Image
นักบินรุ่นแรกแห่งสยาม
Hidden (in) Museum
เรื่อง : เรื่อง สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“end of the walkway...
ระวังสิ้นสุดทางเลื่อน”

เพราะสิ่งที่อยู่ข้างทางอาจทำให้ลืมมองข้างหน้า

เมื่อท่าอากาศยานดอนเมืองจัดสรรอาคารผู้โดยสารภายในประเทศบริเวณก่อนเข้าสู่ประตูขึ้นเครื่อง (gate) เป็นพิพิธภัณฑ์ย่อส่วนให้นักเดินทางได้เพลินกับห้าส่วนจัดแสดงของนิทรรศการ “Dream Journey : The History of Don Mueang Airport” เล่าเกร็ดเป็นมายุคเริ่มต้นการบินในไทย

ดึงดูดสายตาด้วยบรรยากาศปัจจุบัน เป็นการลอดอุโมงค์ที่คล้ายผ่ากลางลำเครื่องบินมาตั้งเผยภายในห้องโดยสาร เด็ก ๆ ที่มีฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส-สจ๊วตยืนสาธิตการใช้อุปกรณ์หรือแจ้งวิธีช่วยเหลือผู้โดยสารกรณีฉุกเฉิน น่าชวนผู้ปกครองมานั่งฟังเด็ก ๆ เล่นสนุกกับบทบาทสมมุติของลูกเรือ

จากนั้นพาเดินย้อนสู่ “ปฐมบทการบินของสยาม” เมื่อ ๑๐๐ กว่าปี ผ่านเหตุการณ์สำคัญยุคแรกบินของไทยด้วยเทคนิค projection mapping ฉายทับ photo gallery wall  แล้วชวนรู้อดีตของอาคารท่าอากาศยานดอนเมืองผ่าน อะคริลิกสองแผ่นซ้อนแผนผังสนามบินดอนเมืองให้เลื่อนเข้า-ออกเปรียบเทียบกับปัจจุบัน
Image
เส้นทางนิทรรศการทอดยาวจนหน้าเกตจึงได้พบแบบจำลองเครื่องบินชุดสำคัญอย่างนิเออปอร์ต ปีกชั้นเดียว (Nieuport IVG) “เครื่องบินรุ่นแรกของไทย” ที่กระทรวงกลาโหมสั่งจากฝรั่งเศสเพื่อใช้ปฏิบัติการทางอากาศ และแสดงแบบจำลองเครื่องบินเบรเกต์ ปีกสองชั้น (Breguet III) “หนึ่งในเครื่องบินชุดแรกของไทย” ที่ใช้บินในสนามบินดอนเมือง

แต่คงยากจะเกิดประวัติศาสตร์หน้าแรกของกิจการการบินนี้ หากขาด “นักบินชุดแรกของไทย” โดยเฉพาะ “นักบินคนแรก” อย่างพลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เมื่อครั้งเป็นนายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๕ ผู้ฝึกบินเครื่องบินเบรเกต์ ปีกสองชั้น ที่สนามบินวิลลาคูเบลย์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ๒ กรกฎาคม ๒๔๕๕ ได้บัตรประจำตัวนักบินฝรั่งเศสหมายเลข ๑๐๙๐

แล้ววันที่ ๒๙ ของเดือน-ปีเดียวกันก็ถึงคิวสองนายทหารตามไปเรียนการบินในฝรั่งเศส และฝึกบินกับเครื่องบินนิเออ-ปอร์ต ปีกชั้นเดียว ที่สนามบินมูร์เมอลอง เลอ กรองด์ คือ นาวาอากาศเอกพระยาทะยานพิฆาต ครั้งเป็นนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต บัตรประจำตัวนักบินฝรั่งเศสหมายเลข ๑๓๒๔ กับนาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (หลง สินศุข) ครั้งเป็นนายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร บัตรประจำตัวนักบินฝรั่งเศสหมายเลข ๑๓๘๕
Image
Image
Image
ครั้นสามทหารจบการศึกษา กระทรวงกลาโหมจึงตั้งแผนกการบิน สังกัดกรมจเรการช่างทหารบก และสั่งซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศสแปดลำ  วันทดลองบินครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม หนังสือพิมพ์พากันลงข่าวบรรยายความว่า นาทีที่เครื่องยนต์ของเครื่องบินลำแรกติดขึ้นและแล่นออกไปข้างหน้า คนดูต่างโห่ร้อง กระทั่งขึ้นไปในอากาศอย่างรวดเร็วและร่อนสู่พื้นดินอย่างปลอดภัย เสียงเครื่องยนต์ก็เบาลงจนเงียบ

แต่นั้นกิจการการบินก็ก้าวหน้าจนสนามม้าสระปทุมคับแคบ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ จึงเลือกตำบลดอนเมืองซึ่งเป็นที่ดอน ฤดูฝนน้ำไม่ท่วม และอยู่ไม่ไกลพระนคร เป็นที่ทำการบินแทน

ไปสนามบินครั้งหน้าลองวางแผนเผื่อเวลา หลังรับบอร์ดดิงพาสแวะชมนิทรรศการประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าทางการบินของไทยสักนิด  วันที่นวัตกรรมการบินไร้พรมแดน “บัตรประจำตัวนักบิน” หลักฐานความกล้าหาญของนักบินรุ่นแรก อาจเป็นฝันบันดาลใจแก่เด็กน้อยนักเดินทาง
ซุกอยู่มุมไหนของท่าอากาศยาน...ต้องมาดู