Image
ภูมิประเทศลาดักซึ่งเป็นภูเขาสูงบนเทือกเขาหิมาลัย ระดับความสูงแตกต่างกันไปจากประมาณ ๓,๐๐๐ ถึง ๘,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อากาศหนาวเย็นอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในฤดูหนาว
Blooming on the Third Pole
หิมาลัยเบ่งบาน 
เส้นทางสายดอกไม้
Foto Essay
เรื่องและภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
จากกรุงเทพฯ ทางตะวันตกเฉียงเหนือผ่านพม่าไปยังอนุทวีปอินเดีย มุ่งขึ้นเหนือไปยังเทือกเขาหิมาลัย ทุ่งภูเขาสูงที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกครั้งใหญ่ ลึกเข้าไปในทุ่งภูเขา มีสิ่งมีชีวิตและผู้คนแสนพิเศษ ว่ากันว่าที่นี่เป็นดินแดนแห่งมนตราอันเก่าแก่ นามว่าลาดัก
Image
เมืองเลห์ยามพระอาทิตย์ตกดิน ศูนย์กลางของลาดักแห่งนี้มีประชากรอาศัยอยู่ราว ๑.๔ แสนคน มีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครบครัน เช่น สนามบิน โรงพยาบาล โรงแรมย่านการค้า
ลาดักและผู้มาเยือน…
ลึกเข้าไปในทุ่งภูเขา มีสิ่งมีชีวิตและผู้คนแสนพิเศษ ว่ากันว่าที่นี่เป็นดินแดนแห่งมนตราอันเก่าแก่ นามว่าลาดัก

ด้วยภูมิประเทศเทือกเขาสูง ลาดักจึงมีสภาพภูมิอากาศเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก ความแห้งแล้งแผ่ทั่วพื้นที่ ๖๘,๓๒๑ ตารางกิโลเมตร ด้วยเป็นเขตเงาฝน ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยน้อยกว่า ๕๐ มิลลิเมตร  ระบบนิเวศหลักจึงเป็นทะเลทราย ไม่เพียงแค่ทะเลทรายธรรมดา แต่เป็นทะเลทรายเย็น เนื่องจากความเย็นบนพื้นที่สูง ในฤดูหนาวจะหนาวสุดขั้วอุณหภูมิดิ่งลงไปที่ -๓๐ องศาเซลเซียส ทุก ๆ แห่งเต็มไปด้วยน้ำแข็งและหิมะขาวโพลน จนได้สมญานามว่า “ขั้วโลกที่ ๓”

ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ฤดูร้อนของลาดักกลับเป็นฤดูที่มีสีสันสดใสที่สุด กลางวันอุณหภูมิประมาณ ๒๓ องศาเซลเซียสต้นเดือนเมษายนเมื่อหิมะเริ่มละลายเผยให้เห็นภูเขาที่เต็มไปด้วยก้อนกรวด ธารน้ำใสจากการละลายของหิมะไหลลงมาตามซอกเขาค่อย ๆ ระบายสีเขียวให้แก่พื้นที่

เดือนพฤษภาคมเหล่ามวลดอกไม้เริ่มแย้มบาน แต่งแต้มก้อนกรวดเหมือนดั่งอัญมณีหลากสีสัน  พวกมันแข่งขันประชันความงดงามกันอย่างดุเดือดในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อแย่งความสนใจของเหล่าสัตว์ผสมเกสรที่มีอยู่อย่างน้อยนิดในสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย
Image
แต่เพียงแค่นั้นยังไม่เพียงพอ พืชเหล่านี้ยังต้องปรับตัวพิเศษ บางชนิดสร้างเมล็ดที่คงสภาพในทะเลทรายได้นานจนกว่าฝนจะตกจึงค่อยงอกงาม บางชนิดเปลี่ยนใบเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำและปกป้องตัวเองจากสัตว์กินพืช บางชนิดมีหัวเก็บสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน  ส่วนพืชที่เจริญเติบโตในบริเวณลมแรงจะสร้างสารเคลือบใบลดการคายน้ำและมีใบสีสดใสเพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสง

เส้นทางสายดอกไม้ของผมมีศูนย์กลางอยู่ที่เลห์ เมืองหลวงของลาดัก รัฐจัมมูและแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย การเดินทางแตกแขนงเหมือนใยแมงมุมเพื่อเข้าถึงระบบนิเวศที่หลากหลายภูเขาสูงด้านรับลม ภูเขาสูงด้านเงาฝนที่เป็นเขตทะเลทรายเย็นพื้นที่ราบสูง เนินทราย ที่ราบลุ่ม ทะเลสาบ ซึ่งมีความเหมาะสมกับชนิดดอกไม้ที่แตกต่างกัน

อันที่จริงแล้วเส้นทางสายดอกไม้ของผม ก็คือเส้นทางเดียวกันกับเส้นทางท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของนักท่องเที่ยวทั่วไป

เพียงแต่ความสนใจของผมต่างออกไป

จุดมุ่งหมายของผมอยู่ทุกที่ ในทุกซอกมุมของภูเขา ไปจนถึงก้อนกรวดแต่ละก้อน
Image
องค์ดาไลลามะสวมหมวกกะปิเยาะห์แบบชาวมุสลิม  
พสกนิกรมารอต้อนรับองค์ดาไลลามะ บางคนเตรียมจัดดอกไม้สวยงามมาถวาย

พรวิเศษ
เช้าวันแรกของการเดินทางเริ่มต้นขึ้นด้วยการรับพรจากองค์ดาไลลามะ

เป็นจังหวะพอดีที่ผู้นำสูงสุดของศาสนาพุทธวัชรยานนิกายหมวกเหลือง เดินทางแปรพระราชฐานมายังเลห์ในช่วงฤดูร้อนเราได้สัมผัสถึงความขลังของมนตราลาดักอย่างสูงสุด ร้านค้า ถนน และสถานที่ต่าง ๆ ประดับประดาด้วยธงมนตรา กลิ่นกำยานที่จุดทุกหัวมุมถนนหอมฟุ้ง  ถนนทุกสายที่องค์ดาไลลามะเสด็จผ่านจะจุดธูปดอกใหญ่เรียงราย  ผู้คนแต่งชุดพื้นเมืองประดับหินสีและเครื่องเงิน  สายธารมหาชนหลั่งไหลมายังถนนเส้นหลักของเมืองเลห์เพื่อรอรับผู้นำจิตวิญญาณที่พวกเขาเคารพนับถือมากที่สุด

พวกเราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มาเฝ้ารอพระองค์ ณ ใจกลางจัตุรัส  การได้พบพระองค์ก่อนออกเดินทางถือเป็นพรวิเศษที่สุด

กำหนดการวันนี้ขององค์ดาไลลามะ คือการเสด็จเยี่ยมศูนย์กลางของจิตวิญญาณในทุกศาสนาของเลห์

เฝ้ารอเพียงไม่นาน องค์ดาไลลามะก็เสด็จลงมาจากมัสยิดกลางพร้อมสวมหมวกกะปิเยาะห์แบบชาวมุสลิม นับเป็นการนอบน้อมและเคารพเปิดกว้างต่อทุกศาสนา พระองค์มีพระพักตร์สดใส ยิ้มสรวลตลอดเวลา  เมื่อเสด็จผ่าน ชาวลาดักจะยกมือพนมพร้อมสวดมนต์และมอบดอกไม้สีสันสวยงามที่จัดมาอย่างดีแด่พระองค์

ด้วยสุขภาพและวัย พระองค์จึงเสด็จได้ไม่ไกลนักและหยุดให้พรแค่บางครั้ง  เมื่อประทับรถยนต์แล้ว ตลอดเส้นทางพระองค์จะทรงโบกพระหัตถ์ทักทายชาวลาดักทุกคนอย่างถ้วนหน้า รวมถึงพวกเราเช่นกัน
Image
Image
Image
หุบเขาที่มีธารน้ำละลายจากหิมะบนยอดเขา ระหว่างเดินทางขึ้นจุดสูงสุด Khardung La pass 
Karakoram
Mountain Range

มนตรายังคงคลุ้งคละกับกลิ่นกำยาน ไม่ กี่นาทีหลังจากนั้นเราก็เริ่มออกเดินทางพร้อมด้วยพรอันยิ่งใหญ่ รถอเนกประสงค์สีขาวยี่ห้อ Mahindra ไต่ระดับความสูงจากเมืองเลห์มุ่งหน้าตามเส้นทางหุบเขาคาราโครัม ซึ่งต้องผ่านถนนที่สูงที่สุดในโลกบริเวณเขา Khardung La ลัดเลาะตามสายน้ำเล็ก ๆ ลงไปยังหุบเขานูบรา เลียบแม่น้ำ Shyok ไปสู่ชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน

บนเส้นทางสายนี้เรามีโอกาสเห็นพันธุ์ไม้อัลไพน์ พันธุ์ไม้ทะเลทราย รวมถึงพันธุ์ไม้บนสันดอนทรายริมแม่น้ำ ซึ่งนับว่ามีความหลากหลาย

ระหว่างทางไต่ระดับความสูงที่ระดับ ๓,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สายตามองริมถนนพบไม้ดอกทรงพุ่ม ดอกสีขาวนวลโคนสีเขียวอ่อน ใบเรียวแหลม Syrian rue (Peganum harmala) ซึ่งพบเจอได้บ่อยตลอดข้างทางแม้กระทั่งเขตชาน เมืองเลห์  ไกลสายตาไปอีกหน่อยที่ริมหน้าผา มองเห็นต้น Kamchu (Tanacetum gracile) ไม้วงศ์ทานตะวัน Asteraceae ดอกเป็นพุ่มเหมือนทรงผมแอโฟรสีเหลืองสดใส

สีสันในฤดูร้อนช่างสดใสเสียจริง นับเป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่ดี
Image
นักธรณีวิทยานิยามลาดักว่าเป็นนครหลวง ทางธรณีวิทยา ด้วยภูเขาหินสีสันแปลกตา บางก้อนสีม่วง บางก้อนสีชมพู บางก้อนสีเขียว 
Image
Image
Image
Image
Image
Image
ไต่ระดับความสูงขึ้นไปที่ ๔,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลยังคงมองเห็นเมืองเลห์อยู่สุดสายตา ตึกรามบ้านช่องเล็กจิ๋วเพียงนิดเดียว  พันธุ์ไม้บริเวณนี้เริ่มเปลี่ยนไป เพราะลมค่อนข้างแรง รูปทรงใบจะค่อนข้างแบนราบ หนาและแนบเลื้อยกับพื้น  ส่วนรูปร่างและสีสันของดอกไม้แต่ละชนิดนับว่ากินกันไม่ลงเลยทีเดียว ด้วยเป็นพื้นที่สูง แมลงที่ช่วยผสมเกสรมีไม่มากนัก ดอกไม้จึงต้องแย่งชิงกันเป็นพิเศษ งัดกลเม็ดแพรวพราวมาโชว์กันอย่างเต็มความสามารถ บ้างเลียนแบบสีสันของต้นไม้อื่น บ้างมีสีเดียวกัน แต่ดอกดูใหญ่และอลังการกว่า บางชนิดพัฒนาช่อดอกให้ยืดยาวเป็นหอคอยสูงกว่าใครเขา ถ้าเราเป็นแมลงก็คงเลือกไม่ถูก

แต่เด่นสะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นพวก Ground daisy จนผมต้องอุทานในใจว่า “ต้นไม้บ้าอะไรน่ารักมุ้งมิ้งขนาดนี้” (จากนี้ผู้อ่านคงเดาออกว่าผมนิยมพันธุ์ไม้แนวไหน) อย่าง Allardia nivea สีชมพู ใบเขียวอมฟ้า ขึ้นเป็นกระจุกแนบพื้นเหมือนพรมลายเปอร์เซียผืนเล็ก กลิ่นหอมหวานอ่อน ๆ ยิ่งอ่อนโยนต่อหัวใจ  มารู้ทีหลังว่าชาวลาดักใช้เป็นส่วนประกอบหลักของกำยาน ร่วมกับดอกไม้และไม้หอมชนิดอื่น ๆ  Allardia glabra ใบใหญ่สีเขียวสดและสีชมพูเข้มกว่า นี่น่าจะเกิดศึกแย่งชิงแมลงผสมเกสรภายในตระกูลเป็นแน่

ด้านบนเหนือหน้าผาขึ้นไป กลุ่มดอกไม้สีน้ำเงินขึ้นแซมกับดอกไม้สีขาว  ดอกไม้สีน้ำเงินเป็นที่โปรดปรานของผึ้งป่า ส่วนหนึ่งเพราะมีแนวโน้มจะผลิตน้ำหวานในปริมาณมาก แต่ในธรรมชาติไม่ง่ายเลยที่พืชจะปรับตัวให้มีสีฟ้า เพราะต้องพัฒนาโครงสร้างระดับนาโนบนกลีบดอกให้เกิดการกระเจิงสีน้ำเงินหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เพื่อช่วยให้ผึ้งมองเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ชั้นยอดของการดึงดูดแมลงผสมเกสรในพื้นที่ทุรกันดาร

ถัดขึ้นไปสัก ๑๐ นาทีที่ความสูง ๔,๒๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เรามองเห็นไม้พุ่มสีชมพูอมแดงสดใสได้แต่ไกลพุ่มขนาดใหญ่สูงกว่า ๒ เมตร มีดอกบานสะพรั่งทั่วทั้งต้น กระจายอยู่ตามแนวลำธารหิมะละลาย สังเกตว่าแต่ละพุ่มขึ้นไม่ทับร่มเงากันเลย อาจเป็นกลไกที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์เจริญเติบโต

ไม้พุ่มใหญ่สีชมพูนี้มีหนามดูคุ้นตา เพราะเป็นต้นกุหลาบป่าแท้ ๆ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rosa webbiana กลีบดอกเรียงกันแค่เพียงชั้นเดียว ไม่ซับซ้อนเหมือนไม้พัฒนาสายพันธุ์ แต่กลิ่นหอมฉุยไม่แพ้กัน

ต้นดอกบานเต็มที่ถูกรุมตอมด้วยแมลงผสมเกสรหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งผีเสื้อ ผึ้ง แมลงภู่

นี่สิตำนานแห่งมวลบุปผาที่แท้จริง
Image
Ground daisy (Allardia nivea) ดอกสีชมพูสวย ใบเขียวอมฟ้า ขึ้นอยู่เป็นกระจุกเหมือนพรมลายเปอร์เซียผืนเล็กประดับก้อนหินชาวลาดักใช้เป็นส่วนประกอบของกำยานในพิธีกรรมทางศาสนา
เริ่มต้นเส้นทาง
สายดอกไม้

สี่สิบแปดชั่วโมง คือเวลาที่ผมและเพื่อนนักเดินทางใช้ปรับสภาพร่างกายให้คุ้นชินกับพื้นที่สูงซึ่งมีออกซิเจนในอากาศต่ำ

คนพื้นราบอย่างเราจะเหนื่อยง่ายในภาวะแบบนี้ เดินขึ้นบันได ๑๐ ก้าวก็เหมือนขึ้นตึกสูงหลายชั้น

การใช้ชีวิตที่เลห์ใน ๒ วันแรก พวกเราทำตัวเหมือนสลอทเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ นอนเยอะและกินเต็มที่ หากจะเดินทางท่องเที่ยวก็จะไปไม่ไกลนัก ไหว้พระขอพร เดินตลาดจับจ่ายซื้อของที่จำเป็น และกลับมาพักผ่อน

ที่พักประจำของพวกเราชื่อว่า Ladakh villa บริหารโดย “ไบย่า” (Bhaiya) ชื่อที่ผมเรียกจนคุ้นปาก เป็นคำเรียกพี่ชายของชาวอินเดียเหนือ แต่ชื่อที่แท้จริงของเขาคือ Stazin Namgyal ชายตัวเล็ก แต่ร่างกายบึกบึน ผิวคล้ำแดงเนื่องจากแดดไว้หนวดเคราสั้น ๆ บุคลิกเหมือนจอมขมังเวทย์ในภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange

ไบย่าเป็นคนจัดการทุกอย่างในการเดินทางครั้งนี้ให้เรา ซึ่งรวมถึงจัดหาคนขับที่รู้ใจ เพราะทริปนี้เราพร้อมจะหยุดรถตลอดเวลาเมื่อเจอสิ่งที่ต้องตาต้องใจ

คืนก่อนเดินทาง คณะเรามานั่งล้อมวงคุยกัน ทุกคนดูผ่อนคลายและไม่คาดหวังอะไร การมาเยือนลาดักถือว่าได้มาพักกายพักใจ ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการสำรวจ เราจะได้มองอะไรกว้างกว่าที่สายตาและจิตใจกำหนด  ในมือผมมีหนังสือ Plants of Ladakh เขียนโดย Konchok Dorjey และ Phuntsog Dolma ซึ่งผมซื้อจากร้านหนังสือในตลาดเมืองเลห์ เป็นธรรมเนียมของผมว่าเมื่อไปที่ไหนก็ต้องแวะร้านหนังสือในเมืองนั้นก่อนเสมอ เพราะข้อมูลดี ๆ มักได้จากร้านหนังสือท้องถิ่นเกือบทั้งนั้น
Image
Gorse barberry (Berberis ulicina) 
Image
One-flowered pearly everlasting (Anaphalis nubigena)
Image
ดอกสีชมพู Oxytropis sp. ไม้ดอกวงศ์ถั่ว (Fabaceae)
Image
Syrian rue (Peganum harmala) 
Image
Himalayan crane’s-bill (Geranium collinum) ดอกสีน้ำเงินอมม่วง และ Pale catmint (Nepeta discolor) ดอกสีขาว
พืชไร้ดอก Ephed (Ephedra geradiana) ใบเรียวแหลมเป็นปล้อง ผลสีแดง 
ในหนังสือเล่มนี้มีภาพพันธุ์ไม้พร้อมข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทุกต้นมีหน้าตาแปลกประหลาดไปเสียหมด และไม่มีพิกัดใด ๆ บอก  หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลสำหรับสิ่งที่เราจะพบเจอระหว่างทาง และเป็น checklist ไปในตัว (รวมทั้งใช้ประกอบการเขียนงานชิ้นนี้ด้วย)

พลิกหน้าหนังสือ สมาชิกแต่ละคนก็ถูกใจพันธุ์ไม้แตกต่างกันไป สายหวานจะชอบดอกไม้เล็กจุ๋มจิ๋มสีชมพูเหลือง สายอลังการชอบดอกหน้าตาประหลาดผิดแปลกจากดอกไม้ทั่วไป มีสีม่วง สีน้ำเงิน ไม่ก็สีแดง สายชิลก็ได้ทั้งหมด ขอได้เห็นดอกไม้กับวิวสวย ๆ ก็เพียงพอ พวกเรานั่งพูดคุยกันอย่างมีสีสันถ้าได้เจอดอกไม้ที่ชอบก็คงดี แต่ก็ไม่เป็นไรถ้าไม่เจอ

แต่สุดท้ายก็มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่โดดเด่นต้องตาต้องใจและกระตุกต่อมความโลภผู้รักดอกไม้ทุกสายเข้าอย่างจัง จนความไม่คาดหวังอะไรในตอนแรกอันตรธานไปทันที

บนหน้า ๑๑๘ คือภาพดอกไม้สีฟ้าสดใส เกสรตรงกลางสีเหลืองอมส้ม ตัดกันโดดเด่นเหมือนหลุดมาจากหนังไซไฟเขียนชื่อไว้ว่า Himalayan blue poppy ชนิด Meconopsis aculeata  และระบุเพิ่มเติมด้วยว่าเป็นดอกไม้ในตำรับยาโบราณที่หายาก และครั้งหนึ่งรัฐบาลอินเดียเคยผลิตแสตมป์ภาพดอกไม้ชนิดนี้

เหมือนมีมนตร์อะไรบางอย่าง พวกเราทุกคนอยากพบเจอดอกไม้ชนิดนี้ในธรรมชาติ สักครั้งหนึ่งในชีวิต
Image
Caper bush (Capparis spinosa) ดอกสีขาว
กุหลาบสีชมพู Wild rose (Rosa webbiana)
ไบย่าคือความหวังแรกของเรา พวกเรารีบถามเขาทันทีว่าเคยพบเห็นที่ไหนบ้างหรือเปล่า ไบย่าเอ่ยปากบอกว่าคุ้น เพราะเป็นหนึ่งในตำรับยาของ “อัมชี” แพทย์แผนโบราณของชาวลาดักซึ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวม ใช้ตัวยาจากพืชและส่วนประกอบของสัตว์ท้องถิ่น  การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองอยู่ร่วมกับธรรมชาติมาช้านาน จึงไม่แปลกที่ความรู้เรื่องพืชพันธุ์และธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ชาวลาดักเข้าใจกันทั่วไป

แต่ดอกไม้ชนิดนี้ก็ไม่ได้พบเจอกันง่าย ๆ ตามที่หนังสือระบุไว้ว่าหายาก  ไบย่าก็ไม่รู้ว่าจะพบเจอได้ที่ไหน จึงต้องมีตัวช่วยไบย่าต่อสายถึงอีกคนหนึ่งเอ่ยถามแหล่งที่อาจพบเจอดอกไม้ชนิดนี้ ปลายสายบอกว่าไม่เคยพบเห็นในลาดักมานานแล้ว มีแนวโน้มว่าอาจหายไปจากพื้นที่ แต่ก็มีสถานที่ซึ่งมีโอกาสพบมากที่สุดคือดินแดนภายในหุบเขาซันสการ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเลห์ แต่เราไม่มีเวลาเดินทางไปได้ทัน เพราะอาจกินเวลาเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว

ความหวังของเราห่อเหี่ยวในทันใด เราไม่ควรคาดหวังแต่แรกแล้ว นี่เป็นบทเรียนแรกที่เราได้เรียนรู้ และนำสภาวะจิตใจกลับมาสู่ความเป็นจริงอีกครั้ง

เพิ่งรู้หลังจากจบบทสนทนาว่าปลายสายที่ไบย่าโทร. ไปถามคือเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของลาดัก ผู้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

ไบย่าของเราไม่ธรรมดาจริง ๆ
Image
Russian sage (Perovskia abrotanoides) 
พุ่มดอก Lycopodium prickly thrift (Acantholimon lycopodioides)
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
ไต่ลงและเนินทราย
รถยนต์แล่นถึงจุดสูงสุดของถนนที่ความสูง ๕,๓๕๙ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หิมะสีขาวโพลนกระจายอยู่ทั่วแม้เป็นฤดูร้อน มองไม่เห็นพืชพรรณ อาจเป็นเพราะความหนาวเย็นและหิมะที่ทับถมหนาแน่น นักท่องเที่ยวทั่วไปแวะพักถ่ายภาพกับหิมะกันที่จุดนี้ แต่คณะเราไม่จอดพัก เพราะอยากเผื่อเวลาไว้สำหรับดอกไม้สวย ๆ เบื้องหน้ามากกว่า

จากจุดสูงสุดจะเป็นขาลง นับจากนี้จะเป็นทางลงเขาคดเคี้ยวสู่หุบเขานูบราและแม่น้ำ Shyok  ลักษณะพื้นที่เป็นสันดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำกับที่ราบ ความสูงอยู่ที่ประมาณ ๒,๕๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

เมื่อไต่ระดับลงวิ่งเลียบแม่น้ำ ริมฝั่งเห็นต้นไม้คุ้นตา “นี่สนชมพูที่ปลูกประดับทั่วไปในบ้านเรานี่นา”

การได้เห็นไม้ประดับในถิ่นกำเนิดสร้างความตื่นเต้นในการเดินทางไม่น้อย สนชมพูแท้จริงแล้วไม่ใช่สน แต่เป็นไม้ดอกวงศ์ Tamaricaceae ซึ่งชอบขึ้นตามสันดอนทราย แพร่กระจายกว้างทั้งเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา แต่ชนิดดอกสีชมพูสวยติดชาร์ตไม้ประดับยอดฮิตอย่าง Tamarix ramosissima นี้ พบเจอได้บริเวณหิมาลัยและยุโรป
เนินทราย Hunder สถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดัง ของ Nubra valley
หันมามองฝั่งสันดอนทรายติดภูเขา ไม้ทะเลทรายกระจายกันเป็นกลุ่ม มีสองชนิดที่พบมากที่สุด ชนิดแรกคือ Caper bush (Capparis spinosa) ใบคล้ายถั่วแผ่เลื้อยราบผืนทรายดอกสีขาวเกสรสีชมพู ส่วนผลคล้ายแตง มีกลิ่นฉุนคล้ายมัสตาร์ดรวมกับพริกไทย  ยุโรปนิยมเป็นเครื่องเทศโรยหน้าอาหาร

อีกชนิดเป็นพืชไม่มีดอก gymnosperm ญาติห่างของสนชื่อ Ephed (Ephedra geradiana) ใบเรียวแหลมเป็นปล้องสีเขียวแกมน้ำเงินคล้ายหญ้าถอดปล้อง มีผลเบอร์รีสีแดงสดใสเต่งตึง  พืชชนิดนี้มีสาร ephedrine ที่ช่วยการหดตัวของหลอดเลือด จึงช่วยลดน้ำมูก ลดการบวมคั่งของเนื้อเยื่อในช่องจมูก รวมถึงมีฤทธิ์เป็นยาขยายหลอดลม

ไม่น่าเชื่อว่าพืชในถิ่นทุรกันดารขนาดนี้ มนุษย์อย่างเรา ๆ จะนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ใช้เวลาวิ่งเลาะแม่น้ำเพียงไม่ถึง ๑ ชั่วโมงเราก็ถึง Diskit หมู่บ้านในหุบเขานูบรา ซึ่งเป็นที่พักแรม ยังพอมีเวลาก่อนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าหลายชั่วโมง พวกเราจึงแวะไปชมเนินทราย Hunder อันโด่งดังของหุบเขานูบราดูเสียหน่อย

เนินทราย Hunder ที่ก่อตัวริมฝั่งแม่น้ำ Shyok เป็นสันทรายขนาดใหญ่ บางสันสูง ๓-๔ เมตร ระหว่างสันทรายมีน้ำไหลผ่านเป็นลำธารใสดูสวยงาม แต่พอเข้าไปเดินใกล้ ๆ ก็รู้สึกผิดปรกติที่ไม่มีพันธุ์ไม้ใด ๆ เลย ต่างจากเนินทรายเล็ก ๆ
อื่น ๆ ที่ผ่านตามาระหว่างทาง

ผลกระทบของการจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวร้ายแรงกว่าที่คิด อูฐที่นำมาเลี้ยงสำหรับให้ขี่ท่องเที่ยวถ่ายภาพขับถ่ายมูลและของเสียจนส่งกลิ่นเหม็น ขยะจากนักท่องเที่ยวก็เกลื่อนกลาดเต็มไปหมด  บริเวณนี้มีการปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นที่พักและส่วนบริการ เช่น ถนน ลานจอดรถ ที่นั่งเล่นพักผ่อนมุมถ่ายภาพสวย ๆ ฯลฯ

สำหรับนักท่องเที่ยว เนินทรายแห่งนี้อาจมีทุกอย่างพร้อมต้อนรับ แต่สำหรับพวกเราแล้วช่างเป็นสถานที่เงียบเหงาไร้วี่แววเจ้าของบ้านตัวจริง แม้จะพยายามมองหา

ท้องฟ้าเริ่มมืดลง คณะของเราทิ้งเนินทรายว่างเปล่าไว้เบื้องหลัง
Image
หญิงสาวชาวบัลติกำลังเตรียมทำแกงกะหรี่ผัก เมนูประจำของชาวบัลติ
Image
เก็บลูกแอปริคอตที่ร่วง รสชาติหวานอมเปรี้ยวเข้มข้น
บัลติส ตูร์ตุก
เช้าวันรุ่งขึ้นเราถูกปลุกด้วยเสียงของฝูงนก Rosefinch ที่กระโดดไปมาอยู่ข้างหน้าต่าง

การเดินทางวันนี้ไม่เร่งรีบมากนัก เพราะจุดสิ้นสุดชายแดนอยู่ไม่ไกล

หลังจากรับประทานอาหารเช้า เรามุ่งหน้าลึกเข้าไปในหุบเขา Karakoram เลียบแม่น้ำ Shyok  ทิวเขารอบข้างดูแปลกตาด้วยสีแปลก ๆ เหมือนกับอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น ทั้งสีม่วงอมชมพู สีเขียว สีเทา ข้างทางยังมี Ephed ให้เห็นอยู่ตลอด

ถนนตัดผ่านลำธารเล็ก ๆ ที่เกิดจากการละลายของหิมะเป็นระยะ ริมตลิ่งมีพุ่มดอกไม้สีม่วงอมน้ำเงินคล้ายดอกลาเวนเดอร์แต่พอดูดี ๆ กลับไม่ใช่ มันคือต้น sage มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Perovskia abrotanoides  ดอกก็มีกลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยว หอมไม่แพ้ลาเวนเดอร์ จนอดไม่ได้ที่จะสูดดมและขอถ่ายเซลฟีด้วย
 กองหิน บานประตูหน้าต่าง และวัสดุก่อสร้าง สำหรับการก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่
Image
ป้ายเตือนนักท่องเที่ยวเรื่องการทิ้งขยะให้ลงถัง
ผ่านไป ๒ ชั่วโมงจากจุดที่แวะชื่นชมต้น sage เราก็เดินทางมาถึงหมู่บ้านสุดท้ายริมชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน สถานที่ค้างแรมคืนสุดท้ายของเราในเส้นทางสายคาราโครัม

ตูร์ตุก (Turtuk) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ริมลำธาร ตั้งอยู่ในภูมิภาคบัลติสถาน ชายแดนด้านตะวันตกติดกับกิลกิต ด้านเหนือติดกับซินเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับลาดักและทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับหุบเขากัศมีร์

บัลติส (Baltis) ในภาษาทิเบตหมายถึงลำธาร และยังเป็นชื่อเรียกชนพื้นเมืองซึ่งสืบเชื้อสายทิเบตและชาวดาร์ด (Dard) มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักผลไม้ และทำนา  ในอดีตชาวบัลติส นับถือลัทธิบอนและศาสนาพุทธทิเบต  ภายหลังหันมานับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังคงคติวัฒนธรรมเดิมผสมผสานกันจนมีลักษณะเฉพาะ
Image
Image
Image
Image
รถคณะเราจอดในลานจอดรถส่วนกลางของหมู่บ้าน เดินข้ามสะพานแขวนข้ามลำธารน้ำใสแล้วไปตามทางเดินหิน ไต่ความชันขึ้นเนิน บ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่ใต้ร่มต้นแอปริคอต ซึ่งฤดูมรสุมจะออกผลสีเหลืองสด  ตัวบ้านทำจากหินเหมือนตึกแถวสี่เหลี่ยมเรียบง่าย ส่วนใหญ่มีสองชั้น ชั้นล่างเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ทุกหลังมีดาดฟ้าใช้ตากผลไม้ ข้าว พืชอาหารสัตว์ และขี้วัวสำหรับเป็นเชื้อเพลิง แต่ละบ้านแบ่งเขตด้วยกำแพงหินซึ่งมีพืชสีเขียวเกาะเป็นลวดลายสวยงาม

รอบบ้านเราพบพืชพื้นถิ่นต่าง ๆ บริเวณกำแพงมีต้น Mountain sorrel พืชสมุนไพรที่ใบมีกลิ่นมะนาว  ด้านล่างของกำแพงเป็นทางระบายน้ำซึ่งมีต้น Cremanthodium decaisnei  ทรงใบคล้าย Mountain sorrel แต่ขอบหยัก ดอกเหมือนดอกทานตะวันสีเหลืองอ่อน คว่ำหน้า ชาวบัลติสใช้เป็นสมุนไพร มีสรรพคุณช่วยละลายเสมหะ ลดไข้

ความมั่นคงทางอาหารของชาวบัลติสเป็นหนึ่งจุดแข็งของวิถีชีวิตซึ่งไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากภายนอก เรียบง่ายและอุดมด้วยวัตถุดิบธรรมชาติรอบตัว เนื้อได้จากแพะที่เลี้ยง น้ำมันจากต้นแอปริคอตที่มีอยู่เต็มหมู่บ้าน เส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าวบาร์เลย์ทั้งยังมีสมุนไพรหอมที่พบเฉพาะแถวหมู่บ้าน เป็นเครื่องปรุงรสซึ่งมีสรรพคุณเสริมสุขภาพ
Image
Image
ฝนตั้งเค้า หญิงสาวชาวบัลติกำลังรีบเร่งกลับบ้านหลังจากเสร็จภารกิจการขนฟางข้าวบาร์เลย์ เธอมีท่าทางเขินอายต่อนักท่องเที่ยว 
ด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครจึงทำให้วัฒนธรรมของชาวบัลติสเป็นที่สนใจแก่เหล่านักเดินทางทั่วทุกมุมโลก

หลังเมืองตูร์ตุกเปิดให้ท่องเที่ยวใน ค.ศ. ๒๐๑๐ ผู้รักการผจญภัยต่างหลั่งไหลมายังหมู่บ้านชนบทแห่งนี้ ภาพการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก ผู้แสวงหาความสงบและวิถีชีวิตดั้งเดิมเดินทางมาเยือนตูร์ตุกอย่างไม่ขาดสาย

ในวันที่มาเยือน เราสัมผัสได้ถึงสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง  ทั่วพื้นที่หมู่บ้านเต็มไปด้วยงานก่อสร้าง ทุ่งข้าวบาร์เลย์บางส่วนเปลี่ยนเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อต้อนรับเหล่านักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก เช่นเดียวกันกับที่เนินทราย Hunder

เจ้าของห้องพักบอกกับเราว่า ๑ คืนสร้างรายได้มากมายเมื่อเทียบกับการทำงานหนักหลายวัน บางทีอาจเท่ากับรายได้ตลอดทั้งเดือน  ชีวิตสะดวกสบายขึ้น รายได้ต่อครัวเรือนก็สูงขึ้น ตามแนวคิดจากโลกสมัยใหม่ที่บอกว่าความยากจนคือปัญหาใหญ่ รายได้ของผู้คนในหมู่บ้านที่มากขึ้นจะก่อเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และถ้าดียิ่งขึ้นไปอีก ชุมชนก็จะอยู่รอด
Image
Image
Image
ระหว่างต้มแกงกะหรี่ผักเป็นมื้อเย็นให้คณะเรา หญิงสาววัยกลางคน ภรรยาของเจ้าของที่พักบอกเล่าถึงอนาคตของหมู่บ้าน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้วิถีชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  เพื่อนบ้านเริ่มทะเลาะกัน เสียงนกร้องเสียงลม ถูกแทรกด้วยภาษาไม่คุ้นเคย  ผู้สูงอายุหลายบ้านต้องเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว

คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นในความคิดของชาวบ้านตูร์ตุกหลายคน

แค่ไหนถึงพอดี เป็นคำถามชวนคิดและขอคำปรึกษา

บางทีคำตอบเรื่องแนวทางของหมู่บ้านอาจมาจากเหล่าผู้มาเยือนสักคน บางทีอาจเป็นผู้คนของประเทศพัฒนาที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการดำเนินชีวิตแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ความอ่อนล้าส่งผลให้จิตใจโหยหาธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

อนาคตของชาวบัลติสอาจคืออดีต หนทางรอดคือพาตัวเองย้อนเวลากลับไปสู่วัฒนธรรมดั้งเดิม

แป๊บเดียวก็หมดวัน พวกเรากินมื้อค่ำแบบหมดเกลี้ยงไม่เหลือข้าวสักเม็ด น้ำสักหยด...
Image
Image
กลุ่มพันธุ์ไม้อัลไพน์ขึ้นบนยอดเขาที่มีอากาศเย็นและความชื้นสูง ในภาพมี Ground daisy (Allardia nivea), Shrubby cinquefoil (Dasiphora dryadanthoides), Rose root (Rhodiola imbricata) และ Ladakh saxifrage (Saxifraga stenophylla)
Changthang Plateau
บ่ายแก่ ท้องฟ้าในพื้นที่สูงเป็นสีน้ำเงินสดใส เมฆก้อนน้อยเหมือนภาพวาดสมัยเด็กลอยไปมา

สามวันผ่านไปอย่างรวดเร็วในหุบเขาคาราโครัม ขากลับบนเส้นทางเดิมเรามุ่งหน้าตรงกลับเลห์รวดเดียวโดยไม่แวะค้างคืนเพียง ๕ ชั่วโมงก็ถึงเมืองเลห์  หลังจากวันนี้เราจะเดินทางผ่านเส้นทางภูเขาไปทางตะวันออกบริเวณ Changthang plateau ส่วนหนึ่งของที่ราบสูงทิเบตอันกว้างใหญ่ไพศาล และเลาะลงใต้สู่ Leh-Manali highway บอกลาลาดักสู่เมืองมะนาลี รัฐหิมาจัลประเทศ

ที่ Ladakh villa ไบย่าต้อนรับเราด้วยชานมใส่เครื่องเทศอุ่น ๆ คลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง  จิบชาไปพลางนั่งพูดคุยและอวดภาพให้ไบย่าดู  ไม่น่าเชื่อว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงเราก็ต้องลาจากที่แห่งนี้ไปแล้ว
Image
Image
หลังพูดคุยเราออกไปซื้อเสบียงเตรียมตัวเดินทางในวันรุ่งขึ้น พอหอบหิ้วขนมน้ำดื่มพะรุงพะรังกลับถึงที่พัก ก็พบผู้คนมากมายนั่งคุยกันสนุกสนาน พวกเขาคือครอบครัวของไบย่า ภรรยา ลูกสาวสองคน น้องชายและภรรยาน้องชาย มาแอบเตรียมเซอร์ไพรส์พวกเราด้วยของขวัญเล็ก ๆ คนละสองชิ้นคือกงล้ออธิษฐานและแยมแอปริคอต ของขึ้นชื่อประจำฤดูร้อน เรานั่งพูดคุยหยอกล้อกับหลานกันสักพัก คณะของเราและครอบครัวไบย่าก็ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกร่วมกัน  ความอบอุ่นนี้ทำให้ยากที่จะนึกภาพการจากลา ลาดักคือบ้านอีกหลังของผมไปแล้ว

รุ่งสางเราเดินทางออกจากเลห์ ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นสู่ขอบฟ้า ภาพการโบกมือลาของไบย่าที่กระจกด้านข้างผ่านตาไปอย่างรวดเร็ว

วิ่งเลียบแม่น้ำสินธุไป ๓๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตัดขึ้นเขาผ่านหมู่บ้าน Sakti บนที่ราบบริเวณธารน้ำแข็งละลาย เราไต่ระดับคดเคี้ยวไปเรื่อยตามโค้งพับผ้าหรืออาจเรียกว่าทางโค้งยูเทิร์นก็ยังได้  พอไต่ระดับสูงถึง ๕,๓๙๑ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เราก็ถึงจุดสูงสุดของถนน Chang La pass 

หิมะโปรยต้อนรับเราบนจุดสูงสุดซึ่งเป็นระบบนิเวศแบบอัลไพน์ที่มีความชื้นสูง  มองทะลุเกล็ดหิมะปนน้ำฝนที่ปรอยลงมา เราพบกับสรวงสวรรค์ของดอกไม้อัลไพน์นานาชนิดและหลากสีสันสุดลูกหูลูกตาราวกับอัญมณีประดับบนกรวดทรายแต่ละชนิดประชันความงามแบบไม่ยอมแพ้ให้กัน

“Sorry, but to many flowers” เราบอกกับคนขับรถเพื่อให้หยุดรถ พร้อมสบถด้วยถ้อยคำต่าง ๆ นานา สายตาเป็นประกาย

เรารีบเร่งก้าวเท้า ค่อย ๆ กระโดดสั้น ๆ เหยียบบนก้อนหินใหญ่ไปอย่างระวัง เพราะกลัวทำให้ดอกไม้บอบช้ำ สายตาเพ่งมองละเอียด เห็น Ground daisy สีชมพูหวานแหววทั้งสองชนิดปูเป็นพรมปะปนกันมากเสียจนพุ่มที่เราพบครั้งแรกเล็กจิ๋วไปเลย

ในหมู่ Ground daisy ยังมีพันธุ์ไม้สีม่วง สีแดง และสีเหลือง ปะปนอยู่
ดอกไม้สีชมพูสดของ River beauty (Epilobium latifolium) เบ่งบานทั่วลำธารหิมะละลาย
 Himalayan marmot สัตว์ฟันแทะอาศัยในทุ่งหญ้าอัลไพน์เขตเทือกเขาหิมาลัย
ดอกสีเหลืองสดเป็นกุหลาบจิ๋ว ใหญ่ประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ใบเต่งตึงคล้ายเข็มอวบน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasiphora dryadanthoides

มองถัดไปอีกต้นที่ขึ้นเบียดเสียดกัน เป็นไม้อวบน้ำชื่อ Rhodiola imbricata มีดอกสีเหลืองแซมด้วยสีแดงระเรื่อ ลำต้นคล้ายพวงสาหร่ายหางกระรอก ดอกอยู่บนยอดสุด ดูเหมือนใครเอาบุษราคัมมาประดับไว้

เราก้มถ่ายรูปกันจนหน้ามืด เพราะอยู่ในที่สูง ๕,๐๐๐ กว่าเมตร  ส่วนสีหน้าคนขับก็เริ่มกังวลกลัวจะไม่ทันเวลา เพราะต้องเดินทางอีกไกล ๓๐๐ กิโลเมตรกว่าจะถึง Tso Moriri ที่พักค้างแรมของค่ำคืนนี้  ความเหนื่อยหอบทำให้เราต้องลาจากสวรรค์ดอกไม้ พอกลับเข้ารถก็รู้สึกว่าตัวเริ่มชา หนาวเหน็บ นึกแล้วก็ขำที่อยู่ทนอากาศหนาวข้างนอกนั่นได้เพราะความตื่นเต้นล้วน ๆ

รถวิ่งอยู่ที่ระดับความสูง ๕,๐๐๐ กว่าเมตร สักพักถนนก็ค่อย ๆ ไล่ระดับต่ำลงมาสู่บริเวณลำธารน้ำแข็งละลาย ภูเขากรวดสูงรายล้อม  ริมลำธารปกคลุมด้วยหญ้าสีเขียว มีฝูงปศุสัตว์อยู่อีกฟาก เป็นฝูงผสมของจามรีและโซ (dzo) ลูกผสมของวัวและจามรี วิถีของชาวลาดักเมื่อถึงฤดูร้อนจะพาฝูงปศุสัตว์เดินทางขึ้นภูเขามาหากิน
Image
Image
จากลำธารสายน้อย ๆ ค่อย ๆ รวมกันเป็นสายใหญ่ จากสนามหญ้าสีเขียวกลับกลายเป็นทุ่งดอกไม้สีเหลืองสดของ Long tube lousewort (Pedicularis longiflora) เป็นหนึ่งในดอกไม้สำคัญในตำรับยาพื้นบ้านลาดัก มีสรรพคุณช่วยรักษาการอักเสบของตับและถุงน้ำดี

เส้นทางลำธารแบ่งเป็นสายย่อย ๆ ตามการทับถมของตะกอนและก้อนหิน ตามเกาะแก่งมีดอกไม้หลากสีขึ้นหนาแน่นเป็นกลุ่มผสมของดอกไม้สีชมพูอมม่วง River beauty (Epilobium latifolium) งดงามสมชื่อ ดอกไม้สีแดงอีกชนิด คือ Tibetan rhodiola (Rhodiola tibetica)  ระหว่างที่ค่อย ๆ สอดส่องหาดอกไม้ สายตาเหลือบไปเห็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งรูปร่างคล้าย Long tube lousewort แต่สั้นกว่าและมีสีชมพูอมม่วง กระจุ๋มกระจิ๋มไม่แพ้กัน มีชื่อว่า Rattle lousewort (Pedicularis rhinanthoides)
Image
Image
Pangong Tso ทะเลสาบน้ำเค็ม ทอดยาวไปทางตะวันออกของลาดักจนถึงทิเบตตะวันตก เกลือในน้ำทำให้ทะเลสาบใสสะท้อนแสงเป็นสีฟ้า
ยังไม่ทันชื่นชมดอกครบทุกมุม ก็มีเสียงตะโกนจากคนขับว่าให้กลับขึ้นรถได้แล้ว ไม่งั้นจะไม่ทันถึงที่พักแรมแน่  พวกเราจึงรีบกระเตงกล้องพะรุงพะรังเดินขึ้นรถอย่างรวดเร็ว

ถนนสายนี้ยังคงวิ่งเลียบลำธาร แต่ยิ่งผ่านไปลำธารก็ยิ่งกว้างขึ้น มีเกาะแก่งมากขึ้น จนบางจุดกว้างมากดูเหมือนทุ่งหญ้า มองไปไกล ๆ เห็นจุดสีน้ำตาลกลม ๆ แปะอยู่

เป็นสัตว์ตัวกลมนอนแผ่ชูคอมองเราอย่างขี้เกียจ พวกมันคือ Himalayan marmot สัตว์ฟันแทะอาศัยบนทุ่งหญ้าอัลไพน์ในเขตเทือกเขาหิมาลัย ความน่ารักของพวกมันไม่เป็นสองรองใคร ยิ่งนอนแปะกลางทุ่งดอกไม้ด้วยแล้ว เป็นภาพที่น่ารักจนลืมไม่ลง

สุดเส้นทางของลำธารเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ขวางกั้นจึงหนีลัดเลาะขึ้นบนภูเขา บอกลาลำธารแสนสวยไว้เบื้องล่าง
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
ขับไปอีก ๘ กิโลเมตรก็เห็นทะเลสาบสีน้ำเงินเทอร์คอยส์ตัดกับภูเขาสีอิฐ เป็นภาพที่มหัศจรรย์มาก ความอลังการยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเรายิ่งเข้าใกล้ 

ทะเลสาบน้ำเค็ม Pangong ทอดยาวไปทางตะวันออกของลาดักจนถึงทิเบตตะวันตก เกลือในน้ำทำให้ทะเลสาบใสสะท้อนแสงเป็นสีฟ้า ครึ่งหนึ่งของความยาว ๑๓๔ กิโลเมตรอยู่ในทิเบต อีกเกือบครึ่งอยู่ในลาดัก และมี ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นส่วนข้อพิพาทหรือเขตกันชนโดยพฤตินัยระหว่างอินเดียกับจีน

เราแวะพักกลางวันที่นี่ตอนบ่าย ๒ โมง มีเวลาเหลือไม่มากนัก เพราะพระอาทิตย์ตกเวลาเกือบ ๆ ๒ ทุ่ม หกชั่วโมงกับระยะทาง ๒๘๔ กิโลเมตร เป็นเวลาที่จวนเจียนมาก

ใช้เวลาไม่นานกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พวกเราก็รีบเดินทางต่อ  ต่อจากนี้เป็นเส้นทางเปิดใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ถนนวิ่งเลียบทะเลสาบ Pangong ไปจนสุดชายแดนเขตกันชนและวิ่งขนานแนวเขตกันชนลงมาแล้วย้อนไปทางตะวันตกเล็กน้อยเข้าสู่ทะเลสาบ Tso Moriri

เส้นทางนี้จึงน่าตื่นใจที่จะได้เห็นพันธุ์ไม้แปลก ๆ รวมถึงสัตว์ป่าและทิวทัศน์สุดอลังการ
Image
ลาป่า (kiang) สัตว์เฉพาะถิ่นของที่ราบสูงทิเบต 
ลาป่าและบังเกอร์
บะหมี่ยังจุกอก เราถูกเขย่าตัวสั่นไปบนเส้นทางวิบากเป็นเรื่องไม่คาดฝัน คนขับรถก็ไม่เคยมาเส้นทางนี้  รถเคลื่อนตัวคดเคี้ยวเลียบทะเลสาบไปตามถนนลูกรัง บางช่วงก็ต้องขับรถบนก้อนกรวด ได้แต่มองไม้พุ่มกระจุกสีเหลืองจากระยะไกลจึงทำให้ไม่รู้ชนิด แต่ก็ดูสบายตา เพราะสีเหลืองตัดกับฟ้าสีน้ำเงินสวยงามดี

เราเห็นใจคนขับรถกันอย่างมาก ยิ่งเส้นทางลำบากและต้องทำเวลา เราตกลงว่าจะไม่หยุดแวะที่ไหน หากต้องจอดรถถ่ายอะไรที่สำคัญจริง ๆ ก็จะถ่ายภาพจากบนรถ

มองเลยพุ่มไม้สีเหลืองข้ามทะเลสาบไปอีกฝั่ง จะเห็นบังเกอร์ทหารเรียงกันเป็นแนวยาว

จุดนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอินเดีย มีรถทหารวิ่งสวนอยู่ตลอด พร้อมทิวทัศน์ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป ทะเลสาบบริเวณนี้สวยมากเนื่องจากสีฟ้าสดใสไม่แพ้สีท้องฟ้าเลย เพราะเป็นบริเวณที่มีความเค็มมากที่สุด
Image
ห่านหัวลายล่องลอยในทะเลสาบ Tso Moriri อันกว้างใหญ่
มองน้ำสีฟ้าเพลิน ๆ ก็พบลาป่า (kiang) สัตว์เฉพาะถิ่นของที่ราบสูงทิเบต ตัวสีน้ำตาลอมแดง คอจนถึงขามีสีขาว ยืนเล็มหญ้าพร้อมลูกน้อย และยังมีอีกสองตัววิ่งไล่กันอยู่ริมทะเลสาบฝุ่นคลุ้งกระจายเหมือนในหนังจีนไม่มีผิด

ผมตื่นเต้นเป็นที่สุด เพราะอยากพบเจอพวกมันมานาน รีบคว้ากล้องถ่ายภาพพวกมันอย่างรวดเร็วนับร้อยภาพ

รถวิ่งขนานกับลาป่าสองตัวมุ่งไปทางตะวันออกจนบรรจบเขตกันชนสุดเขตของอินเดีย จึงต้องเลี้ยวทางทิศใต้ขึ้นภูเขาขนานเขตกันชน ภาพลาป่าที่วิ่งอยู่ค่อย ๆ หายลับตาไป ภาพภูเขาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าและพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์ของที่ราบสูงทิเบต

ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำพบวัวและจามรีของชาวบ้านเล็มหญ้า มีฝูงลาป่าปะปนอยู่บ้าง เคยมีรายงานว่ามีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างลาป่าและลาบ้านในพื้นที่แถบนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง

เบื้องหลังพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ค่อย ๆ ไล่ระดับสูงขึ้นไปบนภูเขา มีแปลงข้าวบาร์เลย์เป็นหย่อม ๆ  บริเวณบนสุดของหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของอารามประจำหมู่บ้าน

หมู่บ้านแห่งนี้ชื่อว่า Chushul มีชื่อเสียงในฐานะสมรภูมิประวัติศาสตร์ในการต้านการรุกรานของจีน

เราวิ่งเลาะตะเข็บชายแดนต่อไป เส้นทาง Tsaka La วิ่งในที่ลุ่มระหว่างภูเขา ขวามือเป็นแนวบังเกอร์ยาวทำให้ใจรู้สึกตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ  ตัดกับภาพซ้ายมือที่เป็นลำธารและพื้นที่ชุ่มน้ำ
Image
Image
ใครจะคิดว่าเส้นทางนี้ทำให้เราพบหนึ่งในนกที่น่าหลงใหลที่สุดของโลก ด้วยท่าทางสง่างามและสีขนสลับขาวดำที่ดูน่าเกรงขาม  มันคือนกกระเรียนคอดำ Black-necked Crane (Grus nigricollis) ซึ่งพบได้เฉพาะที่ราบสูงทิเบต

เราเห็นคู่หนึ่งกำลังหากินร่วมกันในพื้นที่ชุ่มน้ำ คงกำลังสานสัมพันธ์และเตรียมตัวให้กำเนิดทายาทในช่วงฤดูร้อนนี้

แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ขบวนรถบรรทุกทหารที่วิ่งสวนกลับมาบอกว่าเส้นทางนี้ไม่ปลอดภัย ให้วกรถกลับเข้า Chushul และขับขึ้นเขาโดยใช้ทางอ้อมแทน

คนขับรถสีหน้ามีกังวลขึ้นทันที เราเองก็ไม่ต่างกัน แต่พยายามสงวนท่าทีเอาไว้เพื่อให้บรรยากาศไม่ตึงเครียด  ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงจึงกลับมาถึง Chushul จากระยะทางราบ ๘๐ กิโลเมตรต้องเพิ่มเป็น ๑๑๖ กิโลเมตรบนเส้นทางภูเขาอันคดเคี้ยว กว่าจะถึงเมืองที่สามารถพักค้างแรมได้

เส้นทางภูเขาต้องไต่ระดับความสูงที่เป็นโค้งพับผ้า กินเวลาไปกว่าชั่วโมง รถเราก็ไปต่อไม่ไหวด้วยยางขวาตรงที่นั่งคนขับรั่วแบน  รถจอดหยุดนิ่งที่ความสูง ๔,๕๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  การเปลี่ยนยางบนระดับความสูงนี้ทำให้ทุกอย่างทุลักทุเล การไขนอตแต่ละตัวล้วนยากลำบาก ผมคอยจับประแจมั่นให้คนขับทิ้งน้ำหนักตัวขย่มประแจให้นอตหมุน
Image
แสงแดดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีทอง ส่วนหน้าผมเริ่มเป็นสีม่วงในที่สุดก็สำเร็จตอนผมเกือบจะเป็นลมพอดี ใช้เวลารวมเกือบชั่วโมง

ผมสะลึมสะลือเพราะหมดเรี่ยวแรง เมื่อแสงส่องโดนตาทีก็ลืมตาขึ้นมาครั้งหนึ่ง แสงแดดอ่อน ๆ แยงตาค่อย ๆ จางท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี เมฆเริ่มก่อตัวหนา ผมภาวนาไม่ให้ฝนตกใช้เวลาเกือบ ๔ ชั่วโมงเราก็มาถึงเมือง Nyoma จุดค้างแรมในค่ำคืนนี้พร้อมแสงสุดท้ายที่ทะลุผ่านเมฆฝน  ผมหลับไปโดยไม่สนใจมื้อเย็น

เช้าวันรุ่งขึ้นตื่นมาพร้อมฝนพรำ ๆ ยังไม่ทันหายจากอาการสะลึมสะลือ ก็ได้รับข่าวน่าผิดหวังจากคนขับรถ ว่าเราไม่สามารถไป Tso Moriri ได้ เนื่องจากดินถล่มจากฝนตกเมื่อคืน ต้องมุ่งลงใต้ออกจากลาดักทันทีก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่ไปกว่านี้หากเส้นทางถูกตัดขาด

สำหรับผมและเพื่อนในคณะอีกสามคนเคยไปทะเลสาบ Tso Moriri มาแล้วเมื่อ ๓ ปีก่อนจึงไม่รู้สึกเสียดายมากนัก แต่ก็เสียใจแทนเพื่อนอีกสองคนที่จะไม่ได้เห็นความสวยงามของทะเลสาบกว้างใหญ่สีเทอร์คอยส์ และภาพห่านหัวลาย Bar-headed Goose (Anser indicus)

ตราบใดที่ยังมีชีวิต เราก็ยังมาได้อีก ผมพูดปลอบใจตัวเอง
Image
ส่งลา ลาดัก
การเดินทางในทุ่งภูเขาสูงผ่านระบบนิเวศทะเลทรายภูเขาลงใต้สู่ Manali รัฐหิมาจัลประเทศ คงยาวนานไม่แพ้วันก่อน

จากเมือง Nyoma เราผ่านทะเลสาบเกลือ Tso Kar ที่น้ำมีความเค็มสูงจนบางช่วงตกผลึกขาวแผ่คลุมไปทั่วสภาพแวดล้อมบริเวณนี้ดูแปลกตาและน่าตื่นเต้น เราเจอนกกระเรียนคอดำหลายคู่ที่นี่ และในที่สุดผมก็ได้ภาพดี ๆ แม้จะไกลลิบก็ตาม มารู้ทีหลังว่าทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งทำรังที่สำคัญของพวกมัน

เราเข้าสู่ Leh-Manali highway ลัดเลาะไปตามภูเขาสภาพธรณีวิทยาสองข้างทางช่างสวยงาม ผ่านทะเลทรายบนภูเขา mountain desert  บ้างเป็นโตรกผากว้างใหญ่หรือหลุมยุบตัวคล้ายแพะเมืองผี  ถนน highway สองเลนสายนี้สภาพไม่ค่อยดีนัก มีการก่อสร้างทั้งเส้นทาง อย่างต่ำคงต้องใช้เวลา ๑๒ ชั่วโมงในการเดินทาง เราไม่มีเวลาหยุดพักดูอะไรข้างทางเลย
Image
Himalayan blue poppy (Meconopsis aculeata) ดอกสีฟ้าเหลือบม่วงชูช่อเด่นสง่า
ใช้เวลาเกือบ ๘ ชั่วโมงผ่านขบวนรถบรรทุกที่สวนทางมากมาย เราก็มาถึงจุดพักสุดท้ายก่อนออกจากเขตลาดักเข้าสู่รัฐหิมาจัลประเทศ มื้อกลางวันเวลาบ่ายโมงในเพิงพักเล็ก ๆ ฝนตกพรำ ๆ เราสั่งอาหารกันเต็มที่ เมนูโปรดคือ ข้าวผัด ผัดหมี่ และไข่เจียว  ระหว่างรออาหาร เราสลับกันไปเข้าห้องน้ำที่อยู่บนเนินหลังร้าน  ระหว่างที่ผมนั่งรออาหารกุมมือเพราะความหนาวเย็นอยู่เพลิน ๆ เพื่อนอีกคนก็วิ่งเข้ามาพร้อมโวยวายว่า

“เจอแล้ว เจอแล้ว เจอดอก Himalayan blue poppy ที่ตามหาแล้ว อยู่ข้างห้องน้ำนี่เอง !”

ผมเดินไปทางห้องน้ำ ฝั่งตรงข้ามของห้องน้ำเป็นโขดหินมีดอก Himalayan blue poppy ชนิด Meconopsis aculeata ชูช่อเด่นเป็นสง่า สีฟ้าเหลือบม่วงช่างสวยงาม

มันอยู่ตรงหน้านี้เอง เราได้เจอกันจนได้

เราใช้เวลาสุดท้ายในลาดักอย่างเต็มอิ่มกับดอกไม้สีฟ้าแสนงดงาม

ตลอดการเดินทางที่ผ่านมาทั้งหมดเหมือนธรรมชาติต้องการบอกอะไรบางอย่างกับเรา
“เราไม่ควรคาดหวังอะไร หากเราตั้งใจดีแล้ว เกิดอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ ให้ปล่อยวาง ให้มันเป็นไปตามวิถี”
Image
Image