Image

สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

“ภาษี ๔ บาทยุคนั้น
กับ ‘ภาษีกู’ ยุคนี้ 
เป็นเรื่องเดียวกัน”

เจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย 
แหล่งมั่วสุมทางปัญญาของคนรุ่นใหม่

วิทยากร โสวัตร

ผู้มีบุญในลาวเคลื่อนไหวมานานก่อนเอกสารบันทึกเป็นชนชาวข่าที่ต่อต้านลาว  ผมอ่านจากงานของสำเร็จลุนผู้มีบุญทางนั้นก็สู้กับรัฐบาลลาวที่เอาด้วยกับสยามและฝรั่งเศสกดขี่ขูดรีดเขา  แต่ผมประเมินว่าผู้มีบุญทางฝั่งนี้คิดว่าถ้าเพลี่ยงพล้ำพิงหลังทางฝั่งซ้ายจะปลอดภัย แต่ปรากฏว่าฝรั่งเศสก็ตีเขา เอาปืนใหญ่ไปถล่ม

คนลาวเขาเชื่อมโยงถึงกัน บรรพบุรุษของคนแถวอีสานกลางก็มาช่วยรบที่บ้านสะพือ ตากข้าวนึ่งให้แห้ง กรอกใส่กระบอกไม้ไผ่มาให้กินเป็นเสบียง แล้วไม่กลับ  คนรุ่นย่าทวดเล่าต่อ ๆ กันมาว่ารอคอยฟังเสียงข้าวในกระบอกนั้นอยู่ตลอด ตอนนั้นลูกสาวยังอยู่ในท้อง

หลังจากนั้นคนรุ่นหลังในพื้นที่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องนี้ สมัชชาคนจนเป็นคนกลุ่มแรกที่ปลุกวิญญาณผีบุญขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม  ตอนหลังสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดเป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่เข้ามา มีเด็กมัธยมฯ มาหาผม มาพูดคุย มาหาหนังสืออ่าน

ภาษี ๔ บาทยุคนั้น กับภาษีกูยุคนี้ เป็นเรื่องเดียวกันสยามใช้รูปแบบของอาณานิคม ส่งตัวแทนไปเก็บผลประโยชน์โดยไม่ให้อะไรกลับคืนเลย มีแต่เอาไป ย้อนดูเลยไม่เคยให้อะไรกับคนอุบล  หลังจากมีเหตุการณ์ผู้มีบุญจึงเริ่มให้เรื่องการศึกษาแต่ก็เป็นการศึกษาแบบอุดมการณ์รัฐชาติที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง

Image

“ชุมชนควรได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของเขา...
เขาปกป้องดินแดนที่
เราเหยียบยืนอยู่ตอนนี้”

ผู้ริเริ่ม “เปิดหน้าดิน” ผู้มีบุญอุบล

ถนอม ชาภักดี

ปีนี้เป็นปีที่ ๑๒๐ แล้ว เราต้องเปิดเรื่องผีบุญให้คนคุยกันได้อย่างปรกติ เรื่องนี้ถูกปิดมานาน ชุมชนควรได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเขา

ถ้าพูดอย่างวิชาการนี่คือกบฏชาวนา ถูกรัฐขูดรีดภาษี  ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษเป็นกุศโลบาย  การต่อต้านคือต้านการกดขี่ขูดรีด เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง  ที่ไหนปกครองด้วยความเป็นธรรม ไม่มีหรอกการต่อต้าน

จุดแรกของกบฏผีบุญคือการต่อต้านฝรั่งเศสในอินโดจีน จริง ๆ เขาต่อต้านการล่าอาณานิคมซึ่งอยากได้ฝั่งขวาแม่น้ำโขงด้วย  ขบวนการผู้มีบุญได้ยันไว้ก่อนการเจรจาแลกเปลี่ยนดินแดนเสียมเรียบ พระตะบอง ด้วยซ้ำไป  เขาปกป้องดินแดนที่เราเหยียบยืนอยู่ตอนนี้

แต่หลังจากนั้นสยามคงกลัวผู้มีบุญจะแข็งข้อ เลยยอมยกพระตะบองกับเสียมเรียบให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับปืนใหญ่ ซึ่งเอามาใช้ที่บ้านสะพือนี่เป็นจุดแรก

เข้าใจว่าตรงนี้เป็นยุทธภูมิที่ดี เป็นเนิน ตรงที่ลุ่มมีหนองผือถัดไปอีก ๒ กิโลเมตรเป็นบ่อเกลือที่ดีมากสำหรับทำปลาร้า ผู้มีบุญจึงมาตั้งค่ายพักก่อนจะไปตีเมืองอุบล

เราเตรียมการมาเกือบ ๒ ปี  ทุกคนเป็นนักปฏิบัติการทางศิลปะทั้งหมด ศิลปะไม่ใช่ศิลปินทำ ประชาชนเป็นคนทำทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนคือผู้แสดง และทุกคนคือผู้ดู หลอมรวมเป็นอันเดียวกัน

ตอนหลังรัฐเข้ามาแทรกแซงแบ่งแยก แต่คิดว่ายังไงก็ต้องทำก็เอาประเพณีบุญแจกข้าวมาทำหลังฤดูเก็บเกี่ยว แล้วประชุมหาทางสร้างอนุสรณ์สถานแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเอาเงินทำบุญปีนี้เป็นจุดเริ่มต้น คิดว่าใช้เวลาราว ๕ ปี
...

แต่ไม่ทันถึง ๓ เดือนให้หลัง ถนอม ชาภักดี ก็จากโลกไปด้วยโรคภัยอย่างกะทันหัน แต่งานใหญ่ที่เขาร่วมริเริ่มไว้คง
เดินหน้าไปได้จนลุล่วง ให้เป็นอนุสรณ์แด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์และเป็นที่ระลึกถึงเขาผู้ริเริ่ม “เปิดหน้าดิน” เรื่องผู้มีบุญขึ้นมาใหม่ด้วย

Image

“เป็น memory ให้คนที่นี่
ไม่ลืมเรื่องราวเหตุการณ์
ในหมู่บ้านตัวเอง”

เจ้าของผลงานหนังสารคดี 
The Killing Field of Isaan : ทุ่งสังหารแห่งอีสาน*
* ฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อ ๓ เมษายน ๒๕๖๕ ที่ลานวัดสีชมพู หมู่บ้านสะพือ

โดม-อติเทพ จันทร์เทศ

ผมทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเพื่อสร้างบรรยากาศให้คนที่มาร่วมงานบุญได้มานั่งดูกันหลังสวดมนต์เสร็จก่อนกลับบ้าน

เริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้ตาบุญจัน สุพรรณสาย อายุ ๑๐๖ ปี เสียชีวิตแล้ว โชคดีมากที่ได้เก็บความทรงจำของแกไว้ เป็น memory ให้คนที่นี่ไม่ลืมเรื่องราวเหตุการณ์ในหมู่บ้านตัวเอง

เสียงชาวบ้านมีหลายแง่มุมมาก  ที่อยู่ในกลอนลำของยายเนย สารีบุตร เนื้อหาพูดถึงเรื่องผีบ้าผีบุญ ศึกโนนโพธิ์ไม่เหมือนกับในเอกสารที่เราได้อ่าน

คืนนี้ฉายปฐมฤกษ์เลย หนังเรื่องนี้จะเป็นยังไงต่อก็ปล่อยให้มันเป็นไป หลัก ๆ คือให้ชุมชน  คืนนี้เห็นคนในหมู่บ้านก็อัดคลิปกันยาวเลย และผมจะแชร์ไว้ในเฟซบุ๊ก ยูทูบ ถ้าคนในชุมชนจะเอาไว้ฉายให้ลูกหลานดูก็เก็บไว้เลย ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าของ แต่ถ้าใครเอาไปหารายได้ต้องกลับมาให้หมู่บ้านด้วย เข้ากองทุนพิพิธภัณฑ์

ตอนแรกผมทำคนเดียว ทุกขั้นตอนทำเองหมด สุดท้ายออกมาเป็นหนังก็ดีใจ ที่ฉายในชุมชนคืนนี้ยาว ๒๑ นาที จะทำต่อให้จบสมบูรณ์ยาวไม่เกิน ๔๐ นาที
...

แต่ The Killing Field of Isaan ไม่มีโอกาสได้จบสมบูรณ์ ด้วยฝีมือโดม เพราะเขาจบชีวิตลงก่อน เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เหลือไว้แต่ผลงานจากใจและความทุ่มเทของเขา

Image

พระศรีอาริย์- ภาษีอาน 
“เรื่องเล่าควร
เล่าได้หลายมิติ”

อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวทางสังคม

ธีระพล อันมัย

ประวัติศาสตร์ชาติเราเอาการสู้รบของกษัตริย์เป็นหลักสิ่งที่ไม่มีคือประวัติศาสตร์ชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถูกกลบฝังโดยประวัติศาสตร์ชาตินิยม ความเป็นไทยกดทุกอย่างไว้

เรื่องผีบุญก็ถูกเขียนจากมุมของผู้ชนะการสู้รบ คนที่ถูกปราบก็เป็นกบฏ เป็น “ข้าศึก”  แต่เขาคือคนในพื้นที่นี้  สิ่งที่ควรทำคือให้คนรู้ว่ามีเหตุการณ์อะไร ไม่ใช่มีแค่สำนวนเดียวว่านี่คือประวัติศาสตร์การปราบกบฏที่รัฐสยามมีชัยเหนือข้าศึกของแผ่นดิน ทั้งที่กบฏคือคนของที่นี่ที่รวมกันด้วยอุดมการณ์บางอย่าง  คนที่ตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นข้าศึกอยู่แล้ว  คนรุ่นปัจจุบันไม่ได้รู้ว่ากบฏผีบุญต่อสู้เรื่องอะไร ความกลัวที่จะเป็นคนอื่นพยายามผลักสิ่งนี้ออกไปจากตัวเอง

ไม่ใช่ว่าเขาต้องเข้าข้างไหน แต่เรื่องเล่าควรเล่าได้หลายมิติไม่ใช่แค่โยนผิดบาปให้คนตาย ไม่อย่างนั้นทหารหรือรัฐจะฆ่าใครก็ได้ แล้วยัดข้อหากบฏให้เขา ประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องเล่าจากฟากเดียวโดยตลอด เหมือนประวัติศาสตร์ที่เราเรียนท่องจำกันมาตลอด  แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมใหม่ว่าพม่าหรือเจ้าอนุวงศ์ไม่ใช่ผู้ร้ายของเรา เรากับเพื่อนบ้านในรุ่นของเราก็จะไม่ต้องเป็นศัตรูกัน  ขณะเดียวกันชาวบ้านที่นี่ก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

จริง ๆ เป็นการชำระประวัติศาสตร์ว่าประชาชนไม่ควรถูกฆ่า ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่ควรมีใครถูกสังหาร คนที่เดือดร้อนต้องได้รับการเยียวยา รัฐต้องมีวิธีจัดการกับคนที่เห็นแย้งเห็นต่าง

ผู้มีบุญคือคนที่ฝันถึงโลกพระศรีอาริย์ มีชีวิตอยู่ดีกินดี แต่ตอนนั้นที่หนักคือโดนภาษีปีละ ๔ บาท  แค่นี้ก็ภาษีอานแล้ว

ไม่ใช่ยกเขาเป็นฮีโร่ แต่เป็นคนที่ควรได้รับการพูดถึง เพราะว่าในอดีตมีรัฐบาลที่โหดร้าย ทำร้ายประชาชน เราพูดถึงเรื่องนี้เพื่อจะไม่ให้มีรัฐบาลแบบนี้ในอนาคตหรือปัจจุบัน
รื้อฟื้นเพื่อเป็นบทเรียน ไม่ใช่ว่าฆ่าไปแล้วใช้วิธีกลบฝังทุกอย่างไปหมดโดยไม่มีใครพูดอะไร เหมือนเยอรมันพยายามไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่านีโอนาซี 

ไม่ควรมีใครถูกฆ่าภายใต้การแสดงออกทางการเมือง