Image
ที่ใดมีการกดขี่...
กบฏผู้มีบุญ
ภาค 2
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
“ผู้คนพลเมืองในมณฑลนั้นเป็นคนป่าเถื่อน โง่เขลายังไม่ถึงความสามารถจะประพฤติตามขนบธรรมเนียมแบบแผนอย่างหัวเมืองชั้นในได้”

ชาวมณฑลอีสานตามสายตาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๔๔๔ ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย กราบบังคมทูลรายงานต่อรัชกาลที่ ๕

“ขนบธรรมเนียมแบบแผนอย่างหัวเมืองชั้นใน” นั้นคงรวมถึงเรื่องการเรียกเก็บภาษีด้วย ที่คงเป็นภาระอันยากที่ชาวบ้าน “จะประพฤติ” ได้

ด้วยความเป็นอยู่ที่ไม่ได้มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตเนื่องจากผลิตปัจจัย ๔ ได้เองทั้งหมด  ครั้นต้องดิ้นรนหารายได้มาจ่ายภาษีเป็นเงิน ก็กลายเป็นความข้นแค้นขัดสนสำหรับคนชนบทที่เคยพึ่งพาตัวเองอยู่ได้อย่างเรียบง่าย

“ตามความอนุมานแห่งอาตมภาพ เข้าใจว่าเป็นขึ้นเพราะความคับแค้นขัดสนนั่นเอง”

ความเห็นของพระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าคณะมณฑลอีสานในขณะนั้น (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) ซึ่งเขียนรายงานต่อกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๔๕ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการจลาจลครั้งใหญ่ในมณฑล

“จ้างกันทำงานราคาถูกเหลือเกิน เป็นต้นว่า ทำนา ๑ ปี ได้เงินเพียง ๕ บาท หรือ ๒ บาทเท่านั้น” ส่วนคนขายแรงงานแลกเงิน “ค่าจ้างงานก็ถูก เงินหาได้ยาก” ตามรายงานของพระญาณรักขิต

การทำมาหาเงินที่ฝืดเคืองยังถูกซ้ำเติมด้วยกฎระเบียบการซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถทำกันเองได้อย่างอิสระดังแต่ก่อน ต้องมีการออก “พิมพ์เขียว” โดยเจ้าหน้าที่

“ในการค้าขายสัตว์พาหนะมีความลำบากหลายประการผู้ซื้อผู้ขายก็อยากซื้ออยากขาย แต่พิมพ์อยู่ข้างติดขัด ข้อนี้ดูเหมือนปั่นกันแทบทุกเมืองว่าพิมพ์ไม่มี  ครั้นช้างม้าพลัดหนีไป ถ้ามีผู้จับนำส่งศาลต้องริบเป็นของหลวง ถึงจะติดตามก็ไม่ได้โดยมาก”

ในลิขิตพระญาณรักขิตว่าด้วยราชการในมณฑลอีสาน, ๑๐
กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๐ - ๓ กันยายน ร.ศ. ๑๒๑ รายงานความยากลำบากของราษฎร

โดยผิวเผินการออกพิมพ์รูปพรรณสัตว์อาจดูเหมือนช่วยลดการลักขโมย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดทางให้ข้าราชการเข้ามามีส่วนในการซื้อขาย ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้เกิดการหารายได้ทั้งเพื่อเข้ารัฐและส่วนตัว

เช่นเดียวกับการเก็บภาษี ที่แม้ว่ากรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงออกกฎ “ห้ามมิให้เจ้าหมู่เก็บเงินส่วยแก่ตัวไพร่โดยไม่มีกำหนดอัตรา และไม่มีปริมาณ ไม่มีฎีกาใบเสร็จให้เป็นคู่มือแก่ผู้เสียเงินเหมือนดังแต่ก่อน” ตั้งแต่สมัยพระองค์เป็นข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว

แต่ในความเป็นจริง “หัวเมืองที่ห่างจากข้าหลวง มักมีผู้โกงเรียกเงินส่วยแก่ราษฎรก่อน แต่ยังไม่มีปี้จะให้ เมื่อสิ้นเขตร
ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งนำเรื่องราวฟ้องว่าเจ้าพวกนั้นไม่เสียส่วย ตุลาการชำระเห็นไม่มีหลักฐาน ต้องปรับเป็นแพ้ ฝ่ายโจทย์ก็รวยไปด้วยฝ่ายจำเลยต้องเป็นทหารหรือกองกลาง สุดแท้แต่ตุลาการจะตัดสิน” ตามลิขิตพระญาณรักขิต
Image
ก่อนนั้นคนท้องถิ่นไม่ได้เสียภาษีเป็นเงิน แต่ส่งส่วยให้เจ้าเมืองเป็นผ้าทอ ของป่า  แต่นับจากจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล ชายไทยอายุ ๑๘-๖๐ ปี ต้องเสียภาษีปีละ ๓.๕๐ บาท แล้วเพิ่มเป็น ๔ บาท ตามพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการปี ๒๔๔๔

จะมี “ประกาศตักเตือนราษฎร” ให้เตรียมเงิน ๔ บาท เสียภาษีตั้งแต่เดือนเมษายน (เดือนแรกของปีในสมัยนั้น) จนถึงเดือนมกราคม ถ้าเข้าเดือนกุมภาพันธ์จะถูกเก็บส่วยเป็น ๘ บาท เดือนมีนาคมเป็น ๑๒ บาท  ถ้าข้ามปีไปแล้วจะถูกปรับเป็น ๓๐ บาท ซึ่งในจำนวนนี้จะจ่ายเป็นรางวัลค่าแจ้งจับผู้ไม่เสียภาษี ๒๐ บาท ส่งเข้าหลวง ๑๐ บาท ถ้าไม่มีเงินจ่ายต้องเป็น “คนกองการ” ทำงานโยธา ๑ เดือน

แต่ที่น่าแปลกใจและสวนทางอย่างสุดขั้วกับสิ่งที่เรียกว่าอัตราภาษีก้าวหน้าที่กล่าวกันยุคนี้คือ ในยุคนั้นกลุ่มคนที่ร่ำรวยและได้เปรียบในสังคมอยู่แล้วอย่างกลุ่มเศรษฐี ข้าราชการ ช่างฝีมือ เจ้านายท้องถิ่นและครอบครัว ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี !

ขณะที่ชาวบ้านชั้นล่างต้องดิ้นรนหาเงินมาเสียภาษีอย่างยากลำบาก ผู้เฒ่าชาวขอนแก่นคนหนึ่งเคยเล่าให้ สุวิทย์ ธีรศาศวัต บันทึกไว้ว่า เขาต้องหาบไก่ ๑๖ ตัว เดินทาง ๑๔๐ กิโลเมตร จากอำเภอมัญจาคีรีไปขายที่เมืองโคราช ตัวละ ๑ สลึง เพื่อให้ได้เงินมาจ่ายส่วย ๔ บาท

ภาษีที่เก็บจากไพร่จะแบ่งให้กำนันหัวละ ๑๖ อัฐหรือ ๒๕ สตางค์ ให้คนเขียนใบเสร็จ ๑ อัฐต่อฉบับ นอกนั้นส่งเข้ากรุงเทพฯ โดยกรมการเมืองผู้ใหญ่ในท้องถิ่นจะได้รับส่วนแบ่งเป็นรายปี เจ้าเมืองที่เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมืองได้ ๘ อัฐ อุปฮาดที่เปลี่ยนเป็นปลัดเมืองได้ ๔ อัฐ  ราชวงศ์หรือยกกระบัตรเมืองได้ ๓ อัฐ  ราชบุตรหรือผู้ช่วยราชการเมืองได้ ๑ อัฐ  และแบ่งให้กรมการเมืองรอง ๆ อีกคนละ ๒ อัฐ ตามจำนวนชายฉกรรจ์ ซึ่งน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้กับที่ผู้นำท้องถิ่นเคยได้อยู่แต่เดิม

“ข้าราชการหัวเมืองพากันขัดสนลงมากแทบทุกเมือง เพราะความได้แลความเสียส่วนไม่เสมอกัน” รายงานพระญาณรักขิตจากการออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ ในปี ๒๔๔๔

ในหมู่ชาวบ้านก็ยังไม่พร้อมจะปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ของส่วนกลาง กรมขุนสรรพสิทธิฯ ก็เห็นว่า คนเหล่านั้น “เป็นคนซึ่งเป็นบอบ้า เมา หรือผิดมนุษย์ธรรมดา หรือคนโง่งั่งแลคนโลภนักมักใหญ่”

ความไม่พอใจจากการถูกขูดรีดภาษีแผ่ลามกว้างไกลในหมู่ราษฎร ขณะที่ผู้นำท้องถิ่นที่สูญเสียทั้งรายได้และอำนาจซึ่งมีมาแต่เดิม  คนทั้งสองกลุ่มมีส่วนช่วยหนุนส่งขบวนการผู้มีบุญให้เข้มแข็งขึ้นกระทั่งมีกำลังมากพอที่จะฝันถึงการเข้ายึดเมืองอุบล
Image
หนึ่งร้อยยี่สิบปีล่วงผ่าน บ้านสะพือคงเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มาก นอกจากถนนคอนกรีตและลาดยางที่มาแทนทางเกวียนหมู่บ้านประวัติศาสตร์ศึกโนนโพธิ์ยังคงเป็นชุมชนท้องถิ่นอีสานที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนสายหลักระหว่างเมืองใหญ่ ความเจริญไม่ได้ขยายตัวจนเปลี่ยนโฉมหน้าชุมชนจนกลายเป็นเมืองที่ไม่เหลือเค้าเดิม  แต่บ้านสะพือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ระดับตำบลที่มีองค์ประกอบของความเป็นบ้านเมืองที่สมบูรณ์แบบอยู่พร้อมสรรพ ทั้งในแง่ภูมินิเวศธรรมชาติและประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างชุมชนอันยาวนาน

ชุมชนขนาดใหญ่จนต้องแบ่งเขตการปกครองออกเป็นสี่หมู่บ้านของตำบลสะพือตั้งอยู่บนเนินซึ่งลาดลงมาสู่ที่ลุ่มทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารที่น้ำพัดพามาจากในหมู่บ้าน ดังที่คนเก่าแก่ในชุมชนบอกว่า “เป็นนาดีที่สุดของอำเภอตระการพืชผล ด้วยน้ำจากวัดบูรพาและจากหมู่บ้านไหลลงมาทางนี้ทั้งหมด ข้าวงามโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย

ริมทุ่งมีหนองผือหรือ “คำ” ที่เป็นแหล่งน้ำซับให้กำเนิดน้ำตลอดทั้งปีไม่เคยเหือดแห้ง  ข้ามไปอีกฟากของท้องนา เป็นบ่อเกลือที่คนในถิ่นได้อาศัยตักน้ำเค็มใต้ดินมาต้มเกลือตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

“เอาสังกะสีแผ่นเรียบมากดมาตีเป็นหม้อตั้งบนเตาฟืน ตักน้ำใส ๆ ขึ้นมาจากส่างหรือภาษากลางก็คือบ่อ ต้มทีละ ๘ ลิตรสามครั้งได้เกลือราวปี๊บหนึ่ง ตอนหลังเขาไม่ให้ตัดฟืน ขนแกลบมาใช้ไม่ไหวเลยเลิกทำกันไป” ตามคำเล่าของอดีตนักต้มเกลือบ้านสะพือ
Image
Image
ข้างบึงเกลือเป็นแนวลำห้วยสายใหญ่ต่อเนื่องมาถึงห้วยแฮ่ที่เป็นเหมือนคูเมืองตามธรรมชาติของหมู่บ้านด้านทิศตะวันตกอย่างเหมาะจะเป็นที่ตั้งค่ายพักพลสะสมเสบียง ด้วยความอุดมของผักปลา ข้าว เกลือ และการรวบรวมไพร่พล

เรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของพื้นภูมิท้องถิ่นบ้านสะพือบอกเล่าอยู่ในจิตรกรรมไทยขนาดยาวบนผนังศาลานาบุญ วัดบูรพา ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่วัดที่ตั้งอยู่สี่มุมบ้านสะพือ  และอีกครั้งหนึ่งของภาพเขียนถ่ายทอดเหตุการณ์วันศึกโนนโพธิ์ซึ่งเล่าเรื่องในทำนองเดียวกันว่า พลพรรคผู้มีบุญมาปล้นสะดมขึ้นบ้านข่มเหงชาวบ้าน ปะทะกับกองกำลังของฝ่ายบ้านเมืองและถูกยิงด้วยปืนใหญ่แตกตูม  ผู้นำและสาวกผู้มีบุญที่รอดจากคมดาบคมกระสุนและหลบหนีไม่ทันถูกจับมัดมือ คุมตัวเป็นเชลยเดินเรียงแถวเหยียดยาว

อ่านความหมายจากเรื่องราวในภาพดูเหมือนว่าในท้องถิ่นทุกวันนี้ไม่ได้รู้สึกทางบวกกับวีรกรรมของขบวนการผู้มีบุญ แบบที่คนรุ่นหลังมีต่อกลุ่มชนที่ลุกขึ้นสู้ปกป้องท้องถิ่นของตนอย่างชาวบ้านบางระจัน หรือวีรกรรมของสามัญชนที่ทุ่งสัมฤทธิ์

“ตามที่พระอาจารย์ได้ยินชาวบ้านสมัยก่อนพูดกัน เขาว่าผีบ้าผีบุญมาที่นี่แค่มาตั้งทัพเพื่อหาพรรคพวกไปตีเมืองอุบลแต่คนสะพือไม่ได้เข้าร่วม” พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพา พูดถึงผู้มีบุญตามที่รับฟังมาจากคนท้องถิ่น

อาจเป็นตามความจริงที่ว่าผู้แพ้ไม่เคยมีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ หรือด้วยความเป็นพลเมืองในสังกัดของรัฐไทยต่อมา หรือเพราะเหตุใดที่ทำให้คนในบ้านสะพือดูจะพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างระมัดระวัง ไม่มีใครเลยที่ออกตัวว่ามีความเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับขบวนการผู้มีบุญในครั้งโน้นหรือหากมีความเกี่ยวข้องก็อยู่ในฝ่ายบ้านเมือง

“ยังเหลือดาบกับปืนโบราณที่ใช้สู้กับข้าศึกสมัยนั้น ยังมีอยู่ที่บ้าน” ประดับโชค บัวขาว เจ้าของที่นาแถวโนนโพธิ์ พูดถึงสิ่งที่เหลือจากยุคปราบกบฏ เขาเล่าว่าตาทวดข้างภรรยามาร่วมรบศึกครั้งนั้นด้วย “พวกผีบุญฟันบ่เข้า ทหารมาฆ่ามาหลอยยิงเขาด้วยปืนใหญ่”

“ตาทะ บัวโรย อยู่บ้านโคกใหญ่ ตำบลโคกจาน ก็มาช่วยรบเพิ่นมีมนตร์ ฟันไม่เข้า มีมนตร์ตันปืนด้วย คนรุ่นหลังยังมาขอเรียนเวลาจะไปรบ” ประยงค์ บัวขาว ภรรยาประดับโชคเล่าถึงตาทวดที่ร่วมรบต้านศึกโนนโพธิ์ด้วย “ผีบุญมาจากลาวโน่น ฝ่ายโน้นแต่งกลอนลำเก่ง เขามาล้างสมองพวกเราอนุสรณ์สถานที่จะมาสร้างนี่ ถ้าเข้าข้างผีบุญนี่ไม่เอานะ”
Image
Image
เสียงที่พูดถึงอดีตมีแตกต่างกันไปหลายทางหลายแง่มุมแต่สำหรับพระครูสถิตบูรพาฯ ประธานฝ่ายสงฆ์ในงานบุญแจกข้าวรำลึกถึงผู้มีบุญ กล่าวเพียงว่า “ชาวบ้านว่าถ้าทำได้ก็ดีเขาไม่ได้พูดถึงว่าผีบุญดีหรือไม่ดี พระอาจารย์ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน คิดอยู่ว่ามันยังไง แต่คิดว่าทำบุญก็ได้บุญ คิดง่าย ๆ อย่างนี้แหละ”
...
ทั้งในคำเล่าของเอกสารและบริบทประวัติศาสตร์ คงปฏิเสธได้ยากว่าชุมชนอันเป็นที่พักพลตั้งค่ายจะไม่มีสายสัมพันธ์ใด ๆกับเจ้าของถิ่น  แม้มองกลับไปจากวันนี้ก็ออกจะเป็นความน่าภาคภูมิด้วยซ้ำ กับการที่บรรพชนกลุ่มหนึ่งที่กล้าหาญออกนำการต่อสู้ต้านการกดขี่และความอยุติธรรมจากอำนาจรัฐ

เรื่องที่ไม่มีใครเล่า ทว่ามีหลักฐานข้อเท็จจริงเป็นที่รู้ทั่วกันว่าหลวงพ่อโทน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพา วัดใหญ่ที่สุดในสี่แห่งของหมู่บ้านสะพือ เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของสำเร็จลุนวัดบ้านเวินไชย หรือที่คนไทยเรียกสมเด็จลุน ที่ตามคำให้การขององค์เหลืองสน ผู้นำกลุ่มผู้มีบุญที่ถูกจับกุมตัวไปสอบสวนให้การว่าเป็นผู้ได้รับการวางตัวให้เป็นเจ้าเมืองหากยึดอุบลราชธานีได้สำเร็จ

“หลวงปู่โทน พระที่มีชื่อเสียงของบ้านนี้ เป็นลูกศิษย์สมเด็จลุน ถ้าผู้มีบุญชนะท่านจะได้เป็นเจ้าเมืองอุบล แต่เรื่องนี้ถูกทำให้หายไป เป็นการแยกศาสนากับการเมือง ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ตั้งวัดธรรมยุตแห่งแรกที่เมืองอุบล ที่นี่คนเชื่อพระมากกว่าเชื่อเจ้า เป็นผู้นำจิตวิญญาณของผู้คน”

ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พูดถึงเรื่องที่หลายคนรู้แต่ไม่มีใครพูดถึง

“สมเด็จลุนเป็นอาจารย์ของหลวงปู่โทน ซึ่งเป็นคนที่นี่ แต่ไม่มีการเชื่อมโยงหลวงปู่โทนไปถึงสมเด็จลุน ประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นเป็นความเงียบที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง”

แต่ไม้เท้าคู่กายของสำเร็จลุนที่ฝากไว้กับวัดบูรพา ก็คงสะท้อนความสัมพันธ์ของผู้มีบุญกับหมู่บ้านสะพือ

“ตอนอาตมาเป็นเณร เห็นไม้นั้นวางอยู่ก็คว้าไปไล่ตีหมา ไม่รู้เรื่อง ยังเป็นเด็ก” พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพารูปปัจจุบัน เล่าย้อนสิ่งที่ท่านได้รู้เห็นสดับมาโดยตรง

“ไม่รู้เรื่อง เป็นเด็ก หลวงปู่ก็บอกว่านี่ไม้เท้าสำเร็จลุน ‘ท่านมอบให้ผม’ นี่หลวงปู่โทนเล่าให้ฟัง ก็ยังเก็บรักษาไว้ทุกวันนี้”
Image
จากริมฝั่งโขงที่โขงเจียม เขมราฐ ขุหลุ ตระการพืชผล จนถึงบ้านสะพือ กลุ่มผู้มีบุญมีชัยมาตลอดเส้นทางและมีมวลชนเข้ามาร่วมขบวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงราว ๒,๕๐๐ คน “ถึงตรงที่เป็นหมู่บ้านเสาธงใหญ่ในปัจจุบัน ก็ปักธงผืนใหญ่ไว้ และปักธงผืนเล็กไว้แถวหมู่บ้านเสาธงน้อย” พินิจ ประชุมรักษ์ เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อ ๑๒๐ ปีก่อนตามที่ได้ฟังจากคำเล่าของปู่ย่าตายาย เชื่อมโยงกับร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏมาถึงทุกวันนี้  ปัจจุบันทั้งสองชุมชนที่พ่อใหญ่พูดถึงอยู่คนละฟากห้วยใหญ่กับหมู่บ้านสะพือ  บ้านเสาธงน้อยอยู่ในเขตตำบลนาพิน ส่วนบ้านเสาธงใหญ่อยู่ในตำบลเซเป็ด
Image
Image
“เรื่องนี้จะเริ่มใหญ่โต ขอกำลังที่ปืนดี ๆ สี่ห้าหกร้อยไปช่วยโดยเร็ว”

เมื่อข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์มั่นเมืองอุบลถูกสื่อสารผ่านโทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิฯ ผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสานถึงส่วนกลาง เรื่องนี้กลายเป็นเหตุการณ์ “จลาจลในพระราชอาณาจักร” ในมุมมองของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ

กองทหารจากเมืองนครราชสีมาและนายทหารจากกรุงเทพฯก็ถูกส่งไปช่วยปราบ

ตามรายละเอียดที่กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เขียนถวายรายงานถึงรัชกาลที่ ๕

กองร้อยทหารปืนใหญ่ ๑ กอง รวมนายทหารพลทหารทั้งสิ้น เฉพาะแต่ประจำกองรบ ๑,๗๓๐ คน ทหารที่ยกไปได้จ่ายกระสุนปืนคนละ ๑๐๐ นัด เสบียงไปกับตัวได้ ๕ วัน สำรองอีก ๕ วัน มณฑลนครราชสีมาได้สั่งเสบียงขึ้นไว้ตามระยะทาง

ที่ดูว่าอาจส่งกองทหารมากเกินไปบ้าง “โดยเห็นด้วยเกล้าฯว่ามากดีกว่าน้อย จะไม่ต้องถึงกับเสียเลือดเนื้อ ให้เป็นที่หวาดเสียวที่คงจะต้องกระจายไปเอง กับจะได้ประจักษ์แก่คนว่าสามารถยกไปได้มากและเร็ว โดยพระบรมเดชานุภาพ”

แต่เรื่องที่คาดว่าจะให้ “หวาดเสียว” แล้ว “จะต้องกระจายไปเอง” ก็ได้รับการพิสูจน์โดยสถานการณ์ที่ตามมาว่าไม่เป็นความจริง ทุ่งสังหารที่บ้านสะพือเป็นประจักษ์พยานอันชัดเจน

แม้กระทั่งหลังจากปราบกบฏกลุ่มอุบลที่บ้านสะพือราบคาบลงแล้ว การตระเตรียมและส่งกำลังทหารไปยังมณฑลอีสานก็ยังดำเนินต่อไป

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๔๕ ใบบอกจากผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการถึงรัชกาลที่ ๕ รายงานจำนวนทหาร “ที่ยกไปแล้วทั้งสิ้น ๒,๒๘๒ คน” เตรียมพร้อมอยู่ที่มณฑลนครราชสีมา ๑,๕๐๓ คน กับพลที่ระดมมา “ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้ฝึกหัดอยู่ เพื่อได้ชำนาญแม่นยำขึ้น”

รัชกาลที่ ๕ มีลายพระหัตถ์ “ไปรเวต” ถึงกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ใน “ราชการปราบพวกประทุษร้าย” ครั้งนี้ว่า “การซึ่งส่งทหารไปมากเป็นทางที่ถูกใจพ่อ เห็นว่าไม่ควรจะทำเยาะแยง...แต่เพียงพวกลาวได้เห็นทหารเราประจำอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ก็คงจะมีผลให้ครั่นคร้ามได้”

และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งจบวิชาการทหารสมัยใหม่จากเดนมาร์ก ไปช่วยหนุนกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ปราบกบฏ โดยส่งกำลังทหารไปทางรัตนบุรี-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี และอีกกองไปทางสุวรรณภูมิยโสธร โดยกำชับรับสั่งว่าหากมีเหตุจลาจลที่ไหนระหว่างทางให้ปราบให้สงบ
Image
ระหว่างพักพลอยู่ที่บ้านสะพือ องค์มั่นบัญชาให้ปลูกศาลเพียงตา จำศีลภาวนา จัดเตรียมเสบียงอาหาร ตากข้าวเหนียวสุกยัดไถ้ผูกรอบเอวทุกคน เป็นการเตรียมเข้าสู่สงครามตามแบบยุทธวิธีของขบวนการผู้มีบุญ

ขณะที่กองกำลังปราบกบฏนำโดยหลวงชิตสรการ กับนายร้อยตรีอิน ทหาร ๒๔ คน พลเกณฑ์ ๒๐๐ ออกจากเมืองอุบลราชธานีในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๔๕ มาถึงชายทุ่งนอก
หมู่บ้านสะพือตอนเย็นวันที่ ๓ เมษายน ตั้งซุ่มอยู่คนละฝั่งห้วยกับที่พักพลของผู้มีบุญบริเวณโนนโพธิ์

ในสนามรบสมัยนั้นคงยังไม่มีนักข่าวสงครามร่วมทัพมาด้วยจึงไม่มีภาพและบันทึกเหตุการณ์จากสนามรบ แม้เป็นสมรภูมิขนาดใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในมณฑลอีสาน  ภาพเหตุการณ์วันปราบกบฏผีบุญที่เล่าขานรับรู้กันต่อมาส่วนใหญ่อ้างจากนิทานโบราณคดี ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบอกว่าเขียนจาก “พวกทหารที่ได้ไปด้วยเขามาเล่า” โดยเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ ๔๐ ปี เมื่อปี ๒๔๘๕ และตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในอีก ๒ ปีต่อมา ในงานพระราชทานเพลิงศพของพระองค์

“ที่ตรงนั้นทางเดินเข้ามาเมืองอุบลเป็นย่านตรง สองข้างเป็นป่าไม้ทึบเหมือนต้องเดินมาในตรอก หลวงชิตสรการให้ทหารตั้งซุ่มอยู่ในป่าที่ตรงหัวเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่บรรจุกระสุนปราย ซ่อนไว้ในซุ้มต้นไม้ หมายยิงตรงไปในตรอกนั้น”
Image
รุ่งขึ้นวันที่ ๔ เมษายน หรือหลังขึ้นปีใหม่ ๒๔๔๕ ได้ ๔ วัน

“ยิงนัดแรกตั้งศูนย์สูงนัก ลูกปืนข้ามหัวไป พวกผีบุญก็ยิ่งกำเริบพากันเต้นแร้งเต้นกาอวดเก่งต่าง ๆ แต่ยิงนัดที่ ๒ ถูกพวกที่มาข้างหน้าหัวเด็ดตีนขาดล้มตายลงเป็นระเน พวกที่มาข้างหลังหยุดชะงัก  ยิงซ้ำนัดที่ ๓ ที่ ๔ ถูกพวกนั้นตายเป็นจุณวิจุณไป พวกผีบุญที่เหลือก็แตกหนีเอาชีวิตรอดไม่มีใครต่อสู้ทหารไล่จับเอาตามใจ” กับอีกแหล่งอ้างอิงกันมากหนังสือของเติม วิภาคย์พจนกิจ ซึ่งผู้เขียนบอกไว้ในคำนำว่าเขียนขึ้นจาก “บันทึกการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาน” ซึ่งพ่อของเขาคือพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ข้าราชการมณฑลอีสานในตำแหน่งนายอำเภอพิบูลมังสาหาร และช่วงหนึ่งเคยเป็นเลขาฯ ของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาน ซึ่ง “ได้รวบรวมสมุดเล่มใหญ่เก่าคร่ำคร่า” เหล่านั้นไว้

ผู้เขียนได้นำมาปะติดปะต่อกับหลักฐานอื่นที่หามาได้ใหม่ได้แก่ พงศาวดารหัวเมืองอีสาน กับ บันทึกการปกครองหัวเมืองมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๙๙  จนถึงปี ๒๕๕๗ พิมพ์เป็นครั้งที่ ๕ ในชื่อ ประวัติศาสตร์อีสาน เป็นหนังสือหนาเกือบ ๖๐๐ หน้า ฉากล้อมปราบผู้มีบุญกลุ่มอุบล ในงานเขียนของเติมเริ่มจากหน้า ๔๔๐ ซึ่งบอกว่ากองกำลังของมณฑลอุบลเคลื่อนพลออกจากเมืองอุบลเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๔๔ พลบค่ำวันที่ ๓ ถึงบ้านสะพือพักพลอยู่ห่างค่ายพวกผีบุญราว ๕๐ เส้น

เช้าวันรุ่งขึ้น “เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. พวกผีบุญยกกองจะไปตีเมืองอุบล ตามทางที่นายร้อยเอก หลวงชิตสรการซุ่มปืนใหญ่และดักกองทหารลวงไว้นั้น หลวงชิตสรการสั่งให้ทหารปืนเล็กยาวหมวดหนึ่งออกขยายแถวยิงทำเป็นต้านทานไว้แล้วทำเป็นถอยมา ล่อพวกผีบุญให้ตามมาตามทางที่พรางไว้นั้น พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ นายร้อยเอก หลวงชิตสรการก็สั่งให้ยิงปืนใหญ่ออกไป ๑ นัด โดยตั้งศูนย์ให้ลูกปืนใหญ่นั้นเลยข้ามพวกผีบุญไปก่อน และเพื่อเป็นสัญญาณปีกซ้ายขวาให้รู้ตัว พวกผีบุญเห็นลูกปืนใหญ่มิได้ถูกพวกของตนเป็นอันตราย ก็ยิ่งกำเริบเสิบสานเต้นแร้งเต้นกา พากันคิดว่าองค์มั่นนี้วิเศษแท้สมเป็นผู้มีบุญจริง กระสุนปืนใหญ่จึงได้แคล้วคลาดไป แล้วก็พนมมือโห่ร้อง ซา ซา (สาธุ) แสดงความยินดีพร้อมกับวิ่งกรูเข้าต่อสู้ทหาร”

แต่ใน “ลิขิตพระญาณรักขิต ว่าด้วยราชการในมณฑลอีสาน รายงานกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์” ที่ นงลักษณ์ ลิ้มศิริคัดมาลงไว้ในวิทยานิพนธ์ “ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๔๕” บอกว่าฝ่ายผู้มีบุญไม่ได้ต่อสู้เลย“ดูเหมือนเขาจะไม่คิดขบถประทุษร้ายต่อแผ่นดินอะไร ตั้งใจจะตายให้ดูเท่านั้น เพราะทราบความว่าเมื่อกองทัพยกเข้ามาประชิด เขาเตือนกันว่าใครอย่ายิงอย่าทำอะไรหมด ให้นั่งภาวนา ดังนั้นฝ่ายเราก็ยิงแต่ข้างเดียว”

ขณะที่ข้อมูลจากสำเนาโทรเลขของหลวงสรกิจพิศาล รายงานจากพื้นที่ถึงกรมปลัดยุทธนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๕
เมษายน ๒๔๔๕ ว่า “หลวงชิตถึงบ้านสะพือวันที่ ๔ เมษายน พบคนร้าย ๑๐๐๐ คนเศษ สู้กัน ๔ ชั่วโมง ปืนใหญ่ยิง ๔ นัด ปืนเล็กยิงไม่กำหนด  คนร้ายตาย ๒๐๐ คนเศษ ที่ถูกเจ็บไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คนเศษ จับได้ ๑๒๐ คนเศษ ทหารไม่อันตราย”

ส่วนในสำเนาโทรเลขลงวันที่ ๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑ จากกรมขุนสรรพสิทธิฯ อุบลราชธานีถึงกระทรวงมหาดไทยว่า
“เมษายน ที่ ๔ บ่าย หลวงชิตสรการ ร้อยตรีอิน ทหาร ๒๔ คนพลเกณฑ์ ๒๗๐ คน  กรมการ ๔ คน ปืน ๑๐๐ ดาบ ๑๐๐ ได้รบพวกประทุษร้ายที่บ้านกระพือ ๔ ชั่วโมง  พวกประทุษร้ายแตกตาย ๒๐๐ เศษ จับได้ ๑๐๐ เศษ ถูกบาดเจ็บไปมากฝ่ายพวกเราเจ็บบ้างคนสองคน”
Image
Image
มีการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของฝ่ายผู้มีบุญด้วยว่า ขาดยุทธวิธีในการรบและการจัดหน่วยรบแบบกองทัพสมัยใหม่อย่างฝ่ายรัฐ รวมทั้งขาดอาวุธที่ทันสมัยทำให้พ่ายแพ้ราบคาบทั้งที่รวบรวมคนเข้าเป็นพวกได้จำนวนมาก

เป็นการต่อสู้ทางการเมืองผู้ถูกกดขี่และด้อยโอกาส อาจเป็นการใช้กฎหมู่ เอากำลังเข้าแลกเหมือนบางม็อบในยุคนี้แต่อีกฝ่ายคนน้อยกว่าเลยเลือกใช้อาวุธ หลังจากสร้างเงื่อนไขให้เกิดการใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ได้แล้ว “มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงชีวิต”

หรืออาจเหมือนบางม็อบ ผู้นำได้รับความศรัทธา แต่ไม่สามารถควบคุมมวลชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ สมาชิกบางส่วนอาจเลือกหนทางความรุนแรงแล้วทำให้เหตุการณ์บานปลายหรือฝ่ายบ้านเมืองใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงตอบโต้

หรือบางทีแผนการยึดเมืองของขบวนการผู้มีบุญอาจไม่ใช่ด้วยกองกำลัง ไม่ใช่เอาชนะด้วยการยุทธ์ แต่อาจเป็นการเข้ายึดโดยมวลชนเหมือนที่บางม็อบเคยใช้วิธีนี้ชัตดาวน์กรุงเทพฯ
...
ก่อนเสียงปืนใหญ่แตกขึ้นกลางสมรภูมิ เติม วิภาคย์พจนกิจบรรยายภาพว่า มีผู้เห็นองค์มั่นเดินประนมมือเสกเป่านุ่งขาวมากลางพล แต่เมื่อ “เห็นท่าไม่ได้การเลยปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีเอาตัวรอดไปกับพวกราว ๑๐ คน ทหารได้พยายามติดตามจับตัวแต่ไม่ทันและไม่ทราบหลบหนีไปทางใด ตอนหลังทราบว่าได้ข้ามฟากไปฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว”

ราวครึ่งเดือนต่อมามีใบบอกที่ ๒๖ จากพระองค์เจ้าวัฒนาข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุดร ถึงกระทรวงมหาดไทย แจ้งข่าวได้รับใบบอกจากผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหารว่าราษฎรเมืองสุวรรณเขตแตกตื่นเข้ามาเมืองมุกดาหาร เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑ องค์แก้วองค์มั่นเข้าเมืองลำเนาแหกตะราง เอานักโทษไป ๑ คน เจ้าเมือง กรมการและราษฎรเข้าเป็นพวก ๒-๓ พันคน คนเหล่านั้นมีปืน ๒๐๐-๓๐๐ กระบอก  ต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน องค์มั่นคุมพวกเข้าตีเมืองสุวรรณเขตตรงข้ามเมืองมุกดาหาร

องค์มั่นกับพลพรรคที่เหลือหนีกลับไปทางฝั่งซ้าย แล้วร่วมกับองค์แก้วบุกโจมตีเมืองสุวรรณเขต ที่อยู่ตรงข้ามเมืองมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๔๕ 

แต่ถูกฝรั่งเศสปราบอย่างรุนแรง องค์มั่นจึงกลับมาตั้งหลักอยู่ที่บ้านกระจีน เมืองเขมราฐอีกครั้ง ข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสานสันนิษฐานว่ามาเพื่อช่วยเพื่อนเชลยจากสมรภูมิบ้านสะพือ และถูกกวาดล้างในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม องค์เมตไตรยถูกยิงตาย และผู้มีบุญอีกคนถูกจับ นอกนั้นแตกหนีกระจัดกระจายไปเป็นสามกลุ่ม  ฝ่ายไทยมีหนังสือถึงฝรั่งเศส “...ขอให้ท่านสงเคราะห์ตรวจจับอ้ายเหล่าร้าย ๓ หมู่นี้กว่าจะได้  ถ้าอ้ายเหล่าร้ายแตกข้ามไปฝั่งขวา พวกข้าพเจ้าก็จะตรวจจับอ้ายเหล่าร้ายนี้กว่าจะได้ จึงจะได้อยู่เย็นเป็นสุขทั้งสองฝ่ายพระนคร”

ไม่มีหลักฐานว่าองค์มั่นถูกติดตามจับกุมตัวได้หรือไม่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวของผู้มีบุญกลุ่มนี้ในเขตพื้นที่สยาม

แต่คำร้องขอให้ช่วย “ตรวจจับอ้ายเหล่าร้าย” ได้รับความร่วมมือจากฝรั่งเศส ซึ่งได้ปราบผู้มีบุญอย่างหนักหน่วงรุนแรงไม่ต่างจากทางสยาม

ตามหนังสือจากท้าวปุย เจ้าเมืองสุวรรณเขต ถึงผู้ช่วยราชการเมืองนครพนม รายงานเรื่องท้าวธรรมกิจติกาไปดูที่รบและบ่อฝังซากพวกผีบุญที่บ้านชวด ซึ่งผีบุญยกพวกประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ ถึงริมเมืองสุวรรณเขต ทหารยิงปืนออกไป “พวกอ้ายผีบุญก็ตายเดียระดาดก่ายกองกันอยู่ รบกันประมาณครึ่งชั่วโมงก็แตกกระจายไป” ตาย ๑๓๓ คน ยึดปืนได้ ๑๕๐ กระบอก  พวกที่รอดหลบหนีไปอยู่หนองกระดัน หนองหลวง แขวงเมืองสองคอน

ต่อมาวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๑ มีรายงานจากข้าหลวงประจำเมืองมุกดาหารว่า เมื่อ ๓ วันก่อน พวกผีบุญที่หนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองสองคอน ได้พ่ายแพ้ฝรั่งเศสแล้ว
Image
“ฝรั่งเศสได้เอาไฟเอาบ้านราษฎรหมดไม่ให้มี แลราษฎรที่บ้านหนองกระดันนี้ ผู้ชายฝรั่งเศสได้ฆ่าเสียหมด เอาไว้แต่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปีลงมากับผู้หญิง จะเอาไปเป็นเชลยเมืองหลวงพระบาง”
...
ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง การติดตามกวาดล้างสะสางคดีผู้มีบุญก็ยังดำเนินต่อไป

โทรเลขจากนายพันโท หลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๖ มณฑลอีสาน เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๔๕ รายงานผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการว่า นายร้อยเอก หลวงชิตสรการได้ส่งผู้ร้ายมาที่เมืองอุบลอีก ๖๐ คน กับอาวุธหอกดาบ ๑๒๒ เล่ม ปืนแก๊บแลคาบศิลา ๓๙ กระบอก  กับอาวุธของกองนายร้อยที่ผู้ร้ายได้ไป  ปืนแมนลิเดอร์ ๒ กระบอกดาบปลายปืน ๓  เข็มขัด ซองดาบ สิ่งละ ๒ ปัสตัน ๓๘ นัด

ในเมืองอุบลมีเสียงเล่าขานต่อกันมาว่า เชลยศึกถูกควบคุมตัวมาที่ทุ่งศรีเมืองกลาง ถูกขังไว้ที่ห้องมืดใต้ถุนอาคารศาลากลางหลังเก่า ที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

แต่ตามหลักฐานว่าช่วงปีที่ปราบกบฏผีบุญยังไม่มีอาคารหลังนี้ เนื่องจากถูกสร้างขึ้นภายหลังเมื่อปี ๒๔๖๑

ว่าตามจริงถ้าเป็นตามคำเล่าขานอาจจะดีเสียกว่า เพราะในความจริงผู้ถูกจับกุมมีจำนวนมากจนคุกไม่พอขัง ต้องใส่ขื่อคาคอมัดตากแดดตากฝนอยู่กลางทุ่งศรีเมือง ตามหลักฐานในคำทูลถามของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในสำเนาโทรเลข วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๔๕ 

“มีผู้ส่งข่าวมาลงพิมพ์ว่า พวกผีบุญที่จับมาไว้ที่อุบลฯ ต้องกรากกรำทนแดดฝนอยู่กลางแจ้ง ตายวันละ ๕-๖ คน และทั้งผู้คุมก็ต้องทรมานอยู่กลางแจ้งอย่างเดียวกัน หวังใจว่าเป็นความไม่จริง”

ซึ่งกรมขุนสรรพสิทธิฯ ยอมรับว่า “เรื่องนี้จริงดังเขาว่า” เพราะ “มันมากไม่มีที่อื่นพอจะให้อยู่”

จึงเป็นความจริงว่าผู้ถูกจับกุมที่ยังไม่ได้ตัดสินความผิดต้องตรากตรำแดดฝนจนเสียชีวิตไปก่อนถูกไต่สวนหาความจริงก็คงมีไม่น้อย

มีคณะตุลาการที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อตัดสินความผิดข้อหากบฏต่อแผ่นดิน มีคำตัดสินตามแจ้งในสำเนาโทรเลข หมายเลข ๓๕ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๔๕ จากกรมขุนสรรพสิทธิฯ ถึงกระทรวงมหาดไทย “จะตัดสินลงโทษอ้ายพวกเหล่านี้นั้น เห็นว่าพวกที่ ๑ ให้เรียกทัณฑ์บนสาบานดังกึกก้องปล่อยไปที่ ๒ จำ ๓ ปี  ที่ ๓ จำ ๑๐ ปี  ที่ ๔ จำตลอดชีวิต  ที่ ๕ ประหารชีวิต ตามพยายามหนักแลเบา แต่เวลานี้ยังไม่ได้ช่องว่าผู้ใดหนักเพียงไรรู้แต่มีน้ำหนักควรตายเกือบครึ่ง”

รัชกาลที่ ๕ มีลายพระหัตถ์ถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ส่งโทรเลขถึงกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ว่า “...พระราชทานอาญาสิทธิแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ให้มีอำนาจที่จะประหารชีวิตผู้ซึ่งควรแก่โทษ ตามพระราชกำหนดกฎหมายตลอดเวลาที่ระงับจลาจลในมณฑลอีสาน”

และ

“ควรจะประหารชีวิตหลาย ๆ แห่ง ในที่ซึ่งมีผู้นิยมนับถือเพื่อให้เป็นการปรากฏ จะได้สิ้นนับถือ”

รายรอบบริเวณโนนโพธิ์ นอกหมู่บ้านสะพือ ในเวลานั้นเล่ากันว่าเรียงรายไปด้วยหัวคนที่ถูกเสียบประจานอยู่บนหลักไม้ไผ่

นานวันเนื้อหนังเปื่อยเน่ากะโหลกหลุดพื้น กลายเป็นหัวผีล่อน เป็นแหล่งอาหารของพวกแมงกุดจี่และสุนัขในหมู่บ้านตามคำเล่าขานของชาวบ้านสะพือมาจนทุกวันนี้

แต่หลักไม้ไผ่บางลำไม่แห้งตาย หากแตกตุ่มตาออกแขนงใหม่ ขยายกลายเป็นไผ่กอใหญ่เรียงรายอยู่ตามริมนาต่อมาจนทุกวันนี้
Image
Image
Image
...
ส่วนที่หนีรอดจากสมรภูมิโนนโพธิ์ รวมถึงที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มองค์มั่น แต่มีการกระทำเข้าข่ายผู้มีบุญ ก็ถูกติดตามกวาดล้างจับกุม

คงคล้าย ๆ การกวาดล้างคอมมิวนิสต์ รวมทั้งคำเรียกขานก็ใช้คำว่า “พวกที่ก่อการร้าย” ตามคำเรียกของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ผู้ว่าราชการเมือง ในใบบอกที่รายงานต่อกระทรวงมหาดไทย

ซึ่งแน่นอนว่าการกวาดจับแบบจ้องจับผิดแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้ ย่อมต้องมีผู้บริสุทธิ์ติดมาด้วยไม่น้อย บางทีแค่หมอไสยเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน “เข้าข่าย” เล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่มีแนวคิดต่อต้านอำนาจรัฐหรือการเคลื่อนไหวในมิติทางการเมือง ซึ่งในบรรดาผู้มีบุญที่ถูกจับมาได้ไม่น้อยกว่า ๖๐ คน ส่วนใหญ่ก็อยู่ในข่ายการเคลื่อนไหวเชิงสังคม ที่ไม่ได้มีจุดหมายทางการเมืองแต่อย่างใด

และการเคลื่อนพลของกองกำลังขนาดใหญ่ยังเชื่อมโยงกับการใช้งบประมาณด้วย ตามที่ส่วนท้องถิ่นแจ้งมาว่า “การปราบจลาจลมณฑลอีสานคราวนี้ จำเป็นต้องจ่ายเงินเกินกว่างบประมาณ”

ตามรายละเอียดว่าเป็น “เบี้ยเลี้ยงทหาร ๑๐๘ คน คนหนึ่งวันละ ๒๐ สตางค์ รวม ๑๐ วันเป็นเงิน ๒๑๖ บาท” สำหรับทหารที่เรียกระดมใหม่หลังการปราบใหญ่ที่บ้านสะพือ ส่งไปประจำการอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ในมณฑลอีสานแห่งละเจ็ดคน

หรือเมื่อมณฑลอุดร “ขอรับประทานเบี้ยเลี้ยง เดือนละ ๖ บาท” สำหรับการ “รักษาการต่าง ๆ” กระทรวงมหาดไทยก็เห็นชอบด้วย

“ได้คิดเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องใหญ่...เงินที่จะใช้ในการปราบปรามเรื่องนี้...และเงินสินบนนั้นอย่าเสียดาย ถึงจะให้ ๆ มากหน่อยก็ได้ คิดเอาแต่การให้สำเร็จเรียบร้อยเปนประมาณ”

รวมทั้งการตั้งค่าหัวผีบุญด้วย ดังปรากฏในสำเนาโทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิฯ ถึงกรมหลวงดำรงฯ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๔๕ “แลได้ประกาศรางวัลจับผีบุญและผู้นับถือผีบุญ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ราคาผีบุญตัวละ ๔๐๐ บาท ถึง ๘๐๐ แล ๑๐๐๐ บาท”

หลังจากนั้นส่วนกลางส่งนายทหารมาเป็นหัวหน้าในการนำกวาดล้างอีกหกนาย ประสานกำลังทหารบก พลตระเวนและทหารพื้นเมืองตระเวนกวาดจับผีบุญในมณฑลต่าง ๆ อย่างรุนแรงจนการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏสงบราบคาบลงได้ในช่วงเวลา ๔-๕ เดือน

ท้ายสุดรัฐยังตามลบล้างความเชื่อออกจากชีวิตจิตใจของคนท้องถิ่น ด้วยการตรากฎหมายเรื่องผีสางขึ้นเมื่อปี ๒๔๔๘ “...ห้ามไม่ให้ราษฎรนับถือผีสางใด ๆ อีกเป็นอันขาด เช่น เข้าทรงลงเจ้า สูนผี มีผีไท้ ผีฟ้า ผีมเหศักดิ์หลักเมือง ต่าง ๆ ด้วยอาการใด ๆ ก็ดี...” ผู้ฝ่าฝืนให้ปรับ ๑๒ บาท หรือจำคุก ๑ เดือน

เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นก็มี แต่จะเลือนรางคล้ายถูกกลบฝังไปพร้อมกับร่างผู้แพ้พ่ายในสมรภูมิ นอกจากคำเล่าขานแบบกระซิบกระซาบในหมู่ชาวถิ่นที่เกิดศึกโนนโพธิ์และประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของผู้มีบุญ ซึ่งแทบไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป
Image
Image
Image
“นี่ไม่ใช่การรื้อฟื้น แต่เป็นการพูดถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ถูกปิดไว้”

ถนอม ชาภักดี ผู้ริเริ่มจัดงานบุญแจกข้าวแด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์ ที่เขาเปรียบว่านี่คือการ “เปิดหน้าดิน” ครั้งแรกหลังการสังหารหมู่และกลบฝังร่างผู้ถูกตราหน้าว่า “ข้าศึก” ไว้ใต้ผืนดินโนนโพธิ์ หมู่บ้านสะพือ

“เป็นการยืนยันว่าไม่ควรมีใครถูกทำให้เป็นคนอื่นแล้วฆ่าทิ้งได้” ธีระพล อันมัย อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นอีกคนที่ร่วมลงแรงในงานบุญครั้งนี้

“ผมไม่ได้เป็น ‘พวกสามนิ้ว’ ไม่ใช่ ‘คนเสื้อแดง’ แต่เรื่องให้ความรู้ก็อีกเรื่องหนึ่ง  เขามาถามก็ให้ความรู้ไปตามที่เรามี” พินิจ ประชุมรักษ์ เป็นผู้นำชาวบ้านคนหนึ่งในงานบุญแจกข้าวครั้งนี้ 
Image
เขาเป็นครอบครัวข้าราชการเช่นเดียวกับคนจำนวนไม่น้อยในหมู่บ้านสะพือ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีความรู้และมีความคิดทางการเมืองชัดเจน

“เขามาศึกษาเราต้องให้ เป็นครูโดยอาชีพอยู่แล้ว  ถ้าคนอื่นมาหาความรู้แล้วไม่มีน้ำใจก็กระไรอยู่หนา เวลาเราไปพึ่งเขามันก็มีทีใครทีมัน พึ่งพาอาศัยกันประสาคนอีสาน”

พร้อมกับการเปิดหน้าดินสถานที่ประวัติศาสตร์ทุ่งสังหารผู้มีบุญ อาจารย์ถนอมเปิดประเด็นหารือกับชุมชนเรื่องการสร้างอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ศึกโนนโพธิ์

“คิดมานานหลายปีแล้ว พูดไปทุนไม่มี คนช่วยทำก็ไม่มีทางการไม่ได้พูดถึง  เวลามีนักศึกษามาถาม ก็บอกอยู่โนนโพธิ์แต่ไม่เห็นอะไร  คิดว่าต้องมีอนุสรณ์สถานให้เยาวชนได้ศึกษาเวลาเขามาถาม จนอาจารย์ถนอมเข้ามาก็ว่าได้โอกาสแล้วได้ช่วยกันคิด”

พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพา ผู้นำทางจิตใจของชาวบ้านเห็นด้วย ชาวบ้านก็เห็นตาม ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเต็มที่ ตามที่ครอบครัวของประดับโชคสะท้อนว่า “ถ้าไม่เพราะท่านชาวบ้านไม่บริจาคกันนะ ขอบคุณบารมีของเพิ่น แต่ก่อนทางนี่น้อย ๆ พอท่านมาขอเจ้าของที่ก็พร้อมใจกันยกให้”

ท่านขอบิณฑบาตที่ดินสองข้างทางเกวียนจากเจ้าของซึ่งเคยเป็นทางออกไปไร่นามาแต่เดิม ขยายเป็นถนนกว้าง ๘ เมตร รถยนต์เข้าออกได้ จากท้ายหมู่บ้านออกไปยังโนนโพธิ์ เสร็จทันก่อนวันงานบุญแจกข้าว

“ขอที่ทำถนน เขาให้ อาจารย์ก็รีบทำเลย และคุยกับนายก อบต. ว่าถ้าเงินเหลือช่วยเอาถนนคอนกรีตมาลงให้หน่อย”

ส่วนจุดที่จะตั้งอนุสรณ์สถาน บริเวณนาผีหัวล่อนนั้น สืบย้อนกลับไปได้สามชั่วอายุคน ดั้งเดิมที่นาทั้งแถบโนนโพธิ์เป็นของ ไชยกู๋ ประชุมรักษ์ อดีตกำนันตำบลโนนโพธิ์แต่ครั้ง กระโน้น เป็นมูนส่งต่อให้ลูกสาวชื่อ อุ่น บัวขาว  จากนั้นที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายแปลงให้กับลูกทุกคน รวมทั้งประดับโชค บัวขาว และ ราตรี สุวรรณเพิ่ม ซึ่งได้แปลงหัวผีล่อนไปด้วย แต่ที่ถูกทิ้งร้างมาหลายสิบปี นับแต่เธอเกษียณจากราชการครูแล้วย้ายไปอยู่ระยองกับสามี  ครั้นรู้ว่านาแปลงนั้นจะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง เธอยินดียกที่นาแปลงนั้นให้

แต่เมื่อจะสร้างอนุสรณ์สถานให้เป็นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ประดับโชค บัวขาว น้องชายของราตรีเห็นว่ายังต้องมีพื้นที่สำหรับสร้างแหล่งเรียนรู้และรองรับผู้มาศึกษาเยี่ยมเยือน ต้องมีพื้นที่รองรับที่กว้างพอ

เขาเสนอขอแลกที่นาของตัวเองที่อยู่ถัดลงไปในที่ลุ่ม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำนามากกว่า เปลี่ยนกับที่นาดอนของพี่สาวแปลงที่อยู่ต่อกับนาหัวผีล่อน เพื่อจะบริจาคสมทบให้ที่ตั้งอนุสรณ์สถานกว้างขวางขึ้น
นั่นอาจเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการรวบรวมกำลังพลเตรียมทำศึกในยุคโบราณ เหมือนที่พระเจ้าตากสินมหาราชออกตระเวนตีโอบรวบรวมกำลังจากหัวเมืองต่างๆ ก่อนเข้ายึดกรุงศรีฯ คืนจากพม่า  แต่ถึงตอนนั้นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ตีตรากบฏให้กับคนเหล่านั้นแล้ว
“คิดว่ายังไงก็เอาไปไม่ได้” คำอธิบายของประดับโชคเมื่อถูกถามความในใจว่าทำไมยกที่นาส่วนตัวมอบให้สาธารณะ

“ต้องมีที่จอดรถ มีห้องน้ำ มีอะไรต่าง ๆ ด้วย ผมคิดอย่างนั้นก็เลยเอาที่นาของผมซึ่งอยู่ที่ลุ่มได้ข้าวเยอะกว่า และเป็นที่นาติดกับถนน มาขอเปลี่ยนกับนาพี่สาว ปรึกษากันว่าสิ่งอื่นมันเอาไปบ่ได้ดอก ที่ดิน เงินทอง เรื่องความรู้สำคัญกว่า เอาไว้เป็นมรดกให้ลูกให้หลานเบิ่ง เพิ่นก็โอเค”

และบอกด้วยว่าที่นาของตนยังมีอีกเยอะ

เหตุผลข้อหลังนี้ชวนสะท้อนสะเทือนใจ เมื่อเห็น ๆ กันอยู่ว่า
ยังมีเศรษฐีที่ร่ำรวยกว่าชาวนาบ้านนอกอีกมากมาย ที่บางคนไม่เคยคิดเสียสละเลยแม้แต่น้อย
...
เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันข้างหน้าอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์-บ้านสะพือ นอกจากเป็นแหล่งให้รำลึกศึกษาเรื่องศึกโนนโพธิ์แล้ว ก็คงจะเป็นหมุดหมายตอกย้ำคำกล่าวเดิม ๆ ได้อย่างหนักแน่นอีกครั้งว่า ไม่มีใครที่จะสร้างอนุสาวรีย์ให้กับประชาชน มีแต่พวกเขาที่ต้องลุกขึ้นมาสร้างด้วยตนเอง

กองบุญแจกข้าวระดมทุนสร้างอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์-บ้านสะพือ ในปีแรกได้ทุน ๗๘,๑๓๔ บาท ซึ่งถนอมคาดว่าใช้เวลาราว ๕ ปี อนุสรณ์สถานจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้  แต่หลังจากนั้นไม่ถึง ๓ เดือน เขาก็มาจากโลกไปก่อนด้วยการเจ็บป่วยแบบฉับพลัน

หัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งจากไปขณะอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์-บ้านสะพือ ยังไม่ทันก่อรูป

แต่หน้าดินถูกเปิดออกแล้ว วิญญาณการต่อสู้ของผู้ถูกกดทับ พ่ายแพ้ ถูกกลบฝังมานานร่วม ๑๐๐ ปี ได้ก่อรูปขึ้นในใจคนที่ได้รับรู้และได้ตระหนักในใจต่อกันว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการลุกขึ้นสู้

เป็นอนุสติที่จะคอยย้ำเตือนใจไม่ให้วนซ้ำย้ำรอยเดิม เป็นอนุสรณ์เชิงนามธรรมที่มีพลังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาคารสถานที่อันจับต้องมองเห็นได้

ทุกครั้งที่มีการหยิบยกเหตุการณ์สังหารหมู่ที่บ้านสะพือขึ้นมาพูดกันใหม่ ก็มักจะมีการแตกประเด็นวิเคราะห์กันไปหลายแง่มุม แต่โดยรวมคือความอยุติธรรมและการกดขี่ จากปมของความรู้สึกไม่เท่าเทียม จึงต้องดิ้นรนหาหนทางสู่เสรีภาพแล้วการรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ก็เป็นหนึ่งในหนทางที่มักถูกเลือกเสมอ ตามข้อความในโปสเตอร์งาน ๑๒๐ กบฏผู้มีบุญ ที่ติดอยู่ตามมุมนั้นมุมนี้ของงานบุญ  ปานคำประกาศหรือการย้ำเตือนใจด้วยถ้อยคำธรรมดาสามัญ แต่หนักแน่นในความหมายที่เป็นข้อเตือนใจได้ทุกยุคสมัยตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

วลีสั้น ๆ นั้นมีว่า

ยุติธรรมไม่เกื้อหนุน 
ผีบุญจึงเกิด  

ขอขอบคุณ
หทัยรัตน์ พหลทัพ, อติเทพ จันทร์เทศ, วิทยากร โสวัตร, ผอ. ชำนาญ ภูมลี, บารมี สมาธิปัญญา, อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, ศรีมาลาฌ์ ยะภักดี, มหทัพพ์ ลอยศักดิ์, พัฒนา ทีสุกะ, ทัศน์วรรณ ขันทะชา, เฉิดฉันท์ ศรีพาณิชย์

สำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ 
อุบลราชธานี และศูนย์ข้อมูลสารคดี-เมืองโบราณ

คารวะและอาลัยแด่ 
อาจารย์ถนอม ชาภักดี และโดม ผู้ริเริ่มและร่วมเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการ “เปิดหน้าดิน” เรื่องผู้มีบุญเมืองอุบล และดำเนินโครงการก่อตั้งอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์-บ้านสะพือ

หนังสืออ้างอิงและอ่านประกอบการเขียน
จิตร ภูมิศักดิ์. ๒๕๑๙. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

ชุมพล แนวจำปา. ๒๕๓๕. “ขบถผู้มีบุญ”. ใน อุบลราชธานี ๒๐๐ ปี. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ๒๕๓๓. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๖. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี ถวัลย์ ศรีเพ็ญ, กรุงเทพมหานคร : หจก. เกษมการพิมพ์.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ๒๕๓๘. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. ๑๒๕ พ.ศ. ๒๔๔๙. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา.

เตช บุนนาค. ๒๕๓๒. การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๕๘. ภรณี กาญจนัษฐิติ, แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ๒๕๕๑. ขบถ ร.ศ. ๑๒๑. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ๒๕๔๖. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 

พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และ อัจฉราพร กมุทพิสมัย (บรรณาธิการ). ๒๕๒๗. “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์. 

ไพฑูรย์ มีกุศล. ๒๕๑๗. การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสาน พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๓. กรุงเทพฯ : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู.

โรแบต์ โกสเต, บาทหลวง. ๒๕๖๒. ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. อรสา ชาวจีน, แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพฯ : สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย.

สายสกุล เดชาบุตร. ๒๕๖๓. “กบฏไพร่หรือผีบุญ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของราษฎรกับอำนาจรัฐเหนือแผ่นดินสยาม”. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ดินแดนบุ๊ค.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๑. ๒๕๔๒. จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารรัชกาลที่ ๕ กระทรวงมหาดไทย ร. ๕ ม. ๒ แผนกปกครอง ๑๘ เรื่องผีบุญ ปึก ๑ เลขที่ ๑-๕ ปึก ๒ เลขที่ ๒-๙  ปึก ๓ เลขที่ ๑๐-๑๑.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. พฤศจิกายน ๒๕๔๙. “กบฏผู้มีบุญอีสาน ๒๔๔๔-๒๔๔๕ กับจดหมายลูกโซ่ฉบับแรกของเมืองไทย”. ศิลปวัฒนธรรม, ๒๘(๑).

งานวิจัย-วิทยานิพนธ์
ธิกานต์ ศรีนารา. ๒๕๕๙. เสียงเล็ก ๆ ของ ‘ผีบุญ’ ศิลา วงศ์สิน ในหนังสือพิมพ์สารเสรี พ.ศ. ๒๕๐๒ ประวัติศาสตร์อำพราง เบี้ยล่าง (อยาก) เล่าเรื่อง. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาภาคใต้ครั้งที่ ๒ “ศาสตร์แห่งการจำ ศิลป์แห่งการลืม” ๒๕-๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙.

นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. ๒๕๒๔. “ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๔๕”. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พรรณิกา ฉายากุล. (ไม่ระบุปีที่พิมพ์). อารยธรรมอีสาน. เอกสารประกอบการสอนภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม.

รัตนากร ฉัตรวิไล. ๒๕๕๔. “ความเชื่อที่ปรากฏในขบวนการผู้มีบุญ พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๕ กรณีศึกษากลุ่มองค์มั่น”. วารสารการเมืองการบริหาร และกฎหมาย, ๓(๓) : ๒๑๕-๒๓๗.

ศรุต จารุกุลธนาดล และคณะ. ๒๕๖๒. ตามรอยเมืองขุขันธ์ : ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์กับบ้านดวลใหญ่. โครงงานประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ.

สมมาตร์ ผลเกิด. มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๒. “กบฏผีบุญ : กระจกสะท้อนสังคมไทย”. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ๑(๑) : ๒๐-๓๐.

สุนทรี อาสะไวย์. ๒๕๓๐. ประวัติศาสตร์สังคมไทย พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๔๕ บทวิเคราะห์กรณีการเกิดขึ้นของขบวนการผู้มีบุญอีสาน ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๕). กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุมิตรา อำนวยศิริสุข. ๒๕๒๔. “กบฏผู้มีบุญในมณฑลอีสาน พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๕”. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (มานุษยวิทยา), คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อุราลักษณ์ สิถิรบุตร. ๒๕๒๖. “มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์”. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.