Image

ความล้มเหลว
จากการมองโลกในแง่ดี

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

ในทางจิตวิทยามีบทเรียนสำคัญเรื่องการมองตัวเองและโลกรอบตัวว่า บางครั้งบางคนก็มองโลกบิดเบี้ยวจากความจริง บ้างเป็นไปในแง่ลบเกินไปจนห่อเหี่ยว บ้างก็ในแง่ดีเกินไป และล้มเหลวจากการมองโลกผิดความจริงมากเช่นกัน

การปรับให้มองโลกใกล้เคียงความเป็นจริงจะช่วยลดโอกาสล้มเหลวได้

มีงานวิจัยโดยนักจิตวิทยา นีล ไวน์สไตน์ (Neil Weinstein) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๐ (https://doi.org/10.1037/0022-3514.39.5.806) ทดลองในนักศึกษาปริญญาตรี ๒๐๐ คน เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานว่าอาสาสมัครมีพฤติกรรมดังนี้หรือไม่คือ “เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง และเหตุการณ์ดี ๆ น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าหากเทียบกับคนอื่น”

ไวน์สไตน์ตั้งชื่อกรอบความคิดแบบนี้ว่าเป็น “การมองโลกในแง่ดีอย่างไม่อิงกับความจริง (unrealistic optimism)”

เขาขอให้นักศึกษาประเมินโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างว่าแตกต่างจากที่จะเกิดขึ้นกับเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเพียงใด ผลลัพธ์ที่ได้คือมีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ประเมินโอกาสเกิดเหตุร้ายกับตนเอง “น้อยกว่าเฉลี่ย” ขณะที่มองว่ามีโอกาสเกิดเรื่องดีกับตนเอง “มากกว่าเฉลี่ย”

นี่ถือเป็นหลักฐานแรกสุดในวงวิชาการว่า มีอคติการมองโลกที่ “ดีเกินจริง” อยู่จริง

นักวิจัยพยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยประเมินว่าเหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้น่าจะมีทั้งในแง่ของการรู้คิด (cognition) และในแง่ของแรงจูงใจ

คำอธิบายสำหรับแบบแรกคือ การมองโลกในแง่ดีทำหน้าที่ช่วยปกป้องเราจากความวิตกกังวลใจและความเครียดต่ออนาคต ขณะที่ในเรื่องของแรงจูงใจนั้น การมองโลกในแง่ดีทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงความต้องการประสบความสำเร็จ อีกทั้งหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ไม่พึงปรารถนา ซึ่งทำให้แต่ละคนต้องปรับตัวตามสถานการณ์ต่าง ๆ

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ บรรดาคนที่ลงทุนในธุรกิจเดียวกับที่มีคนล้มเหลวก่อนหน้าหลายราย มักมองว่าตนเองไม่เหมือนคนอื่นและน่าจะประสบความสำเร็จ ได้ผลลัพธ์ที่ต่างไป เช่น เจอพื้นที่ติดถนนที่เคยมีคนเช่าเปิดร้านอาหารแล้วก็เจ๊งไปหลายรายหลายรอบ แต่รายใหม่ที่หาญกล้ามาเช่าต่อก็ยังคิดว่าตัวเองน่าจะรอดจากฝีมือและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ส่วนใหญ่ก็มักไม่รอด

เมื่อมีงานวิจัยหัวข้อทำนองนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มักสรุปได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขใกล้เคียงกันว่า มีคนอยู่ราว ๘๐ เปอร์เซ็นต์ (หรือสี่ในห้า) ที่มีอคติและคิดว่าตนเองมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า ใช้เวลาทำโครงการน้อยกว่า หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าคนทั่วไป ฯลฯ

มีนักเศรษฐศาสตร์สองคน คือ เอวิอาด ไฮเฟตซ์ (Aviad Heifetz) และยอสซี สปีเกล (Yossi Spiegel) ทดลองทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ (http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.247355) เพื่อทดสอบว่า คนที่มองโลกในแง่ดีระดับต่าง ๆ กัน เอาตัวรอดในสิ่งแวดล้อมได้ดีเพียงใด ผลลัพธ์ชี้ว่าหากคนที่มองโลกในแง่ดีและแง่ร้ายเกิดขัดแย้งกัน พวกที่มองโลกในแง่ดีจะแสดงความก้าวร้าวและได้เปรียบในการทะเลาะเบาะแว้งนั้น

เพราะเชื่อว่าตัวเองมีโอกาสชนะมากกว่า

ความได้เปรียบเชิงวิวัฒนาการแบบนี้จึงได้รับการเก็บรักษาเอาไว้ในพันธุกรรมและกลายเป็นอุปนิสัยที่ตกทอดถึงมนุษย์ยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเรื่องสุขภาพด้วยว่า พวกมองโลกในแง่ดีจะเก็บกดหรือซึมเศร้าน้อยกว่า มีสมดุลเรื่องการกินอยู่ ออกกำลังกาย รวมทั้งเอาใจใส่สุขภาพมากกว่าอีกด้วย

แต่การประเมินตัวเองและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ได้ “ตายตัว” มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน ทาลี ชาร็อต (Tali Sharot) เล่าเรื่องการทดลอง (https://doi.org/10.1016/j.cub.2011.10.030) ไว้ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ ว่า เมื่อขอให้อาสาสมัครประเมิน “โอกาสที่จะต้องเจอเหตุร้ายในชีวิต เช่น การเป็นโรคอัลไซเมอร์ การถูกปล้น ฯลฯ” จากนั้นก็จะแจ้งค่าความน่าจะเป็น “ทางสถิติ” จริง ๆ ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สอบถามไว้ให้ทราบ แล้วขอให้ประเมินโอกาสใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจมาก แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ ในขณะที่ (๑) กลุ่มที่เคยประเมินไว้ “ต่ำกว่าจริง” จะแก้ตัวเลขให้เป็นตัวเลขที่แจ้งให้ทราบ แต่ (๒) กลุ่มที่เคยประเมินไว้ “สูงกว่าจริง” จะปรับแก้ตัวเลขความน่าจะเป็นให้ต่ำลงไปมากกว่าเดิมอีก

เช่น กลุ่มแรกที่เคยประเมินไว้ที่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อได้รับแจ้งว่าโอกาสจริงอยู่ที่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ก็แก้ไขตัวเลขเป็น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ส่วนพวกที่เคยประเมินไว้ว่ามีโอกาส ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะถูกปล้น เมื่อได้รับแจ้งค่าโอกาสแท้จริงว่ามีแค่เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ กลับเปลี่ยนคำตอบเป็น ๕ เปอร์เซ็นต์

เห็นได้ชัดเจนว่า “อคติแบบมองโลกในแง่ดี” รบกวนการคิดและตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลมาก

ขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจอีกสักสองตัวอย่าง คือ งานวิจัยการทดลองทางคลินิกและการประเมินหนี้จากทุนการศึกษา

งานวิจัยการทดลองทางคลินิก [https://doi.org/10.1016/S0140-6736(06) 68153-1] แสดงให้เห็นว่า ผู้วิจัยมักเลือกอ้างอิงผลการวิจัยก่อนหน้าที่ให้ผลดี แสดงว่าวิธีการมีประสิทธิภาพ แต่มักมองข้ามหรือละเลยไม่กล่าวถึงงานวิจัยที่แสดงผลด้านตรงข้าม รวมไปถึงการทดสอบทางคลินิกที่ “หยุดทดลองไปในระยะต้น ๆ ของการศึกษา” ที่อาจแสดงนัยถึงผลการรักษาที่ไม่ดีหรือไม่ได้ผล

แนวโน้มแบบนี้ต้องถือว่าอันตรายทีเดียว ทำให้ไม่ว่าผู้ป่วยหรือแพทย์ต่างก็คาดหวังผลการรักษาที่ดีเกินจริง สำหรับฝั่งของผู้สนับสนุนเงินทุน พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของอคติมองโลกในแง่บวกแบบนี้ระหว่างผู้สนับสนุนที่เป็นบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ

การออกแบบการทดลองทางคลินิกจึงสำคัญมาก เพราะช่วยลดอคติทำนองนี้ได้

ส่วนการประเมินหนี้จากทุนการศึกษา [New Zealand Journal of Psychology (2000) ; Christchurch, 29(1), 17.] ซึ่งศึกษาในนักศึกษาจิตวิทยากว่า ๒๐๐ คน โดยให้อาสาสมัครประเมินค่าจ้างงานหลังจบการศึกษา หนี้ที่คิดว่าจะก่อขึ้น และระยะเวลาในการจ่ายหนี้

ผลที่ได้คือโดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาเชื่อว่าตนเองสามารถจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากภาครัฐได้หมดใน ๑๐ ปี แต่กระนั้นสถิติจริงชี้ให้เห็นว่ากว่าจะจ่ายหนี้หมดใช้เวลานานกว่านั้นมาก  ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้นักศึกษาประเมินผิดเรื่องค่าจ้าง เพราะคาดว่าตัวเองจะได้มากกว่าเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งไม่จริง

การคาดการณ์ผลลัพธ์แบบนี้ทำให้นักศึกษากู้ยืมเงินมากขึ้น เพราะคาดหมายอย่างมองโลกในแง่ดีว่าน่าจะได้เงินเดือนมากกว่าค่าเฉลี่ยที่เพื่อน ๆ ได้รับ

มีวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้บ้างไหม ?

แดเนียล คาห์นีแมน นักเศรษฐ-ศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลและผู้เขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ชื่อ Thinking, Fast and Slow ที่ทดลองในหัวเรื่องแบบนี้อย่างกว้างขวาง ให้คำแนะนำว่ามีวิธีการอย่างน้อยสองอย่างที่อาจทำได้ วิธีการแรก ให้เอาตัวออกมาจากสถานการณ์ แล้วพยายามมองแบบคนนอก โดยมองหา “ค่าอัตราพื้นฐาน” ทางสถิติที่จะนำมาใช้อ้างอิงประกอบการตัดสินใจ เช่น กรณีกู้ยืมเงินข้างต้น “ค่าอัตราพื้นฐาน” ก็อาจเป็นสถิติช่วงเวลา “เฉลี่ย” ที่นักศึกษาใช้ทุนคืนว่ายาวนานเพียงใดแน่

การอ้างอิงจากค่าสถิติที่มีอยู่จริงช่วยให้เรารับมืออคติจากการมองโลกในแง่ดีเกินจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

อีกวิธีการหนึ่งอาจจะพอเรียกได้ว่า “ด้นถอยหลัง” เหมาะมากสำหรับองค์กร คือใช้การมอบหมายให้ทีมงานทำนายผลลัพธ์ความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ทำนายขณะ “เพิ่งเริ่มโครงการ” โดยอาจตั้งเวลาไว้ว่าอีก ๑ ปีข้างหน้าโครงการจะล้มเหลว แล้วให้ช่วยกันระบุว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมจึงทำให้ล้มเหลว

วิธีการนี้จะทำให้ทีมได้พิจารณาผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการโดยละเอียด ทำให้ช่วยชดเชยการมองง่าย ๆ สั้น ๆ หรือมองแต่แง่ดีมากเกินไป จนทำให้มั่นใจมากเกินควร

วิธีการแบบนี้ไม่ได้แค่เหมาะจะใช้กับองค์กรเท่านั้น ยังประยุกต์ใช้แก้ปัญหารายบุคคลจากอคติ (ซึ่งเลี่ยงไม่พ้น) ได้เช่นกัน 

จึงน่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกคน