“โดเรมี” และความทรงจำที่
“พิพิธภัณฑ์โดราเอมอน”
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ของที่ระลึกที่ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงการเดินทางในญี่ปุ่นมากสุดชิ้นหนึ่งมาจากพิพิธภัณฑ์ในเมืองคาวาซากิ (Kawasaki) จังหวัดคานางาวะ (Kanagawa) ซึ่งอยู่ไม่ห่างกรุงโตเกียวเท่าใดนัก
กลางปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕ ผมยืนมึนอยู่ที่หน้าร้านสะดวกซื้อลอว์สัน (Lawson) แห่งหนึ่งในโตเกียว เพื่อหาทางซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio Museum-คนทั่วไปเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์โดราเอมอน”) จากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
เพราะการเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จำเป็นต้องซื้อตั๋วจากตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติเท่านั้น
ผมพบว่าเมนูในเครื่องเต็มไปด้วยภาษาญี่ปุ่น จึงต้องลอง “เดา” จนชำระค่าตั๋วราคา ๑,๐๐๐ เยน (ประมาณ ๓๐๐ บาท) ได้เรียบร้อย
ไม่ต่างกับคนยุค 90s จากทั่วโลกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเพราะซอฟต์พาวเวอร์ของแอนิเมชันโดราเอมอน ที่รังสรรค์โดยผู้เขียนและนักวาดการ์ตูนสองคน คือ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (Hiroshi Fujimoto ปี ๒๔๗๖-๒๕๓๙ /ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๙๖) และ โมโตโอะ อาบิโกะ (Motoo Abiko ปี ๒๔๗๗-๒๕๖๕/ค.ศ. ๑๙๓๔-๒๐๒๒) ที่จับมือกันทำงานในนามปากกา “ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ” (“Fujiko Fujio”) ตั้งแต่ปี ๒๔๙๔/ค.ศ. ๑๙๕๑
พวกเขาผลิตหนังสือการ์ตูน (manga) ที่ต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชันหลายเรื่อง เช่น ผีน้อยคิวทาโร่ (ปี ๒๕๐๗/ค.ศ.๑๙๖๔), นินจาฮาโตริ (ปี ๒๕๐๗/ค.ศ.๑๙๖๔) และที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดคือ โดราเอมอน (ปี ๒๕๑๒/ค.ศ.๑๙๖๙)
เรื่องราวของคู่หูที่ทำให้หุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคตอยู่ในใจคนทั่วโลกคงต้องเขียนแยกเป็นอีกเรื่อง แต่ก็ชัดเจนว่า แม้ผู้สร้างทั้งสองหยุดทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี ๒๕๓๐/ค.ศ. ๑๙๘๗ โดยต่างคนต่างเอานามปากการ่วมนี้ไปดัดแปลงด้วยการใส่อักษรแรกของชื่อตัวเองเข้าไปตรงกลาง โดยอาบิโกะใส่ A ลงไป (Fujiko A. Fujio) ส่วนฟูจิโมโตะก็ใช้ F ใส่ลงไป (Fujiko F. Fujio)
แต่ก็ชัดเจนว่า “Fujiko Fujio” คือนามปากกาที่ผู้คนจดจำที่สุดคู่กับโดราเอมอน
คงไม่ต้องกล่าวว่า โดราเอมอน ในญี่ปุ่นทรงอิทธิพลเพียงใด จากการ์ตูนรวมเล่ม ๔๕ เล่ม ๑,๓๔๕ ตอน (ไม่นับตอนพิเศษ) โดราเอมอน ถูกผลิตเป็นแอนิเมชันภาพยนตร์ สินค้านานาชนิด แปรสภาพเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่วางจำหน่ายทั่วโลกจนมีมูลค่านับล้านล้านบาท
ส่วนในเมืองไทย ผมจำได้ว่าการ์ตูนที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องจะใช้ชื่อ “โดราเอมอน” แต่ถ้าเป็นการ์ตูนที่แปลเถื่อน (ละเมิดลิขสิทธิ์) จะใช้ชื่อว่า “โดเรมอน” จนทั้งสองคำนี้กลายเป็นชื่อที่ใช้ปนกันในเมืองไทย
ในญี่ปุ่น โดราเอมอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นญี่ปุ่นเป็น “ทูตแอนิเมชัน” รายแรกของประเทศ ทั้งยังเป็นทูตประจำการแข่งขันโอลิมปิก ค.ศ. ๒๐๒๐ (เลื่อนมาจัดปี ๒๕๖๔/ค.ศ. ๒๐๒๑ เพราะโควิดระบาด)
หลังอาจารย์ฟูจิโมโตะถึงแก่กรรมในปี ๒๕๓๙/ค.ศ. ๑๙๙๖ ยังมีข้อถกเถียงเรื่องตอนจบของ โดราเอมอน ต่อเนื่องมาจนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑
พิพิธภัณฑ์ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ที่เปิดในปี ๒๕๕๔/ค.ศ.๒๐๑๑ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้น้ำหนักกับเรื่องของอาจารย์ฟูจิโมโตะเป็นหลัก โดยมันส่งผลให้เมืองคาวาซากิกลายเป็น “นครโดราเอมอน” ย่อม ๆ ด้วยตั้งแต่ลงจากรถไฟ (ท้องถิ่น) ที่สถานีโนโบริโตะ (Noborito) ทางไปพิพิธภัณฑ์นั้นเต็มไปด้วยตัวละครที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าบนรั้วเหล็ก ป้ายบอกทาง ฯลฯ
มีสถิติว่าหลังเปิดราว ๓ ปี มีคนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในเมืองคาวาซากิมากกว่า ๑.๕ ล้านคน
ที่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ผมได้รับบัตรผ่านประตูใบเล็ก ๆ เป็นรูปโนบิตะ รับ“ของวิเศษ” คือโทรศัพท์พูดได้สำหรับนำชม มีภาษาให้เลือกฟัง คือ อังกฤษ เกาหลี จีน และญี่ปุ่น (สองสำเนียง คือคันไซ และคันโต)
พิพิธภัณฑ์มีสามชั้น ชั้นแรก ในห้องนิทรรศการแรก (Exhibition Room 1) แสดงต้นฉบับภาพร่างการ์ตูนเรื่องสำคัญของสองคู่หูจากหลายยุค เช่น ผีน้อยคิวทาโร่ (ปี ๒๕๐๗/ค.ศ. ๑๙๖๔) ปาร์แมน (ปี ๒๕๐๙/ค.ศ. ๑๙๖๖) มามิ สาวน้อยพลังจิต (Esper Mami ปี ๒๕๒๐/ค.ศ. ๑๙๗๗) ต้นฉบับ โดราเอมอน ปี ๒๕๑๓/ค.ศ. ๑๙๗๐ สาธิตขั้นตอนวาดการ์ตูนตั้งแต่เริ่มร่างจนต้นฉบับเสร็จสิ้น ผ่านภาพเคลื่อนไหวในตู้กระจก
จากจุดนี้ ทางเดินจะพาไปยังส่วนจัดแสดงงานห้วงเวลาของอาจารย์ฟูจิโมโตะตั้งแต่เข้าวงการนักเขียนการ์ตูน (History Road) ระหว่างปี ๒๔๗๖-๒๕๕๔/ค.ศ. ๑๙๓๓-๒๐๑๑ จนพิพิธภัณฑ์เปิด โซนจัดแสดงจำลองห้องทำงานของอาจารย์ฟูจิโมโตะ (Fujio F.Fujiko’s study) ที่มีชั้นหนังสือจำนวนมหาศาลเป็นข้อมูล (บรรยากาศคล้ายชั้นหนังสือในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar)
ชั้นที่ ๒ ในห้องนิทรรศการห้องที่ ๒ (Exhibition Room 2) แสดงภาพร่างการ์ตูนหลายเรื่อง มีระเบียงซึ่งติดตั้งหุ่นไจแอนต์โผล่ขึ้นมาจากบ่อน้ำ จาก โดราเอมอน ตอนบ่อน้ำของคนตัดไม้ (Woodcutter’s Spring) บนชั้นนี้ยังมีส่วนของ People’s Plaza สนามเด็กเล่นในร่ม มุมอ่านหนังสือการ์ตูน โรงภาพยนตร์ที่ฉายโดราเอมอน ตอนพิเศษ (รอบละ ๒๐ นาที)
ที่ชั้น ๓ คือร้านอาหารของพิพิธภัณฑ์ผมได้ลองเมนูที่ออกแบบจากการ์ตูน เช่น “ขนมปังช่วยจำ” ที่เคยช่วยให้โนบิตะสอบได้จากการเขียนสูตรเลขลงไปบนขนมแล้วรับประทาน, “โดรายากิ” ของโปรดของโดราเอมอน ติดร้านอาหารคือร้านขายของที่ระลึก Fujioka ทั้งนี้ไฮไลต์สำคัญคือ Rooftop Playground ลานกว้างบนดาดฟ้าที่ซ่อนตัวละครสำคัญไว้ตามมุมต่าง ๆ เช่น พีสุเกะ (จากตอนไดโนเสาร์ของโนบิตะ) ไอเทมอย่าง “ประตูไปที่ไหนก็ได้” สนามเด็กเล่นละแวกบ้านโนบิตะ (มีท่อประปาสามท่อกองเรียงกัน)
ผมก็ไม่ต่างกับคนอื่น ใช้เวลาอยู่กับความทรงจำวัยเด็กนานพอควร ถ่ายภาพมานับร้อย เก็บไฟล์ใส่ฮาร์ดดิสก์อย่างดี แต่เรื่องที่อยู่คู่กับโลกยุคดิจิทัลคือภาพเหล่านั้นมักสูญหายพร้อมฮาร์ดดิสก์กรณีของผมคือฮาร์ดดิสก์หายไปพร้อมกระเป๋าที่ถูกหัวขโมยหยิบไประหว่างอยู่บนขบวนรถไฟระหว่างประเทศในทวีปยุโรป
สิ่งเดียวที่เหลือติดมือจากการไปเยี่ยมชมครานั้น คือพวงกุญแจรูปโดเรมี (น้องสาวโดราเอมอน) ราคา ๑,๐๐๐ เยน (ประมาณ ๓๐๐ บาท) ส่วนขนมปังช่วยจำถูกย่อยสลายไปในกระเพาะนานแล้ว
ถึงตอนนี้ความทรงจำจากพิพิธภัณฑ์โดราเอมอนยังแจ่มชัด พร้อมกับความตั้งใจว่าหลังโควิดซาลง
ผมจะกลับไปเยี่ยม “เพื่อนเก่า” อีกครั้ง