Image
เลิกคบโซเชียลมีเดีย
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
มีคำศัพท์แห่งยุคสมัยดิจิทัลอยู่คำหนึ่งคือ “โฟโม (FoMO หรือ FOMO)” ซึ่งย่อมาจากคำเต็มว่า fear of missing out หรือ “การกลัวตกข่าว-ไม่ทันเหตุการณ์” นั่นเอง  คำนี้มีคนนำมาใช้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๐๔ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายใน ค.ศ. ๒๐๑๐ จนพจนานุกรมออกซฟอร์ดพิจารณาเก็บเป็นศัพท์ใหม่ไว้ใน ค.ศ. ๒๐๑๓

ใครสนใจก็ลองอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับโฟโมเพิ่มเติมได้ที่ doi : 10.12998/wjcc.v9.i19.4881

ลักษณะสำคัญของโฟโมก็คือความต้องการจะเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวจะไม่รู้ว่าคนอื่น ๆ กำลังทำอะไรอยู่

โฟโมถือเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ค่อนข้างใหม่ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีใหม่ หากคนไหนมีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้รู้สึกต่ำต้อย น้อยเนื้อต่ำใจ โดดเดี่ยว เปลี่ยวเปล่าหรือเดือดดาลผู้คนได้

ลองนึกภาพเพื่อนทั้งห้องชวนกันไปปาร์ตี้ มีแต่เราที่ไม่มีใครชวนดูสิ !

หากจะดูความแพร่หลายของโซเชียลมีเดียคงไม่มีอะไรจะแสดงให้เห็นชัดเจนได้มากเท่ากับการเติบโตของเฟซบุ๊ก  เมื่อถึงตอนนี้ (ค.ศ. ๒๐๒๒) เฟซบุ๊กก็เปิดตัวมาได้ ๑๖ ปีแล้ว มีผู้ใช้งานประจำใน ค.ศ. ๒๐๒๐ ราว ๒.๕ พันล้านบัญชี

ในแต่ละวันจะมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว ๑.๗ พันล้านคนจากประชากรทั้งหมดบนโลกนี้ ๗.๗ พันล้านคน ยังไม่นับว่าหลายคนเป็นสมาชิกของอินสตาแกรมและวอตส์แอปป์ที่เฟซบุ๊กซื้อไปแล้วอีกด้วยเรียกได้ว่าบริษัทนี้บริษัทเดียวส่งอิทธิพลแบบรายวันให้คนทั่วโลกมากกว่าประเทศใหญ่ ๆ ประเทศไหน ๆ เสียอีก

แน่นอนว่าคนใช้งานเฟซบุ๊กก็เพราะต้องการติดต่อกับเพื่อนฝูง ติดตามข่าวบ้านเมืองหรือข่าวรอบโลก มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน ซึ่งนิสัยแบบนี้หรือแพลตฟอร์มไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาจะอยู่ตรงที่ความสามารถในการเร้าความสนใจของแอปพลิเคชัน จนเราหักห้ามใจไม่ได้ ต้องเปิดดูอยู่เรื่อย ๆ จากอิทธิพลของความคิดในหัวแบบโฟโม แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจค้นหาหรือมีปฏิสัมพันธ์อะไรจริงจังกับใครก็ตามที
ขณะดูโทรทัศน์หรือพูดคุยกับเพื่อนฝูง คนจำนวนมากก็ยังอดใจไม่ได้ที่จะต้องหยิบมือถือมาเปิดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ดู บางคนทำไปด้วยความเคยชินและไม่เคยสังเกตตัวเองด้วยซ้ำไป
นิสัยแบบนี้ทำให้เราจับใจความสำคัญของสิ่งที่ปรากฏในโทรทัศน์และบนมือถือไม่ค่อยได้ เพียงแต่ว่าสิ่งที่อยู่บนมือถือ มักเป็นท่อน ๆ สั้น ๆ จึงไม่รู้สึกหรือรับรู้เรื่องนี้มากนัก

แอปฯ พวกนี้ทำให้เราเป็นแบบนี้ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทุกครั้งที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นจะเกิดความพึงพอใจมีการกระตุ้นสมองส่วนให้ “รางวัล” จนเกิดติดใจ ให้คุณค่ากับการกดไลก์ กดแชร์และเขียนโพสต์ ซึ่งกระตุ้นให้วนเวียนกลับเข้ามาใช้งานอีกเป็นวัฏจักร

ข้อมูลจากเว็บไซต์ netaddiction.com ระบุว่าปัญหาใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของโซเชียลมีเดียคือ มันส่งข้อมูลมหาศาลให้เราตลอดเวลา จนเกิดอาการล้นเกิน(overload) ซึ่งรบกวนการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล

ปัญหาดูจะหนักหนามากขึ้น เพราะอัลกอริทึม (algorithm) ของเอไอของเฟซบุ๊กนั้นเก่งมาก สามารถเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์พฤติกรรมการใช้งานและแนะนำคนที่เราน่าจะอยากเป็นเพื่อน

เรื่องที่อาจจะต้องการรู้ และผลิตภัณฑ์ที่อาจต้องการใช้ทำให้ติดหนึบกับการใช้งานมากขึ้นไปอีก  ล่าสุดยังเติมฟังก์ชันรีลส์ (Reels) เป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ เลียนแบบคลิปที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขวางบนแอปฯ TikTok เรื่องนี้นำไปสู่คำใหม่ที่น่าสนใจอีกคำหนึ่งคือ “ความล้าโซเชียลมีเดีย (social media fatigue)” หรืออาการหมดเรี่ยวหมดแรง ไม่อยากหรือไม่อาจรับรู้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมได้อีก

ถึงจุดนี้คงเห็นได้ว่า เรามาถึงจุดที่ข้อดีของโซเชียลมีเดียกำลังแข่งขันกับข้อเสีย จนอย่างหลังอาจจะล้ำหน้าอย่างแรกไปไกลเสียแล้ว  หรือเราควรเริ่ม “ลด” หรือแม้แต่ “เลิก” เสพโซเชียลมีเดียกันดี ?

มีการสำรวจคนอเมริกันใน ค.ศ. ๒๐๑๘ โดยพิวรีเสิร์ชเซนเตอร์ พบว่ามีคนอเมริกัน ๔๒ เปอร์เซ็นต์ ที่รู้สึกเหนื่อยล้ากับการมีปฏิสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย จนตัดสินใจหยุดพักชั่วคราว โดยอาจจะไม่กี่สัปดาห์หรือนานเป็นเดือนก็มี  นอก
จากนี้ยังมีอีกราวหนึ่งในสี่ที่ลบแอปฯ เฟซบุ๊กออกจากมือถือเพื่อให้เข้าถึงได้ยากขึ้น

ในสหราชอาณาจักรก็สำรวจพบว่าช่วงปลาย ค.ศ. ๒๐๑๙ มีการใช้เฟซบุ๊กลดลง
Image
ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในตอนแรก ๆ ที่เริ่มใช้โซเชียลมีเดียนั้น รูปต่าง ๆ ที่เราโพสต์จะยังสะท้อนความเป็นตัวเราอยู่ แต่เมื่อนานไปก็มีแนวโน้มว่าเราจะปรับเปลี่ยนข้อมูลและรูปภาพจนกลายเป็นรูปและเรื่องที่ “อยากให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็น”  อย่างแรกอาจจะเรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง ส่วนอย่างหลังนี่จะเรียกว่า “สร้างภาพ” ก็คงพอได้ พอเป็นแบบนี้ผลลัพธ์แทนที่จะดี กลับกลายเป็นเรื่องเลวร้าย

ปรากฏการณ์แบบนี้ทำให้เราแยกตัวโดดเดี่ยวจากคนอื่นมากขึ้น แม้เราจะมีเพื่อนหลายร้อยหรือเป็นพันคนบนเฟซบุ๊ก แต่กลับมีคนน้อยมากที่รู้จักจริง ๆ ว่าเราเป็นยังไงกันแน่ น้อยคนจะเชื่อมต่อกันติดชนิดสามารถแบ่งปันความคิดเห็นและความห่วงใยกันได้ ทำให้สุดท้ายแล้วกลับต่อกันไม่ติดจริง ๆ

ปัญหาสามัญ แต่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ปรกติคนเราชอบมากเรื่องการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเข้าโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ จึงกระตุ้นเพิ่มขึ้น จนบ่อยครั้งลืมตัวไปว่าสิ่งที่แปะโชว์กันนั้นมักผ่านการดัดแปลงให้ดี “เหนือจริง” หรือแม้แต่จะใกล้ความสมบูรณ์แบบ

ดูแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมจึงเต็มไปด้วยคนร่ำรวย รูปร่างดี และมีความสุขมากมายไปหมด ลืมนึกไปว่ามีน้อยคนจะอยากแสดงด้านที่ยากจนชักหน้าไม่ถึงหลัง รูปร่างที่ไม่ได้รับการดูแล พุงที่ล้นหลาม และช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบากให้คนอื่นได้เห็น

นอกจากการกลัวตกข่าว โดยเฉพาะการอดซุบซิบนินทาหรือไม่ได้รับเชิญไปสังสรรค์ด้วยแล้ว การหันกลับมาสร้างกลุ่มใหม่นอกโซเชียลมีเดียก็ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง แต่หากตั้งใจทำก็ย่อมจะส่งผลดีไม่ช้าก็เร็ว ไม่มากก็น้อย

เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ทันทีก็คือการได้เวลาว่างกลับคืนมาทันทีที่เราเลิกปัดหน้าจอไปเรื่อยเปื่อย บางคนก็เอาไปใช้อ่านหนังสือ วิ่ง เข้ายิม วาดรูป โทรศัพท์พูดคุยกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง หรือไปเยี่ยมเยียนคนเหล่านั้นมากขึ้น ฯลฯ เรื่องต่าง ๆ ที่เคยบ่นว่าไม่มีเวลาก็จะลดน้อยถอยลงไปบ้าง
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่ใช่แค่ทำเพื่อทดแทน แต่ทำสิ่งที่โซเชียลมีเดียทำไม่ได้ คือ ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้สนิทชิดเชื้อกับเพื่อนฝูงจริง ๆ มากขึ้น มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น ช่วยลดอาการเครียด เก็บกด และกระวนกระวายใจ  การมีเพื่อนฝูงและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นเป็นปัจจัยสำคัญของการมีอายุยืนยาวและสุขภาพจิตที่ดี

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

เหตุผลก็เพราะว่าเวลาอยู่กับโซเชียลมีเดีย เราปล่อยใจให้จดจ่อกับชีวิตของ “คนอื่น” ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารู้จักหรือไม่รู้จัก ซึ่งชวนให้เกิดความคิดเชิงลบได้ง่าย ๆ หรือไม่ก็สนใจกับเรื่องราวไกลตัวไม่มีประโยชน์อะไรจริงจังต่อการใช้ชีวิต

การหยุดใช้โซเชียลมีเดียจึงทำให้หันมาจดจ่อกับชีวิตตัวเองมากขึ้น ทำให้หันกลับมาดูเป้าหมายชีวิตได้ถนัดถนี่มากขึ้น

แน่นอนว่าคล้าย ๆ กับคนติดยาเสพติด คนจำนวนมากยกเลิกการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสิ้นเชิงไม่ได้แบบปุบปับเพราะจะ “ลงแดง” แต่การถอยออกมาสักนิดสำหรับหลาย ๆ คนนั้นถือเป็นการ “เพิ่มคุณภาพชีวิต” ได้แบบหนึ่ง จัดว่าเป็นเรื่องดีมีประโยชน์

มีคำแนะนำอะไรบ้างสำหรับคนที่ต้องการลด ละ เลิกโซเชียลมีเดีย ?

การปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะทำได้ไม่ยากเท่ากับการหักดิบ เลิกใช้อย่างสิ้นเชิงทันที เราต้องตระหนักรู้ว่าเราเป็นผู้ “ควบคุม” ฉะนั้นจะใช้โซเชียลมีเดียมาก น้อย หรือแม้แต่เลิกใช้ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะควบคุมได้

ยกตัวอย่าง เราอาจตั้งค่าให้ “เฟรนด์” หรือเพื่อนในบัญชีรายชื่อในเฟซบุ๊กมีเท่าที่จำเป็น เลือกแชร์เฉพาะกลุ่มที่เราอยากให้เห็น เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ไม่โปรยไปทั่วจนตัวเองเครียดว่า ที่เผยแพร่ไป พ่อแม่หรือครูอาจารย์จะว่ายังไง

บางคนก็เลือกเปลี่ยนแอปฯ เช่น ย้ายจากเฟซบุ๊กไปเป็นทวิตเตอร์หรือแอปฯ อื่นแทน

ขั้นตอนต่อไปก็ค่อย ๆ กด “อันเฟรนด์” เพื่อลดเพื่อนที่ไม่ได้รู้จักกันจริง ๆ หรือหากลำบากใจอาจจะแค่กด “อันฟอลโลว์” แม้จะไม่เห็นว่าคนคนนั้นโพสต์อะไรบ้าง รวมไปถึงการไล่กด “อันไลก์” พวกเพจต่าง ๆ ที่ไม่สนใจหรือไม่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว และออกจากกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเหตุผลเดียวกัน

หากทำแบบนี้ได้ จะทำให้สิ่งที่ปรากฏขึ้นในฟีดลดลง และตรงกับความสนใจหรือความเกี่ยวข้องของเรามากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่รู้สึก “ล้า” กับปริมาณข้อมูลที่มากมายเกินรับไหว

การใช้แอปฯ ที่รายงานเวลารวมที่ใช้ไปกับโซเชียลมีเดียก็มีส่วนช่วยเพิ่มกำลังใจให้เราทำตามเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นด้วย หากทำได้ดังที่ว่ามา การลบแอปฯ ออกจากมือถือหรือแม้แต่ออกจากชีวิตอย่างสิ้นเชิง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
หากทำได้ทั้งหมดนี้เราก็จะได้ใช้ชีวิตจริง ๆ บนโลกจริงมากขึ้น โดยไม่ติดกับดักและเหน็ดเหนื่อยอยู่กับ “โลกเสมือน” ที่สร้างสัมพันธ์เทียม ๆ มากจนเกินไป