Image

บรรยากาศการประชุมรวมของนักเรียนชั้นมัธยมฯ ต้น ที่โถงอาคารแห่งหนึ่งในโรงเรียน ช่วงพักกลางวัน

สาธิต มธ. “คิดใหม่”
ในสังคม (ไทย) อนุรักษนิยม

SCOOP

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

“ทำไมเราต้องตั้งคำถาม”

ในห้องเรียนวิชา “มนุษย์กับสังคม” ตัวอักษรกลางกระดานไวต์บอร์ดโดดเด่นจนชวนฉงนว่า ในโรงเรียนไทยมีสอนให้ตั้งคำถามลักษณะนี้ด้วยหรือ

นักเรียนที่เราเห็นก็ไม่ได้แต่งชุดนักเรียน กลับแต่งกายด้วยชุดสุภาพ
บางคนก็ย้อมสีผม บางคนยังดูตื่นเต้น เพราะพวกเขาเพิ่งมาโรงเรียนวันแรก

บนโต๊ะเรียนแต่ละตัวมีป้ายอมยิ้มสีแดง (สัญลักษณ์ไม่เห็นด้วย) กับ
สีเขียว (สัญลักษณ์เห็นด้วย) วางอยู่ ให้เลือกยกขึ้นมาแสดงจุดยืน

คาบเรียนแรกดำเนินไป ช่วงหนึ่งมีคำถามบนกระดานหกข้อ หนึ่งในคำถามคือ “ทำไมไทยถึงมีอากาศร้อน” ครูประจำวิชาสองคนพยายามสร้างบรรยากาศการเรียนด้วยการถาม-ตอบกันเอง แซวกันบ้าง บางทีก็โยนคำถามให้เด็กๆ ลองตอบ ก่อนจะยกตัวอย่างว่าเวลาเราไปเที่ยวอเมริกาทำไมไม่ร้อน 
เมื่อนักเรียนคนหนึ่งตอบได้อย่างถูกต้องว่าเพราะไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เพื่อนหลายคนชูป้ายสีเขียวสนับสนุน

บทเรียนเดินหน้าต่อไปด้วยคำถามว่า “ทำไมชอบตัดสินผู้อื่นทั้งที่ยัง
ไม่รู้จักกัน” ครูคนหนึ่งเล่าถึงงาน Bangkok Pride ที่รณรงค์สิทธิ LGBTQ+

“เขาเป็นโรคครับ ต่างจากมนุษย์ธรรมดา” เด็กคนหนึ่งตอบ


ถ้าเป็นในโซเชียลมีเดีย นี่อาจเกิดเป็น “ดรามา” แต่ในห้องเรียน คุณครู 
ก็อธิบายความต่างนี้และแลกเปลี่ยนกับนักเรียนคนดังกล่าว

หลังคาบเรียน เราได้คุยกับคุณครูประจำวิชา “นี่เป็นคาบที่ไม่ลงเนื้อหามากนัก เราพยายามให้เด็กๆ กล้าแสดงออก” ครูประจำวิชาหนึ่งในสองคนเล่าพร้อมอธิบายเพิ่มว่าทัศนคติบางอย่างก็ต้องค่อยๆ ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง หากมีนักเรียนไม่สนใจฟังหรือเล่นแท็บเลต ครูทั้งสองบอกเราว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะกระบวนการปรับตัวนี้จะดำเนินต่อราว ๑ เดือน และในที่สุดนักเรียนจะค้นพบวิธีการเรียนในแบบของตนเอง


เรื่องเหลือเชื่อคือ “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
(Thammasat Secondary School : TSS หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สาธิต มธ.”) ที่พยายามสอนให้เด็กตั้งคำถามและทำให้พวกเขาตระหนักถึงความหลากหลาย เคยถูกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (อดีตหัวหน้า คสช.) สั่งจับตาระบุว่า “อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันฯ” (มติชนออนไลน์, ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์

ทว่า...นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สาธิต มธ. ตกเป็นข่าว


ปี ๒๕๖๐ โรงเรียนแห่งนี้มีสื่อนำเสนอข่าวมาแล้วตั้งแต่เปิดสอนในเทอมแรก จากการอนุญาตให้นักเรียนไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ให้ไว้ทรงผมได้ตามใจปรารถนา ไม่นับว่ารูปแบบการเรียนการสอนยังแปลกใหม่ ไม่มีตัดเกรด ไม่มีให้คะแนน ไม่ได้มุ่งให้นักเรียนไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ แต่กลับมุ่งให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ของเด็กๆ ที่แตกต่างหลากหลาย


ด้วยมาตรฐานแบบไทยๆ  ภาพสาธิต มธ. ที่ปรากฏผ่านสื่อจึง “ขบถ” และ “แหวกกรอบ” อยู่ทุกอณู


แต่การ “แหวกกรอบ” นั้นกลับมีที่มา ด้วยหากค้นลึกลงไปถึงหลักสูตรก็จะ
พบว่าโรงเรียนแห่งนี้คือห้องทดลอง “ปฏิรูปการศึกษา” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

ด้วยฝีมือคนไทยที่เห็นปัญหาของระบบการศึกษาที่เรื้อรังมาหลายทศวรรษ

Image

Image

กำเนิดจาก 
“บทเรียน”

รองศาสตราจารย์ ดร. อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า “สาธิต มธ.” เกิดจากความต้องการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่จะมีโรงเรียนสาธิตเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

ย้อนกลับไปในปี ๒๕๕๘ หลังประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ อาจารย์อนุชาติขณะดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้รับคำขอจากผู้บริหาร มธ. ที่มีโครงการตั้งคณะศึกษาศาสตร์ให้มาช่วยเป็นประธานคณะทำงาน

ในฐานะศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์และอยู่ในแวดวงการศึกษามานาน อาจารย์อนุชาติจึงมองเห็น “จุดอ่อน” ของระบบการศึกษาไทยรวมไปถึงจุดตายของการตั้งคณะศึกษาศาสตร์

“คำถามคือจะต่างอะไรจากคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นที่ผลิตบัณฑิตออกมาปีละ ๔ หมื่นคน แต่ไปทำงานเป็นครูไม่ถึงครึ่ง เราไม่อยากซ้ำรอยเดิม” อาจารย์อนุชาติอธิบายถึงแนวคิดที่หวังสร้างความเปลี่ยนแปลง “ผมพบคำว่า learning science ที่พูดถึงกระบวนการตั้งคำถามว่ามนุษย์คนหนึ่งเติบโต เรียนรู้ มีพัฒนาการอย่างไร มันกว้างไปกว่าเรื่องของหลักสูตรผลิตครู”

เมื่อผู้บริหาร มธ. รับข้อเสนอแนวคิดใหม่ จึงมีการวางหลักสูตรและจัดตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปี ๒๕๕๙ (หลักสูตรนี้นักศึกษาจะลงพื้นที่ศึกษาเพื่อเข้าใจปัญหาเรื่องการศึกษา ก่อนจะกลับมาเรียนทฤษฎีในห้องเรียน)

เพียงปีเดียวหลังจากนั้น สาธิต มธ. ตั้งขึ้น วางหลักสูตรเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยเริ่มเปิดสอนนักเรียนรุ่นที่ ๑ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๐ อาจารย์อนุชาติบอกผู้บริหารในตอนนั้นว่า “ถ้าจะทำโรงเรียน เราจะทำตามแบบของเรา” โดยมีหลักการคือ “แหวกจากขนบเก่า” อันเป็นปัญหาไปสู่เป้าหมายที่การเรียนรู้ต้อง “พัฒนาคน” อย่างแท้จริง

มีการสำรวจหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และอื่น ๆ จนพบว่า “โรงเรียนหนึ่งแห่งไม่ใช่แค่มีหลักสูตร แต่มีอย่างอื่นมากมาย เราใช้คำว่า ‘ระบบนิเวศ’ ทั้งหมดคือหลักคิด ไม่ใช่เปลี่ยนหลักสูตรแต่อย่างอื่นไม่เปลี่ยน”

ปัญหาที่พบต่อมาคือ เขาพบว่าระบบการศึกษาไทย หากเปรียบเป็นรถยนต์ นอตทุกตัวและข้อต่อต่าง ๆ “หลวม” และส่วนมาก “หลุด” เกือบหมด ผลคือโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย มีลักษณะคิดแบบรัฐรวมศูนย์ จ้องจับผิดว่านักเรียนจะทำผิดกฎตลอดเวลา จึงสร้างกฎระเบียบจำนวนมากเพื่อควบคุม สภาพแวดล้อมนี้ยังส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับครู ครูกับผู้บริหารโรงเรียนเช่นกัน

ผลคือครูทำร้ายเด็ก ผู้ปกครองเล่นงานครู ครูมีปัญหากับครูกันเองและผู้บริหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาในระบบการศึกษาไทย ไม่นับว่าครูต้องทำงานเอกสารจำนวนมากจนไม่มีเวลาเตรียมการสอนจนทำให้คนมีความสามารถหลุดจากระบบ เพราะทนสภาพการทำงานไม่ได้

Image

อาจารย์อนุชาติและทีมงานมองว่าโรงเรียนต้องมีเป้าในการพัฒนานักเรียนชัดเจน โรงเรียนทุกแห่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน “สมัยก่อนเราเห็นว่าโรงเรียนนี้เก่งฟุตบอล โรงเรียนนี้วิชาการ ปัจจุบันคำถามคืออยากได้นักเรียนแบบไหน” เพราะเมื่อโจทย์เปลี่ยน โลกเปลี่ยน มีการจ้างงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำให้พวกเขามองอีกแบบ “สมัยก่อนเราผลิตแพทย์ วิศวกร ก็ทำงานแต่อาชีพนั้น สร้างคนเก่ง ดี มีคุณธรรมแต่ตอนนี้ไม่พอแล้ว ทุกวันนี้หมอต้องบริหารธุรกิจได้ คนที่ได้เกรดสูงอาจไม่ใช่คนที่หน่วยงานต้องการ ไม่นับว่าเด็กยุคนี้เกิดมาปะทะข้อมูลข่าวสารทันที เรียนรู้ต่างจากเด็กยุคก่อน มองอนาคตไม่เหมือนคนรุ่นก่อน”

ผลคือพวกเขาต้องการหา “สมรรถนะ” ของเด็กแต่ละช่วงชั้นเรียนว่าควรเป็นอย่างไร ค้นหาหลักสูตรและสภาพแวดล้อมที่สามารถให้ผลปลายทาง คือ “สร้าง ‘พลเมืองไทย พลเมืองโลก’ ที่คิดสร้างสรรค์ นอกกรอบ ทำงานเป็นทีมได้”

“ต้องเข้าใจคนอื่น ไม่ใช่เห็นใจ สงสาร แต่เข้าใจว่าทำไมแตกต่าง ไม่ว่าจะสีผิว รสนิยม ศาสนา  ไม่ได้ยกย่องเพื่อนเพราะเพื่อนเรียนดี แต่เข้าใจว่าทุกคนมีเส้นทางของตัวเอง” อาจารย์อนุชาติอธิบาย

ทั้งหมด “สวนทาง” กับค่านิยมของคนส่วนมากในสังคมไทย

ห้องเรียน-พื้นที่ปลอดภัย

๖ มิถุนายน ๒๕๖๕

มองเผิน ๆ สาธิต มธ. ไม่ได้ต่างจากโรงเรียนทั่วไป ในวันที่เราไปถึงหน้าโรงเรียนเกิดการจราจรติดขัด เพราะผู้ปกครองจำนวนมากขับรถมาส่งลูก เด็ก ๆ ทยอยเดินเข้าโรงเรียนกันตามปรกติ

แต่สิ่งที่แตกต่างในสายตาผู้มาเยือนคือ นักเรียนที่นี่แต่งตัวกันตามสบาย (ยกเว้นวันจันทร์และวันพฤหัสบดีที่จะใส่เสื้อของโรงเรียนเพื่อให้แยกออกว่าเป็นนักเรียนหรือบุคคลภายนอกที่มาตลาดนัดฝั่งตรงข้ามโรงเรียน หรือในวันที่มีกิจกรรมพิเศษตามนัดหมาย) พวกเขามีทรงผมหลากหลาย เช่นเดียวกับคุณครูที่ก็ย้อมผมและแต่งตัวอย่างอิสระเช่นกัน

ไม่มีการเข้าแถวหน้าเสาธง (อันเป็นประสบการณ์ร่วมของนักเรียนทั่วไปที่ต้องเคารพธงชาติ สวดมนต์ และฟังครูอบรมพร้อมทำกิจกรรมยืดยาวก่อนเข้าห้องเรียน) นักเรียน สาธิต มธ. จะใช้เวลาทำธุระส่วนตัว เตรียมตัวเข้าห้องเรียน เพื่อให้มีสมาธิในการเรียนคาบแรก วันเปิดเทอมวันแรกยังพิเศษตรงที่นักเรียนชั้น ม. ๑ ที่เป็นสมาชิกใหม่ต้องพบกับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ (สำหรับพวกเขา) ครูสองคนร่วมทำหน้าที่สอนและดูแลนักเรียนในห้องเรียน ต่างก็ตื่นเต้นและทำหน้าที่อย่างกระตือรือร้น

วิชา “มนุษย์กับสังคม” ของชั้น ม. ๑ ที่เราได้สังเกตการณ์ ชั่วโมงแรกครูเริ่มด้วยโจทย์หกข้อที่ล้วนเป็นการ “ฝึกตั้งคำถาม” ได้แก่ คอมพิวเตอร์ทำมาจากอะไร ทำไมบางประเทศไม่ยอมรับ LGBTQ+ ทำไมไทยถึงมีอากาศร้อน ทำไมชอบตัดสินผู้อื่นทั้งที่ยังไม่รู้จักกัน ถ้าโลกไม่มีมนุษย์จะเป็นอย่างไร ไปจนถึงคำถามเชิงดาราศาสตร์ฟิสิกส์ว่า อวกาศมีจุดสิ้นสุดหรือไม่

การชวนคุยเป็นไปอย่างอิสระตั้งแต่ต้นจนจบชั่วโมง ก่อนที่นักเรียนจะพักรับประทานอาหารกลางวันและเข้าร่วมประชุมระดับ ม. ต้น ในขณะที่อีกมุมหนึ่งเป็นการประชุมของนักเรียน ม. ปลาย ทั้งสองวงคุยเรื่องเดียวกันคือออกแบบกติกาและกฎระเบียบของโรงเรียน

เราเพิ่งทราบว่าที่นี่ไม่มี “ห้องปกครอง” มีแต่ “ฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรม” ที่อาจารย์อนุชาติระบุว่า ทำหน้าที่ “สนับสนุนนักเรียน” หากมีเรื่องวิวาทกันก็อาจเรียกพูดคุย ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนน บางกรณีก็ยึดโทรศัพท์มือถือ ๑ สัปดาห์ ส่วนมากจะใช้มาตรการเชิงบวก หาทางปรับพฤติกรรมมากกว่า โดยโรงเรียนจะมีกระบวนการตั้งแต่ตักเตือน บันทึกพฤติกรรม แจ้งผู้เกี่ยวข้อง มีมาตรการพูดคุยรายสัปดาห์ ติดตามการปรับตัวของนักเรียน และไม่มีบทลงโทษที่ทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด

ในการประชุมรวมช่วงพักกลางวัน เราเห็นการแจกข้อกำหนดของฝ่ายสนับสนุนฯ ในหัวข้อว่า “การละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล” ที่ไม่ควรทำประกอบด้วยอะไร รายละเอียดส่วนหนึ่งเขียนว่า “ความผิดเกี่ยวกับความเสียหายที่เกี่ยวกับร่างกาย ทรัพย์ และหรือคู่กรณี...” และ “ความผิดร้ายแรง...” มีเรื่องใดบ้าง ซึ่งล้อกับกฎหมายขั้นพื้นฐานปรกติของสังคม

Image

อาจารย์อนุชาติเล่าถึงเบื้องหลังแนวคิดนี้ว่า ในระบบเดิมโรงเรียนไทยคิดแบบรัฐรวมศูนย์ที่อยู่บนแนวคิดการไม่ไว้วางใจกัน จ้องว่าจะมีคนทำผิดตลอดเวลา ครูจึงจับผิดเด็ก ผู้บริหารจับผิดครู เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ จึงมีการเปลี่ยนวิธีคิดคือสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และใช้ “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นมาออกกติการ่วมกันผ่านการพูดคุยกับนักเรียน สิ่งที่ใส่เข้ามาอีกคือการเรียนรู้ที่จะ “ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย” ของคนในสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะเรื่องสีผิว ความสามารถ สภาวะทางเพศ ฯลฯ

ทั้งนี้เพื่อให้รู้สึกปลอดภัยทั้งกายใจ เรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเรียนรู้ก็จะตัดออก เช่น ทรงผม “เราให้เขาเป็นตัวเองให้มีความมั่นใจจะดีกว่าหรือไม่”

ที่สำคัญคือพยายามแก้แนวคิดเรื่องพ่อแม่ส่งลูกผ่านประตูโรงเรียนแล้วคิดว่าลูกต้องเป็นพลเมืองดีในทันที แต่อยู่ที่บ้านกลับมองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สาธิต มธ. จึงดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรก

“บะหมี่” นักเรียนหญิงชั้น ม. ๕ เล่าว่าตอนสอบเข้าชั้น ม. ๑ เธอตื่นเต้นมาก เพราะคุณพ่อต้องสอบด้วย “ข้อสอบเป็นแบบให้เขียนตอบ ข้อหนึ่งถามว่า คิดอย่างไรถ้าลูกจะย้อมสีผม ทำเล็บ คุณพ่อตอบว่า ‘ได้ แต่อยากให้โรงเรียนแนะนำยี่ห้อสีที่ดีและไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพของลูก’ ตอนนั้นมั่นใจว่าคุณพ่อผ่านแน่ค่ะ” เธอตอบพร้อมรอยยิ้ม

ตลอดการเรียน ๖ ปี ผู้ปกครองยังต้องร่วมประเมินกับครูผู้สอนเพื่อดูพัฒนาการนักเรียน ทางโรงเรียนยังจัดหลักสูตรจิตวิทยาเด็กเพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้ปกครองเข้าใจบุตรหลานในแต่ละช่วงอายุ จัดให้มี “ร้านค้าพ่อแม่” ที่เด็ก ๆ นำของมาขายในร้านได้

“แต่ก็ไม่ง่ายนัก เราทำงานกับครอบครัวหลายร้อยครอบครัว ยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองหลายท่านที่งงว่าโรงเรียนกำลังทำอะไร”

แต่สำหรับครอบครัวน้องบะหมี่ พวกเขาเข้าใจตั้งแต่แรก

ว่าโรงเรียนกับผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกัน

หลักสูตร 
“ค้นหาตัวเอง”

เรื่องที่สื่อไทยนำเสนอถึง “สาธิต มธ.” แล้วสร้างความตื่นเต้นตกใจในสังคมไทยมากที่สุดคือกรณีการไม่ใส่เครื่องแบบ
และการปรากฏชื่อรายวิชาที่ไม่เคยคุ้น เช่น “อยู่รอดปลอดภัย” “ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” ฯลฯ

ส่วนวิชาประเภทลูกเสือ-เนตรนารี ที่หลายคนมีความทรงจำถึงเครื่องแบบในชุดผ้าหนา ความสิ้นเปลืองของเครื่องประดับ อย่างวอกเกิล ผ้าพันคอที่สูญหายบ่อย สำหรับนักเรียนสาธิต มธ. พวกเขาจะไม่มีความทรงจำเหล่านั้นเพราะพวกเขาไม่อนุญาตให้มันเกิดขึ้น

อาจารย์อนุชาติเล่าว่า “ออกแบบใหม่หมด หลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดวิชาไว้แปดกลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่หลายวิชาไม่จำเป็น เราลดเหลือห้ากลุ่ม  เนื้อหาที่สำคัญเราดึงขึ้นมาเน้นให้เด่น” ผลคือ สาธิต มธ. มีสอนห้ากลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ คือ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มนุษย์กับสังคม สุขภาพและสุขภาวะ การสื่อสารและภาษา และสุนทรียะทางศิลปะ

“เรื่องศิลปะเราให้ความสำคัญ วิชาสุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts - AA) ถึงเกิดขึ้น ประกอบด้วยดนตรีวาดภาพ งานปั้น ละคร นาฏศิลป์ ฯลฯ อีกกลุ่มสาระคือสุขภาพและสุขภาวะ (Health and Well being - HW) ที่โรงเรียนระบบปรกติมองว่าเป็นวิชาตัวประกอบ เราเอามาปรับให้เหมาะกับชีวิตจริง เช่น วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอดที่ไม่ใช่การค้นหาผู้ว่ายน้ำเก่งอีกต่อไป ผลักลงน้ำไปคุณต้องรอดได้ ไม่จมน้ำ ดีกว่านั้นคือช่วยเหลือเพื่อนที่จมน้ำ กู้ชีพเพื่อนได้ ว่ายท่าไหนก็ได้ ให้เอาตัวรอดได้

Image

“เวลาสอนกีฬา เรากำลังพูดถึงนักเรียนทั้งโรงเรียน ในระบบเดิมวิชาพลศึกษามีเด็กบางคนเด่นมาก เด็กบางคนอับอาย เพราะเล่นกีฬาได้ไม่เท่าเพื่อน เราทำให้กีฬาเป็นกิจกรรมร่วมกัน สอนให้นักเรียนดูแลกล้ามเนื้อและเคารพความแตกต่างกันของศักยภาพในแต่ละคน” อาจารย์อนุชาติอธิบาย

อีกวิชาหนึ่งคือ “วิชาอยู่รอดปลอดภัย” ปรับเปลี่ยนมาจากวิชาลูกเสือ-เนตรนารี คราวนี้เครื่องแบบไม่ใช่แก่นสาร “สาระไม่ใช่การถือไม้พลอง หุงข้าวในป่า แต่สำคัญคือเวลาไฟไหม้ทำอย่างไร เอาตัวรอดอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร”

ส่วนวิชาที่เป็นปมของสังคมอย่างเพศศึกษาได้รับการจัดไว้ใน “วิชาวัยรุ่นศาสตร์”

อาจารย์อนุชาติอธิบายว่าชั้น ม. ๑ จะได้เรียนกายวิภาค การรักษาความสะอาด การซื้อชุดชั้นใน ประเภทผ้าที่ดี “เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เอาเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามา เช่น จำลองการมีประจำเดือน สอนเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ฯลฯ ทำให้เป็นเรื่องปรกติ”

ขณะที่วิชาทางด้านทฤษฎี สาธิต มธ. ลดการบรรยายให้น้อยที่สุดและเน้นการประยุกต์ปฏิบัติ เน้นการทำกิจกรรมที่นักเรียนกับครูมีส่วนร่วมด้วยกัน

ส่วนวิชาประวัติศาสตร์ที่เป็นดรามาในสื่อและสังคม อาจารย์อนุชาติอธิบายหลักการคือการสอนแนวคิดของทุกสำนัก “หลักคือเคารพความแตกต่างทางความคิด ให้นักเรียนเลือกตัดสินใจเองว่าจะเชื่อสำนักไหน เรามีนักเรียนที่เป็นอนุรักษนิยมไปจนถึงเสรีนิยม” ส่วนกรณีที่มีการเชิญ ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล มาบรรยายให้คณะครูฟัง “ครั้งนั้นเราให้โจทย์อาจารย์ธงชัยไปว่าจะทำอย่างไรที่จะเรียนประวัติศาสตร์ได้สนุก เพราะมีรายละเอียดมาก ทั้งประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก สิ่งที่อาจารย์ธงชัยบอกคืออย่าปฏิเสธตำรากระทรวงศึกษาธิการ มันมีประโยชน์ในแบบของมัน ต้องท่องจำแน่ แต่อย่าทำแบบนั้นทั้งหมด ที่นี่เรายังแยกวิชาวรรณกรรมออกจากวิชาภาษาไทย ตรงนี้คือ พื้นฐานอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการเรียนรู้เนื้อหา”

ส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือการประเมินผลที่ไม่มีการตัดเกรด

นักเรียนแต่ละคนจะมี “แถบสมรรถนะ (รูบิก)” ของตัวเองโดยแต่ละวิชามีสี่ระดับ คือ เริ่มต้น (beginner), ผ่าน (sufficient), มีการพัฒนา (developer) และยอดเยี่ยม (excellent) โดยความคาดหวังของแต่ละวิชาจะมีกำหนดไว้ เช่นขั้นต่ำต้องได้ระดับ “ผ่าน”

“อาจต้องทำงานส่ง มีส่วนร่วมในห้องเรียน ในภาพรวมเราลดการสอบลง ไม่ต้องการให้เด็กแข่งขันเรื่องเกรดหรือคะแนน เด็กจะรับรู้ว่าวิชานี้เป็นทางเขา อีกวิชาเป็นทางของเพื่อน ไม่เอามาทำให้ตัวเองเครียด”

Image

ครูคนหนึ่งเล่าว่า ความรู้สึกแข่งขันในกลุ่มนักเรียนลดลงมากในระบบประเมินผลการเรียนเช่นนี้

ส่วนในกรณีที่หากมีนักเรียนต้องย้ายโรงเรียน กลับไปสู่โลกภายนอกที่หลักสูตรเดิมยังคงวัดกันด้วยคะแนนและเกรดทางโรงเรียนก็สามารถแปลงแถบสมรรถนะเป็นคะแนนได้

แต่ตรงนี้ก็เป็นจุดตัดเช่นกัน นักเรียนคนหนึ่งบอกเราว่าสิ่งที่พวกเขากลัวอยู่บ้างคือการแปลงแถบสมรรถนะเป็นคะแนนเทียบระบบภายนอก ส่วนการปรับตัวกับระบบการศึกษาปรกติเมื่อเรียนจบนั้น พวกเขาแทบจะไม่กังวล เพราะชีวิตจริงก็อยู่ในโรงเรียนแค่ราว ๘ ชั่วโมงต่อวัน หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตตามปรกตินอกโรงเรียน

ทางด้านของครู ตลอดปีการศึกษาครูไม่ต้องทำแฟ้มงาน (portfolio) งานหลักคือการคิดรูปแบบการสอนให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหา “โรงเรียนจะมีฝ่ายวิชาการเป็นคนกำหนดกติกากลาง งานหนักจะอยู่ที่การสอน ตอนนี้ก็มีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ของครู ผู้ปกครอง นักเรียน ที่จะประเมินกันและกัน” อาจารย์อนุชาติเล่า

ปฏิพัทธ์ สถาพร (ครูปอ) หนึ่งในครูประจำวิชา “มนุษย์กับสังคม” เล่าว่า เมื่อจบภาคการศึกษา จะมีประเมินการสอนสนทนากับผู้ปกครอง ครูด้วยกัน เพื่อหาทางปรับวิธีสอนให้ได้ผลมากขึ้นในเทอมถัดไป

“เราจะเปลี่ยนแปลงวิธีสอนจากจุดอ่อนของเทอมที่แล้ว ครูส่วนมากมีประสบการณ์สมัยเรียนเคยชินกับการสอนแบบเดิมมานาน พอทำงานที่นี่ก็ต้องเปลี่ยนเครื่องมือและมุมมองไปด้วย ต้องยืดหยุ่นกับการลองของใหม่เพื่อทำให้การสอนได้ผลมากที่สุด”

“บะหมี่” บอกเราว่าหลังจากเรียนที่โรงเรียนมา ๕ ปี การศึกษา สิ่งที่เธอพบคือในช่วงปีแรก (ม. ๑) เธอได้ทดลองหลายเรื่อง “ความประหลาดคือตารางเรียน เพราะจำได้ดีว่าตอนเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องเรียน ๘ ชั่วโมงตลอดทั้งวัน เช้าต้องติวเตรียมสอบโอเน็ต หลังเรียนตอนเย็นก็ยังต้องมานั่งติวเพิ่ม แต่ที่นี่พอเข้า ม. ๑ เปลี่ยนหมด วิชาหนึ่งเรียนแค่ ๑.๓๐ ชั่วโมง ไม่มากเกินไปและมีการแลกเปลี่ยนกัน สอนให้เราประยุกต์วิชาไปใช้ในชีวิตจริง  ภาพครูถือไม้เรียวตอนประถมฯ ก็หายไป ที่นี่ครูเหมือนเป็นเพื่อนเรามากกว่า ใช้เวลาปรับตัวประมาณ ๒ สัปดาห์ก็เข้าใจระบบใหม่”

“เก้า” นักเรียนชั้น ม. ๒ เล่าว่าชอบที่โรงเรียนมีกิจกรรมนอกเวลา (ชมรม) ให้เลือกมาก “ผมอยากเรียนแฟชั่นดีไซน์
และชอบเรียนที่นี่ เพราะได้ย้อมผม เป็นตัวของตัวเอง” มีเรื่องเดียวที่เขาไม่ชอบคือข้อจำกัดเรื่องการออกไปนอกบริเวณโรงเรียนที่นักเรียนมัธยมฯ ต้นทำไม่ได้เหมือนพี่มัธยมฯ ปลาย

“เน” นักเรียนชั้น ม. ๑ บอกว่าข้อดีของที่นี่คือให้อิสระในการแต่งตัว และเลือกจัดตารางเรียนเองได้ระดับหนึ่ง “บางทีเราอยากเรียนวิชาเกี่ยวกับคำนวณตอนเช้า วิชาที่ต้องใช้ความจำตอนบ่าย ก็จัดให้เหมาะกับตัวเราได้ และแต่ละวิชาช่วยกันเรียน ไม่ใช่การแข่งขันกัน”

พวกเขาพูดตรงกันว่า เรื่องน่ากังวลก็มี เช่น การ “ค้นหาตัวเอง” ว่าอยากทำอะไรในอนาคต ผ่านการจัดรายวิชา การเลือกกิจกรรม แต่ละคนใช้เวลาแตกต่างกัน บางคนค้นพบว่าอยากเรียนสายวิทยาศาสตร์ ไปทำอาชีพทางการแพทย์ตั้งแต่ชั้น ม. ต้น ขณะที่บางคนขึ้น ม. ปลาย ก็ยังไม่แน่ใจ ทำให้การจัดตารางเรียนยังสะเปะสะปะ อีกส่วนหนึ่งคือความวิตกเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะโลกภายนอกโรงเรียนระบบการศึกษายังคงวัดผลด้วยคะแนน

“พวกเราก็กลัวเหมือนกันว่ารูบิกจะออกมาเป็นคะแนนเท่าไร”

ช่วงพักกลางวัน เราแวะไปเยี่ยมชมห้องสมุด พบว่าหนังสือเรียนประจำวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรปรกติของโรงเรียนทั่วไปหาได้จากที่นี่ บรรณารักษ์บอกว่า

Image

Image

“เด็ก ๆ มักมาอ่านนิยายหรือหนังสือที่เขาสนใจ ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป ก็มีเอาหนังสือที่อ่านค้างอยู่มาซุกไว้ตามมุมบ้าง สิ่งที่เราพยายามสังเกตคือเขาอ่านอะไร และบางครั้งก็ถามเขาเพื่อที่จะได้หาหนังสือที่ตรงกับความต้องการของเขาเข้ามาไว้ในห้องสมุด”

สิ่งที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในห้องเรียน การเตรียมตัวสอนของครู ความพร้อมของห้องสมุด ความพยายามร่วมกับนักเรียนในการวางกฎกติกาจากปัญหาที่เกิดขึ้น ความพยายามใช้มาตรการเชิงสร้างสรรค์ในการปรับพฤติกรรมนักเรียน ล้วนมุ่งไปยังเป้าหมายคือสร้างสำนึกการเป็นพลเมืองไทย พลเมืองโลก ที่ยอมรับความหลากหลายของคนในสังคมอย่างเข้าใจ

เรื่องสุดท้ายนี้คือความตั้งใจของคณะทำงาน เพราะ “นี่คือ
DNA ของธรรมศาสตร์และเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรจะมีมากที่สุด”

อนาคตของ
“สาธิต มธ.”

อาจารย์อนุชาติยอมรับว่าเรื่องหนึ่งที่ยังพยายามคือการสื่อสารกับผู้ปกครองของนักเรียนทั้งโรงเรียนราว ๘๐๐ ครอบครัว “โดยพื้นฐานผู้ปกครองย่อมห่วงลูก อยากให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้”

แต่สำหรับสาธิต มธ. เป้าหมายคือสร้างพลเมืองไทยและพลเมืองโลก

อาจารย์อนุชาติมองว่าไม่ว่านักเรียนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ “อยากเห็นเด็กค้นหาตัวเองจนเจอ ทำในสิ่งที่ชอบ เข้าใจคนอื่น นั่นคือความสำเร็จ เพียงแต่สังคมไทยยังไม่เข้าใจและต้องการสิ่งนี้เสียทีเดียว”

แน่นอน พวกเขาคาดหวังว่าสาธิต มธ. จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย

“ใน ๒ หรือ ๓ ปีข้างหน้า เราจะพยายามปล่อยงานวิจัยเชิงวิชาการเรื่องการจัดการศึกษา เก็บเกี่ยวสิ่งที่เราทำออกไปทำงานร่วมกับโรงเรียนอื่น” โดยงานบางส่วนเริ่มออกจากขอบเขตของโรงเรียนแล้ว

ครูปอเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ตอนนี้สาธิต มธ. ก็ทำงานกับโรงเรียนหลายแห่ง สิ่งที่เราทำไม่ใช่ทำให้เขาเป็นเหมือนเรา แต่พยายามต่อยอดจากสิ่งที่โรงเรียนนั้นมีและทำตามโจทย์
ที่นั่นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง”

สอดคล้องกับอาจารย์อนุชาติที่บอกว่า โรงเรียนทุกแห่งต้องหา “ทาง” ของตัวเองให้เจอ

“ทรัพยากรไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล โรงเรียนเล็ก ๆ ต้องหาแนวทางของตัวเองว่าอยากจะสร้างนักเรียนแบบไหน ยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก เด็กที่ไม่มีความสุขเพราะกฎระเบียบยิบย่อย ครูที่งานเอกสารทับถม พอยอมรับตรงนี้ก็จะนำไปสู่การหาทางแก้ไข แต่ถ้าจะทำแบบโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ก็ย่อมที่จะยาก ผมแนะนำให้เริ่มที่หลักคิด เราต้องการพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน ให้เขาสนุกกับการเรียน ปรับเปลี่ยนห้องเรียน ถ้าทำได้แค่นี้ การเริ่มต้นก็สำเร็จไปแล้ว”

ทั้งหมดคือสิ่งที่อาจารย์อนุชาติและทีมงานเริ่มลงมือแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า

“โรงเรียนสาธิตจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าสิ่งที่ทำไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาของประเทศไทย”  

ปฏิพัทธ์ สถาพร (ครูปอ)
ครูประจำวิชา “มนุษย์และสังคม”
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่โรงเรียนนี้ไม่ควบคุมวิธีสอน แต่มองปลายทางว่าจะพานักเรียนไปถึงหรือไม่ กรณีผมตอนรับโจทย์มาก็ชัดเจนว่าต้องเอาประสบการณ์ไปประยุกต์กับหลายวิชา ครูทุกคนจะออกแบบการสอนและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เอาจุดอ่อนเทอมก่อนมาเป็นบทเรียนปรับแก้ในเทอมใหม่ แต่ละคาบครูสองหรือสามคนอาจแบ่งประเด็นกันพูด เป็นการแบ่งงานและช่วยกันนำกระบวนการเรียน  ในชั้น ม. ต้น จะใช้พลังมากกว่า ม. ปลาย ที่เด็กเริ่มโตแล้ว  ความคาดหวังของทุกฝ่ายที่มีต่อครูในสาธิต มธ. เป็นเรื่องปรกติ แต่โรงเรียนเปิดมาไม่กี่ปี เราทราบดีว่าต้องค่อย ๆ เดินไปพร้อมกับนักเรียนและผู้ปกครอง

“วิชาที่ผมรับผิดชอบคือ ‘มนุษย์กับสังคม’ เนื้อหาถอยกลับไปในยุคที่เริ่มกำเนิดมนุษย์ เราไม่ได้ให้นักเรียนท่องจำสายพันธุ์มนุษย์โบราณ แต่ให้เห็นว่ามนุษย์ในอดีตปรับตัวอย่างไร


“ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่หลายคนสนใจ ก็ไม่ได้หนีจากโครงร่างเดิมของหลักสูตรปรกติมากนัก แต่สิ่งที่เราทำคือหาหลักฐานหลายแบบมาให้นักเรียนดู สนทนากัน และกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม เราดูว่าจุดไหนคือจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์อันยาวนาน จะเน้นตรงนั้น


“เรื่องเสียกรุง (กรุงศรีอยุธยา) มีไหม มี แต่เรามองการเสียกรุงครั้งที่ ๒ มากกว่าครั้งแรก ไม่ได้สอนให้เกลียดพม่า แต่เอาหลักฐานมาดูหลายแบบ เช่น หลักฐานชิ้นหนึ่งบอกว่าอยุธยาโดนเผา อีกชิ้นบอกไม่ใช่ ข้อมูลมาจากไหน เป็นต้น  ในชั้น ม. ปลาย ก็ไม่ได้ไล่ห้วงเวลาว่าสมัยกรุงศรีอยุธยามียุคต้น กลาง ปลาย แต่ดูว่าทำไมกรุงศรีอยุธยารวมศูนย์อำนาจ (ระบบเวียง วัง คลัง นา) ทำไมต้องทำ ระบบนี้จะเปลี่ยนอีกครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
ตอนนั้นโจทย์คืออะไร

“การตั้งคำถาม
คือต้นทุนชีวิตของเด็ก”

Image

“เราไม่ได้ฝึกให้นักเรียนเป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพ แต่ฝึกให้มีทักษะตั้งคำถามกับเรื่องต่าง ๆ  การตั้งคำถามคือต้นทุนชีวิตของเด็กที่จะเติบโตต่อไป

“ยิ่งในคาบที่พูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน เด็กจะมีมุมมองอย่างไรก็ได้ แต่เรามุ่งให้เขาสำรวจความคิดตนเอง ตกลงกติกาแสดงความคิดเห็น ถ้าประเด็นละเอียดอ่อนก็อาจใช้วิธีเขียนลงกระดาษโพสต์-อิทแบบไม่ต้องรู้ตัวคนเขียน แล้วมาคุยกันว่าทำไมเพื่อนมองแบบนั้น  ครูไม่สรุปว่าสิ่งไหนผิดถูก เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องคิดเอง


“ตอนที่ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล มาบรรยายจนเป็นข่าวและโดนเพ่งเล็ง อาจารย์ธงชัยมาเล่าว่า
นักประวัติศาสตร์ทำอะไร และหวังว่าเราที่เป็นคนกลางจะเอาบทเรียนไปใช้ออกแบบการสอน เพราะหลายเรื่องก็คาบเกี่ยวถึงเรื่องการใส่ใจบริบทรอบข้างและบริบทวิชาอื่น  เรื่องนี้พอกลายเป็นประเด็นก็เป็นโอกาสให้โรงเรียนอธิบายสิ่งที่กำลังทำ แต่ส่วนตัวก็เศร้าใจนิดหน่อย เพราะสมัยนี้การสอนประวัติศาสตร์ควรเปิดพื้นที่ถกเถียงและคิดต่างกันได้แล้วและจริง ๆ มีโรงเรียนหลายแห่งใช้วิธีลักษณะนี้

“ส่วนตัว พอนักเรียนขึ้น ม. ปลาย จะพูดกับเขาตลอดว่าถ้าคุ้นเคยกับครูที่ชวนคุยที่นี่ ข้างนอกจะแตกต่างกันนะ ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ที่มีหลายแบบ เราหวังว่าเขาจะปรับตัวเท่าทันกับโลกภายนอกด้วยเมื่อเรียนจบ  แน่นอนว่ากังวลนิดหน่อยว่ารุ่นแรกที่จะสำเร็จการศึกษาจะเป็นอย่างไร เพราะต้องเจอระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่
และเป็นรุ่นแรกที่ยังไม่มีตัวอย่างให้เดินตาม”