Image
ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
เรื่องพืชผักท้องถิ่นกินได้ ว่ามีต้นมีใบอะไรกินได้บ้างนั้น นับเป็นความรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้นนะครับ คนที่เพิ่งสนใจคงเห็นว่า ลำพังความรู้ในระบบที่เผยแพร่แล้วก็ช่างมีมากมายไหนจะวัชพืชบางอย่าง ที่จนบัดนี้ยังไม่มีรายงานวิชาการยืนยันว่ากินได้หรือไม่ ผมก็รู้สึกว่ามันมีกลิ่นที่ “น่าจะกินได้” ค่อนข้างแน่ ดังนั้นเรื่องนี้จึงยังเปิดกว้างมากๆ เลยแหละ
Image
Image
แล้วยิ่งได้แวะเวียนไปที่นั่นที่โน่น ผมก็พลอยได้รู้จักพืชผัก ตามทุ่งตามป่าริมทางในชนบทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความดีงามของการปั่นจักรยานทัวริงข้อหนึ่งก็อาจอยู่ตรงนี้ เช่น เมื่อ ๒ เดือนก่อน ตอนปั่นกินลมช่วงฝนลงใหม่ๆ ตรงริมทางย่านรอยต่อเมืองลพบุรี-เพชรบูรณ์อยู่ๆ เพื่อนก็ชี้ไปข้างทาง

“ส้มลม” คนชี้ยังลงไปเด็ดช่อดอกสีแดงทรงสวยกะทัดรัดมาให้ดู “ปักษ์ใต้เรียก ‘ส้มเกรียบ’ เขาเอาต้มส้มกิน แต่ทางเพชรบูรณ์นี่กินดอก กินใบอ่อนสดๆ จิ้มป่นกัน” พอรู้จักเข้าแล้ว ทีนี้ผมเลยเห็นว่าเครือส้มลมแถวนั้นมีเยอะจริงๆ จนนับว่าเหลือเฟือ ถ้าใครอยากเก็บไปทำกับข้าว
Image
ความเหนียวของเถา ทำให้ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัด ส้มลมนั้นมียางสีขาวทั้งใบและดอก แต่ยางนี้ไม่กัดมือ ล้างน้ำก็ออกโดยง่าย ผมลองตัดเถาส้มลมกลับมาบ้านรูดเอาใบเพสลาด ใบอ่อน และช่อดอก ล้างสะเด็ดน้ำไว้ก่อน

ส้มลมแถบเมืองเพชรบูรณ์คงไม่เคยถูกเอามาใส่หม้อต้มส้มน้ำใสมาก่อนเป็นแน่ผมเลยอยากลองเผยแพร่ “ข่าวสาร” ใหม่ในพื้นที่ดู โดยผมตั้งหม้อน้ำต้มกระดูกหมูอ่อนบนเตาไฟกลาง คอยช้อนฟองทิ้งจนน้ำซุปใสกิ๊ก พอสักชั่วโมงหนึ่ง กระดูกอ่อนเริ่มเปื่อยกรุบกรอบอร่อย ก็เติมเกลือป่น ทุบกระเทียมใส่ทั้งหัว บุบพริกไทยเม็ดเติมนิดหน่อย
Image
Image
จากนั้นใส่ใบและดอกส้มลมที่เก็บมาจากป่าริมทางนั้น ลงไปเยอะๆ ต้มราว ๑๕ นาที จนกลิ่นเปรี้ยวโชยขึ้นมาก็จะได้ต้มส้มรสเปรี้ยวโปร่งๆ เค็มอ่อนๆ ซดกินชื่นใจ

เนื้อใบส้มลมให้รสเปรี้ยวเจือฝาดอ่อนๆ นัวๆ มีความนุ่ม แต่ไม่เละ แม้อุ่นหลายครั้ง และรสเปรี้ยวจะยังมีติดที่ตัวใบอยู่

ส่วนดอกนั้น แม้สุกแล้ว สีก็ยังแดงสวยอยู่ที่สำคัญ ยางของส้มลมทำให้น้ำซุปขาวขุ่น สวยน่ากินมากๆ ครับ
Image
เรียกว่าเป็นผักใบเปรี้ยวที่เหมาะแก่การต้มส้มจริงๆ เพื่อนฝูง ญาติมิตร คนพื้นที่เองยังเอ่ยปากชมว่าไม่เคยกินแบบนี้มาก่อน ใบมันนุ่มอร่อยมาก ฯลฯ

“ทริปหน้า” ลองมองหาส้มลมกันหน่อยนะครับ...