เรียนรู้เมืองใหญ่
ดูกรุงเทพฯ ไซซ์จิ๋ว
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
วัสดุอะคริลิกที่ประกอบขึ้น
เป็นบ้านเมืองชวนตื่นตา
นับแต่ก้าวสู่ห้องจัดแสดงนิทรรศการ “หุ่นจำลองเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Model)” บนชั้น ๓ ของอาคารสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวชุมชนต่าง ๆ ทั้ง ๒๐ เขต ราว ๘๐ ตารางกิโลเมตร ก็กลายเป็นเรื่องง่ายและสนุกมากในเวลาเพียงชั่วโมง
ที่นี่ย่อส่วนกรุงเทพฯ ให้เหลือ ๑๐.๔๐x ๑๓.๘๐ เมตร ตั้งต้นจากพื้นที่ชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์-จุดเริ่มประวัติศาสตร์การตั้งเมืองหลวง แล้วแยกสองฝั่งพระนคร-ธนบุรีตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายวงจากชุมชนเมืองเก่าสู่ย่านเศรษฐกิจ ออกแบบให้แม่น้ำทำหน้าที่เป็นทางสัญจรแบบเดินเท้าชมเมืองไปในตัว มีเพียงแผงกั้นอะคริลิกใสหนา ๑๐ มิลลิเมตร ป้องกันความเสียหาย แต่ไม่กวนตา
จากจุดเริ่ม บนซ้ายคือจุดตัดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนบรมราชชนนี บนขวาคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ถนนวิภาวดีรังสิต ล่างซ้ายจบที่ถนนราชพฤกษ์ และล่างขวาจบที่วัดคลองเตยใน ละลานตาด้วยอาคารสำคัญและอาคารสูง ๕-๒๐ ชั้นขึ้นไป วัดวาอาราม โบราณสถาน ระบบขนส่งมวลชน และพื้นที่โล่ง
ความสนุกอยู่ตรงละเลียดหาสิ่งเคยคุ้นในแบบเล็กจ้อยตามย่านประวัติศาสตร์อย่างรัตนโกสินทร์ชั้นในที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างบางลำพู บ้านหม้อ สามแพร่ง วังหลัง ฯลฯ สำรวจโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีน้ำเงิน และส่วนต่อขยาย airport rail link รวมถึงพื้นที่ในอนาคตอย่างโรงงานมักกะสัน และโครงการต่าง ๆ ในย่านพัฒนาธุรกิจอย่างบางรัก สาทร ประตูน้ำ ฯลฯ
ยากจะยกวัตถุชิ้นใดโดดเด่นเมื่อคุณค่าอยู่ที่ “ขั้นตอนทำโมเดล”
เบื้องหลังความละเอียดลออเริ่มตั้งแต่งานถ่ายภาพมุมมองต่าง ๆ มาประกอบแผนที่ลายเส้นและแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศด้วยโปรแกรมเขียนแบบในคอมพิวเตอร์ แล้วย่อจากของจริงเหลือมาตราส่วน ๑ : ๗๕๐ วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้คืออะคริลิกและพีวีซี พวกอาคารทรงเรขาคณิตตัดด้วยเครื่องเลเซอร์ได้ แต่หากเป็นโบราณสถานหรืออาคารรูปทรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจะต้อง “ใช้มือประดิษฐ์” เท่านั้น สำคัญที่การตกแต่งลงสีพื้นและลวดลายหลังคาอาคาร มีทั้งใช้สีพ่นอุตสาหกรรมและสติกเกอร์โดยเทียบให้ใกล้สีอาคารจริงที่สุด หมายรวมถึงการจัดสวน ติดตั้งต้นไม้ สนามหญ้าก็ต้องใช้วัสดุเหมาะสม อาจเป็นใบไม้ประดิษฐ์ ลวดดัด หรือเม็ดโฟม แล้วเลียนสีธรรมชาติให้โมเดลดูมีชีวิตชีวา
ตามจริงนิทรรศการนี้เปิดให้ชมตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ครั้นปี ๒๕๕๙ ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมอาคารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เพื่ออัปเดตเมืองหลวงให้เป็นปัจจุบันที่สุดเพิ่งทำความสะอาดและซ่อมแซมอีกครั้งเมื่อปี ๒๕๖๓ เพื่อถนอมรักษาให้ของดีอยู่คู่ชาวกรุงไปนาน ๆ ความน่าสนใจอีกอย่างจึงอยู่ที่การออกแบบให้เมืองโมเดลนี้ตั้งอยู่บนฐานมากถึง ๕๖ ฐาน ซึ่งสามารถแยกเป็นแถวเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดกรุงเทพฯ ได้สะดวกและทั่วถึง
ที่ผ่านมาที่นี่มักต้อนรับคณะนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่สนใจศึกษาผังเมือง อนุรักษ์ปรับปรุงพื้นที่เมือง หรือชื่นชมการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ จากหย่อมชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ตึกรามบ้านช่องที่ค่อนข้างหนาแน่นในปัจจุบัน
แต่สำหรับคนทั่วไปที่อาศัยหรือทำงานในกรุงเทพฯ แค่ได้มองหาชุมชนที่ตนอยู่ในบรรยากาศใกล้เคียงของจริงมากก็สนุกแล้ว และถ้าตาดีก็อาจเห็นโมเดลบ้านตนเองด้วย !
ซุกอยู่มุมไหนของผังเมืองย่อส่วน...ต้องมาดู
สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
๔๔ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
ผู้สนใจต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าเพื่อเยี่ยมชมในวัน-เวลาราชการ
โทร. ๐-๒๓๕๔-๑๒๗๙