Image
ไตรพัฒน์
ชุมชนแห่งการเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์
ให้เติบใหญ่เป็นต้นไม้ในแบบตนเอง
SCOOP
เรื่องและภาพ : สิรามล ตันศิริ
“ปักดำกล้าข้าวใบเขียว
สองมือเกาะเกี่ยวปรารถนา
มือหนึ่งอุ้มติดกายา
มือหนึ่งกดกล้าลงดิน”

เสียงร้องเพลงเพื่อเตรียมลงแปลงนาเคล้าเสียงหัวเราะมาพร้อมกับจังหวะตบตัก ปรบมือ ดังขึ้นในห้องเรียนที่ผนังสีโทนแดงอ่อนเจือสีเหลืองแสนอบอุ่น

เสียงเพลงและจังหวะที่สอดแทรกไปกับการเรียนรู้คือหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนไตรพัฒน์ อำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี  มีสนามหญ้ากว้างราวกับจะบอกว่าที่นี่เป็นสนามทดลองที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ต่อเติมประสบการณ์ของตัวเอง

โรงเรียนไตรพัฒน์จัดการศึกษาในแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ ตามหลักมนุษยปรัชญา มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ทั้งทางด้านกาย ใจ จิตวิญญาณ พัฒนาขึ้นโดย รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรีย ที่เชื่อว่าการศึกษาต้องช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี สามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตน

“เพราะเชื่อว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกล หรือมีแค่ร่างกายเท่านั้น”
Image
ที่นี่จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ “ความดี ความงาม ความจริง” บนโลกใบนี้และตั้งอยู่บนพัฒนาการของเด็กตามสภาวะสำนึกที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย คือ ช่วงวัยแรกเกิด-๗ ปี ที่เด็ก ๆ จะมีความมุ่งมั่น (willing) ในการเรียนรู้ ขยับไปเป็นการใช้ความรู้สึก (feeling) ในช่วงวัย ๗-๑๔ ปี และก้าวต่อไปยังการใช้ความคิด (thinking) ในช่วงวัย ๑๔-๒๑ ปี เพื่อให้ทุกเมล็ดพันธุ์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งส่วนราก ลำต้น ใบ และเลือกได้ว่าจะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ในแบบตนเองอย่างไร
“ราก” : ความมั่นใจในตนเอง เกิดจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
“เด็กเล็กมีพลังเยอะมาก ต้องการเคลื่อนไหวและลงมือทำตลอดเวลา” ครูจาว-วัชราวรรณ เพชรบูล แม่ครูของห้องอนุบาลเล่าให้ฟังถึงเหตุผลเบื้องหลังของการจัดกิจกรรมให้เด็กเล่นอย่างอิสระ ด้วยของเล่นตามธรรมชาติที่ไม่จำกัดรูปแบบการเล่น เด็ก ๆ สามารถใช้จินตนาการเชื่อมโยง ลงมือทำตามที่เขาตัดสินใจเอง ครูจะไม่บังคับ ไม่ชี้นำ ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านการเล่นไปด้วยกัน เพียงมีข้อตกลงว่าจะไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ เพื่อนบาดเจ็บ และของไม่เสียหาย

“เด็กในวัยนี้เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบและทำซ้ำ” 

ในแต่ละวันจึงมีกิจกรรมหลักที่ลำดับกิจวัตรเหมือนเดิม มีกิจกรรมประจำทุกสัปดาห์ ไล่เรียงไปตั้งแต่ระบายสี ทำขนมปัง ทำหัตถกรรม ปั้นขี้ผึ้ง และทำความสะอาดของเล่นตามลำดับ สาเหตุที่ต้องเป็นแบบแผน มีจังหวะ (rhythm) ที่ชัดเจน ครูจาวบอกว่า “ช่วยให้เด็กรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ชีวิตต้องดำเนินไปอย่างไร เป็นการสร้างความมั่นคงในจิตใจ การเรียนรู้ผ่านการลงมือ เป็นรากของความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเอง”

ครูจาวเชื่อว่าเด็กทุกคนมีจินตนาการ และสามารถสนับสนุนให้จินตนาการของเขาไปได้ไกลขึ้นด้วยการเล่านิทานให้ฟัง ไม่ต้องเล่าให้ตื่นเต้น ไม่เน้นความบันเทิง แต่ครูต้องเข้าใจความหมายและจดจำนิทานได้ แล้วเล่าตามภาพในใจของครู เพื่อให้เด็ก ๆ ฝึกการสร้างภาพในใจไปพร้อมกัน เด็กจะค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพด้วยตนเอง ดังนั้นในวัยนี้ครูจะงดการใช้สื่อจากโทรศัพท์หรือภาพยนตร์ ที่อาจชี้นำและจำกัดกรอบจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของเด็ก ๆ
เปรม ขวัญ ครีม กัปตัน 
เมล็ดพันธุ์ที่กำลังเติบโต

Image
Image
ครูจาว ครูเษม ครูเมิฟ 
ทีมนักบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์

“ต้น” แบบ : ครูและเด็กที่ต้องการ คือคนที่ผิดพลาดได้
ภาพคุ้นเคยก่อนจะเริ่มคาบเรียนของแต่ละคนเป็นแบบไหน ? การฟังครูพูดกึ่งบ่นหน้าเสาธง คาบโฮมรูมที่ครูเช็กชื่อนักเรียน หรือการเดินอ้อยอิ่งเพื่อรอออด

สัญญาณให้เข้าเรียนคาบแรกดังสำหรับไตรพัฒน์ ภาพที่เห็นคือเด็ก ๆ สวมชุดไปรเวตยืนล้อมกันเป็นวงกลมบนสนามหญ้า โยนถุงถั่วส่งต่อไปให้เพื่อนและครูรับ เสียงหัวเราะเพิ่มระดับความดังตามจำนวนถุงถั่วที่ถูกโยนขึ้นกลางวง จากหนึ่งเป็นสองถุง และภาพจากฝั่งสนามบาสเกตบอลที่ครูจับคู่กับตัวแทนเด็ก ๆ ยืนแกว่งเชือกกระโดดหมุนเป็นวง แล้วให้เด็กคนอื่น ๆ ต่อแถวเรียงเดี่ยววิ่งกึ่งกระโดดเข้ามาในวงเชือกตามจังหวะเสียงเพลง หรือภาพเด็ก ๆ ต่อแถวตอนเรียงเดี่ยวสวมหมวก ใส่รองเท้าบูต และอยู่ในชุดพร้อมเลอะ เพื่อตรงไปที่แปลงนาในยามแดดอ่อน

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นชวนให้เด็ก ๆ ได้ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้ตื่นตัวพร้อมเรียนรู้ เป็นประตูบานแรกสู่การเรียนรู้ในห้องเรียนตลอดวันที่เริ่มต้นด้วยอารมณ์เชิงบวก  ส่วนเนื้อหาวิชาการจะเน้นให้เด็กลงมือทำ สอดรับกับการนำมาใช้ในชีวิตจริงและสอดคล้องกับความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เอื้อให้เกิดประสบการณ์ตรง จนเห็นภาพและเข้าใจมากกว่าการท่องจำ

“เด็ก ๆ ในวัย ๗-๑๔ ปี ได้เล่นอิสระเพื่อฝึกทักษะทางสังคมได้เรียนรู้ศิลปะ ทั้งปั้น ระบายสี ร้องเพลงเล่นดนตรี และวิชาหลักที่จะค่อย ๆ ปูพื้นฐานไต่ระดับความท้าทายขึ้นไปตามช่วงวัย” 

ครูเมิฟ-อมานัต จันทรวิโรจน์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า วิชาดนตรีเริ่มจากการเป่าขลุ่ยในระดับชั้น ป. ๑ เพิ่มระดับความท้าทายไปที่ไวโอลิน เชลโล ในระดับชั้น ป. ๓ และตั้งวงออร์เคสตราของแต่ละห้อง ในระดับชั้น ป. ๕

ส่วนวิชาภูมิศาสตร์ที่เริ่มเรียนตอนระดับชั้น ป. ๔ จะเริ่มจากศึกษาสภาพแวดล้อมรอบโรงเรียน ชุมชนใกล้เคียง ปทุมธานีไปยังกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่ออกไปเป็นประเทศ ภูมิภาค ทวีป และรอบโลกในระดับชั้นม. ๒ เป็นต้น

“เด็กไม่ได้แค่เรียนวิชาการจากครู แต่ยังได้เรียนรู้บุคลิกของครูแต่ละคนด้วย” 

ฟังแบบนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่าครูจะเครียดไหมนะ ครูจาวเลยเฉลยว่า “เด็กไม่ได้ต้องการครูที่สมบูรณ์แบบเขาต้องการครูที่เป็นมนุษย์ ครูที่ผิดพลาดได้”

เช่นกันกับครูที่มองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก อย่างที่ครูเมิฟบอกว่า “The child is the book” มีหลายอย่างที่เราเรียนรู้จากเด็ก ๆ ได้ เมื่อครูมองเห็นความสำคัญของเด็กเป็นอันดับแรก มองเห็นความเป็นมนุษย์ที่มีเส้นทางชีวิตของตนเอง เข้าใจในความแตกต่างของเด็ก และเปิดใจรับฟังโดยไม่ด่วนตัดสิน
เด็ก ๆ ป. ๓ กับคาบเรียนดำนาในวันแดดอ่อน
Image
Image
“ใบ” เบิกทาง : สู่ความเป็นมนุษย์ 
และตำแหน่งแห่งตนบนโลกใบนี้

“ในเด็กวัยรุ่นที่อารมณ์กำลังคุกรุ่น ต้องชวนเด็กทำงานกับความเป็นมนุษย์ อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง” 

ครูเมิฟยกตัวอย่างกิจกรรมที่ชวนเด็กทำงาน เช่น ค่ายเรือใบในระดับชั้น ม. ๒ ที่ชวนให้ทุกคนเผชิญความเสี่ยงด้วยการกางเรือใบกลางทะเล  วิชาวรรณกรรม ที่ได้อ่าน บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ หรือ โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวลเพื่อให้เด็กได้สังเกตสิ่งอื่นที่กว้างกว่าการหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง นอกจากนั้นยังมีการทำละคร พื้นที่ที่ให้เด็กลองเป็นคนอื่นได้ทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นพร้อมกับได้รู้จักร่างกายของตนเอง

“ชอบการทำละคร เพราะฝึกการทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกจัดการอารมณ์ เป็นความผูกพันที่ได้ทำงานด้วยกัน ช่วยกันให้ผ่านปัญหาไปให้ได้  โดยการทำละครมาจากความรู้สึกที่เราอยากทำ รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมช่วย  แก่นสำคัญคือเราพร้อมเหนื่อยไปด้วยกัน ไม่ใช่การบังคับ” เสียงจากตัวแทนนักเรียน ม.ปลาย “ครีม” “เปรม” “ขวัญ” และ “กัปตัน”

“ที่นี่ไม่มีการแบ่งสายการเรียน เพราะเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีหลายแง่มุมในตัวเอง มีความสนใจอย่างแตกต่างหลากหลายทั้งศาสตร์และศิลป์” 

หากเด็ก ๆ สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษจะตอบสนองความต้องการของแต่ละคนผ่านวิชาเลือก ชมรมและการทำโครงงาน

โครงงานคือสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องทุ่มเทเวลาให้สิ่งที่ตนเองสนใจอย่างจริงจัง เด็ก ๆ จะได้ลองทำ ลองฝึกงานลองลงพื้นที่เพื่อค้นหาว่าตัวตนของเขาอยู่ตรงไหนในโลกนี้ได้บ้าง เขาเหมาะกับสิ่งนั้นจริงหรือเปล่า โดยเริ่มตั้งแต่การค้นหาบุคคลในสายงานที่สนใจ ติดต่อเพื่อขอฝึกงาน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กเป็นหลัก ครูประจำชั้นจะถอยห่างออกไป แต่ยังให้คำปรึกษาอยู่

“เราให้อิสระ เพื่อให้เขาได้ล้ม ลุก คลุก คลาน เจ็บอย่างพอเหมาะ เปิดโอกาสให้เขาได้ผิดพลาดแล้วชวนตั้งคำถามว่าจะทำยังไงต่อดี” ครูเมิฟกล่าว เป็นความวางใจที่เชื่อมั่นในตัวลูกศิษย์ว่าพวกเขาแข็งแกร่งพอที่จะเผชิญความจริงบนโลกได้
Image
Image
“ผล” ลัพธ์ : ของการตามหาตัวตนและค้นหาไปจนตลอดชีวิต
“การทำงานทำให้เรารู้ว่าชอบอะไร มีอะไรที่อยากทำ อะไรที่ยังทำไม่ได้ เห็นทางเลือกที่จะไปต่อและคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องแข่งขัน ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็หาว่าต้องทำอะไรต่อไป” - “เปรม”

“เป็นช่วงเวลาของการพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่เราเลือกใช่ตัวเองไหม ไม่มีเร็วหรือช้าไป มีแต่เวลาที่เหมาะสมของเรา  ไม่อยากเร่ง เพราะเราต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต” - “ขวัญ” 

“ปลายทางไม่ใช่สูตรสำเร็จ ผมมีความสุขกับการหาความสุขเล็ก ๆ ในแต่ละวัน เช่น การทำงานสภานักเรียน ได้แบ่งเบาภาระครู ได้ช่วยเหลือคนอื่น สร้างความสุขในสังคม ค้นหาตัวเองไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ใช่ก็ค่อยว่ากัน” - “กัปตัน”

“เรากำลังสร้างมนุษย์ที่พร้อมก้าวเดินไปมีชีวิตของตนเอง ไม่ใช่การเตรียมเพื่อต่อสู้กับผู้อื่น แต่พร้อมดูแลตนเองและผู้อื่น” ครูจาวกำชับหนักแน่น

อาจถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามอีกครั้งว่าหน้าที่ที่แท้จริงของโรงเรียนคืออะไร

การส่งเด็กให้ไปถึงฝั่งฝันในรั้วมหาวิทยาลัยโดยที่เขายังไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับสิ่งไหน 

หรือเพื่อสร้างให้เขาเหล่านั้นรู้จัก เข้าใจ และสามารถเลือกทางเดินชีวิตด้วยตนเองได้ ?
“ดอก” จัน : คนที่ไม่เข้าใจเด็ก คงจะไม่สามารถบริหารโรงเรียนได้
เบื้องหลังของการเติบโตผลิดอกออกผลคือระบบนิเวศที่ชุ่มเย็นจากโรงเรียนและผู้ปกครอง  โรงเรียนวางใจและเปิดพื้นที่ให้ครูทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเอง และผู้ปกครองเองก็พร้อมสนับสนุนโรงเรียนเป็นภาพการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายบนพื้นฐานว่าไม่มีใครผูกขาดเป็นเจ้าของโรงเรียน

แม้แต่ครูเษม-นันทนา เกษมโกสินทร์ ครูประจำชั้น ป. ๓ ซึ่งควบหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไม่ได้มีอำนาจมากกว่าคนอื่น ๆ แต่มีอำนาจร่วมกันกับทั้งผู้ปกครอง ครู และเด็ก ครูเษมบอกด้วยรอยยิ้มว่า 

“คนที่ไม่ได้ทำงานกับเด็กและไม่เข้าใจเด็กคงจะไม่สามารถบริหารโรงเรียนได้” 

หน้าที่หลักของผู้อำนวยการโรงเรียนไตรพัฒน์คือการมีส่วนร่วมในกลุ่มทำงานต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการบริหาร สภาครู แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสอนหนังสือ ส่วนการตัดสินใจมาจากสภาครูซึ่งเป็น

การบริหารและมีความเห็นร่วมกันโดยตัวแทนครูจากอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และฝ่ายสนับสนุนการศึกษาการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบใหญ่ของโรงเรียนไตรพัฒน์นี้ทำให้เห็นความหวังเล็ก ๆ ของการจัดการศึกษาที่มีชีวิต การศึกษาที่มีขึ้นเพื่อให้เด็กได้เติบโตไปบนเส้นทางของตนเองจริง ๆ และการจะปรับหน้าดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ยนั้น คงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของโรงเรียนและผู้ปกครอง 
โดยปราศจากรัฐอย่างแน่นอน