Image
Image
ภาพลายเส้ นชาวม้อย จาก A Pictorial Journey on the Old Mekong Cambodia , Laos and Yunnan. Louis Delaporte and Francis Garnier, (White Lotus, 1998.)
"ชาวนาผู้ก่อกบฏได้แสดงความเป็นการเมืองตั้งแต่ต้นแล้ว ด้วยการมุ่งหมายปฏิเสธและพลิกคว่ำอำนาจของผู้ปกครอง"
รณชิต คูหา
กบฏชาวนา : มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม
บ้านเกียดโง้ง เมืองปะทุมพอน, สปป. ลาว (ภาคใต้) กันยายน ปี ๒๕๖๕

หากจะมีเรื่องเล่าของ “กบฏ” ที่สั่นสะเทือนความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของผมมากที่สุดครั้งหนึ่ง เรื่องเล่าของกลุ่มคนที่บ้านเกียดโง้งและเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพวกเขาน่าจะเป็นหนึ่งในนั้น

ร่องรอยของกลุ่มคนที่ราชสำนักสยามตราหน้าว่า “กบฏ” ยังคงอยู่ทั้งในแง่ของโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือกระทั่งเรื่องเล่าในหมู่อนุชนรุ่นหลัง

ภูมิประเทศบนเนินเขาอันน่าตื่นตา ซากสิ่งก่อสร้าง คำบอกเล่าของคนลาวในพื้นที่ต่างยืนยันถึง “ความเคลื่อนไหว” เมื่อ ๒ ศตวรรษที่แล้วที่ยังคง “มีชีวิต” อยู่ในความทรงจำ

เพียงแต่ “คำอธิบาย” กลับเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กับเนื้อหาในพงศาวดารไทย ตำราประวัติศาสตร์ไทย กระทั่งหนังสือที่เขียนถึงเหตุการณ์ที่ยึดถือหลักฐานของราชสำนักสยามเป็นสรณะ

เป็นเรื่องน่าประหลาดที่ผมพบสถานการณ์ลักษณะนี้แทบทุกกรณี ในทุกพื้นที่ที่เคยมี “ความเคลื่อนไหว” ต่อต้านอำนาจสยามช่วงก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ จนทำให้พบว่า “บทสนทนา” ระหว่างอดีตกับปัจจุบันเรื่อง “กบฏ/ขบถ” ยังคงเกิดขึ้น ณ ทุกที่ของ “จุดเกิดเหตุ”

เรื่องเล่าต่อจากนี้คือส่วนหนึ่งของ “บทสนทนา” ที่บันทึกไว้ได้

scrollable-image
Image
การเสียส่วยด้วยเงินเป็นภาระหนักของชาวบ้านสะอาด ในอำเภอน้ำพองปัจจุบัน เพราะก่อนนั้นเคยเสียเป็นสิ่งของอย่าง แห ผ้าขาว

นายหนู นายจวน และอีกคนไม่ทราบชื่อ จึงชักชวนชาวบ้านไม่ให้เสียส่วย หรือถ้าเสียก็ให้เวียงจันทน์ดีกว่า  บ้านสะอาดเป็นอิสระไม่เสียส่วยอยู่ ๓ ปี เมื่อทางการยกกำลังมา ผู้นำทั้งสามต้มว่านให้ชาวบ้านกินกับข้าวว่าให้อยู่ยงคงกระพัน

และให้ชาวบ้านทำข้าวสุกตากแห้งใส่กระบอกไว้เป็นเสบียงระหว่างสู้รบ

ชื่อเหตุการณ์สามโบก มาจากสามครั้ง เนื่องจากกลุ่มผู้นำถือปืนคาบศิลาออกไปตั้งรับสู้เจ้าหน้าที่ แต่ถูกยิงตายทั้งสามคน คนในหมู่บ้านจึงแตกหนีไป
นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ต่างพยายามนิยามการลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐในอดีตจากคนระดับรากหญ้าของสังคมมานานแล้ว

ในทางทฤษฎีเป็นเรื่องยากที่จะแยก “กบฏไพร่” ออกจากกบฏที่มุ่งชิงบัลลังก์ของรัฐในยุคโบราณซึ่งมักก่อขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางในราชสำนัก เช่นที่เกิดอย่างถี่ยิบในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติ-ศาสตร์ เคยระบุว่าเหตุการณ์เช่นนี้เป็นการ “ปรับสมดุล” ทางการเมืองของโลกอดีตในระบบการเมืองที่ปราศจากรัฐสภา ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล และการเปลี่ยนตัวผู้ปกครองด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ในโลกยุคที่ระบอบการปกครอง แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย อุดมการณ์สังคมนิยม ยังไม่เป็นที่รู้จัก ดูเหมือนการแสดงออกของคนส่วนมากที่สุดในสังคมที่มิใช่ชนชั้นผู้มีอำนาจ ชนชั้นที่ต้องแบกรับความตึงเครียดในแง่ของความเป็นอยู่ คือการปฏิบัติการผ่านระบบความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่นั้น

ศาสนาที่มีอิทธิพลบนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) สมัยโบราณคือพุทธแบบเถรวาทที่ผสมผสานกับศาสนาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการนับถือผี และ ฯลฯ ที่มีมาแต่ดั้งเดิม

ศาสนาพุทธยังมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ พระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ที่จะมาตรัสรู้ (ต่อจากพระพุทธเจ้าสมณโคดม) ในภายภาคหน้า อันเป็นยุคสังคมอุดมคติ ไม่มีความยากจน ไม่มีความอดอยาก ยังมีความเชื่อเรื่อง “พระโพธิสัตว์” ที่สั่งสมบุญบารมีและนำบุญนั้นมา ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก รวมถึงเรื่องของ “พระมาลัย” ที่จะมาดับทุกข์เข็ญเป็นการชั่วคราวก่อนถึงยุคพระศรีอาริย์

ด้านหนึ่ง ชนชั้นนำสมัยโบราณใช้พุทธศาสนาอธิบายเรื่องบุญบารมี อธิบายความชอบธรรมทางการเมืองอีกด้านหนึ่งในกรณีของชนชั้นล่าง ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน (ปี ๒๔๘๐-๒๕๖๕) ที่ใช้เวลาศึกษาวิจัยในเมืองไทยนานหลายทศวรรษ เคยระบุว่า ในระดับชาวบ้านไม่ได้ต้องการ “นิพพาน” แต่ต้องการ “ลดความทุกข์ในชีวิตลง” จึงเน้นที่เรื่อง “กรรม” เน้นการสะสมบุญกุศลที่จะส่งผลไปถึงชีวิตในชาติถัดไป ผ่านการบวช การทำบุญ การบริจาค ซึ่งการแสดงออกบางครั้งก็มีลักษณะของการแสดงอภินิหาร
Image
หัวหน้าคนพื้นเมืองบริเวณ Pakben
(วาดโดย Janet-Lange จากภาพร่างของ L. Delaporte)

Image
ภาพชาวพื้นเมืองสามคน หัวหน้าคนพื้นเมืองที่สตึงแตรง ทางเหนือของกัมพูชาติดกับตอนใต้ของอาณาจักรล้านช้าง จำปาศักดิ์
(วาดโดย Janet-Lange จากภาพร่างของ L. Delaporte)

รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวณิชย์ นักประวัติศาสตร์ ยังเสนอว่า แนวคิดเรื่องพระศรีอาริย์ส่งผลสำคัญคือ เปลี่ยนแปลงความเฉยชาของไพร่ให้ลุกขึ้นท้าทายอำนาจ เพราะมุ่ง “โค่นล้ม” ระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ ณ ตอนนั้น

ด้วยแนวคิดนี้วาดภาพ “ยุคใหม่” ที่ตัดขาดกับ “ยุคเก่า” อย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์อีกท่านกลับเสนอว่า การอธิบายว่าความเชื่อ พระศรีอาริย์เป็นแรงขับดันหลักของขบวนการนั้นทำได้ลำบาก เพราะเหตุการณ์แต่ละครั้งมีลักษณะเฉพาะ ที่สำคัญคือความเคลื่อนไหวของขบวนการเหล่านี้เกิดจาก “วิกฤตการเมือง” ในยุคนั้นด้วย

งานที่ศึกษาเรื่องนี้ในรุ่นบุกเบิกอย่าง “กบฏไพร่สมัยพระเพทราชา” ของ วารุณี โอสถารมย์ และ อัญชลี สุสายัณห์ก็มองว่าขบวนการลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยตรงจากชีวิตความเป็นอยู่ของไพร่

บางข้อเสนอมองว่าขบวนการเช่นนี้อาจเป็น “บรรพบุรุษของขบวนการสังคมนิยม” (ลัทธิมาร์กซิสต์) ที่จะเกิดขึ้นในยุคต่อมา

โยเนโอะ อิชิอิ (Yoneo Ishii, ปี ๒๔๗๒-๒๕๕๓) นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ยังเคยเสนอ “วงจร” ของขบวนการไพร่ในลักษณะลำดับเหตุการณ์ (scenario) ว่าจะเริ่มต้นจากข่าวเรื่องคำพยากรณ์-ผู้คนหวาดกลัว-ผู้วิเศษปรากฏตัว-คนเข้าร่วมเป็นพวก เกิดอาณาจักรทางการเมือง จากนั้นปะทะกับอำนาจรัฐ

วงจรเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีต่อเนื่องจนช่วงต้นกรุงเทพฯ

เมื่อใครก็ตามลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐไม่ว่าจะมีเหตุผลชอบธรรมเหมาะสมเพียงใด หากพ่ายแพ้ก็ถูกบันทึกใน “พงศาวดาร” อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นมุมมองของราชสำนักที่เป็นคู่ตรงข้าม

ในฐานะ “กบฏ” นั่นเอง
Image
ชายชราชาวจีนที่จำปาศักดิ์ (วาดโดย Janet-Lange บนพื้นฐานภาพร่างของ L. Delaporte)
Image
"จึงชาวเทศชื่ออมวดี แฝงต้นโพธิ์ยิงปืนนกสับ เอาตัวกบฏต้องญาณพิเชียร...”
“ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔) ญาณประเชียรเรียนสาตราคม แลคิดเป็นขบถ...”
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า 
ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ หลักฐานที่บันทึกใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่สุดเท่าที่มีในตอนนี้ (บันทึกในปี ๒๒๒๓ รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ ๙๙ ปีหลังเกิดเหตุ) ให้รายละเอียดขบวนการ “ญาณประเชียร” (ญาณพิเชียร) เพียงหนึ่งย่อหน้า

สรุปเหตุการณ์ไว้ว่าในรัชกาลของพระมหาธรรมราชา (ครองราชย์ปี ๒๑๑๒-๒๑๓๓) ญาณพิเชียรเรียนวิชาอาคมซ่องสุมผู้คนยกเป็นกองทัพจากเมืองลพบุรีมาตีกรุงศรีอยุธยา “แลยืนช้างอยู่ตำบลหัวตรี และบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้น ยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง...”

หลักฐานอีกชิ้นที่ขยายรายละเอียดของเหตุการณ์คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งก็ต้องระมัดระวังในการใช้งาน ด้วยชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ (ราวปี ๒๓๒๕ หลังเหตุการณ์ ๒๐๑ ปี มีความเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีกว่ารายละเอียดของเหตุการณ์จะคลาดเคลื่อน)

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) อธิบายว่าการซ่องสุมผู้คนของญาณพิเชียรนั้นทำที่ “ตำบลบ้านยี่ล้น” พระมหาธรรมราชาต้องทรงให้ขุนนางระดับสูงคือสมุหนายก “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ยกไปปราบ โดยตั้งทัพที่ตำบลบ้านมหาดไทย (ทั้งสองตำบลปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอ่างทอง)

เมื่อจะปะทะกันก็เกิดการ “แปรพักตร์” “ชาวมหาดไทยอันยืนหน้าช้างเจ้าพระยาจักรีนั้น ยอมเป็นพวกกบฏ”

คนคุมกำลังสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายญาณประเชียรคือ “พันธุช” ยังปฏิบัติการปีนท้ายช้างขึ้นไป “ฟันเจ้าพระยาจักรีตายกับคอช้าง” ทำให้ทัพอยุธยาแตกกระจาย

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ญาณประเชียรมีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น ๓,๐๐๐ คน และดำเนินการแต่งตั้งตำแหน่งขุนนางให้กับนายทหารของตัวเอง จากนั้นยกไปทางลพบุรีเพื่อยึดเมืองเป็นที่มั่น แต่ที่ลพบุรีขณะนั้นมีพระยาศรีราชเดโชคุมการซ่อมแซมกำแพงเมืองอยู่ จึงเกิดการรบกัน

ญาณประเชียรนั้น “ขี่ช้างเข้าไปยืนในหัวตรี แล้วให้พวกกบฏเข้าไปปล้นในที่นั้น จึงพระยาศรีราชเดโชก็มายืนช้างให้รบพุ่งกัน จึงชาวเทศชื่ออมวดีแฝงต้นโพธิ์ยิงปืนนกสับเอาตัวกบฏต้องญาณพิเชียรฟุบลงตายในทัพนั้น กบฏทั้งปวงแตกฉานออกไป และต่างคนต่างหนีกระจัดพรัดพรายทุกตำบล...”

งานวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ส่วนมากมุ่งตั้งข้อสังเกตเรื่อง “อมวดี/บรเทศ” ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทหารรับจ้างต่างชาติสมัยนั้น เพราะใช้อาวุธสมัยใหม่ (ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕) แต่ข้อวิเคราะห์ที่น่าสนใจที่สุดมาจากงาน “กบฏไพร่” สมัยอยุธยา ของอาจารย์สุเนตร ที่มองขบวนการนี้ว่าไม่น่าจะเป็นไพร่ธรรมดา เพราะเข้มแข็งเกินกว่าจะเป็นกองกำลังชาวนาที่ไร้ระเบียบ

ลักษณะเด่นของกบฏไพร่ครั้งนี้คือเตรียมการและวางแผนอย่างมีขั้นตอน ทั้งยังวางแผนจะยึดลพบุรีที่เป็นเมืองสำคัญ “ตัวผู้นำกบฏคือญาณพิเชียรเองก็ไม่ควรจะเป็นเพียงชาวชนบทธรรมดาที่เคยผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จากข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดาร ญาณพิเชียรน่าจะเคยเป็นบุคคลสำคัญในวงราชการคนหนึ่ง”

อาจารย์สุเนตรชี้ว่าเอกสารส่วนมากเรียกผู้นำขบวนการนี้ว่า “ขุนโกหก” พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ เรียก “พระยาพิเชียร” เขาจึงน่าจะไม่ใช่คนสามัญ
Image
ต้นมะขามเก่าแก่อายุราวร้อยปีสองต้น บริเวณวัดใหญ่ (ร้าง) ริมคลองตาม่วง จังหวัดอ่างทอง สถานที่ที่คนท้องถิ่นเชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ซ่องสุมผู้คนของขบวนการญาณประเชียร
เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ เสนอว่า ญาณประเชียรน่าจะเป็นคนที่ได้บวชเรียน มีวิชา ได้รับความนับถือจากผู้คน และคงอาศัยความเชื่อทางศาสนาจูงใจให้คนเข้าร่วม

ยังไม่นับว่าการสังหารพระยาจักรีเกิดจากฝีมือทหารมีศักดิ์เป็น “พันไชยทูต/พันธุช” ทั้งยังมีการอวยยศทหารคนนี้เป็นพระยาจักรี นอกจากนี้การปรากฏการเปลี่ยนข้างของทหารก็น่าจะชัดเจนว่าญาณประเชียรน่าจะมีเครือข่ายในบริเวณอ่างทอง ซึ่งรวมไปถึงลพบุรีด้วย

เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดจากความอดอยากหรือภัยธรรมชาติที่กดดันชีวิตความเป็นอยู่ของไพร่ในยุคนั้น โดยข้อเสนอเรื่องเหตุเพราะภัยธรรมชาติเป็นของอาจารย์ชาญวิทย์ที่มองว่าสภาพก่อนจะเกิดความเคลื่อนไหวของญาณประเชียรเกิดภาวะน้ำน้อย-น้ำมากระหว่างปี ๒๑๑๓-๒๑๑๘  แต่อาจารย์สุเนตรกลับมองว่าในปี ๒๑๒๔ มิได้มีบันทึกภัยธรรมชาติเหล่านี้ในพงศาวดาร

ทั้งยังมองว่าปัญหาหลักน่าจะเป็น “การเมือง” โดยนอกจากปัญหาที่เกิดหลังการเสียกรุงครั้งแรก (ปี ๒๑๑๒) น่าจะมีเรื่องความไม่มั่นคงของราชวงศ์สุโขทัยที่ขึ้นมามีอำนาจจากการสนับสนุนของพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี ด้วยพระมหาธรรมราชาต้องตั้งขุนนางจากหัวเมืองเหนือลงตามตำแหน่งต่าง ๆ ทำให้อาจเกิดแรงต้านจากขุนนางเก่า อำนาจและกำลังของอยุธยายังเบาบางหลังสงคราม ทำให้ขุนนางระดับท้องถิ่นลุกขึ้นต่อต้านได้โดยอาศัยความไม่ชอบธรรมของราชวงศ์ใหม่

เรื่องที่น่าประหลาดคือ แม้พงศาวดารที่นักประวัติศาสตร์ใช้เป็นตัวอ้างอิงจะกล่าวว่าญาณประเชียรเป็นกบฏอย่างไร แต่คนบ้านยี่ล้นในยุคปัจจุบันกลับไม่มองแบบนั้น

กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่ผมไปถึง “วัดใหญ่ (ร้าง)” ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ “ตำบลยี่ล้น” ในอดีต คนที่นั่นกลับมีเรื่องเล่าอีกแบบ
จักร์กริศน์  เย็นฉ่ำ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลยี่ล้น ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เด็กเล่าว่า เรื่องของญาณประเชียรถูกเล่าต่อกันมาจากคนเฒ่าคนแก่ เป็นเหตุการณ์หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ที่ทัพจากหงสาวดีสร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่ ญาณประเชียรจึงรวบรวมผู้คนเพื่อต่อต้าน

“พม่าก็เลยสั่งให้ทางอยุธยายกกองทัพมาปราบญาณประเชียร ตรงนี้เป็นพื้นที่รวมตัวซ่องสุมผู้คน ผมก็ถามจากคนเก่าแก่ ถามจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ แล้วเขียนเรื่องราวลงบนป้าย เอามาติดไว้กับวัดใหญ่ (ร้าง) ที่เป็นเหมือนกับพื้นที่อเนกประสงค์ของหมู่บ้าน”

ป้ายนั้นเขียนว่า “วัดใหญ่เดิมมิได้ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า สถานที่ตั้งวัดใหญ่แห่งนี้เดิมเป็นพื้นที่พักแรมของญาณพิเชียร พร้อมชาวบ้านยี่ล้น ที่คอยสกัดกั้นกองทัพทหารพม่า ที่เข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยา”

เรื่องเล่าที่ดูเหมือนจะทับซ้อนกับกรณี “บางระจัน” นี้ถูกเล่าในฐานะตำนานวัดใหญ่ (ร้าง) ที่ตั้งอยู่ริมคลองตาม่วง โดยเหลือสภาพเป็นศาลาประดิษฐานหลวงพ่อพุทธเนรมิต (หลวงพ่อโต) กับพระพุทธรูปเก่าอีกหกองค์ที่คนในชุมชนนับถือ มีศาลามุงสังกะสีสำหรับพักผ่อน มีต้นมะขามเก่าแก่สองต้นอยู่ด้านข้าง

ทุกปีชุมชนจะจัดงานเลี้ยงพระ มีการแสดงลิเกถวายหลวงพ่อในฐานะงานประจำปีของคนในพื้นที่ ยังมีเรื่องเล่าที่ว่ากันว่าหากปีไหนเอาโขนมาแสดง หลวงพ่อโตไม่ชอบ ฝนก็จะตกหนักจนแทบไม่ต้องทำอะไร

“โรคระบาดทำให้เราไม่ได้จัดงานในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระเท่านั้น”

คำอธิบายของคนบ้านยี่ล้นกลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กับในพงศาวดาร และคำถามที่ว่าขบวนการนี้เป็น “กบฏไพร่” หรือไม่ ก็ยังคงต้องรอการค้นคว้าต่อไปในอนาคต

แต่ที่แน่นอนคือ สำหรับชาวบ้านยี่ล้นในปี ๒๕๖๕ 

“ญาณประเชียร” มิใช่ “ผู้ร้าย” แต่อย่างใด
Image
ปราสาทนครหลวง ปี ๒๕๖๕ เป็นโบราณสถานสำคัญที่มีลักษณะแปลกคือ มีสถาปัตยกรรมที่ดูขัดกันอยู่บนยอดสุด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ส่วนเรื่องเล่าเกี่ยวกับธรรมเถียรไม่มีร่องรอยใด ๆ เหลือ
Image
"(ธรรมเถียร) ยกกำลังจากสระบุรีมายึดปราสาทนครหลวงเป็นที่มั่น"
“ครั้นศักราช ๑๐๕๘ ปีชวดอัฐศก (พ.ศ. ๒๒๓๙) นายธรรมเถียร ข้าหลวงเดิมเจ้าพระขวัญ...คิดแค้นพยาบาทหนีไปอยู่แขวงตะวันออก... ตั้งตัวว่าเป็นเจ้าพระขวัญ...”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) 
ในวันที่ผมไปถึงปราสาทนครหลวง (วัดนครหลวง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ครั้งหนึ่งเป็นฐานทัพสำคัญของธรรมเถียร เป็นช่วงกลางฤดูฝน ท้องฟ้าอึมครึม มีฝนโปรยลงมาแทบจะตลอดเวลา ผมพบว่าทุกวันนี้ที่ปราสาทนครหลวงแทบจะไม่มีร่องรอยเรื่องราวของขบวนการธรรมเถียรหลงเหลือแล้ว

ความรับรู้และความมุ่งหมายของคนยุคปัจจุบันจำนวนมากที่มาเยือนโบราณสถานแห่งนี้ส่วนมากคือมุ่งแก้บนกับพระพิฆเนศซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้ามณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทที่ชั้นบนสุด (ปราสาทมีสามชั้น) ในขณะที่รอยพระพุทธบาทในมณฑปถูกปล่อยทิ้งให้เงียบเหงา และหนูที่อยู่บนโบราณสถานแห่งนี้ก็ดูสะอาดอ้วนพี ไม่มีใครทำร้าย ในฐานะพาหนะของพระพิฆเนศ

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าปราสาทนี้สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ปี
๒๑๗๓-๒๑๙๙) ในปี ๒๑๗๔ ถ่ายแบบจาก “พระนครหลวง และปราสาทกรุงกัมพูชาประเทศเข้ามาให้ช่างกระทำพระราชวังเป็นที่ประทับร้อน ตำบลริมวัดเทพจันทร สำหรับจะเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท” ก่อนกลายเป็นวัดในปี ๒๓๕๒ โดยมีการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยไว้ในอุโบสถที่สร้างขึ้นบนปราสาทชั้นบนสุด ก่อนที่จะมีการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมุ่งประโยชน์ใช้สอย ทำให้มีรูปแบบศิลปะขัดแย้งกันปรากฏอยู่ทั่วไป

ลักษณะของปราสาทนครหลวงที่เราเห็นทุกวันนี้ยังคงต้องรอการค้นคว้าต่อไปว่าเป็นการลอกแบบมาจากปราสาทหินแห่งใดในกัมพูชาแน่

แต่ที่แน่ ๆ ปราสาทที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ห่างจากราชธานีอยุธยานี้เอง กลายเป็นที่สะสมกำลังของขบวนการธรรมเถียรในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๒๓๙

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มิได้บันทึกถึงการรัฐประหารของสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ปี ๒๒๓๑-๒๒๔๖) ที่ยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ปี ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ด้วยหลักฐานชิ้นนี้ในส่วนที่กล่าวถึงอยุธยาตอนปลาย น่าจะเป็นการบันทึกในยุคที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงมีอำนาจ ข้อมูลจึงออกมาเป็นการเปลี่ยนผ่านรัชกาลเป็นไปโดยพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ

การเปลี่ยนราชวงศ์ปราสาททองสู่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นไปอย่างราบรื่น

ทว่ารายละเอียดการชิงบัลลังก์กลับปรากฏในบันทึกของชาวตะวันตกผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ยิ่งใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ผู้ชำระมีมุมมองเป็นลบต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง (หลังการเสียกรุง) ก็ยิ่งชัดเจนว่าผลจากการรัฐประหารส่งผลให้สมเด็จพระเพทราชาต้องทรงเผชิญการต่อต้านจากกลุ่มขุนนางที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์เก่า

กรณีสำคัญคือพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา (ขุนนางเก่าของสมเด็จพระนารายณ์ฯ) ที่ตั้งแข็งเมืองจนต้องใช้เวลาปราบถึง ๓ ปี (๒๒๓๒-๒๒๓๔) หลังพ่ายแพ้ ยังหนีไปที่นครศรีธรรมราชก่อนจะถูกปราบไปพร้อมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในปี ๒๒๓๖

ผลจากการรัฐประหารยังส่งผลให้ขบวนการธรรมเถียรก่อตัวขึ้น

หลักฐานบางชิ้นระบุว่าธรรมเถียรเป็นข้าหลวงเก่า อ้างตนเป็น “เจ้าพระขวัญ” (เจ้าฟ้าอภัยทศ) ที่ถูกประหารในช่วงการชิงบัลลังก์สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทำให้ผู้คนเชื่อว่าเจ้าฟ้าอภัยทศยังมีพระชนม์ชีพอยู่

ผลคือ “ชายหญิงชาวบ้านดงทั้งปวงไม่เคยเห็นเจ้าพระขวัญ สำคัญว่าเจ้าพระขวัญจริง ต่างเอาสิ่งของมานบนอบนายธรรมเถียรเข้าเป็นพรรคพวกเป็นอันมาก” การจัดทัพจึงเริ่มขึ้น “ชุมพรรคพวกพร้อมแล้ว ขึ้นขี่ช้างพลายกาง ถือพัดโบกตัวมา คุลาข้าในเรือนขี่ท้ายช้าง ก็ยกมาตามทางท้องทุ่ง กวาดฝูงชนชายหญิงซึ่งทำนาอยู่นั้นมาด้วยเป็นอันมาก...” ส่วนอาวุธนั้นประกอบด้วย “...หอกดาบและคันหลาว คานหาบข้าวและเคียว...”
ถ้าลองกลับไปดูหลักฐานที่ใกล้กับเหตุการณ์คือ บันทึกของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ ชาวเยอรมันประจำคณะทูตบริษัทอินเดียตะวันออก (VOC) ของเนเธอร์แลนด์ ที่แวะอยุธยาในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๒๓๓ ก่อนจะเดินทางต่อไปที่ญี่ปุ่น จะพบข้อมูลที่แตกต่างออกไป ตั้งแต่เรื่องเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่เขาบันทึกว่าเกิดขึ้นก่อนปี ๒๒๓๙ รวมไปถึงเรื่องของตัวธรรมเถียรที่กลายเป็น “พระมอญ”
แกมป์เฟอร์เล่าว่า “ในปี ๑๖๘๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒) มีพระมอญรูปหนึ่ง เดิมติดคุกอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา” ได้ไปตามชนบท “ล่อลวง” ผู้คนว่าเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และมีสิทธิในราชบัลลังก์ ผลคือการซ่องสุมผู้คนจำนวน “กว่าหมื่นคนส่วนมากเป็นพวกโจรที่ไม่มีระเบียบวินัย”

จากนั้นก็วางแผนทำร้ายวังหน้า แต่วังหน้ารู้ตัวก่อนก็หนีกลับเข้าวัง มีการระดมพลกว่าหมื่นสองพันออกไปปราบทัพธรรมเถียรที่ “ยกมายังกรุงอย่างไร้ระเบียบ”

เรื่องนี้มีบางรายละเอียดตรงกับ คำให้การชาวกรุงเก่า (ที่บันทึกหลังเสียกรุงครั้งที่ ๒) ว่าธรรมเถียรเป็นบัณฑิต (มีความรู้) “เพิ่งสึกออกจากพระ สำแดงตัวเป็นผู้วิเศษ” อ้างตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศที่รอดจากการประหารแล้ว “เทวดาพาไปเลี้ยงไว้”

ทั้งยังให้ตัวเลขว่าธรรมเถียรรวมกำลังได้ราว ๒,๐๐๐ คน ได้รับความร่วมมือจากหลวงเทพราชา เจ้าเมืองนครราชสีมาที่เอาช้างมาให้

ข้อที่ คำให้การชาวกรุงเก่า แตกต่างจากหลักฐานอื่นคือระบุว่า เหตุเกิดในรัชกาลพระเจ้าเสือ (รัชกาลถัดมา) แต่รายละเอียดส่วนมากนั้นไม่ต่างกัน คือ ยกกำลังจากสระบุรีมายึดปราสาทนครหลวงเป็นที่มั่น จากนั้น “เข้าไปสวรตัวปั้นเป็นไฝดำไฝแดงติดเข้าให้เหมือนเจ้าพระขวัญ” แล้วก็เอาเครื่องราชูปโภคในปราสาทแห่ลงมากับกองทัพ โดยเป้าหมายคือ

เปลี่ยนตัวผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยา

ทั้งนี้ยังมีร่องรอยที่อาจสื่อถึงความมุ่งมั่นของบุคคลที่อาจเป็นธรรมเถียร อยู่ใน จารึกวัดโพธิ์หอม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ถึง “มหาธรรมเถียรแลยศเถียร” ที่มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเหนือวัดใต้และสร้างพระ ระหว่างปี ๒๒๒๕-๒๒๓๒ โดยมีคำอธิษฐานขอให้เกิดในตระกูลเศรษฐี พราหมณ์ และกษัตริย์

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ลงรายละเอียดในระหว่างที่ธรรมเถียรยึดปราสาทนครหลวงเพิ่มว่า ธรรมเถียรพยายามนิมนต์อดีตพระอาจารย์เจ้าฟ้าอภัยทศคือ “พระพรหม ณ วัดปากคลองช้าง” ให้เข้ามาร่วม

ทว่าพระพรหมปฏิเสธ เพราะมองว่าไม่ใช่เจ้าฟ้าอภัยทศตัวจริง ทำให้กำลังบางส่วนของธรรมเถียร “แตกหนีออกเสียเป็นอันมาก” แต่อีกส่วนก็ตัดสินใจจะล่มหัวจมท้ายกับธรรมเถียรต่อไป
พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า เมื่อข่าวศึกไปถึงอยุธยาก็ทำให้สมเด็จพระเพทราชาทรงถึงกับ “ดำรัสให้เตรียมเรือพระที่นั่งจะหนี” แต่วังหน้า (ต่อมาคือพระเจ้าเสือ) ทูลทัดทานไว้

เมื่อทัพธรรมเถียรไปถึงวัดมหาโลกทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา วังหน้าพบว่าไม่ใช่เจ้าฟ้าอภัยทศแน่ก็มี “พระบัณฑูรสั่งให้ยิงปืนใหญ่ออกไปถูกธรรมเถียรตกช้างลงตาย...”

ต่อฉากจบนี้ คำให้การชาวกรุงเก่า ให้ภาพต่างออกไปคือเมื่อธรรมเถียรยกมาถึงอยุธยาแล้วก็หยุดอยู่ฝั่งตรงข้ามพระราชวังจันทรเกษม สมเด็จพระเพทราชาทรงเชิญพระแสงขอพลพ่ายที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเคยใช้ออกมาขณะที่วังหน้าตั้งรับที่ป้อมมหาชัย ยิงปืนออกไปต้องธรรมเถียรตกจากหลังช้าง

จนธรรมเถียร “หนีไปเร้นอยู่ ณ วัดทะนานป่าข้าวสาร” ก่อนจะถูกจับได้และประหารพร้อมแกนนำคนอื่น ส่วนที่เป็นแนวร่วมปลายเหตุก็ถูก “จำใส่เรือนตรุ” ถูกส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

ผลการกวาดล้างครั้งนี้ยังทำให้หลายตำบลของเมืองสระบุรี ลพบุรี ร้างผู้คนไปด้วย

แต่ถ้าไปดูที่หมอแกมป์เฟอร์บันทึก ฉากจบจะกลายเป็นทัพของธรรมเถียรแตกไปโดยไม่ทันได้สู้รบ “พวกที่ตายจำนวนไม่เกินร้อยคน และที่ถูกจับก็เพียงสามร้อยคน จับได้แล้วนาบตีนเสีย มิให้หนีไปได้ ต่อมาอีกสองสามวันก็พบพระมอญนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้ในป่ากับเด็กคนหนึ่ง จึงส่งตัวเข้าไป ณ กรุง”

เมื่อปรากฏว่าเป็นธรรมเถียรต้นเรื่อง ก็ถูกจับพันธนาการทรมาน “ประจานแก่ชาวเมืองหลายวัน แล้วถูกแหวะท้องทั้งเป็น เอาไส้พุงออกให้สุนัขกิน”

ในแง่ของเหตุการณ์ อาจารย์สุเนตรมองว่าทัพธรรมเถียรนั้นกำลังส่วนมากเป็นชาวนา ขาดระเบียบและแผนการ  ที่น่าสังเกตคือ ธรรมเถียรน่าจะไม่ใช่ผู้มีบารมีในพื้นที่ที่เขาสะสมกำลังจึง “...ต้องอาศัยบารมีของผู้อื่นมาเป็นข้ออ้างในการหาสมัครพรรคพวก...” และถึงแม้อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ แต่ก็เน้นไปที่สิทธิตามสายเลือด (อ้างเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ) มากกว่าการอ้างเรื่องพระศรีอาริย์

ส่วนเหตุที่ผู้คนเข้าร่วมน่าจะมาจาก “ลักษณะบางประการที่เอื้อต่อการเลื่อนฐานะของไพร่สมัยอยุธยาตอนปลาย” คือการที่ราชสำนักไม่มีความมั่นคงทางการเมือง อีกทั้งการเข้าร่วมการแย่งชิงราชสมบัติจะทำให้ได้รับการปูนบำเหน็จ ส่งผลให้ได้ “เลื่อนฐานะครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคม” หากเป็นฝ่ายชนะ

การลุกขึ้นต่อต้านอำนาจสมเด็จพระเพทราชาครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งก่อน

คือประสบความล้มเหลวเมื่อเจอกองทัพที่มีระบบและอาวุธทันสมัยกว่า
Image
ประตูชุมพล ประตูเมืองนครราชสีมาฝั่งตะวันตกเป็นประตูเมืองดั้งเดิมประตูเดียวที่ได้รับการอนุรักษ์ และบูรณะมาจนถึงยุคปัจจุบันครั้งหนึ่งที่นี่น่าจะเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ “ขบวนการบุญกว้าง”
Image
“อยู่ ณ ปีขาล...อ้ายคิดมิชอบคบกัน ๒๘ คน เข้ามาอยู่ ณ ศาลานอกประตูเมืองนครราชสีมากันม่านมิด...ผู้รักษาเมืองกรมการกลัวเกรงมัน ชวนกันคิดกบฏแข็งเมืองสิ้น”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ความเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายของไพร่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชาคือขบวนการบุญกว้าง

พระราชพงศาวดารให้ภาพน่าฉงนใจว่า จู่ ๆ ก็มีคนจำนวน ๒๘ คน เข้ามาที่หน้าประตูเมืองนครราชสีมา ทำท่าทีประหลาด “กันม่านมิด” เมื่อพระยานครราชสีมาขี่ช้างออกมาดูก็ปรากฏว่า “ช้างพระยานครราชสีมาขี่นั้นตกใจกลับหน้าวิ่งเข้ามาในเมืองทั้งบ่าวไพร่ อ้ายคิดมิชอบและพวกตามเข้ามาตั้งอยู่ในเมือง”

แล้วการณ์ก็กลายเป็นว่าคน ๒๘ คนนี้สามารถคุมเมืองนครราชสีมาทั้งหมดด้วยวิชาทางไสยศาสตร์

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เขียนถึงขบวนการนี้อย่างชัดเจนว่าเป็น “กบฏลาว” ส่วนตัวบุญกว้างนั้น “มีความรู้ วิชาการดี คิดอ่านทำการกบฏตั้งตัวเป็นผู้มีบุญ”

อาจารย์สุเนตรมองว่า เหตุสำคัญที่ทำให้การยึดเมืองเป็นไปได้โดยง่ายน่าจะมาจากนโยบายการรวมอำนาจของอยุธยาภายหลังการสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดยนครราชสีมาเป็นศูนย์อำนาจบนที่ราบสูงโคราช อยุธยาต้องควบคุมด้วยการส่งขุนนางที่ไว้วางใจได้และมีฝีมือในการรบไปปกครอง

แต่ภายหลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ การปราบพระยายมราช (สังข์) ข้าเก่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ และการใช้เวลาปราบเมืองนครศรีธรรมราชที่ยาวนาน ทำให้สมเด็จพระเพทราชาไม่น่าจะทรงมีเวลาส่งขุนนางที่พระองค์วางใจไปปกครองโคราช

“ความอ่อนแอของเจ้าเมืองใหม่ และการสลายตัวของกลุ่มอำนาจเดิม ย่อมผลักดันให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในชุมชนของชาวลาวซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

เหตุนี้จึงเปิดโอกาสให้บุญกว้างและพรรคพวกก่อการขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากคนเชื้อสายลาวในพื้นที่ ปัจจัยที่ร่วมด้วยน่าจะเป็น “การเมืองระหว่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม” ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความเป็นอยู่แต่อย่างใด แต่ที่สำคัญคือมีปัจจัยทางศาสนาเข้ามามีส่วนสำคัญ

ปัจจัยที่ว่าคือความเชื่อเรื่องผู้มีบุญที่จะนำสังคมไปสู่ความมั่งคั่ง เมื่อชุมชนในพื้นที่ถูกแทรกแซงโดยอิทธิพลภายนอกในที่นี้น่าจะหมายถึงอำนาจของอยุธยาที่แผ่เข้าไปมากยิ่งขึ้นภาวะสงครามที่เกิดขึ้นกับนครราชสีมา การเปลี่ยนตัวผู้ปกครองที่เข้มแข็ง [พระยายมราช (สังข์)] มาเป็นผู้ปกครองที่อ่อนแอ จนทำให้เกิดภาวะไม่แน่นอน ความเชื่อเรื่อง “ผู้มีบุญ” จึงถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้น

“ความจำกัดของเอกสารทำให้เราไม่ทราบว่าโลกในอุดมคติของบุญกว้างคืออะไร แต่คาดว่าควรจะเป็นยุคพระศรีอาริย์” ซึ่งน่าจะทำให้เขาได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจนทำให้ใช้คนเพียงหยิบมือก็ยึดเมืองได้
"ดำรัสว่าอ้ายกบฏ ๒๘ คนเท่านั้น ชาวนครราชสีมาก็หลายพันถึงไม่สู้รบด้วยอาวุธเลย...”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระเพทราชาและวังหน้า
(ต่อมาคือพระเจ้าเสือ) จาก พระราชพงศาวดาร
ฉบับพระราชหัตถเลขา
เป้าหมายของบุญกว้างนั้นชัดเจนคือ คุกคามผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยา

ร่องรอยความสำคัญของเมืองโคราชในสมัยอยุธยาที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๕) นั้น สิ่งเดียวที่อาจพอจะเป็นพยานได้ก็คือ “ประตูชุมพล” ประตูเมืองด้านทิศตะวันตกที่รักษาสภาพและบูรณะมาหลายครั้ง และส่วนมากประตูนี้แทบไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากับอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี (ย่าโม) ที่อยู่ใกล้กัน

ผมสันนิษฐานว่าประตูเมืองนี้ ครั้งหนึ่งน่าจะต้องเคยถูกใช้ตั้งรับทัพจากอยุธยาที่ยกขึ้นมา “หลายทัพ” เพื่อล้อมเมืองนครราชสีมาที่ถูกบุญกว้างกับพวก (คนเชื้อสายลาว) ยึดเอาไว้เป็นที่มั่น

บุญกว้างกับพวกนั้นตัดสินใจตั้งมั่นอยู่ในเมือง “รักษาแต่เชิงเทินและกำแพงไว้มั่นคง” ทำให้อยุธยาต้องใช้อาวุธ “ปืนกล” ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปืนใหญ่ที่ยิงกระสุนแบบลูกแตก ด้วยช่วงแรกพงศาวดารบอกว่าชาวเมืองมายืนดูลูกปืนที่ตกไปในเมือง “ครั้นลูกปืนวูบเข้าไปถึงดินเร็วแตกออก ถูกคนเจ็บปวดเป็นอันมาก”

บุญกว้างกับพวกรับมือด้วยการให้ “ขุดหลุมรายไว้” ในระยะยิง พอลูกปืนตกลงไป “ชาวเมืองเอาไม้คัดรุนลงเสียในหลุมเอาหนังและไม้ปิดเสีย แตกออกในหลุมก็หาถูกผู้คนไม่”

ทัพอยุธยาต้องแก้เกมอีกด้วยการ “เอาว่าวคุลาใหญ่ขึ้นไปชัก เอาหม้อใส่ดินให้ตกลงไหม้เมือง และหย่อนว่าวให้หม้อดินตกลงในเมืองหลายครั้ง” แต่ไฟก็ไม่ไหม้เมืองการสู้รบยังดำเนินต่อไปอีก ๓ ปี จนในเมืองขาดเสบียงบุญกว้างกับพวกต้องหนีออกไป

การรบครั้งนี้นอกจากจับบุญกว้างไม่ได้ ทัพอยุธยายังถอยกลับแบบไม่เป็นกระบวนเนื่องจากมีข่าวลือว่ากษัตริย์อยุธยาสวรรคต นายทัพนายกองจึง “ชวนกันเลิกทัพกลับมา ถึงแขวงสรรคบุรีจึงรู้ว่าหาเสด็จสวรรคตไม่” กลัวอาญาเลยแตกทัพกระจัดกระจายไป ภายหลังแม่ทัพนายกองเหล่านี้ก็ถูกจับและโดนลงโทษ “ประหารชีวิตเสียเป็นอันมาก”

ส่วน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ให้ข้อมูลต่างออกไปว่าเจ้าเมืองโคราชทำอุบายลวงให้บุญกว้างยกทัพลงไปที่ลพบุรี โดยมีกำลังราว ๔,๐๐๐ คน จากนั้นลอบส่งหนังสือลงไปบอกเมืองหลวงให้จัดทัพขึ้นมาปะทะ ต่อมาอยุธยาส่งกองทัพกำลัง ๕,๐๐๐ คนไปปราบ นัดหมายเจ้าเมืองโคราชให้เปลี่ยนฝ่ายกลับไปล้อมบุญกว้างกับพวกเมื่อทัพกรุงไปถึง จนจับบุญกว้างกับพวกมาประหารได้ทั้งหมด

วารุณี โอสถารมย์ ชี้ในบทความ “กบฏไพร่ สมัยพระเพทราชา” ว่าขบวนการของไพร่ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานั้นสะท้อนถึง “การต่อสู้ของไพร่” เหตุของปัญหานั้นน่าจะมาจากตัวระบบไพร่ที่กดดันชีวิตความเป็นอยู่และมีปัจจัยทางการเมืองเป็นตัวเร่ง

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในกรณีธรรมเถียรหรือบุญกว้างนั้นมีแรงผลักดันที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือขบวนการทั้งสองไม่ได้ต้องการสร้างระบบใหม่ให้สังคม มุ่งเปลี่ยนตัวผู้ปกครองมากกว่า และชัดเจนว่าผู้นำอ้างเป็น “ผู้มีบุญ” ใช้ปัจจัยทางศาสนารวบรวมผู้คน

ส่วนมาตรการในการปราบปรามนั้นคือการมุ่ง “เด็ดหัว” แกนนำ เพื่อให้ขบวนการสลายตัวไป และถึงแม้ว่าการปราบแบบนี้จะได้ผล แต่ “ไม่ปรากฏว่าฝ่ายปกครอง...มีการปรับปรุงอะไรหลังการปราบ...ไม่มีการพิจารณาถึงสาเหตุของกบฏเพื่อหาทางแก้ไข...”

ปัญหาเรื่องไพร่จึงเรื้อรัง สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
Image
วัดหอพระแก้ว เมืองจำปาศักดิ์ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองจำปาศักดิ์ สมัยที่ขบวนการเจ้าโอ เจ้าอิน ยกทัพเข้ามายึดเพื่อต่อต้านผู้ปกครองจำปาศักดิ์ที่ไปเข้ากับฝ่ายสยาม
Image
“ณ ปีวอก อัฐศก นั้น พระยานางรองคบคิดการกบฏกับเจ้าโอ เจ้าอิน อรรคฮาด กระทำการกำเริบขึ้น...”
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
“ขบวนการเจ้าโอ เจ้าอิน” เป็นเรื่องสืบเนื่องโดยตรงกับสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐต่าง ๆ บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ที่อยู่ในภาวะแตกสลายและปั่นป่วนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ไม่ว่าจะเป็น

หนึ่ง การสลายตัวของศูนย์อำนาจสำคัญของสยาม คือ กรุงศรีอยุธยา ในปี ๒๓๑๐ (จากฝีมือของกองทัพอังวะแห่งราชวงศ์คองบอง)

สอง การสลายตัวของราชวงศ์ตองอูยุคที่ ๒ (จากการรบกับมอญ) และการกำเนิดของราชวงศ์คองบองที่สถาปนาอำนาจเหนือลุ่มน้ำอิระวดีได้สำเร็จ

สาม การเกิดขึ้นของขบวนการเต็ยเซินในเวียดนาม ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ศึกระหว่างอ๋องสองตระกูล (เหงวียนกับจิ่งห์) จบลง ราชวงศ์ (ของจักรพรรดิ) เลล่มสลาย ตระกูลจิ่งห์พ่ายแพ้ เหลือเพียงราชวงศ์เต็ยเซินที่สถาปนาขึ้นใหม่สู้กับทายาทอ๋องตระกูลเหงวียนคือ “องเชียงสือ” (ต่อมาคือปฐมจักรพรรดิราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม)

ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา การก่อตั้งกรุงธนบุรีและความพยายามของสยามในการขยายอิทธิพลไปยังหัวเมืองล้านช้าง ซึ่งขณะนั้นแตกเป็นสามอาณาจักร คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ ส่งผลให้เกิดขบวนการของเจ้าโอ เจ้าอิน โดยเฉพาะการรุกเข้าไปยังหัวเมืองแถบทิศเหนือของเทือกเขาพนมดงรักน่าจะก่อปฏิกิริยาต่อต้านในกลุ่มคนเชื้อสายลาวและกลุ่มชนตระกูลกลุ่มมอญ-เขมรที่หลักฐานลาวเรียกรวมกันว่า “ข่า” ในดินแดนเหล่านี้ ในขณะที่คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “ขมุ/กำหมุ (คน)” หรือ “บรู (คนภูเขา)”

ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร) ระบุว่า เจ้าโอ เจ้าอิน เป็นบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโว อันเป็นพระญาติ (ลูกพี่ลูกน้อง) กับเจ้าไชยกุมารเจ้านครจำปาศักดิ์ (ครองราชย์ปี ๒๒๘๑-๒๓๓๔)

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฯ กล่าวถึงการร่วมมือกันของพระยานางรอง (ผู้ปกครองเขตที่ปัจจุบันคืออำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์) กับเจ้าโอและเจ้าอิน “กระทำการกำเริบขึ้น” ในปี ๒๓๑๙ ส่งผลให้กรุงธนบุรีส่งเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพมา “จับพระยานางรองฆ่าเสีย”

เจ้าโอ เจ้าอินจึง “หนีไปเมืองป่าสัก (จำปาศักดิ์)” กรุงธนบุรีจึงส่งพระยาสุรสีห์พร้อมกับทัพเสริมจากหัวเมืองเหนือยกตามไปเพื่อ “กระทำแก่เมืองป่าสัก, เมืองโขง, เมืองอัตปือ...” และเลิกทัพในปีต่อมา

ก่อนที่ปี ๒๓๒๑-๒๓๒๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งทัพที่นำโดยพระยาจักรี (ทองด้วง) และพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ไปโจมตีเวียงจันทน์ ผลคือจำปาศักดิ์ที่ปกครองโดยเจ้าไชยกุมาร ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลสยามพร้อมกับเวียงจันทน์และหลวงพระบางที่ยอมเป็นประเทศราชในเวลาต่อมา

เรื่องนี้ส่งผลต่อการเมืองภายในจำปาศักดิ์โดยตรง ด้วยเจ้าไชยกุมารได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ให้ครองจำปาศักดิ์ในฐานะเจ้าประเทศราช ขณะที่เจ้าโอ เจ้าอิน ซึ่งน่าจะหลุดรอดจากการศึกในปี ๒๓๒๑ ไปได้และครองเมืองอัตตะปืออยู่น่าจะไม่เห็นด้วย
"ขบวนการเจ้าโอ เจ้าอิน คือปฏิกิริยาตอบโต้การยึดล้านช้างของสยาม"
Image
พิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสาบานพระองค์ต่อกษัตริย์สยามของกษัตริย์จำปาศักดิ์ ที่คณะเดินทางชาวฝรั่งเศสมีโอกาสเข้าร่วมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
(วาดโดย Janet-Lange
จากภาพร่างของ L. Delaporte)

ในปี ๒๓๒๓ หลังสยามทำลายกรุงเวียงจันทน์และควบคุมหัวเมืองล้านช้างได้ทั้งหมด ปรากฏข้อความใน ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฯ ให้ภาพของเจ้าโอ เจ้าอินว่า “กระทำการกดขี่ราษฎรได้ความเดือดร้อน...” จนเจ้าไชยกุมารต้องส่งพระราช-นัดดา (หลาน) คือ เจ้าเชฐ เจ้านู ไประงับ

เจ้าเชฐจัดการประหารเจ้าโอ “เอาเชือกหนังรัดคอจนถึงแก่กรรม” ขณะที่เจ้าอินไปสิ้นพระชนม์ในป่า (ทุกวันนี้ยังปรากฏ “ธาตุเจ้าโอ” อยู่ในเมืองอัตตะปือ สปป. ลาว) อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำให้สยามแทรกแซงในปี ๒๓๒๕ ด้วยมองว่าเมืองจำปาศักดิ์กับอัตตะปือวิวาทกัน เรียกเจ้าเชฐ เจ้านู ลงไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ

สุเนด โพทิสาน นักประวัติศาสตร์ลาว ตีความขบวนการเจ้าโอ เจ้าอิน อีกแบบคือ หลังพ่ายแก่กองทัพสยามในปี ๒๓๑๙ เจ้าโอ เจ้าอินถอยไปรวมกำลังอยู่ที่จำปาศักดิ์ ก่อนจะถูกตีถอยไปที่อัตตะปือ ซึ่งพวกเขาประกาศไม่ขึ้นกับจำปาศักดิ์ รอจังหวะปลดเจ้าไชยกุมารที่สวามิภักดิ์สยาม โดยมีคนข่าจำนวนมากสนับสนุน

ส่วนคราวที่เจ้าไชยกุมารส่งเจ้าเชฐ เจ้านู ไปปราบ ยังมีขุนนางจากสยามคือพระยานครราชสีมาขึ้นไปช่วยและเป็นผู้ลงมือประหารเจ้าโอ

แต่ไม่ว่าบทสรุปที่แท้จริงเป็นอย่างไร ขบวนการนี้ก็ยุติลงด้วยความตายของเจ้าโอ เจ้าอินเช่นกัน

ทุกวันนี้อดีตเมืองเก่าจำปาศักดิ์ที่เคยเป็นสมรภูมิซึ่งเจ้าโอ เจ้าอินใช้ตั้งรับทัพสยาม ส่วนหนึ่งทับซ้อนกับย่านเก่าของตัวเมืองจำปาศักดิ์ในปี ๒๕๖๕

พื้นที่ที่เก่าที่สุดจุดหนึ่งของเมืองคือ “วัดสีสุมัง” วัดร้างริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก ซึ่งปัจจุบันเหลือร่องรอยเพียงพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพใหญ่สองต้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขง

คนท้องถิ่นเล่าว่า วัดนี้สร้างโดยเจ้าสร้อยศรีสมุทร (ครองราชย์ปี ๒๒๕๗-๒๒๘๑) ทับบนฐานของปราสาทหินศิลปะจาม อันเป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนที่เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรจำปาศักดิ์นั้นมีกลุ่มชนอยู่อย่างหลากหลายมานานแล้ว โดยเฉพาะหัวเมืองของอาณาจักรทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับแนวเทือกเขาเจื่องเซิน ซึ่งกั้นพื้นที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางกับพื้นที่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของเวียดนาม

พื้นที่เหล่านี้เองเป็นบ้านของชนเผ่าและคนกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ถูกเรียกรวมกันว่า “ข่า”

ขณะที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ขมุ” และหลายครั้งเคลื่อนไหวในฐานะของขบวนการไพร่

เพื่อจะไปสู่สังคมที่พวกเขาไม่ถูกนำตัวไปเป็นทาสผ่านการ “ตีข่า” และต้องส่งส่วยอีกต่อไป
แก่งตะนะ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ตัดสินผลการต่อสู้ของขบวนการเซียงแก้ว
Image
“จุลศักราช ๑๑๕๓ อ้ายเชียงแก้วซึ่งอยู่ตำบลเขาโอง ฝั่งน้ำลำน้ำโขงตะวันออกแขวงเมืองโขงแสดงตนว่าเป็นคนมีวิทยาคุณมีผู้คนนับถือมาก...คิดการเป็นกบฏ...”
ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฯ
กำพล จำปาพันธ์ เสนอในหนังสือ ข่าเจือง : กบฏไพร่ ว่า กรณี “เชียงแก้ว” (หลักฐานลาวเรียก “เซียงแก้ว”) นี้อาจนับความสืบเนื่องย้อนกลับไปได้ตั้งแต่กรณีเจ้าโอ เจ้าอิน โดยเป็นการรวมคนที่กระจัดกระจายหลังขบวนการเจ้าโอ เจ้าอิน ถูกปราบ

ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฯ ระบุว่า เซียงแก้วนั้น เมื่อรู้ว่าเจ้าไชยกุมาร เจ้านครจำปาศักดิ์ประชวรอยู่ “จึงคิดการเป็นกบฏ ยกกำลังมาล้อมเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้”

เหตุการณ์เริ่มในปี ๒๓๓๒ เซียงแก้วเข้ายึดเมืองโขง (เกาะใหญ่ในแม่น้ำโขง) เป็นที่มั่น จากนั้นยกกำลังเข้าล้อมจำปาศักดิ์ ส่งผลให้เจ้าไชยกุมาร “โรคกำเริบขึ้น” ถึงแก่พิราลัยด้วยตกใจการมาของข้าศึก จากนั้นเซียงแก้วก็ยึดจำปาศักดิ์ได้ในปี ๒๓๓๔

เป้าหมายในการเปลี่ยนตัวผู้ครองจำปาศักดิ์ของเซียงแก้วบรรลุผล หากแต่ต้องเผชิญกับศึกที่ใหญ่กว่า

กรุงเทพฯ ส่งพระพรหมยกกระบัตร (ทองอิน) เมืองโคราช ยกทัพมาปราบ แต่ก่อนหน้านั้นก็มีกองกำลังที่นำโดยพระปทุมสุรราช (คำผง) กับท้าวฝ่ายหน้า จากบ้านสิงทา (ปัจจุบันคือยโสธร) “พากันยกกำลังไปตีอ้ายเซียงแก้ว” เพื่อเป็นการแสดงความสวามิภักดิ์ต่อสยาม

สมรภูมิสำคัญที่เซียงแก้วนำกำลังเข้าปะทะกับพระปทุมสุรราชและพวกคือ “แก่งตนะ” ที่ปัจจุบันอยู่ในเขต “อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ” พื้นที่อนุรักษ์ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย-ลาวในเขตอำเภอโขงเจียมและอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

แก่งตะนะเป็นแนวหินกลางแม่น้ำมูน กลางป่าที่คนท้องถิ่นดั้งเดิมเรียกว่า “ป่าดงหินกอง” ต่อมาพื้นที่รอบแก่งราว ๑๒ ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในปี ๒๕๒๔

ในทางประวัติศาสตร์ พื้นที่นี้น่าจะเคยเป็นเส้นทางเก่าแก่และเป็นแหล่งทำประมงสำคัญ ด้วยมีการพบหลักศิลาจารึก
เจ้าชายจิตรเสน และศิลาจารึกปากโดมน้อย ที่แสดงถึงอิทธิพลของอารยธรรมเขมรโบราณ
Image
ลูกสาวขุนนางเมืองจำปาศักดิ์
(วาดโดย Emile Bayard จากภาพร่างของ L. Delaporte)

ตัวแก่งตะนะเป็นเกาะหินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำมูน เป็นระบบที่ต่อเนื่องจากดอนตะนะ (ที่เป็นเกาะขนาดใหญ่กลางแม่น้ำมูน) มองลงไปจากฝั่งจะเห็นแนวหินกว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร สภาพทางธรณีวิทยาทำให้เกิดโขดหินและช่องที่เป็นถ้ำมากมาย  เมื่อน้ำหลาก สายน้ำจะไหลเชี่ยวมิดแก่ง กลายเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำจำนวนมาก ยากแก่การเดินเรือ

ด้วยความที่บริเวณนี้มีปลาชุกชุม จึงเป็นแหล่งทำประมงและแหล่งเสบียงที่ดีมาแต่โบราณ การปะทะที่เกิดขึ้นในสมัยขบวนการเซียงแก้วบริเวณนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

การต่อสู้ที่แก่งตะนะทำให้อ้ายเซียงแก้ว “แตกหนี ท้าวฝ่ายหน้าจับตัวอ้ายเซียงแก้วได้ ให้ฆ่าเสียแล้ว พอกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ยกขึ้นไปถึงก็พากันไปจัดราชการที่เมืองนครจำปาศักดิ์”

สุเนด โพทิสาน นักประวัติศาสตร์ลาว มองการเคลื่อนไหวของขบวนการเซียงแก้วว่า เกิดจากความไม่พอใจเจ้าไชยกุมารที่ยอมสวามิภักดิ์กับสยาม สยามเรียกส่วยเป็นแรงงาน เงิน ทองคำ และของป่า ทำให้คนข่าเดือดร้อน  เซียงแก้วเรียกร้องให้ยุติการส่งส่วยดังกล่าว โดยเริ่มจากการยึดเมืองบริวารรอบ ๆ รอจนจำปาศักดิ์อ่อนแอเพราะเจ้าไชยกุมารป่วยหนัก จึงเข้าโจมตียึดเมือง

สุเนดมองว่าเรื่องที่เหนือความคาดหมายคือ ชนชั้นนำของคนเชื้อสายลาวคือกลุ่มลูกหลานของพระวอ พระตา (เป็นอริกับทางเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์) อย่างพระปทุมสุรราช (คำผง) และท้าวฝ่ายหน้าเข้าร่วมกับฝ่ายสยาม  ผลของศึกนี้ทำให้เชื้อสายพระวอ พระตามีอำนาจมากขึ้นในพื้นที่ เพราะท้าวฝ่ายหน้าได้รับพระราชทานตำแหน่ง “เจ้าพระวิไชยราชขัติยวงศา” เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ขณะที่พระปทุมสุรราชได้เป็นเจ้าเมืองอุบลที่ตั้งขึ้นใหม่ นอกจากนี้ยังมีการยกบ้านสิงท่าเป็นเมืองยโสธร

พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร) ระบุว่า หลังศึกครั้งนี้ยังเกิดประเพณี “ตีข่า” หลังจากทัพพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ยกไปถึงก็ร่วมกับทัพของพระปทุมสุรราชและท้าวฝ่ายหน้า “...พากันยกเลยไปตีพวกข่าชาติกระเสงสวางจะรายระแดร์ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกจับมาได้เป็นอันมาก จึงได้มีไพร่ข่า แลประเพณีตีข่ามาแต่ครั้งนั้น...”

กำพลอธิบายว่าในมุมมองของอาณาจักรล้านช้างทั้งสาม มีการแบ่งแยก “ไพร่ลาว” กับ “ไพร่ข่า” โดยข่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เป็นที่มาของแรงงาน ของป่าที่รัฐผูกขาดและส่งออกค้าขายกับอาณาจักรอื่น เมื่อสยามมีอิทธิพลเหนือล้านช้างทั้งสามอาณาจักรจึงเกิดคำว่า “ไพร่ลาวข่า”

หลังศึกเซียงแก้วยังเกิดการ “ค้าทาส” เพราะคนข่าบางส่วนถูกจับไปขายเป็นทาส สักเลกเข้าสังกัดกรมกองต่าง ๆ

กลายเป็นชนวนให้เกิดขบวนการต่อต้านของคนข่าที่ใหญ่โตที่สุดก่อนเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ในเวลาต่อมา
Image
วัดหลวงเมืองจำปาศักดิ์
(วาดโดย E. Tournois จากภาพร่างของ L. Delaporte)

Image
"คนบ้านเกียดโง้งถือว่า พระสาเป็นวีรบุรุษ"
“...อ้ายสาเกียดโง้งลาวตั้งตัวเป็นผู้วิเสศมีบุญ สำแดงวิชาให้พวกฃ่าเหน...”
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน
สปป. ลาว, ภูอาสา กลางฤดูฝน ปี ๒๕๖๕ หลังใช้เวลาเดินทางจากเมืองปากเซ เมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์ราว ๒ ชั่วโมงครึ่งบนถนนลูกรัง ผมก็มาถึงเนินเขาลึกลับแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเกียดโง้ง เมืองปทุมพร แขวงจำปาศักดิ์

ตัวหมู่บ้านเกียดโง้งมีสภาพคล้ายกับหมู่บ้านในอำเภอห่างไกลของไทยเมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว คนนำทางเล่าว่าคนที่มาที่นี่ส่วนมากเป็นชาวตะวันตก ส่วนคนในหมู่บ้านนี้ส่วนมากเป็นคนลาวและคนที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวกูยในเขตอีสานใต้ ซึ่งในประวัติศาสตร์คนลาวมักเรียกพวกเขาว่า “ข่า”

ใกล้กับหมู่บ้านมีภูลูกหนึ่งที่เดินเท้าขึ้นได้ภายในเวลา ๔๐ นาที คนท้องถิ่นเรียกเป็นสองชื่อ คือ “ภูอาสา” หรือ “ภูเกียดโง้ง”

ทางเดินส่งเราไปยังทิศเหนือของยอดภู ผมพบว่ามีเสาที่เกิดขึ้นจากการเรียงหิน รวมไปถึงแนวกำแพงที่สร้างขึ้นด้วยวิธีเดียวกันบนลานกว้างราว ๑๕๐x๒๐๐ เมตร ตรงกลางมีกองหินที่คาดว่าในอดีตน่าจะเป็นส่วนของอาคารสองแห่ง มีสระน้ำสี่เหลี่ยมอยู่ด้านหนึ่ง อีกทั้งยังปรากฏรอยพระพุทธบาทอยู่บริเวณหน้าผาทางด้านทิศใต้ของยอดภู และถ้ำที่เก็บพระเอาไว้จำนวนมาก

สำหรับคนบ้านเกียดโง้ง ที่นี่คือ “วัดภูอาสา” ที่ทุกปีในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ของเดือนมิถุนายน จะมี “งานบุญขึ้นภูอาสา” คนทั้งหมู่บ้านจะพากันขึ้นภูเพื่อไปสรงน้ำพระและสักการะพระพุทธบาท เปลี่ยนตุงผืนใหม่ที่ทางขึ้นวัด ก่อนจะลงมือหว่านไถในฤดูกาลใหม่ โดยในหมู่บ้านจะมีงานบุญและอุปสมบทพระสงฆ์

ที่น่าสนใจคือเรื่องราวของ “พระสา” ในความรับรู้ของคนท้องถิ่นที่ว่าพระสานั้นเป็นคนลาวลุ่มที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่สระบุรี ในคราวที่สยามไปตีเวียงจันทน์แตกในปี ๒๓๒๒ ต่อมาเขาทนการกดขี่ของสยามไม่ไหว จึงออกบวชและเดินธุดงค์ผ่านนครราชสีมา จำปาศักดิ์ ปลุกระดมให้คนลุกขึ้นต่อสู้กับสยาม

พระสาเข้ามาจำพรรษาที่บ้านเกียดโง้งในปี ๒๓๖๐ เคลื่อนไหวปลุกระดมผู้คนแถบเมืองสาละวัน จำปาศักดิ์ คำทองซึ่งเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่ราชสำนักลาวทั้งสามอาณาจักรเรียกว่าดินแดนของข่า ซึ่งแต่เดิมก็ถูกกดดันจากการนำไปค้าทาส สักเลก และเกณฑ์ส่วยอยู่เสมอ

พื้นเวียง (กลอน ๗) พงศาวดารเวียงจันทร์ สมัยเจ้าอนุรุทธาธิราช (พระเจ้าอนุวงศ์) ที่สืบค้นและถอดความเป็นร้อยแก้วโดย จารุบุตร เรืองสุวรรณ ระบุว่าในช่วงนั้นหลวงยกกระบัตรเมืองโคราชได้ออกไปตีข่าอยู่บริเวณหัวเมืองแถบจำปาศักดิ์และข่มขี่ผู้คนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังติดสินบนราชสำนักไม่ให้รับเรื่องร้องเรียนถึงพฤติกรรมนี้ จึงเกิดความเคลื่อนไหวของ “เจ้าหัวสา” (พระสา) ขึ้น

เรื่องเล่าของชาวบ้านเกียดโง้งมีต่อไปว่า ผู้คนต่างเชื่อว่าพระสานั้นเป็นผู้มีบุญ เป็นท้าวฮุ่ง ท้าวเจืองกลับชาติมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ จะทำให้ข่านั้นพ้นจากการปกครองของสยามและล้านช้างได้

งานของกำพลยังอ้างถึง พื้นเวียงสะไหมเจ้าอะนุวง ที่ระบุว่าพระสานั้นอ้างตนว่าเป็นขุนเจือง วีรบุรุษในตำนาน “ก็นำบ่าวแก้วหาข่าไพร่พลแท้แล้ว เหตุว่าสามแสนนี่บริวารปางก่อนจริงแล้ว ก็จักนำโผดให้สูได้เพิ่งบุญแท้แล้ว แต่นั้นฝูงข่าชาวยินดีชมชื่น...” ทั้งยังมีของวิเศษคือ “แก้วตาเสือ” ที่เรียกไฟได้

เรื่องนี้ตรงกับที่บันทึกใน ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฯ (จากมุมมองของสยาม) ว่า “อ้ายสมีสาแสดงตนว่าเป็นคนมีวิชาและมีฤทธานุภาพต่าง ๆ เป็นต้นว่าเอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้ติดเชื้อเป็นไฟขึ้นแล้วอวดว่าเรียกไฟฟ้าได้ และสามารถที่จะเรียกไฟนั้นมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นก็ได้” (ซึ่งตรงนี้น่าจะหมายถึงแว่นขยาย ของที่เกิดขึ้นจากวิทยาการตะวันตกที่เริ่มแพร่หลายเข้ามาในภูมิภาค)
ทางขึ้นภูอาสา
Image
กองหินลึกลับบนยอดภูอาสาเมืองปทุมพร สปป. ลาว ปี ๒๕๖๕ บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่รวบรวมผู้คนของ “ภิกษุสา” เพื่อรวมกำลังต่อต้านสยามและกษัตริย์จำปาศักดิ์
บ้านเกียดโง้งจึงมีผู้คนเข้ามารวมตัวกันมากขึ้นเพื่อปรนนิบัติพระสาและร่วมกันสร้างวัดบนลานหินยอดภูเกียดโง้ง “สร้างบัลลังก์สูงเปนมณฑป ความก่อตั้งหินล้วนแผ่นพะลาน ธรรมเนียมให้เหมือนหอความพระบาทจริงแล้ว ปราสาทตั้งขึ้นกลางสี่ทวน หลังชอนซ้อมในทวนทั้งสี่ นาคก่ายเกี้ยวหัวซ้องช่อครุย เจ้าก็ถวายชื่อขึ้นแถมอีก เปนสองชื่อว่าดอยคีรีวงเทพสรจริงแล้ว...”

กำลังคนที่มีมากขึ้นทำให้เริ่มมีการรวมตัวกันออกโจมตีกองทหารของพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ที่วางกำลังเป็นกองเก็บส่วยอยู่ตามเมืองต่าง ๆ

จากนั้นก็เข้ายึดเอานครจำปาศักดิ์ในรัชสมัยของเจ้าหมาน้อย (ครองราชย์ปี ๒๓๕๖-๒๓๖๐) ในปี ๒๓๖๒ ทำให้พระยานครราชสีมาต้องขอกำลังจากกรุงเทพฯ และร่วมกับเจ้าเมืองโขงตีโต้พระสาออกจากเมืองจำปาศักดิ์  กองทัพจากกรุงเทพฯ ยังตามจับพระสา แต่ก็ถูกตอบโต้จนต้องล่าถอย

ชาวบ้านเชื่อว่า พระสานั้นมิได้มีเจตนาถึงขั้นเข้าตีเมืองจำปาศักดิ์ เพียงแต่ต้องการสร้างวัดบนยอดภู แต่การสร้างวัดทำให้เกิดการระดมคนจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหมาน้อย จึงถูกข้อหาก่อกบฏกับสยาม นอกจากนี้เจ้าหมาน้อยยังท้าให้พระสามาสู้รบ แต่ก็พ่ายแพ้ไป

เจ้าหมาน้อยจึงแจ้งไปยังเจ้าเมืองนครราชสีมาว่าพระสาเป็นกบฏ

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ รัชกาลที่ ๒ฯ เล่าเหตุการณ์นี้ว่า เจ้าหมาน้อยถอยมาอยู่แถบเมืองอุบลต่อกับเมืองเขมราฐ รัชกาลที่ ๒ มีพระบรมราชโองการให้พระสหายคือ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์กับเจ้าพระยานครราชสีมายกทัพไปปราบร่วมจนจับได้ “จำส่งลงมาณกรุงเทพมหานคร กับครอบครัวข่าเปนอันมาก อ้ายสาเกียดโง้งนั้นให้จำไว้ณคุก แต่พวกครอบครัวข่านั้นโปรดให้เปนตะพุ่นหญ้าช้างตั้งบ้านอยู่ที่บางบอน...”

ในขณะที่ สุเนด โพทิสาน วิเคราะห์ว่าพระสานั้น “มอบตัว” เพราะไม่สามารถต่อต้านกองทัพถึงสามกอง (ทัพกรุงเทพฯ ทัพนครราชสีมา และทัพเวียงจันทน์) ได้

ส่วนเรื่องเล่าของคนบ้านเกียดโง้งระบุว่า พระสานั้นหนีไปได้ แต่โดนจับและถูกประหารที่เมืองอัตตะปือ เป็นอันปิดฉากขบวนการสาเกียดโง้งลงในที่สุด

แต่ถ้าไปดูใน พื้นเวียง ผลจากเหตุการณ์นี้ยังมีเรื่องประหลาดคือ เจ้าอนุวงศ์ทรงสอบสวนพระสา ก็ปรากฏว่าพระสานั้น บอกว่า “พระยาพรหมภักดีเป็นผู้ยุแหย่ แต่พระยาพรหมภักดีเพิ่นกะว่าบ่ได้เฮ็ด (ไม่ได้ทำ)”

ถ้าเราจะเชื่อหลักฐานไทย เรื่องก็จะยิ่งแปลกคือ พระยาพรหมภักดียกกระบัตรเมืองโคราชนั้นกลับได้ละเว้นโทษเพราะ “มีคุณต่อแผ่นดิน (รัชกาลที่ ๒) กะยกความผิดให้” ส่วนเจ้าอนุวงศ์ก็ทรงได้ตามพระราชประสงค์คือ ให้พระโอรส (เจ้าราชบุตรโย้) ไปครองเมืองจำปาศักดิ์

สำหรับประวัติศาสตร์ไทย “พระสา” จึงเป็น “กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง”
สำหรับประวัติศาสตร์ลาวเป็น “เจ้าหัวสา” ที่ลุกขึ้นต่อต้านสยามโดยถูกขุนนางสยามหลอก

สำหรับท้องถิ่นที่บ้านเกียดโง้ง “พระสา” คือเหยื่อของศักดินาสยามและลาว และแน่นอนว่าข่าเป็นกลุ่มที่สูญเสียมากที่สุด

นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษคือ วิลเฟรด เบอร์เชตต์ (Wilfred Burchett) เคยเขียนถึงการปราบข่าของสยามไว้ว่า
“สมัยหนึ่งนั้นข่าเผ่าเดียวเคยมีจำนวนถึง ๓ แสนคน แต่ถูกลดจำนวนลงเหลือไม่กี่พัน เพราะการสังหารหมู่ของพวกคนไทย นิยายเก่า ๆ ของพวกลาวเทิง (พวกข่า) ยังมีเล่ารำลึกถึงทุ่งนาที่นองไปด้วยเลือด แม่น้ำลำธารอุดตันและหุบเขากองท่วมท้นไปด้วยซากศพ พวกที่รอดพ้นการสังหารหมู่มาได้ ก็ถูกพวกคนไทยกวาดต้อนไปเป็นข้าทาสหรือขายให้แก่ลาวลุ่ม (หัวเมืองอีสาน) เพื่อใช้เป็นทาส...”

กรณีสาเกียดโง้ง ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับสยาม ที่ยอมมอบสองในสามของอาณาจักรล้านช้าง (คือเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์) ให้แก่โอรสเจ้าอนุวงศ์ ทำให้เวียงจันทน์ในรัชกาลเจ้าอนุวงศ์มีกำลังมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้โครงการแยกตัวออกจากอำนาจสยามคืบหน้ามากขึ้นจนเกิดเป็น “ศึกเจ้าอนุวงศ์” ในปี ๒๓๖๙

สำหรับคนที่อยู่ในยุคนั้น พวกเขาย่อมคาดไม่ถึงว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่ผู้คนที่ถูกกดขี่จะลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ

ด้วยประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ขบวนการเช่นนี้แม้จะแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในบั้นปลายจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

ดังที่ รณชิต คูหา ผู้เขียน กบฏชาวนา : มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม ชี้ไว้ว่า
“ไม่มีอะไรที่จะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้อย่างถึงรากถึงโคน มากไปกว่าการที่ชนชั้นผู้อยู่ในสถานะรอง หาญกล้าที่จะยึดอำนาจ”  
เอกสารประกอบการเขียน
เอกสารชั้นต้น
ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๙-๗๐. ๒๕๑๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์.

ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี. ประชุม
พงศาวดารภาคที่ ๗๐ (ต่อ). ๒๕๑๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์.

ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม
คเนจร). ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์ เมืองนครจำปาศักดิ์, พงษาวดารหัวเมืองมณฑล อิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๙. ๒๕๔๕. กรุงเทพฯ :
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมาย
รายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๖๒. นนทบุรี : ศรีปัญญา.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระ
ราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. ๒๕๕๙. นนทบุรี : ศรีปัญญา.

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. ๒๕๓๕. กรุงเทพฯ : กอง
วรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

สิลา วีระวงส์, มหา (เรียบเรียง) สมหมาย เปรมจิตต์ (แปล). ๒๕๓๕. 
ประวัติศาสตร์ลาว. กรุงเทพฯ : มติชน.

หนังสือและบทความ
ภาษาไทย
กำพล จำปาพันธ์. ๒๕๕๕. ข่าเจือง : กบฏไพร่-ขบวนการผู้มีบุญหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านช้าง. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

กำพล จำปาพันธ์. ๒๕๕๕. นาคยุดครุฑ : “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๘.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ๒๕๒๒. “กบฏไพร่สมัยอยุธยากับแนวความคิดผู้มีบุญ-พระศรีอาริย์-พระมาลัย”. ใน วารสารธรรมศาสตร์. ๙ (๑) กรกฎาคม-กันยายน.

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ๒๕๔๖. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. “ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๔๕”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติ-ศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๔.

นนทพร อยู่มั่งมี. ๒๕๕๓. “ไพร่หนีนาย” และ “กบฏไพร่” : การต่อต้านอำนาจรัฐของ “ไพร่” ในประวัติศาสตร์ไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ๓๑(๗).

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ๒๕๕๕. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ใน ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.

พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และ อัจฉราพร กมุทพิสมัย บรรณาธิการ. ๒๕๒๗. “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.

รณชิต คูหา (เขียน) ปรีดี หงษ์สต้น (แปล). ๒๕๖๓. กบฏชาวนา : มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม. กรุงเทพฯ : อิลลูมิเนชันส์เอดิชันส์.

วารุณี โอสถารมย์ และ อัญชลี สุสายัณห์. “กบฏไพร่สมัยพระเพทราชา” ใน วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ ๖ เล่มที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๙.

วุฒิชัย มูลศิลป์ และ ธรรมนิตย์ วรากรณ์. ๒๕๒๕. กบฏชาวนา. กรุงเทพฯ : เอกสารวิชาการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

ศิริกาญจน์ ดุจจานุทัศน์. ๒๕๕๓. ราชวงศ์จำปาศักดิ์...ประวัติศาสตร์ในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.

ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ และคณะ. ๒๕๔๖. โครงการสารคดี ลาวตอนล่าง “สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสักและอัตตะปือ : ห้าแขวงลาวตอนล่าง”. กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค (อบศ ๕) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

สุเนตร ชุตินธรานนท์. ๒๕๒๖. “กบฏไพร่สมัยอยุธยา”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ๔(๑๒) ตุลาคม.

อัมพร สายสุวรรณ. ไทย ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.

ภาษาลาว
สิลา วีระวงส์, มะหา. ๒๐๑๐. ชีวะปะหวัด พะเจ้าอะนุวง. เวียงจัน : ดอกเกด.

ภาษาอังกฤษ
Francis Garnier. 1996. Travel in Cambodia and Part of Laos : The Mekong Exploration Commission Report (1866-1868) Volume 1. Bangkok : White Lotus.

Francis Garnier. 1996. Further Travels in Laos and in Yunnan : Exploration Commission Report (1866-1868) Volume 2. Bangkok : White Lotus.

Louis de Carne. 1995. Travel on the Mekong Cambodia, Laos and Yunnan : The Political and Trade Report of the Mekong Exploration Commission (June 1866 - June 1868). Bangkok : White Lotus.

เว็บไซต์
จารึกวัดโพธิ์หอม. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/612
พื้นเวียง (เวียงจันทน์). https://cackku.wixsite.com/phratrairat2/copy-of-47