แผ่นใยจากดิน
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ลองว่าคนไทยคิดสร้างสรรค์สิ่งใด หลายผลงานก็โดดเด่น
แผ่นใยตรงหน้า ผิวเผินดูคล้ายหนังสัตว์ แท้แล้วกำเนิดจากดินจะพูดให้ถูก ต้องลงรายละเอียดว่าเป็นวัสดุจาก “เซลลูโลสชีวภาพ” สร้างด้วย “แบคทีเรียสเตรปโตมัยซิส” (Streptomyces) ที่พบในดิน
นักออกแบบผสานวัสดุจากความรู้วิทยาศาสตร์กับศิลปะ นำดินมาสังเคราะห์ร่วมกับสารบางชนิด เกือบสัปดาห์จึงสังเกตเห็นแผ่นสีขาว บาง ทึบแสง ก่อตัวขึ้นบนผิวน้ำ อีกราว ๓ สัปดาห์จึงเห็นว่าแบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงพัฒนาอย่างเต็มที่เป็น “แผ่นเซลลูโลส” หนาไม่ถึงเซนติเมตร วัสดุส่งกลิ่นเปรี้ยวเล็กน้อย พื้นผิวไม่สม่ำเสมอ แต่ลื่น ลักษณะของผิวมีความโปร่งไปจนทึบแสง ออกสีน้ำตาลหลายเฉด
เมื่อนำมาพัฒนาต่อก็ได้ “เซลลูโลสอุดมด้วยเมลานิน” เป็นแผ่นคล้ายผืนผ้า
ผลทดสอบจากสถาบันวิจัยของบริษัทไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) รับรองว่าวัสดุนี้มีกายภาพอ่อนตัว มีความเป็นกรดด่าง แข็งแรงทนทานต่อแรงดึงและแรงฉีกขาด รวมถึงให้สีที่คงทนต่อการซักตามมาตรฐาน
ในโลกของแฟชั่นที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนบ่อย นับวันสังคมยิ่งให้ความสำคัญกับแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “วัสดุแผ่นใยทดแทน” นี้จึงไม่เพียงเป็นการหมุนเวียนประโยชน์จากสสารธรรมชาติ แผ่นเซลลูโลสที่อุดมด้วยเมลานินยังมีความหนาที่แตกต่างตามวัตถุประสงค์การผลิตเครื่องแต่งกายเพื่อกำหนดขนาดตามต้องการได้ (ไม่เกิน ๗๕ x ๑๔๐ เซนติเมตร)
ในทางศิลปะยังได้ทำหน้าที่สื่อสารถึงสุนทรียภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย
เมื่อผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมลานินจากดินมีลักษณะเหมือนเมลานินในมนุษย์ !
เอื้อเฟื้อวัสดุ : INDIN STUDIO และ TCDC BANGKOK