Image

Small Talk

สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ความหวังเต่าทะเล
กับการเก็บรักษาป่าชายหาด 

ปรารพ แปลงงาน
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ ๒ จังหวัดภูเก็ต

สถานการณ์ล่าสุดของเต่าทะเลที่หาดท้ายเหมืองเป็นอย่างไร

หาดท้ายเหมืองมีแนวหาดทรายที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลถึงสี่ชนิดจากทั้งหมดห้าชนิดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ เต่ามะเฟืองเต่ากระ เต่าตนุ และเต่าหญ้า  ไม่พบเพียงชนิดเดียวคือเต่าหัวค้อน ระหว่างปี ๒๕๓๒-๒๕๖๕ สถิติเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากที่สุดรวม ๗๙ ครั้ง เต่าหญ้า ๒๖ ครั้ง เต่าตนุ ๒๕ ครั้ง และเต่ากระ ๙ ครั้ง รวมทั้งหมด ๑๓๙ ครั้ง

ในอดีตเคยมีเต่าทะเลชุกชุมทั้งทางอ่าวไทยและอันดามัน แต่ปัจจุบันพบเต่าทะเลขึ้นวางไข่ลดลงมาก ทางฝั่งอันดามันเหลือไม่กี่แหล่ง พบบริเวณหาดท้ายเมือง หมู่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา หาดในยาง จังหวัดภูเก็ต และพบบ้างเล็กน้อยตามหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตะรุเตา

ผมเป็นคนท้ายเหมือง สมัยเด็ก ๆ เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปนอนตกปลาที่เขาหน้ายักษ์ เห็นรอยเต่าขึ้นคืนเดียว ๑๓ รัง พอโตขึ้นได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด แปลกใจว่าทำไมบางปีพบแค่สามถึงสี่รังเท่านั้น

Image

ทำไมเต่าทะเลถึงกลับมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมืองมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ 

เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าทำไม เชื่อกันว่าลูกเต่าจดจำแหล่งกำเนิดจากประสาทสัมผัสที่ไวต่อการรับกลิ่นหรือสารเคมี มันจะสร้างความทรงจำถิ่นกำเนิดครั้งแรกที่สัมผัสน้ำทะเลหรือตอนออกจากเปลือกไข่  เมื่อเต่าทะเลเติบโตขึ้นก็สามารถหาเส้นทางกลับมาวางไข่ที่แหล่งเดิม แต่เมืองไทยยังไม่มีใครทำวิจัยเชิงลึกว่าในธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

ตัวอย่างในต่างประเทศมีการทำวิจัยเชิงลึกว่าปลาการ์ตูนกลับมาหากอดอกไม้ทะเลกอเดิมได้ เพราะมีความจำเกี่ยวกับเคมีของน้ำบริเวณนั้น  เขาศึกษากันถึงขนาดนั้นแต่บ้านเราไม่มีงบประมาณสนับสนุนการวิจัยก็เลยไม่มีองค์ความรู้  ถ้าศึกษาลงลึกจะได้ชี้ประโยชน์คุณค่าของป่าชายหาด  ผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาลงลึก เพื่อนำไปสู่การปกป้องบ้านของเต่าทะเลจริง ๆ

ไข่ติดเชื้อราเยอะมาก บริเวณชายหาดที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ปากแม่น้ำหรือกิจกรรมของชุมชนจะพบปริมาณไมโคร-พลาสติกปนเปื้อนในพื้นทราย  แต่หาดทรายที่ท้ายเหมืองยังมีเปอร์เซ็นต์ไข่ติดเชื้อราค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงว่ายังเป็นหาดที่สมบูรณ์  

ปัญหาหลักคือตอนนี้บ้านเต่าหาย เจ้าของบ้านไม่รู้จะกลับมาบ้านยังไง  เมื่อสภาพแวดล้อมถูกรบกวนทั้งแสงไฟถนน การใช้ประโยชน์ที่ดิน น้ำเสีย ขยะ ทุกอย่างเข้ามาเปลี่ยนแปลงนิเวศเดิมที่เต่าทะเลเคยอยู่

Image

ทุกวันนี้คนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากน้อยแค่ไหน

ยังมีคนบางกลุ่มมองว่าปลากับเต่าไม่ต่างกัน คือเขาคิดว่าเวลาเต่าอยู่ในทะเลก็เหมือนปลา เป็นสัตว์ที่เคยจับมากินได้ ไม่เหมือนกับสัตว์ป่าที่ถูกล่าแล้วสร้างความรู้สึกสะเทือนใจเช่นหมีหรือเสือ  ช่วงฤดูกาลขึ้นวางไข่ของแม่เต่าเดือนมกราคม เราต้องควบคุมอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ อย่างเบ็ดราวปลากระเบน เพื่อให้แม่เต่าขึ้นวางไข่หรือเกิดการผสมพันธุ์กัน  ตอนนี้ในกลุ่มชาวประมงก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เรามีกลไกการให้รางวัล ถ้าเจอรังเต่ามะเฟืองแล้วโทรมาแจ้ง เราให้ ๒ หมื่นบาท ถ้าเป็นรังเต่ากระ เต่าตนุ และเต่าหญ้า ให้ ๑ หมื่นบาท  ป้องกันคนนำไข่เต่าไปขายในตลาดมืดและสร้างการมีส่วนร่วม ได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลและถิ่นอาศัยพังงา-ภูเก็ต” และส่วนหนึ่งจาก “มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว” อีกส่วนระดมทุนมาจากการวิ่งและทำกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน กลไกนี้ทำให้มีการแจ้งพบรังเต่าทะเลเพิ่มขึ้น แต่กองทุนตั้งมานานแล้ว ตอนนี้เงินจวนจะหมด  ถ้ามีบริษัทสนใจเข้ามาสนับสนุนก็ไปต่อได้ แต่ถ้าไม่มีก็คือจบเลย

"มิติของป่าชายหาดคือการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เป็นสังคมพืชที่ถูกคัดสรรด้วยสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เราควรจะเรียนรู้ว่าสังคมพืชอยู่กันอย่างไร บรรดาสิ่งมีชีวิตเอาตัวรอดยังไง"

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมืองซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน ยังมีสัตว์ป่าและพบการคุกคามอย่างไรบ้าง

มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น หมี หมูป่า  สัตว์เล็ก ๆ ก็มีอยู่มาก พวกอีเห็น ไก่ป่า แย้  เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า smart patrol เดินลาดตระเวนจะเจอร่องรอยผลไม้ที่ถูกสัตว์ป่ากินเป็นประจำ บางชนิดไม่เคยมีบันทึกว่าเป็นพืชอาหารสัตว์ อย่างเตยทะเลก็มีรอยกินรอยแทะอยู่เยอะ

ปัญหาลักลอบล่าสัตว์ถามว่าหนักไหม ก็พบร่องรอยการล่าบ้าง แต่ไม่บ่อยครั้ง  เราพยายามหยุดยั้งการล่าสัตว์ป่าด้วยการออกไปประสานงานกับชุมชนในพื้นที่ แต่บางคนก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม บางคนยังเสพติดเรื่องการกินเนื้อสัตว์ป่าซึ่งเราต้องหยุดยั้งให้ได้ 

Image

รถสิงห์ทะเลทราย (ATV) ถูกนำมาใช้ สนับสนุนการลาดตระเวนชายหาด เพิ่มมาตรการคุ้มครองป้องกันโดยเฉพาะช่วงฤดูวางไข่ของเต่าทะเล

อุทยานฯ มีหน่วยพิทักษ์ทั้งหมดห้าหน่วย รวมสำนักงาน  งานลาดตระเวน smart patrol แบ่งออกเป็นสามชุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีฝ่ายจัดการทรัพยากรกำหนดแผน ประชุมกันทุกเดือนเพื่อสรุปงานว่าแต่ละครั้งที่ออกลาดตระเวนเจอทรัพยากรอะไรที่โดดเด่น พบร่องรอยการล่าหรือแผ้วถางหรือไม่ ก็เอาข้อมูลมาประมวลกำหนดจุดที่จะเฝ้าระวัง 

เรามีเจ้าหน้าที่ซึ่งค่อนข้างเข้มแข็ง เราคัดเลือกคนที่มีหัวใจในการรักษาทรัพยากร มีความรัก ความหวงแหนเข้ามาทำงาน กลั่นกรองโดยกระบวนการทดสอบผ่านงานหนักซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก  

ที่นี่ไม่มีปัญหาการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ เรายังมีการตรวจสอบจากศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติผ่านดาวเทียมด้วย เขาจะช่วยแจ้งมาถ้าเกิดการแผ้วถาง

หาดท้ายเหมืองมีป่าสันทรายชายฝั่งสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ทำไมที่ผ่านมาคนทั่วไปยังไม่รู้จักป่าผืนนี้

คนไทยเวลามาดูป่า เขาอยากเห็นต้นไม้ต้นโต ๆ ใหญ่ ๆ แล้วถึงจะเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง แต่ป่าชายหาดไม่มีมิติแบบนั้น มิติของป่าชายหาดคือการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เป็นสังคมพืชที่ถูกคัดสรรด้วยสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เราควรจะเรียนรู้ว่าสังคมพืชอยู่กันอย่างไร บรรดาสิ่งมีชีวิตเอาตัวรอดยังไง  ต้องเป็นคนใส่ใจธรรมชาติถึงจะรู้สึกสนใจ

อุทยานฯ อาจต้องหาทางเชื่อมกิจกรรมกับชุมชน อย่างเช่น การพายเรือคายัก พาไปดูปลาในกระชัง หาหอยชมวิวที่เขาหน้ายักษ์  ต้องมองให้ครบมิติ จากเขาลำปีที่มีภูเขา ป่าดิบชื้น มีน้ำตกดัง ๆ อย่างน้อยสามแห่ง คือ น้ำตกลำปี น้ำตกโตนไพร และน้ำตกขนิม  พอลงจากภูเขาก็เป็นป่าชายเลนตลอดคลองหินลาดยาวเกือบ ๒๐ กิโลเมตรไปสิ้นสุดที่เหมืองเก่าของชาวบ้าน  ถัดจากนั้นเป็นป่าพรุในแนวป่ารอยต่อก่อนเข้าสู่ป่าชายหาด  มีหาดทรายยาว ๑๖ กิโลเมตร และในทะเลห่างจากชายฝั่งออกไป ๖๐๐ เมตรมีแนวปะการังประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่  

เพราะฉะนั้นที่นี่มีห้าป่า ป่าดิบชื้น ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาด และป่าปะการัง ไม่มีที่ไหนที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบนี้ 

Image

เส้นทางสู่มรดกโลกทางธรรมชาติของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันตอนบน

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
อนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ หัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารเพื่อนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ความโดดเด่นของคาบสมุทรไทย

“งานนี้เจ้าภาพหลักคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีหน่วยงานระดับจัดการอยู่สองหน่วยงานที่สำคัญคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สิบกว่าปีที่ผ่านมามีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนบ้างมีศักยภาพพอนำเสนอเป็นมรดกโลกได้  เราพบว่าพื้นที่คาบสมุทรไทยทางภาคใต้นั้นมีลักษณะโดดเด่นซึ่งเทียบเคียงกันได้แค่สองแห่งเท่านั้นในโลกแห่งแรกคือคอคอดปานามา ซึ่งเป็นแผ่นดินเล็ก ๆ เชื่อมระหว่างแผ่นดินทางซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ คือเชื่อมทวีปอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้  ลักษณะเช่นนี้จะมีสัตว์หรือพืชต่าง ๆ เคลื่อนย้ายเชื่อมโยงกัน ผ่านทางกิ่วแคบ ๆ เพียงช่องทางเดียว ขณะเดียวกันก็ขวางกั้นระหว่างสองมหาสมุทรคือแอตแลนติกกับแปซิฟิก  ส่วนคาบสมุทรไทยทางภาคใต้ สิ่งมีชีวิตจากทางซีกโลกเหนือจะเคลื่อนย้ายมาทางซีกโลกใต้ก็ต้องผ่านช่องแผ่นดินแคบ ๆ นี้และยังกั้นระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย 

ที่น่าสนใจคือแผ่นดินปานามาเพิ่งเกิดขึ้นเพียง ๓ ล้านปี ขณะที่คาบสมุทรไทยเกิดมาประมาณ ๒๐๐ ล้านปีแล้ว

ในเชิงชีวภูมิศาสตร์ พื้นที่บริเวณลำน้ำกระบุรียังเป็นรอยแบ่งที่สำคัญ เป็น transition zone ของนกอพยพหลายชนิด แม้แต่กุ้งก้ามกรามก็มีงานวิจัยระบุว่า ประชากรกุ้งก้ามกรามตอนเหนือลำน้ำกระบุรีขึ้นไปเป็นคนละกลุ่มกับกุ้งก้ามกรามตอนล่าง  ส่วนบริเวณสันกาลาคีรี ตะรุเตาทะเลบัน ก็เป็นรอยเชื่อมต่อหรือรอยแบ่งระหว่างภูมิศาสตร์ของพืช” 

"พื้นที่เสนอมรดกโลกต้องมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่จุดเด่นคือเหลือเป็นแห่งสุดท้าย ถ้าที่นี่หมดไป ก็ไม่เหลือที่ไหนอีกแล้ว นี่เป็นหลักคิดที่เราจะเลือกพื้นที่ออกมา"

อันดามันเหนือ อันดามันใต้

“ทะเลอันดามันจริงๆ เริ่มต้นจากหมู่เกาะในสหภาพเมียนมาแล้วสิ้นสุดที่เกาะภูเก็ต ขณะที่ตั้งแต่ทางใต้ภูเก็ตหรืออ่าวพังงาลงมาเป็นช่องแคบมะละกาแล้ว  ในทางภูมิศาสตร์โลกจึงเป็นคนละส่วนกัน แต่เราคุ้นเคยกับการเรียกว่า ‘อันดามันเหนือ’ กับ ‘อันดามันใต้’

Image

จากการศึกษาความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ เราแบ่งภูมิภาคเชิงนิเวศ (ecoregion) เป็นหกโซน ไล่จากด้านบนลงมา คือ ๑) ระบบนิเวศแบบเอสทูรี (estuary) หรือชะวากทะเล อยู่บริเวณป่าชายเลนลำน้ำกระบุรี  ๒) ระบบนิเวศของหมู่เกาะทะเลลึก ตามแนวเชื่อมลงมาจากมะริดของเมียนมา สิ้นสุดที่หมู่เกาะสิมิลัน เราจะสังเกตว่าปะการังหลายชนิดพบที่สิมิลัน แต่ไม่พบที่ภูเก็ตลงมา เช่นปะการังปลายเข็ม  ๓) หาดทราย สันทราย ป่าชายหาดตลอดชายฝั่งพังงาตอนบน เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการวางไข่ของเต่าทะเล และมีแนวปะการังอยู่นอกชายฝั่ง ๔) อ่าวพังงา หรือตั้งแต่ทางใต้ภูเก็ตลงมา เป็นระบบนิเวศอีกแบบที่แตกต่างออกไป  ๕) หมู่เกาะทะเลลึกตอนใต้ ตั้งแต่เกาะราชาจนถึงหมู่เกาะอาดัง-ราวี มีระบบนิเวศแนวปะการังอยู่ในเขตน้ำลึก และ ๖) เกาะใกล้ชายฝั่งอันดามันตอนล่าง แถวตะรุเตา ทะเลบัน หมู่เกาะเภตรา สิ่งมีชีวิตหลายชนิดอยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ด้านบนกับด้านล่าง

ตอนนั้นเรามีแนวคิดเสนออุทยานแห่งชาติทางทะเล ๑๖ แห่ง บวกกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทางทะเล ๒ แห่ง รวมกัน ๑๘ แห่ง ให้เป็นมรดกโลก เรียกว่าเสนอทั้งแถบอันดามัน ในปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ อนุกรรมการมรดกโลกของไทยเห็นชอบ แต่ยังกังวล เพราะหลายพื้นที่มีคนอยู่เยอะ รัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาหลายแห่ง จนเกิดข้อกังวลว่าถ้าเสนอพื้นที่ทั้งหมดจะเกิดปัญหาไหม  จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะทำงานพิจารณาขอบเขตว่าถ้าไม่เสนอทั้ง ๑๘ แห่ง เสนอแบบไหนถึงจะมีโอกาส และลดความขัดแย้งกับฝ่ายเศรษฐกิจที่กังวลว่าการเป็นมรดกโลกจะทำให้ประเทศขาดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง

ด้วยแนวคิดว่าพื้นที่ไหนพร้อมก็นำเสนอไปก่อน จึงเป็นที่มาของการนำเสนอพื้นที่อันดามันเหนือ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติหกแห่ง ร่วมกับพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง และป่าชายเลนระนองตรงกะเปอร์ กำหนดเฉพาะบริเวณที่ไม่มีปัญหากับชุมชน ไม่มีปัญหาระหว่างประเทศนอกจากพื้นที่อนุรักษ์ยังมีพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ แต่มีการบริหารจัดการเป็นพื้นที่กันชน บริหารจัดการร่วมกับชุมชนเป็นแนวคิดเสนอมรดกโลกในมิติของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” 

อนุรักษ์ VS พัฒนา

“ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าเสนอมรดกโลกแล้วห้ามใช้ทั้งหมดอยู่ในแนวคิดว่ามีพื้นที่อนุรักษ์ แล้วจัดการภาพรวมให้เกิดความสอดคล้องระหว่างมิติการอนุรักษ์กับมิติการพัฒนา  เอกสารนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์มีการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นสวนยางสวนปาล์ม วิเคราะห์การใช้ประโยชน์ของชุมชนทั้งที่อยู่ในและนอกอุทยานฯ  

ในเอกสารยังรวบรวมให้เห็นว่าในแต่ละพื้นที่จะมีการพัฒนาอะไร ยกตัวอย่างระนองมีโครงการแลนด์บริดจ์ โครงการสร้างเส้นทางเดินเรือ ท่าเรือนานาชาติ รถไฟทางคู่  หรือเศรษฐกิจของจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับอะไร อย่างจังหวัดพังงามีแหล่งท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส ทั้งหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน อ่าวพังงา แต่เศรษฐกิจของชุมชนอยู่ที่ภาคการเกษตรกับประมง พฤติกรรมนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่พักที่ภูเก็ต ใช้จ่ายที่ภูเก็ต แล้วไปเที่ยวพังงา”

แห่งสุดท้าย

“พื้นที่เสนอมรดกโลกต้องมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์จริง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่จุดเด่นคือเหลือเป็นแห่งสุดท้าย ถ้าที่นี่หมดไป ก็ไม่เหลือที่ไหนอีกแล้ว นี่เป็นหลักคิดที่เราจะเลือกพื้นที่ออกมา

เกณฑ์ที่ ๗ ด้านความสวยงามของแนวปะการังทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น เราเขียนบรรยายว่ามีความสวยงามระดับโลก เทียบกับเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อดูสถิตินักท่องเที่ยวแล้วปรากฏว่าน้อยกว่าสุรินทร์กับสิมิลัน

เกณฑ์ที่ ๙ ความสำคัญในแง่ของกระบวนการวิวัฒนาการทางนิเวศวิทยา เขตการเปลี่ยนแปลงทางชีว-ภูมิศาสตร์ เรามีทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สิ่งมีชีวิตที่จังหวัดระนองมีหลายชนิดเป็นตัวชี้วัดกลุ่มประชากรทางตอนเหนือของลำน้ำกระบุรีกับทางใต้ลำน้ำ  เรามีป่าสันทรายชายฝั่งที่หาดท้ายเหมือง ซึ่งในอดีตพบป่าลักษณะนี้ได้ทั่วไป แต่ถูกพัฒนาพื้นที่ไปหมดแล้ว ความโดดเด่นคือกระบวนการเกิดที่มาจากการกระทำของคลื่น เป็นร่องรอยของชายฝั่งทะเลโบราณ มีการพอกพูนของสันทราย และการงอกของหาดทรายเป็นช่วง ๆ  แต่ละช่วงมีวิวัฒนาการของสภาพสังคมพืช  ลักษณะนี้เคยพบได้อีกแห่งที่เกาะพระทอง แต่ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว  ส่วนหาดท้ายเหมืองยังคงอยู่และครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นความโดดเด่นว่าที่อื่นไม่เหลือแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องอนุรักษ์

เกณฑ์ที่ ๑๐ ความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชหายากหลายชนิดเป็นที่อยู่สำคัญของกระบวนการสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและผสมพันธุ์ของสัตว์ทะเล แหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟืองที่เหลืออยู่บนฝั่งแผ่นดินของมหาสมุทรอินเดีย  

ที่ผ่านมาเราเสนอมรดกโลกทางธรรมชาติแต่เกณฑ์ที่ ๑๐ แต่ของอันดามัน นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว เรายังพ่วงประเด็นวิวัฒนาการและความสวยงามเข้าไปอีก 

รวมเป็นสามเกณฑ์ความโดดเด่นที่เราเสนอมรดกโลก”  

Image

“วันนี้เราต้องตั้งคำถามกับคนที่กำลังทำเรื่องที่ตัวเอง ไม่ได้ศึกษามาจนสร้างความ เสียหายต่อระบบนิเวศ”

รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ
นักพฤกษศาสตร์ด้านอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาของพืช อาจารย์หลักสูตรชีววิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การศึกษาด้านนิเวศวิทยาและพฤกษศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร

นิเวศวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับถิ่นอาศัย โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของคน การศึกษาไม่ใช่เพื่อแสวงหาประโยชน์ แต่เพื่อแก้โง่ทำให้เกิดปัญญา  ต่างจากการศึกษาเรื่องจัดการสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจดูคล้ายกัน แต่การศึกษาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นเอาประโยชน์ของคนเป็นที่ตั้ง 

นิเวศวิทยาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ ต้องดูตามข้อเท็จจริง การไม่มีความรู้ทำให้เรามองไม่เห็นความจริงต่าง ๆ  ความจริงบางเรื่องไม่ต้องวิจัย เพราะเห็นผลตรงหน้าทันที เช่นการสร้างกำแพงกันคลื่นตามชายฝั่งแล้วเกิดการกัดเซาะ หรือการสร้างฝายแล้วทำให้ระบบนิเวศริมน้ำเสียหาย นี่มองเห็นชัด ๆ  ใช้ความรู้ที่มีทางนิเวศวิทยาพื้นฐานพิจารณาก็จะเห็น แต่ปัญหาคือคนส่วนมากไม่ได้เรียนนิเวศวิทยา แต่มักพูดถึงนิเวศวิทยาเพราะมันฟังดูดี

วันนี้เราต้องตั้งคำถามกับคนที่กำลังทำเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ศึกษามาจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ  คนลงมือทำโดยไม่มีความรู้นี่แหละตัวอันตรายเสียยิ่งกว่าคนที่ตั้งใจจะทำลายระบบนิเวศจริง ๆเสียอีก โดยเฉพาะถ้ามีอำนาจสั่งการ แต่ไม่รู้ว่าไม่รู้

การศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบต้องเริ่มจากความรู้พื้นฐานทางธรรมชาติวิทยา เช่น นิเวศวิทยา พฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ประชากรเราสนใจว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมต้นไม้มาขึ้นอยู่ตรงนี้  แต่การอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยที่ผ่านมาใช้แนวคิดการเกษตร ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน  การเกษตรมีบทบาทเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรและมีความสำคัญยิ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงประชากรคนได้ แล้วเราก็พากันเดินมาทางนี้จนสุดตัว สอนผิดจนเป็นถูกกันมานาน  หน่วยงานต่าง ๆ พากันทำลายระบบนิเวศด้วยคำว่าอนุรักษ์ แม้แต่มหาวิทยาลัยส่วนมากก็ยกเลิกการศึกษาธรรมชาติวิทยา เพราะเห็นว่าเรียนไปก็ไม่ได้เงิน คนเรียนไส้แห้ง ซึ่งก็จริงตามนั้น  

ต้องยอมรับว่ามันเกิดจากพื้นฐานคนในสังคมที่ไม่รู้รักธรรมชาติ รักตัวเองกับเผ่าพันธุ์มากกว่า ทำไปเพราะกลัวโลกร้อนแล้วจะอดอยากปากแห้ง กลัวเผ่าพันธุ์ตัวเองจะสูญพันธุ์

Image

โครงการปลูกป่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างไรบ้าง

โครงการปลูกป่าโดยการทำ CSR ของบริษัทห้างร้านหรือหน่วยงานรัฐ เพื่อประชาสัมพันธ์ว่ารักธรรมชาติ เป็นตัวอย่างชัดเจน เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งมีหน่วยงานหนึ่งจัดกิจกรรมปลูกป่า แต่เอารถมาไถสังคมพืชชายหาดที่กำลังฟื้นตัวแล้วปลูกสนทะเลลงไป เป็นการทำลายระบบนิเวศด้วยสิ่งที่ตัวเองเรียกว่าการทำความดี แต่ทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ

การปลูกต้นไม้ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ไม่ใช่การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์ไม้ตามธรรมชาติ เป็นเพียงการจัดการป่าไม้เพื่อหาทางใช้ประโยชน์ในอนาคต เพราะเมื่อเราลงมือปลูกก็เท่ากับการไปแย่งที่ของการอพยพเข้ามาของเมล็ดพันธุ์ในธรรมชาติ ขัดขวางกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ และอาจทำให้เกิดการกัดเซาะทางพันธุกรรมด้วย  เคยมีการศึกษาว่าเพียงร้อยละ ๑.๔ ของพันธุ์ไม้ที่ปลูกเท่านั้นที่รอด  ซึ่งถ้าไม่ปลูก เมล็ดพันธุ์ในธรรมชาติก็ขึ้นเองอยู่แล้ว

ไม่มีที่รกร้างในโลก ความรกร้างเป็นสิ่งที่มนุษย์นิยามขึ้นจากความเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง  ในพื้นที่ว่างเปล่า สังคมพืชย่อมเกิดการทดแทนตามธรรมชาติเสมอ

การอนุรักษ์ธรรมชาติที่แท้จริงคือการอนุรักษ์กระบวนการวิวัฒนาการตามธรรมชาติไม่ให้ถูกขัดขวางจากการกระทำของมนุษย์ต่างหาก  

มีโครงการอะไรอีกบ้างที่ทำลายระบบนิเวศเพราะความไม่รู้

ตัวอย่างของการทำความดีที่ทำลายระบบนิเวศมีเยอะมากความดีที่นิยามกันขึ้นมาเองในสังคมอวิชชา อย่างโครงการขุดลอกคูคลองโบกปูนแม่น้ำของหน่วยงานรัฐก็เป็นการทำลายป่าริมน้ำ

river corridor คือบริเวณป่าชายน้ำหรือป่าริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ รวมถึงเป็นพื้นที่ให้น้ำลงไปเก็บสะสมใต้ดิน  การขุดลอกพื้นที่ริมคลองแล้วโบกปูนจึงมีแต่โทษในทางนิเวศวิทยา แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะไม่มีความรู้นิเวศวิทยาและไม่ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรชีวภาพ  เหมือนเราเอาเงินภาษีมาจ้างให้คนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  ทุกวันนี้สังคมพืชตามแนวแม่น้ำต่าง ๆ ก็แทบไม่เหลือแล้ว

Image

สังคมพืชตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในเขตอนุรักษ์ อยู่ในที่ดินเอกชนหรือที่ดินใคร ๆ ก็ได้ แต่กฎหมายที่ดินฉบับใหม่ออกมาว่าถ้าไม่ทำประโยชน์ในที่ดินจะเก็บภาษีเพิ่ม ไม่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า  กฎหมายนี้ทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศมหาศาล คนไม่อยากเสียภาษีก็ไปเอากล้วยมาลงเป็นข้ออ้างว่าใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว

อย่างที่เกาะคอเขา ตะกั่วป่า มีการเอาทรายมาถมลงไปใน slack ของสันดอนทราย ใช้รถไถสันดอนทราย (dune) จนราบเรียบ ทั้งที่สันดอนทรายในป่าสันทรายชายฝั่งเป็นที่กักเก็บน้ำที่สำคัญมาก มันคือป่าต้นน้ำที่ไม่จำเป็นต้องไหลลงมาจากภูเขามีน้ำผุดขึ้นมาได้จากทุกที่

แม้แต่หาดท้ายเหมืองซึ่งมีป่าสันทรายชายฝั่งที่สมบูรณ์ ก็ไม่เคยอยู่ในการเรียนการสอนวิชาการเกี่ยวกับป่าไม้ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายจึงไม่รู้จักและไม่สนใจ เพราะไม่มีงานวิจัยพวกนี้เลยในเมืองไทย  พื้นที่ชุ่มน้ำหรือ wetland ในเขตร้อนก็ไม่ได้มีแค่ป่าชายเลนกับป่าพรุแบบในตำราป่าไม้ที่ท่อง ๆ กันมาแต่หน่วยงานราชการมักส่งเสริมให้ขุดลอกทำลายด้วยการอ้างคำว่าการพัฒนาเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน  ชอบส่งเสริมให้ปลูกป่าชายเลน ปลูกต้นสนทะเลริมชายหาด 

ระบบสังคมพืชบนสันทรายชายฝั่งนั้นซับซ้อนมาก ยิ่งมีโครงการปลูกป่าก็ยิ่งทำลายสภาพธรรมชาติ ทำลายระบบน้ำจืดบนดูน พื้นที่ซับน้ำชายฝั่งหรือ coastal bog ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งไม่อยู่ในสารบบการศึกษาเช่นกัน  ผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตนั้นไม่มีใครบอกได้   

หลาย ๆ โครงการที่ใช้เงินมหาศาล แต่ทำลายระบบนิเวศน่าจะเอางบประมาณไปตั้งกองทุนให้คนไปเรียนต่อทางนิเวศ
วิทยายังจะมีประโยชน์กว่า หรือใช้ส่งเสริมงานวิจัยพื้นฐานทางธรรมชาติวิทยาที่รัฐบาลไทยไม่สนใจ