Image
ชิเงรุ อาโอยางิ
ยูเนสโกและมรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรมของไทย
ผู้อำนวยการ ยูเนสโก กรุงเทพฯ 
สำนักงานเพื่อการศึกษา
ส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
(Shigeru Aoyagi, Director, UNESCO Bangkok,
Asia and Pacific Regional Bureau for Education)

Interview
คำถามสัมภาษณ์ : เบญจวรรณ รุ่งศิริ
คำสัมภาษณ์ : ถอดความจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดยยูเนสโก
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
หน้าที่และการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของยูเนสโกในประเทศไทยคืออะไร
หน้าที่ของยูเนสโกในด้านวัฒนธรรมนั้นอยู่ภายใต้กรอบของอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารที่มีพันธะทางกฎหมายต่อประเทศที่ลงนาม และวางแนวทางการทำงานของยูเนสโกในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกต่าง ๆ อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมดหกฉบับ ครอบคลุมการปกป้องรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่โบราณวัตถุและแหล่งมรดกที่เป็นสถานที่ประเภทต่าง ๆ ไปจนถึงมรดกที่เป็นนามธรรม หรือที่เราเรียกกว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ด้วย 

โดยสรุป ยูเนสโกทำงานด้านวัฒนธรรมในสองแนวทาง คือการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างไร
ภายใต้เงื่อนไขของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ค.ศ. ๒๐๐๓ (2003 UNESCO Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ประเทศต่าง ๆ สามารถเสนอหรือร่วมเสนอให้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage หรือ ICH) กับยูเนสโกได้ในสองรายการ (list) และหนึ่งทะเบียน (register)  แม้รายการเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์การขึ้นทะเบียนต่างกัน แต่ก็มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาให้มากขึ้นในระดับสากล ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจที่สร้างความเติบโตในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวให้ประเทศต่าง ๆ  ตลอดจนการทูตเชิงวัฒนธรรมหรือที่เราอาจเรียกได้ว่า “ซอฟต์พาวเวอร์”

รายการแรกคือ “ตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” (the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) เป็นรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการเสนอขึ้นทะเบียนของหมู่รัฐภาคีของอนุสัญญา  วัตถุประสงค์คือเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ยกย่องพลวัตของ ICH ในเขตแดนของตน ตลอดจนยกย่อง ICH อีกมากมายที่ข้ามพรมแดนประเทศ หรือที่เรามักจะเรียกว่า “มรดกร่วม” หรือ “มรดกข้ามพรมแดน/ข้ามรัฐชาติ”  ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เสนอ ICH ขึ้นทะเบียนกับรายการนี้ทั้งนั้น

รายการที่ ๒ คือ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน” (the List of Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding) เพื่อระบุ ICH ที่กำลังเลือนหายไปด้วยหลายเหตุผล เช่น ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตประชากร การสูญหายของพืชและสัตว์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้น ความยากจนและการย้ายถิ่นฐาน การขยายตัวของพื้นที่เมือง เป็นต้น  เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่ารายการนี้ไม่ใช่การประจานว่า ICH ได้รับการขึ้นทะเบียนเนื่องจากความบกพร่องในการดูแลของประเทศนั้น  ในทางกลับกันการขึ้นทะเบียน ICH ในรายการนี้จะช่วยเปิดทางให้ประเทศนั้นได้รับความช่วยเหลืออย่างกว้างขวางในระดับสากลจากการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการส่งเสริมและรักษามรดกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น กองทุนความช่วยเหลือระหว่างประเทศของยูเนสโกซึ่งเน้นให้เงินทุนสนับสนุนแผนการสงวนรักษาและทรัพยากรของชุมชนในเชิงลึกเพื่อต่อลมหายใจให้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและผู้คนนั้นยังคงอยู่

สุดท้ายคือ “ทะเบียนแบบอย่างการสงวนรักษาที่ดี” (Register of Good Safeguarding Practices) ซึ่งยกย่องโครงการและกิจกรรมที่ชุมชนท้องถิ่นจัดทำเพื่อสงวนรักษาและส่งเสริม ICH  ตลอดจนผสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับภูมิภาค

บางคนอาจเข้าใจผิดว่าการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกคือการได้รางวัลชนะประเทศอื่น เราจึงอยากประกาศถึงเป้าประสงค์แท้จริงของการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง ตามที่ชื่อของรายการและทะเบียน ICH ได้บอกเป็นนัยไว้แล้วว่า ICH คือการยกย่อง
ชุมชนที่ปฏิบัติวิถีวัฒนธรรมนั้น เช่น ศิลปิน นักแสดง ผู้ประกอบพิธีกรรม เกษตรกร ฯลฯ และเพื่อยกย่องคุณค่านี้
ร่วมกันโดยไม่มีพรมแดนขวางกั้น  ยูเนสโกต้องการสื่อความรู้สึกของ “มรดกร่วม” ไม่ใช่การแข่งขันว่าใครเป็นเจ้าของวิถีวัฒนธรรมที่เป็น “ของแท้ที่สุด” เนื่องจากไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้
บางคนอาจเข้าใจผิดว่าการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกคือการได้รางวัลชนะประเทศอื่น เราจึงอยากประกาศถึงเป้าประสงค์แท้จริงของการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง ตามที่ชื่อของรายการและทะเบียน ICH ได้บอกเป็นนัยไว้แล้วว่า ICH คือการยกย่องชุมชนที่ปฏิบัติวิถีวัฒนธรรมนั้น
Image
หลักการและกฎเกณฑ์ในการเลือกพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 
ICH แต่ละรายการก็มีวัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนแตกต่างกันไปและมีเงื่อนไขการพิจารณา ICH หรือกิจกรรมโครงการที่เหมาะสมต่างกันด้วย

สำหรับรายการที่เป็นตัวแทนกับรายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วนนั้น ICH ที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนต้องมีลักษณะตรงตามนิยามของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา ค.ศ. ๒๐๐๓ คือเป็นวิถีปฏิบัติ เป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะและเครื่องมือสิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเชื่อมโยงกับชุมชน กลุ่ม หรือบางกรณีก็เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ICH นั้นได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่มาอย่างต่อเนื่องโดยชุมชนและกลุ่มคนเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมความสัมพันธ์กับธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของพวกเขา และทำให้ผู้คนตระหนักถึงอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง  การสงวนรักษา ICH จะทำให้ชุมชนและประเทศส่งเสริมการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

เหนือสิ่งอื่นใด ICH ที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับสากลเช่นนี้ ต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความเคารพซึ่งกันและกันของชุมชน กลุ่ม และบุคคล ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ICH ที่เสนอให้ขึ้นทะเบียนสามารถจัดอยู่ในหมวดใดหมวดหนึ่งที่ยูเนสโกแนะนำไว้ ได้แก่ ก) มุขปาฐะและการแสดงความรู้สึก ซึ่งรวมถึงภาษาในฐานะเครื่องมือสื่อสารมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ข) ศิลปะการแสดง  ค) วิถีปฏิบัติในสังคม พิธีกรรม และเทศกาลเฉลิมฉลอง  ง) ความรู้และวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและจักรวาล และ จ) งานฝีมือที่สืบต่อกันมา

สิ่งสำคัญคือการเสนอขึ้นทะเบียน ICH ต้องยื่นพร้อมกับมาตรการสงวนรักษาที่จะทำให้ชุมชน กลุ่ม หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงปฏิบัติและสืบสาน ICH นั้นต่อไปได้

นอกจากนี้สำหรับ ICH ที่เสนอขึ้นทะเบียนในรายการซึ่งต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วนนั้น ต้องเป็น ICH ที่เผชิญกับความเสี่ยงหรือภัยคุกคามร้ายแรงต่อการคงอยู่ แม้ว่าชุมชน กลุ่ม หรือผู้คนที่เกี่ยวข้องจะพยายามแล้ว และอาจไม่อยู่รอดให้คนรุ่นต่อไปได้เห็น หากไม่มีการดำเนินกิจกรรมสงวนรักษาในทันทีหรือไม่ได้รับการแทรกแซงจากรัฐและยูเนสโก*
เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแล้ว การดูแลและจัดการหลังจากนั้นเป็นอย่างไร
หน่วยงานที่รับผิดชอบและชุมชนที่เกี่ยวข้องในการเสนอชื่อขึ้นทะเบียนของยูเนสโกจะต้องดำเนินการตามมาตรการสงวนรักษา ICH ในเวลาที่กำหนดตามคำมั่นในเอกสารเสนอการขึ้นทะเบียน  โดยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้นมีหลายวิธี ที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกิดการสืบทอดต่อไป และการช่วยให้เราจดจำวิถีปฏิบัติในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น การวิจัย การผลิตสื่อสารสนเทศการผนวกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเข้ากับระบบการศึกษา ฯลฯ

ยูเนสโกมีโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคอยู่ทั่วโลกที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกในชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลายประเทศให้ตระหนักถึงคุณค่าและลงมือปฏิบัติเพื่อมรดกทางวัฒนธรรมของตน  การเสนอชื่อและการขึ้นทะเบียนจึงเป็นก้าวแรกของการสร้างความตระหนักรู้แก่คนทั่วไป และตั้งความมุ่งมั่นที่จะลงมือและทำงานร่วมกับยูเนสโกและรัฐบาลเพื่อพิทักษ์มรดกของตนเอง
กรณีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศในการขึ้นทะเบียน
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแบบเดียวกันหรือมีลักษณะ
ใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างโขนของไทยและลโขลของกัมพูชา 
ทางยูเนสโกจัดการอย่างไรและมองเรื่องใดเป็นสำคัญ

ความจริงความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อศิลปะการแสดงรามายณะ มาจากความเข้าใจผิดต่อเป้าประสงค์การขึ้นทะเบียน ICH ของยูเนสโก ซึ่งแตกต่างจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกตรงที่ว่า ICH มิได้มุ่งระบุว่าศิลปะนี้ใครเป็นของแท้ หรือใครเป็นต้นตำรับ  หลักการนี้มาจากข้อเท็จจริงว่าเราไม่อาจแช่แข็งวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมซึ่งแปรเปลี่ยนตลอดเวลาให้คงสภาพเหมือนเดิมไว้ยาวนานหลายศตวรรษ ดังนั้นรายการ ICH จึงมุ่งยกย่องความหลากหลาย ทั้งความเหมือนและความต่างของศิลปะที่คล้ายคลึงกัน

ยูเนสโกคงต้องพยายามสื่อสารให้มากขึ้นว่าเป้าประสงค์แท้จริงของการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน ICH คือการสนับสนุนให้ผู้คนเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน และให้ความยกย่องต่อชุมชนที่ปฏิบัติศิลปะรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมที่แท้จริง หาใช่รัฐหรือคนที่อยู่นอกชุมชนแต่อย่างใด

มรดกทางวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ติดอยู่กับเขตแดนทางการเมือง แต่เป็นสิ่งที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนต่างชาติต่างภาษามาหลายศตวรรษ ก่อนจะมีรัฐชาติ ประเทศ หรือแนวคิดชาตินิยม
มุมมองของยูเนสโกต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย
ยูเนสโกยกย่องประเทศไทยมาตลอดในฐานะประเทศที่รุ่มรวยด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นสมบัติของชาติอย่างแท้จริง ทั้งประเมินค่าไม่ได้และทดแทนไม่ได้อีกด้วย  ยูเนสโกยังเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานโยบายและแนวทางการจัดการมรดกและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องอย่างแนบแน่นกับแผนการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ  
เราพร้อมจะสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้ร่วมกับรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย    
* ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
https://ich.unesco.org/en/procedure-
of-inscription-00809

ศิลปะรามายณะ รวมถึงศิลปะการแสดงหลายประเภทที่เกี่ยวกับรามายณะและอยู่ในทะเบียนของยูเนสโก เช่น

ศิลปะการแสดงโขนในประเทศไทย (Khon, masked dance drama in Thailand) ขึ้นทะเบียนตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ค.ศ. ๒๐๑๘


ลครโขลวัดสวายอันเด็ต (Lkhon Khol Wat Svay Andet) ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน ค.ศ. ๒๐๑๘  


ลโขล (Royal Ballet of Cambodia) ขึ้นทะเบียนตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ค.ศ. ๒๐๐๘ 


รามลิลา อินเดีย (Ramlila, the traditional performance of the Ramayana) ขึ้นทะเบียนตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ค.ศ. ๒๐๐๘  


Chhau dance อินเดีย ขึ้นทะเบียนตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ค.ศ. ๒๐๑๐ 


Sbek Thom, Khmer shadow theatre ศิลปะการแสดงมหากาพย์รามายณะโดยหุ่นเงาแบบเขมรตลอดจนศิลปะการแสดงที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนของยูเนสโก เช่น ศรีรามา ในภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย และพะลักพะลาม ใน สปป. ลาว