิดของเนินทรายบริเวณอ่าวบางเบิด ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร” โดยนางสาววีรยาเลิศนอก จัดทำเป็นวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธรณีวิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา ๒๕๕๒
งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่าสันทรายบางเบิด ที่รู้จักกันในชื่อเนินทรายงามชุมพร ทอดตัวเป็นแนวยาวขนานกับชายหาด สูงประมาณ ๒๐ เมตร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปพาราโบลาและแนวโค้ง รูปทรงสันทรายบ่งชี้ทิศทางลมว่าส่วนใหญ่พัดมาจากทิศตะวันออก (คือด้านฝั่งทะเล) มาทางทิศตะวันตก (ด้านแผ่นดิน)
หญ้าหัวรากน้อย [Cyanotis cristata (L.) D. Don] พืชล้มลุกเลื้อยทอดเอนตามพื้นบริเวณยอดเนินทราย
ผลการศึกษาทางธรณีวิทยา วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอว่า เม็ดทรายที่ก่อตัวเป็นสันทรายซึ่งมีขนาดละเอียดถึงปานกลางเป็นตะกอนทรายที่มีแหล่งกำเนิดมาจากพื้นที่สูงทางตะวันตก โดยในช่วงต้นยุคโฮโลซีน (Holocene) ราว ๑๑,๐๐๐ ปีก่อน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้รุกล้ำเข้าถึงบริเวณนั้นและกัดเซาะหินให้ผุพังเป็นตะกอนจมตัวในทะเลตลอดแนวชายฝั่งล่วงมาถึงช่วงตอนกลางยุคโฮโลซีน ราว ๖,๐๐๐ ปีก่อน สภาพอากาศแห้งแล้งและระดับน้ำทะเลค่อย ๆ ลดต่ำลง ลมจึงพัดตะกอนขึ้นมาสะสมเป็นแนวสันทรายก่อตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เนินทรายงามชุมพร หรือสันทรายบางเบิด จึงนับเป็นสภาพธรรมชาติที่มีความเป็นมายาวนานนับหมื่นปี กว่าจะสะสมตัวจนเป็นสันทรายสูง เกิดสังคมพืชที่ปรับตัวให้เจริญงอกงามบนสภาพแห้งแล้งได้จนมีลักษณะเฉพาะ เรียกว่าป่าชายหาดโดยพื้นที่ลักษณะนี้ถูกแปรเปลี่ยนสภาพไปเกือบหมดแล้วจากประเทศไทย
ความจริงเนินทรายงามชุมพรซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแนวสันทรายยาวร่วม ๑๐ กิโลเมตรขนานกับชายฝั่งทะเล โดยปัจจุบันถูกถนนสาย ๔๐๑๕ ตัดผ่านทับแนวสันทรายในแนวเหนือ-ใต้ รวมทั้งการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อการตั้งถิ่นฐาน ทำให้กระบวนการก่อเกิดเนินทรายชายฝั่งทะเลที่ดำเนินมายาวนานตามธรรมชาติถูกขัดขวางจนหมดสิ้น
บ่อน้ำจืดโบราณบริเวณสันทรายบางเบิด เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าแนวสันทรายชายหาดเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืดใต้ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มานาน
ต้นปี ๒๕๖๔ มีข่าวรายงานว่า ชุมพรทุ่มงบ ๑๙ ล้านบาท เพื่อพัฒนาเนินทรายงามเป็นแหล่งท่องเที่ยว (มติชน วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔) โดยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและการประชาสัมพันธ์
ส่วนในเว็บไซต์ ททท. ระบุว่า “ที่นี่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเนินทรายงามเพื่อการเรียนรู้และอนุรักษ์ธรรมชาติโดยมีลักษณะเป็นแผ่นหินเรียงต่อกันเป็นทางเดินระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินประมาณ ๔๕ นาที”
แต่ภาพที่พบบนเนินทรายงามชุมพรเมื่อทีมงาน สารคดี แวะไปเยือนในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา คือแผ่นหินที่เรียงเป็นทางเดินนั้น กลับแตกหักกระจัดกระจายเป็นเศษซากอันแปลกปลอมกับเนินทรายธรรมชาติ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งด้านทิศใต้ก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางเดินขึ้นศาลาชมทิวทัศน์ที่ตั้งบนยอดสันทราย
ไม่ว่าการพัฒนาสิ่งก่อสร้างกดทับเนินทรายธรรมชาติจะมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร แต่คำถามที่ทุกฝ่ายน่าจะช่วยกันหาคำตอบคือ เรากำลังทำลายหรืออนุรักษ์ “ธรรมชาติ” ที่มีความเปราะบาง และจะรักษาความงามทางธรรมชาตินี้ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคตได้อย่างไร
เฟินหัวว่าว [Phymatosorus scolopendria (Burm.f.) Pic.Serm.]
อ้างอิง
https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b1866127
http://www.researcher.ru.ac.th/Research_File/0000000090.pdf
แผนผังกระบวนการเกิดแนวสันทรายชายฝั่ง
กระบวนการเกิดแนวสันทรายชายฝั่งจากความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ในอดีต (A) ทรายถูกพัดพามาสะสมบนชายหาดเกิดเป็นแนวสันทรายในยุคระดับน้ำทะเลลดต่ำ (B) ถึงยุคระดับน้ำทะเลขึ้นสูง แนวสันทรายชายฝั่งถูกกัดเซาะทลายลงบางส่วน (C) กลับมายุคระดับน้ำทะเลลดต่ำลงอีกครั้ง แนวสันทรายแรกฟื้นคืนและเกิดแนวสันทรายที่ ๒ บนชายหาดที่ขยายตัวออกไป (D) กระบวนการซ้ำเช่นเดียวกับ B (E) หลังจากผ่านการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลหลายครั้ง จึงเกิดแนวสันทรายชายฝั่งหลายแนวลึกเข้าไปในแผ่นดิน
อ้างอิง
https://www.researchgate.net/f igure/Development-of-successive-parallel-dune-ridges-as-the-result-of-prograding-coastline-and_f ig3_249234080