Image
“ยิ่งเรากระจาย
อำนาจได้มากเท่าไร 
การศึกษาไทย
จะยิ่งก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น”
รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี
Interview
สัมภาณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 
ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สองทศวรรษที่ผ่านมา ดูเหมือนคำว่า “ปฏิรูป” จะอยู่เคียงคู่กับคำว่า “ระบบการศึกษาไทย” ราวกับเป็นฉันทามติว่าหลักสูตรการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การปฏิรูปก็ กิ นเวลายาวนาน จนมีคำกล่าวเชิงประชดประชันถึง “อุตสาหกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ที่วนเวียนกลายเป็นแหล่งทำมาหาก ิ นของบุคลากรในวงการ และเป้าหมายก็ย้อนแย้งกับรัฐรวมศูนย์อำนาจที่ต้องการว่านักเรียนทั้งประเทศต้องเรียนอะไร
ระหว่างนั้นยอดภูเขาน้ำแข็งก็โผล่พ้นน้ำมาเรื่อยๆ เต็มโซเชียลมีเดีย การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ครูทำร้ายเด็ก ผู้ปกครองแจ้งความครู ปัญหาทรงผม เครื่องแบบ ฯลฯ

ตลอดปี ๒๕๖๓ ยังเก ิ ดความเคลื่อนไหวของนักเรียนระดับมัธยมฯ ที่ใช้ “โบสีขาว” เป็นสัญลักษณ์ หยิบยกปัญหามาปราศรัยบนเวทีการประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า 

ท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ เรื่องหนึ่งที่ดูจะเป็นความหวังคือ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ซึ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพนักเรียนเป็นรายบุคคลแทน ทั้งการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมือง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน ละทิ้งการวัดคนด้วยการท่องจำเนื้อหาและคะแนนสอบที่ใช้มานาน

ทว่าหลักสูตรใหม่ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มใช้ทั่วประเทศในปี ๒๕๖๕ กลับถูกชะลอไปแบบไร้กำหนด โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าให้ใช้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ต่อไป เพราะการใช้หลักสูตรใหม่นั้นจะ “เพิ่มภาระของครู ผู้ปกครองนักเรียนที่ต้องซื้อตำราใหม่” โดยให้เพิ่มการเรียนรู้แบบ active learning เสริมเข้าไปแทน (ไทยรัฐ ออนไลน์, ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

สารคดี สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร. อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทดลองแนวคิดใหม่เรื่องการจัดการการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ถึงมุมมองต่อ “การปฏิรูป” ระบบการศึกษาที่ควรจะเป็นในประเทศนี้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑
ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ แบ่งวิชาเป็นแปดกลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ เน้นภาคทฤษฎีแทบจะไม่มีภาคปฏิบัติ เน้นการท่องจำและวัดผลด้วยคะแนนสอบ  ในปี ๒๕๕๖ ลดเหลือหกกลุ่มสาระ  ในปี ๒๕๖๐ เริ่มปรับเป็นหลักสูตรโดยเรียกเป็นฐานสมรรถนะ ๑๐ ด้าน ก่อนจะลดเหลือ ๖ ด้านในปี ๒๕๖๒ 
การชะลอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งที่ทดลองใช้ไปแล้วในบางพื้นที่นำร่อง จะส่งผลอย่างไรกับการศึกษาของประเทศ
ความพยายามจะปรับหลักสูตรมาใช้ “ฐานสมรรถนะ” แก่นคือเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองการจัดการศึกษา แทนที่จะเอาวิชาเรียนเป็นตัวตั้ง ก็มองว่าเด็กคนหนึ่งจะได้รับการพัฒนาให้เกิดความสามารถอย่างไร มากกว่าเรื่องวิชาการคือทักษะที่ทำได้จริง  การปรับเปลี่ยนมุมมองนี้ย่อมทำให้เกิดแรงต้านจากคนที่ไม่เข้าใจ มองว่าจะทำให้เนื้อหาการเรียนลดลง เกิดอาการ “ห่วง” กลัวว่าเด็กจะไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ครบ ไม่ได้เรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ห่วงว่าความรู้จะบกพร่อง แต่พวกเขาลืมทำความเข้าใจว่า “ฐานสมรรถนะ” คือการสร้างความสามารถในการเรียนรู้ (how to learn)

ความรู้มีทั้งในตำรา โลกออนไลน์ ในสถานที่ที่ผู้เรียนไปขวนขวายหามาได้  สิ่งที่ครูต้องทำคือให้เครื่องมือผู้เรียน ทำให้นักเรียนเกิดความตั้งใจที่จะเรียน ถ้านักเรียนสนใจ ไม่ว่าความรู้จะอยู่ที่ไหน เขาย่อมจะตามหามาได้ นี่คือฐานคิดที่ต่างจากเดิม
หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum)
สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มร่างตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ และเป็นนโยบายเร่งด่วนในปี ๒๕๖๔ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันมีการประกาศใช้ในระดับประถมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนนำร่องแปดจังหวัด หลักสูตรนี้เน้นพัฒนาสมรรถนะหกด้าน คือ จัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, คิดขั้นสูงและการเรียนรู้, สื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและทำงานเป็นทีม, พลเมืองเข้มแข็ง และอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน  ตามกำหนดเดิม ปี ๒๕๖๕ จะเริ่มใช้ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีความพร้อม  ปี ๒๕๖๖ ใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม และปี ๒๕๖๗ จะใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 
ตอนนี้เรายังใช้หลักสูตรเดิมแล้วเอาของใหม่คือ active learning มาเติม แต่ผลก็ตกร่องเดิม เพราะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า active learning  สะดุดแค่ทำอย่างไรให้สนุกกับการเรียนในห้อง เลยให้นั่งเป็นวงกลม ให้ได้แสดงออก แต่การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้  เรากำลังเผชิญกับ “พรรคข้าราชการ” ที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ทำแบบนี้การศึกษาไทยจะยิ่งอ่อนแอ

ต้องไม่ลืมว่าโลกเปลี่ยนทุกวัน ถ้าไม่ทำอะไรเลยเราไม่แค่อยู่กับที่ แต่จะถอยหลังด้วย
active learning
กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญา (constructivism) เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหา ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงและสร้างความรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อหรือกิจกรรมที่มีครูเป็นผู้แนะนำโดยมีหลากหลายเทคนิค
Image
ปัญหาในการเปลี่ยนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ผมมองว่ากระทรวงศึกษาธิการเน้นการปรับปรุงตัวหลักสูตรมากไปและไม่ตอบโจทย์ของสังคมไทย การปฏิรูปการศึกษาทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม  การลองของใหม่ต้องเสี่ยงกับผลผลิตพอควร ต้องอาศัยงานวิจัยจำนวนมาก ต้องรื้อ ต้องใช้จินตนาการมองไปข้างหน้า เพราะนี่คือพื้นฐานการสร้างคนและสร้างประเทศ เหมือนประโยคที่ว่า “จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน”

หัวใจของการปรับเปลี่ยนคือกระบวนการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ  การเรียนการสอนที่ผ่านมาเน้นท่องจำ ลงโทษ วางกฎระเบียบ ทำให้เด็กไม่มีความสุข เบื่อ เกิดปัญหาระหว่างโรงเรียนกับนักเรียน  ที่ผ่านมาไม่เคยมีการแก้ปัญหาเชิงระบบความจริงเวลาพูดถึงโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีมากกว่าแค่หลักสูตร หรือห้องเรียน  ถ้าเราสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้” ที่เคารพในตัวเด็กได้ คนในระบบการศึกษาจะมีความสุขและมีความเชื่อมโยงที่ดีขึ้น

การจะได้ระบบนี้มาต้องเปลี่ยนตั้งแต่หลักคิดพื้นฐาน เริ่มจากโรงเรียนต้องมีเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนที่ชัดเจน ที่เรียกว่า DOE (desire outcome of education) ผลลัพธ์ในตัวผู้เรียนที่เราต้องการ  การเรียน ม. ๑-๖ เราอยากได้คนแบบไหน โรงเรียนแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่กระทรวงกลับเน้นที่การเปลี่ยนตัวหลักสูตรอย่างเดียว

ตอนแรกคนที่คิดหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ได้ตั้งใจว่าต้องสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนแบบเดียวกันทั่วประเทศ แต่ตอนปรับปรุงหลักสูตรเก่า (หลักสูตรแกนกลางของ สพฐ.) ทำไปทำมาก็ติดกับดักเดิม อดคิดแทนโรงเรียนไม่ได้ ใส่ความตั้งใจดีลงไปมากมาย
ผมไม่ได้บอกว่าต้องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะมาแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่กำลังบอกว่าจริง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ หลักสูตรเป็นแค่ส่วนหนึ่ง

ที่สำคัญคือเรามี “พื้นที่ปลอดภัย” ในโรงเรียนหรือไม่ ทุกวันนี้ไม่มี  โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ครูไล่ตัดผมเด็ก เข้มงวดกับเครื่องแบบ ในนามของความหวังดี คิดแทนจากมุมมองของตนเอง แต่เด็กไม่รู้สึกแบบนั้นและไม่มีโอกาสเป็นตัวเอง เราติดกับกระพี้  โรงเรียนสาธิต มธ. ที่ผมกับทีมงานสร้างจึงยกเลิกการบังคับการใส่เครื่องแบบ ไม่บังคับทรงผม เด็กย้อมผมกันสนุกสนาน เป็นตัวของตัวเอง โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะไม่ไปคุกคามเขา  ผลคือเมื่อมีปัญหาเขาจะเดินมาคุยกับครู ไม่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ความมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้ดีขึ้น

การชะลอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานคิดเก่า อีกส่วนหนึ่งอาจมีเรื่องผลประโยชน์จากการผลิตตำราเรียนที่มีเม็ดเงินมหาศาลซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่  ลองคิดดูว่าเมื่อโรงเรียนทุกแห่งไม่ต้องพึ่งพิงตำราเรียนมาตรฐานที่ผูกขาดตลาดหนังสือเรียนมานานจะเกิดอะไรขึ้น ผมพูดมากกว่านี้ไม่ได้
ถ้าเช่นนั้นอาจารย์มองว่าหลักคิดสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคืออะไร
หนึ่ง เรื่องมาตรฐานเดียวกันในโรงเรียน ๔ หมื่นแห่งทั่วประเทศไม่จำเป็นอีกต่อไป โรงเรียนแต่ละแห่งต้องชัดเจนว่าอยากสร้างนักเรียนแบบไหน หาโจทย์ของตัวเองให้เจอ เดินในแนวทางของตัวเอง เช่น เลือกพัฒนากีฬา  สิ่งนี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมของโรงเรียนที่ต้องมีศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

สอง โรงเรียนต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าสิ่งที่หายไปในระบบการศึกษาตอนนี้คืออะไร  ที่ผ่านมาโรงเรียนมักเอาวิชาการเป็นตัวตั้ง จึงเกิดแรงกดดันและการแข่งขันสูงมาก สร้างสภาพคล้ายพีระมิด หาผู้ชนะจำนวนน้อยนิดมาเชิดชู  ทุกภาคส่วนจึงไม่มีความสุข ผู้ปกครอง เด็ก ครู มีปัญหากันหมด

สาม คนที่ดูนโยบาย ผู้บริหารโรงเรียน ต้องเข้าใจว่าเด็กรุ่นนี้มีวิธีเรียนรู้ต่างจากเด็กรุ่นก่อนอย่างมีนัยสำคัญ เขาเติบโตมาพร้อมข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี จินตนาการ  มีความคาดหวังเรื่องอนาคตและความสำเร็จในชีวิตไม่เหมือนคนรุ่นก่อน เขาต้องมีทักษะมากกว่าเรื่องเดียว นายจ้างก็อาจไม่ได้ต้องการเด็กที่ผลการเรียนดีเยี่ยมอีกต่อไป เรื่องพวกนี้ต้องใส่ในสมการการเรียนการสอนทั้งหมด

สี่ วิธีเรียนแบบเดิมเน้น time base เรียนไปจนครบ ๑๒ ปี
ถึงจบการศึกษา แต่วิธีคิดใหม่ ระยะเวลาในการเรียนและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน  การบังคับให้เด็กทุกคนต้องอยู่ในระดับเดียวกันหมดแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว
ที่สำคัญคือจะสร้างหลักสูตรอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้เฉพาะตัว (personalized learning) และมากกว่านั้นคือการจัดการกระบวนการเรียนรู้  เดิมครูมักยึดตำราเล่มหนึ่งแล้วสอนไปเรื่อย ๆ แต่ต่อไปต้องออกแบบวิธีการเรียนใหม่ หาทางทำอย่างไรให้คนเรียนรู้สึก “ว้าว”  ว้าวกับตัวเองนะ ไม่ใช่ว้าวว่าครูเก่ง  ครูเก่งไม่ได้หมายความว่าเด็กเก่งด้วยอัตโนมัติ

ในอนาคตสถาบันผลิตครูต้องผลิตครูที่เข้าใจระบบนี้ อาชีพครูต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ความสามารถที่ครูต้องมีคือการประเมินผล เพราะในการเรียน ไม่ว่าเราจะใส่กิจกรรมหรือวิธีการใหม่เข้าไปในกระบวนการสอนมากแค่ไหน แต่ถ้าวัดพัฒนาการผู้เรียนไม่ได้ก็ไม่ตอบโจทย์ เรื่องนี้สำคัญมาก

ระบบการศึกษาที่เอาวิชาการเป็นตัวตั้งจะวัดผลด้วยคะแนนแต่การวัดแบบใหม่ต้องประเมินจากศักยภาพ ความสามารถของเด็ก จากนั้นจึงต่อยอดและพัฒนาเขาขึ้นไป เด็กแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน วิธีวัดผลจึงซับซ้อนพอสมควร

คำถามคือสังคมไทยกล้าที่จะเปลี่ยนตรงนี้หรือไม่ ผมมองว่าต้องเริ่ม แม้จะมีข้อจำกัด  เราผลิตเด็กในหลักสูตรใหม่ออกจากโรงเรียนมาเจอกับระบบมหาวิทยาลัยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง  นี่ก็เป็นอีกคำถามว่าเด็กจะทำอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าถ้าเด็กมีภาวะผู้นำเพียงพอ ค้นพบตัวเอง เขาจะปรับตัวในโลกแบบนี้และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
บทบาทของครูจะเปลี่ยนไปทั้งหมด
ศาสตร์และความรู้ในยุคปัจจุบันและอนาคตจะเปลี่ยนไป จำเป็นต้องให้ได้เรียนบางเรื่องเร็วขึ้น เช่น ทักษะผู้ประกอบการความรู้เรื่องภาษีอากร ทักษะการเงิน  เราพบว่าครูปัจจุบันมีความสามารถไม่เพียงพอจะสอนเรื่องเหล่านี้ นักเรียนต้องการเรียนจากผู้มีประสบการณ์จริง

คำถามคือเราจะผลิตครูผู้สอนแบบไหนในสภาวะนี้ ตอนนี้จึงเกิดศัพท์ใหม่ “ครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง” “ครูผู้สร้างการเรียนรู้”  ครูไม่จำเป็นต้องสอน แต่เป็นผู้จัดการโครงการ (project manager) เชื่อมองค์ความรู้จากภายนอกเข้ามาให้นักเรียน แต่ระบบการเรียนการสอนปัจจุบันยังไม่เอื้อ
คนที่เรียนเป็นครูส่วนมากมีความสามารถพอควร แต่พอเข้าไปในระบบการเรียนครูแบบเก่าก็ถูกผลิตมาแบบเดิม ไม่ตอบโจทย์ และเมื่อมาเป็นครูจริง ๆ พวกเขาก็ต้องพบกับความพะรุงพะรังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ มาตรฐานวิชาชีพ จึงเกิดข้อจำกัด  สถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรครูก็ปรับตัวได้ยาก
ระบบผลิตครูจะคิดแบบเดิมไม่ได้ ถ้าหลักสูตรการผลิตครูดี เราจะพัฒนาคนที่เรียนครูไปจนถึงแก่น ซึ่งจะช่วยเรื่องระบบการศึกษาได้อย่างมาก

ที่ผมพูดมาทั้งหลักคิดและหลายสิ่งหลายอย่างคือเรื่องที่เราต้องทลายกรอบการเรียนการสอนแบบเดิมให้ได้
ไม่ว่าจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะหรือกระทั่งสร้างระบบนิเวศการศึกษาใหม่ สิ่งหนึ่งที่ทุกโรงเรียนมีไม่เท่ากันคือ “ทรัพยากร” อาจารย์มองปัญหานี้อย่างไร
ในแง่ทรัพยากรที่ไม่มีวันเพียงพอกับความต้องการ อาจเป็นประเด็นบ้าง แต่ละโรงเรียนก็มีข้อจำกัดของตัวเอง ยากง่ายต่างกันในการปรับเปลี่ยน แต่สิ่งที่ต้องทำก่อนคือเปลี่ยนฐานคิด เชื่อมั่นในตัวผู้เรียน เริ่มจากจุดแข็งของโรงเรียนแล้วพัฒนาต่อไป

สมมุติโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่ห่างไกล ถ้าเขาอยากทำแบบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ ย่อมทำไม่ได้แต่คำถามคือต้องเหมือนเตรียมอุดมฯ ด้วยหรือ  โรงเรียนต้องหาให้ได้ว่าอยากจะทำอะไร แต่จะคิดโดยลำพังไม่ได้หรืออาจยังไม่กล้า ผู้ปกครองส่วนมากยังไม่เข้าใจ ผู้บริหารระดับนโยบายไม่ให้อิสระ ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน ไม่ปล่อยให้โรงเรียนดำเนินการโดยลำพัง
Image
การก่อตั้งโรงเรียนสาธิต มธ. กับคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ สะท้อนการทลายกรอบเดิมอย่างไรบ้าง
แปดปีที่แล้ว (ปี ๒๕๕๗) ในฐานะศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ ผมมาช่วยงาน มธ. เรื่องวิชาการ ตอนนั้นมีความต้องการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์และโรงเรียนสาธิต ผมเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ จึงเริ่มศึกษาแนวทาง วางแนวคิด ก็ได้เห็นจุดอ่อนระบบการศึกษาบ้านเรามากขึ้น และเห็นโอกาสทำสิ่งใหม่ ไม่ต้องการซ้ำวงจรเดิมในการผลิตบัณฑิตศึกษาศาสตร์ ซึ่งตอนนี้ทั้งประเทศผลิตปีละ ๔ หมื่นคน แต่มากกว่าครึ่งที่เรียนจบไม่ได้ทำงานเป็นครู

ผมเสนอว่าต้องทำสิ่งใหม่เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา เราพบคำว่า learning science เป็นที่มาของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คำนี้พูดถึงกระบวนการ ถามว่ามนุษย์เติบโต เรียนรู้ มีพัฒนาการอย่างไร ซึ่งกว้างกว่าเรื่องการผลิตครู

หลังคณะเริ่มเดินไปได้ งานที่ ๒ คือตั้งโรงเรียนสาธิต เราพบว่าโมเดลเดิมคือสร้างโรงเรียนผลิตเด็กเก่งทางวิชาการ เป็นอีลิต เป็นแนวหน้า  ข้อดีของ “โรงเรียนสาธิต” คือสร้างสรรค์ของใหม่ได้ในนาม “สาธิต” สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรายึดหลักการว่าต้องแหวกกรอบเดิม เราไม่ต้องการทำโรงเรียนสำหรับอีลิตอีกแห่ง แต่ทำให้การเรียนคือการพัฒนาคนอย่างแท้จริง จึงมีการระดมความคิดเห็น ศึกษาหลักสูตรที่มีในประเทศและต่างประเทศใส่อุดมคติที่การศึกษาพึงมีลงไป ทำหลักสูตรในแบบของเราเอง

โจทย์คือทำไมไทยจะมีโรงเรียนดี ๆ เทียบเท่ากับโรงเรียนนานาชาติไม่ได้ ซึ่งส่วนมากก็ซื้อแฟรนไชส์มา เอาฝรั่งมาบริหารครูคนไทยไปแจกชีต  เราอยากให้มีโรงเรียนของคนไทยโดยคนไทย เพื่อคนไทย ระหว่างนี้ก็ยังสามารถค้นหาและสร้างนวัตกรรมที่จะใช้เพื่อทำงานกับโรงเรียนอื่น ๆ ในประเทศ โรงเรียนอื่นเขาอาจยังไม่กล้า แต่เราทำให้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงได้
เป้าหมายการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนสาธิต มธ. คืออะไร
การสร้างคนในอนาคตต้องระบุว่าเขาทำอะไรได้บ้าง มีภาวะผู้นำหรือไม่ ทำงานเป็นทีมได้หรือไม่ คิดเป็นระบบหรือไม่ ในภาษาทั่วไปคือคำถามที่ว่า สมรรถนะของเด็กคนหนึ่งแต่ละช่วงชั้นเรียนคืออะไร  สาธิต มธ. จึงกำหนดเป้าหมายว่าอยากสร้างพลเมืองไทย พลเมืองโลก มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ทำงานเป็นทีมได้
สาธิต มธ.
โรงเรียนสาธิตภายใต้การดำเนินการของคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ. เปิดสอนในระดับมัธยมฯ ต้น และมัธยมฯ ปลายตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยใช้หลักสูตรที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด และมุ่งสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี 
ดีเอ็นเออีกตัวหนึ่งคือมุ่งสร้างคนที่อยู่กับคนอื่นบนความแตกต่างได้ เด็กจบที่นี่อย่างน้อยจะเข้าใจคนอื่น ไม่ใช่เห็นใจสงสาร แต่เข้าใจว่าทำไมสีผิวคนเราถึงต่างกัน รสนิยมทำไมต่างกัน ยอมรับความแตกต่าง ไม่ได้ยกย่องเพื่อน เพราะเพื่อนเรียนดี แต่ชื่นชมว่าทุกคนมีทางเดินของตัวเอง ทั้งหมดนี้ก็แย้งกับค่านิยมของคนในสังคมไทย

สิ่งที่โรงเรียนสาธิต มธ. ทำอาจยังไม่สมบูรณ์ แต่เพราะเราเห็นปัญหาของระบบเก่า เปิดสอนปีแรกก็เกิดดรามา มีข้อวิจารณ์ว่าเราไม่บังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนและอื่น ๆ หลายประการ  แต่ทว่าข้อดีท่ามกลางเรื่องที่ถาโถมเข้ามา คือเราทบทวนว่าทำอะไร เราชัดเจนและลงลึกมากขึ้น 
ช่วยขยายความที่ว่าคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ของ มธ. ไม่ได้ผลิตครู
หน้าที่ของคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ คือสร้างความรู้ว่าด้วยการศึกษา คำว่า education ตอนนี้แคบไป เราพยายามขยับออกไปสร้างบัณฑิตที่ชำนาญมากกว่าการทำหน้าที่ครู  เราไม่ได้สร้าง “ศึกษาศาสตรบัณฑิต” เราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการศึกษา ความสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่หลักสูตรผลิตครูยุคปัจจุบันไม่ค่อยให้ความสำคัญ จึงเป็น “ศิลปศาสตรบัณฑิต”
ตอนนี้มีบัณฑิตจบจากคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ แล้วสามรุ่นจากการสำรวจพบว่าได้งานทำเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับคณะอื่น ๆ ใน มธ.  ส่วนมากได้ไปทำงานด้านการศึกษา ทำงานกับสถานประกอบการ  ที่น่าสนใจคือไปเปิดตำแหน่งใหม่ในหน่วยงาน เช่น Learning Designer (ผู้ออกแบบการเรียนรู้) เพราะปัจจุบันภาคเอกชนเองก็ต้องการนักสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มากกว่าฝ่ายบุคคล (HR) แล้ว
Image
ได้ยินว่านักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ได้เรียนรู้ในพื้นที่จริงก่อนจะมาเรียนทฤษฎีในห้องเรียน
เราส่งเด็กไปลงชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง ฯลฯ  มนุษย์ต้องเรียนจากความจริง แล้วนำมาสนทนากับทฤษฎี  ปัจจุบันสอนโดยเอาทฤษฎีเป็นตัวตั้งครอบงำการศึกษา แต่เราเชื่อว่าการได้เห็นสถานการณ์จริงก่อน ผลจะออกมาอีกแบบหนึ่ง ปรากฏการณ์จะได้รับการยกระดับเป็นองค์ความรู้ เกิดความเข้าใจใหม่

ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะทะลุกรอบเดิมไม่ได้ อย่าลืมว่าทฤษฎีตกยุคตกสมัยได้ เราจึงให้เขานำความจริงมาสนทนากับทฤษฎี ได้ผลดีมาก การเรียนทฤษฎีในห้องเรียนมีความหมายมากขึ้น พวกเขาไม่ท่องจำ และตั้งคำถามกับทฤษฎีด้วยซ้ำ

ระบบมหาวิทยาลัยเองก็ต้องเปลี่ยน ที่ผ่านมายังติดเรื่องการบรรยายในห้องเรียนเป็นหลัก องค์ความรู้ส่วนมากที่ล้าสมัยก็ต้องสลัดทิ้ง แต่มหาวิทยาลัยจะปรับตัวได้ช้าที่สุด อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคต่อไปต้องสร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆฝึกฝนวิธีการจัดการเรียนรู้ สนับสนุน ส่งเสริม เชื่อมโยงห้องเรียนกับความรู้นอกมหาวิทยาลัย การเปิด PowerPoint บรรยายอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว
วิธีคิดอนุรักษนิยมที่ยังคงมีอิทธิพล จะกลายเป็นจุดตายในการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่
ต้องมี “จุดเริ่ม” ต้องลงมือ ต้องมีความหวัง ที่ผ่านมาผมทำ “โครงการก่อการครู” เพราะเชื่อว่ากุญแจดอกสำคัญคือครูในระบบโรงเรียน มีครูจำนวนมากที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ถูกทับถมด้วยการสั่งงานแบบราชการ มีภาระงานและงานเอกสารเต็มไปหมด ทำให้ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีซึ่งจะนำไปสู่การประเมินผลที่ดี
โครงการ “ก่อการครู”
เกิดขึ้นจากบทสนทนากับเครือข่ายพันธมิตรในช่วงก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ. มุ่งปฏิรูปการศึกษาผ่านตัวครูในระบบ ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ พยายามให้ครูเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง (change agent) สร้างชุมชนการเรียนรู้ (ออนไลน์) อบรมครูด้วยกระบวนการใหม่ที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำครูที่สนใจมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน เช่น ครูคือมนุษย์ (แบ่งปันประสบการณ์ที่ต้องเผชิญ เชื่อมต่อกับคุณค่าดั้งเดิมของอาชีพครู ฝึกการรับฟังเด็ก), เปิดวิชาให้ครูสนใจลงเรียนประมาณ ๑๐ วิชา (เช่น ออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้), ครูปล่อยแสง (งานประชุมที่ให้ครูถ่ายทอดตัวอย่างดี ๆ ที่ได้ทำในโรงเรียน)  โครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคเอกชน ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๕) ดำเนินงานมาเป็นปีที่ ๔  มีผู้เข้าร่วมรุ่นละประมาณ ๘๐ คน
ผู้นำประเทศชอบพูดว่ามหาวิทยาลัยควรผลิตบัณฑิตตอบสนองตลาดแรงงาน
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความต้องการของประเทศที่แท้จริง อาชีพไหนเป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง  ในระดับผู้กำหนดนโยบายที่วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมหลักของประเทศคืออะไร ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบใด อาจไม่ยุติธรรมเท่าใดนักที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแนวทางที่ผู้กำหนดนโยบายคิดประเทศควรมีแค่อุตสาหกรรมสำคัญ ๑๐ อย่างหรือไม่ หรือควรจะต้องมีหลากหลายกว่านั้น เราควร“สร้างคนไปสร้างงาน” มากกว่า “เอางานมาสร้างคน” มิใช่หรือ

วิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายยังคงคิดแบบรวมศูนย์ มองว่าทั้งประเทศและสังคมเป็นแท่งแท่งหนึ่ง ไม่ได้มองในมุมกว้างแน่นอนว่าเราต้องผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง  แต่ถ้าเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันจะพบว่า คนเรียนแพทย์ต้องไม่รู้เรื่องการรักษาคนเพียงอย่างเดียว ต้องรู้เรื่องธุรกิจ การบริหารโรงพยาบาล หรืออาจต้องเป็นยูทูบเบอร์ด้วย เรื่องเหล่านี้ใช้องค์ความรู้ที่แตกต่างกัน

ที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามของสถาบันผลิตหมออย่างโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่พยายามรับนักศึกษาจบจากต่างแผนการเรียนมาเข้าเรียนแพทย์ เขามองเห็นว่าระบบที่เป็นอยู่มานานปรับตัวช้าไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันแล้ว
Image
อาจารย์กำลังชี้ว่าการ “กระจายอำนาจ” มีส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา
จุดวิกฤตที่สุดตอนนี้คือระบบวิธีคิดการบริหารแบบรวมศูนย์ของรัฐ การตัดสินใจจากส่วนกลาง  เรื่องนี้คืออุปสรรคที่ทำให้การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของไทยทำได้ยาก
ผมแอบคิดด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไรให้การกระจายอำนาจลงไปถึงระดับล่างของสังคมได้มากที่สุด ยิ่งกระจายอำนาจได้มากเท่าไร การศึกษาไทยจะยิ่งก้าวหน้าเท่านั้น
ตอนนี้เรามองว่าโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง กทม. อาจมีศักยภาพและปรับตัวได้เร็วกว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพราะมีงบประมาณและทรัพยากรมากกว่า คล่องตัวกว่า คล้ายโรงเรียนเอกชน  โรงเรียนเหล่านี้สามารถปลดล็อกเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ อย่าไปบังคับเด็กได้ไหม ใครอยากใส่ก็ใส่ ไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องบังคับ เพราะมีเด็กยากจนมากมายใน กทม. ถ้าเด็กอยากแต่งตามเพศสภาพก็อนุญาตได้หรือไม่ ข้าราชการ กทม. ก็ทำได้แล้ว พยายามทำให้ ๔๐๐ โรงเรียนของ กทม. เติบโตในแบบของตัวเอง ไม่ต้องไปแข่งกับโรงเรียนดัง

กทม. คือแหล่งเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการมาก เราใช้ศักยภาพตรงนี้มาพัฒนาทักษะอาชีพได้หรือไม่
ข้อเสนอแนะสำหรับโรงเรียนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองในภาวะปัจจุบัน
กล้าที่จะตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความจริง ไม่เอาปัญหาซุกไว้ใต้พรม  ถ้ายอมรับได้ว่าตอนนี้เด็กจำนวนมากเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถมาเรียนได้เต็มตามศักยภาพ มีการกลั่นแกล้งกัน มีปัญหาความปลอดภัย ความสามารถของครูมีจำกัด ถ้ายอมรับก็จะเริ่มต้นได้

การยอมรับปัญหามิใช่เพื่อประเมินหรือตัดสินบุคลากร แต่เพื่อเริ่มทบทวนและมองไปข้างหน้าว่าจะเดินต่ออย่างไร จากนั้นเริ่มแก้จากเรื่องพื้นฐานก่อน แต่ถ้ายังแก้ปัญหาแต่ระดับเปลือก เช่น กรณีครูทำร้ายเด็ก ก็ลงโทษแล้วจบ ไม่ได้ลงถึงรากของปัญหา ระบบก็ยังเป็นแบบเดิม ไม่นานครูจำนวนมากจะทยอยออกจากระบบ เพราะทนภาวะนี้ไม่ไหว โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ ๆ
กรณีโรงเรียนขนาดเล็ก ผมเสนอว่าเริ่มจากปรับวิธีคิด ถ้าทำพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนมากขึ้น แค่นี้ก็ถือว่าการเปลี่ยนแปลงสำเร็จไปแล้วหลายส่วน