Image

รูปฤๅษีดัดตนบนเขามอ ข้างพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ฤๅษีดัดตน
แขวงวิชาหนึ่งของ
“นวดไทย”

scoop

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพวาด : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย

บทความเรื่องนี้ตัดตอนจากหนังสือ ฤๅษีดัดตน : มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔

Image

รูปปั้นฤๅษี พิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอลล์ เมืองชัยปุระ สาธารณรัฐอินเดีย
ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน

ปี ๒๔๓๔ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ปี ๒๔๐๕-๒๔๘๖) ขณะเมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ระหว่างทางเสด็จกลับจากราชการ ณ ทวีปยุโรป ทรงแวะทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองในอินเดีย ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมอังกฤษ  เมื่อเสด็จยังเมืองชัยปุระ (Jaipur ไจปูร์) แคว้นราชสถาน ทรงเล่าย้อนความหลังว่า

“วันหนึ่งเขาพาฉันไปดูพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระไปเห็นรูปปั้นเป็นฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่าง ๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อม ๆ ตั้งเรียงไว้ในตู้ใบหนึ่ง ที่จริงควรฉันจะถามเขาว่ารูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่ารูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าดัดตนให้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าต่าง ๆ ที่พวกดาบสบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม ฉันได้ฟังก็นึกละอายใจ ไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เป็นเจ้าของตำราเรื่องฤๅษีชีพราหมณ์ แต่เกิดอยากรู้แต่นั้นมาว่า เหตุไฉนรูปฤๅษีดัดตนที่เราทำในเมืองไทย จึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็ญตบะของชาวอินเดีย”

พิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระแห่งนั้น ย่อมได้แก่อัลเบิร์ตฮอลล์ (Albert Hall Museum) พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่สุดของเมือง ขนานนามเฉลิมพระเกียรติตามพระนามเดิมของสมเด็จพระราชาธิบดีเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII Albert
Edward 1841-1910/ปี ๒๓๘๔-๒๔๕๓) ซึ่งเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร

จนทุกวันนี้ในพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอลล์ยังมีตู้กระจกที่ตั้งรูปปั้น “ฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่าง ๆ” เรียงเข้าแถวกันไว้เต็มตู้ ซึ่งน่าจะเป็นชุดเดิมชุดเดียวกับที่สมเด็จฯ ทรงกล่าวถึง

หลังเสด็จกลับถึงสยาม พระชนม์ชีพของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นมีอันให้ต้องเปลี่ยนผันไปจากงานจัดการศึกษาแผนใหม่ที่เคยตั้งพระทัยไว้ ด้วยทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก อันทำให้ทรงได้รับคำยกย่องว่าเปรียบประดุจ “พระหัตถ์” (มือ) และ “เพชรประดับมงกุฎ” ของรัชกาลที่ ๕

แม้ล่วงมาจนถึงในรัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาให้แก่พระมหากษัตริย์

กระทั่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัย

Image

๏ ฤๅษีสี่ชื่อให้ นามนคร รามเอย
อัจนะคาวีอักษร อะตั้ง
พับชงฆ์เทอดถวัดกร สองไปล่ หลังนา
แก้ค่อขัดเท้าทั้ง ป่ วยท้องบันเทา ๚
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

มีนามของฤๅษีสี่ตนอันเป็นผู้ให้ชื่อแก่นามเมืองของพระราม 
(กรุงอโยธยา/กรุงศรีอยุธยา) ท่านผู้นี้คืออัจนะคาวี ที่มาของอักษร อะ ท่านนั่งเอามือจับกัน พลิกแขนไปไว้ข้างหลัง ท่านี้แก้ขัดข้อเท้าและบรรเทาอาการปวดท้อง

การเมืองไปประทับยังเกาะปีนังในเขตอาณานิคมมลายูของอังกฤษ  ระหว่างนั้นทรงมีจดหมายติดต่อกับพระเชษฐาต่างพระมารดา คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(ปี ๒๔๐๖-๒๔๙๐) ซึ่งทรงพำนักอยู่ ณ กรุงเทพฯ เป็นประจำทุกสัปดาห์ สอบถามทบทวนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ประเพณีราชสำนัก และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวสารพันที่ทรงประสบพบเห็นในปีนัง

ลายพระหัตถ์ฉบับวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๔ เล่าว่า ได้เสด็จไปยังอาศรมของดาบสชาวอินเดียรูปหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียในปีนังผู้เลื่อมใสศรัทธาได้บริจาคทรัพย์สร้างขึ้น เป็นมณฑปแปดเหลี่ยม หลังคาเป็นซุ้มมียอดแบบอินเดีย ทรงเห็นตัวดาบสนั่งขัดสมาธิ “เหมือนพระประธาน” อยู่บนเตียงที่มุขเด็จหน้ามณฑป เผอิญมีลูกศิษย์ชาวทมิฬที่พูดภาษาอังกฤษได้ จึงทรงมีโอกาสพูดคุยสอบถามเรื่องของดาบส ลูกศิษย์อธิบายว่า ดาบสบำเพ็ญตบะด้วยการงดเว้นวจีกรรม คือไม่พูดจากับผู้ใดทั้งสิ้น และนั่งนิ่งภาวนาอยู่ ณ ที่แห่งเดียวตั้งแต่เช้าจดค่ำ

“ถามว่ามณฑปนั้นเป็นที่สำหรับดาบศนอนในเวลากลางคืนหรือ ตอบว่าไม่มีใครเคยเห็นดาบศนั้นนอนเลยโดยปกตินั่งนิ่งอยู่ที่มุขเด็จจนค่ำแล้วก็เข้าไปในมณฑป ไปทำท่าต่าง ๆ ตามตำราแก้เมื่อย ที่นั่งนิ่งอยู่วันยังค่ำ บางทีก็ลอยตัวขึ้นไปถึงเพดานมณฑป แต่หาเห็นลงนอนไม่

“หม่อมฉันได้ฟังอธิบายก็ ‘หูผึ่ง’ ด้วยเห็นเป็นเค้ามูลของ
ฤๅษีดัดตน คือลักษณะบำเพ็ญตะบะนั้น คงจะสมาทานนั่งหรือยืน-ภาวนาอยู่วันยังค่ำ เมื่อหม่อมฉันยังหนุ่มเคยเห็นโยคีคน ๑ เข้าไปในกรุงเทพฯ บำเพ็ญตะบะยืนอย่างเดียวอยู่ที่ศาลาหน้าเทวสถาน เห็นเอาเชือกห้อยแต่เพดานลงมาผูกกระดานแผ่น ๑ เป็นอย่างชิงช้าพออาศัยเท้าศอกผ่อนน้ำหนักที่ลงตีนให้น้อยลง การที่นั่งหรือยืนอยู่อย่างเดียวตลอดวัน ย่อมปวดเมื่อยตัวเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีวิธีดัดตนแก้อาการต่าง ๆ อันเกิดทุพลภาพแต่บำเพ็ญตะบะ และดัดตนในเวลาค่ำ บำเพ็ญตะบะในเวลากลางวันสลับกันเป็นวิธีอย่างดาบศคนนี้ เป็นตำรามาแต่เดิม”

Image

๏ พระยุทอักขระไว้ นามยุท
สืบอักษรตราบสุด สี่สิ้น
นั่งสมาธิ์หัดถ์สัประหยุด เศียรอีก แค่งนา
เสมหะปทะต้นลิ้น ล่งล้างลำสอ ๚
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

ฤๅษียุทอักขระนั่งสมาธิ แล้วเกิดมีเสมหะขึ้น จึงทำท่านี้เพื่อล้างลำคอ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงวินิจฉัยว่าประเด็นเรื่อง “ฤๅษีดัดตน” ซึ่งเคยทรงสงสัยมาถึงครึ่งศตวรรษ นับแต่เมื่อเสด็จเมืองชัยปุระในปี ๒๔๓๔ เป็นอันว่า “เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย” ดังที่ทรงสรุปไว้ในพระนิพนธ์ นิทานโบราณคดี ว่า

“การดัดตนนั้น เป็นส่วนอันหนึ่งของการบำเพ็ญตบะนั่นเอง เพราะนั่งหรือยืนที่เดียวตลอดวันยังค่ำ ทรมานร่างกายเกินวิสัยก็ย่อมเกิดอาการเมื่อยขบ จึงคิดวิธีดัดตนสำหรับระงับทุกขเวทนาอันเกิดแต่บำเพ็ญตบะ แล้วตั้งเป็นตำราไว้แต่ดึกดำบรรพ์  ที่พวกชาวเมืองชัยปุระเขาบอกว่าเป็นวิธีของพวกดาบสนั้นก็ถูก ที่ไทยว่าเป็นวิธีแก้เมื่อยขบก็ถูก เพราะไทยเราไม่เลื่อมใสวิธีตบะของพวกถือศาสนาฮินดู เอาแต่วิธีดัดตัวแก้เมื่อยขบมาใช้ จึงเกิดตำราฤๅษีดัดตนขึ้นด้วยประการฉะนี้”

สันนิษฐานว่าความรู้หรือตำราเรื่องฤๅษีดัดตนน่าจะเคยมีมาแต่โบราณ  ดังนั้นแต่เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแห่งใหม่ของพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ จับทำการตั้งแต่ปี ๒๓๓๑ ใช้เวลาถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ พระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อยนามวัดเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาล ในการนี้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตำรายาและทำรูปฤๅษีดัดตนเพื่อ “เปนทาน” คือให้ทั้งพระภิกษุสงฆ์และราษฎรได้ศึกษาเล่าเรียนหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบำบัดโรคาพยาธิ ดังปรากฏความในศิลาจารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งยังคงอยู่เป็นหลักฐาน ณ ผนังพระวิหารพระโลกนาถ วิหารทิศตะวันออกในวัดพระเชตุพนฯ ว่า

“ทำศาลารายห้าห้องเจ็ดห้องเก้าห้องเปนสิบเจ็ดศาลา เขียน
เรื่องพระชาฎกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ์ ทังตำรายาแลฤๅษีดัดตนไว้เปนทาน”

Image

๏ สมาธิ์ขัดหัดถ์ยุดทั้ง เพลาเศียร
สระสร่างแสลงลมเวียน ศิระเกล้า
นามธะหะพระผู้เพียร ผนวดเน่อน นานแฮ
ธะอักษรควบเข้า เพอมให้นามกรุง ๚
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

ท่านั่งขัดสมาธิ มือข้างหนึ่งดันขา มืออีกข้างดันศีรษะ ใช้แก้ลมที่ทำให้เวียนศีรษะ นี่คือฤๅษีธะหะ ผู้ออกบวชมาเนิ่นนาน เป็นที่มาของตัวอักษร ธะ ในนามกรุงอยุธยา

ทว่ารูปฤๅษีดัดตนที่ศาลารายวัดพระเชตุพนฯ งานช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่หลงเหลือหลักฐานอยู่แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากมีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทว่ามีเอกสารซึ่งผู้ที่เคยพบเห็นบันทึกไว้ พอให้จับเค้าสันนิษฐานลักษณะบางประการได้

ในปี ๒๓๖๔ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ นายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd หรือ
ที่ฝ่ายสยามออกนามว่า “ยอน การะฝัด”) ตัวแทนข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษประจำแคว้นเบงกอล เดินทางเข้ามาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี แต่การเจรจาไม่สำเร็จ แม้กระนั้นจดหมายเหตุรายวันของนายครอว์เฟิร์ด คือ Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China (บันทึกทูตของข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียเมื่อไปยังราชสำนักสยามและโคชินจีน) ได้ให้ภาพที่น่าสนใจของกรุงเทพฯ ยุคนั้น ซึ่งไม่อาจหาได้ในแหล่งอื่นใด

วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๓๖๔ คณะเจ้าหน้าที่อังกฤษเดินทางไปชมวัดพระเชตุพนฯ และจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้โดยละเอียด รวมถึง “รูปฤๅษีดัดตน”

ในที่นี้จะอ้างตามสำนวนแปลของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ปี ๒๔๒๘-๒๕๑๗) จากพระนิพนธ์เรื่อง
วัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๒ ว่า

“นอกจากระเบียงวิหารทิศนี้ออกไป มีลานใหญ่จดกำแพงวัด และมีวิหารและศาลาหลายหลัง ศาลาหนึ่งไม่มีพระพุทธรูปเลย แต่มีรูปคนทำท่าต่าง ๆ อย่างผิดธรรมชาติ (ฤๅษีดัดตนตามศาลาราย) มีจารึกใต้รูปเป็นภาษาพื้นเมืองอธิบายวิธีทำท่านั้น ๆ เพื่อแก้โรคบางอย่าง สังเกตว่าท่าเหล่านี้หลายท่า หากเราทำเข้าแล้วน่าจะทำให้โรคกำเริบมากกว่าบรรเทา”

Image

๏ เหยียดหัดถ์ดัดนิ้วนั่ง ชันเพลา
แก้เมื่อยขัดแขนเบา โทษได้
ยาคะรูปนี้เอา ยาชื่อ ใส่เฮย
ผสมสี่นักสิทธิ์ให้ ชื่ออ้างอยุทธยา ๚
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

ท่าเหยียดแขนดัดนิ้วระหว่างที่นั่งชันเข่าเช่นนี้ ใช้แก้เมื่อย บรรเทาอาการขัดในแขนได้ แสดงท่าโดยฤๅษียาคะ ผู้เป็นที่มาของ “ยา” ในนามกรุงอยุธยา

กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงขยายความไว้ด้วยว่า เหตุที่ครอว์เฟิร์ดสนใจรูปภาพเหล่านี้ คงเนื่องมาจากเขาเป็นแพทย์ปริญญาของอังกฤษมาก่อน

เมื่อย้อนกลับไปดูต้นฉบับภาษาอังกฤษ จดหมายเหตุของครอว์เฟิร์ดกล่าวว่า

Between the quadrangular portion of the building now described, and the outer wall, is an extensive area, in which are several scattered and detached buildings. The first of these which we entered was a long arcade, which contained no images; but on the wall of which were daubed many human figures, thrown into attitudes the most whimsical, distorted, and unnatural that can well be conceived. Under these figures were inscriptions in the vernacular language, giving directions how to assume the attitudes in question, and recommending them as infallible remedies for the cure of certain diseases. In many of the cases which we saw, the remedy, if practicable, would certainly be worse than the disease, what ever that might be.

ข้อความ “on the wall of which were daubed many human figures” อาจทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่า รูปฤๅษีดัดตน สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งครอว์เฟิร์ดพบเห็นอาจเป็นภาพวาด (หรือภาพปูนปั้นระบายสี ?) ที่อยู่ “บนผนัง” (on the wall) คือมิได้เป็นประติมากรรมลอยตัวเหมือนกับรูปฤๅษีดัดตนชุดต่อมา

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อปี ๒๓๗๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดพระเชตุพนฯ ใหม่หมดทั้งพระอาราม เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่กระทำสำเร็จไว้แต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้าเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนหน้าชำรุดทรุดโทรมลงมาก  นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้รูปฤๅษีดัดตนชุดสมัยรัชกาลที่ ๑ สาบสูญไปในการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น

ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม พระองค์เจ้าดวงจักร ปี ๒๓๓๕-๒๓๘๙ ต้นราชสกุลดวงจักร) ซึ่งทรงกำกับราชการกรมช่างหล่อ เป็นแม่กอง เกณฑ์ช่างมาหล่อรูปฤๅษี ด้วย “ชิน” คือโลหะผสมระหว่างสังกะสีกับดีบุก เป็นฤๅษีแสดงท่าดัดตน ๘๐ ท่า ตามที่ระบุไว้ในบานแพนก (คำนำ) ของ โคลงฤๅษีดัดตน ว่า

๏ ให้พระประยุรราชผู้ เป็นกรม หมื่นแฮ
ณรงค์หริรักษ์รดม ช่างใช้
สังกสีดิบุกผสม หล่อรูป
นักสิทธิ์แปดสิบให้ เทอดถ้าดัดตน ฯ
๏ เสรจ์เขียนเคลือบภาคย์พื้น ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย รอบล้อม
อาวาสเชตวันถวาย นามทั่ว องค์เอย
จาฤกแผ่นผาพร้อม โรคแก้หลายกล ฯ

Image

๏ หัดถ์หน่วงนิ้วเท้าพับ ชงฆ์ชิด เพลาเฮย
แก้สลักไหล่เพื่อพิษ ผ่อนน้อย
วะตันตะตะบะฤทธิ์ มฤครัก ท่านแฮ
มีแม่โคห้าร้อย หยาดน้ำนมถวาย ๚
นายปรีดาราช

ท่านี้ใช้มือเหนี่ยวนิ้วเท้าให้แข้งมาติดชิดต้นขา แก้สลักไหล่หรือสะบักหน้าจมให้บรรเทา นี่คือฤๅษีวะตันตะ ผู้มีตบะ เป็นที่รักของเหล่าสัตว์ มีแม่โค ๕๐๐ ตัวอุทิศน้ำนมมาถวายแก่ท่าน

ใน โคลงฤๅษีดัดตน ระบุด้วยว่ารูปฤๅษีเหล่านี้มีการ “เขียนเคลือบภาคย์พื้นผิวกาย” หมายความว่า เมื่อเสร็จจากขั้นตอนของการหล่อ ประกอบ และขัดแต่งพื้นผิวโลหะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ย่อมต้องมีการเขียนระบายสีผิวเนื้อและเครื่องนุ่งห่มให้เสร็จสมบูรณ์ เพราะโดยขนบนิยมของงานช่างไทยย่อมไม่ปล่อยผิวนอกของวัสดุไว้ตามธรรมชาติ แต่มัก “จบงาน” ด้วยกรรมวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการระบายสีลงรักปิดทอง ประดับกระจก หรือประดับมุก

จากนั้นจึงนำรูปฤๅษีดัดตนไปประดิษฐานไว้ตามศาลารายโดยรอบพระอาราม พร้อมทั้งมีศิลาจารึกโคลงประกอบรูปฤๅษีดัดตนผนึกไว้ตามผนังศาลารายด้วย

โคลงแต่ละบทระบุนามฤๅษี ท่าดัดตน และสรรพคุณของท่าดัดตนนั้น ๆ พร้อมทั้งระบุนามผู้ประพันธ์ไว้ข้างท้าย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นิพนธ์โคลงประกอบภาพฤๅษีดัดตน ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ขุนนางข้าราชการ และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์แห่งยุคสมัย

Image

๏ เสลขกามนามวิสุทธิก้อง ไตรภพ
องค์แอ่นแหงนภักตร์ขบ ขะเม่นฟ้า
กลับแขนกดขาทบ เน้นนิ่ง อยู่นา
ลมเสียดสารพางค์กล้า ดับด้วยดัดเอง ๚
พระมุนีนายก

ฤๅษีวิสุทธิ ผู้มีชื่อเสียงไปในสามโลก (ไตรภพ) นั่งแอ่นตัว แหงนหน้ามองดูท้องฟ้า พลิกแขนมากดขานิ่งไว้ ท่านี้ใช้ดัดแก้ลมทั่วทั้งร่างกายด้วยตนเอง

อาจด้วยคติที่นับถือว่าฤๅษีเป็นต้นทางแห่งความรู้ ซึ่งตามธรรมเนียมไทยถือว่าความรู้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และต้องถ่ายทอดจากครู โดยมีพิธีกรรมและการปฏิบัติด้วยความเคารพ จึงมีการเลือกนามฤๅษีที่มา “แสดงแบบ” ท่าทางดัดตนในโคลงชุดนี้จากคลังความรู้หลายแหล่ง ซึ่งคงเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น โดยในที่นี้จะอ้างอิงตามการสอบค้นของศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต ในหนังสือ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (๒๕๔๔) เป็นหลัก

ชื่อฤๅษีจำนวนมากในชุดฤๅษีดัดตนมีที่มาจากบทละคร รามเกียรติ์ โดยมักหยิบยกมาเป็นกลุ่ม เช่นนามของฤๅษีสี่ตนซึ่งเป็นที่มาแห่งนามเมืองของพระราม (กรุงอโยธยา/กรุงศรีอยุธยา) จากตอนต้นบทละคร รามเกียรติ์ อันได้แก่ อัจนะคาวี/อจนคาวี (อะ) ยุคอัคระ/ยุทอักขระ (ยุท) ทหะ/ธะหะ (ธะ) และยาคะ (ยา) โดยเรื่องเล่าว่าพระอิศวรมีบัญชาให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองถวายเทวราชกุมารที่ชมพูทวีป พระอินทร์ลงมาพบฤๅษีสี่ตน สอบถามได้ความว่าท่านจำศีลภาวนาได้ ๑ แสนปีแล้ว “อันนามกรเราสี่ตน  รูปชื่ออจนคาวี องค์นี้ชื่อยุคอัคระ องค์นั้นชื่อทหะฤๅษี องค์โน้นชื่อยาคะมุนี มีตบะพิธีเสมอกัน” พระอินทร์แจ้งว่าพระอิศวรให้มาสร้างเมือง ฤๅษีทั้งสี่จึงขอให้เอานามตนรวมกับชื่อป่าบริเวณนั้น คือ “ทวารวดี” เป็นนามของเมือง คือ “กรุงศรีอยุธยาทวาราวดี”

นามฤๅษีใน รามเกียรติ์ อีกชุดหนึ่ง มาจากตอนกำเนิดนางมณโฑ ซึ่งกล่าวถึงฤๅษีสี่ตน มีนามว่าอตันตา/วะตันตะ วชิรา/วชิระ วิสูต/วิสุทธิ และมหาโรมสิงค์/โรมสิงค์ ปลูกบรรณศาลาเคียงกันที่เชิงเขาหิมพานต์ บำเพ็ญตบะมาถึง ๓ หมื่นปี ทุกเช้าจะมีฝูงแม่โค ๕๐๐ ตัวมาหยดน้ำนมใส่อ่างแก้วไว้ถวาย เมื่อฤๅษีฉันน้ำนม มักป้อนให้นางกบตัวหนึ่งกินเป็นทานเสมอ วันหนึ่งขณะฤๅษีทั้งสี่เดินออกป่าหาผลไม้ พบธิดาพญานาคสมสู่กับงูดิน จึงใช้ไม้เท้าเคาะสะกิดเตือนนางนาคให้สำนึกตนว่า เป็นนาคมีชาติมีตระกูล ไม่สมควรกระทำเยี่ยงนี้  นางนาคผูกใจเจ็บ ย้อนไปคายพิษใส่ในอ่างน้ำนมของฤๅษี หวังสังหารหมู่  ทว่านางกบเห็นเข้า ด้วยความกตัญญูจึงสละชีวิต กระโจนลงอ่างน้ำนมพิษ  ฤๅษีกลับมาเห็นนางกบลอยตายอยู่ในอ่างน้ำนม จึงชุบชีวิตขึ้นมาซักถามว่าทั้งที่ป้อนนมให้กินทุกวันไม่ควรอดอยาก เหตุใดจึงตะกละตะกลามเยี่ยงนั้น  เมื่อนางกบเล่าความจริงให้ฟัง ฤๅษีนึกเมตตาในความกตัญญู จึงชุบให้นางกบกลายร่างเป็นสตรีเลอโฉม ตั้งชื่อว่านางมณโฑ ต่อมาได้เป็นชายาของทศกัณฐ์

Image

๏ ฤๅษีวะชิระรู้สาตร สฤษดิกาย กบแฮ
ชื่อเทพมณโฑชาย มากชู้
แก้ลมเข่าขาตาย ตึงเมื่อย มึนเอย
ท้าวหัดถ์ชันเข่าคู้ ท่าแม้นลม้ายสิงห์ ๚
หลวงชาญภูเบศร์

ฤๅษีวะชิระเป็นผู้มีวิชา ชุบกบให้เป็นนางมณโฑ ท่านี้ใช้แก้ลมเข่าขาตาย เมื่อยตึง ด้วยการนั่งชันเข่า สอดแขนเอามือเท้าไปข้างหน้า เหมือนกับท่าทางของสิงห์

นอกจากนั้นก็ยังมีนามฤๅษีที่มาจากทั้งบทละครเรื่องต่าง ๆ เช่น อิเหนา อุณรุท รถเสน (พระรถ-เมรี หรือนางสิบสอง) ตลอดจนอรรถกถาชาดกในพระไตรปิฎก จนถึงที่เป็นนักพรตจีน คือ หลีเจ๋ง ซึ่งอาจหยิบยืมมาจาก ลิเจ้ง หรือ หลี่จิ้ง บิดาของ โลเฉีย หรือ นาจา ในพงศาวดารจีนเรื่อง ห้องสิน และนักบุญในคริสต์ศาสนา ได้แก่ นักบุญโยฮัน หรือ ยอห์น บัปติสต์ผู้ทำพิธีล้างบาปหรือบัปติสมาให้แก่พระเยซูคริสต์ในแม่น้ำจอร์แดน อันแสดงให้เห็นความรับรู้โลกกว้างไกลของคนไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

แม้กระนั้นยังมีฤๅษีอีกหลายตนในคำโคลงชุดนี้ที่ยังสืบค้นหาต้นเค้าที่มาของนามไม่ได้ ด้วยอาจมาจากวรรณคดีหรือตำนานที่แพร่หลายในอดีต แต่สาบสูญไม่เป็นที่รู้จักแล้วในปัจจุบัน เช่น ฤๅษีนาไลย ซึ่งเมื่อพิจารณาตามความใน โคลงฤๅษีดัดตน แสดงว่าน่าจะเป็นที่นับถือกันอย่างยิ่งในฐานะครูบาอาจารย์ของวิชาแพทย์แผนไทย หรือฤๅษีสำมิทธิ์ ผู้เป็นครูของหมอนวด ซึ่งยังค้นไม่พบรายละเอียดใด ๆ

คำอธิบายในโคลงชุดนี้ยังบ่งชี้ให้เห็นการวินิจฉัยโรคของแพทย์ไทยโบราณ ซึ่งแตกต่างอย่างยิ่งจากแพทย์แผนปัจจุบันด้วยคำอธิบายถึงสมุฏฐานหรือสาเหตุของอาการเจ็บป่วยนั้น ส่วนใหญ่มาจาก “ลม” ในร่างกาย จึงมีการระบุว่าท่าต่าง ๆ นั้นใช้ “แก้ลม” ให้ “เสื่อมสิ้น” ไปจากอวัยวะส่วนใดได้บ้าง

นอกจากการหล่อรูปฤๅษีดัดตนตั้งไว้ ณ วัดพระเชตุพนฯ พร้อมกับศิลาจารึกโคลงประจำภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดโคลงเหล่านั้นเขียนลงสมุด พร้อมกับวาดภาพฤๅษีดัดตนอย่างเดียวกับที่เป็นรูปหล่อโลหะ เพื่อไว้เป็นคู่ฉบับเทียบตรวจสอบกันโดยต้นฉบับเดิมที่เป็นสมุดไทยดำยังคงเก็บรักษาไว้ในสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตราบเท่าทุกวันนี้

Image

๏ คุกเข่าซ่นติดเข้า เข่าขยาย
มือประทับกับเพลาหมาย มุ่งฟ้า
ขัดขาขัดคอหาย ห่างเมื่อย ลงแฮ
โรมสิงค์สิทธิศักดิ์กล้า กล่าวนี้นามขนาน ๚
พระพุทธโฆษาจารย์

แสดงท่าคุกเข่า ส้นเท้าชิดติดกัน เข่าแยก วางมือแนบ
ที่หน้าขา แหงนหน้าขึ้นมองฟ้า ใช้บรรเทาอาการขัดขา ขัดคอ ทำให้คลายความปวดเมื่อย นี่คือฤๅษีผู้มีนามว่าโรมสิงค์

ปรากฏความในบานแพนก (คำนำ) ของ โคลงฤๅษีดัดตน ว่าช่างผู้เขียนภาพในสมุดไทยเล่มดังกล่าว ได้แก่ ขุนรจนามาศ จากกรมช่างเขียนซ้าย ร่วมกับหมื่นชำนาญรจนา แห่งกรมช่างเขียนขวา โดยมีขุนวิสุทธิอักษรเป็นอาลักษณ์ ตรวจทานแล้วคัดโคลงลงสมุด แล้วเสร็จเมื่อวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือนเจ็ด
ปีจอ จุลศักราช ๑๒๐๐ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๘๑

ใน โคลงฤๅษีดัดตน ตอนต้นยังได้กล่าวถึงพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

๏ เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น สบสถาน
เฉกเช่นโอสถทาน ท่านให้
พูนเพิ่มพุทธสมภาร สมโพธิ์ พระนา
ประกาศพระเกียรติยศไว้ ตราบฟ้าดินศูนย์ ๚

นั่นคือสิ่งเหล่านี้ ทรงมุ่งหวังให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งปวง ดุจดังได้พระราชทาน “โอสถทาน” แก่ผู้คน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนพระบารมีเพื่อให้สำเร็จแก่พระโพธิญาณ และเป็นการประกาศพระเกียรติยศไว้ชั่วฟ้าดิน

อาจด้วยความนิยมในการดำเนินตามรอยพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดินในการให้ “โอสถทาน” แก่อาณาประชาราษฎร ต่อมาจึงมีการปั้นรูปฤๅษีดัดตนบางท่าประดับไว้ในซุ้มข้างประตูกำแพงแก้วรอบอุโบสถ วัดนายโรง ธนบุรี ในราวรัชกาลที่ ๔

ยิ่งกว่านั้นทั้งภาพลายเส้นฤๅษีดัดตนชุดนี้และคำโคลงประกอบภาพยังกลายเป็นต้นแบบที่ถูกนำไปวาดซ้ำเป็นจิตรกรรมฝาผนังไว้ ณ ศาลาหลังหนึ่งที่วัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ในราวปี ๒๔๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ หากแต่อาจด้วยข้อจำกัดของพื้นที่จึงทำให้ช่างเขียนภาพฤๅษีดัดตนไว้เพียง ๔๐ ท่า จาก ๘๐ ท่าตามตำรา

Image

๏ ปริพาชกนี้ชื่อ โยฮัน แลเฮย
น้ำพึ่งตั๊กแตนฉัน เช่นเข้า
อยู่ยังฝั่งโยระดัน หนังอูษฐ  ครองนา
นั่งดัดหัดถ์ถ่างเท้า ขัดแข้งขาหาย ๚
พระองค์เจ้าทินกร

โยฮัน ปริพาชก (นักบวชผู้ท่องเที่ยวไป ผู้จาริกไป) บริโภคน้ำผึ้งและตั๊กแตนเป็นอาหาร อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโยระดันนุ่งห่มหนังอูฐ ท่านนั่งกางขา ใช้มือดัด เพื่อรักษาอาการขัดแข้ง ขัดขา 

ทั้งนี้ตามทัศนะของวิชาแพทย์แผนไทยยังนับเนื่องว่าฤๅษีดัดตนเป็นส่วนหนึ่งของวิชาหมอนวดด้วย  ดังที่ในปี ๒๔๕๖ สมัยต้นรัชกาลที่ ๖ พระยาพิศณุประสาตรเวช (คง ถาวรเวช, ปี ๒๓๙๖-๒๔๕๗) หัวหน้าแพทย์หลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ผู้เรียบเรียง ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง ได้จัดพิมพ์หนังสือ แผนตำราหมอนวดและฤๅษีดัดตน ขึ้น มีภาพประกอบเป็นภาพวาดฤๅษีดัดตนชุดใหม่ (ไม่พบนามผู้วาด) จำนวน ๖๓ ท่า ซึ่งท่านเจ้าคุณให้คำอธิบายในคำนำว่า “อนึ่งเห็นว่าตำหรับฤๅษีดัดตนก็เปนตำหรับหมอนวดอย่างหนึ่ง จึงได้นำมาลงพิมพ์ในท้ายเล่มนี้”

ตำราของท่านคงได้รับความเชื่อถืออย่างยิ่ง เมื่อมีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ของวัดกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในปี ๒๔๖๕ จึงคัดลอกภาพชุดฤๅษีดัดตนจากหนังสือแผนตำราหมอนวดและฤๅษีดัดตน ไปเขียนไว้เป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังด้วย

ในสังคมไทยสมัยใหม่มีความพยายามที่จะหวนกลับคืนไปหาคุณค่าจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมยุคเก่าก่อน  ในกรณีของฤๅษีดัดตนก็เช่นกัน หลายฝ่ายต่างศึกษาค้นคว้า หาทางที่จะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดั้งเดิมในวิชาแพทย์แผนไทยแขนงนี้  เช่นในปี ๒๕๔๔ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิมพ์หนังสือ ฤๅษีดัดตน : ขยับกายสบายชีวีด้วยกายบริหารแบบไทย ฤๅษีดัดตนพื้นฐาน ๑๕ ท่า ออกเผยแพร่ โดยนำมาจากการคัดเลือกท่าฤๅษีดัดตน ๑๕ ท่า จากตำรับเดิมของวัดพระเชตุพนฯ ๘๐ ท่า ดัดแปลงประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลสุขภาพและปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย

ภายในเวลาเพียง ๑๐ ปี มีการตีพิมพ์ซ้ำหนังสือเล่มนี้เพื่อแจกจ่ายไปนับแสนเล่ม บ่งชี้ถึงความสนใจอย่างกว้างขวางของประชาชนที่มีต่อศาสตร์อันเก่าแก่ของไทยแขนงนี้

Image

๏ ผู้ผนวดจีนแจ้งชื่อ หลีเจ๋ง
อยู่เขตรเขาซ่าเหล็ง ตึ่งสิ้ว
ลัทธิท่านเคร่งเขมง เมืองท่าน ถือฮอ
มือเหวี่ยงผวาท่างิ้ว รงับเส้นสลักทรวง ๚
ออกญาโชฎึกราชเศรษฐี

นักพรตจีน หลีเจ๋ง อาศัยอยู่ที่เขาซ่าเหล็งตึ่งสิ้ว เป็นผู้เคร่งครัดในลัทธิอย่างจีน ทำท่าเหวี่ยงแขนเหมือนท่างิ้วเพื่อแก้เส้นสลักทรวง

ในปี ๒๕๕๔ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงประกาศขึ้นทะเบียนฤๅษีดัดตนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในกลุ่มความรู้และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและจักรวาล

ล่าสุดในปี ๒๕๖๔ ไปรษณีย์ไทยได้ออกจำหน่ายดวงตราไปรษณียากรหรือ “แสตมป์ที่ระลึก” เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ๒ เมษายน เป็นชุดแสตมป์สี่ดวง ราคาดวงละ ๓ บาท โดยนำภาพจาก โคลงฤๅษีดัดตน จำนวนสี่แบบ คือ แก้เกียจ แก้ส้นเท้า แก้ลมตะคริว และแก้กล่อน

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูใน สมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตน อายุเกือบ ๒ ศตวรรษ สอดประสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลและฝีมือของคุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ก่อกำเนิดเป็นภาพฤๅษีดัดตนชุดใหม่อันงามวิจิตร เพื่อให้สอดคล้องกับคำโคลงที่ว่า “เขียนเคลือบภาคย์พื้นผิวกาย” แล้วถ่ายถอนรูปเขียนนั้นมาตีพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มหนังสือฤๅษีดัดตน : มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔) พร้อมกับคำโคลงประจำภาพแต่เดิม โดยถอดความให้เป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมอธิบายรายละเอียดหรือขยายความเนื้อหาที่น่าสนใจ เพื่อมุ่งสื่อสารกับสังคมร่วมสมัย และเพื่อส่งต่อภูมิปัญญานี้ต่อไปสู่อนาคตข้างหน้า

ด้วยกตัญญุตาคารวะแก่ครูฤๅษี ครูหมอ และครูช่างผู้ร่วมกันสรรค์สร้างและสืบสานองค์ความรู้นี้ให้แก่สังคมไทย อันเป็นการดำเนินตามแนวทางพระราช-ปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ในอันที่จะเผื่อแผ่ “โอสถทาน” เพื่อร่วมกันเยียวยาสังคมไทยในโมงยามแห่งความทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญทุกหย่อมหญ้าจากการเบียนเบียดของโรคภัยไข้เจ็บเช่นนี้  

อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “ฤๅษีดัดตน : สุขอนามัยไทย สุขอนามัยโลก” ในสมโภชพระอาราม ๒๓๐ ปี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม. กรุงเทพฯ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี, ๒๕๖๑.

ชำนิโวหาร, พระ. โคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกย์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

ชุมนุมพระนิพนธ์ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. พิมพ์เนื่อง
ในงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงสุ่น อนุพันธ์ดิษฐการ. พระนคร : โรงพิมพ์กฤษณปกรณ์, ๒๕๑๓.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. อนุสรณ์ในงาน
พระราชทานเพลิงศพ พลตรี ถวัลย์ ศรีเพ็ญ. กรุงเทพฯ : หจก. เกษมการพิมพ์, ๒๕๓๓.

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กองพุทธศาสนสถาน สำนัก
งานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๐. 

แผนตำราหมอนวดและฤๅษีดัดตน ของพระยาพิศณุประสาตรเวช (คง ถาวร
เวช). กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, ๒๕๕๙.

ฤๅษีดัดตน : ขยับกายสบายชีวีด้วยกายบริหารแบบไทย ฤๅษีดัดตนพื้นฐาน 
๑๕ ท่า. พิมพ์ครั้งที่ ๙. นนทบุรี : สถาบันการแพทย์แผนไทย, ๒๕๕๓. สมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตน. กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, ๒๕๕๙.

Crawfurd, John. Journal of an embassy from the Governor - General 
of India to the courts of Siam and Cochin-China : exhibiting a view of the actual state of those kingdoms Volume 1. second edition London : Henry Colburn and Richard Bently, 1830.