ปั๊บ-ชยภัทร อาชีวระงับโรค และ เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
SPACETH.CO
สื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่
กับการทำอวกาศ
ให้เป็นประชาธิปไตย
Space Talk
[ คนไทยไปอวกาศ ]
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : วีรวิทย์ สามปรุ
“การขี้ในอวกาศ”
“ความสัมพันธ์ทางอวกาศภายใต้วิกฤตการณ์ยูเครน”
“เมื่อพระทำโครงการส่งพระพุทธรูปไปอวกาศ และขาย NFT”
“ทอม ครูซ จะไปถ่ายหนังบนอวกาศ ? จะออกมาแบบไหน”
“Space Grade Material ? iPhone ของเราใช้วัสดุแบบเดียวกับยานอวกาศจริงเหรอ”
และอื่นๆ อีกมากมาย
ชื่อเรื่องเหล่านี้คือบทความในสเปซทีเอชดอทซีโอ (SPACETH.CO) สื่อออนไลน์ด้านอวกาศที่มีผู้ติดตามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องสุดล้ำเกี่ยวกับอวกาศผ่านภาษาที่ทั้งง่ายและจริงจัง แต่บางครั้งก็แสบ ๆ กวน ๆ
แทนที่จะรอชมผลงานใหม่ ๆ ของพวกเขาบนอินเทอร์เน็ตเหมือนทุกที วันนี้ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใจกลางเมืองกรุงเทพฯที่สว่างไสวจนมองไม่เห็นแสงดาว เรามีโอกาสพูดคุยกับ เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊กนี้ และปั๊บ-ชยภัทร อาชีวระงับโรค เทคโนโลจิสต์ประจำกลุ่ม เพื่อฟังเรื่องราว “การทำอวกาศให้เป็นประชาธิปไตย” ของพวกเขา
และจะยินดีจากใจ หากคุณผู้อ่านทุกท่านจะร่วมฟังไปพร้อม ๆ กัน
การรวมตัวของ
เหล่าสเปซเนิร์ด
“Spaceth เกิดขึ้นมาเพราะเราอยากให้มีสื่ออวกาศที่ไม่ได้
มาจากหน่วยงานรัฐหรือสถาบันใหญ่ ๆ แต่เป็นสื่อที่ทำโดยคนที่สนใจเรื่องนี้จริง ๆ”
เติ้ลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสเปซทีเอชดอทซีโอเมื่อ ๕ ปีก่อน ว่าเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีและคลั่งไคล้เรื่องอวกาศ ในภาษาอังกฤษเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “สเปซเนิร์ด” ทีมทำงานเริ่มต้นล้วนเป็นเด็กวัยเรียน เติ้ลที่เป็นพี่ใหญ่สุดในตอนนั้นอายุ ๑๙ ปี ส่วนน้องในทีมที่เด็กที่สุดอายุเพียง ๑๓ ปี หลังจากเปิดเว็บไซต์ไม่นานก็ได้รับรางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog Awards 2017 by CP All จนเป็นที่ฮือฮาว่าความชอบของเด็กกลุ่มหนึ่งสามารถเกิดเป็นสื่อขึ้นมาได้
“ในมุมมองของเรา ช่วงปีนั้นเกิดเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊กเยอะมาก สื่อใหญ่ ๆ ก็หันมาทำฝั่งออนไลน์เยอะขึ้น แต่เนื้อหา
เป็นการคัดลอกบทพูดสำหรับรายการทีวีหรือข้อความจาก
หนังสือพิมพ์มาเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์เฉย ๆ ส่วนเนื้อหาของ Spaceth เขียนขึ้นจากกลุ่มคนที่เติบโตมากับโลกออนไลน์ ใช้ภาษา วิธีการแบบคนในโลกออนไลน์แท้ ๆ มีการพูดถึงประเด็นทางสังคม การเมือง ใช้คำหยาบบ้าง แอบแซะบ้าง เขียนคำที่ตลก ๆ บ้าง พอนำมาเล่าเรื่องอวกาศที่จริงจังเลย น่าจะเป็นรูปแบบแปลกใหม่” เติ้ลกล่าว
“ส่วนเนื้อหาก็แล้วแต่ว่าใครสนใจอะไร เนิร์ดเรื่องอะไร
บางคนสนใจเรื่องจรวด การสำรวจเอกภพ อวกาศในเชิงวัฒนธรรม อย่างตัวปั๊บเองเป็นเด็กโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ ชอบเขียนโปรแกรม ช่วงที่ครบรอบ ๕๐ ปีโครงการอะพอลโล ๑๑ มีโอกาสกลับมาอ่านเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้บนจรวด ‘Saturn 5’ ที่ไปดวงจันทร์ รวมถึงระบบนำทางการลงจอดต่าง ๆ ของยาน ซึ่งเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของวงการคอมพิวเตอร์ที่ทำให้โลกหลังจากนั้นพลิกไป ตอนนั้นตามอ่านจนได้ลองไปเล่นเลยครับว่าจริง ๆ นักบินอวกาศเขาต้องกดปุ่มยังไงบ้าง ระบบโปรแกรมข้างในถูกเขียนขึ้นมายังไง” ปั๊บแนะนำตัว
ปั๊บตัดสินใจเขียนเล่าเรื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนี้ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนจะถูกเติ้ลชักชวนให้นำไปเผยแพร่ใหม่บนเว็บไซต์ spaceth.co ในชื่อบทความ “Apollo Guidance Computer ในวันที่โลกยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์” หลังจากนั้นปั๊บก็ยังคงเขียนบทความใหม่ ๆ ให้เว็บไซต์เรื่อยมา
‘‘ปั๊บชอบอวกาศในแง่มุมของประวัติศาสตร์ทั้งในอดีตและอนาคต ชอบเรื่องสังคมด้วย เลยชอบเวลาได้เห็นว่าอวกาศช่วยขับเคลื่อนสังคม และจะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมในอนาคตเป็นยังไง แม้แต่การที่ต้องสร้างวัฒนธรรมบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้คนสนับสนุนโครงการอวกาศ มันทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วโลกของเรามีความซับซ้อนสูงมาก และอวกาศก็เป็นตัวกลางหนึ่งที่น่าสนใจในการเจาะเข้าไปถึงเรื่องราวที่ซับซ้อนนี้’’
วิธีทำงาน
ของเด็ก Gen Z
“การทำงานของ Spaceth คืออยากทำอะไรก็ทำ แต่ละคนในทีมมาด้วยความชอบ ทักษะ และความต้องการที่จะสื่อสารในประเด็นที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนเชื่อตรงกันว่าอวกาศยึดโยงกับเรา”
เติ้ลเล่าว่าเขาเลือกคนที่สนใจอวกาศจริง ๆ มีใจรักจริง ๆ
มาทำงาน หากสมาชิกในทีมคนไหนอยากเล่าเนื้อหาเรื่องอะไรรูปแบบไหน ก็จะปล่อยให้ทำอย่างเต็มที่ เขาอยากให้ Spaceth เป็นที่ที่ทุกคนจะเป็นตัวของตัวเองได้ สุดท้ายผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหน ค่อยไปเปลี่ยนรูปแบบแพลตฟอร์มเว็บไซต์ช่องทางการเผยแพร่ รวมถึงรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสิ่งที่คนในทีมอยากจะสื่อสารกันทีหลังเป็นรูปแบบการทำงานที่อิสระและยืดหยุ่นมาก ๆ
“ในทีมมีน้องคนหนึ่งชื่อนิก เขาชอบทำวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอเรียนสายภาพยนตร์ จากที่เว็บไซต์เรามีแต่งานเขียนบทความตอนนี้ก็มีคลิปวิดีโอแล้ว หรือน้องคนหนึ่งชื่อเช้ง (Change) ชอบอ่านงานวิจัยมาก น้องก็อ่านเยอะ ๆ แล้วขมวดประเด็นมาเขียนเล่า ก็จะมีความวิชาการขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ได้ห่างไกลจนไม่ยึดโยงกับคน” เติ้ลเล่าถึงน้อง ๆ ในทีม
สมาชิก Spaceth ทำงานจากระยะไกล ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคนอยู่ต่างจังหวัด บางคน เช่น นิก และเช้ง กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พวกเขาจึงเป็นทีมสื่อออนไลน์ที่ไม่มีห้องทำงาน ออฟฟิศ ตารางเข้าออกงาน และแทบจะไม่มีการประชุม
“ถ้าเฉลี่ยเป็นรายเดือน เราประชุมทีมน้อยกว่าเดือนละครั้งบางเดือนไม่มีประชุมเลย เมื่อก่อนผู้ใหญ่จะไม่เข้าใจวิธีการทำงานนี้ เขาตกใจมากเลยว่า Spaceth ไม่มีออฟฟิศได้ยังไง ซึ่งอธิบายเท่าไรเขาก็ไม่เข้าใจ แต่เพราะการมาถึงของโควิด-๑๙ ทุกคนน่าจะเชื่อแล้วว่าการนั่งคิดงานที่บ้าน ทำงานตามร้านกาแฟ ประชุมงานทางไกลมันเป็นสิ่งที่ทำได้”
ปั๊บยังพูดเสริมด้วยว่า การทำงานที่อิสระของ Spaceth ทำให้เห็นการทดลองและการเติบโตของแต่ละคน เพราะหลายคนในทีมอาจจะยังไม่เจอสูตรสำเร็จของตัวเอง ยังอยู่ในช่วงวัยที่อยากทดลองอะไรสักอย่างหนึ่ง และก็เพราะแบบนั้นเอง การสร้างสรรค์ผลงานของแต่ละคนเลยไม่ใช่งานแบบเช้าชามเย็นชามหรือเขียนบทความไปวัน ๆ แต่งานทุกชิ้นเป็นผลลัพธ์ของความพยายามอย่างเข้มข้นในการตามหาตัวตน ขณะเดียวกันการเติบโตของแต่ละคนก็ช่วยประกอบสร้างรวมกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้ Spaceth
“หลายคนก็เข้า ๆ ออก ๆ นะ ทำงานกับเราสักพักแล้วก็ออกไปหลายคนเข้ามาใหม่ เปลี่ยนบุคลิก เปลี่ยนสไตล์งานของ Spaceth ไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน” ปั๊บกล่าว
“Spaceth ก็โตขึ้นตามอายุของแต่ละคนนั่นแหละ ตอนนี้มีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจริงจังขึ้น ถ้าใครติดตาม Spaceth ตั้งแต่ต้นจะเหมือนเห็นการเติบโตของเด็กคนหนึ่งเลย” เติ้ลเสริม
วิทยาศาสตร์แท้
วิทยาศาสตร์เทียม
“ที่ต่างประเทศ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ต้องปวดหัวกับกลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกแบน การลงจอดบนดวงจันทร์เป็นเรื่องหลอกลวง มีทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ฯลฯ ในไทย พวกคุณต้องเจออะไรแบบนี้บ้างไหม” เราถาม
เติ้ลและปั๊บหัวเราะก่อนจะตอบว่า “วิทยาศาสตร์เทียม”
วิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) คือระบบความคิดหรือทฤษฎีที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กล่าวคือไม่สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบได้
คนไทยเราอาจจะคุ้นเคยกับการเรียกรวม ๆ สิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า “ความเชื่อ” เช่น ลูกไฟลึกลับในแม่น้ำโขงนั้นเกิดจากพญานาค หรือการที่คนขยับตัวไม่ได้หลังจากตื่นนอนเป็นเพราะโดนผีอำ แต่ก็ยังมีอีกหลายความเชื่อที่มีความพยายามนำเสนอด้วยหลักการหรือทฤษฎีบางอย่างที่มีความสมัยใหม่มากขึ้น เช่น กรุ๊ปเลือดส่งผลต่อนิสัยของคน การดื่มน้ำมะนาวโซดามีส่วนช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการพิสูจน์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
แต่หากจู่ ๆ มีคนลุกขึ้นมาบอกว่า เขาหายจากโรคมะเร็งด้วยการดื่มน้ำมะนาวโซดาล่ะ คำพูดของเขาจะทำให้ทฤษฎีนี้กลายเป็น “วิทยาศาสตร์แท้” ไหม
เราจะขีดเส้นแบ่งระหว่าง “วิทยาศาสตร์แท้” และ “วิทยาศาสตร์เทียม” อย่างไร
ในปี ๒๔๗๗ นักปรัชญาวิทยาศาสตร์และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา คาร์ล ป็อปเปอร์ ตีพิมพ์หนังสือ The Logic of Scientific Discovery นำเสนอวิธี “การพิสูจน์ความเป็นเท็จ” (Theory of Falsification) ที่มองว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเพียงองค์ความรู้ชั่วคราวและเปลี่ยนแปลงได้หากมีการค้นพบใหม่ ๆ ดังนั้นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์จะต้องถูกพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีการตั้งทฤษฎีว่า“ห่านทุกตัวมีสีขาว” สิ่งนี้จะถือว่าเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์จนกว่าจะมีการค้นพบ “ห่านสีอื่น” ตัวแรกนั่นเอง
วิทยาศาสตร์แท้จึงท้าทายให้คนมาพิสูจน์ รอให้ใครสักคนค้นพบหลักฐานสักชิ้นที่จะบอกว่าทฤษฎีของตัวเองนั้นผิด ในขณะที่วิทยาศาสตร์เทียมนั้นอาศัยแค่ “คำยืนยัน” จากใครก็ได้สักคนหนึ่ง โดยที่กับคนอื่น ๆ อาจจะมีผลลัพธ์แตกต่างออกไป
จากหลักการที่มองว่าความจริงเป็นสิ่งไม่แท้แบบนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีทฤษฎีมากมายที่ไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นเท็จด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ถ้าบอกว่าคนกรุ๊ปเลือด A เป็นคนจริงจัง เราจะชั่งตวงวัด “ความจริงจัง” กันอย่างไร แนวคิดนี้อาจเป็นจริงหรือเท็จก็ได้ แต่ไม่มีวิธีชั่งตวงวัดเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ ในกรณีนี้ก็จะถือว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตของวิทยาศาสตร์นั่นเอง
“คนตะวันตกที่ต่อต้านวิทยาศาสตร์ส่วนมากจะคลั่งศาสนาเอาข้อเขียนจากคัมภีร์มาใช้อธิบายสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ ฯลฯ เราไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้ผิดนะ แต่มันพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้เท่านั้นเอง เป็นคนละเรื่องกัน ส่วนในไทยจะมีกรณีเฉพาะตัวคือความเข้าใจที่ว่า ‘ศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์’ เมื่อมีการค้นพบใหม่ ๆ เลยมีคนบอกว่า ‘พระพุทธเจ้ารู้มาก่อนแล้ว’ หรือว่า ‘สิ่งนี้เหมือนในพระไตรปิฎกเลย’ กลายเป็นว่าคนยิ่งมั่นใจในความเชื่อของตัวเองมากขึ้น แต่พยายามพิสูจน์น้อยลง เหมือนเอาชุดความเชื่อของตนเองมาเอ่ยอ้างทับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ผ่านการพิสูจน์ตามหลักการ เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา”
เติ้ลมองว่าการที่คนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนเป็นวิทยาศาสตร์แท้-วิทยาศาสตร์เทียมเป็นอุปสรรคของสังคม โดยเฉพาะบริบทแบบสังคมไทยที่ยังมีปัญหาการหลงเชื่อข่าวปลอมอย่างแพร่หลาย
“ปั๊บว่าสิ่งนี้คือปัญหาของการศึกษาวิทยาศาสตร์ไทยในห้องเรียน เราพูดกันเสมอว่าสิ่งสำคัญของวิทยาศาสตร์คือกระบวนการ องค์ความรู้เปลี่ยนได้ แต่ในห้องเรียนไทยมักจะสอนให้ท่องจำผลลัพธ์ไปเลย จำว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์โดยที่ไม่ได้สนใจว่าในอดีตเขาพิสูจน์สิ่งนี้กันได้อย่างไร”
ปั๊บยังอธิบายเสริมว่า ในบริบทของประเทศไทย การมองข้ามกระบวนการพิสูจน์ความเป็นเท็จนั้นยังนำไปสู่การยกย่องบุคคล อย่างการมีภาพจำว่า หากนักวิจัยหรือคนมีตำแหน่งดอกเตอร์นำหน้าชื่อเป็นคนพูด สิ่งนั้นจะต้องถูกเสมอ ถ้าเป็นคนรวยมาพูดเรื่องธุรกิจ คนก็จะเชื่อหมด หรือเมื่อมีคนพูดตรงกับที่เราคิด เราก็มักจะไปยินดีด้วย ทั้ง ๆ ที่ที่มาที่ไปอาจไม่เหมือนกันก็ได้
“พูดอย่างนี้เราไม่ได้บอกว่าศาสนาผิดหรือไม่ดีนะ ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นมาเพื่อใช้กับชีวิตและสังคมมนุษย์ในคนละแง่มุมกัน ไม่จำเป็นต้องเอามาปนกันเพื่อยกให้ฝั่งใดฝังหนึ่งสูงส่งขึ้นกว่าเดิม” ปั๊บกล่าว
กระตุกจิต
กระชากใจ
หลายคนในประเทศไทยอาจเคยเห็นเติ้ล-ณัฐนนท์ในสื่อบ้าง ไม่ใช่ในฐานะบรรณาธิการบริหารของ Spaceth แต่ในฐานะของเด็กผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ถูกจับ เนื่องจากเดินเข้าไปยื่นโบสีขาวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓
“ส่วนตัวเราเป็นคนชอบก่อกวนทางความคิดน่ะ มองว่าการจะทำให้คนคนหนึ่ง ‘คิดได้’ เนี่ย ต้องทำมากกว่าการไปขัดแย้งกับสิ่งเดิมที่เขาคิด มันคือการโยนโลกใบใหม่ให้เลย ในทีมเราเรียกกันง่าย ๆ ว่ากระตุกจิตกระชากใจ”
เติ้ลอธิบายว่า ทั้งการยื่นโบขาว เขียนคำหยาบในบทความวิทยาศาสตร์ คือการทำสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหวังปรกติของผู้คน และถามเขาตรง ๆ ว่าขณะที่กำลังเจอเรื่องคาดไม่ถึงไม่เข้าใจ คุณคิดอะไรอยู่ คุณจัดการกับความรู้สึกนึกคิดภายในกับสิ่งตรงหน้าอย่างไร
“เป็นการเปิดโลกคนน่ะ อย่างตอนเด็กเราชอบ ‘สตีฟ จอบส์’ มาก ตอนที่เขาเสียชีวิตก็ซื้อหนังสือชีวประวัติเขามาอ่าน เป็นอย่างนั้นอยู่พักใหญ่ ๆ จนวันหนึ่งแม่แซวว่า กล้าเหยียบหนังสือ ‘สตีฟ จอบส์’ ไหม เราก็ตอบว่าแล้วทำไมจะไม่กล้าล่ะ จากนั้นก็เอาหนังสือวางบนพื้น แล้วก็เหยียบหน้า ‘สตีฟ จอบส์’ ให้แม่ดู”
เติ้ลเล่าว่าในวันนั้นแม่ตกใจมาก อึ้งไปสักพักหลังจากเห็นสิ่งที่ไม่ตรงตามขนบดั้งเดิมที่สังคมไทยประกอบสร้างมา อยู่นอกเหนือสิ่งที่แม่เชื่อมาตลอดชีวิตว่าสังคมน่าจะเป็นอย่างนั้น
“จริง ๆ การที่เรามีนิสัยส่วนตัวแบบนี้ แล้วมาสนใจเรื่องอวกาศเนี่ย โคตรจะเหมาะกันเลยนะ เพราะอวกาศเป็นขอบเขตสุดท้ายที่มนุษย์จะรับรู้ได้ เป็นพรมแดนสุดท้าย (final frontier) ของมวลมนุษย์ การศึกษาอวกาศคือนอกสุดของกะลานี้แล้ว มันเต็มไปด้วยข้อมูลและการค้นพบใหม่ ๆ ที่จะนำมาโยงกับคนเพื่อทำให้เขารู้สึกว่า ตู้ม ! ฉันได้รับโลกใบใหม่ ได้รับรู้สิ่งใหม่ คำว่าจักรวาลหรืออวกาศของเราไม่ได้หมายถึงแค่ ‘จักรวาลที่เป็นรูปธรรม’ แต่ยังรวมถึง ‘จักรวาลในทางตรรกะและปรัชญา’ ด้วย”
“อย่างการพัฒนาของคณิตศาสตร์ก็ช่วยขยายขอบเขตการรับรู้โลกที่ไม่มีอยู่จริงได้ เช่น จำนวนจินตภาพ จำนวนอนันต์ ซึ่งอยู่นอกเหนือการจับต้องได้ แต่เราคำนวณมันได้”
ปั๊บเสริมและเริ่มเล่าว่า มนุษย์พัฒนาองค์ความรู้ขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะไปต่อในอนาคต มนุษย์มีสองสิ่งที่ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น คือ eye size (ขนาดของดวงตา) และ eye sight (โลกทัศน์)
“ขนาดของดวงตาคืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราเริ่มต้นจากการจ้องมองดวงดาวด้วยตาเปล่า ยุคต่อมาเริ่มมีกล้องดูดาว ส่วนยุคนี้มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่ล้ำกว่านั้น เหมือนเรามีดวงตาที่สังเกตอะไรได้มากขึ้น อีกอันที่จะโตควบคู่กันไปคือโลกทัศน์ ว่าเรามองเห็นประเด็นอะไร สังเกตโลกผ่านมุมมองไหนด้วยเครื่องมือเหล่านั้น”
ปั๊บมองว่า การใช้คำหยาบ การทำอะไรแผลง ๆ ใน Spaceth สุดท้ายจะกลับไปเสริมการ “กระตุกจิตกระชากใจ” ด้วยเช่นกัน
“เวลาเช้งเขียนเล่างานวิชาการก็จะชอบใช้คำหยาบว่า งานชิ้นนี้กาก วิจัยกระจอก ผมว่ามันทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนได้ฟังงานวิจัยนี้จากเพื่อนในวงเหล้า ผลคือคนรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวมากขึ้น เหมือนเอางานวิชาการหรือคนทำงานวิจัยลงมาจากหิ้ง มาเป็นใครสักคนที่ใกล้ตัว คนที่เรารู้จัก เป็นเพื่อนกันได้ วิจารณ์ได้ แสดงความคิดเห็นได้” ปั๊บกล่าว
“อีกสิ่งหนึ่งที่คนชอบเยอะคือเราเคยเขียนข่าวแล้วใช้คำว่า ‘มีการค้นพบก้อนหินอันเท่าควาย’ ซึ่งพอเผยแพร่ในเว็บไซต์ Spaceth ที่ดูจริงจัง ทางการ พื้นหลังสีขาวเรียบ ประหนึ่งอ่านจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ก็น่าจะก้าวข้ามความปรกติที่คนคาดหวังกันได้ระดับหนึ่ง” เติ้ลเสริม
การทำอวกาศ
ให้เป็นประชาธิปไตย
เติ้ลบอกว่าการทำงานสื่อสารเรื่องอวกาศของเขานั้นมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจาก “สเปซเนิร์ด” คนอื่น ๆ ที่ได้อ่านหนังสือและติดตามข่าวสารต่าง ๆ พออ่านเยอะขึ้น เอาสิ่งที่ตัวเองรู้มาเชื่อมโยง สังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ ก็อยากเล่าเรื่องที่ตัวเองประทับใจมาก ๆ ให้คนอื่นได้ฟังบ้าง
“บทความหนึ่งที่ชอบมาก ภูมิใจมากที่ได้เล่า คือ ‘Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ’ มีคำสำคัญหลายคำมากอย่าง ‘อวกาศ’ กับ ‘ราษฎร’ ราษฎรคือคนธรรมดาสามัญทั่วไป ถ้าบอกว่าให้คนเราไปครอบครองที่ดิน สิ่งของ ทองคำ รถยนต์ ยังพอเข้าใจได้ แต่พอบอกว่าให้เราไปครอบครองอวกาศ จะให้ทำยังไง”
เติ้ลเล่าย้อนไปถึงการเข้าร่วมงาน Beyond the Cradle ใน MIT Space Week ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ว่า แนวคิดเรื่องการทำอวกาศให้เป็นประชาธิปไตยนี้เขาได้มาจากการเข้าไปอยู่ในชุมชนคนทำงานด้านอวกาศระดับนานาชาติ ซึ่งไม่ได้มีแต่นักวิทยาศาสตร์หรือคนจากสถาบันเทคโนโลยีแต่ยังรวมถึงนักภาษาศาสตร์ นักเขียน ศิลปิน และอีกมากมายหลายอาชีพ ทุกคนมารวมตัวล้อมวงคุยกัน เพราะสนใจในอวกาศเหมือน ๆ กัน และอยากทำให้อวกาศเป็นที่เข้าถึงของคนได้มากขึ้น
“ในด้านรูปธรรม คนทั่วไปเข้าถึงอวกาศมากขึ้นมาก ๆ ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับประเทศมหาอำนาจเหมือนในอดีต ปัจจุบันเด็กมัธยมฯ ไทยก็ทำดาวเทียมส่งขึ้นไปอยู่บนอวกาศได้แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่บอกว่าอวกาศเป็นของเราไหม คือเรื่องวัฒนธรรม คือวิธีที่เรามองอวกาศ วิธีที่พูดถึงอวกาศ ความรู้สึกที่เรามีต่ออวกาศ”
เติ้ลยกตัวอย่างถึงหนังสือ คอสมอส (Cosmos) ของนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) ซึ่งเขายกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีที่สุดตลอดกาล เนื้อหาตอนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ขณะที่ยาน Voyager 1 กำลังจะเดินทางออกนอกระบบสุริยะ คาร์ล เซแกน คุยกับทีมงานให้หันกล้องกลับมาถ่ายภาพโลกของเราเป็นครั้งสุดท้าย กลายเป็นภาพถ่ายชื่อ Pale Blue Dot จุดสีฟ้าเล็กจาง ท่ามกลางห้วงจักรวาลอันกว้างใหญ่ ซึ่ง คาร์ล เซแกน เขียนบรรยายภาพนั้นไว้ว่า
“โลกของเราเป็นจุดเล็ก ๆ หลบซ่อนอยู่ในเอกภพที่มืดมิด ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ความเคว้งคว้าง ไม่มีสิ่งรับประกันว่าจะมีใคร จากที่ไหน มาช่วยเราจากการกระทำของตัวเราเอง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเรา เคยมีคนพูดไว้ว่าดาราศาสตร์นั้นทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ผมขอเพิ่มว่ามันคือการเข้าถึงตัวตน คงไม่มีสิ่งใดที่จะแสดงความโง่เขลาของความคิดมนุษย์ไปได้มากกว่าภาพถ่ายโลกของเราจากระยะที่ไกลแสนไกลนี้ มันคือความรับผิดชอบของเรา ที่จะถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อปกป้องและหวงแหนจุดเล็ก ๆ จุดนี้ บ้านหลังเดียวที่เรารู้จัก”
…
เติ้ลบอกว่าการพูดโต้ง ๆ ว่าอวกาศทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การจะพาให้ผู้คนรู้สึกว่าอวกาศเป็นของเขาจริง ๆ นั้นต้องอาศัยการสื่อสารแบบค่อยเป็นค่อยไป เป้าหมายหลักของ Spaceth ก็คือสิ่งนั้น คือการทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าอวกาศนั้นยึดโยงกับผู้คน
นักกิจกรรม
ด้านอวกาศ
“ผมเข้ามาอยู่ใน Spaceth ช่วงคาบเกี่ยวพอดี เป็นช่วงที่เริ่มทำอะไรนอกจากสื่อเป็นช่วงแรก ๆ”
ปั๊บเล่าว่า การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนคนทำงานด้านอวกาศนานาชาติ หลังจาก MIT Space Week ที่สหรัฐอเมริกานั้นสร้างจุดเปลี่ยนให้ทีมหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการโดนท้าทายจากเพื่อน ๆ ที่นั่นว่า จากที่เป็น “สเปซเนิร์ด” คุณสามารถเป็น “สเปซแอ็กติวิสต์” หรือนักกิจกรรมด้านอวกาศได้ไหม
“สเปซเนิร์ดคือเราอ่านหนังสือแล้วก็เอามาเล่าให้เพื่อนฟัง แต่พอนิยามตัวเองใหม่เป็นสเปซแอ็กติวิสต์ เรารู้สึกว่าต้องลงมือทำนะ ต้องขับเคลื่อน ต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการใหม่ ๆ เราเข้าร่วมประชุมเรื่องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศกับคณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ฯ พอไทยเริ่มทำโครงการดาวเทียมของตัวเอง เราก็ไปคุยกับองค์กรหลาย ๆ ที่ เพื่อสื่อสารว่าอวกาศในปัจจุบันเป็นยังไง” ปั๊บกล่าว
โครงการหนึ่งที่ Spaceth ทำเมื่อ ๒ ปีก่อน คือ MESSE (Molecular Encoded Storage for Space Exploration) ซึ่งเป็นการส่งเพลง “ความฝันกับจักรวาล” ของวงดนตรี Bodyslam ขึ้นสู่อวกาศด้วยเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบชีวภาพ
“ตอนนั้นบริษัทอวกาศสัญชาติไทยชื่อ mu Space ชวนทีมเราทำกิจกรรมอวกาศในไทยเชิงสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่งานวิจัยเชิงวิชาการแบบเดิม ๆ” เติ้ลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการส่ง “กล่องดนตรี” ขึ้นไปบนอวกาศ
ดนตรีและเสียงเพลงเป็นจุดผสมผสานของวิทยาศาสตร์และศิลปะ ที่คงอยู่ในรูปแบบที่มนุษย์รู้จักกันมานาน วิธีการบันทึกและจัดเก็บเสียงดนตรีก็พัฒนา เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เริ่มจากการประดิษฐ์กล่องดนตรี ขยับมาเป็นการสร้างแผ่นเสียง สู่ยุคปัจจุบันที่บันทึกเสียงดนตรีในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล
คำถามคือ แล้วในอนาคตล่ะ เราจะบันทึกเสียงดนตรีรูปแบบไหน ทีม Spaceth ต้องการทดลองสิ่งนี้ และคำตอบก็มาอยู่ที่เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบชีวภาพหรือการเก็บข้อมูลใน DNA
เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลใน DNA คือการบันทึกข้อมูลผ่านโครงสร้างทางชีวภาพ ประกอบด้วยคู่รหัสสี่แบบถักทอต่อกันเป็นสายยาว ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดบนโลก คนเราเกิดมาหน้าตาอย่างไร สีผิวแบบไหน มีโรคประจำตัวหรือไม่ ล้วนแต่ถูกบันทึกและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในรูปแบบของข้อมูล DNA ทั้งสิ้น
“เราทำงานกับห้องแล็บหลายแห่งในไทย เริ่มจากแปลงข้อมูลโน้ตดนตรีสากลของเพลง ‘ความฝันและจักรวาล’ ให้กลายเป็นข้อมูลเลขฐานสอง แบบเดียวกับข้อมูลดิจิทัล จากนั้นก็แปลงให้เป็นคู่รหัสสี่แบบของ DNA แล้วฝากให้ห้องแล็บช่วยสังเคราะห์ขึ้นมา”
ข้อมูลเพลง “ความฝันและจักรวาล” บรรจุในกล่องลูกบาศก์ขนาด ๑๐ เซนติเมตร ก่อนจะส่งขึ้นไปบนอวกาศพร้อมกับยาน New Shepard ของ Blue Origin และกลับลงมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๓ ข้อมูลเพลงดังกล่าวถูกส่งไปศึกษาว่ารังสี สภาวะไร้น้ำหนักและแรงสั่นสะเทือนมหาศาลจากการปล่อยจรวดและตกกลับลงมายังโลก จะมีผลกระทบอะไรต่อ DNA และต่อข้อมูลที่อยู่ในนั้นหรือไม่
“MESSE สะท้อนหลายอย่างมาก หลอมรวมทุกแขนงศิลปวิทยาการ ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ดนตรี
มาเป็นตัวแทนของมนุษย์ เป็นการพยายามที่จะรักษาความรู้เพื่อส่งต่อไป เหมือนกับ DNA ของสิ่งมีชีวิตที่พยายามปรับตัว เปลี่ยนแปลง กลายพันธุ์ เพื่อความอยู่รอด เป็นการตกผลึกองค์ความรู้ ตกผลึกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” เติ้ลอธิบาย
อนาคต
ที่เราจะเดินไปด้วยกัน
ปีนี้ครบรอบ ๕ ปีของการก่อตั้ง Spaceth พวกเขามุ่งมั่นตั้งใจว่าจะทำงานด้านอวกาศต่อไป ไม่ใช่ในฐานะสเปซเนิร์ดแต่เป็นสเปซแอ็กติวิสต์
“ช่วงนี้เรากำลังทำโครงการ AI Space Challenge ได้รับการสนับสนุนจาก ESA (European Space Agency) เขาเข้ามาคุยกับเราและเพื่อน ๆ ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องอวกาศในไทยว่าเขาจะส่งคอมพิวเตอร์กล่องสี่เหลี่ยมเครื่องหนึ่งขึ้นไปบนอวกาศอยากเปิดโอกาสให้เยาวชน คนทั่วไปเข้ามาใช้คอมพิวเตอร์นี้ เราก็เลยจัดประกวดขึ้น ว่าถ้าคุณได้กล่องนี้ไปใช้ ๓ เดือน จะเอาไปทำอะไร เราเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เปิดรับนักศึกษามหาวิทยาลัยจากกลุ่มประเทศอาเซียนและไต้หวัน ตอนนี้อยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว” ปั๊บเล่าถึงงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
“อาจไม่มีแผนระยะยาวเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วแต่ว่าเงื่อนไขจังหวะชีวิตของแต่ละคนในทีมเป็นอย่างไร หลังจากนี้ไปถ้ามีโอกาสอะไรเข้ามา เราก็จะคว้าโอกาสนั้นและทำให้ดีที่สุด” เติ้ลกล่าว
เติ้ลทิ้งท้ายว่า เขาไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเข้าใจฟิสิกส์ควอนตัมหรือรู้ว่าดาวอังคารมีดาวบริวารกี่ดวง เขาเพียงต้องการให้ “ขั้นตอนการได้รับความรู้” นั้นซึมซับอยู่ในตัวผู้คนให้คนไม่หลงลืมกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งดีที่สุดที่เรามีตอนนี้
“We are going…ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เรารู้มันจะจบอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้แปลว่าองค์ความรู้ของเราจะมีอยู่เท่านี้ แต่หมายความว่าเราจะต้องเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็จะต้องรักษากระบวนการ มันไม่ได้สมบูรณ์แบบ ยังมีหลายคำถามที่เรายังตอบไม่ได้ ยังมีหลายหลักการที่ทำให้ต้องถกเถียงกัน แต่ถ้าใครคิดว่ามีสิ่งใดที่พามนุษย์ไปสู่แสงสว่างได้มากกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตยก็ขอให้บอกมา เพราะตอนนี้เชื่อว่าไม่มี” เติ้ลกล่าว
“We are going…ทุกอย่างยังดำเนินต่อไป องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ กระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยสังคม ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เรากำลังมุ่งไปข้างหน้า และก็อยากให้ทุกคนมุ่งไปกับเราด้วยเหมือนกัน” ปั๊บเสริม
อ้างอิง
https://spaceth.co/pale-blue-dot/
https://spaceth.co/democratizing-access-to-space/
https://spaceth.co/messe/