Image
ตัวแทนเจ้าภาพร่วมแสดงเป็นต้นไม้ในป่า ขณะที่สองโนราใหญ่สวมบท “พราน” ไล่คล้อง “หงส์” 
ศาสตร์ศิลป์โนรา
ศักดิ์ศรีโรงครู
ตอน 2
scoop
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“แต่งพอก-
คล้องหงส์-แทงเข้” 
ปริศนาสนเท่ห์
ในไสยศาสตร์

อันที่จริงเรื่องลี้ลับเริ่มนับแต่ตี ๕ ครึ่ง-หัวรุ่งของวันพฤหัสบดีแล้ว

ตำราโหราศาสตร์ถือตามคติพราหมณ์ว่า “พระพฤหัสบดี” คือเทพผู้มีวาทศิลป์ มีกำลัง ๑๙ (สร้างจากฤๅษี ๑๙ ตน) มีฐานะเป็น “ครุเทว” (ครูของเทวดา)  เมื่อจะประกอบพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสตร์ศิลป์มีครูจึงถือฤกษ์ “ครุวาร” (วันครู) เป็นวันพฤหัสบดี โนราใหญ่-เจ้าพิธีจึงรีบลุกมาขับบทกาดโรงเพื่อชุมนุมครู ทั้งครูต้นโนราและบรรพบุรุษที่ล่วงลับมารับการเซ่นสังเวยจากเครื่องบูชาในวันสำคัญ

“ผมจะบอกกล่าวเทพยดาและวิญญาณบรรพบุรุษของครอบครัวเจ้าภาพ ทำนองว่าข้าพเจ้าได้เชิญท่านทั้งหลายมาอยู่บนฝ้าเพดานแล้วนะ อย่าเพิ่งไปไหน เรามีกิจจำเป็นอยู่ ๓ วัน ๒ คืน ให้ท่านประทับที่นี่ก่อน เผื่อลูกหลานมีธุระสิ่งใดจะได้เรียกมาประทับทรงสะดวก”

โนราไข่น้อยนั่งบนพื้นโรงปูเสื่อ ตรงหน้าวางหมอนหุ้มผ้าขาว บนหมอนวางไม้แตระติดเทียน ใต้ฝ้าเพดานมีผ้าขาวโยงสายสิญจน์ห้อยลงกลางโรง อุปโลกน์เป็นที่ประทับชั่วคราวของครูหมอตายาย

ช่วงสายก่อนเพล โนราไข่น้อยและลูกคู่ที่เพิ่งผ่านพิธีกรรมเป็นโนราใหญ่เมื่อไม่กี่เดือนนี้ พากันเริ่มขับบท ๑๒ กำพรัด
เช่นเดียวกับที่ขับไปเมื่อเย็นวาน  แต่วันนี้นอกจากเชิญครูให้มาชุมนุมจะมีการเซ่นไหว้ แก้บน และเข้าทรง โดยมีอีกหลายโนรามาช่วยผลัดร้องรำจนแทบไม่มีเวลาให้หูพักจากเสียงของลำโพง

หลังมื้อเที่ยงโนราใหญ่และผู้ช่วยอีกสองซึ่งเป็นโนราใหญ่ทั้งคู่จะ “แต่งพอก” คือหลังนุ่งสนับเพลาจะนำผ้าขาวมาทบเป็นชั้น แต่ละชั้นบรรจุหมากพลู เทียน เหรียญบาท อย่างละหนึ่ง และดอกไม้สามสี ก่อนนำมาพันรอบเอว โดยมี “ห่อพอก” จากผ้าเช็ดหน้าบรรจุสรรพสิ่งเหมือนในผ้าขาว ผูกเป็นช่อแขวนข้างเอว ปรกติแขวนข้างละห่อ แต่งานนี้ทางโรงครูจัดเตรียมห่อพอกไว้มากสำหรับเป็นของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมงานด้วย

“ผมก็เพิ่งตัดจุกผูกผ้าสำเร็จเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา”
Image
แก้พอก
หลังจบการแสดง ๑๒ เรื่อง เจ้าภาพจะเชิญโนราใหญ่ทั้งหมด ไปถอดพอกต่อหน้าหิ้งครูหมอตายายบนบ้าน โนราใหญ่ผู้เป็นเจ้าพิธีจะให้เจ้าภาพเก็บห่อพอกไว้ทั้งหมดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว

ณัฐดนัย ประชูสวัสดิ์ (โนราทามน้อย โชติจรัสศิลป์ สงขลา) โนราใหญ่-น้องใหม่วัย ๒๒ ปี ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์ ลูกคู่ขับบท และผู้ช่วยคนสำคัญของโนราไข่น้อย ปันประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านหมาดไม่ถึง ๒ เดือน

“คนที่จะเป็นโนราใหญ่ต้องมีอายุครบ ๒๑ ปี ผ่านการบวชและทำพิธีตัดจุกเพื่อให้รู้ตัวตนว่าไม่ใช่เด็กแล้ว การวางตัวก็ต้องปรับเปลี่ยน ต้องเรียนรู้วิชาให้มากกว่าเดิม ที่สำคัญคือต้องรักษาพรหมจรรย์”

กำลังคิดเบา ๆ ว่าเป็นได้หรือที่การเป็นโนราใหญ่ต้องเตรียมตัวแต่เด็ก หากพลั้งแล้วอยากเป็นทีหลังก็ไม่ได้จริงหรือ ยุคนี้ยังมีคนหนุ่มสาวใดถือครองชีวิตที่ปราศจากเมถุนกัน แต่เหมือนเขาได้ยินเสียงในใจ

“ยังรำได้ แต่ไม่ควรเป็นโนราใหญ่  ต่อให้ไม่มีใครรู้ แต่ตัวเราก็มีมลทินอยู่ในใจ”

ประเด็นเดียวกัน โนราไข่น้อยเล่าเหตุผลสำคัญที่ยึดถือต่อกันมา

“เพราะโนราใหญ่ที่จะประกอบพิธีกรรมต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญไสยศาสตร์ด้วย แม่นยำคาถาอาคม เพื่อเบิกโรง-ลาโรง ปราบผี ทุกอย่างหมายถึงชีวิตผู้คน  สมัยก่อนเรียนหนังสือเสร็จ เย็นวันศุกร์ผมต้องไปกินนอนที่บ้านครู คืนวันศุกร์ครูจะให้อ่านท่องบทสวดวิชาคาถาต่าง ๆ พอวันเสาร์ก็จะทดสอบว่าจำขึ้นใจหรือยัง แล้วถึงปล่อยกลับบ้านค่ำ ๆ วันอาทิตย์  คนโบราณเขาคงกังวลว่าหากมีเมียมีลูกไปด้วยจะมีห่วงต้องทำงานเลี้ยงดูจนขาดสมาธิฝึกฝนมนตร์คาถา หลังสำเร็จวิชาเป็นโนราใหญ่ค่อยมีครอบครัวได้”

ฟังดูเหมือนผู้เฒ่าเล่าชีวิตโบราณ ทั้งที่โนราไข่น้อยก็ยังเพียงหนุ่มใหญ่วัย ๔๑ ปี

นั่นเพราะวิถีโรงครูยังได้รับการแช่แข็งและเขาก็ส่งวัฒนธรรมแบบเดียวกันในคณะ

“ตำราน่ะมี แต่ผมไม่ให้  ไม่หวงวิชา แต่ถ้าอยากเรียนต้องมาใช้ชีวิตฝึกฝนไปด้วยกัน”

เพราะการศึกษาคือการสืบสาน ไม่แปลกที่ถึงจุดหนึ่งโนรารุ่นเล็กก็อยากขยับสู่เจ้าของคณะ
โนราโรงครูทำหน้าที่เชื่อมต่อโลกมนุษย์และวิญญาณ การปลูกโรงจึงต้องตั้งระยะประชิดบ้านเพื่อเชื่อมสายสิญจน์จากหิ้งบูชาบรรพบุรุษภายในบ้านไปยัง “ผ้าเพดาน” ในโรงโนรา ครอบครัวที่มีสมาชิกเยอะจนไม่เหลือพื้นที่ว่างหน้าเวทีจะแบ่งมานั่งชมการแสดงโนราบนเรือน
Image
นอกเหนือจากการรำอวดความชำนาญ “การแสดงเรื่อง” ที่เรียก “จับบทออกพราน” โดยตัดตอนสำคัญจากวรรณคดีจำนวน ๑๒ เรื่อง มาผูกเรื่องเล่าใหม่ก็เป็นความสามารถหนึ่งของโนรา
Image
ปิยวัฒน์ ด้วงใส (โนราภูมินทร์ ดาวรุ่ง) เคยเล่าครั้งมีโอกาสพบกันที่งานโนราในวัดพะโคะ

“ผมเป็นคนชอบอ่านกลอนตั้งแต่สมัยเรียน แล้วก็ชอบฟัง ‘โนราไสวน้อย ดาวรุ่ง’ ขับกลอนสด พอผมหัดรำโนราได้ ๑-๒ ปี มั่นใจว่าทำการแสดงได้จึงตั้งคณะเอง  ช่วงนั้นเยาวชนโนราในนครศรีธรรมราชยังมีน้อย ผมเป็นหัวหน้าคณะโนราที่อายุน้อยสุดของจังหวัด ตอนนี้เป็นมา ๑๗ ปีแล้ว  สมัยก่อนการจะตั้งคณะต้องมีผู้ร่วมทีมประจำ ใครอยู่คณะไหนก็จะอยู่กับคณะนั้นไปตลอด แต่สมัยนี้มีคนเดียวก็ตั้งคณะได้  เมื่อจะทำการแสดงก็โทร. หาโนราที่รับงานอิสระ นักดนตรีเองก็ตั้งทีมเพื่อรับงานเช่นกัน เด็กที่เรียนนาฏศิลป์มักมีความสามารถหลายอย่าง นักดนตรีคนหนึ่งก็เล่นเครื่องดนตรีเป็นหลายชนิด เป่าปี่ ตีกลอง หรือทำอะไรแทนกันได้ และไม่จำกัดแต่งานโนรา มีงานวัดก็ไปเล่นรำวงย้อนยุค มีดนตรีเพื่อชีวิตก็ไปเล่นได้  ช่วงที่เป็นฤดูกาลของงานแสดงโนรามักขาดนักดนตรี การจ้างงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่ดี ใครติดธุระก็สามารถติดต่อผู้อื่นมาเล่นแทนได้ คณะโนราภูมินทร์จึงใช้แบบนั้นและในแง่หนึ่งนอกจากตัวเองได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์โนราก็ยังเป็นการส่งต่อโอกาสให้คนรุ่นหลังด้วย”
Image
แม้ถือเป็นหัวหน้าคณะรุ่นเล็ก แต่ความเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ยึดการแสดงโนราแบบเก่า อวดศิลปะร่ายรำที่สวยงามโดยไม่พึ่งหางเครื่องแบบวงดนตรีลูกทุ่ง (รูปแบบประยุกต์ของโนราสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม) ก็ทำให้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากแม่ยกโนรา

จวบปี ๒๕๕๗ คณะโนราภูมินทร์ ดาวรุ่ง จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้ประกาศชัยชนะใน “การแข่งขันมโนราห์ชิงถ้วยพระราชทาน” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นมหกรรมประจำปีที่เวียนจัดในภาคใต้ ซึ่งชาวโนราต่างให้การยอมรับ  คณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ จากจังหวัดสงขลาก็เคยได้รับรางวัลชนะเลิศตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ 

การยอมรับในความสามารถก็เรื่องหนึ่ง แต่การแข่งขันก็จำเป็นเพื่อประกาศชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก เพราะไม่ง่ายนักที่ใครจะเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมจนสามารถเป็นผู้จัดตั้งโนราโรงครู

ณัฐดนัย-โนราทามน้อย ถ่อมตัวว่าตนก็ยังอ่อนวุฒิภาวะในวิชาคาถาอาคม

“โนราแต่ละคนทำหน้าที่แทนกันได้ไม่ทั้งหมดด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง อะไรที่ผมไม่รู้จริงก็ไม่อยากทำ ตอนนี้ผมแค่อยากมีส่วนสืบสานวัฒนธรรมและเก่งพอที่จะเป็นผู้ช่วยครูประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้”

บรรยากาศแต่งพอกในวันนี้คงชวนให้เขานึกถึงพิธีครอบเทริดของตนที่เพิ่งผ่าน เพราะปรกติการแต่งพอกจะทำในพิธีผูกผ้าให้ผู้ที่จะมาเข้ารับการครอบเทริดเป็นโนราใหญ่โดยสมบูรณ์

เพียงแต่วันนี้ไม่มีการครอบเทริดให้โนราใหญ่คนใหม่จึงถือเป็นวาระ “ไม่ปรกติ”

โนราไข่น้อยกล่าวเชิญครูแล้วจัดละครถวาย ๑๒ เรื่อง เป็นการผูกเรื่องที่ตัดตอนเฉพาะแก่นสำคัญ มีทั้ง พระสุธนมโนราห์ พระรถเสน พระลักษณวงศ์ โคบุตร สังข์ทอง ดาราวงศ์ พระอภัยมณี จันทโครพ สินนุราช สังข์ศิลป์ชัย มณีพิชัย และ ไกรทอง ส่วนตัวที่เรียนเอกภาษาไทย โตมากับวรรณคดีกองโต นี่คือเวลาที่ได้ทบทวนตำราผ่านละครเวทีคัดสรร สนุกกับการชมความงามของตัวละคร เขินบทเกี้ยวพาราสี ฮึดฮัด
กับฉากโกรธเกรี้ยวเสียดสี สลดตามบทโศก ฯลฯ กว่าจะจบบทสุดท้ายกินเวลายาวจดเย็น ฟ้าเปลี่ยนสีเข้มลง

ที่สุดก็ถึงช่วงเวลาสำคัญของการแสดง “คล้องหงส์” ซึ่งปรกติใช้รำเฉพาะพิธีครอบเทริด

ตามตำราใช้ผู้รำแปดคน ผู้ที่กำลังจะเป็นโนราใหญ่แสดงเป็น “พญาหงส์” โนราอีกหกคนเป็นหงส์ และอีกคนเป็นพราน หงส์ที่พรานหมายตาจะมี “ตัวเดียว” ต้องเป็นโนราที่กำลังจะเข้าพิธีครอบเทริด หากไม่ใช่เพื่อรับโนราใหญ่คนใหม่จะไม่มีพิธีนี้ แต่วัตถุประสงค์การจัดเล่นโนราโรงครูยังเป็นไปเพื่อ “แก้เหฺมฺรย” (แก้บน) ให้เจ้าภาพด้วย ดังนั้นเมื่อเจ้าภาพบนบานการแสดงคล้องหงส์-แทงเข้ไว้ โนราโรงครูจึงยากปฏิเสธ
หลักการของโนราไข่น้อยจะใช้ผู้ประกอบพิธีที่เป็นโนราใหญ่ทั้งหมดรวมถึงพรานด้วย ไม่อนุญาตให้เป็นโนราที่ยังไม่ผ่านการตัดจุกผูกผ้า ด้วยถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และมักมีครูหมอโนรามาประทับทรง และเมื่อเป็นการแสดงจึงแก้เคล็ดโดยให้พรานคล้องหงส์โนราใหญ่ทั้งหมด

พวกเขาสมมุติท้องโรงครูเป็นสระอโนดาตที่มโนราห์ชอบพากันมาอาบน้ำ

เมื่อละครดำเนินมาถึงบทรำคล้องหงส์ (บ้างก็ว่าการรำคล้องหงส์เชื่อมโยงตอนพระยาสายฟ้าฟาดส่งทหารไปรับนางนวลทองสำลีแล้วต้องบังคับมัดกลับมา) คณะโนราเชื้อเชิญตัวแทนเจ้าภาพผู้ชายสี่คนร่วมแสดงเป็นต้นไม้ในป่า ยืนชูสองแขนมัดข้อมือไว้กับผ้าขาวม้าที่ห้อยต่อกันสองผืนลงมาจากเพดานโรงครู

ขณะหงส์ขับร้อง พรานจะออกมาด้อมมองเลือกคล้องพญาหงส์ ดนตรีเชิดกระหน่ำส่งบทให้โนราวิ่งหนีเป็นรูป “ยันต์เต่าเรือน” ยันต์ที่ลงอักขระบนรูปกระดองเต่าเพื่อป้องกันตนจากเสนียดจัญไรให้เกิดเมตตา

ขณะลุ้นกับการแสดง พลันตัวแทนเจ้าภาพคนหนึ่งก็หลุดจากผ้าที่ผูกไว้ โนราไข่น้อยถลันเข้าขมวดผมคว้าให้ลุกขึ้นยืน ! แล้วผูกข้อมือเขากับผ้าต่อ ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก ท่ามกลางฝูงชนที่ดูด้วยใจระทึก

“ใครก็รู้ว่าพิธีโนราแฝงไปด้วยไสยศาสตร์ การคล้องหงส์ก็เป็นพิธีคุณไสยหนึ่ง เหตุที่เกิดกับคนที่หลุดจากผ้านั้นเป็นไปได้ว่าตัวเขามีเคราะห์อยู่ หรือมีพลังงานบางอย่างในตัวเขาเกิดต่อต้านพลังศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าโนราใหญ่  ถ้าทันสังเกตนาทีนั้นครูหมอตายายของโนราไข่ประทับทรงแล้วพฤติกรรมเขาเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ถ้าโนราไข่คว้าไม่ทันอาจเกิดเหตุเภทภัยได้ ในแง่ของวิทยาศาสตร์เขาอาจล้มหัวกระแทกพื้นแต่ในแง่ไสยศาสตร์ถ้าล้มหัวแตะธรณีเมื่อไร ผีไม่ดีที่แฝงมาในงานจะสิงร่างเขาแน่นอน”

พลากร ลอยทอง เพื่อนชาวจังหวัดยะลาผู้มีทวดเป็นโนราใหญ่ และนับแต่ปู่ลงมา แม้ไม่ได้เป็นโนราแล้วก็ยังคงสืบทอดวิชาคาถาอาคมส่งต่อจนรุ่นเขา โดยเฉพาะศาสตร์เกี่ยวกับการไล่ผีปราบผี แก้คุณไสย จึงอาสามาช่วยเราสังเกตการณ์และคอยเป็นล่ามภาษาถิ่นใต้ให้

“การเป็นโนราใหญ่ที่จะประกอบพิธีกรรมจึงต้องเป็นผู้ชำนาญคาถาอาคม เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างพิธี พร้อมต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น ปกป้องผู้ร่วมพิธีทุกคนให้พ้นจากเหตุสุดวิสัย”

สอดคล้องกับที่โนราทามน้อยคิดเห็น

“ผมเชื่อว่าโนราใหญ่มีครูประจำตัว ก่อนเกิดเหตุไม่ดีมักมีครูมาบอกล่วงหน้า สถานการณ์ฉุกเฉินบางครั้งก็ได้ครูช่วยแบบฉับพลัน บางครั้งตัวโนราใหญ่เองก็ทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัว อย่างตอนคล้องหงส์ที่มีคนหลุดจากผ้าจะล้ม ตัวโนราใหญ่อาจยังไม่ทันเห็นด้วยซ้ำ แต่เหมือนมีบางสิ่งควบคุมร่างกายให้รีบวิ่งเข้าไปช่วยคว้าคนที่กำลังจะล้มไม่ให้ศีรษะถึงพื้นได้สำเร็จนั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของครูอาจารย์ที่คุ้มครองโนราใหญ่ มันเป็นเรื่องความเชื่อที่ยากจะอธิบาย”

ต่าง ๆ นานาที่ผู้อื่นสันนิษฐาน ตัวโนราไข่น้อยบอกเพียง
Image
Image
แทงเข้
พิธีกรรม-กระบวนรำที่มากด้วยความรู้ทางเวทมนตร์ นับแต่ออกจากโรงครู ก้าวเท้าเหยียบแพ กระทั่งร่ายรำถึงตัวจระเข้ ล้วนต้องบริกรรมคาถา หากพลาดเพียงนิด อาจเกิดเสนียดจัญไรแก่ผู้ร่วมพิธี

“ผมจำนาทีที่เกิดเหตุไม่ได้ รับรู้แค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ว่านั่นคือร่างกายเรา แต่การกระทำมันไม่ใช่ตัวเอง”

เวลานั้นพิธีคล้องหงส์ยังดำเนินต่อจนครบเจ็ดตัว ตัวสุดท้ายใช้สติปัญญาหลุดพ้นจากบ่วงได้ เป็นการจบบทรำคล้องหงส์ เตรียมต่อบทรำ “แทงเข้” ที่ผูกโยงกับเรื่อง ไกรทอง แต่ก็เท้าความได้ตามตำนานว่าขณะทหารนำนางนวลทองสำลีขึ้นเรือล่องมาถึงปากน้ำจะเข้าเมืองพบจระเข้ขวาง จึงต้องแทงเข้ก่อน

เป็นจระเข้ที่โนราน้ำขิงแกะสลักไว้จากลำต้นกล้วยขนาดใหญ่ ขุดให้ติดเหง้าเพื่อใช้ส่วนนั้นแกะเป็นหัวจระเข้อ้าปาก ทาสีตัวจระเข้เป็นสีดำให้ดูขรึมขลัง นำหยวกมาตัดใช้ไม้เสียบเป็นขา แล้วใช้ท่อนไม้ผูกปลายเข้าด้วยกันสำหรับกางออกเป็นขาหยั่งรับน้ำหนักไว้  โนราไข่น้อยทำพิธีบรรจุธาตุ เบิกหูเบิกตาจระเข้ เรียกวิญญาณไปใส่ และทำพิธีสังเวยครูด้วยพาน
ใส่หมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน เหล้าขาว วางบนหัวจระเข้ บนตัวก็มีเทียนปักตลอด กำหนดให้วางจระเข้ข้างโรงครูด้านตะวันตกหันหัวไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วใช้หยวกกล้วยอีกสามท่อน ทำเป็นแพเตรียมไว้ให้เหล่าโนราใหญ่เหยียบ (นัยว่าล่องแพออกไปแทงเข้)

ครั้นถึงเวลาโนราใหญ่ทั้งเจ็ดจะมีหอกประจำตน เมื่อบทไกรทองเริ่มขับขานผู้คนก็เริ่มออชมการแสดงอีก คราวนี้เป็นการชมแบบมีระยะห่าง เพราะศัสตราวุธอาจแฉลบไปโดนให้เกิดอันตรายได้

โนราใหญ่ยืนเตรียมตนจากในโรงครูด้วยท่วงท่าสง่าแสดงอำนาจ ใช้หัวแม่เท้ากดพื้นขณะบริกรรมคาถาแทงเข้ก่อนออกจากโรงครูมายืนบนแพหยวกแล้วบริกรรมคาถาอีกครั้ง ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มภัย

“ตอนพิธีกรรมแทงเข้ต้องท่องคาถาจริง ศาสตร์ของโนราจะให้โนราใหญ่ที่อายุน้อยสุดพุ่งหอกก่อน จะถูกหรือไม่ถูกจระเข้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่อยากให้ถูกด้วยซ้ำ เพราะหากโนราใหญ่ที่อายุน้อยยังไม่แม่นยำเรื่องมนตร์คาถาเกิดแทงถูกจระเข้ซึ่งลงอาคมล้อมธาตุทั้งสี่ไว้ขึ้นมาอาจทำให้เกิดเสนียดจัญไรสะท้อนเข้าตัวเขาได้ ดีที่สุดคือตั้งใจพุ่งหอกให้แทงไม่ถูก แล้วโนราใหญ่คนต่อไปจะมาแทงต่อ ไล่ลำดับตามคุณวุฒิหรือวัยวุฒิไปจนครบจำนวน นัยว่าโนราใหญ่ที่มีวิชาแก่กล้าเป็นผู้มาช่วยผู้อ่อนวิชากว่า และโนราใหญ่เจ้าพิธีซึ่งก็คือผมจะรับหน้าที่แทงเข้เป็นคนสุดท้ายและต้องแทงให้ถูกตัวจระเข้เท่านั้นแต่พื้นที่จัดงานบ้านนี้ค่อนข้างกว้าง ตำแหน่งแพที่โนราใหญ่ยืนกับที่ตั้งตัวจระเข้มันอยู่ไกล ผมจึงเดินไปให้ใกล้ค่อยแทงถึงตัว”

เป็นเล่ห์เหลี่ยมที่โนราไข่น้อยเลือกใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากนั้นลูกหลานบ้านเจ้าภาพจะพากันเล็มผมตัดเล็บใส่ปากจระเข้เพื่อสะเดาะเคราะห์ก่อนร่วมกันกรวดน้ำทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครูหมอตายายตน
Image
Image
“บางคณะอาจทำพิธีแต่งพอก คล้องหงส์ ในวันพฤหัสฯ แล้วเก็บพิธีแทงเข้ไว้วันศุกร์หลังเสร็จกิจกรรมของคนทรงเพราะถือเป็นวันส่งครูหมอตายายกลับ แต่ผมเลือกแต่งพอก คล้องหงส์ แทงเข้วันพฤหัสฯ เลย เพราะถือว่าเป็นวันที่โรงครูสมบูรณ์ที่สุด โนราใหญ่ทุกคนอยู่ในเครื่องแต่งกายที่พร้อม เครื่องอัฐบริขารดีพร้อม อัญเชิญดวงวิญญาณครูหมอตายายโนราและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงมาพร้อม มีการท่อง ๑๒ กำพรัดเรียบร้อย ก็ควรถือเป็นฤกษ์ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ดีสุดแล้ว”

แม้จบภาคพิธีจะต่อด้วยการแสดงบันเทิงจากโนราภูมินทร์ผู้เป็นที่รักของแม่ยก ยังไม่อาจกลบเหตุที่เกิดขณะคล้องหงส์จนกลายเป็นเรื่องเด่นที่กระซิบกันทั่ว ขณะที่เจ้าภาพอีกกลุ่มสาละวนเตรียมตัวประกอบพิธีสำคัญต่อ คืนนี้จะมีเข้าทรงเชิญครูหมอตายายผู้ล่วงลับกลับมาพบลูกหลาน แม้ไม่อาจพิสูจน์ด้วยเหตุผลวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่มีใครล้มศรัทธาได้

เมื่ออำนาจเหนือธรรมชาติยังสามารถบันดาลความสมบูรณ์ให้ชีวิต
ร่างทรง 
มาแล้วพ่อมาอย่าได้พ้นไป มาสิงมาใส่ในร่างพระกายาให้พ่อจับทรงลงที่บ่าซ้าย ค่อยยักค่อยย้าย ย้ายไปบ่าขวา...

Image
เมื่อร่างทรงส่ายสะบัด-ร่ายรำ ตามเสียงดนตรีเชิดลงมาจากบ้าน รู้กันว่า “ครูหมอตายาย” เข้าทรงแล้ว ลูกหลานจะห้อมล้อมพูดคุยกับ “ผีบรรพบุรุษ” โดยมีโนราใหญ่ คอยควบคุมพิธีกรรมต่างๆ ให้ราบรื่น
Image
Image
“จับลง-แก้เหฺมฺรย”
อย่าละเลยสัญญาตายาย

ตลอดคืนพฤหัสบดีจนเกือบฟ้าสางของวันใหม่ โนราทำงานต่อเนื่อง

ด้วยตระหนักรู้ โรงครูดั่ง “ประตูปรโลก” เชื่อมบรรจบภพปัจจุบัน

คน-ผีจำเป็นต้องพึ่งพาโนราใหญ่ผู้สามารถใช้อาคมประกอบพิธีเชิญบรรพบุรุษมาพบวงศ์วานผ่านการ “ประทับทรง” ในพื้นที่โรงพิธีศักดิ์สิทธิ์ ลูกหลานจะกำหนดว่าต้องการเชิญใคร จากนั้น “คนทรง” จะรับหน้าที่เป็นร่างให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ แต่ละคนรับวิญญาณมากกว่าหนึ่งตน เมื่อถึงเวลาจึงจัดแบ่งเป็นรอบ แล้วส่งรายชื่อให้โนราใหญ่ขับบทกลอนกล่าวเรียกบรรพบุรุษมาประทับทรง

“ทวดของฉันเคยเป็นคนทรง แล้วแม่ก็เป็นคนทรงให้ทวดผีตายายเป็นผู้เลือกร่างของลูกหลานที่เขาอยากประทับ ถ้าไม่ใช่สายเลือดก็ต้องเป็นเขยหรือสะใภ้ที่มีดวงสมพงศ์กับเขา ต่อให้ใครอยากเป็นก็ไม่ได้ถ้าผีตายายไม่ชอบเขาก็ไม่ประทับ หรือต่อให้เราไม่อยากเป็นก็ยาก จะมีเหตุให้อยู่เฉยไม่ได้สุดท้ายต้องยอมรับ ฉันเคารพบรรพบุรุษนะ แต่ก็ไม่อยากเป็นร่างทรง จนวันที่แม่ล้มป่วยหนักแล้วไม่ยอมละสังขาร บอกว่าต้องมีคนช่วยรับบรรพบุรุษไป ลูก ๆ จึงต้องมานั่งให้เขาเลือก แม่เอามือแตะลูกทีละคนก็ไม่เห็นใครมีอาการใด จนมาถึงฉันอยู่ ๆ ก็วูบหัวคะมำไปเลย นั่นหมายถึงการถูกเลือกแล้วและต้องรับหน้าที่ไปตลอดชีวิตจนกว่าจะแก่เฒ่าค่อยหาร่างทรงคนใหม่เพื่อมอบหมายให้เขาก่อนที่เราจะเลิกทำหน้าที่”

ละม้าย-เจ้าภาพร่วมจัดงาน ผู้นำทางให้เราได้รู้จักความหมายของห้องครูหมอตายายตั้งแต่วันแรกที่มาถึงเรือน เล่าว่าตอนนั้นเธออายุ ๔๕ ปี และทำหน้าที่นี้เรื่อยมาจนอายุ ๖๐ แล้ว กระบวนการของร่างทรงไม่ยาก แค่อาบน้ำแต่งตัวให้สะอาดเตรียมใจให้สบาย แล้วนั่งสมาธิรอรับสถานการณ์ที่จะเกิด “เวลาวิญญาณมาเขาไม่บอกก่อน อยู่ ๆ จะพรวดเข้ามาครองร่างเลย เพราะถือว่าเลือกไว้แล้ว ตอนที่มีร่างประทับจะมีอาการเดี๋ยวก็รู้สึกตัวเดี๋ยวก็เหมือนว่าลืมไป สิ่งที่ไม่ได้อยากทำไม่ได้อยากพูด ร่างกายจะทำเอง บางครั้งวิธีพูดและน้ำเสียงคนทรงก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นลักษณะเดิมของวิญญาณนั้น”

ที่เห็นเหมือนกันทุกบ้านคือหลังจากโนราไข่น้อยกล่าวเชิญครูต้นโนราและครูหมอตายาย ร่างทรงแต่ละคนจะแสดงอาการ
“ส่ายสะบัดตัว”  ยิ่งนักดนตรีเล่นเพลงเชิดก็ยิ่งสะบัดลำตัวโอนเอน เป็นนัยว่าร่างนั้นถูกครูหมอตายาย “จับลง” (เข้าทรง)แล้ว ราวมีใครชุบชีวิตผู้ตายให้วิญญาณได้ฟื้นสู่สภาวะปรกติอีกครั้ง

ท่ามกลางเสียงเชิดของดนตรีประโคม พวกเขาจะร่ายรำลงมาจากบ้าน ปรากฏตนในร่างมนุษย์ แต่งกายด้วยชุดที่ร่างทรงจัดหาให้คล้ายวิถีชีวิตเดิมของพวกเขาที่สุด บางคนแสดงทีท่าคล้ายผู้มีอุปนิสัยหยิ่งทระนง บางคนดูแจ่มใสเปี่ยมมิตร ทุกครั้งที่ครูหมอตายายแต่ละตนมาถึงโรงพิธี โนราไข่น้อยจะถวายพานหมากพลูต้อนรับ แต่ละคนทรงจุดเทียนสีขาวถือไว้ ผลัดปีนขึ้นบันไดยังพาไล (ศาล) ทำท่าตรวจตราเครื่องสังเวยว่าครบถ้วนดีไหมแล้วกลับลงมานั่งประจำตำแหน่งที่เตรียมไว้ต้อนรับ
Image
Image
หม้อประพรมน้ำมนต์ในโรงและรายชื่อบรรพบุรุษที่เจ้าภาพ ต้องเตรียมไว้ให้โนราใหญ่ขับร้องอัญเชิญมาประกอบพิธี
เคยเห็นคนทรงบางบ้านท้วงเสียงดังกึ่งตะคอก “บายศรีใบตองไม่มี !”

เจ้าภาพต้องจัดหา-แก้ไขสิ่งที่ขาดจนเป็นที่พอใจของครูหมอตายาย

ชวนสะกดสายตาจังหวะที่จุดเทียนสร้างกลุ่มควันฟุ้งกระจายในอากาศ ร่างทรงวนเทียนไปตามเครื่องสังเวยแล้วอมควันเทียนเข้าปาก กลั้วน้ำบ้วนปาก จากนั้นจุดใหม่ วน อม และบ้วนอยู่สามครั้ง นัยว่าเป็นการรับเสวยของเซ่นไหว้ นาทีถัดมาจึงเป็นเวลาที่ลูกหลานล้อมวงเข้าหาคนทรงผู้เป็นสื่อกลางส่งบทสนทนาไถ่ถามทุกข์สุขวิญญาณผู้มาเยือน ผลัดกันถาม-ตอบ บ้างกราบไหว้ขอพรจากครูหมอตายาย

“สำหรับคนต่างจังหวัด ร่างทรงเป็นสถานะหนึ่งทางสังคมที่ชาวบ้านยอมรับยำเกรง บางคนพ่อแม่ตักเตือนไม่ฟังต้องให้ร่างทรงด่าในโรงครู จึงไม่แปลกที่มีบางร่างทรงปรุงแต่งเกินจริงหวังให้เชื่อถือ สำหรับผมถ้าผู้มาประทับทรงเป็นบรรพบุรุษในครอบครัวผมยอมรับมากกว่าบอกว่าเป็นแม่ศรีมาลา นางนวลทองสำลี หรือพ่อขุนศรีศรัทธา ซึ่งบ่อยครั้งมักเห็นครอบครัวที่จัดงานรวมกันแล้วประทับทรงครูต้นโนราท่านเดียวแต่พร้อมกันหลายร่าง แต่ละร่างแสดงกิริยาท่าทางไม่เหมือนกัน ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าร่างทรงไหนล่ะที่ใช่”

พลากร-เพื่อนผู้ทำหน้าที่ล่ามภาษาถิ่นชวนสังเกตเรื่องปรัมปราที่มีชีวิตนิรันดร์ ถ้ามองใจเป็นกลาง การตั้งข้อสงสัยโดยมีเจตคติที่จะพิสูจน์ก็เป็นสิ่งดี สุดท้ายเราอาจยอมรับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“ผมไม่ได้ลบหลู่ เพราะผมก็โตในครอบครัวที่มีพ่อเป็นหมอผีใช้วิชาอาคมตามตำราช่วยเหลือผู้คน ทั้งหมอผีและร่างทรงต่างเป็นบทบาทที่จับต้องไม่ได้ หล่อเลี้ยงอยู่บนความศรัทธา จึงเป็นได้ที่บางคนจะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้ผู้คนเกิดความเชื่อ แสดงออกด้วยวิธีต่าง ๆ บางทีคุยคนเดียวก็บอกว่าคุยกับผี บางคนอาศัยจิตวิทยาวิเคราะห์ความเดือดร้อนหรือรู้ความต้องการของอีกฝ่ายมาก่อนแล้วก็เล่นไปตามบท เรื่องของร่างทรงมีครั้งเดียวที่ทำให้ผมเชื่อ ตอนอายุ ๑๘ ปี มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพิธีโรงครูสมัยที่ย่าของผมยังมีชีวิต เมื่อบ้านญาติของเรามีจัดงานโนราโรงครูครอบครัวผมจึงไปร่วม ผมได้เห็นภาพที่เด็กอายุ ๗-๘ ขวบ ชี้หน้าพ่อของเขาแล้วพูด ‘ถ้ามึงไม่ได้กู มึงตายแล้วตั้งแต่ตอนรถคว่ำ’ ซึ่งตอนที่พ่อเขาประสบอุบัติเหตุจนต้องใส่เหล็กดามแขนขวาเขายังไม่เกิดเลย นั่นทำให้ผมเชื่อว่าวิญญาณมีจริง จากนั้นก็ยังไม่เคยเจอเรื่องที่ทำให้เชื่ออีก”

อาจเป็นเพราะชีวิตที่ได้คลุกวงในจนไม่กลัวผีจึงมีเกราะทางใจที่แข็งแรง

เช่นเดียวกับโนราไข่น้อยที่ก็มีบรรพบุรุษรุ่นทวด ยาย และป้าเป็นร่างทรง

“ที่บ้านผมก็มีห้องครูหมอตายาย ผมถือว่าพวกเขาเป็น ‘ผีผู้ดี’ ที่ยังไม่ได้ไปเกิด ไม่ใช่สัมภเวสีและไม่ทำร้ายให้โทษใคร เป็นผีที่สามารถสื่อสารและบันดาลพรให้ลูกหลานสมปรารถนาได้ อย่างผมเป็นโนราใหญ่ ถ้าผมตายก็อาจมีลูกศิษย์เชื้อเชิญวิญญาณให้มาประทับทรงก็ได้ แต่ผมไม่ได้งมงายนะ เชื่อเฉพาะสิ่งที่เคยสัมผัสเอง และมองแบบวิทยาศาสตร์ก่อนเสมอสิ่งที่อธิบายไม่ได้จึงค่อยยอมรับในทางไสยศาสตร์ เมื่อวิเคราะห์แล้วว่าสิ่งไหนจริงหรือปลอมค่อยใช้จิตวิทยาแก้ปัญหาต่อ”

เพราะแต่ละครอบครัวมีความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างกัน บางบ้านมีเฉพาะตายายบรรพบุรุษหรือครูต้นโนรา ขณะที่บางบ้านมีกระทั่งร่างทรงท้าวเวสสุวรรณหรือพญานาค และอาจมีอื่น ๆ อีกมากที่ถูกปกปิด
Image
แก้บน
วันสุดท้ายของพิธีเจ้าภาพจะถวายเครื่องเซ่นไหว้เต็มที่ ทั้งอาหารคาวหวาน เครื่องแต่งตัวโนรา หรืออุปกรณ์ใด ๆ ตามที่บนบาน นำมารวมมอบให้โนราใหญ่เชิญครูหมอตายายมารับเครื่องสังเวย จากนั้นจึงถึงคราวลูกหลานที่บนรำโนราหรือรำออกพรานไว้มารำถวายสั้นๆ พอเป็นพิธี

“เราไม่สามารถตัดสินความเชื่อใคร ตราบที่เขาไม่ได้ดูหมิ่นทำให้ผมเสียหายก็จะนิ่งเสีย แค่สังเกตว่าใช่หรือไม่จากการอ่านร่างกาย ดูใบหน้า จ้องดวงตา คนปรกติจะกะพริบตาบ่อย แต่คนทรงที่มีวิญญาณประทับอยู่จะตาแข็ง มองนิ่งนานครั้งกะพริบตาสักที แม้แต่เส้นขนบนผิวหนังก็เป็นจุดสังเกตได้”

เขาไม่ได้แพร่งพรายว่าคนทรงบ้านนี้เป็นอย่างไร แต่ร่วมทำบุญกับบางคน

“ผมรู้จักกับร่างทรงคนนั้น เพราะเป็นเจ้าภาพบ้านนี้ แต่ไม่ได้รู้จักกับวิญญาณที่มาเข้าทรง รู้เพียงว่าครั้งมีชีวิตเขาเป็นหมอตำแยช่วยผู้คนมาตลอดจึงรู้สึกชื่นชม ผมแต่งงานเกือบ ๒๐ ปียังไม่มีลูก เมื่อรู้ว่าเขาเป็นหมอตำแยทำคลอดให้หลายชีวิตได้เกิดจึงอยากให้เงินเพื่อขอร่วมทำบุญ อธิษฐานให้มีเด็กมาเกิด เรื่องของคนทรงจะจริงหรือปลอมไม่รู้หรอก แต่เวลานั้นผมรู้สึกศรัทธาเขา บางเรื่องมันก็ไม่ต้องการคำอธิบาย”

ทุกขณะที่ประกอบพิธี โนราไข่น้อยจะคอยมองโดยรอบเพราะบางครั้งก็มีสิ่งผิดปรกติ อย่างคืนนี้มีผีไม่ได้รับเชิญเข้าร่างผู้หญิงคนหนึ่งที่นั่งดูพิธีหน้าโรงครู เธอตัวสั่นแบบควบคุมตนไม่ได้ รู้สึกตัวสลับกับไร้สติ

“ผมบอกร่างผู้หญิงให้ทำจิตใจให้แข็งไว้ อย่ากลัว ทั้งที่ก็ไม่รู้หรอกว่าตอนไหนผมกำลังคุยกับคนหรือตอนไหนคุยกับผีแต่ถามอะไรวิญญาณก็ไม่คุยด้วย ถามว่าเป็นใคร มาจากไหนมีปัญหาอะไร ต้องการอะไรก็ไม่บอก จึงต้องเชิญให้ออกจากร่างไป บอกเขาว่าพอได้แล้ว ร่างนี้ไม่ใช่ร่างทรงของเขา และงานนี้ก็ไม่ใช่งานของครอบครัวเขา จะมาแฝงไม่ได้ พอพรมน้ำมนต์ไล่เขาก็ออก ไม่ดื้อ”

น่าแปลกที่นอกจากเสียงของโนราใหญ่จะอ่อนโยนคล้ายมีเวทมนตร์กระตุ้นความกล้าหาญแก่เจ้าของจิตใจผู้บริสุทธิ์ ทว่าก็เป็นพลังพิเศษในตัวที่ทำให้เกิดความกลัวในดวงจิตของผู้คิดร้ายได้

“ระดับแก้ปัญหาของผมมีตั้งแต่ถามไถ่สาเหตุแบบอ่อนน้อมไม่เชื่อฟังค่อยใช้น้ำเสียงแข็งกระด้างใช้คำพูดเชิงขู่ ดื้อก็ต้องตะคอกใส่ ถึงที่สุดถ้าพูดดีด้วยไม่ได้จะไล่ด้วยคาถา หรืออาจถึงขั้นหวดด้วยหวายที่ลงยันต์อาคมไว้  เราไม่รู้หรอกว่าที่มาก่อกวนอยู่เป็นผีจริงหรือคนแกล้ง การลงหวายครั้งแรกร่างนั้นจะเจ็บไม่มาก เพราะเป็นการหวดด้วยคาถาอาคม ถ้าเป็นผีจริงครั้งเดียวก็ออกแล้ว แต่ถ้าเป็นคนแกล้ง หวดแล้วยังด่าทอโวยวาย ก็จะหวดจริงจนกว่าจะยอมออก แต่ขณะที่ผมโกรธ อารมณ์ร้อน เสียงดัง ยังต้องพยายามข่มจิตให้นิ่งที่สุด ใช้สมาธิควบคุมตนไม่ให้หลงออกนอกสถานการณ์ที่กำลังเกิดตรงหน้า”

เจ้าภาพส่วนใหญ่จึงมักเลือกโนราใหญ่ด้านพิธีกรรมที่คุณวุฒิเหมาะกับวัยวุฒิ

การจัดโนราโรงครูแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมากย่อมไม่อยากให้พิธีล้มกลางคัน

“เจ้าภาพบางบ้านเขาชอบโนรามากเลยนะ จะรับโนราโรงครูไปเล่นทุกปี สมัยที่ผมยังเด็กเขารับจ้างกัน ๓,๐๐๐ เจ้าภาพจะปลูกโรงเอง  ผมโตทันเล่นยุคที่โรงครูราคา ๑๒,๕๐๐-๑๕,๐๐๐ บาท เดี๋ยวนี้โรงครูละ ๗๕,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ แล้ว เพราะเจ้าภาพจะยกให้เป็นหน้าที่โนราจัดหาโรงด้วย”

ที่จริงยอดเงินจำนวนนั้นก็ไม่มากหากนับรวมค่าเสี่ยงอันตราย

พิธีจับลงนานถึงตี ๓ จึงแยกย้ายให้คนทรงทั้งแปดได้พักกายมนุษย์

บรรพบุรุษที่เหลือดำเนินต่อช่วงสายวันศุกร์-วันสุดท้ายของพิธีโรงครู
Image
ตัดเหฺมฺรย
“เหฺมฺรย” คือพันธะสัญญาที่มนุษย์ลั่นวาจาแก่วิญญาI เมื่อได้แก้บนแล้ว ร่างทรง-สื่อกลางจะทำหน้าที่ตัดขาด “ห่อเหฺมฺรย” (หมากพลูห่อข้าวสาร ดอกไม้ เทียน) ที่ให้ผู้บนบานคาบไว้ เป็นอันยุติข้อผูกมัด

จากนั้นเข้าสู่พิธี “แก้เหฺมฺรย” (แก้บน) ผู้สำเร็จจากพรที่บนบานกับครูหมอตายาย ไม่ว่าจะขอให้หายป่วย สอบเข้าเรียนสำเร็จ พ้นเกณฑ์ทหาร ได้งานที่ต้องการ ตามของหายคืน ฯลฯ ถึงเวลานำเครื่องเซ่นตามสัจจะอย่างหัวหมู เป็ด ไก่ สำรับคาวหวาน ผลไม้ เหล้า บุหรี่ หมาก พลู ข้าวตอกดอกไม้ ฯลฯ ขาดไม่ได้คือมะพร้าวอ่อนสามลูกวางเรียงเคียงชิดจนแน่นขนัด พร้อมจุดเทียนปักบนเครื่องเซ่นทุกสิ่งอย่าง

เมื่อประกอบกับอุปกรณ์ในพิธีของโนราใหญ่ทั้งบายศรีชั้นบน บายศรีท้องโรง เสื่อสาด หมอน ผ้าเพดานบนพาไล ผ้าเพดานใหญ่ในโรงพิธี ที่ตั้งเทริด พานผ้าขาว เครื่องเชี่ยนพิธี หม้อน้ำมนต์ สอบราด ไม้หวาย มีดหมอ ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องแต่งตัวโนรา หน้าพราน ฯลฯ ก็ทำให้โรง ๔.๕x๕.๕ เมตรคับแน่น

นอกจากเครื่องเซ่น ลูกหลานที่บนด้วย “การรำโนราถวายครู” ก็จะแต่งตัวแล้วนำพานดอกไม้ธูปเทียน เงิน ๑๒ บาท มอบแก่โนราใหญ่ให้ช่วยนำแก้บน แล้วเริ่มรำพอเป็นพิธี  พ้นเที่ยงวันไปแล้วจึงถึงคราวของผู้จะแก้บนด้วย “การรำจับบทออกพราน” บ้างโดยวิธีเดียวกัน

ต่าง ๆ นานาที่ทำนับแต่วันพุธจวบวันศุกร์เพื่อนำสู่พิธี “ตัด
เหฺมฺรย”

ในส่วนของลูกหลาน ร่างทรงจะให้ผู้บนบานคาบหมากพลู-สิ่งแทนเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้ตายายไว้ในปากด้านหนึ่งแล้วใช้มีดตัดฉับกลางหมากพลูคาปากให้แยกขาด ถือว่าไม่มีอะไรติดค้างอีก

แต่น่าจะยิ่งเป็นการตัดขาดที่ผูกมัดกระชับขึ้น เพราะประจักษ์ผลสัมฤทธิ์ครูหมอตายายแล้ว

ร่างทรง-ในฐานะเจ้าภาพทยอยแจกห่อพอกที่โนราใหญ่แต่งพอกคล้องเอวไว้เมื่อวานให้ลูกหลานเก็บเป็นมงคล  แม้คนนอกตระกูลอย่างเรายังได้รับการเรียกเข้าไปรับ ตีความเองว่าเป็นนิมิตหมายที่ได้รับอนุญาตแล้วว่าสามารถเผยแพร่เรื่องราวของพวกเขาได้ตามจริงที่เห็นและที่ล่วงรู้ความลับบางส่วน

เป็นบ้านที่มีลูกหลานเยอะมาก เมื่อพวกเขาสามัคคีกันเข้ามารับห่อพอกในโรงพิธีก็ทำพื้นโรงที่เป็นไม้ทรุดหักจนเกิดโพรงไปด้านหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในวันมงคล กลับเป็นเรื่องที่ทุกคนพร้อมสรวลเสเฮฮา

ครั้นสิ้นสุดพิธีกรรมของครอบครัวฝ่ายพุทธ อาหารเครื่องเซ่นไหว้ได้รับการจัดเก็บจนพื้นที่โรงครูโล่งตาอีกครั้ง

ถึงคราวเชิญครูหมอตายายฝ่ายอิสลามมาร่วมกิจกรรมบันเทิงร่ายรำกับลูกหลานชายหญิง ร่างทรงบางคนสวมหมวกกะปิเยาะห์สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมมลายูเพื่อให้เกียรติบรรพบุรุษมุสลิม

สนุกกันจนสมควรแก่เวลา โนราใหญ่จะขับร้อง “บทเจ้าภาพ” พรรณนาความในใจของโนราและขอบคุณที่ได้เลี้ยงดูปูเสื่ออำนวยความสะดวกให้ดุจเครือญาติตลอดระยะเวลาที่อยู่ใกล้ชิด
Image
Image
Image
...วันนี้โนราลาท่านแล้ว แจ้วแจ้วจะร้องไห้สั่ง จงอยู่ไปเถิดน้องทองพันชั่ง พุ่มพัวบัวคลั่งพี่สั่งไว้ เวลาโนรามาเล่นได้เห็นหน้า เวลาจากไปแล้วใจหาย ทั้งเช้าทั้งเย็นแสนสบายต่อใดจะได้กลับมา...
จากนั้นจะขับร้อง “บทส่งครู” เพื่ออัญเชิญครูหมอตายายกลับเรือน

“การส่งครูหมอตายายเพื่อลาโรงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำพิธีให้ได้ในวันศุกร์ หากผมป่วยก็ต้องหาโนราใหญ่คนอื่นมาทำพิธีแทน เราเชิญดวงวิญญาณมาแล้วจะไม่ส่งกลับไม่ได้”

โนราใหญ่ผู้เป็นนายโรงสำทับน้ำเสียงเด็ดขาด

เวลาอื่นขณะประกอบพิธีเราอาจเห็นเขานุ่งโสร่ง สวมเสื้อขาว พาดผ้าขาวม้าที่บ่า แต่เมื่อถึงการแสดงโนราหรือประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับครูหมอโนรา จะแต่งกายด้วยเครื่องแบบครบชุดของโนราเสมอ ตอนนี้เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นเขาอยู่ในชุดนั้นและยังคงมีผ้าขาวม้าบอกฐานะผู้เป็นเจ้าพิธี

มากกว่าท่วงท่าสง่า เมื่ออยู่ในบริบทที่พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประกอบพิธีร่ายรำ “บทส่งเทวดา” และพกหวายเฆี่ยนพรายพร้อมกริชสำหรับร้องรำ “บทขับผี” เพื่อไล่สัมภเวสีที่อาจแฝงตัวมาเสพสำราญจากงานบุญแล้วไม่อยากกลับโลกวิญญาณ หมายวนเวียนอยู่โลกมนุษย์เบียดเบียนเจ้าบ้านต่อ จึงต้องขู่กำราบ หากดื้อดึงจะถูกเฆี่ยนพราย ว่าบทพลางเงื้อมมือตวัดหวายลงยันต์อาคมฟาดพื้นโรงดังเพียะ !

ท่าทีแสดงอำนาจขึงขัง ประกอบกับเสียงดนตรีเร่งเร้ายิ่งส่งให้เขาดูทรงพลัง

ในที่สุดก็ถึงนาทีขับ “บทลาโรง” เป็นการร่ายรำประกอบบท “นกกระจอก”
...นางนกกระจอกบินออกชายคา พือปีกวาวาจะข้ามสาคร ข้ามไปไม่ได้เพราะปีกหางยังอ่อน บินข้ามสาครฉันนั้น น้องหนา...หรือ...ว่าจะคอยอยู่เจ้านกจับ ทีชะตาจะลาทัพผูกรัดไว้ไม่ให้เจอ จะสั่งแม่ทองร้อยชั่งอยู่หลังอย่าร้องนะ น้องเอ๋ย...
Image
ส่งผี
เสร็จจาก “บทส่งครู-บทส่งเทวดา” โนราใหญ่จะรำ “บทขับผี” หากไม่ไปจะถูกหวายลงยันต์ “เฆี่ยนพราย” แล้วถอนอาคมที่สะกดไว้วันเบิกโรง ก่อนขึ้นพาไลรื้อตับจากเปิดทางให้วิญญาณเดินทางกลับภพภูมิ

หลายวรรคหลายตอนที่แสดงเนื้อหาโศกเศร้าอยู่แล้ว เมื่อบวกกับพรสวรรค์ในการขับร้องของโนราที่บรรจงเอื้อนให้สั่นสะเทือนไปถึงหัวใจ พลอยทำให้ผู้ฟังรู้สึกใจหายกับการจากลา

แล้วถึงคราวโนราใหญ่เป็นผู้ “ตัดเหฺมฺรย” บ้าง

มือถือมีดหมอประกอบพิธีด้วยกิริยาคล่องแคล่ว ดุดัน ถอนพิธีต่าง ๆ ที่สะกดไว้ตั้งแต่วันเบิกโรง โดยตัดโครงสร้างบางส่วนของโรงพิธีออกเพื่อแสดงถึงการตัดขาดจากเรื่องที่บนบาน ตั้งแต่บายศรีท้องโรง เชือกมัดขื่อโรง แล้วปีนขึ้นพาไลไป “ตัดชายคาที่มุงด้วยใบจาก” ทั้งหมดเจ็ดตับ เปิดให้เห็นท้องฟ้าเพื่อเปิดทางให้วิญญาณครูหมอตายายเดินทางกลับภพภูมิ แล้วตัดเชือกผูกผ้าเพดานศาลกับเชือกผูกผ้าเพดานท้องโรงอย่างละมุม

สิ่งสำคัญคือ “ตัดห่อเหฺมฺรย” ที่วางอยู่บนพาไล เก็บเครื่องบนพาไลทั้งหมดโยนออกนอกโรงพิธี กลับลงมาตัดชิ้นส่วนเครื่องเซ่นโยนให้ผีจรที่อยู่ใต้พาไลเพื่อชี้ทางให้ออกไปทางนั้น สิ้นสุดที่การพลิกเสื่อพลิกหมอน ถอนพื้นที่สื่อกลางระหว่างคน-ผี ดับเปลวเทียนทุกดวงเพื่อยุติการสื่อสารกับโลกวิญญาณ

แล้วถอดเทริดออก...

ความว่างเปล่าในโรงบนลานดินหน้าบ้าน คือสิ่งยืนยันสิ้นสุดพิธีที่มากด้วยสัญลักษณ์แปลกที่เรายังรู้สึกคล้ายได้ยินดนตรีเชิดแว่วไกล ๆ และเหมือนใครกำลังส่งเสียงกระซิบแผ่วที่ค่อย ๆ ขาดหาย บางทีอาจเป็นบรรพบุรุษหมอตำแยตนนั้น มองลงมาจากหิ้งริมหน้าต่างบนเรือน “ไปแล้วนะโนรา”
แง่หนึ่งพิธีกรรมของโนราโรงครูสะท้อนสัจธรรมชีวิตที่ตั้งต้นจากการปลูกผูกพันใกล้ชิด รัดร้อยความรัก สุดท้ายไม่พ้นลาจาก แล้วเดี๋ยวก็กลับมาพบกันใหม่  
เอื้อเฟื้อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล
คณะโรงครูโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์

ครอบครัวนิกร ยางทอง ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา, ครอบครัวสมพร ไชยฤทธิ์ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา และครอบครัวละม้าย เกตุศรัทธา, 
สมพรชัย ทองสองสี, ธัญชนก ทองสองสี ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) 

หนังสืออ้างอิง
เกษม ขนาบแก้ว. “การศึกษาและสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ : บทมโนราห์”. เอกสารเผยแพร่ผลงานการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้ ลำดับที่ ๔. สงขลา, ๒๕๕๖.

พิทยา บุษรารัตน์. “โนรา ฉบับสถาบันทักษิณคดีศึกษา”. โครงการ 
“ศึกษาและจัดพิมพ์เอกสารวิชาการห้องพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา”.สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. สงขลา, ๒๕๕๖.

สารภี มูสิกอุปถัมภ์. “โนราโรงครู”. เอกสารศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา
วัฒนธรรม วิทยาลัยครูสงขลา. ม.ป.ท..

ข้อมูลออนไลน์

แบบรายงานสรุปประวัติและผลงานของนางสาวละมัย ศรีรักษา เพื่อพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (skruart.skru.ac.th)

กิจกรรมเสวนา 

“เหลียวหลัง แลหน้า เมื่อ ‘โนรา’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล” และ “นับโยด สาวย่าน ลูกหลานโนรา” จากงานเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ณ วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา