Image
สัมภาษณ์ สังคม อินทร์ขาว
ผู้อำนวยการแห่งโรงเรียนนอกคอก
(ที่เขาว่า) โรงเรียนบ้านนาขนวน 
จังหวัดศรีสะเกษ
Interview
สัมภาษณ์ : บุษกร รุ่งสว่าง
จุดเริ่มต้นของการนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเข้ามาบริหารโรงเรียน
ผมเคยเป็นรอง ผอ. ในโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่เน้นกระบวนการประกวด การแข่งขัน หาโล่ หารางวัล ซึ่งก็ได้โล่ ได้รางวัลผ่านเกณฑ์การประกวดมาหมด แต่พอมองตัวเด็กจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ ผมก็เลยสอบมาเป็น ผอ. ที่นี่เมื่อ ๑๓ ปีที่แล้ว เข้ามาเจอคุณครู และกระบวนการฝึกผู้เรียนให้มีวินัย มีความรับผิดชอบ พูดง่าย ๆ คือใช้รูปแบบการสั่ง มันเป็นกระบวนการเชิงอำนาจ ก็ชวนคุณครูคุยกันในประเด็นนี้ว่า เราใช้อำนาจในห้องเรียน เด็กก็ไม่มีความสุข คุณครูเองก็ทุกข์ ใช้แล้วใช้อีก ขู่นั่นขู่นี่ เดี๋ยวขู่คะแนน เดี๋ยวขู่สอบไม่ผ่าน ขู่ติด ร. ขู่ไปเรื่อย

เรามองว่าไม่ยั่งยืน ไม่ได้อยู่ในเนื้อในตัวเด็ก ก็เลยมาใช้กระบวนการของนวัตกรรมที่ให้ครูลดการใช้อำนาจ ให้ครูเป็นกัลยาณมิตร ให้ครูให้โอกาสเด็กไม่จำกัด สร้างวิธีคิดร่วมกันใหม่กับคุณครู
ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนกันอย่างไรบ้าง
เรามีโรงเรียนต้นแบบคือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ผมไปเห็นมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่เฉลยกับครูว่าคืออะไร ยังไง ก็พาไปดูห้องเรียนจริง สร้างแรงบันดาลใจกับครูว่ามีโรงเรียนที่ทำได้แบบนี้นะ ผลออกมาแบบนี้ ผู้เรียนเป็นแบบนี้ มีความสุขในการเรียนรู้ แล้วครูก็จะสอนง่ายขึ้น ไปดูกันทุกคน ครูอยู่ชั้นไหนก็ไปดูชั้นนั้น  แต่ละวันเราก็มาถามว่า วันนี้ได้เรียนรู้อะไร ประทับใจอะไร ได้แนวคิดใหม่อะไร ถามทุกวัน ๆ จนครบ ๕ วัน ก็มาคุยกันว่าเอาไหมแบบนี้  ถ้าจะเอาแบบนี้เราต้องทำอะไร ต้องเตรียมอะไร เราต้องมีความรู้อะไรยังไงกันบ้าง

เราต้องเปลี่ยนระบบใหม่หมด จากกระบวนการสอนที่ใช้วิธีการ “บอก” ก็เลิกบอก ต้องมาสอนแบบบูรณาการ คือเราเอาเนื้อของการเรียนรู้นั่นแหละมาให้วิธีคิดเด็ก มาปลูกฝังเด็กให้ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ

สมมุติเรายกสถานการณ์ที่คาดว่าเขาจะเจอในอนาคตแน่ ๆ เช่น ติดยาหรือเด็กแว้น  คำถามขั้นแรกคือรู้สึกอย่างไร เด็กก็จะตอบในเชิงความรู้สึก ความรู้สึกทางใจก็เป็นเศร้า โกรธ ไม่โอเค เกลียดคนโน้น โกรธคนนี้ พอเด็กตอบมาก็ถามต่อว่าทำไมคุณรู้สึกแบบนั้น หรือคิดยังไงกับเรื่องนี้  สถานการณ์แบบนี้จะจัดอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ทุกวัน ทุกรายวิชา พอครูถามอย่างนี้ทุกวัน ๆ มันก็จะไปฝังอยู่ในเนื้อในตัวเด็ก

ที่ครูถาม เราไม่ได้มีเป้าหมายอยากรู้คำตอบหรอก เป้าหมายจริง ๆ คือ ให้เขาฉุกคิดได้ว่ารู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ตรงหน้า แล้วเขาจะก้าวข้ามเรื่องนี้อย่างไร

แล้วเราถามทั้งห้อง คนนี้คิดอย่างนี้ คนนั้นคิดอย่างนั้น เด็กก็จะเห็นมุมมองแง่คิดของแต่ละคน อ๋อ คิดอย่างนี้ก็ได้ แบบนั้นก็ได้ โอเคนะ คิดได้ดีกว่าเราอีก เขาได้เรียนรู้จากกันและกันในลักษณะนี้ด้วย
Image
ช่วงแรก ๆ ครูมีงงกันบ้างไหม
งงสิครับงง เด็กก็ยังงง พอครูเริ่มใจดี เด็กก็อะไรวะ ครูจะมาไม้ไหนเนี่ย เมื่อกี้ด่าฉันอยู่ดี ๆ  ทำแบบนี้ไม่ได้ลงทุนมากนะ ลงทุนที่ใจครู ลงทุนที่วิธีคิดครู ทำกันอยู่นานกว่าท่าทีครูจะได้แบบทุกวันนี้
แล้วด้านวิชาการล่ะ
วิชาการก็มีครับ ทุกวันนี้โรงเรียนเรากำลังเขียนหลักสูตรฐานสมรรถนะเอง ก็ยากพอสมควร เราไม่ใช่นักวิชาการ ตัวที่จะเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะให้มีคุณภาพก็คือ “กระบวนการเรียนรู้”  เมื่อครูเก่งกระบวนการเรียนรู้เป็นโค้ชเด็ก  ครูก็เป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้เก่ง ห้องเรียนก็จะนำเด็กไปสู่คุณลักษณะที่เราต้องการ
มันเริ่มต้นจากการออกแบบการเรียนรู้ของครู  อย่างช่วงนี้โรงเรียนปิด (เดือนมิถุนายน) ให้ครูออกแบบการเรียนรู้ ๑๐ สัปดาห์ มีการสรุปองค์ความรู้ ประเมินคุณลักษณะ ประเมินการเรียนรู้ ประเมินพัฒนาการ ประเมินสมรรถนะด้านการอ่านการเขียน การสื่อสาร การกำกับตัวเอง ผู้ปกครองก็จะมาร่วมประเมินกับเราด้วย พวกเราเรียกกิจกรรมนี้ว่า “กิจกรรมผลิตองค์ความรู้ประจำควอเตอร์ที่ ๑”
ปีหนึ่งเราทำสี่ควอเตอร์ หนึ่งควอเตอร์ ๑๐ สัปดาห์ หนึ่งปีก็จะมี ๔๐ สัปดาห์ เป็นวิธีการที่เราได้จากโรงเรียนต้นแบบ

ปีแรก ๆ เราปิดสรุปประจำควอเตอร์ไม่ได้ครับ (หัวเราะ) กว่าจะเรียนรู้ได้ กว่าจะพาครูทำ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะลงตัว โอ้...นาน ปีแรกมีสี่ควอเตอร์ แต่เราประชุมปิดกันได้ครั้งเดียว
การสร้างทางใหม่ ๆ แบบนี้ต้องใช้เวลานาน ครูมีท้อบ้างไหม
ปีแรก ๆ จับมือกันแน่นมาก คุณครูคงเห็นเป้าหมายไกล ๆ ร่วมกัน ถึงทำด้วยกันจนมาถึงทุกวันนี้  เรื่องไหนถ้าเราไม่เข้าใจก็จะมาคุยกันว่าคุณครูเข้าใจว่าอย่างไร  คือทุกสัปดาห์เราจะคุยกันสองรอบหลังเลิกเรียน วันอังคารกับวันพฤหัสบดี รวมทั้งหมด ๑๐ คน ครู ๙ คน ผอ. ๑ คน
สอนแบบฐานสมรรถนะ แต่การวัดผลต้องส่งตัดเกรดแบบแปดตัวชี้วัดให้เขตการศึกษา ไม่มีปัญหาหรือ 
ช่วงแรกเจอปัญหานี้เลย  เราสอนแบบบูรณาการ แต่พอจะประเมินผล เราก็เอาตัวชี้วัดเป็นวิชาเหมือนเดิม ซึ่งก็เพิ่มภาระให้ครูอยู่พอสมควร แต่ก็ตั้งคำถามกับครูว่า สิ่งที่เราทำประโยชน์ระยะสั้นคืออะไร ประโยชน์ระยะยาวเด็กจะได้อะไร เรามองไปข้างหน้า เรามีเป้าหมายไกล ๆ ในการฝึกคน

นวัตกรรมอื่นเราก็ใช้ ไม่เพียงนวัตกรรมของลำปลายมาศพัฒนาอย่างเดียว อย่างเช่นคณิตศาสตร์ เราเอาหลักสูตรคณิตศาสตร์ของญี่ปุ่นมา ใช้แนวทาง open approach พี่เลี้ยงของเราคือ ดอกเตอร์ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พอทำมาระยะหนึ่ง ครูจะถามว่าวิชานั้นวิชานี้ทำไมไม่สอนแบบสร้างกระบวนการเรียนรู้บ้าง คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ครูสอนแบบเดิมไม่สนุก
มีหนังสือที่ใช้เรียนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะไหม
เราไม่มีหนังสือเรียน เช่น ถ้าภาษาไทยเราก็จะสอนโดยใช้วรรณกรรมในการเดินเรื่อง ประถมฯ ๑ เราใช้นิทานเดินเรื่อง เราไม่มีมานี มานะ ใบโบก ใบบัว  คณิตศาสตร์เราก็ใช้สถานการณ์ เราซื้อแบบเรียนญี่ปุ่นมาเป็นตัวอย่างสักเล่มสองเล่ม ส่วนวิทยาศาสตร์ก็ซื้อพวกสารานุกรม ที่ตั้งคำถามว่า “ทำไม” ทำไมจึงเกิดอันนี้ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงทดลองเรื่องนั้นเรื่องนี้
สอนแบบนี้ครูต้องเก่งออกแบบ ต้องเข้าใจจริง ๆ ครูต้องเขียนหลักสูตรของห้องเรียนตัวเอง เขียนคำอธิบายรายวิชา เขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับชั้นของตัวเอง ผลลัพธ์การเรียนรู้ต้องออกมาเป็นแบบไหน คุณลักษณะเด็กต้องออกมาแบบไหน ต้องได้ทักษะแบบไหน เด็กต้องประมาณไหนถึงจะผ่าน
เป็นความท้าทาย ไม่ง่าย คือครูเราต้องทำงานหนักมาก ตัวผู้บริหารเองก็ต้องมีครัวอยู่โรงเรียน กินข้าวอยู่โรงเรียนเลย ไม่มีเสาร์อาทิตย์ (หัวเราะ)
การสอบเลื่อนชั้นก็ยังต้องใช้ข้อสอบส่วนกลาง
เราให้สอบ เด็กก็ทำได้ เพียงแต่ไม่ได้โดดเด่นหรือมีคะแนนดีมาก อยู่ในระดับค่าเฉลี่ย  แต่ในเนื้อในตัวเด็กเราได้อย่างอื่น เกินไปกว่านั้นแล้ว เด็กจะมีลักษณะนิสัยไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ มีวิธีคิดในการมองเรื่องหนึ่งหลาย ๆ กรอบ แล้วเลือกกรอบคิดได้ คือมีการวางแผน ออกแบบ และกำกับตัวเองให้เรียนรู้ได้  รู้ตัวเองทั้งด้านบวกและด้านลบ และนำตัวเองออกจากด้านลบไปสู่ด้านบวกได้

การเรียนมีมากกว่าการสอบ ข้อสอบส่วนกลางจะเป็นข้อสอบวิเคราะห์ให้กากบาท ถ้าจะวิเคราะห์จริง ๆ ต้องให้เด็กเขียนบรรยาย ต้องสืบสอบ ให้เด็กเขียนซิว่า การที่กรุงศรี-อยุธยาแตกกับการรัฐประหารตอนปี ๒๕๔๙ หรือกับวิกฤตต้มยำกุ้ง มันต่างหรือสัมพันธ์กันอย่างไร
แล้วภาระงานที่สั่งมาจากส่วนกลาง ผอ. จัดการอย่างไร 
อย่างกิจกรรม “โรงเรียนคุณธรรม” เขตการศึกษาก็จะมีให้เข้าค่าย ๑-๒ วัน พาเด็กไปวัดในวันสำคัญ เราก็ถามในที่ประชุมว่าที่ทำนี้จะอยู่ในเนื้อในตัวเด็กจริง ๆ หรือ ถ้าไม่อยู่ในเนื้อในตัว เป็นแค่วูบวาบ จะเป็นโรงเรียนคุณธรรมได้อย่างไร การฝึกคนจริง ๆ ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

เวลาศึกษานิเทศก์ (ศน.) มาแนะนำเชิงวิชาการ เขาจำวิธีคิดคนอื่นเอาแต่ทฤษฎีมาคุยกับเรา พอถามเขาว่า how ทำยังไง ไหนลองบอกผมหน่อยซิ เขาก็บอกไม่ได้ แต่เรามี how ที่ทำอยู่ทุกวันเป็นปัญญาปฏิบัติ เราเอาห้องเรียนมาเรียนรู้ด้วยกันตลอดเวลา ปัญญาปฏิบัติตรงนี้มีคุณค่ามากสำหรับเด็ก

หลัง ๆ เวลา ศน. มา ผมไม่ให้เข้าห้องเรียน มาคุยกับผมก่อน ถ้าจะเข้าห้องเรียน ผมต้องพาเข้า แล้ว ศน. ต้องนิ่ง ๆ ห้ามพูด ผมจะพูดให้ฟังเอง จน ศน. บอกโรงเรียนนี้อย่าเข้าไป (ฮา)  คือมันเหมือนคนหนึ่งอ่านหนังสือมา ๑๐๐ เล่ม กับอีกคนอ่านหนังสือมา ๑๐ เล่ม คนหนึ่งทำด้วยปัญญาปฏิบัติที่จะให้ผลติดอยู่กับเนื้อกับตัวเด็ก ส่วนอีกคนถามหาแต่คะแนน O-NET กับ NT* ซึ่งมันคนละเรื่องกัน

ทักษะที่สอบ O-NET กับ NT ไม่ได้ติดเนื้อติดตัวเด็ก การสอบได้คะแนนเต็มไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน
*O-NET : Ordinary National Educational Test การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน
NT : National Test การสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ความเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของศรีสะเกษ มีผลอย่างไรบ้างไหม
ที่ศรีสะเกษจุดแข็งคือมีโรงเรียนที่เข้มแข็งอยู่ก่อนจะมี พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว ตอนนี้มีทั้งหมดเกือบ ๑๖๔ โรงเรียน กระจายทั่วจังหวัด เช่น โรงเรียนเราทำมาเป็นสิบปีแล้ว เราก็มีเครือข่ายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เพราะทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบก็จะมอบหมายให้เราเป็นโหนดคอยดูแลโรงเรียนในเครือข่าย ผมก็จะรับผิดชอบดูแลแถวแม่ฮ่องสอน แพร่ นครพนม เลย กำแพงเพชร ราชบุรี
เราสร้างเครือข่ายกันเอง ชื่อว่า “โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ” คือเราเปลี่ยนทั้งระบบ รื้อระบบ รื้อมันทิ้งเลย (หัวเราะ) เครือข่ายเรามีทั่วไทยมีหลายร้อยโรงเรียน
ตอนนี้ผมเป็นแกนในการทำคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ วางแผนการจัดการตนเองด้านการศึกษา เขียน พ.ร.บ. เปิดให้โรงเรียนทำงานกับเด็กอย่างไร้ขีดจำกัด พยายามเปิดให้ครูได้ก้าวหน้า  ช่วงนี้เขากำลังหาเครื่องมือประเมินคุณลักษณะของครู คือเราไม่ได้ประเมินที่ NT หรือ O-NET นะ เราจะประเมินว่าครูเปลี่ยนแปลงอย่างไร ลักษณะครูต้องเป็นแบบไหน คุณลักษณะ ผอ. ต้องเป็นอย่างไร และสิ่งที่ติดอยู่ในเนื้อในตัวเด็กนอกจากความรู้แล้วมีอะไรบ้าง
Image
ความเป็นครูนอกกรอบของ ผอ. มาจากไหน
ผมอาจมองเห็นเป้าหมายไกล ๆ ไม่เหมือนเพื่อน ผมมักจะตั้งคำถามว่า เอ๊ะ องค์กรโรงเรียนนี่ดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างประโยชน์ให้สิ่งที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในนี้ไหม ต้องสร้างคุณค่าบางอย่างไหม  การสร้างผู้นำดี ๆ ได้สักคนหนึ่ง หรือสร้างเด็กที่มีคุณภาพ มันวัดหรือเทียบเป็นมูลค่าได้ยากนะ
ผมอยากจะสร้างคนที่มีคุณภาพแบบนั้น จนตอนนี้จะเกษียณแล้วก็ยังไม่ง่ายนะ ไม่เหมือนปลูกผักบุ้ง ๓๐ วันก็ได้กิน สภาพแวดล้อมของโรงเรียนก็เหมือนชีวิตจำลอง เราต้องให้ชีวิตจำลองนี้ใกล้เคียงกับชีวิตจริง นักเรียนจะได้นำออกมาใช้เมื่อเจอสถานการณ์จริง ๆ
ในมุมมองผมนะ ถ้าเด็กผ่านครูดี ๆ สักคนหนึ่ง มันจะติดตรึงเขาอยู่จนเขาตาย  เหมือนเราย้อนกลับไปตอนเราอยู่ประถมฯ เราชอบครูคนไหน ครูคนไหนสอนเราดี ครูคนไหนใจดี ครูคนไหนที่ให้โอกาสเรา ครูคนไหนพูดกับเราเพราะ ๆ ครูคนไหนที่ตีอย่างเดียว ความรู้สึกเหล่านั้นจะยังติดจิตเรามาจนถึงทุกวันนี้
มีครูต้นแบบในดวงใจบ้างไหม
ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนต้นแบบนี่แหละ ผมมองว่าเป็นคนที่มีกรอบคิด มุมมองต่อการศึกษาไม่เหมือนใคร หาคนแบบนี้ค่อนข้างยาก

การที่เราจะเชื่อใคร เขาต้องมีพื้นที่ทำงานจริง เห็นผลจากเด็กเขาจริง ๆ ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้มาชวนทำนั่นทำนี่ อะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ)

อยากให้ตั้งคำถามว่าองค์กรที่คุณรับผิดชอบดำรงอยู่เพื่ออะไรกันแน่  ตัวเราในฐานะที่เป็นคุณครู หรือเป็น ผอ. เราดำรงอยู่เพื่ออะไร ถ้าตอบ why ได้ จะทำให้อยากทำงานในเชิงอุดมการณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ทำไปวัน ๆ

คำถามใหญ่ ๆ นี้จะลึกไปถึงชีวิต เราเกิดมานี้ดำรงอยู่เพื่ออะไรกันแน่ คุณค่าอยู่ตรงไหน เราไปถึงคุณค่านั้นหรือยัง อะไรที่จะพาเราก้าวข้ามไปสู่คุณค่าตรงนั้น ก้าวข้ามความเหนื่อยล้า ก้าวข้ามความที่ไม่เหมือนใคร ก้าวข้ามการต้องมานั่งออกแบบการเรียนรู้ เพื่อที่จะตอบสิ่งนั้น ตอบคำถามข้อนั้น