คอสมอส
จากบรรณาธิการ
หากให้แนะนำหนังสือวิทยาศาสตร์เพียงเล่มเดียวที่ต้องอ่านในชีวิตนี้อย่างพลาดไม่ได้
ขอแนะนำ Cosmos-คอสมอส (ฉบับแปลภาษาไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี)
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๓ แล้วภายในปีเดียวก็มีผู้อ่านถึง ๕ ล้านเล่ม ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ของ New York Times ยาวนาน ๗๐ สัปดาห์ติดต่อกัน
นักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยอมรับว่าหลงใหลวิทยาศาสตร์ เพราะได้อ่านหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียน คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) เล่าเรื่องราวอันเปรียบดั่งมหากาพย์แห่งเอกภพด้วยวรรณศิลป์อันงดงามและทรงพลังร้อยเรียงตำนาน นิทาน ประวัติอารยธรรม และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ จากกำเนิดชีวิตบนโลกถึงกำเนิดชีวิตแห่งดวงดาว ความใหญ่โตมโหฬารของเอกภพ ทั้งกาลและอวกาศ ที่ทำให้มนุษย์โลกต้องสำนึกในความเล็กกระจ้อยร่อยและไร้ความหมายของตน
“พวกเราก็เป็นดั่งผีเสื้อที่กระพือปีกนานแค่ชั่ววันเดียว แต่คิดว่านั่นคือเวลาชั่วนิจนิรันดร์”
แนวคิดสำคัญที่เซแกนสอดแทรกไว้ตลอด คือความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับชะตากรรมของเอกภพ ผ่านแรงกระตุ้นของความสงสัยใคร่รู้ นับแต่มนุษย์มองขึ้นไปบนฟากฟ้ายามค่ำคืน และมีคำถามว่า
ดวงดาวระยิบระยับนั้นคืออะไร
ในความพยายามเข้าใจสิ่งที่เกินกว่าจะเข้าใจ ต้องอาศัยทั้งความช่างสงสัย ความกล้าหาญที่จะออกสำรวจพรมแดนใหม่ ๆ พร้อมกับปฏิเสธความเชื่อเดิม ๆ และจินตนาการที่จะช่วยให้เราไปยังโลกที่ไม่เคยค้นพบ
ภาพชีวิตของนักสำรวจผู้พยายามก้าวเท้าจากชายหาดลึกลงไปในมหาสมุทรแห่งสัจธรรม ได้รับการเล่าขานผ่านแต่ละบท
เอราทอสเทนีส ผู้วัดขนาดโลกได้อย่างแม่นยำจากการวัดความยาวของเงาไม้ตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช โยฮันเนส เคปเลอร์ โปรเตสแตนต์ผู้ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการคำนวณวิถีโคจรของดาวเคราะห์ว่าต้องเป็นรูปวงกลมด้วยยึดมั่นว่าจักรวาลคือความสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อเปิดใจยอมรับความ “ไม่สมบูรณ์” เขาจึงค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของวิถีโคจรรูปวงรีเบี้ยว ซึ่งช่วยทำนายตำแหน่งดาวเคราะห์อีกหลายดวงที่ค้นพบหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว
เคปเลอร์ยังคาดว่าอำนาจแม่เหล็กกำหนดให้เกิดวิถีโคจร เช่นนั้น ก่อนที่ ไอแซก นิวตัน จะอธิบายว่าคืออำนาจของความโน้มถ่วงที่วัตถุส่งแรงกระทำต่อกัน แล้วต่อมา อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ได้วาดภาพเอกภพทั้งหมดใหม่ว่า คือสนามแห่งกาลและอวกาศที่บิดโค้งจากการกระทำของมวลสสาร คล้ายกับผืนผ้าใบที่ยุบตัวลงตามน้ำหนักของลูกบอล
Somnium - “ความฝัน” ที่เคปเลอร์แต่งขึ้น ถือเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรก ๆ ของโลก เขาจินตนาการถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ และได้ยืนมองโลกกำลังหมุนอย่างช้า ๆ กลางท้องฟ้า เพื่อเปลี่ยนความคิดของผู้คนในสมัยเขาเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อนที่ยังไม่เชื่อว่าโลกหมุนรอบตัวเอง
“วิทยาศาสตร์มีกฎอยู่สองข้อ ข้อแรกคือไม่มีความจริงใดเลยที่ศักดิ์สิทธิ์...ข้อที่ ๒ คือ ไม่ว่าอะไรก็ตาม หากไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเสียแล้ว ก็จะต้องโยนทิ้งไปหรือไม่ก็ปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ เราจะต้องเข้าใจจักรวาลอย่างที่มันเป็นอยู่จริงและไม่สับสนระหว่างการที่จักรวาลเป็นกับการที่เราปรารถนาจะให้จักรวาลเป็น”
มนุษย์กำเนิดจากบรรดาธาตุที่เป็นเศษซากของดวงดาววิวัฒน์จนเป็นชีวิตที่ต้องพึ่งพาความรู้เป็นพาหนะของความอยู่รอด
ครุ่นคิด ใคร่ครวญ ถึงจักรวาลและที่ทางของสปีชีส์ตนด้วยสติปัญญาอันอ่อนด้อย
“ผมเชื่อว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับว่าเรารู้เกี่ยวกับจักรวาลของเรามากเพียงใด จักรวาลที่เราล่องลอยไปดั่งผงธุลีในท้องฟ้ายามรุ่งอรุณ”
กว่า ๔๐ ปีที่ Cosmos ถือกำเนิด แม้จะมีการค้นพบใหม่ ๆ มากมาย แต่จิตวิญญาณแห่งการผจญภัยของมนุษย์นั้นยังคงเป็นดั่งที่ คาร์ล เซแกน เล่าขาน
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
ปฏิรูปการศึกษาไทย