ภาพ : อพวช.
May the SPACE be with you
วันที่พรมแดนความฝัน
ของเยาวชนไทยไปไกลถึงอวกาศ
Space Lab
[ คนไทยไปอวกาศ ]
เรื่อง : นิสากรม์ ทองทา
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
การไปเยือนนอกโลก เดินทางในจักรวาล น่าจะเป็นความฝันของใครหลายคน เพราะอวกาศสวยงามและน่าพิศวงเสมอ เมื่อเรายืนอยู่บนโลก แต่ถ้ามองฝันนี้บนฐานความรู้และศักยภาพของมนุษย์ ก็ไม่เกินจริงนัก
สิ่งสำคัญคือพื้นที่และโอกาส ที่จะทำให้ฝันของเยาวชนและมวลมนุษยชาติเกิดขึ้นได้ หลายโครงการเพื่อเยาวชนในประเทศไทยก็กำลังเคลื่อนไหวและต่อเติมความหวัง แต่พื้นที่และโอกาสที่ว่าก็ช่างน้อยนิดเหลือเกิน อาจเพราะประเด็นที่มักหลงลืม นั่นคือ
“ผลลัพธ์ของการไปดวงจันทร์ไม่ใช่การไปดวงจันทร์ แต่คือการลงทุนทรัพยากรมนุษย์อย่างมหาศาลต่างหาก” พิรดา เตชะวิจิตร์ เจ้าของโครงการ STEMLAB กล่าวกับเราไว้
STEMLAB
ห้องสมุดเทคโนโลยีอวกาศที่เด็ก ๆ จะสร้างอะไรจากจินตนาการก็ได้
CanSat-Rocket Thailand
สิ่งประดิษฐ์เยาวชนจะทะยานไปนอกโลก
Parabolic Flight
ปลูกพืชผักบนอวกาศ
STEMLAB
ห้องสมุดเทคโนโลยีอวกาศที่เด็ก ๆ จะสร้างอะไรจากจินตนาการก็ได้
หากใครสนใจหรือคลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีอวกาศคงคุ้นเคยไม่มากก็น้อยกับชื่อของ “มิ้ง” พิรดา เตชะวิจิตร์ อดีตอาชีพวิศวกรดาวเทียมที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนมากมายจากการเป็นว่าที่ “นักบินอวกาศหญิง” คนแรกของไทยในโครงการ AXE Apollo Space Academy
แต่แค่การสร้างแรงบันดาลใจไม่มากพอจะดึงประเทศไปข้างหน้าได้อย่างที่พิรดานึกหวัง “โครงการเยาวชน” จึงเป็นสิ่งที่เธอเลือกขับเคลื่อน
“เราอยากให้ไทยมีเทคโนโลยีอวกาศเป็นของตัวเอง ดาวเทียมดวงแรกไทยซื้อไป ๖,๐๐๐ ล้าน อันที่จริงไม่จำเป็นต้องแพงขนาดนั้น แต่เพราะเราซื้อบริการเพื่อติดต่อและดูแลอื่น ๆ ด้วย เมื่ออยากสร้างดาวเทียมเองก็พบว่ามีคนทำอยู่ไม่กี่คน ประเทศเรามีปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคล เราต้องมีกลุ่มคนเข้าใจที่ใหญ่มากพอจะสร้างเรื่องนี้ไปด้วยกัน เราจึงเลือกโครงการเยาวชน”
การแข่งขัน THASA - Thai Youth Space Ambassador Contest เกิดขึ้นเมื่อช่วง ค.ศ. ๒๐๑๔-๒๐๑๕ พิรดาร่วมกับทีมนักวิจัยทำโครงการบอลลูนระยะสูง ซึ่งสูง ๓๐-๔๐ กิโลเมตร โจทย์คือเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องคิดออกแบบการทดลองบนความสูงซึ่งแทบไม่มีอากาศเหลือแล้วนั้น ทำให้เธอได้เห็นว่าเยาวชนมีไอเดียและความพร้อม ขอเพียงมีคนช่วยผลักดัน เติมอุปกรณ์ และพื้นที่
พิรดา เตชะวิจิตร์
"เราปลูกฝันให้เยาวชนมีไอเดีย สร้างสรรค์ ไม่ได้เน้นนวัตกรรมด้านอวกาศอย่างเดียว แต่แตกยอดไปด้านอื่น ๆ ได้"
ถัดจากนั้นคือโครงการ Maker Space บนงานในฐานะนักพัฒนานโยบายด้านงานเยาวชนที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) แต่ Maker Space ซื้อลิขสิทธิ์ต่างชาตินำเข้ามาจึงขยายผลไม่ได้
ขวบปีนี้ การผันตัวมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ คือความแปลกใหม่ ท้าทาย และเอื้อให้พิรดาได้ขยาย “space” ในแบบที่วาดหวัง นั่นคือโครงการเยาวชนที่เรียกว่า STEMLAB หรือห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในโรงเรียน ทำลายกำแพงข้อจำกัดของโครงงานวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้ง่ายขึ้น
ภายใน STEMLAB ของพิรดาที่เราได้มาเห็น คืออุปกรณ์และเครื่องมือแปลกหูแปลกตา เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D printer) ที่สามารถสร้างชิ้นงานด้วยการออกแบบผ่านคอมพิวเตอร์ หลอมและฉีดวัสดุพิมพ์โพลิเมอร์เป็นเส้น ขึ้นเป็นชิ้นงานที่มีความละเอียดสูง, เครื่องตัดเลเซอร์ (CNC laser cutting machine) ใช้ตัดหรือแกะสลักวัสดุด้วยลำแสงเลเซอร์ช่วงคลื่นอินฟราเรดกำลังสูง ช่วยให้เด็ก ๆ สร้างชิ้นงานที่ซับซ้อน, electronic กลุ่มเครื่องมือสนับสนุน การพัฒนาชิ้นงานอิเล็กทรอนิกส์และสมองกลฝังตัว เช่น เครื่องบัดกรี เครื่องจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ออสซิลโลสโคป ชุด kit ที่ช่วยการเขียนโปรแกรม และเครื่องมืออื่น ๆ อีกหลากหลาย
Maker Space ภายใน STEMLAB เป็นพื้นที่สร้างสรรค์อย่างอิสระของเด็ก
“สิ่งที่สร้างจาก STEMLAB ไม่ได้ใช้ต่อยอดเพียงแค่เทคโนโลยีอวกาศเท่านั้นยังสามารถต่อยอดไปสู่สิ่งประดิษฐ์อื่น ๆที่สร้างสรรค์ หุ่นยนต์ เทคโนโลยีการแพทย์ เกม และอื่น ๆ เริ่มแรกเราไปตั้งที่โรงเรียนสองแห่ง คือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพราะที่นั่นทำโครงการวิทยาศาสตร์อยู่แล้วที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี มีอัตราการเข้าใช้ STEMLAB ของนักเรียนสูงมากกว่า ๑๐๐-๒๐๐ คนต่อวัน
“ห้องแล็บที่เราออกแบบ คือห้องสมุดที่มีวิศวกรเป็นบรรณารักษ์ดูแลและแนะนำเด็กให้ใช้เครื่องมือทดลองต่าง ๆตามความสนใจ พอคุณครูเริ่มมอบหมายงาน ห้องก็เป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น เพราะเด็กทุกคนมีโอกาสเข้าใช้ อย่างน้อยก็เครื่องพิมพ์สามมิติที่เป็นตัวสร้างต้นแบบนวัตกรรมซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการทำโครงงาน เพราะพวกเขาสามารถออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปใช้งานต่อได้จริง”
ตอนนี้ STEMLAB ขยายพื้นที่ตัวเองไปกว่า ๑๗๐ แห่งทั่วประเทศ
“เรื่องน่าสนใจคือ ยิ่งกลุ่มเด็กมีอายุน้อยลงก็ยิ่งมีความตื่นเต้นสูงมากกับการได้ใช้เครื่องมือ เราพยายามขยายไปให้ทั่วประเทศ แต่ต้องศึกษาปรับหลักสูตรเรื่อย ๆ ตอนนี้ขยายผลถึงประถมฯ ปลาย ซึ่งต้องมีคนดูแลมากขึ้นเมื่อใช้เครื่องมือบางอย่างที่ต้องระมัดระวัง
“นอกจากนวัตกรรมทั่วไป เรายังพยายามผลักดันให้พวกเขาไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ เราตั้งสถานีสื่อสารกับดาวเทียมในวงโคจร สถานีสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ มีสถานีที่ใช้ติดต่อกับนักบินอวกาศ โดยโรงเรียนในเครือข่ายสามารถรีโมตมาใช้ด้วยได้ น่าจะทำให้เด็กได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะ”
ห้องทำงานของพิรดาและทีมที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ กำลังปรับเปลี่ยนให้เป็น STEMLAB อีกแห่งเพื่อขยายการโอบรับกลุ่มเยาวชน ดังที่เราได้เห็น “กะโหลกไดโนเสาร์” สร้างโดยเครื่องพิมพ์สามมิติตั้งวางอยู่บนโต๊ะ
พิรดาเล่าว่าต้องรอดูผลในระยะยาวว่า เยาวชนสามารถนำนวัตกรรมที่ริเริ่มขึ้นจากที่นี่ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ผ่านสกิลของศตวรรษที่ ๒๑ อย่าง critical thinking, creativity, collaboration, communication รวมทั้งการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งการต่อยอดของเยาวชนยังขึ้นอยู่กับโอกาสและพื้นที่ เมื่อพวกเขาจบจากโครงการ STEMLAB ไป
“หลายคนที่ชอบความเป็น maker จะเลือกเรียนต่อสายอาชีพ หลายคนเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย ยังทำชิ้นงานต่อยอดบ้าง แต่สิ่งที่ขาดไปคือระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้รับลูกต่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มหาวิทยาลัยมีเงินเยอะ สำคัญคือการลงทุนให้ถูกจุด และหยิบยกเครื่องไม้เครื่องมือมาใช้ให้คุ้มค่า
“ตอนนี้เรากำลังเปิดหลักสูตรวิศว-กรรมอวกาศ พยายามผลักดันให้มีการจัดการและส่งเสริมภาคปฏิบัติมากขึ้น เพราะการสอนให้นักศึกษาตีพิมพ์งานวิจัย กับสอนให้พัฒนานวัตกรรมเหมือนถนนคนละสายด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง
จากจินตนาการของเยาวชนสู่วัสดุที่จับต้องได้ ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ
“ปัญหาเชิงนโยบายคือ อะไรจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มคนที่รู้สึกว่าการเรียนมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่ได้สร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานบทบาทมหาวิทยาลัยจึงต้องเปลี่ยนไปอีกมาก เช่น การเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม” พิรดาว่า การบ้านของ STEMLAB คือการแสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่า การสร้างนวัตกรรมไม่ได้ยากเกินไป
“เราปลูกฝันให้เยาวชนมีไอเดียสร้างสรรค์ ไม่ได้เน้นนวัตกรรมด้านอวกาศอย่างเดียว แต่แตกยอดไปด้านอื่น ๆ ได้ ประเทศเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี และมีงบประมาณค่อนข้างเยอะ แต่ต้องมีบรรยากาศของการพัฒนาประเทศด้วย จึงจะทำให้กลุ่มคนที่อยากสร้าง อยากพัฒนา อยากผลักดันประเทศ มีพลังมากขึ้น ผลลัพธ์ของการไปดวงจันทร์ไม่ใช่การไปดวงจันทร์ แต่คือการลงทุนทรัพยากรมนุษย์อย่างมหาศาล ที่ผ่านมาประเทศไทยเราอาจตีโจทย์ผิด
“ปัญหาเยาวชนในตอนนี้คือเขาไม่ได้รับโอกาสในการลงมือทำจริง ๆ ทั้งที่มีแนวความคิดดี หากเขาโตเป็นผู้ใหญ่ได้ทำงานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศพวกเขาจะนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง”
พิรดา อดีตว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย กล่าวทิ้งท้าย
CanSat-Rocket Thailand
สิ่งประดิษฐ์เยาวชน
จะทะยานไปนอกโลก
ภาพจรวดขวดน้ำพุ่งทะยานไปเบื้องหน้ายังคงติดตา สมัยเรียนมัธยมฯ เราเคยแข่งขันสร้างจรวดขนาดจิ๋ว คล้าย ๆ กับที่โครงการเยาวชน CanSat-Rocket Thailand ภายใต้หน่วยงานองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เคยทำ และกำลังเดินหน้าพัฒนาต่อเป็นการสร้างดาวเทียมของเยาวชนในปัจจุบัน
“ในวันเริ่มต้น เราทดลองโดยยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร น่าสนใจแค่ไหน เราไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลไกหลายอย่าง แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่า CanSat-Rocket Thailand ต่อยอดได้อย่างมาก”
ดอกเตอร์กรรณิการ์ เฉิน
ดอกเตอร์กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ อพวช. ผู้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดโครงการเยาวชน CanSat-Rocket Thailand หรือ Can Satellite ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็กเท่ากระป๋องซึ่งบรรจุกลไกมากมายไว้ภายใน
กรรณิการ์เล่าว่า ก่อนหน้าจะเกิดโครงการ CanSat อพวช. เลือกจัดกิจกรรมการแข่งขัน “จรวดขวดน้ำ” เพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมการประดิษฐ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ มีผู้ชนะได้ไปแข่งจรวดขวดน้ำในระดับนานาชาติ
อีกการแข่งขันคือการออกแบบสร้าง satellite ที่อาศัยกลไกมากขึ้น จากจรวดขวดน้ำ ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ความรู้ในเชิงวิศวกรรม แต่ยังมีเรื่องการเขียนโปรแกรมซึ่งซับซ้อนมากขึ้นและขยายองค์ความรู้ได้มากกว่า จึงนำมาสู่โครงการ CanSat-Rocket Thailand
แม้ความซับซ้อนขององค์ความรู้และการแข่งขันจะเพิ่มสูงมากขึ้นจากจรวดขวดน้ำ จนดูเหมือนว่าอาจต้องจัดการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ก็พบว่า “จริง ๆ แล้วเด็กมัธยมฯ สามารถทำได้ และทำได้ดีมากเสียด้วย” กรรณิการ์กล่าวถึงความประทับใจ
CanSat กับร่มชูชีพที่ช่วยร่อนลงพื้นโลกอย่างปลอดภัย
‘‘เด็กที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ชอบเรื่องสิ่งประดิษฐ์หรือวิศวกรรม แต่อาจยังไม่เคยทำเรื่องที่ท้าทายมาก เมื่อมีโจทย์ มีเวที พวกเขาจึงได้รู้ว่าตนเองก็ทำได้ เยาวชนที่ได้ไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติจะเกิดแรงบันดาลใจ และนำแรงบันดาลใจนี้กลับมาแบ่งปัน ต่อยอด และเดินหน้าต่อไป’’
“ปีแรกทำโครงการนำร่องแค่ ๑๐ โรงเรียน เป็นช่วงทดลองรูปแบบของกิจกรรม เราเน้นการสร้างกิจกรรมที่สนับสนุนให้เยาวชนรวมตัวกันเพื่อออกแบบและสร้างโครงการด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเราเป็นผู้ช่วยวางกระบวนการ ไม่ได้เน้นเฉพาะการแข่งขัน”
อุปสรรคในช่วงเริ่มต้นคือต้นทุนที่สูงทำให้โครงการขยายตัวช้า และพื้นที่การดำเนินงานหรือสนามสำหรับการแข่งขันเยาวชนที่ได้รับโอกาสจึงต้องอยู่ในโรงเรียนที่มีพื้นที่มากพอและเหมาะสม เนื่องจากการปล่อย CanSat จะใช้จรวดยิงขึ้นฟ้า หรือใช้บอลลูนปล่อยจากที่สูง หลังจากนั้น CanSat จะกางร่มและเริ่มทำงาน เช่น วัดสภาพอากาศ ถ่ายภาพหรือวิดีโอ ฯลฯ
“เราเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปล่อยดาวเทียมของเยาวชน เนื่องจากต้องปล่อยดาวเทียมที่ความสูงประมาณ ๕๐๐ เมตรจากพื้นดิน โดยดาวเทียมสามารถร่อนลงมาได้อย่างปลอดภัย”
ถัดจากช่วงนำร่อง อพวช. เชิญอีกหลายโรงเรียนที่สนใจเทคโนโลยีอวกาศเข้ามาร่วมเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ทีมนักเรียนจะได้เข้าร่วมอบรม เสนอไอเดียก่อนเข้าค่ายเพื่อเตรียมความพร้อม และไปแข่งขันต่างประเทศ ซึ่งมีเวทีสำคัญ ๆหลายประเทศ ช่วง ค.ศ. ๒๐๑๘-๒๐๑๙ อพวช. พาเยาวชนไปสังเกตการณ์การแข่งขันในประเทศรัสเซีย และเวทีล่าสุดที่เข้าร่วมคือประเทศจีน
ภาพ : อพวช.
จากนี้พวกเขาตั้งใจพัฒนา CubeSat ดาวเทียมทรงลูกบาศก์ ซึ่งใกล้เคียงดาวเทียมจริงที่บรรดานักวิจัยใช้ CubeSat ที่ขนาดใหญ่กว่า CanSat จะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศโดยเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศและทำภารกิจต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูลหรือทำงานได้มากกว่า
“ในอดีตเรามักมองว่ายากและไกลตัว แต่โครงการเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนเกิดความมั่นใจที่จะเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้ต่อไป เขาอาจเรียนไฟฟ้า โค้ดดิ้ง จรวด เมื่อนำความรู้ทั้งหมดมาบูรณาการรวมกัน ก็สามารถสร้างดาวเทียมเก็บข้อมูลอุณหภูมิหรือบรรยากาศ ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่นการจัดการมลภาวะ
“เด็กส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการจะชอบเรื่องสิ่งประดิษฐ์หรือวิศวกรรม แต่อาจยังไม่เคยทำเรื่องที่ท้าทายมาก เมื่อมีโจทย์ มีเวที พวกเขาจึงได้รู้ว่าตนเองก็ทำได้ เยาวชนที่ไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติจะเกิดแรงบันดาลใจ และนำแรงบันดาลใจนี้กลับมาแบ่งปัน ต่อยอดและเดินหน้าต่อไปอีก”
Parabolic Flight
ปลูกพืชผักบนอวกาศ
ภาพ : สวทช.
เยาวชนไทยกับภารกิจใน Parabolic Flight
จะเป็นอย่างไรหากเยาวชนได้สัมผัสกับประสบการณ์ “สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเสมือนอยู่ในอวกาศ” รวมทั้งสามารถ “ทดลอง” และ “ปลูกพืช” บนอวกาศ
ดอกเตอร์นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ และ ปริทัศน์ เทียนทองนักวิชาการอาวุโส ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินโครงการด้านเทคโนโลยีอวกาศให้เยาวชนเรียนรู้และลงมือทำจริงมาหลายโครงการ
หนึ่งในโครงการเหล่านั้นคือ Parabolic Flight การทดลองบนเที่ยวบินจำลองสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนชั้นอวกาศ
ดอกเตอร์นำชัย ชีววิวรรธน์, ปริทัศน์ เทียนทอง
ภาพ : ฝ่ายภาพสารคดี
‘‘เยาวชนจะได้ร่วมออกแบบและวิเคราะห์ผลการทดลองวิทยาศาสตร์กับนักบินอวกาศ ก่อนการทดลอง นักบินอวกาศต้องศึกษาการทดลองที่เยาวชนเสนอมา และดูว่าต้องเตรียมอะไรจากโลกขึ้นไปบ้าง’’
แนวคิดของ Parabolic Flight คือ เที่ยวบินที่ออกแบบให้บินโค้งเป็นคลื่นเหมือนเส้นกราฟพาราโบลา สภาวะไร้น้ำหนักจะเกิดขึ้นในระยะเวลาราว ๒๐ วินาที ระหว่างก่อนขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของยอดโค้งและกลับลงมา
ดอกเตอร์นำชัยเสริมว่าวิธีการที่จะได้รู้สึกเหมือนอยู่ในอวกาศมีสองวิธีคือ Parabolic Flight และการดำน้ำที่ความลึกมาก ๆ จนรู้สึกใกล้เคียงกับสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นอีกวิธีในการฝึกนักบินอวกาศ
“ให้ออกแบบการทดลองที่ทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ๒๐ วินาที แต่สามารถทดลองซ้ำ ๑๐-๒๐ รอบ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมออกแบบและวิเคราะห์ผลการทดลองวิทยาศาสตร์กับนักบินอวกาศ” ปริทัศน์อธิบาย “ก่อนการทดลอง นักบินอวกาศต้องศึกษาการทดลองที่เยาวชนเสนอมาและดูว่าต้องเตรียมอะไรจากโลกขึ้นไปบ้าง
“ประสบการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่หาได้ง่าย ๆ”
วัดการเจริญเติบโตของเมล็ดพืชจากอวกาศที่นำมาปลูกบนพื้นโลก
ภาพ : https://www.esa.int/Education/Fly_Your_Thesis/Parabolic_manoeuvres
การทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ มักเหมาะกับการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเพราะเลี้ยงง่าย วัดการเติบโตได้ในระยะเวลา ๒๐ วินาที แต่ไอเดียต่อยอดคือหากเปลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรากินได้ล่ะ ? เช่น การปลูกพืชในยานอวกาศ เพราะปัจจุบันอาหารที่เตรียมให้นักบินอวกาศเป็นอาหารสำเร็จรูป แต่ในอนาคตนักบินอวกาศอาจปลูกพืชผักไว้ทำอาหารกินเองสำหรับการอาศัยอยู่บนอวกาศนานหลายเดือนหรือหลายปี
โครงการ Parabolic Flight ถือเป็นโครงการแรก ๆ ของการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอวกาศให้เยาวชนจัดมายาวนานนับแต่ ค.ศ. ๒๐๐๕ ถึง ค.ศ. ๒๐๑๓ จึงยุติ ก่อนจะมาริเริ่มโครงการเยาวชนอีกสองโครงการที่สานต่อไอเดียการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตหรือการปลูกพืชผักในยานอวกาศ นั่นคือ Space Seeds for Asian Future และ Asian Herb in Space
Space Seeds for Asian Future เป็นโครงการที่นำเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ขึ้นไปอยู่ในอวกาศระยะหนึ่ง แล้วนำกลับมาปลูกบนโลก เพื่อเปรียบเทียบว่าระหว่างเมล็ดพันธุ์ที่เคยไปอยู่บนอวกาศกับเมล็ดพันธุ์บนโลกจะเติบโตแตกต่างกันหรือไม่ โดยประเทศสมาชิกสามารถเลือกเมล็ดพันธุ์ใดก็ได้ส่งขึ้นไปในอวกาศพืชที่มีระยะการเติบโตสั้นจะสะดวกในการทดลองมากกว่าสำหรับเด็ก
“การปลูกพืชโตไวจำพวกพืชล้มลุกจะเหมาะสมที่สุด ประเทศไทยเสนอพืชสัญลักษณ์ของไทย คือพริกขี้หนู ประมาณ ๕๐ เมล็ด เก็บไว้บนอวกาศนาน ๔-๕ เดือน ก่อนนำกลับลงมา โดยสวทช. ชวนโรงเรียนทั่วประเทศมาสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อนำเมล็ดพริกไปปลูกที่โรงเรียน ได้ผลการทดลองว่า เมล็ดจากอวกาศเติบโตไม่ต่างจากเมล็ดทั่วไปบนพื้นโลก” ดอกเตอร์นำชัยอธิบาย
คล้ายคลึง Asian Herb in Space ซึ่งเจาะจงการนำ “สมุนไพร” ขึ้นไปบนอวกาศ
ปริทัศน์เล่าว่า “เราส่งเมล็ดราช-พฤกษ์ขึ้นไปอยู่นาน ๗ เดือน และกลับมาปลูกบนพื้นโลก โดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จัดเป็นกิจกรรมในชื่อ ‘ต้นราชพฤกษ์อวกาศ’ มอบให้มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐปลูก”
นอกจากการสร้างการมีส่วนร่วม ความประทับใจ และแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ผลลัพธ์ของโครงการคือการได้วาดภาพอนาคต ถึงความเป็นไปได้ของการดำรงชีวิตอยู่กลางอวกาศที่กว้างใหญ่
………….
เราต่างติดตามความเคลื่อนไหวบนฟากฟ้า แม้ด้วยองค์ความรู้อันเล็กจ้อยเมื่อเทียบกับสิ่งกว้างใหญ่ข้างนอกนั้นที่ชวนให้มนุษย์ไขว่คว้าไล่หาคำตอบและเพียรพยายามไปให้ถึง
แน่นอนว่าคงอีกไกลกว่า “คนไทยจะไปถึงอวกาศ” แต่โดยไม่หยุดฝีเท้า เราคงขยับเข้าใกล้ไปทุกที โดยเฉพาะเมื่อลองวัดจากเส้นพรมแดนความฝันของเรา