โลกนี้ต้องการผู้รับฟัง
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
เราอยู่ในโลกที่ผู้คนสูญเสียการได้ยินหรือการรับฟัง ทั้ง ๆ ที่หูยังดีอยู่ ดังที่จูเลียน เทรเชอร์ ที่ปรึกษาด้านเสียงกล่าวในปาฐกถา TED Talks เรื่อง “๕ วิธีฝึกการฟังให้ดีขึ้น” ว่าในการสื่อสารทั่วไปเราใช้การฟังถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่กลับ “รับรู้” สิ่งที่หูได้ยินเพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์
อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงทำให้เราใส่ใจกันน้อยลง คิดว่าตามไปฟังทีหลังก็ได้ เสียงรบกวนต่าง ๆ ในโลกใบนี้ก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งเสียงจากรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือเพื่อสร้างความบันเทิงอื่น ๆ ผู้คนจึงมักใส่หูฟังและง่วนอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ดังที่เรามักพบเห็นในรถไฟฟ้าราวกับผู้คนเหล่านั้นนั่งอยู่คนเดียวในขบวนรถ ซึ่งยิ่งทำให้การฟังกันลดน้อยลงไปอีก
ขณะที่ผู้คนอยากได้การรับฟังและความสนใจ แต่กลับไม่มีใครฟังใคร สื่อต่าง ๆ จึงพยายามกระตุ้นโดยพาดหัวข่าวด้วยคำดึงดูดใจ ตื่นเต้น และรุนแรง ส่วนคนทั่วไปก็สามารถผลิตข้อความหรือทำวิดีโอคลิปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ได้ภายในสัมผัสเดียว การผลิตสื่อและสารออกมามากมายทำให้เกิดภาวะ “ข่าวสารท่วมท้น” ผู้คนจึงเบื่อหน่าย ชินชา และเหนื่อยล้า หากเห็นว่าไม่น่าสนใจก็แค่ปัดผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพื่อหาสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ
จึงเกิดภาวะ “โหยหาการรับฟัง”
บางคนแม้จะมีเพื่อนหรือผู้รับฟัง แต่กลับขาดทักษะการฟังบ้างแนะนำสั่งสอนบ้างตัดสินผิดถูก บ้างปลอบโยนและให้กำลังใจ โดยบอกให้ทำใจ บ้างว่าเรื่องของตัวเองดีกว่าหรือแย่กว่า ซึ่งสิ่งที่กล่าวล้วนผ่านประสบการณ์ตรงของตนเอง โดยไม่ได้มองเห็นหรือได้ยินเสียงโลกภายในของผู้เล่าเลย ในภาษาการรับฟังเรียกว่า “แย่งชิงพื้นที่” หรือ “แย่งซีน” พื้นที่การระบายของผู้เล่ามาเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้เล่ารู้สึกว่าไม่ได้รับการใส่ใจ
แท้จริงการฟังอย่างตั้งใจคือรากฐานของความสัมพันธ์ทุกระดับขั้น ทั้งในครอบครัว ชีวิตการงาน และในชุมชนและสังคม การฟังคือประตูสู่ความเข้าใจกัน หากปราศจากการฟังก็มักมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทะเลาะเบาะแว้ง บางครั้งถึงขั้นก่อสงครามเลย
การรับฟังที่ดีช่วยปลดเปลื้องความทุกข์หนักอึ้งของผู้คนได้อย่างไม่น่าเชื่อผู้เขียนเพิ่งมีประสบการณ์นั่งรับฟังเรื่องราวชีวิตทั้งด้านทุกข์สุขของสามีภรรยา วัยต้น ๓๐ ที่พบกันโดยบังเอิญระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในภาคใต้ นานถึง ๔ ชั่วโมง ทั้งคู่บอกว่าเป็นการพูดคุยที่ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวครั้งแรกของพวกเขาในระยะเวลา ๒ สัปดาห์มีคุณค่าและความหมายที่สุด เพราะตลอดชีวิตไม่เคยมีใครนั่งฟังโดยไม่พูดขัดหรือตัดสินผิดถูกแม้เรื่องราวนั้นจะเต็มไปด้วยสิ่งที่มาตรฐานสังคมไทยมองว่าไม่ถูกต้องก็ตาม แถมยังถามไถ่และเดาอารมณ์ความรู้สึกความต้องการราวกับ “นั่งอยู่ในใจ” และ “เข้าใจ” พวกเขาอย่างแท้จริง
จูเลียน เทรเชอร์ กล่าวปิดท้ายในปาฐกถาว่า มนุษย์ทุกคนต้องการการฟังอย่างแท้จริงเพื่อจะได้มีชีวิตอิ่มเต็ม เพื่อเชื่อมโยงกับโลก เพื่อเชื่อมโยงความเข้าใจกับผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการฟังเพื่อความเข้าใจตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน พวกเขาจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยเป็นพื้นที่ระบายความทุกข์ของผู้อื่น เพื่อเชื่อมโยงกันและกัน
๑. ความเงียบ อยู่กับความเงียบวันละ ๓ นาที จะช่วยปรับหูให้เรา “ได้ยิน” เสียงความรู้สึกความต้องการของตัวเองและผู้อื่นได้อีกครั้ง
๒. ฝึกแยกเสียงรอบตัว เช่น เมื่อนั่งอยู่ในร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยเสียงต่าง ๆ ให้ลองแยกเสียงดูว่า ได้ยินเสียงเครื่องทำกาแฟ
เสียงดนตรี หรือเสียงพูดคุยของผู้คน ขณะนั่งริมบึงให้สังเกตว่าเรากำลังได้ยินเสียงลม เสียงนก เสียงน้ำ อย่างไร
๓. ลิ้มรสสรรพเสียง ถ้าเราตั้งใจฟังเสียงในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงเครื่องบดกาแฟ เสียงกลอง เราจะสัมผัสได้ถึงความงดงามน่าประหลาดใจราวกับซ่อน คณะนักร้องประสานเสียงชั้นยอดเอาไว้
๔. กำหนดตำแหน่งการฟัง เช่น เราจะเป็นผู้ฟังแบบรุกหรือรับ เป็นผู้ขมวดเรื่องราว
หรือขยายความเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือฟังอย่างเข้าใจ
๕. รับรู้ ชื่นชม หรือเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้รับฟัง ด้วยการพยักหน้าหรือตอบรับสั้น ๆ สรุป และตั้งคำถาม