Image

กบฏผู้มีบุญ ร.ศ. ๑๒๑ เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ที่สุดในอีสาน มีประชาชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ถูกปราบราบคาบในเวลาอันรวดเร็วด้วยการจัดกองกําลังและยุทโธปกรณ์สมัยใหม่แบบตะวันตก 
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ที่ใดมีการกดขี่...
กบฏผู้มีบุญ
ภาค 1

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

“นี่เป็นการ
เปิดหน้าดินครั้งแรก
ในรอบ ๑๒๐ ปี”

ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการด้านศิลปะ กล่าวไว้ก่อนเขาจะจากไปในอีก ๓ เดือนต่อมา

ตอนนั้นเขายืนอยู่บนเนินท้ายทุ่งนอก หมู่บ้านสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี โนนดินตรงนั้นอยู่สูงกว่าแปลงนารายรอบ มีพุ่มโพกับสะเดาต้นใหญ่เป็นจุดหมายตา และรายล้อมด้วยไผ่ปล้องใหญ่หลายกอ

ไม่มีสัญลักษณ์หรือหลักหมายใดบ่งบอกว่าตรงนี้เคยมีเหตุการณ์สำคัญเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน

เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในพื้นที่อีสานที่นับว่าท้าทายและเป็นภัยคุกคามต่อพระราชอาณาจักรราชาธิปไตยมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕  ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารราชการหนังสือมีไปมาระหว่างกระทรวงต่างๆ และกับหัวเมือง ที่เป็นใบบอก สำเนาโทรเลข-ในช่วงแรกสุดที่เริ่มมีใช้ในเมืองไทย ซึ่งทุกวันนี้รวบรวมเก็บอยู่ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติถึงสามปึกใหญ่ ทั้งสิ้นกว่า ๑,๔๐๐ หน้า มีคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นนับพันนับหมื่นและหลายร้อยคนเสียชีวิตอยู่บนโนนดินนอกหมู่บ้านสะพือ แต่นอกจากหนังสือราชการสามปึกใหญ่ที่ได้รับถ่ายสำเนาเป็นไมโครฟิล์มเก็บรักษาอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติจนทุกวันนี้ ในพื้นที่ก็ยังแทบไม่มีใครกล่าวถึงเหตุการณ์ทุ่งสังหารแห่งนั้นเลย

นับร้อยปีที่ผ่านมาเรื่องราวของผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญ จึงเป็นเพียง “เกร็ดนอกพงศาวดาร” ในมุมมองของบิดาประวัติศาสตร์ไทย ต่อมาแม้จะมีการรื้อฟื้นศึกษาหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ ก็มักเป็นการวิเคราะห์ค้นคว้าจากเอกสาร ซึ่งแทบยังไม่มีการชี้ชัดสัมผัสตรงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตรงไหน

การปักหลักหมายที่ชายทุ่งนอกหมู่บ้านสะพือไว้เป็นอนุสรณ์ “ศึกโนนโพธิ์” จึงถือว่าเป็นการเปิดหน้าดินเรื่องผู้มีบุญเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐๐ ปี ที่คณะผู้ริเริ่มคาดหวังให้เป็นอนุสรณ์สถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติและของท้องถิ่น อาจเฉกเช่นอนุสรณ์ทุ่งสัมฤทธิ์ ที่เคยมีเหตุการณ์และอยู่ในฐานะหลักหมายทางประวัติศาสตร์ของชาติ--โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดฝักฝ่ายจากสายตารัฐชาติปัจจุบัน

scrollable-image

Image

คงเป็นบ้านพักและพาหนะทันสมัยที่สุดเท่าที่จะหาได้ในยุคนั้น ที่ชาวเมืองขอนแก่นใช้รับเสด็จสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ คราวตรวจราชการมณฑลในภาคอีสาน หลังเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญ ๔ ปี กล่าวกันว่าพระองค์เป็นชนชั้นสูงพระองค์แรกที่เสด็จไปทั่วอีสาน ซึ่งใช้เวลาร่วม ๓ เดือน ด้วยเกวียนและม้า

Image

เสียงกลองกึกก้องท้องทุ่งลั่นระรัวเข้ามาถึงในหมู่บ้านเร่งเร้าคนบ้านสะพือให้ออกไปยังโนนโพธิ์ ซึ่งปรกติจะออกไปก็ต่อเมื่อมีงานในไร่นา

“ผมถามว่าดีไหม เขาบอกดีมาก ๆ อยากให้ทำแบบนี้มานานแล้ว” ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มาร่วมลงแรงจัดงานบุญแจกข้าวแด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์ ถ่ายทอดเสียงของชาวบ้านสะพือที่มาร่วมชมศิลปะการแสดงสดของกลุ่มราษฎรัมส์ “เขาปรบมือและบอกว่าถ้าได้รู้ล่วงหน้าชาวบ้านจะชวนกันมาดูมากกว่านี้”

ตอนนั้นเป็นยามบ่ายวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๕ ย้อนกลับไปในวันเดียวกันนี้เมื่อ ๑๒๐ ปีก่อน กองทัพที่ทันสมัยที่สุดของสยามในเวลานั้นกำลังเคลื่อนพลมาพร้อมอาวุธปืนสมัยใหม่และปืนใหญ่แบบบรรจุลูกกระสุนจากท้ายกระบอก มาถึงท้ายทุ่งแถวโนนสวนหม่อนอีกฟากของห้วยแฮ่ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับโนนโพธิ์

เตรียมการปราบกบฏผีบุญ ซึ่งตามรายงานของสายข่าวทางการว่ามีกำลังราว ๒,๕๐๐ คน

แล้วตอนสายวันรุ่งขึ้นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินอีสานก็เกิดขึ้นที่โนนโพธิ์ ข้างหมู่บ้านสะพือนั่นเอง

“ยายเล่าเหมือนนิทานว่า คราวศึกโนนโพธิ์มีกลุ่มผีบุญมาพักอยู่ที่นี่ เพราะมีหนองผือเป็นแหล่งน้ำ แกกลัวมากเลยหลบไปอยู่วัดบูรพา ไม่กล้ามาแถวนี้เลย”

พินิจ ประชุมรักษ์ เป็นข้าราชการเกษียณ วัย ๗๒ ปี คนรุ่นเขาได้ฟังเรื่อง “ศึกโนนโพธิ์” จากยายซึ่งตอนนั้นเพิ่งเริ่มเป็นสาวรุ่น ช่วงเกิดศึกมีเพียงกระโจมอกผืนเดียววิ่งไปพึ่งวัดบูรพาซึ่งเป็นวัดเก่าแก่หนึ่งในสี่แห่งของหมู่บ้านสะพือ ชุมชนขนาดใหญ่เกินครึ่งค่อนตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล

“พวกผู้ชายเอาเสื่อพันตัวนอนซุกอยู่บนขื่อยุ้งข้าว หรือบางคนก็ขุดหลุมหลบอยู่ใต้บ้าน กลัวข้าศึกเห็นจะถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ส่วนผู้หญิงเขาจะเกณฑ์ให้เป็นผู้ทำเสบียงมาส่ง ซึ่งต้องมีดอกไม้สีเหลืองทัดหูเป็นสัญลักษณ์”

“ขันโบราณนี้คงเป็นอุปกรณ์ที่เขาใส่ของมาถวาย” ประดับโชค บัวขาว พูดถึงขันทองเหลืองที่บรรพบุรุษข้างภรรยาขุดเจอจากในนาแถวโนนโพธิ์ “พวกนั้นเป็นผู้วิเศษ เป็นเจ้านายเอาถ้วยกระเบื้องมาบ่ได้ เลยเอาใส่ขันแบบนี้มา”

“เมื่อมาตั้งอยู่ตรงนี้ เวลาองค์มั่นจะพูดอะไรจะออกไปใต้โคนสะเดาต้นนี้ อันนี้คนยุคนั้นเขาเล่าต่อกันมา” พินิจชี้ไปที่ต้นสะเดาโบราณที่อยู่ถัดจากแนวกอไผ่ ในที่โล่งบนลาดเนินมองเห็นได้จากรายรอบทิศ และย่อมไม่พ้นสายตาคนของทางการด้วย

“คนที่นี่อยู่ใต้ปกครองของทางการ มีคนแปลกหน้าเข้ามากำนันก็ต้องออกไปแจ้งต่อกันเป็นทอด ๆ เหมือนวิ่งผลัด ทางเมืองอุบลก็เข็นปืนใหญ่มายิง”

แต่ศึกครั้งนี้ไม่ใช่แค่สู้รบกันอย่างในสงครามหรือการปราบปรามผู้ร้ายทั่วไป หากในศึกโนนโพธิ์ผู้ปราชัยยังถูกตัดหัวเสียบประจานด้วย

“ยายเล่าว่าตัดหัว ขุดหลุมเอาตัวทิ้งลงในบ่อ หัวเสียบประจาน พอเปื่อยหลุดจากหลักหมาก็มาคาบ กุดจี่ก็มาชอนไชช่วงนั้นคนบ้านสะพือไม่กินกุดจี่อยู่เป็นปี สมัยก่อนตอนไถนาก็เจอกระดูกคนบ่อย ๆ”

เรื่องที่พินิจเล่านี้อยู่ในคำเล่าขานของชาวบ้านสะพือแทบทุกคน เช่นเดียวกับ ไพฑูรย์ เจริญศรี หญิงชาวบ้านสะพือที่เล่าถึงสิ่งที่บรรพบุรุษของเธอถ่ายทอดให้ฟัง “พ่อไปไถนาเจอหัวกะโหลก ตาหลุดออกไปแล้ว แต่ในเบ้าตายังเห็นแวววาวอยู่จ้องดูดี ๆ เป็นตัวกุดจี่ ก็เอาหัวกะโหลกนั้นซุกไว้ง่ามตอไม้ แม่ไปดำนานี่กลัว ไม่กล้าดำ ตรงนั้นเขาจะเรียกกันว่า ‘ไฮ่หัวผีล่อน’”
...
“ไฮ่หัวผีล่อน” พินิจชี้ไปที่นาแปลงหนึ่ง ซึ่งคนท้องถิ่นอีสานจะเรียกนาแต่ละแปลงที่มีคันรอบสี่ด้านว่าไฮ่

ส่วนหัวผีล่อนนั่นคือหัวกะโหลกที่ไม่เหลือเนื้อหนังแล้ว

“ในนาแปลงนี้แหละ แต่ก่อนเวลาไถจะเจอหัวกะโหลก เจอกระดูกคน”

เป็นที่มาของข้อสันนิษฐานว่า บริเวณนั้นคงเป็นศูนย์กลางของทุ่งสังหาร และเป็นสุสานอนาถาที่ฝังศพผู้วายชนม์จากกระสุนปืนใหญ่และการล้อมปราบ

ผ่านห้วงเวลารอยอดีตค่อยเลือนรางทั้งจากสถานที่จริงและในความทรงจำของผู้คน  ทุกวันนี้แถบทุ่งโนนโพธิ์กลายเป็นผืนนาไปหมดแล้ว แต่หลายปีหลังมานี้นาไฮ่หัวผีล่อนก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง 

Image

รูปเงาตัวหนังสือที่สะท้อนผ่านแสงไฟสีอมส้มไปทาบอยู่บนจอ ให้กลิ่นอายแบบย้อนยุคขณะเพ่งสายตาเก็บใจความท่ามกลางความเงียบในห้องอ่านไมโครฟิล์มเพียงลำพัง เป็นความรู้สึกมหัศจรรย์ล้ำลึกราวกำลังแกะลายแทงโบราณผ่านระบบการจัดเก็บสมัยใหม่ที่ผู้อ่านทั่วไปคงไม่คุ้นเคย เว้นแต่ผู้สนใจเฉพาะกลุ่ม ในหมู่นักวิชาการ นักวิจัย และคนที่สนใจงานด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องเคยผ่านประสบการณ์อ่านผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่าไมโครฟิล์ม

ต้นฉบับที่เคยเป็นหน้ากระดาษเอกสารราชการถูกถ่ายย่อลงบนแผ่นฟิล์มความกว้างราว ๑ นิ้ว แต่ละหน้าเรียงไปเป็นช่อง ๆ ไล่กันเป็นแถบยาวเท่าจำนวนหน้าของต้นฉบับเอกสารชุดนั้น ขดเป็นม้วนเหมือนฟิล์มถ่ายรูปหรือฟิล์มหนังสมัยก่อนขนาดใกล้เคียงกับกล่องสบู่ เก็บเรียงไว้ตามหัวเรื่องภายในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ข้างท่าวาสุกรี ถนนสามเสนกรุงเทพฯ

และเมื่อจะอ่านก็ต้องผ่านเครื่องอ่านไมโครฟิล์ม ซึ่งคงจำลองย่อส่วนมาจากเครื่องฉายภาพยนตร์ระบบแผ่นฟิล์มเช่นกันเพราะกลไกการทำงานก็ดูใกล้เคียงกัน

สอดแผ่นฟิล์มผ่านช่องที่มีดวงไฟส่องผ่าน ต้นฉบับขนาดราว ๑ นิ้วบนแผ่นไมโครฟิล์มขยายไปทาบอยู่บนจอพื้นขาวขนาดราวจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

ม้วนฟิล์มมีมอเตอร์หมุนให้เคลื่อนไหลต่อเนื่องเหมือนฉายหนัง ซึ่งให้เสียงที่มีเสน่ห์เร่งเร้าใจจากการเลื่อนไหลของแผ่นเซลลูลอยด์ ซึ่งเป็นเสียงที่มีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกับเสียงรินไหลของธารน้ำ เสียงลั่นของไม้หาบบนบ่าคนหาบเร่หรือเสียงสูบลมล้อรถจักรยาน

หรือหากต้องการละเลียดอ่านช้า ๆ เหมือนเปิดหนังสือทีละหน้า ก็ใช้มือหมุนเลื่อนม้วนฟิล์มอย่างเร็วช้าได้ตามใจ

หน้าดวงไฟแผ่นไมโครฟิล์มจะวางกลับหัว และเลื่อนจากทางซ้ายไปขวา สะท้อนหักเหหลายครั้ง ก่อนไปปรากฏตัวเป็นเอกสารหน้าเดี่ยวเลื่อนเรียงจากขวาไปซ้ายเหมือนเวลาเราไล่เปิดหน้าหนังสือ

ทีละหน้า ๆ ของหนังสือราชการสมัยรัชกาลที่ ๕ บันทึกข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ มุมมอง ทัศนคติ พัฒนาการของเหตุการณ์จลาจล และการจัดการปัญหาจากสายตาของรัฐ

บนหน้าปกของเอกสารสามปึกใหญ่นั้นใช้หัวเรื่องว่า “คนตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้บันทึกข้อความตาม“ใบบอก” จากพื้นที่ “เขตเขมร” ว่ามีผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๔ (ปี ๒๔๓๘)

Image

Image

การฝึกทหารตามแบบกองทัพสมัยใหม่ ซึ่งได้ต้นแบบมาจากตะวันตกในช่วงที่เกิดเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญ กองกําลังที่นําโดยนายทหารจากกรุงเทพฯ ปฏิบัติการปราบปรามผู้ถูกกล่าวหาอย่างเฉียบขาด มีการฆ่าตัดคอผู้นําอย่างเปิดเผย ปรากฏหลักฐานอยู่ในรายงานที่เขียนโดยผู้ปฏิบัติการเอง

Image

“ไต่สวนขึ้นไปได้ความเปนพยายามมาตั้งแต่ปี ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) มาแล้ว...เดิมเปนหมอลำ เที่ยวลำคำผญาบ่งความไปในส่วนผู้มีบุญจะมาแต่ตะวันออก  เจ้าเก่าหมดอำนาจศาสนาก็สิ้นแล้ว แลหมอลำนั้นก็ซุบซิบไปต่าง ๆ มีต้นว่าบัดนี้ฝรั่งเข้าไปเต็มกรุงเทพฯ แล้ว กรุงจะเสียแก่ฝรั่งแล้ว”

นี่อาจเป็น soft power ยุคแรกก็ว่าได้ การใช้ศิลปะการแสดงหมอลำเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองผ่านคำผญาหรือกลอนสุภาษิตอีสาน

และอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะเพื่อชีวิตแบบเข้มข้นที่ปลุกเร้าการต่อสู้ของมวลชนอย่างเร่าร้อน อย่างในกลอนลำบทหนึ่งที่ร้องว่า

“ลือแซะแซงแซ่ลำโขง หนองซำเป็นเขตรลาสีมา ฝูงไทย ใจฮ้าย ตายสิ้นบ่หลอ” ซึ่งแปลได้ว่ามีข่าวลือตั้งแต่ลำน้ำโขงจนถึงหนองซำ เมื่อผู้มีบุญมาเกิดแล้ว พวกกรุงเทพฯ ซึ่งใจโหดร้ายกดขี่ขูดรีด จะตายสิ้นไม่เหลือ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของผู้มีบุญ

ต่อจากนั้นอีกปีสองปีกระแสข่าวลือเกี่ยวกับคำทำนายและการมาของผู้มีบุญก็กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ที่แพร่ไปทั่วอีสานถึงขนาดว่า “เวลานี้มณฑลอีสานกำลังตื่นผู้มีบุญทุกแห่งทุกตำบล” ตามในสำเนาโทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ จากอุบล เมื่อเวลา ๒ โมงเช้า วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ ถึงกระทรวงมหาดไทยได้รับตอน ๒ ทุ่มเศษของวันเดียวกัน

ถัดมาวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ พระองค์เจ้าวัฒนาก็มีรายงานราชการจากมณฑลอุดรว่า “เวลานี้ราษฎรทุกหัวเมืองในมณฑลอุดรพากันแตกตื่นว่ามีผู้มีบุญอยู่ที่เขตเมืองร้อยเอ็ด”

ขณะที่ทางอีสานใต้ พระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจันโท) ถวายรายงานกรมขุนสรรพสิทธิฯ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ ว่า จากอุบลถึงสังขะในจังหวัดสุรินทร์ ไปถึงตำบลใดไม่ว่าหญิงชายเด็กผู้ใหญ่ จนถึงผู้ว่าราชการบ้านเมือง ก็มาถามแต่เรื่องนักบุญ “ข้าวในนาก็ไม่เกี่ยวให้โคกระบือกินเสียเปล่าไร่สวนน้ำอ้อยพากันละทิ้งโดยมาก”

ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Image

Image

เรื่อยมาจนถึงปลายเดือนมีนาคม ๒๔๔๔ แม้เมื่อได้รับโทรเลขจากเมืองอุบลว่าพวกผู้มีบุญจากโขงเจียมประมาณ
๑,๐๐๐ คน เข้าปล้นเมืองเขมราฐ ทางกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ ก็แทบยังไม่ได้ให้ความสำคัญดังที่เสนาบดีกระทรวงมีโทรเลขตอบว่า

“แลไม่เห็นว่าจะจริงอย่างที่เขาทูล” ตามสันนิษฐานเป็นได้สองอย่าง คือ “เป็นเกิดปล้นธรรมดา คนก็ราว ๑๐ คน หรืออีกอย่างหนึ่งถ้าคนสัก ๑๐๐ ก็เป็นการวิวาทตีกันเท่านั้น  ที่จะยกไปถึง ๑,๐๐๐ คนนั้นดูการใหญ่โตเกินไป”

คำสั่งจากส่วนกลางจึงเพียงแต่

“ให้ข้าหลวงจากอุบลหรือที่ใดซึ่งไม่ใช่ ๒ เมืองนั้น ไปไต่สวนสักคนหนึ่งก็พอ ยังไม่ต้องส่งพลตระเวนไป”

ด้วยจุดเริ่มต้นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ผู้มีบุญ” เกี่ยวโยงกับศรัทธาความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์หรือพระศรีอริยเมตไตรยที่จะมาปลดปล่อยยุคเข็ญ นำผู้บริสุทธิ์ที่เลื่อมใสศรัทธาสู่สังคมในอุดมคติที่มีแต่ความบริบูรณ์พูนสุขปราศจากความทุกข์ยากจากการแย่งชิงเบียดเบียนกัน

คำพยากรณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านกลอนลำของศิลปินหมอลำจากฝั่งตะวันออกหรือทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งในยุคนั้นมหานทีสายนี้ยังไม่ใช่เส้นแบ่งเขตแดนประเทศ คนพื้นเมืองชาวข่า ส่วย และลาว ซึ่งอาศัยอยู่สองฟากฝั่งในเมืองน้อยใหญ่บนลุ่มน้ำแถบนี้ มีช่วงที่เป็นอิสระและตกอยู่ใต้ราชอาณาจักรลาวและสยามสลับกันไป หลังสุดเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสอ้างสิทธิเข้าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตาม “สัญญาใหญ่” ปี ๒๔๓๖ และห้ามสยามตั้งกองกำลังทหารในระยะ ๒๕ กิโลเมตรทางฝั่งขวาด้วย

เจ้าของถิ่นเดิมบนสองฝั่งโขงจึงยิ่งโดนบีบคั้นจากรัฐชาติที่เข้มแข็งกว่าจากทั้งสองด้าน ข่าวลือเกี่ยวกับกลียุคก็เริ่มแผ่คลุมไปทั่วสองฝั่งโขง

ตามความในสำเนาโทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่องผีบุญ เก็บอยู่ในเอกสาร ร. ๕ ม. ๒.๑๘/๑๑

...
นอกจากผ่านปากต่อปาก ข่าวสารยุคโบราณแพร่ไปอย่างรวดเร็วด้วยเครื่องมือที่สมัยนี้เรียกว่า “จดหมายลูกโซ่” ที่บอกให้คัดลอกเรื่องราวส่งต่อ ๆ กันไป

คำทำนายนั้นมีว่าเหตุเภทภัยกำลังจะมาถึงในวันใดวันหนึ่งในปีฉลู (ปี ๒๔๔๔) บางฉบับบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๔ กลางเดือน ๖ หรือขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งแต่ละแหล่งระบุไม่ตรงกัน จะเกิดเหตุร้ายถึงกาลสิ้นยุค คนดีมีศีลธรรมและผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำเท่านั้นที่พระธรรมิกราชหรือผู้มีบุญจะมาช่วยให้รอด

เมื่อถึงวันนั้นเงินทองที่มีอยู่จะกลายเป็นเศษเหล็ก อย่าเก็บเอาไว้ ให้รีบใช้จ่ายหรือให้ไปให้หมด  หมู วัว ควาย ให้ฆ่าเสียไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นยักษ์กัดกินเจ้าของ  ข้าวเจ้าให้ทำลายทิ้ง ผู้มีบุญจะมาทำให้ข้าวเหนียวเต็มยุ้ง  ฟักเขียวฟักทองจะกลายเป็นช้างม้าให้ซื้อหามาไว้ ฝอยรากไม้ที่ไหวพลิ้วอยู่ตามริมฝั่งน้ำจะกลายเป็นเส้นไหม ให้เก็บมาไว้จะได้ไม่ต้องตรากตรำเลี้ยงไหมกันต่อไป กลีบดอกจานจะกลายเป็นสีย้อมไหม และให้เก็บ “หินแฮ่” มาใส่หม้อปิดผ้าขาวบูชาไว้ถึงวันตามคำทำนาย ผู้มีบุญจะมาเสกให้กลายเป็นเงินทอง

บริเวณหัวโล่เมืองเสล์ เมืองเสลภูมิ แหล่งหินแฮ่ (ในที่นี้หมายถึงหินกรวดลูกรัง ไม่ใช่แร่อย่างที่คนภาคกลางเข้าใจผิดเขียนคำนี้เป็นหินแร่) ที่ว่าจะกลายเป็นเงินทอง มีผู้คนเดินทางมาหาหินไปบูชาวันละ ๔๐๐-๕๐๐ คน เก็บใส่หม้อปิดฝา ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ตามธรรมเนียมประเพณีการต้อนรับของท้องถิ่นอีสาน

และในช่วงวันเวลาตามคำทำนายจะมีพายุพัดแรง ๗ วัน ๗ คืน ให้ปลูกกอตะไคร้ไว้ที่หน้าบ้าน จะได้มีที่ยึด ไม่ถูกพัดไปกับพายุ และให้หาไม้เพกาไว้เป็นฟืนจุดไฟกลางพายุโหม

คนบริสุทธิ์ที่มีศีลธรรม ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ลักทรัพย์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จะรอดพ้นภัย  ใครที่เคยประพฤติผิดก็แก้ได้ด้วยการรดน้ำมนต์ทำพิธีวางเวรตัดกรรม โดยพระสงฆ์หรือผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษที่เรียก “องค์” ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงนั้นมีเกิดขึ้นแทบทั่วทุกเมืองในอีสาน

อาจฟังดูงมงายเหลวไหล ไม่น่าเชื่อ แต่ไม่มีใครปฏิเสธความมีอยู่จริงได้ ก็แม้จนทุกวันนี้เราก็ยังมักได้ยินเรื่องราวที่ฟังดูเหลวไหล งมงาย ไร้สาระในทำนองนี้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างมาอ้างกันได้ไม่หวาดไม่ไหว ไม่ว่าเรื่องตัดเวรตัดกรรม หรือแม้กระทั่งการสมาทานตนเข้าเป็นสาวกผู้อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นพระบิดา

ว่ากันว่าขบวนการผู้มีบุญกระพือข่าวร้ายอันน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงเพื่อรวมคนเข้าเป็นพวก รวมทั้งต่อมามีการวิเคราะห์ว่าเพื่อต่อต้านและตัดกำลังอำนาจของรัฐจากส่วนกลางด้วย ตั้งแต่ปฏิเสธระบบเงินตรา กำจัดสิ่งที่จะเป็นเสบียงอย่าง ข้าวเจ้า ปศุสัตว์ หรือแม้กระทั่งหญิงสาวที่จะตกเป็นของผู้ชายจากกรุงเทพฯ

แต่เวลานั้น “พนักงานปกครองก็เกิดลำบาก จะจับกุมตัวผู้กระทำผิดก็ไม่มีใครเป็นผู้ยุยงส่งเสริมราษฎร เป็นแต่กลัวกันไปเอง ก็ได้แต่สั่งกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ชี้แจง ห้ามปรามราษฎรว่าอย่าให้เชื่อถือคำทำนายนั้น” ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้ใน นิทานโบราณคดี ที่ผู้เขียนยืนยันไว้ในหน้าคำนำว่าเรื่องเหล่านี้ “ล้วนเป็นเรื่องจริงซึ่งตัวฉันได้รู้เห็นเอง”

ซึ่งข้อเขียนเรื่องนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของการเขียนเล่าเรื่องผีบุญ--เหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของสามัญชนครั้งใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินอีสานในยุคสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองระหว่างประเทศ

และเป็นช่วงที่สยามเริ่มเปิดใช้รถไฟและโทรเลข

Image

ด้วยความเป็นอยู่ที่ไม่ได้มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในวิถีชีวิต เนื่องจากผลิตปัจจัย ๔ ได้เองทั้งหมด ครั้นต้องดิ้นรนหารายได้มาจ่ายภาษีเป็นเงิน ปีละ ๔ บาท ก็กลายเป็นความขัดสนข้นแค้นสำหรับคนชนบทที่พึ่งพาตัวเองอย่างเรียบง่าย

Image

“ถ้าไม่มีโทรเลข เมืองอุบลแตก ผมมั่นใจเลย”

วิทยากร โสวัตร นักเขียนและนักศึกษาเอกสารท้องถิ่นวิเคราะห์เหตุการณ์ด้วยความมั่นใจ จากการอ่านข้อมูลทั้งจากเอกสารของส่วนกลาง เอกสารท้องถิ่น รวมทั้งเอกสารของฝ่ายลาว “ตีแตกแน่แต่อาจรักษาไว้ได้ไม่ยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สยามจัดกองกำลังสมัยใหม่มาหนุนช่วยได้เร็วคือโทรเลข”

ชื่อเมืองหรือมณฑลที่กล่าวในทางประวัติศาสตร์ ไม่เท่ากับ “จังหวัด” ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งเพิ่งจัดใหม่เมื่อปี ๒๔๕๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๖

แต่ก่อนนั้น “หัวเมืองชายพระราชอาณาจักร” ชั้นนอก ๆ ที่เป็นบ้านเมืองของคนลาวได้รับการจัดขึ้นเป็นมณฑลครั้งแรกเมื่อราวปี ๒๔๓๓ โดยยังคงความเป็น “ลาว” ไว้ในชื่อมณฑล และฟังจากชื่อดูเหมือนว่าจะยึดเอานครราชสีมาเป็นศูนย์ของบ้านเมืองเหล่านั้น ดังที่เรียกว่า “มณฑลลาวกลาง”

แล้วเรียกหัวเมืองลาวพุงดำ 

Image

ที่อยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนในปัจจุบันว่า “มณฑล ลาวเฉียง” หัวเมืองลาวพุงขาวแถบอีสานเหนือเป็น “มณฑลลาวพวน” ส่วนทางอีสานตอนกลางและอีสานใต้ซึ่งกินคลุมถึงเมืองมโนไพรในเขตเขมรและเมืองจำปาศักดิ์ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา รวม ๗๘ เมืองตั้งเป็น “มณฑลลาวกาว”

หลังต้องยกฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสตามสัญญา ปี ๒๔๓๖ ซึ่งเป็นการเสียดินแดนราวครึ่งหนึ่งกับประชากรราวสองเท่าจากที่เหลืออยู่ของมณฑลลาวกาว

ขณะที่เขตแดนประเทศยังไม่ชัดเจน และฝรั่งเศสมีทีท่าจะขยายเข้าสยาม จึงมีการแก้ไขการปกครองหัวเมืองอีสานโดยรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑล ใช้ระบบการปกครองเทศาภิบาล

และลบ “ลาว” ออกจากชื่อมณฑล

มณฑลลาวกลางเปลี่ยนเป็นมณฑลนครราชสีมา มณฑลลาวพวนเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน แล้วแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอสามพระองค์ที่จะทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณได้ดี ไปเป็นข้าหลวงใหญ่ มีอำนาจเต็มในการปกครอง พระราชทานอาญาสิทธิ์ให้ตั้งศาลพิพากษาคดีประหารชีวิตผู้มีความผิดได้ โดยมีใบบอกกราบบังคมทูลให้ทราบภายหลัง

ตำแหน่ง “เจ้าเมือง” เดิมรวมทั้ง “อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร” ถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมืองยกกระบัตรเมือง  ความเปลี่ยนแปลงนี้กระทบฐานะของเจ้านายท้องถิ่นที่เคยมี  อีกทั้งการกำหนดเขตปกครองด้วยดินแดนแทนจำนวนพลเมืองอย่างที่เป็นมา ทำให้เมืองเก่าไม่กี่เมืองที่เป็นจังหวัด บางเมืองเป็นอำเภอที่ขึ้นกับจังหวัด และส่วนใหญ่เป็นเพียงตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอ  โครงสร้างการเมืองการปกครองแบบใหม่นี้ทำให้บทบาทของเจ้านายท้องถิ่นลดลง แม้เจ้าเมืองบางคนได้กลายมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจจริงจังดังเก่า  อำนาจปกครองที่แท้จริงตกอยู่กับข้าหลวงที่กรุงเทพฯ ส่งมาปกครองเจ้านายท้องถิ่นอีกชั้นหนึ่ง

ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Image
Image

การลุกขึ้นมาแข็งขืนไม่ขึ้นต่อเจ้าเมืองขุขันธ์ของท้าวบุญจันลูกชายอดีตเจ้าเมือง หรือท้าวติด ท้าวฮู กรมการเมือง ที่บุกโจมตีเมืองมโนไพร ทำให้รัฐบาลสยามได้รู้จักกับการต่อต้านใหญ่ครั้งแรกในมณฑลอีสาน และกลายเป็นครั้งแรกของการใช้ทหารและอาวุธสมัยใหม่ในการปราบกบฏท้องถิ่น

เวลานั้นเป็นช่วงเริ่มต้นการใช้โทรเลขระหว่างเมืองและกับส่วนกลาง ซึ่งเมื่อรวมกับการจัดรูปแบบกองทัพและใช้อาวุธสมัยใหม่แบบต่างประเทศก็กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้รัฐบาลมีชัยเหนือกลุ่มกบฏที่มีมวลชนมากกว่าได้อย่างราบคาบ

เมื่อมีรายงานจากเมืองขุขันธ์ว่าท้าวบุญจัน บุตรชายเจ้าเมืองคนก่อน ประกาศไม่ขึ้นต่อเจ้าพระยาขุขันธ์ เจ้าเมืองคนปัจจุบันที่เป็นพี่ชายของตน ออกจากเมืองไปซ่องสุมกำลังคนอยู่ที่ภูฝ้าย พื้นที่ชายแดนแถบอำเภอขุนหาญในปัจจุบันเตรียมเข้าโจมตีเมืองขุขันธ์ ก็คงสร้างความตระหนกสะพรึงให้กับข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานไม่น้อย

ตามข้อความในสำเนาโทรเลขที่ ๓๐ เมื่อเวลา ๒ โมงเช้า วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ จากกรมขุนสรรพสิทธิฯ เมืองอุบล มายังกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ

“ถ้าโปรดให้ทหารโคราชไปที่สุรินทร์ช่วยปราบเข้าทางสุรินทร์ สังขบุรีสัก ๑๐๐ คนโดยเร็วที่สุดได้จะดี” ตอนนี้ “อ้ายบุญจันมีกำลัง ๖,๐๐๐ เศษแล้ว”

พลันที่โทรเลขฉบับนี้มาถึงส่วนกลางความโกลาหลก็เกิดขึ้นทันที ตามเอกสารราชการบันทึกว่ารัชกาลที่ ๕ โทรเลขถึงกรมหมื่นนครไชยศรี ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ที่ซ้อมรบอยู่ราชบุรีให้กลับเข้ากรุงเทพฯ ด่วน พร้อมกับเปิดประชุมเสนาบดีเพื่อหารือสถานการณ์เร่งด่วนนี้  ที่ประชุมเห็นควรให้กองทหารมณฑลนครราชสีมาซึ่งอยู่ใกล้เหตุการณ์ที่สุดเตรียมทหาร ๒๐๐ คน ให้พร้อมเคลื่อนกำลังเมื่อได้รับคำสั่ง และให้หม่อมเจ้าศรีไสยเฉลิมศักดิ์ ผู้บัญชาการทหารราบที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ กลับโคราชทันที

แต่ต่อมาในตอนค่ำของวันเดียวกัน กรมขุนสรรพสิทธิฯ ก็ส่งโทรเลขมายกเลิกการขอกำลังทหาร

อาจเนื่องจากประเมินกำลังของกลุ่มกบฏผิดพลาดไปหรือมั่นใจว่ากองกำลังท้องถิ่นจัดการได้

แต่ความวุ่นวายที่ขุขันธ์ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ส่วนกลางเกิดความตระหนกกับเหตุการณ์จลาจล ซึ่งหลังจากนั้นมีการส่งกำลังทหารจากโคราชเข้ามายังมณฑลอีสานหลายครั้งรวมหลายกองพัน
...
ในสถานการณ์จริงตามหนังสือรายงานราชการของผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์มายังกระทรวงมหาดไทยในภายหลังระบุว่า“อ้ายบุญจันคุมกำลังร้อยคนเศษ” ปะทะกับนายร้อยโทหวั่น จากกองร้อยที่ ๑ ผู้ได้รับมอบหมายให้ “คุมทหาร ๗๐ คนมาช่วยปราบปรามอ้ายบุญจัน ซึ่งตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ”

ฉากการเผชิญหน้าครั้งแรกของขบวนการผู้มีบุญในมณฑลอีสานกับอำนาจรัฐส่วนกลาง เป็นการรบแบบประชิดตัวที่ฟังดูดุเดือด ห้าวหาญ บ้าบิ่น อย่างกับฉากรบศึกในหนังสงครามย้อนยุค

ดังที่ปรากฏอยู่ในคำรายงานของนายร้อยโทหวั่น ถึงนายร้อยเอก หลวงชิตสรการ แทนปลัดกรม เพื่อนำเรียนต่อนายพันโท หลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๖ มณฑลอีสาน

“ทันใดนั้นได้ยินเสียงพวกอ้ายบุญจันโห่ร้องท้าทายว่าให้ออกมาสู้กัน  ส่วนข้าพเจ้าได้พร้อมกันยกข้ามห้วยจั่น แยกออกรับเป็นปีกกา... พวกอ้ายบุญจันถืออาวุธต่าง ๆ วิ่งเข้ามาตะลุมบอนกับพวกข้าพเจ้า ๆ จึงได้ยิงต่อสู้กับพวกอ้ายบุญจันประมาณ ๑๔ นาที พวกอ้ายบุญจันก็แตกหนีกระจัดกระจายไป แต่พวกอ้ายบุญจันถูกอาวุธตายในที่นั้น ๗ คน”

ปฏิบัติการสู้รบจากเช้าตรู่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๔๔ จนล่วงบ่าย ฝ่ายปราบติดตามไปถึงช่องเขาปุอำปง ก็ได้ยินเสียงฝ่ายกบฏเป่าโหวดโห่ร้อง ถืออาวุธต่าง ๆ วิ่งออกมาจากช่องเขา “อ้ายบุญจันหัวหน้า กับหมู่เพื่อน ๔ คน โดดออกมาจากก้อนหินที่กำบัง...ต่อสู้อยู่กับพวกอ้ายบุญจันประมาณ ๒๐ นาทีพวกอ้ายบุญจันก็แตกหนี พวกข้าพเจ้าได้ติดตามไปจนถึงห้วยน้ำซับที่เป็นช่องทางเข้าบ้านปีกกา ก็ไม่เห็นพวกอ้ายบุญจันกลับออกมาต่อสู้อีก ข้าพเจ้าจึงได้พร้อมกันไปตรวจเก็บอาวุธแลพลิกศพ จึงได้รู้ว่าอ้ายบุญจันตายอยู่ในที่นั้นผู้หนึ่ง กับหมู่เพื่อนอ้ายบุญจัน ๙ คน รวม ๑๐ คน”

จากนั้น “ข้าพเจ้าได้ตัดเอาศีรษะอ้ายบุญจัน” นำไปมอบให้พระยาบำรุงบุรประจันต์ ข้าหลวงเมืองขุขันธ์

ว่าได้ปราบกบฏสำเร็จ และอาจเพื่อให้คนหวาดกลัวไม่กล้าเข้าข้างพวกกบฏ

ราวครึ่งค่อนเดือนหลังจากนั้น เมื่อพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิทศทิศวิไชยออกตรวจราชการมณฑลอีสาน ก็เขียนรายงานว่า “อ้ายบุญจันไม่วิเศษจริงตามข่าวเล่าลือ จึงได้ต้องกระสุนปืนตาย” ซึ่ง “สังเกตดูกำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรมีความเชื่อถือในถ้อยคำที่ข้าพระพุทธเจ้าชี้แจงนั้นโดยมาก”

เหตุวุ่นวายที่ขุขันธ์สงบราบคาบลงอย่างรวดเร็ว แต่ในที่อื่น ๆกลับตรงกันข้าม ข่าวกลียุคที่กำลังจะเกิดขึ้น กับการมาของผู้มีบุญจากทางตะวันออกกำลังโหมกระพือไปทั่วภาคอีสาน

Image

Image

Image

วิเคราะห์กันว่าขบวนการผู้มีบุญกระพือข่าวร้ายอันน่าหวาดหวั่นเพื่อรวมคนเข้าเป็นพวกรวมทั้งต่อต้านและตัดกำลังอำนาจของรัฐจากส่วนกลาง ตั้งแต่การปฏิเสธระบบเงินตรา กำจัดข้าวเจ้าและปศุสัตว์ที่จะเป็นเสบียง หรือแม้กระทั่งหญิงสาวที่จะตกเป็นของผู้ชายจากกรุงเทพฯ

Image

เสียงกลองระรัวก้องขึ้นกลางทุ่งศรีเมือง จากแถวหลักเมืองอุบลราชธานี แล้วเคลื่อนไปยังลานหน้าอนุสาวรีย์กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ บริเวณนี้เป็นจุดสุดสิ้นอิสรภาพและรวมทั้งลมหายใจของสมาชิกขบวนการผู้มีบุญหลายร้อยคนที่ถูกใส่ขื่อคาคอจับมารวมกันไว้

จังหวะกลองรัวลั่นสนั่นทุ่งมาจากปฏิบัติการศิลปะของกลุ่มราษฎรัมส์ ที่ใช้เสียงกลองประกอบการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์รำลึกและคารวะดวงวิญญาณการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่

“เหมือนเป็นการย้อนอดีต โดยใช้เสียงกลองในการเรียกความทรงจำกลับมา บวกกับการแสดงแบบอิมโพรไวส์ ใช้นาฏลีลา ทาตัวเหมือนไม่ใช่ปัจจุบัน เป็นการพูดถึงอดีต” ธีระวัฒน์ มูลวิไล แกนนำกลุ่มราษฎรัมส์ เล่าแนวคิดกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกทั้งเร่งเร้าและหลอกหลอน

“เป็นการรำลึกการต่อสู้ภาคประชาชนในยุคแรก ๆ คนที่พูดเรื่องสิทธิของตัวเอง  เมื่อพูดถึงกบฏผีบุญก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมีพลัง การใช้ความเชื่อรวมคนให้ลุกขึ้นมาสู้กับอะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นฝ่ายกบฏถูกฆ่า ๓๐๐-๔๐๐ คน ส่วนหนึ่งถูกใส่ขื่อคาเดินทาง ถูกจับมานั่งเรียงกัน ถูกประหาร เราพยายามไปเคารพวิญญาณผู้ตายตามสถานที่เหล่านั้น”

บ่ายวันวานเขาเปิดการแสดงที่ทุ่งโนนโพธิ์ ข้างหมู่บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๕๐ กิโลเมตร

รุ่งขึ้นวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๔ โมงเย็น ๔๔ นาทีเขาเคลื่อนมาเปิดการแสดงชุด “๔๔๔” อีกรอบที่ทุ่งศรีเมืองและหน้าอนุสาวรีย์กรมหลวงสรรพสิทธิฯ อดีตผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสานในช่วงที่ทางการสังหารกลุ่มกบฏผีบุญครั้งใหญ่ด้วยกระสุนปืนใหญ่

อนุสาวรีย์เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมา และเพิ่งมีพิธีบวงสรวงไปเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๕ ในเวลาที่คงไล่เลี่ยกับกลุ่มราษฎรัมส์ทำกิจกรรมเพอร์ฟอร์แมนซ์รำลึกเหตุการณ์ล้อมปราบผู้มีบุญที่โนนโพธิ์

และวันที่ ๓ เมษายน ยังเป็นหลักหมายของอีกหลายเหตุการณ์  ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน เป็นวันที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี ๒๔๖๕ และย้อนไปอีก ๒๐ ปีก่อนนั้นเมื่อปี ๒๔๔๕ เป็นวันที่กองกำลังทหารของพระองค์เคลื่อนเข้าประชิดจุดพักพลของกลุ่มผู้มีบุญที่องค์มั่นเป็นผู้นำมาตั้งค่ายอยู่ข้างหมู่บ้านสะพือ แล้วเปิดฉากยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ในตอนสายวันรุ่งขึ้น ผู้คนล้มตายหลายร้อย กลายเป็นตำนานทุ่งสังหารบ้านสะพือ

เป็นเรื่องราวเล่าขานต่อเนื่องมา จนเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นคล้ายภาพจำหลักเมื่อกล่าวถึงคำว่ากบฏผีบุญ

อาจเนื่องจากกลุ่มผู้มีบุญเมืองอุบลที่มีองค์มั่นเป็นผู้นำเป็นกลุ่มกบฏที่มีการลุกฮือครั้งใหญ่ที่สุดของชาวบ้านอีสาน ซึ่งผู้นำเป็นสามัญชน มีมวลชนเข้าร่วมสูญเสียชีวิตจำนวนมากและมีหลักฐานปรากฏในเอกสารของทางการอยู่มากที่สุด ตามระดับความหวาดวิตกของมณฑลและส่วนกลางที่เตรียมการรับมือกันอย่างโกลาหล มณฑลอีสานต้องถึงกับทุ่มเทกำลังทหารทั้งหมดออกไปรับมือ รวมทั้งแจ้งขอกำลังจากส่วนกลางมาช่วยรบ

Image

Image

...
ข้อความในสำเนาโทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ใน “หนังสือกระทรวงมหาดไทย ปึก ๒” ม. ๒.๑๘/๗ รายงานว่าพวกผีบุญ “เที่ยวแสดงตัวว่ามีวิทยาคมวิเศษต่าง ๆ และพูดทำนายทายทักว่าหมูจะเป็นยักษ์ ฟักจะเป็นทอง หินแฮ่จะเป็นเงินเป็นทอง ศาสนาพระโคดมจะหมด ถือศาสนาพวกผีบุญเป็นต้นแล้ว...แลว่าผู้มีบุญจะมาแต่ทางตะวันออก”

“องค์มั่นตั้งตัวเป็นองค์ปราสาททอง มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๔ ต่อมาเดือนอ้ายก็ข้ามไปหาองค์แก้วทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง แล้วพาพวกข้ามฝั่งมาตั้งอยู่ที่บ้านกระจีนเขมราฐ รวบรวมคนได้ ๒,๐๐๐ คนเศษก็ยกไปอำเภอโขงเจียมซึ่งนายอำเภอก็เข้ากับองค์มั่น ป่าวประกาศให้ราษฎรมาทำบุญด้วย”

ภูมิหลังขององค์มั่นตามคำให้การที่ทางการได้จากการสอบสวนองค์เหลืองสน ซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งของผู้มีบุญกลุ่มอุบลที่ถูกจับกุม

ผู้นำกลุ่มผีบุญที่จนมุมต่อทางการให้การด้วยว่า องค์มั่นมีแผนจะตีเมืองทั้งหมดบนฝั่งซ้ายและฝั่งขวารวมดินแดนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งราชอาณาจักรใหม่ที่ไม่ขึ้นต่อกรุงเทพฯ และฝรั่งเศส

ข่าวการมาของผู้มีบุญกลุ่มองค์มั่นเป็นที่น่าพรั่นพรึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเส้นทางที่เคลื่อนผ่าน รวมทั้งเป้าหมายปลายทางแรกที่ใหญ่โตตามที่ประกาศว่าจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานี !

“ครั้นถึงแรมเดือน ๘ มันจึงหาพวก ๒,๕๐๐ คนเศษ ยกไปเขมราฐ จับท้าวอ่อนกิติกาฆ่า แล้วเอาไฟจุดเรือน” โทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิฯ รายงานสถานการณ์ถึงกระทรวงมหาดไทย

แหกตะรางปล่อยนักโทษ แล้วจับเจ้าเมืองขึ้นแคร่หามแห่แหนไปเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้เข้าเป็นพวก

อาจดูเป็นการทายท้าบ้าบิ่นที่ไม่ค่อยแยบยลทางกลศึกจนถึงอาจฟังดูไม่น่าเชื่อถือ แต่นั่นอาจเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการรวบรวมกำลังพลเตรียมทำศึกในยุคโบราณ เหมือนอย่างที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกตระเวนตีโอบรวบรวมกำลังจากหัวเมืองต่าง ๆ ก่อนเข้ายึดกรุงศรีฯ คืนจากพม่า

แต่ถึงตอนนั้นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ตีตรากบฏให้กับคนเหล่านั้นแล้ว “พวกผีบุญก็กลายเป็นกบฏขึ้นแต่นี้ไป”

และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการใช้คำเรียกขานจาก “ผู้มีบุญ” “คนตั้งตนเป็นผู้วิเศษ” เป็น “ผีบุญ”

แต่ต่อมาก็มีการให้นิยามใหม่หมู่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์สังคมว่าการลุกขึ้นต้านอำนาจรัฐส่วนกลางของคนท้องถิ่นเหล่านั้นเป็นกบฏไพร่ กบฏชาวนา เนื่องด้วยผู้มีบุญกลุ่มอุบลมีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน ผ่านการใช้อุดมการณ์พระศรีอาริย์ ที่อ้างถึงชีวิตในอุดมคติที่ผู้มีบุญจะมาบันดาลให้เกิดขึ้น

จากแถบริมฝั่งโขงที่เขมราฐ กลุ่มผู้มีบุญเคลื่อนไปพักบ้านโพธิ์ไทร เกณฑ์ปืนและกระสุนดินดำ ได้ปืนใหม่เกือบพันกระบอก แล้วยกไปทางอำเภอเกษมสีมา แล้วยกมาบ้านขุหลุล้อมจับทหารฆ่าตาย ๑๒ คน ยึดปืนมาให้พวกใช้ และจับตัวนายอำเภอพนานิคมมาตัดหัว

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับคดีและสถานที่ประหารชีวิตนักโทษในภาพนี้  แต่ผู้ที่ถูกชี้ว่าเป็นแกนนํากบฏผู้มีบุญก็จะถูกลงทัณฑ์ด้วยวิธีเดียวกันนี้ โดยนํากลับไปประหารในท้องถิ่นและตัดหัวเสียบประจานให้เป็นที่หวาดกลัวและให้เห็นว่าผู้มีบุญไม่ได้วิเศษจริง
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Image

สำเนาโทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิฯ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๔๔ รายงานว่า วันนี้ทหารที่หนีมาได้คนหนึ่งบอกว่า “กบฏนั้นมีแกว และเขมรข่าปนกัน ลาวมากกว่าอื่นทั้งหมด” และย้ำตามมาอีกในวันที่ ๓ เมษายน ว่ามีข่าวจาก “พวกจีน” ว่า “พวกกองผีบุญ” นั้น “เป็นแกวบ้าง กุลาบ้าง ข่าหรือเขมรบ้างลาวเป็นพื้น

เมื่อมาอ่านใหม่ในช่วงเวลาที่ห่างมาเป็นร้อยปี เหมือนท่าทีของรัฐยังไม่เคยเปลี่ยน กับการสร้างความเป็น “คนอื่น” ให้กับฝ่ายตรงข้าม จากนั้นก็ง่ายและดูชอบธรรมที่จะปราบโดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นใด

และโดยเฉพาะในกรณีกบฏผู้มีบุญอีสานผู้มีบทบาทสำคัญกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ให้ข้อมูลในท้องถิ่นต่อทางการ เป็นพวก “พ่อค้าจีน” ตามเมืองต่าง ๆ ที่พระยาสุรเดชฯ เขียนเล่าในรายงานว่ามาคอยต้อนรับแทบทุกเมือง บางที “มาหาข้าพระพุทธเจ้าถึงที่พัก” น่าสังเกตว่าพ่อค้าเป็นกลุ่มที่เข้าถึงชนชั้นปกครองมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีส่วนที่จะชี้ให้ใครเป็นผีบุญ รวมถึงการอุปถัมภ์แบบ “ต่างตอบแทน” อื่น ๆ จากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง  และนี่อาจเป็นที่มาของฐานันดรพิเศษที่นอกเหนือจากพลเมืองทั่วไปในการจำแนกบุคคลเมื่อมีกล่าวถึงกลุ่มบุคคลว่า “ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน”

>

อ่านต่อ ภาค 2 (จบ)