Image
เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
“เด็ก ๆ อย่าเดินออกนอกเส้ นทาง 
ไม่อย่างนั้นครูไม่พามาแล้วนะ”

เมื่อได้ยินดังนั้น บอยแบนด์ประจำห้อง ป. ๓ ก็วิ่งกรูกลับเข้ากลุ่มเพื่อนร่วมชั้นด้วยสีหน้าเบิกบานและพลังงานอันเหลือล้น พร้อมจะค้นหาวัสดุในชุมชนเพื่อทำ “ของเล่นพื้นบ้าน” หน่วยการเรียนรู้ของเทอมการศึกษาแรกที่โรงเรียนบ้านนาขนวน จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ
บทที่ ๑ / 
สองทศวรรษ
แห่งการเดินทาง
จากสถานี “อิงมาตรฐาน” 
สู่ “ฐานสมรรถนะ”

“มีคำกล่าวทีเดียวว่า พลังอำนาจสูงสุดคือความรู้ knowledge is power มาวันนี้ไม่จริงแล้ว เพราะความรู้เปลี่ยนตลอดและสามารถหาได้ง่ายดายมาก...”

ดอกเตอร์วัฒนาพร ระงับทุกข์ กรรมการอำนวยการพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช.... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) หนึ่งกำลังสำคัญในงานปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนปัจจุบัน เกริ่นนำคำตอบของคำถาม ทำไมเราต้องเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ? และฉายภาพการเดินทางของหลักสูตรการศึกษาไว้ว่า

“แต่ละหลักสูตรมีเวลาของมัน ทำขึ้นมาเพื่อสนองความจำเป็นของช่วงเวลานั้นว่า เราต้องการให้คนมีลักษณะอย่างไรจึงจะอยู่รอดปลอดภัยบนโลกใบนี้ได้  ส่วนใหญ่วงล้อของหลักสูตรอยู่ประมาณ ๖-๑๐ ปี ช่วงเวลาที่เราพัฒนานักเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาภาคบังคับอยู่ที่ ๙-๑๒ ปี เป็นวงรอบหนึ่งของหลักสูตรพอดี

“ในแวดวงการศึกษาเริ่มปรับเปลี่ยนและชี้นำทิศทางฐานสมรรถนะ (competency) กันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ ตอนนั้น มีทีม Partnership for 21st Century Learning หรือ P21 คิดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้นมา  โอ้ มันช่างน่าตื่นเต้นเพราะเขาเน้นทักษะที่เป็น soft skills เป็นทักษะติดตัว OECD องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็ให้ความสำคัญกับตรงนี้และนำข้อมูลออกมาเผยแพร่ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างผู้เรียนให้มีทักษะตามกรอบนี้ คำว่า ‘ฐานสมรรถนะ’ จึงเกิดขึ้น”
Image
เหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-๑๙ เป็นเสมือนตัวเร่งให้การสอนแบบ “ท่องจำ” ถึงกาลสาบสูญ ยิ่งโลกเรามีแต่เรื่องราวไม่คาดฝัน เหนือการคาดเดาของพยากรณ์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้นทุกวันเวลา สิ่งสำคัญล้ำค่าหาใช่วิชาความรู้อีกต่อไป เนื่องด้วยเป็นสิ่งซึ่งเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ทว่าหัวใจสำคัญคือความสามารถในการจัดการความรู้

“ช่วงเริ่มทำหลักสูตรต้องเคลียร์กันนานมากเลยนะ ประการแรกกว่าจะตกลงกันได้ว่ามีกี่สมรรถนะก็ค่อนข้างนาน  สอง พอใช้สมรรถนะเป็นเป้าหมาย ต้องลดความสำคัญรายวิชา ตรงนี้ก็ใช้เวลา ประสบการณ์จากที่ทำหลักสูตร เมื่อไรก็ตามที่เราเอาผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าของวิชามานี่ โอ้ มันยากมาก เขาจะสู้สุดฤทธิ์ว่าจะต้องให้ความสำคัญ ให้เวลา ให้เนื้อหาของเขาเยอะ ๆ

“คำว่า ‘บูรณาการ’ ในบ้านเราเลยเกิดยาก  ถ้าบูรณาการจริง ๆ ตัวของเดิมต้องเปลี่ยนรูป แต่บูรณาการบ้านเราของเดิมไม่มีเปลี่ยน

“ปัญหาอีกประการหนึ่งคือมีหลายหน่วยงานเกินไป โครงสร้างหนาเทอะทะขึ้นทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเพิ่มหน่วยงาน เพิ่มตำแหน่งงาน เพิ่มคน  ต้องจัดการเรื่องนี้โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้งแล้วค่อย ๆ คิดว่าคนที่จะช่วยเด็กคือใคร ค่อย ๆ ไล่ออกมา จะลดทอนหน่วยงานที่มากำกับออกไปเยอะมาก แล้วมาดูว่าคนที่มีอยู่ทุกวันนี้จะไปอยู่ตรงไหน พอจัดการตรงนั้นได้ เราค่อยมาเน้นเรื่องประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน

“ถ้าไปดูทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือคน”

ดอกเตอร์วัฒนาพรเปรยพลางส่ายหน้าเบา ๆ  เรารับรู้ถึงความเหนื่อยหน่ายในตาเธอผ่านจอสีฟ้า

ความท้าทายจึงอยู่ที่การปรับตัวของคนในระบบการศึกษา ว่าจะหยุดเข็มนาฬิกาหรือพร้อมก้าวไปข้างหน้าเช่นครั้งตัดสินใจ ก่อการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน  
หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ให้ความสำคัญกับความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้ ประกอบด้วยสมรรถนะการจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และวิทยาการอย่างยั่งยืน
“ทำเวร” เด็ก ๆ โรงเรียนบ้านนาขนวน กระจายตัวดูแลความสะอาดเรียบร้อยรอบโรงเรียน ก่อนรวมตัวเข้าแถวเคารพธงชาติในเวลา ๘ โมงตรง
บทที่ ๒/ 
ห้องเรียนไร้เพดาน
ณ โรงเรียนบ้านนาขนวน

เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ “ศรีสะเกษ” เมืองอีสานใต้ อดีตจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ทว่าเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนแรกในสังกัด สพฐ. ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบการศึกษาชั้นปฐมวัยอันควรค่าแก่การลอกงานมากที่สุด
- วันแรก -
เวลา ๐๗.๔๕ น.
นักเรียนชั้นประถมฯ ตัวเล็กกลุ่มใหญ่วิ่งเล่นไล่จับในสนามฟุตบอลสีเขียว

กลุ่มเด็กที่ดูโตขึ้นมาหน่อยพากันกวาดเก็บใบสักแห้งที่ร่วงหล่นอยู่ข้างสนาม

กลุ่มเด็กน้อยวัยอนุบาลยังผุดลุกผุดนั่งสนุกสนานกันใต้อาคารเรียน
ครูอยู่ไหน ? เรามาถูกที่แล้วใช่ไหม ? ขณะลังเล

เราหันมองช่างภาพที่มาด้วยกัน สลับมองความเริงร่าของเด็กน้อยอีกครั้ง แล้วตอบอย่างมั่นใจ

ใช่ ! โรงเรียน (แบบ) นี้แหละถูกต้องแล้ว !
เวลา ๐๘.๐๐ น.
ไม่มีเสียงกริ่ง ออด หรือประกาศบอกเวลา
เด็กทุกคนทยอยเดินมาเข้าแถวรวมตัวกันใต้เงาร่มไม้
และครูในโรงเรียนก็เริ่มปรากฏกายขึ้น
. . .
สิบสามปีที่แล้ว โรงเรียนบ้านนาขนวนเปลี่ยนแปลงตัวเองในเชิงระบบจากรูปแบบการเรียนการสอนปรกติสู่การเรียนการสอนแบบบูรณาการ ผ่านนวัตกรรมการสอนหลากหลาย เช่น

เริ่มด้วย Problem Based Learning (PBL) - การเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 

โรงเรียนตั้งปัญหามากระตุ้นการฝึกคิดของเด็ก ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์จริงที่วันหนึ่งอาจต้องเจอ เช่น หากคนในครอบครัวทะเลาะกัน เรารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขกว่าตอนนี้ได้อย่างไร จะก้าวข้ามออกจากตรงนี้ด้วยวิธีคิดแบบไหน
Image
Image
“ม้าก้านกล้วย” ของเล่นพื้นบ้านยอดนิยมที่ชาวแก๊งชั้น ป. ๓ เลือกทำ  ต้นกล้วยเป็นวัสดุที่หาง่ายและแบ่งชิ้นส่วนทำของเล่นได้หลายอย่าง
ต่อมาปรับเป็น Project Based Learning (PBL) - การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน

โรงเรียนฝึกวิธีคิดและพาเด็กเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานที่เน้นการปฏิบัติจริง เช่น การลงแปลงปลูกข้าว การทำผ้ามัดย้อม การจัดการขยะในชุมชน ฯลฯ

ตามด้วย Phenomenal Based Learning (PhBL) - การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน

โรงเรียนพาเด็กวิเคราะห์สถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้น อย่างน้ำท่วม ไฟป่า เพื่อฝึกการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น เมื่อครั้งน้ำท่วมอุบลราชธานีครั้งใหญ่ ครูจัดกระบวนการแล้วตั้งโจทย์ว่าจะช่วยเหลือจังหวัดเพื่อนบ้านได้อย่างไรบ้าง เด็ก ๆ ก็พากันคิดแล้วทำโครงการรับบริจาคขยะเพื่อนำเงิน รายได้ไปบริจาค  สถานการณ์รอบตัวที่เลือกมานั้นต้องมีความสำคัญมากพอที่เด็กจะรู้สึกตระหนักถึงประโยชน์และรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยสังคม

ข่าวการเร่งงานเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจาก “หลักสูตรอิงมาตรฐาน” สู่ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” จึงถือเป็นความน่ายินดียิ่งสำหรับโรงเรียนแห่งนี้

“สำหรับโรงเรียนทั่วไปที่ยังสอนวิธีเดิม ๆ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่พอสมควร เพราะนอกจากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องเอกสารแล้ว ตัวผู้สอน กิจกรรม ต้องเปลี่ยนหมด ถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักเหมือนกัน แต่ว่าที่นี่โรงเรียนเน้นการสอนเชิงสมรรถนะอยู่แล้ว พอเปลี่ยนหลักสูตรเข้ามาก็ถือว่าตอบโจทย์งานที่โรงเรียนทำ สำหรับคุณครูที่นี่ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระสักเท่าไร”

ธีรดา อุดมทรัพย์ หรือ “ครูหยก” ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านนาขนวน บอกกับเราก่อนเข้าประเด็นปัญหาที่พบเจอเมื่อเธอได้ทดลองสอนตามแนวทางฐานสมรรถนะและต้องทำแบบประเมินผลส่งสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา
Image
“เราสอนเรื่องของเล่นยุค 90s บางคนก็สนใจด้านประวัติศาสตร์ เขาตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อก่อนเล่นกันอย่างนี้ ? ทำไมมีของเล่นไม้ไผ่เยอะจัง ? บางคนสนใจเรื่องวิธีการทำ เขาก็ตั้งคำถามว่าถ้าไม่ใช่วัสดุตัวนี้ ใช้วัสดุอื่นแทนได้ไหม”
ธีรดา อุดมทรัพย์ 
ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ 
โรงเรียนบ้านนาขนวน

“หลักสูตรนี้ให้สิทธิ์ครูออกแบบสถานศึกษาเองค่อนข้างเยอะ ที่นี่แบ่งให้ครูแต่ละวิชาไปเขียนหลักสูตรเอง อย่างครูหยกสอนภาษาอังกฤษก็ต้องเขียนหลักสูตรว่าอยากสอนแบบไหน สอนแล้วเด็กจะได้อะไร ความยากคือเราต้องเขียนเป็นภาษาเชิงวิชาการ ต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนให้มีน้ำหนักมากพอว่า เอ้อ พอเรียนแบบนี้แล้วเด็กเขาเกิดสมรรถนะจริง ๆ

“ความยากอีกขั้นหนึ่งคือการประเมินผล หลักสูตรนี้สอนแบบการบูรณาการไม่เน้นรายวิชา แต่พอสิ้นปีเขตให้รายงานผลแปดกลุ่มวิชา ก็ต้องเขียนว่ากิจกรรมที่ทำนี้เชื่อมโยงกับวิชาอย่างไร  อย่างกิจกรรมเมื่อเช้าเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ไหม หรือเชื่อมโยงกับศิลปะ แล้วอยู่ในหน่วยอะไร หน่วยเปรียบเทียบสีหรือหน่วยคำนวณ เราก็ต้องดูตัวชี้วัดแล้วแตกเป็นคะแนน ซึ่งมีความซับซ้อนหลายขั้นตอนมาก ยากกว่าที่โรงเรียนออกแบบไว้แค่สะท้อนผลผู้เรียนผ่านกิจกรรมว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรกับแก้ปัญหาอย่างไร

“ตอนนี้การประเมินต้องตีค่าเป็นคะแนน มันก็จะกลับไประบบเดิมที่ให้คุณค่าของคะแนน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสูตรของสถานศึกษาหรือกระบวนการที่โรงเรียนทำอยู่”

แล้วครูจะดูแลเด็กทั่วถึงไหม เพราะการประเมินอาศัยความละเอียดมาก ?

“ถ้าตามความจริงก็ไม่ทั่ว เพราะการสอนแบบนี้เราต้องดูเด็กรายกลุ่มหรือรายบุคคลค่อนข้างสูง อย่างห้องนี้มีเด็ก ๒๖ คน ก็ค่อนข้างหนักพอสมควร เช่นกลุ่มที่เรียนรู้ช้าก็จะเรียกหาครูตลอดเวลา ตามธรรมชาติของเด็กประถมฯ เราเดินตามตลอดไม่ได้ เด็กก็ต้องวิ่งมาหาครูเอง ก็จะลำบากช่วงต้น ๆ พอผ่านไปสักเทอมหนึ่ง เด็กจะเรียนรู้ว่าเพื่อนคนไหนมีความถนัดด้านไหน เขาก็จะไปให้เพื่อนช่วยดูแทนครู”

วันแรกเราได้เห็นความงามทางการศึกษาในฉบับโรงเรียนบ้านนาขนวน เผยตัวผ่านบทสนทนาง่าย ๆ ระหว่างครูหยกและนักเรียนของเธอ
Image
Image
ที่นี่ไม่มีหนังสือเรียน หลักสูตรสอนแบบบูรณาการ ไม่เน้นรายวิชา ความรู้จะสอดแทรกไปในตัวกิจกรรม ครูประจำชั้นแต่ละคนจะออกแบบธีมการสอนให้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของนักเรียนในห้องตัวเอง
เวลา ๐๙.๒๐ น.
นักเรียนชั้น ป. ๓ ของครูหยกล้อมวงทำ “กิจกรรมจิตศึกษา” ฝึกกระบวนการคิดผ่านกิจกรรมออกแบบทรงผมจากสื่อธรรมชาติ

ครูหยก : เป็นยังไง ทำแล้วรู้สึกยังไงบ้าง ?
นักเรียน : ภูมิใจค่ะ รู้สึกว่าสวย
ครูหยก : ใครชมว่าสวย ?
นักเรียน : หนูชมตัวเองค่ะ (ยิ้มหวาน)
เวลา ๐๙.๓๐ น.
“ตา หู จมูก จับให้ถูก จับจมูก ตา หู...”

ในขณะที่วงคุยเริ่มมีเสียงดังหึ่งงงง

จู่ ๆ นักเรียนคนหนึ่งก็ร้องเพลงขึ้นมา แล้วเพื่อนทั้งหมดก็ร้องตาม

เป็นวิธีที่ “โมเดอเรเตอร์” ประจำวันใช้เรียกสมาธิของเพื่อนร่วมชั้นกลับมา

เพราะโรงเรียนนี้ไม่มี “ระบบหัวหน้าห้อง” ไว้จัดการควบคุมนักเรียน แต่ใช้วิธีผลัดเปลี่ยนนักเรียนทุกคนขึ้นเป็นผู้ดูแลประจำวันตามเลขที่
เวลา ๑๔.๐๐ น. 
นักเรียนชั้น ป. ๓ ของครูหยกเดินสู่ห้องเรียนไร้เพดาน

ลงพื้นที่สำรวจชุมชนเพื่อค้นหาวัสดุในการทำ “ของเล่น
พื้นบ้าน”

เด็ก ๆ วิ่งหาวัสดุกันสนุกสนาน ชี้ชวนกันดูทางมะพร้าวบ้าง กอไผ่บ้าง


บ้างแกล้งเอาลูกยางแห้งถูกับพื้นถนนให้ร้อนไล่จี้ผิวเพื่อน... 
ฯลฯ
เวลา ๑๖.๐๐ น.
“วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง”

ครูทุกคนในโรงเรียนล้อมวงสะท้อนความรู้สึก หารือกิจกรรมภายในและแชร์ปัญหาที่พบในคาบเรียน


. . .

“เราไม่ได้เน้นเนื้อหา เพราะความรู้เดี๋ยวนี้เสิร์ชใน Google ได้ อ่านหนังสือได้ แต่ว่าการพัฒนาทักษะยากที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราต้องทำกิจกรรมให้เขา เกิดทักษะขึ้นมา”
Image
Image
“ทำม้าก้านกล้วย ทำดาบ ทำปืน ทำเรือ... เอ๊ะ หมดหรือยังนะ ?” เด็กชายทั้งสามช่วยกันนำเสนอความคิดในหัวข้อ “ของเล่นพื้นบ้านที่ฉันเลือก” ผ่านแผนภาพที่เพิ่งระบายสีเสร็จใหม่ ๆ
- วันที่ ๒ - 
เวลา ๐๘.๓๐ น.

เมื่อเลิกแถวเคารพธงชาติ ปรากฏภาพการกระจายตัวเป็นกลุ่มก้อนของนักเรียนไปทั่วทั้งโรงเรียน 

บ้างวิ่ง บ้างกระโดด บ้างเดินตามเส้นประเรียงกัน ใบหน้ายิ้มบ้าง หาวบ้างตามประสา

เรา : นี่เดินไปไหนกัน ไม่ขึ้นห้องเรียนเหรอ ?
ด.ช. อาร์ตี้ : ยังพี่ ไม่รีบ เดี๋ยวไปเดินเล่นกันก่อน

พูดจบอาร์ตี้ก็เดาะบอลโชว์เราหนึ่งยก ก่อนวิ่งลงสนามไปทำประตูกันอยู่ประมาณ ๑๕ นาที

แล้วอาร์ตี้เเละผองเพื่อนก็ทยอยขึ้นห้องเรียนเพื่อเรียนรู้การทำของเล่นพื้นบ้าน
โรงเรียนทั่วไปแบ่งช่วงการเรียนออกเป็นสองภาคการศึกษา แต่ที่โรงเรียนบ้านนาขนวนแบ่งช่วงการสอนเป็นสี่เทอม โดยภาคการศึกษาหนึ่งจะเรียนสองเทอม แบ่งเป็นสี่หน่วยการเรียนรู้ ซึ่งครูประจำชั้นจะออกแบบธีมการสอนให้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของนักเรียนในห้องตัวเอง

“ช่วงปีที่แล้วเจอโควิดก็ปิด ๆ เปิด ๆ เด็กของเราขึ้น ป. ๓ มาแบบงง ๆ เราประเมินเด็กแล้วรู้สึกว่าเขาขาดพัฒนาการบางอย่างไปค่อนข้างเยอะ หรือที่เรียกว่า learning loss  ไม่ได้หายแค่ความรู้ แต่ทักษะอื่น ๆ อย่างพัฒนาการด้านสังคม กระบวนการคิด การสื่อสารก็หายไปด้วย เราเลยมาพัฒนาเด็กด้วย EF (executive function - ทักษะการบริหารจัดการตนเอง) ใช้การเล่นเป็นธีมการสอนในเทอมแรก” ครูหยกเล่า
ชิ้นงานหรือบอร์ดทุกชิ้นเป็นผลงานนักเรียนทั้งหมด ไม่มีการซื้อโปสเตอร์มาแปะ  เวลาผู้ปกครองมารับลูกก็จะเห็น ผลงานของเด็ก ตัวเด็กเองก็เกิดความภาคภูมิใจ

สมรรถนะการสื่อสาร เป็นหนึ่งในหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือมีความสามารถรับรู้ รับฟัง ตีความ และส่งสาร โดยใช้กระบวนการคิด

Image
Image
Image
เราเฝ้ามองการเรียนการสอนในห้องครูหยก บรรยากาศทำให้นึกถึงปรัชญาการสอนของโรงเรียนอนุบาลออโรรา ประเทศนอร์เวย์ จากภาพยนตร์สารคดี Childhood (ค.ศ. ๒๐๑๗) ที่ว่า “การเล่นคืองานของเด็ก”

คำถามพื้น ๆ ผุดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่ามีกิจกรรมเยอะมาก แล้วด้านวิชาการสอนยังไง ?

“เราไม่ได้เน้นเนื้อหา เพราะความรู้เดี๋ยวนี้เสิร์ชใน Google ได้ อ่านหนังสือได้ แต่ว่าการพัฒนาทักษะยากที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราต้องทำกิจกรรมให้เขาเกิดทักษะขึ้นมา แต่ตัวความรู้หรือเนื้อหาจะถูกสอดแทรกตอนที่ทำกิจกรรมว่าเขาเรียนแล้วได้ความรู้อะไร แล้วถ้าเขาอยากรู้ต่อ เขาควรจะไปศึกษาเรื่องอะไรเพิ่ม เป็นแค่คำถามจากคุณครูที่เข้าไปตั้งโจทย์กระตุ้นต่อมเขา ซึ่งการอยากรู้ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
“อย่างเราสอนเรื่องของเล่นยุค 90s บางคนก็สนใจด้านประวัติศาสตร์ เขาตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อก่อนเล่นกันอย่างนี้ ? ทำไมมีของเล่นไม้ไผ่เยอะจัง ?  บางคนสนใจเรื่องวิธีการทำ เขาก็ตั้งคำถามว่าถ้าไม่ใช่วัสดุตัวนี้ใช้วัสดุอื่นแทนได้ไหม เขาก็ต้องไปศึกษาเรื่องวัสดุทดแทน เป็นต้น ตรงนี้คือความรู้ในเชิงเนื้อหาที่เขาต้องหาข้อมูลต่อ”

นอกจากรอหลักสูตรใหม่ ครูสามารถทำอะไรได้บ้าง ? เราถามครูหยก

“เริ่มลองเปลี่ยนวิธีการสอนดู มีเว็บไซต์ที่แนะนำกระบวนการเรียนรู้เยอะสำหรับคุณครูที่อยากเปลี่ยน ลองทำกิจกรรมกับเด็ก ลองชวนเด็กคุย ครูอาจเคยชินกับการยืนสอนหน้ากระดาน ให้เด็กเปิดหนังสือเปิดแบบฝึกหัดทำหน้าอะไรถึงหน้าอะไร ครูต้องลดบทบาทผู้บอกเล่า ต้องฝึกให้เด็กตั้งคำถาม จะถามยังไงให้เด็กดึงความรู้มาตอบ  ครูต้องมีทักษะการถอดบทเรียน เช่น กิจกรรมทำอาหารไม่ใช่จบที่ทำเสร็จ ชิม ใครอร่อย ไม่อร่อย ให้คะแนน แต่ต้องดูว่าได้เรียนรู้อะไร  ให้ถามตัวครูเองว่า ก่อนห้องเรียนจะเปลี่ยน ตัวคุณครูเปลี่ยนหรือยัง
“ถ้าระบบโรงเรียนเปลี่ยน ระบบประเทศต้องเปลี่ยนตามด้วย คือพอคุณครูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่เมื่อถึงเวลาจะเข้ามหาวิทยาลัย...ให้เด็กไปสอบแบบเดิม ครูก็รู้สึกว่าทำแล้วไม่มีประโยชน์ ทำฟรี”
ดอกเตอร์วัฒนาพร ระงับทุกข์ 
กรรมการอำนวยการพัฒนา 
(ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช.... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

เย่ ! นักเรียนชั้น ป. ๓ รวมตัวกันโชว์ผลงานที่เพิ่งรังสรรค์เสร็จ พื้นหลังพวกเขาคือบอร์ด “ใบงาน” ที่ผลิใหม่ถี่ยิ่งกว่าใบไม้
“ถ้าครูเปลี่ยน เด็กจะเปลี่ยน ห้องเรียนเปลี่ยน โรงเรียนก็จะเปลี่ยน  ถ้าโรงเรียนเปลี่ยนได้ การศึกษาก็จะเปลี่ยนได้เช่นกัน”

เมื่อเปลี่ยนแล้วต้องปรับตัวพร้อมกันทั้งระบบ อันประกอบด้วย บ้าน โรงเรียน ชุมชน

“พอโรงเรียนเปลี่ยนระบบแล้วก็หยุดที่โรงเรียนไม่ได้ ทางบ้านต้องเปลี่ยนด้วย ผู้ปกครองต้องช่วยเราด้วย เช่น เราพยายามพัฒนาทักษะ พัฒนาความคิดให้เด็ก เวลาอยู่โรงเรียนเราให้เด็กพูดเพราะ คุณครูพูดเบา ไม่เสียงดัง ไม่ดุ เพื่อให้เขาไม่ถูกปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับไปบ้าน แม่ด่าตั้งแต่ยังไม่เดินเข้าประตูบ้าน เด็กก็กลัว ไม่กล้าพูดไม่กล้าสื่อสาร พอมาโรงเรียนก็ติดพฤติกรรมที่บ้านมา ทำไมวันนี้เด็กไม่พูด อาทิตย์ที่แล้วเด็กยังพูดอยู่เลย
“เช่นเดียวกันโรงเรียนก็ต้องมีส่วนร่วมกับชุมชน เพราะว่าเราอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ควรจะเป็นก้อนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่ชุมชนอย่างหนึ่งโรงเรียนอย่างหนึ่ง  การออกแบบแต่ละหน่วยการสอนของคุณครูก็พยายามเชื่อมกับชุมชน ให้เห็นว่าสิ่งที่เราพัฒนาเด็ก เด็กได้นำกลับไปใช้ในชีวิตจริง นำไปช่วยเหลือสังคมและชุมชนได้จริง เช่น หน่วยการจัดการขยะ เราไม่ได้ทำแค่ในโรงเรียน แต่ทำถึงในหมู่บ้านในชุมชนด้วย เพื่อให้ชุมชนเห็นว่าเรียนแบบนี้มีประโยชน์นะ

“ที่เป็นกังวลคือความไม่สอดคล้องของสถานศึกษาที่ส่งต่อ เช่น โรงเรียนเราเปลี่ยนเป็นระบบที่ไม่มีการสอบ ไม่มีการวัดด้วยเกรดหรือคะแนน เพราะเราเอาคะแนนออกจากชีวิตไม่ให้ความสำคัญกับตัวเลข การประเมินจึงเพื่อพัฒนาผู้เรียน

“เคยคิดว่าน่าจะออกแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอ แต่ก็เอาไปยื่นเรียนต่อได้แค่บางโรงเรียนหรือบางมหาวิทยาลัย คือผลพ่วงต้องดูขั้นส่งต่อไปถึงมหาวิทยาลัยด้วย พอจบมหา’ลัยแล้วยังไงต่อ บริษัทที่รับเข้าทำงานเปลี่ยนด้วยไหม ? ยอมไหมที่จะไม่ดู GPA หรือดูเกรด ไม่ดูที่สถาบันการศึกษา แต่มาดูที่ความสามารถหรือสมรรถนะ”

ความกังวลใจของครูหยกสะท้อนปัญหาเรื้อรังของระบบได้ครบเครื่อง การมีชั่วโมงเรียนแสนสนุกอาจไร้ความหมาย เมื่อวันหนึ่งคุณต้องโดนระบบเก่าที่ไม่ถูกแก้ไขกลืนกินความหวังใหม่ไปอยู่ดี

เรานึกย้อนคำของดอกเตอร์วัฒนาพรที่ว่า
“ถ้าระบบโรงเรียนเปลี่ยน ระบบประเทศต้องเปลี่ยนตามด้วย คือพอคุณครูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่เมื่อถึงเวลาจะเข้ามหาวิทยาลัย ถึงเวลาเรียนต่อ เอ้า ให้เด็กไปสอบแบบเดิม ครูก็รู้สึกว่าทำแล้วไม่มีประโยชน์ ทำฟรี”

Image
นิ่งเป็นหลับ พอขยับก็ให้เล่นต่อในช่วงบ่าย นักเรียนชั้น ป. ๒ ได้นอนหลับ เติมพลังก่อนถูกปลุกด้วยเสียงเพลงเพื่อเข้าคาบเรียนคณิตศาสตร์
บทที่ ๓ / 
พื้นที่แด่ “ครูแกะดำ”
แบ่งปัน รับฟัง
ชวนกันคิดทำให้ดีขึ้น

เวลา ๐๘.๕๐ น.
ณ ห้องเรียนแห่งหนึ่ง
ด.ช. ไก่ : “ซาาาหวัดดดดดีคับบบคูนนนครู”
๕๐ นาทีผ่านไป~
ด.ช. ไก่ : “ขอบบบคูนนนคับบบคุนนนครู”
เหตุการณ์แบบนี้ อรรถพล ประภาสโนบล หรือ “ครูพล” ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนของเขาเด็ดขาด

ห้าปีที่แล้วครูพลแชร์ไอเดียการสอนในห้องเรียนสังคมของเขาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว จนเกิดคอมมูนิตีครูเล็ก ๆ  หลายคนพากันคอมเมนต์ ไลก์ แชร์ จนครูพลตัดสินใจสร้างกลุ่มเฟซบุ๊ก “ครูปล่อยของ” ตอบรับความต้องการของครูจำนวนมากที่โหยหาพื้นที่แบ่งปัน รับฟัง ชวนกันคิด ช่วยกันทำห้องเรียนของพวกเขาให้ดีขึ้น
Image
สองพาร์ตเนอร์ที่ช่วยกันขับเคลื่อนพื้นที่แบ่งปันไอเดียของคุณครู (ขวา) อรรถพล ประภาสโนบล หรือ “ครูพล” ผู้ทำให้เกิด "ครูปล่อยของ" กับ (ซ้าย) ชลิพา ดุลยากร หรือ “นะโม” ผู้สร้าง "Inskru - พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน"
จากวงคุยของครูหลักสิบขยายตัวเป็นวงแลกเปลี่ยนหลักหมื่น คล้ายใยแมงมุมเชื่อมโยงครูจากทั่วประเทศ ปัจจุบัน “ครูปล่อยของ” มีสมาชิกเพื่อนครู นักศึกษาฝึกสอน และผู้สนใจงานสอนกว่า ๗.๙ หมื่นคน พวกเขาแวะเวียนเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวแก่กันในทุกวัน

“ครูปล่อยของเริ่มต้นตอนที่เราฝึกสอนอยู่ปี ๕ เรารู้สึกอยากจะทำห้องเรียนดี ๆ ห้องเรียนที่น่าสนใจ ห้องเรียนที่เด็กมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ห้องเรียนในรูปแบบการสอนเดิม ๆ ที่สุดท้ายเด็กมาเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่ได้มองเห็นประเด็นใหม่ หรือไม่ได้เกิดคำถาม  ตอนนั้นหลายคนพูดว่าห้องเรียนแบบนี้ต้องอยู่ในโรงเรียนทางเลือก ต้องจ่ายราคาสูง ๆ เท่านั้น เด็กถึงจะได้เรียน

“แต่เรารู้สึกว่าจริง ๆ เกิดได้ทุกโรงเรียน เราอยากพิสูจน์ว่าโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเล็ก ๆ ก็ทำได้ด้วยบทบาทของครู ตอนเรียนปี ๕ เลยเริ่มเขียนเล่าไอเดีย  พอเป็นครูปีแรกก็คิดว่าต้องมีกลุ่มเกิดขึ้น ทำพื้นที่ที่ครูมาแบ่งปันกัน เข้ามารวมกลุ่มกัน ไม่ใช่แค่คอมเมนต์หรือแชร์จากโพสต์ของเราไป

“มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงผ่านห้องเรียนของเขา เห็นความหวังว่าเราไม่ได้ทำอยู่คนเดียว เราไม่ได้โดดเดี่ยว อย่างน้อยฉันก็มีเพื่อนที่อยู่ในนี้  สิ่งที่ฉันเล่าออกมามันไม่ได้บ้า ยังมีครูเหล่านี้ที่พร้อมสนับสนุน”
. . .
นะโม : ครูคะ ครูได้บอกวิธีสอนแบบนี้กับครูคนอื่นหรือเปล่า ?
ครู : ไม่ได้บอกนะและไม่ได้เก็บไว้ จะสอนค่อยมาค้นใหม่
Image
สี่ปีที่แล้ว นะโม-ชลิพา ดุลยากร นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตั้งคำถามง่าย ๆ ในห้องเรียนที่เธอตั้งใจไปดูงานออกแบบการสอน เพราะสนใจงานด้านการศึกษามาแต่ไหนแต่ไร จนจุดประกายให้เธอคิดทำ “Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน” ผลงานทีซิสที่พาให้ครูทั่วประเทศพบทางออกในการออกแบบห้องเรียนร่วมกัน

“ตอนนั้นเรารีเสิร์ชว่ามีพื้นที่อย่างนี้แล้วหรือยัง ก็มาเจอกลุ่มเฟซบุ๊กของพล แสดงว่ามีความเป็นไปได้ในการทำสิ่งนี้ เราอยากทำเว็บไซต์ที่มาช่วยตรงนี้ เลยทักไปหาพล ก็ได้คุยแลกเปลี่ยนกัน Inskru และครูปล่อยของเลยเป็นเหมือนพาร์ตเนอร์กันแต่นั้นมา

“ย้อนไปสมัยเราเรียนออกแบบ จะมี Pinterest ที่ใช้หาไอเดียต่าง ๆ เกี่ยวกับการออกแบบ ยิ่งเราเห็นไอเดียเยอะ เราก็ยิ่งออกแบบได้น่าสนใจมากขึ้น มีไอเดียมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น  รู้สึกว่าโลกของครูก็ไม่น่าจะต่างกันมาก ครูก็เหมือนนักออกแบบคนหนึ่งที่น่าจะต้องการ input หรือ ความเป็นไปได้หลากหลาย ที่พอเขาได้มองเห็นแล้วน่าจะออกแบบต่อยอดได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ถ้ามีพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาให้ทุกคนมาแชร์กันก็จะช่วยย่นระยะเวลา ช่วยต่อยอดให้สร้างสรรค์มากขึ้นกว่าเดิม

“ครูเป็นอาชีพที่คนภายนอกมองมาแล้วรู้สึกตัน ๆ  แบบว่าอยู่ในกรอบ ถ้ามีพื้นที่ตรงนี้อาจสร้าง mood ครูแบบใหม่ ครูที่มีความเป็นดีไซเนอร์ ครูที่อยากจะสร้างสรรค์ห้องเรียน ให้เขาอยากมาสนุกกับการออกแบบห้องเรียนกันได้”

ปัจจุบัน “Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน” มียอดการติดตามทางเฟซบุ๊กกว่า ๒.๕ แสนคน และบนเว็บไซต์ inskru.com นับยอดการแชร์ไอเดียการสอนได้ ๖,๕๙๐ ไอเดีย และนำไปใช้แล้วใน ๙๒,๓๐๖ ห้องเรียน

ยอดนี้ยังเพิ่มขึ้นในทุกวัน 
- ห้อง PLC ออนไลน์ - 
(PLC - Professional Learning Community ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) แชร์ได้ทั้งไอเดียการสอนและความอ่อนแอในตัวครู

“ถ้าไม่ใช้ “นำ-สอน-สรุป” เราจะออกแบบการสอนด้วยวิธีการไหนได้อีกบ้าง ?...”

“คุณครูท่านใดพอจะมีเทคนิควิธีจัดกิจกรรมให้นักเรียน
ได้ฝึก speaking ใน TikTok แชร์บ้างไหมคะ”

“จะมีวิธีรับมือและแสดงออกต่อนักเรียนที่ชอบล้อเลียน
คำพูดเราตลอด ๆ อย่างไรดีคะ เราเป็นครูฝึกสอนค่ะ...”

“#ชวนครูคุย มีคุณครูคิดเห็นเรื่องกัญชาเสรียังไงบ้างคะ”


“รบกวนปรึกษาค่ะ รู้สึกว่าเราเป็นครูที่ไม่มีพลังหรือบุคลิกอะไรที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียนเวลาสอนได้เลย จะให้เล่นตลกหรือใช้พลังงานเยอะ ๆ ออกท่าทางในการสอนนักเรียน 
เราคงทำไม่ได้จริง ๆ ...เครียดมาก๕๕”

ฯลฯ

ตัวอย่างจากห้องสมุดไอเดีย
ไอเดีย Check ความคาดหวัง ตั้งเป้าหมาย
โดยตั้งเป้าและให้กำลังใจตัวเอง ให้นักเรียนเขียนออกมาว่า
- ฉันจะ... (ตั้งเป้า)
- อยากจะบอกตัวเองว่า... (ให้กำลังใจตัวเอง) 
กิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนได้ค้นพบแรงบันดาลใจ และสามารถช่วยให้เด็ก ๆ มีความพยายามและตั้งใจเรียนมากขึ้น
ไอเดียสอนนักเรียนเรื่องอาชีพให้สนุก
สถานที่กับอาชีพ
จำนวนผู้เล่น ๑ คนขึ้นไป
วิธีเล่น
๑. ให้ผู้เล่นหยิบการ์ดอาชีพขึ้นมาคนละ ๑ ใบ 
๒. หาว่าอาชีพนั้นต้องทำงานที่ไหน 
๓. ดูว่าอาชีพอื่น ๆ ที่ทำงานในสถานที่นั้นมีอะไรบ้าง ให้หามาให้ได้มากที่สุดพร้อมอธิบาย 
ฯลฯ
ในฐานะคนสร้างพื้นที่ หลายครั้งที่นะโมได้รับข้อความหลังไมค์ระบายความในใจจากคนเป็นครู  แง่หนึ่งเธอดีใจที่พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เหล่าครู แต่อีกมุมเธอรู้สึกว่า Inskru คือยารักษา ที่ทำให้คนในระบบยังอยู่ต่อได้

คำถามผุดขึ้นในใจเธอ “พอเขาหายดี แล้วยังไงต่อ ?”

“เราเจอเคสแบบว่าตอนแรกครูจะลาออก แล้วพอมาเจอ Inskru ก็ไม่ลาออก เขาก็บอกเราว่ารู้สึกเป็นแกะดำ เขามีความเชื่อแบบหนึ่ง แต่คนในโรงเรียนไม่ได้เชื่อแบบนั้น ความเชื่อที่อยากทำเพื่อเด็ก ๆ โฟกัสที่เด็กก่อนหรือสร้างการเรียนรู้ที่เป็นการเรียนรู้จริง ๆ กลายเป็นพลังส่วนน้อยในโรงเรียน เขารู้สึกเบิร์นเอาต์ง่ายมาก แต่พอมาเจอพื้นที่ตรงนี้ทำให้เห็นว่า อ๋อ คนที่เชื่อเหมือนฉันอยู่ตรงนี้นี่เอง เขาก็รู้สึกว่ารักษาความเชื่อตรงนี้ได้อยู่ต่อไป เขาอยากสู้ต่อ อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสู้ตรงนี้”
Image
“พอฟังเขาเล่าก็รู้สึกอยากไปแก้ที่ต้นเหตุให้ได้ ทำไมระบบการศึกษาถึงไม่เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนครูแต่แรก ทั้งในแง่วัฒนธรรมและระบบที่ดีกว่านี้”

ครูพลเสริม “ต่อให้โรงเรียนบอกว่ามีชั่วโมง PLC อยู่ก็ตาม สุดท้ายครูเข้าไปทำอะไร ไปนั่งถ่ายรูปแล้วก็ส่งเอกสารกลับไปรายงานว่ามี PLC แล้ว แต่ไอเดียจริง ๆ คือให้ครูมานั่งแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งมันไม่เกิดวัฒนธรรมแบบนี้  เพราะการบอกว่ามีชั่วโมง PLC แล้วคุณต้องส่งเอกสารรายงาน ตลกมาก มันไม่ได้อยู่บนความเชื่อใจ มีแต่ความกลัวเต็มไปหมด

“อยากให้ออกแบบโครงสร้างการทำงานของครูใหม่ การทำงานที่ไม่ใช่เอาคำสั่งมาแปะให้ทำแล้วก็จบ ถ้าบอกว่าเพราะครูไม่สอนก็เลยต้องมีเอกสารมาประเมินเยอะแยะ เราพูดได้เลยว่าคนไม่สอนยังไงก็ไม่สอน ต่อให้มีเอกสารสัก ๑๐ อย่าง เขาก็ทำมันหลอกขึ้นมาได้  แต่คนที่สอนอยู่นี่สิ ต้องมานั่งทำเอกสารส่งอีก แทนที่จะออกแบบเพื่อทำให้คนทั้งหมดไปสู่วัฒนธรรมของการรับผิดชอบ วัฒนธรรมที่คิดถึงเด็กนักเรียนก่อน แต่ไปออกแบบเพื่อจะจับจ้องจัดการคนส่วนน้อย สุดท้ายก็เป็นอยู่แบบนี้ วัฒนธรรมการพูดคุยกันก็ไม่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน”

แล้วทำไมวัฒนธรรมดี ๆ จึงเกิดขึ้นยากในรั้วโรงเรียนไทย

ติดที่คนหรือระบบ ? เราตั้งคำถาม

ครูพล “เป็นคำถามสำคัญถึงสถาบันผลิตครูว่ากำลังผลิตครูแบบไหน ผลิตครูไปเป็นข้าราชการหรือผลิตครูไปสร้างการเปลี่ยนแปลง  สถาบันคุณกำลังให้คุณค่าแบบไหน เพราะถ้าผลิตเพื่อเป็นข้าราชการครู ก็ทำงานไป ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงหรอก ระบบมันก็เป็นแบบนี้ ก็เลยคิดว่าต้องมีสองส่วน กระทรวงส่วนหนึ่ง และสถาบันผลิตครูส่วนหนึ่ง ก็จะช่วยทำให้พื้นที่ส่วนนี้เกิดได้ง่ายขึ้น”

นะโม “ครูในระบบตอนนี้ ไม่แน่ใจว่ามีคนที่อยากเป็นครูจริง ๆ กี่คน แล้วคนที่มาเป็นครูเพราะอยากเป็นข้าราชการกี่คนแต่สัมผัสได้ว่ามีนัยสำคัญเหมือนกัน”
Image
ครูพล “เราต้องการสังคมที่เป็นรัฐสวัสดิการ เพราะจะทำให้คนไม่ได้เรียนครูเพราะจะเอาสิทธิ์สวัสดิการ  ฉันเรียนสิ่งนี้เพราะฉันสนใจหรือฉันอยากจะเป็น  ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งในช่วงเวลาหนึ่งเราอยากจะเป็นครู ผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งเราอาจรู้สึกว่าไม่อยากเป็นครูต่อไปแล้ว อยากไปทำอาชีพอย่างอื่น ก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะสังคมมีสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ว่าอาชีพไหนก็ได้สวัสดิการ เราควรมีพื้นที่แบบนี้ให้คนได้ยืดหยุ่น ได้เปลี่ยนแปลงอาชีพของตัวเอง คิดภาพว่าถ้ามีครูทนอยู่เพราะติดเงื่อนไขแบบนี้ก็ส่งผลเสียต่อเด็กนะ ถ้าเขามีที่ทางอื่นก็ออกไปดีกว่า  ส่วนที่อยากสอนด้วยได้สวัสดิการด้วยก็มี เป็นเรื่องปรกติในสังคมหลังพิงฝา สังคมที่เหลื่อมล้ำกันแบบนี้”

พื้นที่ที่ควรเกิดเป็นปรกติในรั้วโรงเรียนจึงกำเนิดขึ้นบนโลกออนไลน์

“ถ้าย้อนกลับไป ๔-๕ ปีมันหายากมาก ๆ แต่ตอนนี้ใคร ๆ
ก็เขียนเล่า ใคร ๆ ก็แชร์ลง Inskru หรือครูปล่อยของ หรือแชร์ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเขาเอง แม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ ครูก็จะมานั่งเขียนนั่งเล่าเรื่องห้องเรียนของตัวเอง  ความตั้งใจแรกที่เราทำก็เพราะอยากให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้แหละ อยากทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่เปิด ให้เราแชร์กัน ให้เราส่งต่อกันได้” ครูพลเล่าย้อนไปตอนตั้งต้น

ในความนิ่งงันของคำว่า “ปฏิรูปการศึกษาไทย” ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่รอให้ระบบเปลี่ยน

พวกเขาเริ่มเปลี่ยนมันเองด้วยกำลังที่พอมี จากการสร้างพื้นที่เล็ก ๆ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนวัฒนธรรมใหม่ในระบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
บทที่ ๔ / 
ปฏิรูปแล้ว...ไปไหน
เรียนจบแล้ว...ทำอะไร

“หลักสูตรการศึกษาทั่วโลกไม่ได้คิดเพื่อแก้ปัญหาวันนี้ แต่คิดเพื่อแก้ปัญหาอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ต้องคิดไปล่วงหน้าแล้วว่า อีก ๕ ปี ๑๐ ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยหรือกับโลกนี้ เมื่อเด็กเรียนจบแล้ว เขาต้องไปเผชิญกับอะไร อันนี้คือใจความสำคัญ”

ดอกเตอร์วัฒนาพร ระงับทุกข์
ครูระดับชั้น ม. ๓ ถามนักเรียน

“เราเรียนไปทำไม..: สุดท้ายก็ตายอยู่ดี ?”


“ก็หนูยังไม่ตายตอนนี้ วันนี้นี่ครู”


“ใช่ค่ะครู สุดท้ายก็ตาย แต่เราจะใช้ชีวิตยังไงล่ะ”


“เหมือนรู้ว่ากินแล้วก็ขี้ แต่ผมก็กินอยู่ดีมั้งครับ”


ฯลฯ  

Image
เวลา ๐๘.๐๐ น.
ไม่มีเสียงกริ่ง ออด หรือประกาศบอกเวลา เด็กทุกคนทยอยเดินมาเข้าแถวรวมตัวกัน ใต้เงาร่มไม้ ครูในโรงเรียนก็เริ่มปรากฏกายขึ้น เพียงแต่ความครึกครื้นยังไม่หายไป หลังเคารพธงชาติเสร็จ เด็ก ๆ วิ่งกระจายตัวด้วยอาการเริงร่าเข้าห้องเรียนไปอย่างไม่อิดออด

การศึกษาไทย
คล้ายรถไฟตกราง

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กฎหมายแม่บททางการศึกษาฉบับแรกของไทย นิยามความหมายของ “การศึกษา” ไว้ดังนี้

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ “การศึกษา” หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคล และสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ  การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

๒๕๔๓
ไล่หลังการประกาศใช้กฎหมายแม่บททางการศึกษาฉบับแรกของไทย ๑ ปีถ้วน ทั่วโลกเริ่มปรับตัวสู่แนวทาง “สมรรถนะ” ขณะที่ไทยพยายามปรับตัวให้ชัดเจนกับแนวทาง “อิงมาตรฐาน”
๒๕๔๔
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดชั่วโมงเรียนรวมต่อปีอยู่ที่ ๘๐๐-๑,๒๐๐ ชั่วโมง และกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัดทางการศึกษาไว้ ๒,๐๐๐ กว่าตัว
๒๕๕๑
เข้าทศวรรษที่ ๒ ของการปฏิรูปการศึกษา ปรับหลักสูตรใหม่โดยเพิ่มสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนห้าประการโดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดส่วนนี้ชัดเจน และมีการปรับลดตัวชี้วัดลง แต่ยังคงกรอบอิงมาตรฐานเช่นเดิม
๒๕๖๒
ย่างเข้าทศวรรษที่ ๓ ของการปฏิรูปการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
๒๕๖๔
โรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นครั้งแรก พบปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างรูปแบบการสอนและระบบการประเมินผล
๒๕๖๕
เลื่อนใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มภาระแก่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน 
หลักสูตรอิงมาตรฐาน 
(Standards-based Curriculum) 

☞  กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน  

☞  เน้นเนื้อหา วัดคุณค่าผู้เรียนด้วยระบบคะแนน
หลักสูตรฐานสมรรถนะ 
(Competency-based Curriculum)

☞ ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมผู้เรียน โดยยึดความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้เป็นหลัก แล้วมุ่งพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างเหมาะสม  

☞ เน้นการสอนแบบบูรณาการ ไม่เน้นเนื้อหา ไม่ให้คุณค่า
กับระบบคะแนน
Image
https://moe360.blog/2021/08/13/competency-based-education/?fbclid=
IwAR09xUgkiivMtw1MGDwsyqqo4qqlHkxFt12hSXKr23JUjikmSbSbGXc9B3E

สมรรถนะหลัก (Core Competencies) ตาม (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๑. สมรรถนะการจัดการตนเอง 
คือ การรู้จักรัก เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น การพัฒนาปัญญาภายใน ตั้งเป้าหมายในชีวิตและกำกับตนเองในการเรียนรู้และใช้ชีวิต การจัดการอารมณ์และความเครียด รวมถึงการจัดการปัญหาและภาวะวิกฤต สามารถฟื้นคืนสู่สภาวะสมดุล (resilience) เพื่อไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายในชีวิต มีสุขภาวะที่ดีและมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี

๒. สมรรถนะการคิดขั้นสูง 
คือ สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณบนหลักเหตุผลอย่างรอบด้าน โดยใช้คุณธรรมกำกับการตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ มีความสามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ใช้จินตนาการและความรู้สร้างทางเลือกใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีเป้าหมาย

๓. สมรรถนะการสื่อสาร 
คือ มีความสามารถรับรู้ รับฟัง ตีความ และส่งสารด้วยภาษาต่าง ๆ ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาโดยใช้กระบวนการคิด ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ ความเข้าใจในระบบคุณค่า การแก้ปัญหาร่วมกันผ่านกลวิธีการสื่อสารอย่างฉลาดรู้ สร้างสรรค์ มีพลัง โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

๔. สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม 
คือ สามารถจัดระบบและกระบวนการทำงาน กิจการ และการประกอบการใด ๆ ทั้งของตนเองและร่วมกับผู้อื่น โดยใช้การรวมพลังทำงานเป็นทีม มีแผน ขั้นตอน ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย มีภาวะผู้นำ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการประสานความคิดเห็นที่แตกต่างสู่การตัดสินใจและแก้ปัญหาเป็นทีมอย่างรับผิดชอบร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและจัดการความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ที่ยุ่งยาก

๕. สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง 
คือ การปฏิบัติตนอย่างรับผิดชอบในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลกรู้เคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพในกฎกติกาและกฎหมาย มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีวิจารณญาณ อยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความหลากหลายเห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีบทบาทในการตัดสินใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยยึดมั่นในความเท่าเทียมเป็นธรรมค่านิยมประชาธิปไตย และสันติวิธี

๖. สมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน 
คือ มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลกและเอกภพ และความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติในชีวิตประจำวัน ใช้และรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี มีความอยากรู้ อยากเห็น ช่างสังเกต เห็นคุณค่า สามารถแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เพื่อการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://cbethailand.com
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน