Image
กบฏชาวบ้าน
และต้นแบบรัฐไทยผู้มีบุญ
รองศาสตราจารย์
ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
Interview
สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เป็นครั้งแรกที่ผมถูกกระตุ้น
ให้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้”

รองศาสตราจารย์ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เล่าถึงวันหนึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว คราวได้รับเชิญไปร่วมเสวนา “เรื่องเล่าบ้านสะพือ : ทุ่งสังหารผีบุญ” ที่ได้จุดประกายความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานครั้งสำคัญนั้นขึ้นในใจเขา

“มีคนถูกฆ่าพร้อมกัน ๓๐๐ กว่าคน นี่เป็นการตายครั้งสำคัญในการผนวกอีสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกรุงเทพฯ  นี่เป็นการฆ่าเพื่อยึดครองจริง ๆผมคิดว่าผมมองข้ามเหตุการณ์นี้มา คือไม่เคยถูกบอกเล่ามาก่อน”

บทสนทนาถัดจากนี้เป็นภาคต่อมาหลังจากการศึกษาค้นหาหลักฐานจากเอกสารที่มีบันทึก และลงลึกศึกษาจากงานวิจัยของนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่มีทำไว้หลายชิ้นในช่วงหลายสิบปีมานี้  วิเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบททางสังคมการเมืองในยุคสมัยนั้น เหมือนเป็นการปะติดปะต่อจิ๊กซอว์แต่ละตัวเข้าเป็นภาพใหญ่  และที่สำคัญคือการ “คิดต่อ” เพื่อจะเข้าใจอย่าง “รอบด้าน” ต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการเมืองครั้งใหญ่ในอีสาน ที่คล้ายถูกทำให้หายไปจากความรับรู้ของคนรุ่นหลัง

ขบวนการผู้มีบุญจากปากคำของอาจารย์ธำรงศักดิ์จึงไม่ใช่เพียงเรื่องเล่า แต่เป็นคล้ายการชวนอ่านความนัยแต่ละช่วงตอนของเหตุการณ์และในใจความตามที่เอกสารสมัยนั้นบันทึกไว้

เรื่องราวเกี่ยวกับ “ผู้มีบุญ” ในบทสนทนานี้เป็นเสียงเล่าในมุมมองเฉพาะที่ผู้อ่านก็คงต้องคิดวิเคราะห์ต่อด้วย

◆ ชาวบ้านเรียกคนกลุ่มนี้ว่าผู้มีบุญ ผู้ปกครองแห่งกรุงเทพฯ เรียกคนกลุ่มนี้ว่าผีบุญ เป็นกบฏ ◆
กบฏผีบุญ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานบ้านเกิดของตัวเอง หลงรอดสายตานักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธำรงศักดิ์ ไปได้อย่างไรครับ
เป็นไปได้ว่าวิธีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของเราเป็นการสอนว่าด้วยศูนย์อำนาจส่วนกลางที่เราถูกทำให้มองข้ามเหตุการณ์หรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ถูกทำให้ลืมถูกทำให้ไม่มีความสำคัญ เพราะผู้ตายเป็นเพียงชาวบ้าน

ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบรัฐส่วนกลาง เมื่อเราไม่เคยได้ประมวลไว้ว่ารัฐทำความรุนแรงกับประชาชน เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ตลอดศตวรรษขึ้นเลย เราไม่มีแผนภาพนี้เลย
ทำไมเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ครับ
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความสำเร็จของอำนาจรัฐ ที่เราเรียนมาตลอดคือความสำเร็จของการสร้างรัฐ อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ความสำเร็จของการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ ๕ เป็นประวัติศาสตร์แห่งอำนาจของศูนย์กลาง

ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ หากว่าไปดูในตำราเรียน เราแทบไม่เห็นเลยว่าเกิดการปะทะกันทางทหารที่ไหน อย่างไร เกิดผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างไร  ถ้าเกิดว่าไม่มีฝรั่งที่เป็นเชลยศึกเข้ามารื้อฟื้นสะพานข้ามแม่น้ำแควกับทางรถไฟสายมรณะ กาญจนบุรี ผมคิดว่าวิชาประวัติศาสตร์ไทยก็จะไม่ได้กล่าวถึงมันแน่ ๆ เลย
ถ้าเป็นในส่วนกลางล่ะครับ ความรุนแรงที่รัฐเคย ทำกับประชาชนได้รับการประมวลไว้ไหม
ผมนึกถึงงานของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน บ้านเมืองของเราลงแดง ประโยคแรก ๆ ของอาจารย์เบนคือ การฆาตกรรมทางการเมืองมันเป็นเอกลักษณ์ของรัฐไทย  อาจารย์เบนพยายามที่จะบอกว่า การฆาตกรรมนักศึกษาประชาชน ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ทำไมรัฐไทยมันถึงกล้าทำ  ทำให้ผมมองเห็นเพิ่มขึ้นว่า เฮ้ย...ไม่ใช่แค่ ๖ ตุลาคมนะ ๑๔ ตุลาคมก็ใช้กองกำลังทหารฆ่าคนบนถนนราชดำเนินนะ ทั้งทหารทั้ง M16 ทั้งรถถังที่ออกมาตรงถนนราชดำเนิน  ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นครั้งที่ ๒  พฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นครั้งที่ ๓  เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นครั้งที่ ๔  ภาพที่ผมเริ่มมองเห็นคือรัฐไทยฆ่าประชาชนกลางเมืองด้วยอาวุธสงครามอย่างไม่แคร์มาสี่ครั้งใหญ่ ๆ เพื่อรักษาสถานะทางอำนาจและผลประโยชน์  ตามคำของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน คือรัฐไทยสามารถฆาตกรรมทางการเมืองต่อประชาชนอย่างเป็นแบบแผนได้อย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา
Image
พออาจารย์ได้ศึกษาลงลึกแล้ว กบฏผีบุญคืออะไร อย่างไร
ประชาชนในอีสานต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐกรุงเทพฯ จากการเก็บภาษีเป็นตัวเงิน จากเดิมการเก็บภาษีในท้องถิ่นเป็นการเก็บภาษีผ่านสิ่งของที่หามาได้จากป่า ไม่ว่าจะเป็นขี้ผึ้งหรืออะไร เก็บผ่านสิ่งของ แต่ตอนนี้เป็นการเก็บผ่านตัวเงินที่มีมาตรฐานเดียวกันคือ ๔ บาท ที่เรียกว่าเงินราชการ ในขณะที่คนอีสานไม่มีเงิน ดังนั้นผู้มีบุญหรือผีบุญจึงเกิดการแพร่กระจายของสิ่งที่เรียกว่าจดหมายลูกโซ่ เป็นคำทำนายว่าหินที่เอาไปบูชานี้จะกลายเป็นเงินเป็นทอง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ก็คือเงินทองนี้แหละจึงเอาหินไปบูชา แต่ในคำอธิบายไปผนวกกับเรื่องแนวคิดศาสนา ที่ว่าด้วยโลกพระศรีอาริย์ที่จะมาทำให้ทุกคนมีเงินมีทองมั่งคั่ง มีความบริบูรณ์ ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นก็คือเรื่องนี้แหละ เรื่องความต้องการที่จะหาเงินจริง ๆ จ่ายเงินภาษีให้กับกลไกของรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ต้องการสินค้าแบบเดิมอีกต่อไป  เพราะว่าเดิมทีกรุงเทพฯ เอาสินค้าที่เรียกว่าส่วยของชาวบ้านในรูปของป่า เอาไปใช้เอาไปขายให้ไทยจีนฝรั่งที่กรุงเทพฯ สินค้าของป่าคือผลิตภัณฑ์ที่ขายเป็นตัวเงินได้ กรุงเทพฯ เคยทำหน้าที่ตรงนี้

แต่พอกรุงเทพฯ ปรับตัวเองเป็นรัฐสมัยใหม่ จึงต้องการเงินมากกว่าสินค้า สิ่งของ จึงปรับให้เป็นการเก็บภาษีจ่ายด้วยเงินทั้งประเทศ จึงกลายเป็นว่าชาวบ้านต้องใช้เงิน คือชาวบ้านไม่ได้ต่อต้าน ชาวบ้านอยากได้เงินเพื่อจ่ายภาษีให้คุณนั่นแหละ

แต่วิธีการที่เร็วที่สุดก็คือเอาหินไปบูชาก็จะได้เงิน ชาวบ้านก็เคลื่อนไหวเลย หินนี้อยู่ที่เสลภูมิ ร้อยเอ็ด เราจึงเห็นชาวบ้านเดินทางมาไม่เว้นทุกทิศทาง  มาเอาหินแฮ่ที่เสลภูมิกลับไปบูชานี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของผีบุญ
ความเชื่อความศรัทธากลายเป็นการฆ่าฟันกันได้อย่างไร
การเดินทางของชาวบ้านมากันที ๓๐๐-๔๐๐ คน มันก็เป็นกองกำลัง กระจายตัวมากในเขตอุบล ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ แถวนี้มันมีความเคลื่อนไหวของผู้มีบุญสูงมาก ตอนนั้นเรียกว่ามณฑลอีสานแทนที่เรียกว่ามณฑลลาวกาวแล้ว

ตอนแรกผมคิดว่าผีบุญเป็นเรื่องของคนลาวอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าพอมันเกิดที่ในเขตศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ โทรเลข
ฉบับแรกที่ถูกส่งมาจากอุบลถึงกรุงเทพฯ คือกลุ่มผู้มีบุญในขุขันธ์มีจำนวนเป็นพัน กรุงเทพฯ ก็ตกใจเลย  รัชกาลที่ ๕
ต้องเรียกเลือกระดมกลุ่มผู้บริหารทั้งหมดเลย เพื่อประชุมว่าจะจัดการอย่างไร และกรุงเทพฯ ก็ตัดสินใจให้ส่งกองกำลังทหารเข้าสู่อีสานทันที

เรื่องนี้เราจะเห็นว่าปัจจัยความสำเร็จของกรุงเทพฯ คือ ทางรถไฟ  กรุงเทพฯ สร้างทางรถไฟจากหัวลำโพงไปโคราชเป็นสายแรก เพื่อต้องการชิงดินแดนกับฝรั่งเศสในเขตอีสานและทางรถไฟสายนี้ทำให้กรุงเทพฯ สามารถส่งกำลังทหารเข้าสู่อีสานได้อย่างรวดเร็ว ออกเดินตอนสาย บ่าย ๆ เย็น ๆ ก็ถึงโคราชแล้ว  การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่โคราช ลดเวลาจาก ๑๕ วัน กลายเป็นไม่กี่ชั่วโมง แม้ว่าจะยังไม่มีทางรถไฟต่อไปถึงอุบล แต่เขาก็มีวิธีการเดินทัพ คือมีเรือล่องแม่น้ำมูล แถว ๆ พิมายจะมีท่าเรือล่องไปจนกระทั่งถึงอุบลเลย และอีกวิธีคือกองกำลังทหารเดินบกผ่านเมืองต่าง ๆ

ในกรณีของการปราบผู้มีบุญที่ขุขันธ์ เป็นกองกำลังทหารเล็ก ๆ ที่ถูกส่งมาจากอุบล มีจำนวนทหารและปืนสมัยใหม่ ๑๐ กว่าคนเท่านั้นเอง แต่สามารถฆ่าผีบุญได้เรียบเลย เพราะว่ามีปืนสมัยใหม่

ดังนั้นเหตุการณ์ที่บ้านสะพือ ที่กลุ่มผู้มีบุญประมาณว่ามีระดับ ๑,๐๐๐ กว่าคนที่มารวมตัวกัน เราจะเห็นว่ากำลังทหารในการปราบล้อมฆ่าพวกเขาแค่หนึ่งกองร้อยเท่านั้นเอง ทหารทุกคนมีปืนสมัยใหม่ แล้วก็มีปืนใหญ่อยู่สองกระบอกเป็นปืนใหญ่แบบล้อเกวียนเล็ก ๆ ไม่ใช่ปืนใหญ่ขนาดใหญ่สมัยโบราณ เป็นปืนใหญ่แบบทันสมัยที่ใส่ลูกด้านหลัง ไม่ใช่ใส่ลูกด้านหน้า แค่นี้เองก็สามารถฆ่าผู้ชุมนุมกลุ่มผู้มีบุญที่บ้านสะพือได้ ตายไปกัน ๓๐๐-๔๐๐ คน และถูกจับไปอีก ๓๐๐-๔๐๐ คน

กลุ่มผู้มีบุญที่อยู่ตรงนั้นไม่ได้คิดต่อสู้กับกองกำลังของรัฐเลย พวกเขาบอกให้ทุกคนนั่งสมาธิกันอย่างสงบ และก็เชื่อก็ศรัทธาว่าพวกตนเองนั้นฟันแทงไม่เข้า แต่ลืมไปว่าอันนี้เขาไม่ใช้ฟันแทงแล้ว เขาใช้ลูกปืนยิง ล้อมยิงล้อมฆ่าหมู่ก็เลยตายกันเยอะ

ดังนั้นผมคิดว่านี่คือทุ่งสังหารบ้านสะพือเลยแหละ แบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อน

เทคโนโลยีของกรุงเทพฯ ในความเปลี่ยนแปลงคือรถไฟกับโทรเลข ที่ทำให้ส่งข่าวระหว่างหัวเมืองกับกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว และทหารสมัยใหม่ที่มีปืนแบบใหม่ เป็นสามเทคโนโลยีที่สามารถปราบปรามผู้มีบุญ

การปราบปรามนั้นเราจะเห็นตั้งแต่เริ่มต้นเลย คือการสังหารผู้มีบุญทิ้ง ไม่ใช่จับมาเพื่อขึ้นศาลนะ ที่ขุขันธ์ก็จับตายและที่อื่น ๆ ที่เห็นก็จับไปประหารกันหมดเลย แสดงว่ามันเป็นนโยบายจากรัฐที่กรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว คุณต้องตายโดยที่ไม่ต้องพูดในกระบวนการศาล นี่คือต้นแบบรัฐไทยในปัจจุบันเลย คือตายไว้ก่อน
ในเรื่องที่กระทบต่ออำนาจรัฐ เหมือนได้รับใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงได้ ?
เรามองก็เห็นว่าทำไมบ้านสะพือมันล้อมยิงเลย ทำไมที่ขุขันธ์ซึ่งเป็นที่แรก ทำไมฆ่าเขาเลยล่ะ พอเราไปดูเมืองอื่น ๆ สกลนครก็ฆ่าทิ้งหมดเลยนะ เป็นการฆ่าทิ้งหมดเลยแบบนี้ มันก็เท่ากับว่าเป็นนโยบายหรือเป็นคำสั่งจากรัฐส่วนกลางเรียบร้อยแล้วว่า ทหารพวกนี้มีอำนาจในการประหารชีวิตผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นกลุ่มกบฏ

กรณีของผู้มีบุญอุบล จับชาวบ้านมาเยอะมาก แต่ตอนนี้เรายังไม่มีหลักฐานว่ากระบวนการประหารชีวิตคนที่อุบลนั้น มีจำนวนทั้งหมดเท่าไร คนที่ไปค้นหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ยังไม่พบข้อมูลนี้ มันเหมือนกับว่าไม่สนใจหรอกว่าคุณจะตายไปสักเท่าไร แต่สิ่งที่เราเห็นคือฝ่ายตัวแทนข้าหลวงต่างพระองค์ของกรุงเทพฯ สั่งการให้พระสงฆ์ที่มีชื่อสำคัญของเมืองอุบลออกไปเผยแพร่ข้อมูลกับชาวบ้านว่า การกระทำของชาวบ้านผีบุญนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร พระที่มีชื่อเสียงของอุบลที่อยู่วัดสุปัฏน์ เดินสายไปยังเมืองที่เป็นจุดสำคัญ ๆ ของฝ่ายผู้มีบุญ

อีกอย่างคือมีการให้ชาวบ้านในอุบลมาดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาเพื่อให้จงรักภักดีต่อกษัตริย์แห่งกรุงเทพฯ นี่เป็นครั้งแรกของการถูกผนวกอย่างจริงจังให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นพวกลาวต่อไป
จากที่อาจารย์เล่ามาดูเหมือนจุดเริ่มต้นมาจากภาษีนะครับ มันไม่ใช่เรื่องเอกราชในดินแดน
ผมคิดว่ามันเป็นการตีความในระยะหลังมาก จดหมายลูกโซ่ที่มีหนองโสนอยู่ในถ้อยคำนั้นไปตีความว่าคืออยุธยา ผมคิดว่าผู้มีบุญพวกนั้นคงนึกไม่ออกว่าหนองโสนในความเข้าใจของกรุงเทพฯ คือที่ไหน  สำหรับพวกผู้มีบุญแล้วมันน่าจะคือสถานที่ใดที่หนึ่งในอีสานนั้นแหละครับ  หรือแม้แต่การลากไปว่าจะให้ผู้มีบุญของกลุ่มบ้านสะพือไปครองเวียงจันทน์ ก็เป็นการตีความที่เกินเลย เพราะตอนนั้นเวียงจันทน์แทบไม่มีผู้คนและอำนาจเลย หลังจากที่ถูกเผาไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ และกลุ่มคนผู้มีบุญนี้เป็นกลุ่มคนลาวใต้ เขาสัมพันธ์กับจำปาศักดิ์มาถึงอุบล ไม่เคยไปเวียงจันทน์เลย  พอไปโยงไปสถาปนาให้อยู่ที่เวียงจันทน์ ให้มาอยู่ที่หนองโสน คือกรุงเทพฯผมว่าไปกันใหญ่

ที่เป็นไปได้อย่างยิ่งคือ มาจากการที่พวกเขาต้องการเงินทองเป็นตัวเงินเพื่อจ่ายค่าภาษีให้กับกรุงเทพฯ

แต่พอเขารวมตัวแบบนี้ เขาก็เป็นเผ่าพันธุ์ลาวที่มีอาณาบริเวณของตนเอง คือกรุงเทพฯ มองเห็นคนเหล่านี้เป็นลาว ในขณะที่เขาเป็นลาว เป็นเขมร เป็นภูไท อีกมากมายหลายชาติ แต่กรุงเทพฯ มองเขาทั้งหมดเหมาว่าเป็นลาวเดียวกัน  ดังนั้นในสายตากรุงเทพฯ จึงเรียกพวกนี้ว่ากบฏต่อต้านอำนาจรัฐ คือตอนนั้นกรุงเทพฯ ไม่มั่นใจว่าพวกนี้คือใคร แล้วก็จะเกี่ยวพันกับการที่จะเอาดินแดนอีสานนี้ไปให้ฝรั่งเศสไหม เพราะมันกำลังอยู่ในห้วงเวลาชิงดินแดนและสร้างอำนาจเหนือเขตแดนลุ่มแม่น้ำโขงกันอยู่  คือกำลังอยู่ในช่วงที่รัฐกรุงเทพฯ ยังมีอำนาจไม่เต็มที่เหนือเมืองอุบล เหนือเมืองในมณฑลทั้งสามของภูมิภาคนี้ (มณฑลลาวกาว ลาวพวน ลาวกลาง) ยังเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่ ยังไม่ได้ลงหลักแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอตลอดจนผู้ใหญ่บ้านของตนเองสักเท่าไรเลย
Image
พอหลังจากกรุงเทพฯ เข้าไปจัดการผีบุญเสร็จ จึงเริ่มทำให้เจ้าเมืองอีสานบางคนสิ้นตำแหน่งไป บางคนยังคงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ บางคนได้เป็นนายอำเภอกินเงินเดือน ทำให้สถานะของตระกูลสายเจ้าเมืองต่าง ๆ สิ้นสุดลงหลังผีบุญ แล้วก็ทำให้อำนาจการปกครองของกรุงเทพฯ ผ่านการแต่งตั้งมณฑลเทศาภิบาล แต่งตั้งเจ้าเมือง แต่งตั้งนายอำเภอเข้มแข็งขึ้น รวมศูนย์อำนาจมายังพระราชวังหลวงที่กรุงเทพฯ แบบเบ็ดเสร็จ  แล้วกรุงเทพฯ ก็จะใช้วิธีการเปลี่ยนผู้นำในหมู่บ้านโดยการเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้าน สถาปนาผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่ เพื่อให้จงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ ในกรณีของกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรุงเทพฯ ก็ไปเอาแบบอย่างมาจากการที่อังกฤษปกครองพม่า รวมทั้งไปดูการปกครองอาณานิคมอังกฤษที่มาเลเซีย สิงคโปร์และอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ที่ชวา แล้วกรุงเทพฯ ก็เอามาจัดการปกครองดินแดนที่ผนวกรวมมาเป็นประเทศไทย

ดังนั้นหลังการปราบผู้มีบุญอีสาน กรุงเทพฯ จึงกระชับอำนาจอย่างเข้มข้นเลย รวมทั้งการใช้พระและการศึกษา ที่กรุงเทพฯ จัดตั้งขึ้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการผนวกรวมอีสาน
อีกประเด็นบอกว่ากรุงเทพฯ ต้องรีบรวบรัดและเด็ดขาด เพราะอยู่ในช่วงแย่งอีสานกับฝรั่งเศส
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเกิดจากอาณานิคม แล้วประเทศไทยเกิดจากอะไร เกิดจากอาณานิคมไม่เอาไง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของผีบุญอีสาน

ในช่วงนั้นกรุงเทพฯ กำลังชิงดินแดนอีสานกับฝรั่งเศส เพราะกรุงเทพฯ เริ่มสถาปนาเข้าไปในอีสาน ทำให้เขตของอีสานแบ่งออกเป็นสามมณฑล เพราะกรุงเทพฯ เริ่มเอาแบบของอังกฤษปกครองอาณานิคมมาจัดแบ่งเป็นมณฑล อีสานจึงถูกแบ่งเป็นมณฑลลาวกาว มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกลาง  สามมณฑลลาวนี้คุมพื้นที่อีสานทั้งหมดเลย

ภาคเหนือที่เราเรียกว่าล้านนา กรุงเทพฯ ให้เป็นมณฑลลาวเฉียง เพราะอยู่เฉียงจากลาวกลางโคราช กรุงเทพฯ มองว่าโคราชเป็นศูนย์กลางของลาว

ส่วนพวกอุดร สกลนคร พวกนี้เป็นพวนหมดเลย พวกโซ่ ภูไท อะไรหายหมดเลย มีแต่เป็นลาว เป็นลาวพวน

ส่วนลาวกาว น่าจะมาจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงมหาราช เอาลาวกาวในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมาตั้ง

พอกรุงเทพฯ มองเห็นลาวทั้งภาคอีสานและภาคเหนือปัญหาเกิดขึ้นทันที ฝรั่งเศสก็ตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นลาวมันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนลาว เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ สามอาณาจักรที่ฝรั่งเศสเข้าครอบครอง ดังนั้นอีสานหรือภาคเหนือมันก็ต้องเป็นของสามอาณาจักรนี้เช่นกัน ซึ่งที่จริงมันก็ใช่ เพราะมันคือที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงขนาดใหญ่ พอกรุงเทพฯ ตระหนักได้จึงต้องเปลี่ยนจากมณฑลลาวกาวเป็นมณฑลอีสาน ลาวพวนเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร ลาวกลางเปลี่ยนเป็นมณฑลนครราชสีมา ลาวเฉียงเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ  แต่ในที่สุดชื่ออีสานจึงค่อย ๆ ขยายความหมายมาคุมพื้นที่ทั้งหมดที่เรียกว่าภาคอีสานหรือเดิมคือสามมณฑล เพราะมันคือแผ่นดินทิศอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ

พอเปลี่ยนชื่อมณฑลแล้ว คนกรุงเทพฯ ก็พยายามบอกว่าคนตรงนี้ไม่ใช่ลาว คนตรงนี้เป็นไทยทั้งนั้นเลย เห็นไหมว่าพยายามเปลี่ยนคนด้วย แต่เราก็ติดปัญหาว่าพวกชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ดูถูกดูหมิ่นลาวเหนือลาวอีสานมาตั้งนาน ก็ยังตกค้างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
โดยรวมคือเรื่องราวของผีบุญอยู่ในบริบทที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีอำนาจเหนืออีสานอย่างชัดเจน และมันยังอยู่ในบริบทที่ต้องต่อสู้แย่งชิงกับฝรั่งเศส คือมันยังไม่ลงตัวจนกระทั่งมัน
มาถึงสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ที่แลกกับจันทบุรี ค.ศ. ๑๙๐๗
ตราด ค.ศ. ๑๙๐๙ มันถึงค่อนข้างลงตัวกันเรื่องเขตแดน
ตอนนั้น  แต่ในช่วงที่ปราบพวกผีบุญ ผู้ปกครองกรุงเทพฯ ก็กังวล คิดไปว่ากลุ่มผีบุญนี้กบฏเพื่อเอาดินแดนไปอยู่กับฝั่งลาวของฝรั่งเศส  กรุงเทพฯ กลัวหรือกังวลใจว่าดินแดนเหล่านี้ ประชาชนเหล่านี้จะหันไปอยู่ร่วมกับคนลาวที่อยู่ในเขตของฝรั่งเศส มันอยู่ในช่วงของการชิงดินแดนกัน นโยบายของรัฐบาลกรุงเทพฯ คือสังหารทิ้งให้หมด แกนนำของพวกกบฏ
“คำว่าผีบุญหมายถึงกบฏชาวบ้าน การไม่ยอมรับอำนาจของรัฐ ไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ยอมรับอำนาจการบริหารของรัฐจากกรุงเทพฯ แต่เราก็จะเห็นว่าเวลาพูดถึงผีบุญ พวกข้าราชการกรุงเทพฯ นึกถึงแต่กลุ่มอุบลอย่างเดียว”
ถ้ามองกลับด้านว่ากรณีผีบุญอาจไม่มีอะไรเลย เป็นอย่างที่รัฐประเมินในตอนต้นว่าเป็นกลุ่มคนหลอกลวงหากินจากชาวบ้าน เป็นกลุ่มโจรธรรมดา ไม่มีมิติอื่นเลย เป็นไปได้ไหมครับ
เขารวมตัวกันนับได้เป็นพัน ๆ เดินทางจากโขงเจียมมาบ้านสะพือ แล้วเขากำลังจะมุ่งไปยังเมืองอุบล  ถ้าคนเป็นพัน ๆ
เดินทางเข้าไปถึงเมืองอุบลได้ เขายึดเมืองได้นะ  พอยึดเมืองได้สิ่งแรกที่คุณทำเลยก็คือการเปลี่ยนเจ้าเมืองหรือว่าเปลี่ยนกษัตริย์ ในอดีตเขาก็ทำกันอย่างนี้  พระเจ้าอลองพญาเป็นผู้ใหญ่บ้านแห่งชเวโบ แต่สภาพการณ์ที่เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายในดินแดนขณะนั้น อลองพญาสามารถแสวงหาความเคารพจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่าง ๆ ได้ก็นำกองทัพบุกเข้าไปยึดอังวะ สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ขึ้นมา  ถ้ากรุงเทพฯ บอกว่า นี่เป็นโจรธรรมดา เวลาอ่านเอกสารคุณจะเห็นว่าเป็นการพูดหลังจากปราบผีบุญเรียบร้อยแล้ว มันจะมีการอธิบายถึงเหตุการณ์ย้อนหลัง แต่ในขณะเหตุการณ์ กรุงเทพฯ กลัว

ผมว่าโทรเลขฉบับแรกของกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ นั่นแหละที่ได้สร้างความแตกตื่นให้กับกรุงเทพฯ โทรเลข ฉบับแรกจากอุบล บอกถึงจำนวนของกลุ่มผู้มีบุญที่ขุขันธ์ว่ามีมากหลายพันคน ซึ่งในแง่มุมของกรุงเทพฯ ก็คือการรวมตัวกันมากขนาดนี้เป็นการท้าทายอำนาจรัฐส่วนกลางนั่นเอง แม้นว่าในแถบอีสานเป็นดินแดนที่ไม่มีอำนาจรัฐกรุงเทพฯ ที่เข้มแข็งมาก่อน  สมัยอยุธยาเราจะเห็นว่าอำนาจรัฐจะเข้มแข็งอยู่ที่โคราชและพิมาย  ตอนที่เจ้าอนุวงศ์ยังไม่ถูกทำลายเวียงจันทน์ก็มีอำนาจลงมาทางอีสาน  ในขณะที่จำปาศักดิ์ก็มีอำนาจในเขตอุบล  เป็นสามอำนาจที่เบาบาง

การตั้งบ้านแปงเมืองของอีสานในอดีต ถ้าไม่ล้มเจ้าเมืองเดิม
แล้วตั้งตนขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ก็พาคนแยกออกจากเมืองเดิมไปตั้งชุมชนใหม่เพื่อให้ตัวเองได้เป็นเจ้าเมือง ชุมชนเมืองในอีสานมันจะเกิดขึ้นจากสองแบบนี้  ดังนั้นถ้าคุณรวมตัวกันเป็นพันคนที่บ้านสะพือและกำลังมุ่งไปยังอุบล กรมขุนสรรพสิทธิฯ ไม่ตกใจก็ให้มันรู้ไปสิ ฉะนั้นเขาจึงส่งทหารสมัยใหม่หนึ่งกองร้อยไปเผชิญหน้า แล้วให้ฆ่าทิ้งทันที

ชาวบ้านพวกนี้จึงไม่ใช่โจรกระจอก คุณกำลังจะเปลี่ยนแปลงเมืองอุบล เปลี่ยนกลุ่มผู้ปกครองเมือง ซึ่งถ้าเราดูให้ดี เจ้าเมืองทางอีสานไม่ได้อยู่ข้างชาวบ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือราชการกรุงเทพฯช่วยปราบกบฏทั้งหมดเลย
เหมือนคำว่าผีบุญ ก็ได้กลายเป็นตราประทับของม็อบอีสานไปเลย
คำว่าผีบุญหมายถึงกบฏชาวบ้าน การไม่ยอมรับอำนาจของรัฐ ไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ยอมรับอำนาจการบริหารของรัฐจากกรุงเทพฯ แต่เราก็จะเห็นว่าเวลาพูดถึงผีบุญ พวกข้าราชการกรุงเทพฯ นึกถึงแต่อุบลอย่างเดียว แต่ไม่เคยคิดว่ามันมีทั้งสุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา จนกระทั่งถึงสกลนครชัยภูมิก็มี  ไม่นึกถึงว่าผีบุญในยุค ๑๒๐ ปีก่อนเกิดทั่วทั้งอีสาน ก็คือพวกต่อต้านอำนาจรัฐกรุงเทพฯ ผู้มีบุญคือกบฏชาวบ้าน
แล้วถ้ามองเชื่อมกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ในปัจจุบัน มีอะไรเทียบเคียงเชื่อมโยงกับผีบุญไหมครับ
กลุ่มคนเสื้อแดงผมมองว่านี่คือกลุ่มผู้มีบุญในยุคใหม่ ที่เคลื่อนจากชนบทมาสู้กันในสนามเมืองหลวง  ตอนนี้เขารู้แล้วว่าต้องสู้กันในเมืองด้วยการชิงอำนาจการเป็นรัฐบาลด้วย ส่วนราษฎรปลดแอก กลุ่มทะลุฟ้า พวกนี้ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องผีบุญแล้วนะ เขากลายเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นพลเมืองอันศิวิไลซ์ยุคใหม่ อันนี้เขาต้องการเปลี่ยนระบอบ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเลย
ถ้าเรามองในฐานะประวัติศาสตร์สังคมบทหนึ่ง กบฏผีบุญมันเป็นอยู่อย่างไรในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย
กบฏผู้มีบุญอีสานเมื่อ ๑๒๐ ปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ายุคไหนประชาชนต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ผ่านหน่วยการปกครองที่มีประชาชนอยู่ในหัวใจ  แต่การปกครองในยุคนั้นเจ้าเมืองอีสานต่างรักษาอำนาจ ตำแหน่ง และผลประโยชน์ของตนไว้โดยหันไปสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ โดยไม่มีประชาชนอยู่เลย
ที่สำคัญกบฏผู้มีบุญชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ สามารถผนวกอีสานได้โดยการใช้ความรุนแรงปราบประชาชน