Image
ศาสตร์ศิลป์โนรา
ศักดิ์ศรีโรงครู
ตอน 1
scoop
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“โนรามาแล้ว !”
เมื่อเสียงคนหนึ่งดังขึ้น เสียงคนอื่นก็กระซิบบอกต่อคนในบ้านชาวคณะ โนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ กุลีกุจอขนเครื่องดนตรี ชุดแต่งกาย อุปกรณ์ตกแต่งโรงครู และสรรพสิ่งที่จำเป็นในการประกอบพิธีลงจากรถกระบะมายังโรงครู

ตรงหน้าคือศาลาไม้ไผ่ยกพื้นเตี้ย ทิศตะวันออกทำเป็น “พาไล” สำหรับตั้งศาล วางเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยแล้วพาดบันไดไม้ไผ่ไว้สำหรับปีนขึ้น-ลง  เมื่อหันหน้าหาพาไล บันไดจะพาดอยู่ซีกซ้าย ซีกขวามีเทริดหน้าพราน (เทริด อ่านว่า เซิด) และเครื่องแต่งกายโนราแขวนไว้บูชาส่วนห้องแต่งตัวของชาวโนราจะอยู่หลังม่านที่วาดเป็นฉากประกอบการแสดง เป็นการเจียดพื้นที่โรงครูไว้หลับนอนช่วง ๓ วัน ๒ คืน แม้เอาจริงก็แทบไม่ได้นอน

ท่ามกลางเสียงจอแจของหมู่ญาติในเขตรั้วบ้านเจ้าภาพ บ้างสรวลเสเฮฮากินดื่ม สาละวนเตรียมอาหารไม่ให้ขาดพร่อง และช่วยโนราจัดการสถานที่ หัวใจของคนต่างถิ่นที่ร่วมสังเกตการณ์พิธีในครอบครัวผู้อื่นแอบเต้นไม่เป็นจังหวะเมื่อเจ้าบ้านแนะนำให้รู้จักห้อง “ครูหมอตายาย”
เหมือนมีความลับสำคัญซุกซ่อนและเป็นเหตุแห่งพิธี “โนราโรงครู”
มาตะ-มาเถิด
ยินดีต้อนรับ

เปรียบธรรมเนียมสากลมี welcome drink คนไทยมีน้ำเย็น ๆ พร้อมของว่าง

ทางปฏิบัติโนราเจ้าบ้านก็ต้องถวายพานขันหมากแก่โนราใหญ่ผู้เป็นนายโรง

ก่อนตะวันตกดินวันพุธ คือจุดเริ่มพิธีเบิกโรง “ยามนกชุมรัง” (สำนวนชาวใต้หมายถึงช่วงเวลาเย็นย่ำ) แม้พิธีกรรมยึดโยงจากตำนานโนราตอนรับนางนวลทองสำลีกลับวัง แต่แง่กุศโลบายก็เป็นเวลาเหมาะ เนื่องจากเป็นโมงยามที่ลูกหลานเสร็จการงานกลับถึงบ้านพร้อมเพรียง

โนราโรงครูเต็มรูปแบบกำหนดระยะไว้ ๓ วัน ๒ คืน แม้ไม่ชี้ชัดข้างขึ้นข้างแรม แต่รู้ตรงกันว่าต้องเริ่มพิธีเข้าโรงครูในวันพุธและสิ้นสุดเพื่อส่งครูในวันศุกร์เสมอ เว้นแต่ศุกร์นั้นตรงกับวันพระ เชื่อกันว่าครูหมอตายายจะถือศีล ไม่อาจมาร่วมพิธีรับเครื่องเซ่นไหว้ จึงเลื่อนไปส่งครู-เลิกโรงวันเสาร์แทน

หลายจังหวัดภาคใต้นิยมประกอบพิธีช่วงเดือนยี่ถึงเดือนสามแต่แถบนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา นิยมทำในเดือนหกถึงเดือนเก้า ต้นจวบกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ เราจึงได้ติดตามโรงครูคณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ ไม่ขาดตอนจากบ้านแรกในตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ต่อด้วยบ้านที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา มาถึงบ้านนี้ในตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งพิเศษกว่าสองหลังแรกตรงเป็นครอบครัวที่รวมบรรพบุรุษทั้งผู้นับถือพุทธและมุสลิม
Image
ขบวนอัญเชิญ “ทวดนวลทองสำลี” เป็นประเพณีประจำปีที่วัดพะโคะ จังหวัดสงขลา จัดให้ผู้ศรัทธามาสักการะ “ครูต้นตระกูลโนรา” ในช่วงออกพรรษา
Image
“โนรา” ต่างจากมหรสพทั่วไปตรงเป็นบันเทิงสำหรับ ประกอบพิธีกรรม การฟ้อนรำโดยมากจึงมักเกิดใน “โรงครู”
เจ้าภาพจึงคัดสรรโนราโรงครูที่แสดงรำ “โนราแขก” ได้ด้วย เข้าใจอย่างง่ายคือการแสดงที่นำเนื้อหาละครโนราแบบไทยพุทธมาผสมผสานกับการร่ายรำมะโย่งของชาวไทยมุสลิมโดดเด่นในเรื่องการแต่งกายแบบพื้นเมืองและโนราจะขับร้องเจรจาเป็นภาษามลายู

เฉพาะพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้นที่มีโนราแขกและมีพิธีกรรมโรงครูในแบบภาษามลายู ส่วนครอบครัวชาวปักษ์ใต้จังหวัดอื่นที่มีบรรพบุรุษนับถืออิสลามร่วมกับพุทธจะเพียงนำการแสดงโนราแขกมาเสริมเพื่อความบันเทิง แต่รับโรงครูแบบพุทธมาประกอบพิธีกรรม

ละม้าย เกตุศรัทธา เมตตาให้เยี่ยมชมห้อง “ครูหมอตายาย” ซึ่งถือเป็นเขตสงวนของครูบาอาจารย์และผีบรรพบุรุษสำหรับคนในครอบครัว  ในห้องจัดวางเครื่องบูชาโนรารวมกันแต่แยกโต๊ะวางสำรับบรรพบุรุษต่างศาสนาไว้สองฝั่ง เนื่องจากฝั่งตายายที่เป็นอิสลามต้องบูชาด้วยอาหารฮาลาล

“เดิมที่นี่เป็นบ้านตายาย ห้องบรรพบุรุษก็คือห้องนอนเดิมที่พ่อแม่สั่งไม่ให้ย้ายเตียง บ้านนี้เคยทำโรงครูมาเจ็ดถึงแปดครั้ง สามปีค่อยทำที เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ทำครั้งแรกต้องซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างหมดเป็นแสน ครั้งถัดมาประหยัดลง เพราะใช้ของเดิม ปีนี้พิเศษหน่อยตรงที่เพิ่งทำปีที่แล้ว  หลังทำแล้วได้เห็นว่าลูกทุกคนในบ้านอยู่สบายหมด พอมีกำลังจึงทำอีกได้ทำบุญประจำปีให้บรรพบุรุษและรวมญาติไปในตัว”

หญิงวัยเกษียณกระซิบ หลังรับโนราโรงครูมาเล่นปีที่แล้วก็มีโชคใหญ่ เป็นเหตุผลที่ไม่ต่างจากบ้านอื่นที่ขอพรแล้วสมปรารถนา เมื่อสำเร็จจึงต้องเซ่นไหว้ผ่านพิธีกรรมของโนราโรงครู ด้วยเชื่อกันว่าครูหมอตายายล้วนปรารถนาให้เกิดการสืบสานศิลปะร่ายรำโนราและสืบทอดพิธีกรรมผ่านร่างทรง

ผู้ละเลยจะถูกครูหมอตายายลงโทษจนต้องพึ่งไสยศาสตร์ตรวจสาเหตุ ที่สุดแล้วก็นำมาสู่การจัดโนราโรงครูรำแก้บนอยู่ดี

เมื่อเบิกโรง “โนราใหญ่” หรือ “ราชครูโนรา” แล้ว จะต่อด้วยพิธี “กาดโรง-ชุมนุมครู” ขับบทกลอนอัญเชิญบุรพาจารย์ ครูต้นโนราผู้ล่วงลับ และบุคคลสำคัญผู้เป็นดั่งราชครูที่ชาวโนราเคารพ ได้แก่ พระเทพสิงหร ขุนศรีศรัทธา พระม่วงทอง หม่อมรอง พระยาสายฟ้าฟาด พรานบุญ แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี แม่แขนอ่อนฝ่ายขวา แม่แขนอ่อนฝ่ายซ้าย แม่ศรีดอกไม้ และแม่คิ้วเหิน ให้มาปกป้องคุ้มครอง อวยชัยให้การแสดงโนราเป็นไปด้วยดี พร้อมปัดรังควานเสนียดจัญไรออกจากโรงโนรา

ยามนี้ครูต้นโนรามาแล้ว...เดินทางมาไกลนับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
Image
Image
ลูกหลานโนราเชื่อตามตำนานว่า “พระยาสายฟ้าฟาด” คือปฐมกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินบกแถบลุ่มน้ำทะเลสาบตั้งแต่กรุงสทิงพาราณสี เวียงบางแก้ว จดเมืองท่าปากแม่น้ำตรัง
(การสถาปนาเวียงบางแก้วมีปรากฏแทรกในพงศาวดารเมืองพัทลุงและถือเป็นเมืองแรกของจังหวัดพัทลุง) ทรงมี “พระนางศรีมาลา” เป็นมเหสีและมีธิดาคือ “พระนางนวลทองสำลี”

นางนวลทองสำลี เป็นบุตรีท้าวพระยา นรลักษณ์งามนักหนา จะแจ่มดังอัปสร เทวาเข้าไปดุลจิต ให้เนรมิตเทพสังหร รูปร่างอย่างขี้หนอน ร่อนรำง่าท่าต่างกัน...

บทกาดครูของขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่ม เทวา) จากหนังสือของรองศาสตราจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม สะท้อนความเป็นมา เหตุจากธิดานวลทองสำลีฝันเห็นเหล่ากินนร (สัตว์นิยายในความเชื่อฮินดูและพุทธ ครึ่งบนเป็นมนุษย์ครึ่งล่างเป็นนก เมื่อไปไหนจะสวมปีก-หางบินไป) มาฟ้อนรำ ๑๒ ท่า รับจังหวะดนตรี ปี่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง แตระ เมื่อตื่นจึงเล่าฝัน-สั่งกำนัลทำเครื่องประโคมและฝึกสอนให้ร่ายรำ

ครั้นเทพสิงหรจะแบ่งภาคจุติเป็นมนุษย์ก็มีเหตุให้พระนาง
นวลทองสำลีอยากเสวยเกสรดอกบัวในสระหน้าวัง เมื่อเสวยหมดก็ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว ยังคงครึกครื้นกับการประโคมดนตรีร่ายรำ
วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดชมธิดารำ สังเกตว่านางตั้งครรภ์ คาดคั้นหาผู้ล่วงเกินเท่าไรก็ได้รับแต่คำปฏิเสธ เมื่อผิดกฎมณเฑียรบาลจึงเนรเทศลอยแพพร้อมสนมกำนัล สายลมพัดพาไปติดเกาะกะชัง (ปัจจุบันคือพื้นที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา) พระอินทร์ช่วยเนรมิตศาลาพร้อมเครื่องใช้ให้อยู่สบาย

ครั้นครบกำหนดประสูติโอรสก็ตั้งพระนาม “พระเทพสิงหร”
และถ่ายทอดศิลปะการร่ายรำของกินนรให้ (บางความเชื่อที่
เกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียเล่าว่า เทพสิงหรในภาคสวรรค์ก็คือพระศิวะหรือพระอิศวร เทพแห่งศิลปะร่ายรำและการบันเทิง)

ต่อมาเมื่อพระเทพสิงหรจำเริญวัยได้สืบความอดีตจากแม่แล้วออกเดินทางสู่เมืองของตายายโดยมีพรานผู้หนึ่งติดตามดูแล ระหว่างทางใช้วิชารำที่แม่สอนแลกข้าวปลาอาหารกระทั่งเข้าสู่เขตเวียงบางแก้ว พบคนในวังบอกข่าวเรื่องพระนาง
ศรีมาลาประชวรหนักด้วยโรคที่หมอไม่อาจรักษา พระยาสายฟ้าฟาดอนุญาตให้ผู้รักษาได้เข้าวัง

พระเทพสิงหรสบโอกาสร่ายรำถวายหน้าพระพักตร์พระนางศรีมาลา พลันเกิดอัศจรรย์เมื่อพระนางชมการรำแล้วหายประชวร ภายหลังทราบว่าเป็นพระนัดดาจึงให้รับพระนางนวลทองสำลีและขุนศรีศรัทธากลับเมือง แต่พระนางนวลทอง-
สำลียืนกรานปฏิเสธ

เย็นแรกของวันเริ่มเข้าโรงมีการอัญเชิญวิญญาณครูหมอตายายมาชุมนุมโดยอุปโลกน์ให้ “ผ้าเพดาน” คือที่ประทับชั่วคราวระหว่างดำเนินพิธี ๓ วัน ๒ คืน 
พระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งให้จัดเรือไปรับอีกครั้งพร้อมกำชับว่าหากขัดขืนให้จับมัดกลับมา (ฉากนี้โนรานิยมแสดงในพิธีคล้องหงส์) ระหว่างทางจะเข้าปากน้ำพบจระเข้ตัวเขื่องขวางน่าสะพรึง ชาวเรือจึงทำพิธีแทงเข้จนตายเรือจึงได้ผ่านเข้าปากน้ำสู่วัง (โนราจะแสดงต่อจากคล้องหงส์) พระยาสายฟ้าฟาดจัดงานมงคลรับขวัญลูกหลาน พระราชทานเครื่องทรงกษัตริย์ตั้งยศพระเทพสิงหรเป็น “ขุนศรีศรัทธา” ให้เป็นหัวหน้านักรำหลวงถ่ายทอดการรำคู่เวียงบางแก้ว

แต่นั้น ศิลปะการร่ายรำจากกินนรก็ได้รับการเรียกขานชื่อ “โนรา”

และถิ่นกำเนิดโนราก็กลายเป็นประวัติศาสตร์คู่สงขลา-พัทลุง

“ยุคที่ยังไม่มีทะเลสาบสงขลาพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก มีความเจริญทางการค้าและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก  ชาวจีน อินเดีย อาหรับ เข้ามาค้าขายตั้งแต่พุทธ-ศตวรรษที่ ๑๒ เกิดชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาลัทธิมหายานและศาสนาพราหมณ์  ผมคิดว่าโนราน่าจะมาทางศาสนาพราหมณ์เป็นการร่ายรำเพื่อบูชาเทพ เมื่อศาสนาพราหมณ์เข้าพื้นที่แถบคาบสมุทรมลายูก็นำศิลปะนี้มาแล้วพัฒนาเป็นลำดับ จนยุคที่มีทะเลสาบสงขลาก็ได้แพร่กระจายโนราจากเมืองหลวงของปักษ์ใต้สู่พัทลุง ที่เชื่อกันว่าปัจจุบันคือพื้นที่อำเภอสทิงพระในจังหวัดสงขลา ซึ่งคนพื้นเมืองดั้งเดิมก็มีความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดาอยู่จึงรับโนรามาผสมผสานโดยง่าย  ผมคิดว่าเรื่องของทวดนวลทองสำลีก็เป็นมิติหนึ่งของการเล่าตำนานเมืองพัทลุง แล้วสร้างพระพุทธรูปที่ผูกสัมพันธ์กับโนราขึ้นมา”

พิทยา บุษรารัตน์ ประธานชมรมรักษ์ปักษ์ใต้ ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโนราโดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมบริเวณรอบลุ่มทะเลสาบ สะท้อนแง่มุมประวัติศาสตร์ในวงเสวนา “นับโยด สาวย่าน ลูกหลานโนรา” ที่จัดโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) บริเวณวัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) อำเภอสทิงพระจังหวัดสงขลา เมื่อปลายมีนาคม ๒๕๖๕

สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการที่กล่าวถึงแหล่งวัฒนธรรมรอบทะเลสาบสงขลาซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาบนเกาะยอว่า ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบมีศูนย์กลางอยู่เมืองสทิงพระโบราณและรอบบริเวณวัดพะโคะ ส่วนฝั่งตะวันตกของทะเลสาบจะแผ่ครอบคลุมไปถึงบริเวณเขาเมืองในจังหวัดพัทลุงปัจจุบันดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งกำเนิดตำนานนางเลือดขาวและศิลปะการแสดงหนังตะลุง-โนรา ยังสอดรับกับตำนานที่วัดพะโคะเล่าขานถึงพระพุทธรูปเนื้อสำริดที่ทรงเครื่องคล้ายการแต่งกายโนรา ซึ่งศรัทธาว่าเป็น “ทวดนวลทองสำลี” หรือ “ทวดยายหฺมฺลี” ผู้เป็นครูต้นตระกูลโนรา  ความว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา หญิงคนหนึ่งมาอาศัยในชุมชนนี้แล้วสอนให้ชาวบ้านรู้จักปั่นด้าย-ทอผ้าจนเป็นที่นับถือเคารพดั่งครู เมื่อสร้างพระพุทธรูปจึงให้ชื่อ “พระพุทธรูปยายสำลี” เพื่อระลึกถึงด้ายฝ้ายที่ครูสอนให้ใช้ทอผ้า ต่อมาคนรุ่นหลังขมวดรวมกับชื่อนางนวลทองสำลีผู้กำเนิดโนรา จึงศรัทธาพระพุทธรูปนี้เป็นอนุสรณ์ของนางด้วย

ในด้านบันเทิง โนราเปรียบเป็น “ละครชาตรี” มีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่น ลักษณะคล้ายละครเร่ของชาวเบงคลีในอินเดีย ที่เรียก “ยาตรี” หรือ “ยาตรา” (หมายถึงการเดินทาง)
Image
“รำท่าตัวอ่อน” คือหนึ่งในการ “รำประสมท่า” อวดความสามารถเฉพาะตน ฝึกฝนได้ตั้งแต่เด็ก
ละครยาตราของอินเดียนิยมเล่นเรื่อง คีตโควินท์ มีตัวละครหลักคือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ขณะที่ละครรำของไทยเริ่มปรากฏต้นกรุงศรีอยุธยา ครั้งวัฒนธรรมอินเดียแพร่หลายสู่ประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีน เช่น เขมร พม่า มาเลเซีย ไทย ก็ก่อเกิดศิลปะบันเทิงที่คล้ายกันในกลุ่มประเทศนี้ โนราที่แพร่กระจายในภาคใต้ของไทยนิยมแสดงเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ บางทีชาวบ้านก็เรียกการแสดงประเภทนี้ว่า “โนราชาตรี”

แต่บางตำราก็อ้างว่า ยาตราในภาษาสันสกฤตนั้นชาวอินเดียตอนใต้เรียก “ฉัตริย” หมายถึงกษัตริย์ ตามลักษณะตัวเอกในละคร ชาวอยุธยารับละครแบบนี้มาจากชาวอินเดียตอนใต้ แต่ออกเสียงตามไม่ถนัด จึงได้เป็นคำว่า “ชาตรี” เชื่อมโยงกับบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่สันนิษฐานอีกมุมว่า ขุนศรีศรัทธาคือนักนาฏศิลป์ที่มีชื่อเสียงในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังมีคดีถูกเนรเทศลอยแพ
ไปติดอยู่เกาะกะชัง ชาวเรือพบจึงพาไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช ขุนศรีศรัทธาจึงนำละครชาตรีฉบับอยุธยาไปเผยแพร่ สอนให้ชาวบ้านรู้จักแสดงละคร รถเสน กับ มโนราห์ เรื่องหลังเป็นที่ชื่นชอบกว่าจึงเล่นต่อกันมาตามสำนวนภาษาชาวปักษ์ใต้และตัดคำเรียกเหลือ “โนรา”

โนรา-ชาตรีแบบปักษ์ใต้ถึงคราวเข้าวังครั้งแรกปี ๒๓๑๒ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชแล้วพากลับกรุงธนฯ พร้อมชาวคณะละคร ต่อมาปี ๒๓๒๓ โปรดเกล้าฯ ให้ละครของชาวนครศรีธรรมราชขึ้นแสดงประชัน ละครหลวง (หญิงล้วน) ในงานฉลองพระแก้วมรกต กระทั่ง
ปี ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ครั้งเป็นพระยาคลังไประงับเหตุร้ายทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ก็พาชาวใต้ติดตามกลับวังและจำนวนนั้นก็มีผู้ชำนาญด้านละครชาตรี

ตามจริงยังมีอีกหลายตำนานเล่าขานต่างไปตามแต่ละครูจะส่งต่อให้ศิษย์

แต่ชื่อ “แม่นวลทองสำลี-พ่อขุนศรีศรัทธา” ต้องสถิตทุกบ้านที่มีนักรำโนรา

ค่ำแรก คณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ ขนทัพโนราเยาวชนและมืออาชีพแสดงรำถวายครู เลือกจับบทตั้งเมืองเพื่อระลึกถึงเมืองของพระยาสายฟ้าฟาด สอดรับกับฉากโรงที่วาดทิวทัศน์เส้นทางสู่เขตวัง

พวกเขาสวมเทริด กำไลแขน นุ่งสนับเพลาแล้วทับปั้นเหน่ง คาดเจียระบาดห้อยหน้า-หลัง สวมสังวาลพาดเฉียงสองข้าง ทับทรวง กรองศอ ประดับปีกนกแอ่น หางหงส์ สวมเล็บปลายแหลมโค้ง

ธรรมเนียมการแสดง ก่อนรำออกมาหน้าฉากจะขับกลอนอยู่หลังฉากก่อนเพื่อแนะนำตนกับผู้ชมว่าใครจะออกมารำ อายุเท่าไร ฯลฯ ตามปรกติโนราน้องใหม่จะออกโรงก่อน เก็บตัวสำคัญไว้หลังสุด ซึ่งมักเป็นผู้แสดงโต้กลอนสด ถือเป็นการอวดชั้นเชิงภาษาและไหวพริบ

เป็นช่วงที่สมองต้องทำงานหนัก ราชาศัพท์ที่ส่วนใหญ่มีรากจากบาลี-สันสกฤต แม้เคยเรียนมา แต่เมื่อประกอบกับศัพท์-สำเนียงถิ่นใต้ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด อย่างเก่งเพียงฟังประโยคยาวแล้วจับความได้คำสั้น ถึงอย่างนั้นยังเพลินไปกับสีหน้า แววตา ท่าทางของหมู่คนที่แต่งกายคล้ายเทวดากึ่งกินนร ราวครูหมอตายาย ครูต้นโนรา เข้าใจข้อจำกัดผู้มาจากต่างวัฒนธรรมจึงช่วยพาข้ามกำแพงภาษาด้วยสุนทรียภาพ

บันเทิงราตรียังอีกยาวไกล...มาตะ-มาเถิด ยินดีต้อนรับ
Image
แต่งตัว โนรา
ตำนานเล่าว่าเครื่องแต่งตัวโนราเป็น “เครื่องต้น” ของกษัตริย์ที่พระยาสายฟ้าฟาดพระราชทานแก่ขุนศรีศรัทธา  นักแสดงโนราสมัยก่อนเป็นชายล้วนจึงไม่สวมเสื้อตามวิถีคนโบราณ ปัจจุบันจะสวมเสื้อกล้ามไว้ด้านใน สวมถุงเท้าสีขาว และเพิ่มเครื่องประดับอย่างอุบะดอกไม้และสายข้อเท้า

เจ้ามุตโต-
ปราชญ์กลอนสด

แม้ไม่ร่ายรำยังรู้เป็นโนรา เพราะชั้นเชิงเปล่งร้องลงตัวล้ำลึก

ศิลปะขับกลอนคือเสน่ห์โดดเด่นของโนรา หากร้องจากที่แต่งล่วงหน้าจะเรียก “กำพรัด” แต่ถ้าโนราว่ากลอนสดที่เกี่ยวกับบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ฉับพลันจะเรียก “มุตโต”
น้องสาวกิ้มนั่งแย้มยิ้มพริ้มพราย ฝ่ายตายายขอให้หายขาดกัน โนรามัยได้ตั้งใจมาหา งานน้องยารับรองว่าสุขสันต์ น้องสาวเหอคืนนี้เหฺมฺรยขาดกัน น้องแย้มยิ้มนั่งอยู่พริ้มพราย เห็นลูกสาวแม่เข้ามาหา กล่าววาจาไพเราะเหลือหลาย ลูกดีจริง ทั้งหญิงและชาย น้องกิ้มแย้มมาว่ามารดาชื่นใจ ได้ข่าวว่าลูกไปอยู่ภูเก็ต ช่างดีเด็ดเสมือนเพชรเม็ดใหญ่...
คือความสามารถด้านกลอนสดของ ละมัย ศรีรักษา (โนราละมัยศิลป์ สงขลา) หญิงวัย ๘๖ ปี ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลายกตัวอย่างครั้งพิจารณามอบปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏยรังสรรค์ ให้ไว้เป็นเกียรติประวัติ

ค่ำนี้ปรากฏตนพร้อมน้ำเสียงไพเราะ พกโวหารฉาดฉานคมคายด้วยเอกลักษณ์ในการขับร้องกลอนมุตโต ให้เกียรติมาประสมโรงครูคณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ แล้วพากันประชันปฏิภาณขับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด คือเหตุผลที่โนราต้องใช้นักดนตรีเล่นสดเช่นกัน และต้องคุ้นกันมา เพราะต้องรู้จังหวะรับส่งตบมุกรู้ใจโนรา เป็นของดีภาคบันเทิงที่ผู้ชมหลากวัยรอชมหลังภาคพิธีกรรม สนุกไม่แพ้โนราสมัยใหม่

“จริงอยู่ว่าโรงครูเป็นโนราเพื่อประกอบพิธีตามขนบ ช่วงสวดจึงเพียงเล่าประวัติเป็นมาของทวดนวลทองสำลีตั้งแต่ถูกลอยแพจากเวียงบางแก้วไปติดเกาะกะชัง แต่ไม่ใช่จะร้องไปเรื่อยตามท้องเรื่อง อย่างฉากที่อยู่ในน้ำก็จะสวดแบบเอื้อนลากเสียงช้า ๆ บทต่อมาก็สลับเป็นเร็ว ขับกลอนหกบ้าง กลอนแปดบ้าง ประสานจังหวะรับส่งกับดนตรี สิ่งนี้ทำให้แม้ทุกคณะจะร้องเนื้อหาเดียวกัน ก็ต่างกันที่ลีลาขับร้อง”

พิเชษฐ์ หนองหงอก (โนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์) ไม่เพียงรอบรู้ไสยศาสตร์เชี่ยวชาญอาคมเป็นที่นับถือจากชาวบ้าน ด้านพิธีโรงครู ยังเป็นโนราที่เปี่ยมทักษะร่ายรำและขับบทกลอนเป็นที่รับรู้ของชุมชน
“ผมมีใจอยากเป็นโนราตั้งแต่เด็ก เวลามีโรงครูมาเล่นแถวบ้านก็ชอบไปดู ชอบฟังดนตรี จดจำคำร้องและท่าทางการรำแบบครูพักลักจำมาหัดเอง พออายุ ๑๑ ขวบ ได้เรียนรำโนราจริงจังก็ยิ่งชอบ ผู้ชายที่ชอบรำไม่จำเป็นต้องมีใจเป็นหญิงไม่ใช่เลย เพียงแต่เมื่ออยู่ในชุดโนราอาจทำให้ดูอ่อนช้อยตามทำนอง แต่ร่างกายต้องแข็งแรงมาก เพราะใช้กล้ามเนื้อแขนขาเยอะจึงจะรำได้สวย  เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี จดจำได้หมดทั้งท่ารำคำร้อง จึงเข้าพิธีตัดจุกผูกผ้าเป็นโนราใหญ่เพื่อเรียนเป็นครูโนราตั้งแต่ปี ๒๕๔๕”
Image
Image
Image
ห้องลับ 
โรงครูแต่เดิมไม่มีฉาก โนราจะแต่งตัวกลางโรงพิธีขณะจับบทร้อง บทแสดง กล่าวบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ครั้นมีโนราหญิงร่วมคณะจึงต้องกั้นฉากเพื่อเป็นทั้งห้องแต่งตัวและห้องพักหลับนอนของชาวคณะ

เมื่อโนราโรงครูไม่ได้มีดีแต่ขับร้องขณะประกอบพิธีกรรมยังมีบันเทิงหลังภาคพิธี

สารพัดรูปแบบคำประพันธ์จึงได้รับการงัดออกมาทั้งกลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กาพย์ยานี กลอนสี่หนังตะลุง กลอนสามห้า กลอนพระยาหงส์ กลอนซ้ำ (กลอนคู่) กลอนกลบทกบเต้น ฯลฯ 

แม้ไม่เอิกเกริกอย่างโนราบันเทิงสมัยใหม่ แต่ก็ถูกใจชาวบ้านด้วยเนื้อหาที่สอดคล้องกับพื้นถิ่น เกี่ยวโยงวิถีชาวปักษ์ใต้สะท้อนจิตวิทยา ศรัทธา และความสัมพันธ์ในชุมชนผ่านการขับเอื้อนของโนรา บ่อยครั้งต้องอาศัยไหวพริบคิดเรื่องพิสดารจากสิ่งที่เกิดตรงหน้าแล้วใช้ทักษะเชิงกวีที่ลื่นไหลมัดใจผู้ชม

“โนราก็มีแม่ยกเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทุ่มหนักเหมือนแม่ยกลิเก และโดยมากคนใต้ก็ดูลิเก ‘ไม่เป็น’ คือดูได้ แต่ไม่เข้าใจเรื่องราว จึงจะดูในแบบชื่นชมความงามของชุดมากกว่าจะชื่นชอบการแสดง ต่างจากดูโนราที่ส่วนใหญ่ ‘ดูเป็น’ รู้ลักษณะทำนองดนตรี เข้าใจบทกลอน รู้ความหมายคำร้อง ดูออกว่าโนราคนไหนขับบทดี-ไม่ดี ผู้ชมบางคนร้องตามได้  เคยมีคนแก่เดินมาหน้าโรงบอกโนราว่าขอไม่เอาบทนี้ ไม่ชอบ ส่วนใหญ่คนใต้ที่ดูโนราจะเข้าถึงมุกการแสดงจึงรู้สึกสนุก และคนที่ชอบโนราก็มักเป็นกลุ่มเดียวกับที่ชอบหนังตะลุง”

เราเคยคิดว่า “ภูมิปัญญา” เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพิ่งเข้าใจว่าเป็นสิ่งจับต้องได้ก็ตอนนี้ เพราะทุกครั้งที่พวกเขางัดกลเม็ดเด็ดพรายออกมา มันสามารถแปลงเป็นเงินเป็นทอง

มองไปรอบตัวมีแต่คนหัวเราะ ปรบมือ ถูกใจจนเดินไปให้เงินรางวัลโนรา

คนเมืองได้แต่นั่งหัวเราะแห้งตีเนียน ฝากทิปรวมกับเขาทั้งที่ฟังไม่เข้าใจ

“หลายคนบอกให้โนราพัฒนาความรับรู้สู่สากล แต่ผมคิดว่าครูโนราต้องรู้จักประเมินว่าเรากำลังสื่อสารกับใคร สังคมมีผู้คนหลายชนชั้น ถ้าจะสื่อสารกับคนที่มีความรู้ก็ต้องเลือกเผยแพร่ด้วยองค์ความรู้ที่พวกเขาจะรับได้ ต้องเป็นเรื่องที่ง่ายเพื่อให้พวกเขาเข้าใจได้ทันที แต่เอาแค่เรื่องภาษาก็อาจเป็นปัญหาแล้ว คนท้องถิ่นด้วยกันฟังจะสนุกสนานมาก เพราะเข้าใจและเข้าถึง แต่ถ้าเอาเนื้อร้องเดียวกันนี้ไปถ่ายทอดเป็นภาษากลางหรือภาษาอังกฤษมันจะถึงใจเหมือนภาษาถิ่นไหม ไหนจะเสียงจังหวะเครื่องดนตรีอีกจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจและตื่นเต้นตามได้หรือเปล่ากระบวนการรำสลับร้องก็มีความหมายในแต่ละท่วงท่า ผมเห็นด้วยหากจะคัดสรรศิลปะรูปแบบที่ง่ายสุดไปสร้างความประทับใจให้เขาก่อน ค่อยดึงผู้ที่สนใจศึกษาต่อมาสัมผัสพิธีกรรม ความเชื่ออันเป็นรากลึกของโนรา แล้วเมื่อนั้นเขาจึงจะฟังโนราเข้าใจ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติปี ๒๕๖๔ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (โนรา) เปรยทัศนะคราวร่วมวงเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า เมื่อ ‘โนรา’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล” ที่จัดโดย Thai PBS บริเวณวัดพะโคะ จังหวัดสงขลา เมื่อปลายมีนาคม ๒๕๖๕
Image
โนราธรรมนิตย์ ดำรงศิลป์ ศ. สาโรช (กลาง)
“น่าภาคภูมิใจอยู่หรอกเมื่อศิลปะโนราที่ พวกเราถือปฏิบัติกันมาในวิถีชีวิตชุมชนได้รับการยกย่อง แต่ต่อให้ไม่ได้รับการยกย่อง เราก็ยังคงถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อไปในวิถี มันเป็นหน้าที่ ไม่มีวันสิ้นสุด”
ในความหมายนั้นอาจกินความไกลกว่ากิจที่ต้องปฏิบัติแต่คือความรับผิดชอบของคนที่เกิดมาเป็นลูกหลานโนรา

“ตัวโนราอ้อมจิตรเองเรียนหนังสือจบชั้น ป. ๔ เริ่มฝึกฝนโนราตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เพราะมีศรัทธาความเชื่อตามพ่อแม่ตายายที่พวกท่านก็รับสืบทอดต่อกันมา โนราอ้อมจิตรไปขอเรียนโนรากับครูในคณะต่าง ๆ ข้ามจังหวัด ที่ตรัง พัทลุง สงขลา ถือเป็นศิษย์ที่มีครูโนราอยู่ทั่วภาคใต้ จนได้รู้ความแตกต่างของครูโนราแต่ละสายแต่ละท่าน ครูบางคนโดดเด่นที่ท่าทางการร่ายรำมือเด้งสวย ขณะที่ครูบางคนมีความรู้ความสามารถเรื่องการขับร้องด้นกลอนสด เราก็อาศัยครูพักลักจำมา”

อ้อม สงแทน (โนราอ้อมจิตร เจริญศิลป์) หญิงวัย ๗๗ ปีชาวจังหวัดพัทลุง ย้อนชีวิตผ่านวงเสวนา “นับโยด สาวย่าน ลูกหลานโนรา” ที่จัดโดย Thai PBS บริเวณวัดพะโคะ

“ครูบาอาจารย์ของโนราอ้อมจิตรสอนให้หัดตั้งแต่การตั้งรำ ๑๒ บท ๑๒ กำพรัด ฝึกฝนด้นกลอนสด และสอนพิธีกรรมทุกอย่าง แต่ผู้หญิงกับผู้ชายแม้เรียนร้องเรียนรำเหมือนกัน ในเรื่องของพิธีกรรมก็แตกต่างอยู่ดี โนราผู้ชายเมื่อตัดจุกผูกผ้าแล้วจะถือเป็น ‘โนราใหญ่’ ขณะที่โนราผู้หญิงต่อให้มีความรู้ทุกกระบวนวิชาก็ไม่สามารถประกอบพิธีกรรม เพราะไม่ได้ผ่านการบวชเรียนทางพุทธศาสนา ถึงอย่างนั้นสิ่งสำคัญของโนรานอกเหนือจากพิธีกรรมก็ยังมีเรื่องต่าง ๆ ให้ศึกษาตัวโนราอ้อมจิตรรำได้หมด แต่มือไม่สวยจึงหันไปฝึกฝนการ ขับร้องจังหวะลูกคู่ ด้นกลอนสด จนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมได้”

เมื่อทุกฉากในชีวิตไม่ยากเกินคิดเป็นร้อยกรอง แม้ไม่อาจเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมแบบชาย แต่วันหนึ่งความเชี่ยวชาญในจังหวะขับคำกลอนก็ส่งให้เธอได้ทำหน้าที่ส่วนหนึ่งในโนราโรงครู

“ผู้หญิงสวมชุดโนราใครก็ชมว่าสวย แต่ความสวยอย่างเดียวไม่มีคุณค่าหากไม่มีความรู้ภูมิปัญญา ผู้หญิงจึงยังควรศึกษาการร้องรำโนราเพื่อให้มีวิชาติดตัว เป็นความสง่าของชีวิตคน”
ขวัญจากครูหมอ-
มงคลแด่โนรา

ดั่งครูหมอประทับทรงลงมาประทานกระบวนวิชารำให้

มนุษย์ธรรมดาถึงทรงตัวได้ดีในท่วงท่าพิเศษ-ผิดปรกติ

ต้องคอยแอ่นอกให้ลำตัวยื่นไปข้างหน้า แต่ลำคอขึ้นไปจนศีรษะต้องเชิดนิ่งขณะรำ จะย่อตัวก็เฉพาะลำตัวและเข่า ก้นยังงอน เอวต้องหัก เวลาพวกเขาเดินเหินก็คล้ายมีแต่เท้าที่เคลื่อนเพราะลำตัวยังนิ่ง ถ้าจะร่ายรำอวดวงแขนก็ขยับเพียงลำตัวช่วงบน นับจากสะดือลงมายังนิ่ง เพราะความสวยคือสมดุล ทั้งวงแขน ใบหน้า คอ อก ลำตัว เอว สะโพก เข่า ยิ่งค้างไว้ได้นานยิ่งแสดงถึงความเข้มแข็งทะมัดทะแมง

มีโอกาสชมการรำของโนราหลายคณะ ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่

สังเกตว่าแม้จะมีท่าบังคับ แต่กระบวนรำของโนราก็ไม่ตายตัว
Image
“ท่าแม่ลาย” (ท่าเทพพนม) เป็นหนึ่งใน ๑๒ ท่ารำ-ท่าหลักพื้นฐานของกระบวนการรำโนรา ผู้จะรำได้สวยต้องทรงตัวให้หลังแอ่น ลำตัวยื่นไปข้างหน้า และก้นงอน 
Image
“เพราะโนราแต่ละคนมีครูหลายคน เรียนไม่ตรงกันก็ไม่ได้แปลว่าใครผิด  ครูแต่ละคนก็สืบทอดคนละสายตระกูลซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน การสอนโนราจึงเป็นเพียงการฝึกท่าบังคับ เมื่อเป็นแล้วแต่ละคนสามารถนำไปต่อยอดความงามในแบบตนได้ ตอนยังเด็กผมฝึกจาก ‘ครูจรัสศรี’ พอเรียนปริญญาตรีสาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา จึงได้เรียนกับ ‘ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์’ ซึ่งสืบสายท่ารำจาก ‘ขุนอุปถัมภ์นรากร’  เด็กยุคใหม่ที่เริ่มรำโนราจากวิทยาลัยนาฏศิลป์หรือในมหาวิทยาลัยก็มักมีท่ารำต่างจากโนราสมัยก่อนซึ่งมีแต่ชายล้วนและเป็นการถ่ายทอดวิชาแบบพ่อสอนลูกตกทอดในครอบครัว แค่ตั้งวงแขนก็ไม่เหมือนกันแล้ว อารมณ์ที่สื่อสารผ่านท่ารำจึงผิดกัน”

พิเชษฐ์-โนราไข่น้อย เผยที่มาชื่อคณะ “ดาวจรัสศิลป์” ต่อท้ายชื่อตนเพื่อระลึกถึงครูคนแรก

เพราะการรำถือเป็นปฐมบทที่โนราทุกคนต้องเชี่ยวชาญก่อนไปศึกษาศาสตร์อื่น

“โนราจะดูดีต้องรู้ว่าตนบกพร่องจุดไหนแล้วแก้ไข ครูธรรมนิตย์รูปร่างสมส่วน เวลารำย่อฉากยิ่งย่อมากยิ่งสวย นิ้วมือครูก็เรียวตรง รำท่าที่ใช้มือนิ่งค้างไว้นาน ๆ ได้ น่ามอง ส่วนผมจะแม่นยำเรื่องจังหวะการรำ แต่รูปร่างเล็ก ช่วงขาและลำตัวสั้น เวลารำย่อฉากต้องพยายามยืดตัว และนิ้วมือบางนิ้วก็คดงอดูไม่สวย ต้องเล่นกับความไวในท่วงท่าที่ต้องใช้นิ้วให้มองไม่ทัน เป็นการดัดแปลงท่ารำเพื่อพรางจุดด้อยของร่างกายแต่แนะนำลูกศิษย์ทุกคนว่าใครร่างกายได้สัดส่วนดีอยู่แล้วก็ให้ทำตามต้นแบบ มือต้องนิ่งเหมือนครูธรรมนิตย์ ใครมีจุดบกพร่องค่อยแนะนำเคล็ดลับเป็นรายคนไป”

โนราใหญ่เมื่อผ่านพิธีครอบเทริดโดยสมบูรณ์ก็ถือเป็นครูอาจารย์ที่ถ่ายทอดกระบวนรำได้ “ไม่สำคัญหรอกว่าเรามีสายเลือดโนราไหม เพราะตระกูลผมก็ไม่มีใครเป็นโนรา แต่เริ่มต้นที่ตัวเองได้ เอาความอยากเป็นไปหาครูโนรา ชอบท่ารำของครูคนไหนก็ฝากตัวเป็นศิษย์” ในคณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ จึงเต็มไปด้วยลูกศิษย์ที่ครู

โนราไข่น้อยประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ กระทั่งพวกเขาเติบโต ตัดจุก ผูกผ้า เป็นโนราใหญ่แล้วก็ยังสมัครใจอยู่ศึกษา-รับใช้ครู

“โนรามีให้เรียนรู้ทั้งจากโรงเรียนและปฏิบัติจริงตามคณะกับครูโนราที่เราชื่นชอบ เวลาที่เราไปเที่ยวชมหรือได้ไปรำตามคณะต่าง ๆ แล้วประทับใจหัวหน้าคณะคนไหนก็สามารถไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ได้  สังคมของคนโนรามักช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว การเรียนในสถาบันโดยมากเป็นการเตรียมความพร้อมด้านท่ารำเพื่อการแสดงหน้าโรงมากกว่า แต่ถ้าเรียนรู้กับครูตามคณะจะได้เรื่องของพิธีกรรมและขั้นตอนปฏิบัติหลังโรงด้วยผมเองก็มาขอศึกษา สังเกต และจดจำจากสิ่งที่น้าไข่ทำ”

ในสายตาเรา นิติภูมิ สุดใหม่ (โนราน้ำขิง กระดิ่งทอง) วัย ๒๘ ปี พิเศษกว่าโนราทั่วไป เมื่อนิ้วซุกอยู่ใต้กรวยเล็บโค้งงามเขาก็ร่ายรำตามขนบได้ ทั้งยังสนุกกับการคิดท่ารำเพิ่มเติมที่แตกต่างไปจากครูสอน

ครั้นวางเล็บมาสวม “หน้าพราน” หน้ากากสำหรับตัวตลก ก็มีความสามารถในการเล่นมุกให้ผู้ชมสนุกสนานเอ็นดู จริงอยู่ว่าหน้ากากที่แกะจากไม้เป็นรูปใบหน้าคนแก้มป่อง ทาสีแดงจัด ไม่มีคางและฟันล่าง ช่วยทำให้บุคลิกของเขาที่อ้วนท้วม พุงกลมอยู่แล้วดูขบขันง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้
Image
เพราะขณะที่ท่ารำของพรานต้องสื่อสารให้ผู้ชมเห็นชัดถึงความต่างจากโนราอื่น มุ่งสร้างอารมณ์ขัน แต่ก็ยังต้องคุมจังหวะให้รับกับดนตรี พรานจะรำแบบย่อตัว หลังแอ่น อกยื่น เล่นแขน ยกไหล่ ชี้นิ้ว จะเดินเหินก็ต้องเคลื่อนไหวเป็นคลื่น ก้าวไปข้างหน้าสองก้าว ถอยหลังหนึ่งก้าว พร้อมโยกหน้าและเล่นหน้าท้อง บางครั้งแกล้งทำให้พุงป่องกว่าที่เป็นอยู่ บางทีแขม่วจนแฟบ จะยกมือไหว้ก็ต้องเล่นใหญ่ประนมเหนือหัวไปเลย  การสร้างเสียงหัวเราะจึงเป็นศาสตร์ที่ต้องผสานทักษะร้องเล่นเต้นรำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน และบ่อยครั้งก็ “เล่นสด” เป็นจำอวดที่เรียกเงินรางวัลจากผู้ชมมาฝากชาวคณะเสมอ

“ศาสตร์ของโนรามีรายละเอียดที่ศึกษาอย่างไรก็ไม่จบเวลาว่างผมก็ยังต้องหมั่นดูยูทูบต่าง ๆ ที่ครูกับเพื่อนคณะอื่นแสดงเพื่อศึกษาความต่างของแต่ละคน จดจำข้อดีข้อเสียของเขามาใช้ปรับปรุงตนเอง”

แข็งกร้าว บึกบึน ฉับไว และเด็ดขาด คือคำจำกัดความของการรำโนรา แต่ยังไม่พอ

นอกจากใช้ร่างกายสื่อสาร ยังต้องรู้จักเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะสัมพันธ์กับความคิด

ส่วนตัวชอบการร้องสลับรำ ๔๕ ท่าใน “บทประถม” บางท่าเห็นบ่อยจากการแสดงชุดต่าง ๆ อย่างท่าเทพนม ท่าขี้หนอนร่อนรำ (ขี้หนอน ภาษาถิ่นใต้หมายถึงกินนร) ท่าพระเทวดา และท่าพรหมสี่หน้า ที่ปรากฏบนแสตมป์ของไปรษณีย์ไทย ชุดอนุรักษ์มรดกไทย ปี ๒๕๖๕ และชอบพอ ๆ กับ “บทครูสอน” ๑๙ ท่า ที่มีคำร้องน่ารักชวนระลึกถึงพระคุณครูพลางได้รู้จักเครื่องแต่งกายโนราที่มากกว่าลูกปัดสารพัดสี
ครูเอยครูสอน เสดื้องกรต่อง่า ครูสอนให้ผูกผ้า สอนข้าให้ทรงกำไล สอนให้ครอบเทริดน้อย แล้วจับสร้อยพวงมาลัย สอนให้ข้าทรงกำไล สอดใส่แขนซ้ายแขนขวา...
“เทริดน้อย” ในความหมายของโนราคือการเชิดชู “เล็บ”

เราคงฟังผ่านหูหากโนราไม่หาจังหวะพูดบอกผู้ชม “นี่คือเทริดน้อย” ขณะออกท่ารำพลางชี้เครื่องประดับนิ้วมีก้านโค้งงอนที่พวกเขาสวมเกือบครบนิ้วเว้นหัวแม่มือ

คือหนึ่งในปรีชาการแสดงที่ส่งให้ได้เรื่องได้รสพร้อมกัน

บางทีพรสวรรค์ต่าง ๆ ของพวกเขาเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล แต่เป็นของขวัญ-สิริมงคลล้ำค่าที่แม่นวลทองสำลี-พ่อขุนศรีศรัทธาประทานแด่คีตชนทุกคนผู้มีใจรักสืบสานโนรา
ปัจจุบัน โนรา
อนาคต โรงครู

คนนอกถิ่นรับรู้ว่าโนราเป็นศิลปะบันเทิงของภาคใต้

แต่ชาวพื้นถิ่นรู้ดีว่ามีความหมายลึกกว่า 


ปัจจุบันหน้าที่ของโนราก็ยังเป็นผู้ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย แก้บน บรรเทาความเจ็บป่วยทางใจแก่ลูกหลานที่ทำพันธสัญญาไว้กับญาติผู้ล่วงลับ และการร่ายรำขับบทขับกลอนของโนราก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมแก้บนผ่าน “โนราโรงครู” เพียงแต่เมื่อไม่มีพิธีกรรม ส่วนบันเทิงก็ยังนำไปแสดงในงานรื่นเริงได้ โนราจึงรู้จักในวงกว้างด้วยฐานะของดีเมืองปักษ์ใต้


“คนรักโนรามักมองในแง่อนุรักษนิยม แต่เราอาจไม่ต้องระวังกันขนาดนั้นก็ได้ พิธีกรรมโรงครูยังจำเป็นต้องมี แต่ก็น่าจะมีวิธีอื่นร่วมสืบทอดเพิ่มได้อีกหลายทาง เพื่อให้โนราส่งต่อได้ไกลในยุคไร้พรมแดน”


อาจารย์อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาและศิลปินร่วมสมัย รางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ปี ๒๕๖๒ ยกตัวอย่าง “โนราไข่เหลี้ยม วิเชียรศรชัย” คณะโนราร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงและ
ได้รับความนิยมมากในภาคใต้จนได้ฉายา “เจ้าชายโนรา” ว่าอาจเป็นคำตอบของโนราที่เป็นสากล

“เขารู้จักใช้การตลาดบริหารจัดการวัฒนธรรมเพื่อนำศิลปะท้องถิ่นสู่สังคม คนท้องถิ่นก็สนใจโปรดักชันแสงสีเสียงที่โนราใช้เป็นสื่อกลางปฏิสัมพันธ์ เมื่ออย่างไรปลายทางก็มุ่งสู่ผลลัพธ์เดียวกันก็ควรให้พื้นที่พวกเขาได้หยัดยืนบนทางโนรา ซึ่งจะเป็นเส้นทางส่งต่อวัฒนธรรม  การที่คนรุ่นนี้จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่มันไม่ใช่การล้มล้างของเก่า แต่เป็นหนทางร่วมสมัยที่จะส่งต่อประวัติศาสตร์สู่วันพรุ่งนี้”

หรือหากวันหนึ่งวันใดประวัติศาสตร์จะกลายเป็นคนละชุดกับที่เราเคยซาบซึ้งมาก็คงไม่ใช่เรื่องผิด ยังเป็นร่องรอยให้ผู้คนในอนาคตได้สืบค้นและถอดประวัติศาสตร์ต่ออีกที

อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ร่วมสนับสนุนความคิด

“การจะให้โนราดำรงอยู่ในอนาคตต้องไม่ยึดติดแต่ตัวพิธีกรรม จริงอยู่ว่าความเชื่อเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก แม้โนราจะเกิดในไทยนับร้อยนับพันปี สิ่งที่ทำให้โนรายังแข็งแกร่งมาจนวันนี้ก็เพราะผู้คนมีศรัทธาแรงกล้าต่อ ‘ทวดนวลทองสำลี’ ต่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และต่อโนราโรงครู แต่ลำพังความเชื่อยังไม่พอหรอกครับ ต้องทำให้โนราอยู่ในรูปแบบบันเทิงที่ลื่นไหลไปด้วย เพราะคนโนราก็ต้องทำมาหากิน”

สอดรับกับความเห็นของ ณัฐดนัย ประชูสวัสดิ์ (โนราทามน้อย โชติจรัสศิลป์ สงขลา)

“ผมเพิ่งเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ก็ยังไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการเพื่อหางานประจำ  โนราเป็นการทำด้วยใจรักเป็นความภาคภูมิใจ ไม่ใช่ทำเพื่ออาชีพ เพราะไม่มีงานให้ทำทุกเดือนและบางครั้งเป็นการช่วยงานกันด้วยใจรายได้จึง
ไม่แน่นอน เสร็จจากงานหลักค่อยรับงานโนราควบคู่ก็ได้  โนราหลายคนมีอาชีพหลักเป็นครู ตำรวจ ยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีเสียอีก เพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง” 

นึกถึงที่อาจารย์อานันท์-นักมานุษยวิทยาและศิลปินร่วมสมัยพูดถึงคนหนุ่มสาว

“เป็นเรื่องดีที่พวกเขาเห็นคุณค่าและรู้สึกอยากสืบทอดภูมิปัญญาด้วยอะไรบางอย่างที่ตนถนัด ไม่จำเป็นต้องลุกมารำ อาจเป็นเรื่องศิลปะการช่างก็ได้ มันคือระบบนิเวศของโนรา”

มีโอกาสรับฟังความเห็นน่าสนใจเกี่ยวกับชุดของโนราที่ปัจจุบันมีการประดับแต่งแพรวพราว

“ชุดโนราไม่มีกรอบว่าต้องเป็นสีอะไรหรือห้ามประดับอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่นิยมสีแดง ส้ม เหลือง ขาว ครูของผมเคยบอกว่าเวลารำจะมีแสงไฟสะท้อนลงมากระทบกับดิ้น ช่วยขับให้สีสันเหล่านี้ยิ่งสว่าง สวย  ผมจึงเสริมดิ้นและยึดโทนสีนี้เป็นรูปแบบในการทำชุดตนเองมาตลอด”

ปิยวัฒน์ ด้วงใส (โนราภูมินทร์ ดาวรุ่ง) อวดระย้า-ส่วนที่ห้อยย้อยจากชายชุดลูกปัด เป็น “ลายลูกแก้ว” ลักษณะคล้ายผลหวายป่า (ให้คนเมืองเข้าใจด้วยก็น่าจะคล้ายผลระกำหรือสละ) ถือเป็นลวดลายโบราณ และบ่งบอกอัตลักษณ์โนรารุ่นใหม่ผู้อนุรักษ์วิถีโรงครูไปในตัว

“ผมเริ่มทำชุดเองตอนอายุ ๑๕ ปี ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงจึงไม่มีเงินซื้อชุดราคาเป็นหมื่น อาศัยดูชุดที่ชอบจากของเพื่อนบ้าง ในทีวีบ้าง แล้วลองทำ  แรก ๆ ยังไม่สวย แต่ก็ดีกว่าซื้อ
พอทำชุดที่ ๓ แล้วใส่ประกวดในงานมหกรรมโนราโรงครูที่เป็นงานอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี ก็ได้รางวัล ถือเป็นชุดที่ทำให้คนรู้จักตัวตนของโนราภูมินทร์ที่สุด ผมจะเลือกหยิบมาสวมใส่เฉพาะในโอกาสสำคัญ”

นึกถึงตอนไปร่วมกินนอนอยู่บ้านครูคณะโนราไข่น้อยดาวจรัสศิลป์ เวลาว่างต้องเห็น นิติภูมิ สุดใหม่ (โนราน้ำขิง กระดิ่งทอง) หยิบชุดโนราของตนมาซ่อมแซม

“เมื่อก่อนแต่ละคณะจะมีชุดโนราเป็นของส่วนกลางให้ผลัดกันใส่ เดี๋ยวนี้แต่ละคนจะใส่ของตนเอง เพราะต่างก็มีรูปร่างและชอบสีสันไม่เหมือนกัน บางคนถูกโฉลกกับสีชมพู หรืออยู่ในชุดสีฟ้าแล้วเข้ากับสีผิวก็จะหาซื้อชุดสีที่ตนเองชอบมาใส่แล้วชุดโนราแพงมาก ชำรุดก็ควรหัดซ่อม”

Image
แต่ละชุดของโนราประกอบด้วยลูกปัดหลากสีนับหมื่นเม็ด แต่ละเม็ดบรรจงร้อยเป็นลวดลายหรือเรียงกลุ่มตามขนาดและสีที่ตนออกแบบไว้ ก่อนนำเส้นด้ายที่ร้อยมาผูกรวมเพื่อประกอบเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ของชุดอีกที การรังสรรค์ชุดโนราเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความประณีตและเป็นงานฝีมือล้วน

“ลูกปัดโนรามีสองแบบ คือ ‘ลูกปัดสี่ด้าน’ เม็ดโต และ ‘ลูกปัดแมงโลม’ เม็ดสีใสกว่าและขนาดเล็กจิ๋ว น้ำหนักเบากว่า ชุดที่ร้อยจากลูกปัดแมงโลมมีราคาสูงกว่าเท่าตัว มูลค่าอยู่ตรงวิธีการร้อยที่ใช้ความละเอียดสูง ใช้สายตาเพ่งมากเนื่องจากมันเล็กทำให้ต้องใช้เวลา ลวดลายที่ได้จะมีรายละเอียดสวยชัดกว่าแต่หาซื้อยากกว่าแบบแรก เพราะไม่ค่อยมีใครร้อยขาย อยากได้ต้องทำเอง”

เขาใจดีให้เราช่วยซ่อมชุดส่วนที่เป็นระย้า สอนใช้ก้อนขี้ผึ้งรูดเส้นด้ายทำให้ด้ายจับตัวก่อนสอดรูลูกปัดง่ายโดยไม่ต้องพึ่งเข็ม เมื่อร้อยเสร็จมัดปมแล้วตัดด้ายด้วยธูปที่กำลังเผาไหม้โดยไม่ต้องพึ่งกรรไกร

สิ่งเหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธว่าเป็นภูมิปัญญาที่ยังแทรกซึมอยู่ตามวิถีบ้านเรือน

เช่นเดียวกับ “เหยียบเสน” ที่วิถีแพทย์สมัยใหม่ก็อาจยังไม่ถูกใจเท่าวิธีโนรา

ความเชื่อท้องถิ่นโทษเป็นฝีมือ “ผีโอกะแชง” ผู้เฝ้าเสาโรงโนรา ต้องให้โนราใหญ่ทำพิธีเหยียบเสนในวันโนราเข้าโรงครู
ผู้ปกครองจะเตรียมขันน้ำ หมาก พลู ธูปเทียน ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องทอง หญ้าคา หญ้าเข็ดมอน รวงข้าว และเงินค่าครู  โนราใหญ่จะอัญเชิญครูเทวดา ครูหมอโนรา ลงอักขระขอมที่หัวแม่เท้าของโนราใหญ่แล้วรำเฆี่ยนพราย จากนั้นยื่นหัวแม่เท้าไปเหยียบผิวหนังที่เสนของเด็กเบา ๆว่าคาถากำกับแล้วนำกริชแตะเสน ทำซ้ำสามรอบแล้วใช้มีดโกน หินลับมีด และของอื่น ๆ ในขันน้ำแตะตัวเด็กปรกติแล้วครั้งเดียวก็จางหาย แต่บางรายต้องกลับมาทำพิธีจนครบ สามครั้งจึงหายสนิท

“ตอนทำพิธีจะยังไม่รู้หรอก แค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ผมมักขอเบอร์โทร. ไว้ติดตามผลว่าเขาหายไหม ก็หายจริง นอกจากเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของมนตร์คาถา อาจเป็นเพราะอุปกรณ์ประกอบพิธีที่มีทั้งหินลับมีด มีดโกน เงินเหรียญทอง รวงข้าว เวลาทำพิธีต้องใช้นิ้วเท้าที่เปียกเหยียบวัตถุเหล่านั้นแล้วเอาเท้าไปลนไฟให้พอร้อนเป็นการหลอมรวมแร่ธาตุจึงใช้นิ้วเท้าสัมผัสตรงผิวหนังที่เป็นเสน บางทีสิ่งที่ทำให้เสนนูนเหมือนเนื้องอกหายเป็นปลิดทิ้งโดยไม่เหลือแม้รอยแผลเป็นอาจเกิดจากแร่ธาตุต่าง ๆ ทำปฏิกิริยากับผิวหนังก็ได้นะ แค่ผมไม่รู้ว่ากระบวนการทางเคมีนั้นคืออะไร แต่มันก็สะท้อนถึงภูมิปัญญาคนโบราณ” 

พิเชษฐ์ หนองหงอก (โนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์) คิดเห็นเรื่องที่ผู้ปกครองมักพาเด็กมาหา

น่าสนใจแง่ว่าพิธีกรรมดั้งเดิมสามารถอยู่ร่วมสมัยได้อย่างน่าอัศจรรย์และปฏิบัติอย่างเข้าใจ 

เมื่อถึงคราวจะดันโนราสู่สากล ผู้เกี่ยวข้องจึงไม่อาจข้ามประเด็นความเชื่อที่เป็นรากของโนรา

“การจัดทำข้อมูลส่งยูเนสโกเป็นเพียงการตอบข้อสงสัยที่คณะยูเนสโกตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมของผู้คนรอบทะเลสาบภาคใต้ ความรู้มีอยู่แล้วในตัวครูโนรา ความศรัทธาก็มีอยู่ในตัวชุมชน เพียงนำข้อมูลจากท่านเหล่านั้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่ได้บรรจุในหนังสือมาประกอบข้อมูลทางวิชาการ มีหลายเกณฑ์ในการพิจารณาให้คุณค่า สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และโนราก็มีครบ”

ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง คณะทำงานจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เผยเหตุผลที่โนราคู่ควรต่อการยกย่องในระดับสากล และหลังจากที่คณะกรรมการยูเนสโกนานาชาติซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายประเทศทั่วโลกได้อ่านรายงานแล้วก็เห็นพ้องกันว่าโนราเกี่ยวข้องกับมุขปาฐะของชุมชน เสมือนเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของท้องถิ่น เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่มีความหมายต่อศาสนาและความเชื่อ 

การที่โนราได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษยชาติจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้คนท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบทอดอยู่ได้รู้สึกภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ตนทำมีคุณค่าในสายตาของผู้คนในระดับสากล และทำให้พวกเขามีกำลังใจผลักดันให้โนรามีชีวิตอยู่ 

ส่วนในฐานะตัวแทนจากแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ ชวนคิดต่อประเด็นหลังจากที่โนราได้อยู่ในบัญชีของยูเนสโกแล้ว

“คณะกรรมการนานาชาติยูเนสโกกังวลสองเรื่อง คือ การท่องเที่ยวที่สามารถสร้างความตระหนักรู้เรื่องโนราได้มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันเรื่องปากท้องของชุมชนก็สำคัญอีก แล้วจะมีการท่องเที่ยววิธีไหนที่จะไม่ทำให้โนราถูกผลักออกจากท้องถิ่นหรือถูกดึงออกจากความเป็นเจ้าของของคนท้องถิ่น และหากโนราถูกทำให้เป็นสินค้าขึ้นมา ควรอยู่เพียงระดับไหนที่จะไม่เป็นการหมิ่นเกียรติของกลุ่มคนที่เคารพนับถือ  เหล่านี้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างศิลปะนี้ทั้งครูผู้สอนโนรา ผู้เรียน นักดนตรี ช่างฝีมือ และผู้สืบทอดโนราทุกแขนง ต้องช่วยกันหารือว่าอะไรคือความพอดีของโนรา และอะไรคือทิศทางที่โนราอยากเป็น เพื่อยังสามารถเรียกสิ่งนั้นว่า ‘โนรา’ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

หมายรวมถึงวิถี “โนราโรงครู” ที่รู้กันว่าปัจจุบันวิวัฒนาการไกลจากโรงพิธีดั้งเดิม 

โนราโรงครูบางคณะสร้างทางเลือกให้คนสองวัยได้เสพชมโดยไม่ขัดแย้ง ในส่วนพิธีกรรมยังถือปฏิบัติเคร่งครัด เพราะถือเป็นศรัทธาที่อยู่ในจิตวิญญาณของครอบครัว ขณะที่ในส่วนภาคบันเทิงก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ นำท่วงท่าร่ายรำที่พัฒนาความงามจนสมสมัยมาขับขานผสานเครื่องดนตรีสากล เสียงปี่ถูกแทนที่ด้วยเปียโน คีย์บอร์ด หรือกีตาร์ไฟฟ้า ปรับเครื่องแต่งกายให้มีลูกเล่นแพรวพราวเพื่อสร้างบรรยากาศให้การชมโนราเป็นเรื่องเบิกบานคู่ขนานระหว่างลูกหลานบรรพชน

เป็นได้ว่าต่อให้อนาคตจะยังมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามอนุรักษ์ แต่ก็จะมีนวัตกรรมใหม่เข้ามาปรับให้โนราโรงครูไปไกลขึ้นอีก หรืออันที่จริงควรนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีพื้นที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้ส่งเสียง 

จึงไม่มีอะไรมาหยุดการเดินหน้าของโนราโรงครู  


หมายเหตุ 
เก็บตกจากการลงพื้นที่ติดตามคณะโนราไข่น้อย 
ดาวจรัสศิลป์ และงานเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ณ วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา