Image
สัมภาษณ์
ดอกเตอร์ศรัณย์ โปษยะจินดา
ดาวเทียมไทยประดิษฐ์
พิชิตดวงจันทร์
 SpaceMission
[ คนไทยไปอวกาศ ]

เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
Image
วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔
มีการลงนามระหว่าง ๑๒ หน่วยงาน ก่อตั้งเป็น “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” (Thai Space Consortium : TSC) นำโดยเหล่าองค์การมหาชน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมกับการเปิดตัวภารกิจของภาคีฯ ซึ่งหมายมั่นปั้นมือจะส่งดาวเทียมไทยประดิษฐ์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี ๒๕๗๐

นับจากวันนั้นผ่านมา ๑ ปีเศษ ข่าวสารความคืบหน้าของโครงการมูลค่า ๒,๐๐๐ ล้านบาทที่หน่วยงานภาครัฐเผยแพร่มีไม่มากนัก  ด้วยความสงสัย เราจึงพกคำถามมากมายใส่กระเป๋าแล้วเดินทางมายังอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคุยกับดอกเตอร์ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการของภาคีความร่วมมืออวกาศไทย

นี่อาจเป็นโครงการอวกาศสำคัญที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา จึงอยากชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับภารกิจครั้งนี้พร้อม ๆ กัน ใน
Image
ใช้ดาวเทียมพัฒนาคน
“คุณรู้ไหมว่าคนไทยเคยสร้างดาวเทียมเล็ก ๆ หลายดวงส่งขึ้นไปบนอวกาศจริง ๆ”

ดอกเตอร์ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชายวัยกลางคนท่าทางใจดี ชิงถามเราก่อน

“มีนาคม ปี ๒๕๖๔ เด็ก ๆ ชั้นมัธยมฯ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนออกแบบและประกอบดาวเทียม BCCSAT-1 ขนาด ๑ กิโลกรัม ส่งไปกับจรวด Soyuz-2.1a ของรัสเซีย ย้อนไปเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือก็ส่งดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) ขนาดลูกบาศก์ ๑๐ เซนติเมตร ขึ้นไปกับจรวดฟัลคอน ๙ ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้นคนไทยกลับไม่เคยสร้างดาวเทียมสำหรับใช้งานจริงจังสักที”
Image
ดอกเตอร์ศรัณย์เกริ่นถึงสถานการณ์ของคนทำงานเกี่ยวกับอวกาศในไทยว่า ที่ผ่านมาคนไทยยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะออกแบบและสร้างดาวเทียมสำหรับใช้งานจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรบนพื้นโลกแบบดาวเทียมไทยโชต (ดาวเทียมธีออส) ดาวเทียมติดต่อโทรคมนาคม หรือดาวเทียมทางทหาร แม้ว่าประเทศไทยมีดาวเทียมใช้งานกันมาเกือบ ๓๐ ปีแล้วหากนับจาก “ดาวเทียมไทยคม ๑” ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทยที่ขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม ๒๕๓๖  นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมาความรู้ของคนไทยในเรื่องดาวเทียมอยู่แค่ในระดับผู้ใช้งานเท่านั้น

อธิบายเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวขึ้น หากถามทุกท่านว่ารู้วิธีใช้งานโทรศัพท์ไหม เชื่อว่าส่วนมากใช้งานโทรเข้า-ออกได้ แต่หากขอให้สร้างโทรศัพท์เครื่องใหม่ขึ้นมา นั่นคงจะเป็นคนละเรื่องกับคำถามก่อนหน้า ความรู้ของคนไทยในเรื่องดาวเทียมก็เป็นแบบนั้น

แม้เราจะใช้งานดาวเทียมมานาน แต่ก็ซื้อมาจากประเทศอื่น เมื่อต้องการดาวเทียมดวงใหม่ ก็มีแต่ควักเงินประเทศซื้อเท่านั้น ซึ่งราคาดาวเทียมแต่ละดวงยังเป็นหลักพันล้านบาท

เป้าหมายแรกของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยจึงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถคนทำงานด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศในไทยให้เก่ง มีความรู้ จนออกแบบและสร้างดาวเทียมที่ใช้งานได้จริง ในที่นี้คือต้องส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ เราจะทำด้วยฝีมือคนไทยทุกขั้นตอน เป็นดาวเทียมไทยคิดไทยประดิษฐ์นั่นเอง

“ผมมองว่าไม่ได้ยากเสียจนทำไม่ได้ ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีศักยภาพมากมาย ทั้งนักคณิตศาสตร์ขั้นสูง วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย รวมถึงเยาวชนที่มีส่วนร่วมในโครงการอวกาศของนานาชาติตั้งแต่ยังเด็ก อย่างเด็ก ๆ กลุ่มที่ทำดาวเทียมลูกบาศก์ตอนนี้ก็ไปเรียนต่อสายตรงเกี่ยวกับอวกาศที่อเมริกา ผมว่าวันหนึ่งเขาจะสร้างสิ่งใหม่ให้โลกนี้ได้อีกเยอะ ถ้าในไทยยังไม่มีตำแหน่งงาน ไม่มีสิ่งแวดล้อมดี ๆ ให้ พอเขาเรียนจบมา เราก็จะสูญเสียคนเหล่านี้ให้ต่างประเทศหมด” ดอกเตอร์ศรัณย์กล่าว
ห้องเรียนวิชาดาวเทียม
“ดาวเทียมดวงแรกที่จะปล่อยในโครงการของภาคีฯ คือ TSC-Pathfinder หรือ TSC-P ซึ่งเป็นใบเบิกทางตามชื่อเลย ยังไม่ใช่ยานที่เราสร้างเอง แต่เป็นเหมือนคอร์สฝึกฝนที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติส่งคนไทยไปเรียนรู้การออกแบบและสร้างดาวเทียมที่ฉางชุน ประเทศจีน เพื่อทำให้เราทำ TSC-1 และ 2 ได้อย่างมั่นใจ ขณะเราคุยกันอยู่นี้ ทีมวิศวกรชาวไทยที่ประเทศจีนก็กำลังประกอบดาวเทียมตัวนี้อยู่แล้วละ” ดอกเตอร์ศรัณย์กล่าว

การสร้างดาวเทียม TSC-Pathfinder จากความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและสถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุนก็คือห้องเรียนองค์ความรู้ในการฝึกฝนสร้างดาวเทียมไทย

TSC-Pathfinder เป็นดาวเทียมวิจัยขนาด ๘๐ กิโลกรัม พร้อมด้วยกล้องโทรทรรศน์สำรวจพื้นโลก ซึ่งจะผลิตประกอบทดสอบระบบทั้งหมดในประเทศจีน กำหนดปล่อยสู่วงโคจรในต้นปี ๒๕๖๖ โดยมีทีมวิศวกรไทยร่วมทำงานด้วยทุกขั้นตอน
Image
ภาพ : NARIT
“ในฝั่งของศูนย์ควบคุมและปฏิบัติการภาคพื้นโลก จะมีคนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA/จิสด้า) มาช่วยดูแลเพราะเรื่องการสำรวจพื้นโลกแล้ว จิสด้าเก่งที่สุดในไทย” ดอกเตอร์ศรัณย์อธิบาย

การดำเนินความร่วมมือทางการวิจัยกับประเทศอื่นจะช่วยให้ทีมวิศวกรไทยได้รับทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ในการผลิตดาวเทียม ตลอดจนโอกาสในการทดสอบระบบทั้งบนดาวเทียมและภาคพื้นโลก ก่อนจะออกแบบใหม่และสร้างเป็นดาวเทียมของไทยต่อไป
โอกาสใหม่ในอุตสาหกรรม
หลังจากปล่อยดาวเทียม TSC-Pathfinder สำเร็จ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทยมีแผนงานผลิตดาวเทียมสองดวง คือ TSC-1 กำหนดปล่อยโคจรรอบโลกในปี ๒๕๖๘ และ TSC-2 กำหนดปล่อยในปี ๒๕๗๐ โดยมีดวงจันทร์เป็นจุดหมาย ทั้งสองดวงนี้เป็นดาวเทียมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะใช้เก็บข้อมูลวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มีการบรรทุกอุปกรณ์สำหรับทำวิจัยไปกับดาวเทียม เรียกว่าเพย์โหลด (payload)

ดอกเตอร์ศรัณย์เล่าว่า ดาวเทียม TSC-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ไทยออกแบบและผลิตเองนั้น จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ กิโลเมตร โดยชิ้นส่วนหลายชิ้นของดาวเทียมจะผลิตและประกอบที่ห้องปฏิบัติการในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่นี่เอง

ส่วนอุปกรณ์วิจัยมีสองชุด คือ กล้อง hyperspectral imaging ซึ่งเป็นเพย์โหลดหลัก และมีชุดวิจัยสภาพอวกาศ (space weather) เป็นเพย์โหลดรอง  อุปกรณ์วิจัยเหล่านี้จะสร้างในไทยเช่นกัน มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของหัวข้อวิจัยเป็นผู้ดำเนินงาน

“กล้อง hyperspectral imaging เป็นเทคโนโลยีใหม่มาก ๆ  ที่ผ่านมาจิสด้ามีดาวเทียมธีออสถ่ายภาพสำรวจทรัพยากรได้อยู่แล้ว แต่กล้อง hyperspectral imaging สามารถบันทึกสเปกตรัมในทุกตำแหน่งของภาพได้ด้วย ต่อไปจะไม่ใช่แค่การดูภาพ แต่ดูสเปกตรัมของแต่ละสิ่งบนภาพนั้นและระบุได้เลยว่ามันคืออะไร” น้ำเสียงของดอกเตอร์ศรัณย์เต็มไปด้วยความตื่นเต้น

hyperspectral imaging คือเทคโนโลยีบันทึกความยาวคลื่นของแสงที่สะท้อนจากวัตถุ โดยรวมช่วงแสงที่ตามองไม่เห็นจึงประมวลผลข้อมูลเชิงลึกได้มากกว่าภาพถ่ายดาวเทียมที่ใช้กันอยู่ เช่น การนำสเปกตรัมมาแยกแยะปริมาณคลอโรฟิลล์และไนโตรเจนในแปลงเกษตร การวิเคราะห์แร่ธาตุใต้ดิน ฯลฯ

แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการวิจัยเทคโนโลยีนี้แพร่หลายมากขึ้น แต่ยังไม่มีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาด  ภาคีความร่วมมืออวกาศไทยจึงเลือกเทคโนโลยีนี้เป็นเพย์โหลดหลักที่จะวิจัยในดาวเทียม TSC-1 เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมอวกาศของไทยในฐานะผู้ส่งออกเทคโนโลยีการสำรวจเชิงลึก ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้กับระบบการเกษตรแม่นยำด้วยชุดข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและระบบปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการใช้บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้หรือคุณภาพอากาศด้วย
“เดิมเราใช้กล้องจากดาวเทียมถ่ายแปลงเกษตรแล้วเห็นแต่สีเขียว ๆ แต่ hyperspectral imaging จะจำแนกประเภทของผลผลิตได้ในทันที จะแยกได้ว่าตรงนี้คือข้าวโพด ข้าวฟ่างข้าวเจ้า ตรงนี้คือสวนยางพารา หรือการจำแนกโรคพืชก็ทำได้ทันทีจากในไร่” ดอกเตอร์ศรัณย์อธิบาย
ดาวเทียมไทยจะไปดวงจันทร์
“สำหรับ TSC-2 คนชอบเข้าใจผิดกัน เราไม่ได้จะส่งคนขึ้นไปนะครับ ส่งไปแต่หุ่นยนต์”

ดอกเตอร์ศรัณย์เล่าภารกิจดาวเทียม TSC-2 ว่าจะใช้เทคโนโลยีหลายอย่างจาก TSC-1 แต่มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณการว่าดาวเทียมดวงนี้จะหนักถึง ๓๐๐ กิโลกรัม และเพราะจุดหมายคือดวงจันทร์ จึงมีความท้าทายใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา เช่นเมื่อดาวเทียมออกนอกพื้นที่สนามแม่เหล็กโลกที่คอยปกป้องเราจากรังสีต่าง ๆ ดาวเทียม TSC-2 ก็จะต้องปะทะกับรังสีเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า ตัวดาวเทียมต้องทนต่อรังสีและความร้อนสูง ซึ่งงานด้านวัสดุศาสตร์และการพัฒนาวัสดุฉลาด (smart material) ชนิดใหม่ ๆ จะตอบโจทย์ความท้าทายแรกนี้

ความท้าทายที่ ๒ คือการติดต่อสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับพื้นโลก ที่ผ่านมาไทยมีประสบการณ์ในการสื่อสารกับดาวเทียมที่โคจรรอบโลก แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างดวงจันทร์กับพื้นโลกซึ่งห่างกันประมาณ ๓.๘ แสนกิโลเมตรนั้นเป็นอีกโจทย์หนึ่ง

ความท้าทายนี้ไม่น่ากังวลนัก เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National
Radio Observatory, TNRO) ซึ่งมีศักยภาพในการรับและส่งสัญญาณระหว่างโลกและดวงจันทร์ได้

“หัวใจสำคัญของงานด้านอวกาศคือการเตรียมรับมือกับความเสี่ยง โจทย์เรื่องการสื่อสารที่ระยะไกลก็อาจต้องส่งดาวเทียมดวงเล็ก ๆ ไปที่ดวงจันทร์ก่อน แล้วใช้จานรับสัญญาณในการสื่อสาร ทดสอบระบบจับตำแหน่งต่าง ๆ  ฝึกให้คนของเราคุ้นเคยก่อนจะทำจริงกับ TSC-2” ดอกเตอร์ศรัณย์เสริม

ความท้าทายต่าง ๆ ที่ผู้อยู่เบื้องหลังงานส่งดาวเทียมไปดวงจันทร์กำลังเผชิญทำให้เราเข้าใจถึงจุดประสงค์ของโครงการมากขึ้น ว่าการไปดวงจันทร์นั้นไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่เป็นการมอบโจทย์ที่ท้าทายให้คนทำงาน ให้ทุกคนได้เรียนรู้ ลองทำ ฝึกฝน และพัฒนาความสามารถของตนเอง

“เราเลือกโจทย์ดวงจันทร์ เพราะไม่แพงมาก ประเมินแล้วว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ถ้ามีกำลังคนเพียงพอ ให้เวลาและงบประมาณระดับหนึ่ง  ถ้าดูแค่ตัวเลข ดาวเทียมราคา ๑,๐๕๐ ล้านบาทอาจดูแพงนะ แต่หลัก ๆ นั่นคือค่าส่งจรวดซึ่งประเมินแล้วว่าไทยยังทำเองไม่ไหว ต้องจ้างประเทศอื่นก่อน  ตัวดาวเทียมจริง ๆ น่าจะใช้ไม่ถึง ๓๐๐ ล้านบาท ถูกกว่าทางยกระดับข้ามสี่แยกไฟแดงเสียอีก น่าจะเป็นการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยงบประมาณถูกที่สุดเท่าที่โลกเคยทำมาด้วยซ้ำ จำนวนเงินที่ทุ่มไปนี้ก็เพื่อสร้างความสามารถของคนไทยที่อยู่บนพื้นโลก”

ดอกเตอร์ศรัณย์มองว่าเมื่อถึงวันที่คนไทยพิสูจน์ตัวเองผ่านการส่งดาวเทียมไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ คนไทยจะเก่งขึ้นกว่าปัจจุบันมาก ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วัสดุศาสตร์ ฯลฯ จะมีองค์ความรู้เฉพาะที่นำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อีกมากมาย
scrollable-image
อุตสาหกรรมอวกาศกับอนาคตของเศรษฐกิจไทย
“มีการประมาณกันว่าอุตสาหกรรมอวกาศโลกในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะมีมูลค่ารวม ๑๐๐ ล้านล้านบาท ใหญ่กว่ามูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดในประเทศไทย ๕ เท่า ถ้าเราได้ทำสัก ๑ เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นเงิน ๑ ล้านล้านบาท แบบนั้น GDP ไทยจะโตขึ้นอีกเยอะเลย เราไม่อยากให้เมืองไทยตกรถไฟขบวนนี้ แต่ถ้าจะบอกว่าลงทุน ๒,๐๐๐ ล้านส่งดาวเทียมแล้วเมืองไทยจะเจริญเลย ก็คงไม่ใช่”

เราชวนดอกเตอร์ศรัณย์คุยถึงเศรษฐกิจประเทศในอนาคต
วันที่คนไทยมีความรู้ความสามารถมากพอจะมีที่ยืนในอุตสาหกรรมอวกาศของโลก เขาจึงอธิบายถึงอุตสาหกรรมอวกาศว่าแบ่งเป็นหลายระดับด้วยกัน บางส่วนเป็นเทคโนโลยีที่คุ้นเคยและใช้งานกันอยู่แล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมอวกาศแบบปลายน้ำ (downstream space tech) อย่างจานรับสัญญาณเคเบิลทีวี การใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันแผนที่ในโทรศัพท์มือถือ หรือจะขยับออกไปอีกนิดอย่างการเข้าถึงฐานข้อมูลเรื่องระบบนิเวศ ป่า ทรัพยากรใต้แผ่นดิน แหล่งแร่ธาตุต่าง ๆ ก็บันทึกจัดเก็บโดยดาวเทียมในอวกาศทั้งนั้น

ด้านอุตสาหกรรมอวกาศแบบกลางน้ำ (midstream space tech) คือส่วนที่ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลระหว่างพื้นโลกกับอวกาศเป็น uplink-downlink station ในไทยก็มีบ้างแล้ว เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมีสถานีที่ดีมาก ๆ ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่มูลค่ารวมอาจไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอีกสองส่วน

อุตสาหกรรมอวกาศแบบต้นน้ำ (upstream space tech) คือส่วนที่เมืองไทยไม่เคยมี นั่นคือการออกแบบและสร้างอุปกรณ์ที่จะส่งขึ้นไปบนอวกาศทั้งหมด เราไม่มีจรวด ไม่มีดาวเทียมที่สร้างเองและใช้งานได้จริง ๆ แต่ TSC จะช่วยให้คนไทยเริ่มเข้ามาทำอุตสาหกรรมนี้ได้

“อยากให้เมืองไทยได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับอวกาศต้นน้ำเพราะมีมูลค่าเพิ่มสูงมาก”

ดอกเตอร์ศรัณย์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า คอมพิวเตอร์พกพาในทุกวันนี้มีราคาซื้อขายอยู่ที่หลักหมื่นบาท แต่ถ้าคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมได้รับการทดสอบและรับรองว่าใช้งานบนอวกาศได้ ทนรังสีได้ ขึ้นไปอยู่บนดาวเทียมได้ ราคาอาจกลายเป็นหลักสิบล้านได้เลย

ในอดีตโครงการอวกาศในอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ยานอวกาศนั้นดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐของประเทศมหาอำนาจ เช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกเงินทุนให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เพื่อทำภารกิจส่งคนไปดวงจันทร์และกลับมาอย่างปลอดภัย เพราะโครงการเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเอกชนจะลงทุนทำเอง
Image
แต่ปัจจุบันเทคนิคด้านวิศวกรรมขั้นสูงแพร่หลายมากขึ้น ความเสี่ยงลดลง มีต้นทุนถูกลง จึงเริ่มเห็นบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ เข้ามาทำธุรกิจส่วนนี้มากขึ้น ตัวอย่างเอกชนที่คนไทยน่าจะคุ้นหูคือบริษัท SpaceX ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างจรวดส่งยานอวกาศที่กลับมาลงจอดบนพื้นโลกและนำกลับมาใช้งานซ้ำได้เป็นครั้งแรกของโลก

“ผมมองว่าวันหนึ่งพวกวิศวกรรุ่นใหม่คนไทยจะออกไปทำธุรกิจสตาร์ตอัปของตัวเอง ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เขาเชี่ยวชาญ บางคนอาจทำระบบคอมพิวเตอร์ บางคนทำแผงวงจรที่ใช้รับส่งข้อมูล ในอุตสาหกรรมอวกาศไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นโรงงานใหญ่ผลิตดาวเทียมทั้งดวง แค่ทำชิ้นส่วนสักชิ้นหนึ่งก็รวยมหาศาลแล้ว”

ผลของการพัฒนาเทคโนโลยีส่วนหนึ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็นำพาความเสี่ยงมาเช่นกัน

ดอกเตอร์ศรัณย์ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีมูลค่าส่งออกคิดเป็น ๒๔ เปอร์เซ็นต์ของไทยมีแรงงานในระบบ ๖ แสนคน แต่มากกว่า ๔.๔ แสนคนกำลังเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในอนาคตอันใกล้

“ในแง่เศรษฐกิจ ถ้าเมืองไทยอยากหนีจากการถูกแทนที่นี้ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ไทยต้องหลุดจากการเป็นประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางโดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ  ส่วนหน้าที่ของพวกเราในฐานะหน่วยงานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ก็จะเป็นแหล่งบ่มเพาะให้เกิดคนที่เก่งที่สุด” ดอกเตอร์ศรัณย์กล่าว

. . .

เย็นวันนั้นเราเดินออกจากอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรด้วยความรู้สึกหลายอย่างผสมปนเปกัน ใจหนึ่งตื่นเต้นที่จะได้เห็นดาวเทียมฝีมือคนไทยไปปฏิบัติงานอยู่บนอวกาศ จนอยากจะขอกำหนดการที่แน่นอนของการส่งดาวเทียม TSC-Pathfinder เพื่อเตรียมรับบทกองเชียร์เกาะขอบหน้าจอดูถ่ายทอดสดและร่วมนับถอยหลังการปล่อยจรวด อีกใจหนึ่งก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าเมื่อถึงปี ๒๕๗๐ ในวันที่ดาวเทียมไทยประดิษฐ์ TSC-2 โคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

เสียงดอกเตอร์ศรัณย์ที่ฝากความหวังไว้ยังก้องอยู่ว่า

“เมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อนตอน นีล อาร์มสตรอง ไปเหยียบดวงจันทร์ ผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ได้ดูเหตุการณ์นั้นผ่านหน้าจอทีวี  ลึก ๆ แล้วเหตุการณ์นั้นน่าจะมีส่วนทำให้อยากเรียนวิทยาศาสตร์จนโตมาเป็นผมในทุกวันนี้... แบบเดียวกัน มันก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันเป็นแสนเป็นล้านคนอยากทำงานเกี่ยวกับอวกาศ ผมอยากให้เด็กไทยรู้สึกว่าถ้าเขาอยากทำเรื่องอวกาศเขาก็ทำได้ ที่นี่ ในประเทศนี้”
สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจคือ วันที่ดาวเทียมไทยประดิษฐ์โคจรในอวกาศ ความรู้สึกต่ออวกาศของเด็ก ๆ ทั่วประเทศไทยคงเปลี่ยนไปตลอดกาล