Image
เรื่องเล่า inside
จาก Site Museum
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เมื่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สนามไชย มีทางออกหนึ่งอยู่มิวเซียมสยาม

ผู้สัญจรจึงได้แกะรอยหลักฐานประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ บริเวณใต้ที่ตั้งของมิวเซียมสยามแบบพอดิบพอดีคล้ายกับ Site Museum (พิพิธภัณฑ์ใต้ดิน) แห่งนี้เป็นส่วนขยายของมิวเซียมสยาม

เหตุจากปี ๒๕๔๙ บูรณะมิวเซียมสยาม พบสรรพสิ่งน่าสนใจถูกฝังใต้ดินรอบอาคาร ซึ่งเดิมคือพื้นที่วังเก่าหลังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาทั้งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลป์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ระดมถอดรหัสสิ่งที่พบก่อนส่งต่อข้อมูลให้ภัณฑารักษ์และนักออกแบบนิทรรศการ ร้อยความรู้เรียงแนวคิดสู่รูปแบบที่ผู้ชมได้สนุกสายตาไปกับข้าวของ เสพบรรยากาศหลุมขุดค้นทางโบราณคดีอย่างใกล้ชิด ผ่านสะพานพื้นกระจกที่มองลงไปเห็นกรวดหินดินทราย แล้วเชื่อมเรื่องราวด้วยสัญลักษณ์ของวัตถุที่ค้นพบ กำหนดให้ชั้นล่างสุดคือดินสมัยอยุธยาและบนสุดคือยุคปัจจุบัน เล่าประวัติพื้นที่บางกอก กลุ่มวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ และจำลองท้องพระโรงวังในสมัยโบราณ พร้อมแสดงโมเดลป้อม วัง อาคารกระทรวงพาณิชย์เก่า (มิวเซียมสยาม) ให้เห็นพัฒนาการปรับเปลี่ยนของพื้นที่
Image
แม้ไม่มีภัณฑารักษ์นำชม แต่ได้อิ่มข้อมูลจากป้ายความรู้ไทย-อังกฤษ และสื่อดิจิทัลทันสมัยผ่านสมาร์ตโฟน-แท็บเลตที่ง่ายเพียงสแกนคิวอาร์โค้ดก็เข้าสู่คลิปวิดีโอสื่อความหมายสิ่งจัดแสดงแล้ว

บรรดาข้อมูลประดามีน่าสนใจทั้งหลุมเสาที่ฉายภาพท้องพระโรงของวังท้าย วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ การตกแต่งพิพิธภัณฑ์จึงออกแบบเสาต่าง ๆ ของสถานีสนามไชยให้คล้ายท้องพระโรงด้วยลวดลายดาวล้อมเดือน ดอกประจำยามดอกพุดตาน บัวจงกล ฯลฯ สร้างบรรยา-กาศอิงศิลปะยุคต้นรัตนโกสินทร์ เน้นโทนสีแดงสลับปิดทองคำเปลวส่งความรู้สึกวิจิตร

ยังมีเศษกระเบื้องมุงหลังคาชนิดเกล็ดเต่ามากมายในอดีต หากจะสร้างวัดวังก็ใช้เครื่องไม้หลังคาหน้าจั่วมุงกระเบื้อง รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องถ้วย เครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผาหลากรูปแบบอย่างหม้อก้นกลม หม้อทะนน หม้อตาล ครก เครื่องครัวที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งชาววังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ล้วนหุงต้มจากภาชนะเหล่านี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

แม้กระทั่งการพบเกือกม้า แปรงขนม้า ก็สะท้อนร่องรอยวังเก่า โดยเฉพาะ “โครงกระดูกวัว” แบบไม่ได้ผ่านการชำแหละและมีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์สันนิษฐานว่าไม่ได้ถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร แต่เลี้ยงเป็นสัตว์พาหนะเทียมเกวียนทำหน้าที่ขนส่งสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ

ซากของสิ่งมีชีวิตดั่งร่องรอยลมหายใจ คือหลักฐานย้ำความสำคัญของพื้นที่ให้เห็นวิถีติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า สินค้าที่ส่งมา และรสนิยมใช้ชีวิตของเจ้านายสยามผู้ครองวังท้ายวัดนี้ครั้งอดีต
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู  

Site Museum
(พิพิธภัณฑ์ใต้ดิน)

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สนามไชย 
ทางออกมิวเซียมสยาม ถนนสนามไชย 
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร 
กรุงเทพฯ

เปิดทุกวัน
ช่วงเวลาทำการของสถานี 
๐๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.