Image

เรื่องวุ่น ๆ
ของมรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรม
อานันท์ นาคคง

นักมานุษยวิทยาดนตรี 
อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

Interview

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

“จะอยู่ในเส้นกั้นประเทศ หรือจะเปิดพรมแดนออกไป...”

ในแวดวงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ชื่อ อานันท์ นาคคง เป็นที่คุ้นเคยในฐานะ “นักดนตรี/นักวิชาการ” เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทยร่วมสมัย “กอไผ่” เขายังเป็นสมาชิกวง “ฟองน้ำ” และวงดนตรีที่ทำงานเพลงแนวใหม่อีกหลายวง

ผลงานของเขาบางชิ้นเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อตัว ดังเช่นน้อยคนนักที่จะรู้ว่า
เขามีบทบาทอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ดัง โหมโรง อันได้แรงส่งจากหนังสือหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์ที่เขาเขียนร่วมกับ อัษฎาวุธ สาคริก

อานันท์บอกว่าอาชีพของเขาคือ “นักมานุษยวิทยาดนตรี” (ethnomusicology) 
ที่นอกจากสอนหนังสือแล้วยังชอบออกเดินทางไป “เก็บเสียง” ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะแถบอาเซียนหรือกระทั่งตามพื้นที่ชุมนุมประท้วง  เขาบอกว่าเสียงเหล่านี้เล่าเรื่องได้มากมาย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิต บ่งบอกถึงสุขภาพของสังคม

การเดินทางเก็บเสียงยังทำให้อานันท์เห็น “ความหลากหลาย” ของคนในภูมิภาค เขามีประสบการณ์ทำงานกับนักดนตรีในอาเซียนมายาวนาน ทั้งมีส่วนก่อตั้ง
วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียน (C ASEAN Consonant) เพื่อพัฒนาดนตรีแนวประเพณีไปสู่อนาคต

ช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา ดรามาเรื่องหนึ่งที่เกิดบ่อยครั้งคือการขึ้นทะเบียนมรดกโลก 
(ไม่ว่าจะประเภทใด) ที่ไทยมักกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านว่ามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนั้นเป็น “ของฉัน” หรือ “ของเธอ” 

ในโอกาสที่ สารคดี เล่มที่ท่านผู้อ่านถืออยู่นี้ ว่าด้วยเรื่อง “มรดกโลก” หลากประเภท เราจึงสนทนากับอาจารย์อานันท์ ว่าจริง ๆ แล้วของพวกนี้มี “เจ้าของ” 
หรือไม่ และควรทำอย่างไรกับการจัดการ “มรดก” เหล่านี้

ก่อนจะคุยประเด็นเรื่องมรดกโลก อยากให้อธิบายว่า ethnomusicology คืออะไร

คำว่า ethnomusicology แปลว่า “มานุษยวิทยาดนตรี” หรือ “ดุริยางคศาสตร์ชาติพันธุ์” ก็ได้ เป็นการใช้กระบวนการศึกษาทางมานุษยวิทยาโดยมีดนตรีและเสียงเป็นสื่อกลางทำความเข้าใจมนุษย์ หรือจะนิยามกลับกันว่าเป็นการศึกษาดนตรีโดยวิธีการทางมานุษยวิทยาและศาสตร์แขนงอื่นก็ได้

ความรู้ดนตรีไม่ใช่แค่อ่านโน้ตเพลง รู้ประวัติ แต่ต้องศึกษาคนด้วย ความเชี่ยวชาญของนักมานุษยวิทยาดนตรีไม่ใช่ฝึกฝนดีดสีตีเป่าขับร้องเท่านั้น แต่ต้องฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง รู้จักสังเกตตั้งคำถาม เข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับคนที่แตกต่าง เรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เกาะติดความเปลี่ยนแปลง หมั่นออกภาคสนาม

ผมเดินทางตลอด เวลาไปไหนมักมีเครื่องบันทึกเสียงติดตัวสำหรับช่างภาพ ดวงตาคือกล้องถ่ายรูปที่ดีที่สุด สำหรับผม
หูคือเครื่องบันทึกเสียงที่ดีที่สุด ผมฝึกฟังเสียงแล้วสังเกต เช่น
บางทีได้ยินเสียงนกร้องในพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ นกมาชุมนุม
บนสายไฟฟ้า ก็สงสัยว่าทำไมมันมาปาร์ตี้ตรงนั้น อ๋อ เพราะต้นไม้ไม่เหลือแล้ว มันบินกลับบ้านไม่ได้

เครื่องบันทึกเสียงบันทึกประวัติศาสตร์ได้มาก ไม่ใช่แค่เสียงดนตรี  ในวาระพิเศษเช่นเสียงประกาศสลับเพลงปลุกใจเวลารัฐประหารหรือมีประท้วงกัน ผมก็ไปอัดเสียง ผมเก็บเสียงการเมืองมาตั้งแต่ก่อนยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง (ปี ๒๕๔๙/ค.ศ. ๒๐๐๖) เพราะในการชุมนุมมีองค์ประกอบที่น่าสนใจเยอะ ดนตรี คำปราศรัย เสียงนกหวีด เสียงมือตบ ตีนตบ  ผมทำจดหมายเหตุเสียง (sound archive) แล้วเอามาถอดรหัสความรู้ เล่าเรื่องทางรายการวิทยุบ้าง เขียนบ้าง

บางทีผมสนใจว่าเสียงในเหตุการณ์เดียวกันของปีต่อไปจะเหมือนเดิมหรือไม่ เช่น วันแรงงานเคยมีเวทีกลางที่สนามหลวงมีนักร้องมาร้องเพลง แต่ทุกวันนี้ไม่มี เสียงหายไป สนามหลวงกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามชุมนุม ยกเว้นจะมีงานพระบรมศพ ซึ่งเสียงตรงนั้นก็น่าศึกษามากเช่นกัน

การทำงานภาคสนามผมได้ทักษะมาตั้งแต่ก่อนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะส่วนหนึ่งมีพื้นฐานจากที่เคยทำงานกับ 
พี่เอนก นาวิกมูลและคณะศึกษาเพลงพื้นบ้าน พวกพี่ ๆ เหล่านี้ทำให้ผมเป็นนักมานุษยวิทยาดนตรีตั้งแต่ยังไม่ได้เรียน ตอนที่ไปเก็บข้อมูลพี่ ๆ เขาถ่ายรูปการแสดง พ่อเพลงแม่เพลงเขาก็เคลื่อนที่เดินสังเกตการณ์กันไปเรื่อย ๆ แต่หาคนนั่งนิ่ง ๆ ฟังเสียงกับที่ไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่ตรงนั้น

เอนก นาวิกมูล 
(ปี ๒๔๙๖/ค.ศ. ๑๙๕๓-ปัจจุบัน) นักสะสมสิ่งของที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมไทย เจ้าของแนวคิด “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (ปี ๒๕๖๓) ผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์”

เทปคาสเซ็ตสมัยนั้นมีหน้า A หน้า B บันทึกได้หน้าละ ๓๐ นาที ต้องรู้จังหวะว่าเมื่อไรต้องกลับเทป คอยหิ้วเครื่องไปวางในตำแหน่งที่เหมาะสม ต้องจดด้วยว่าเทปนี้บันทึกอะไร หน้านี้ใครร้อง ใครพูด เพราะบางทีกรอเทปหาไม่ไหว

ผมเริ่มมีสันดานการเก็บเสียงจากตรงนั้น แล้วก็มาทำงานบันทึกเสียงอื่น ๆ ต่อเอง ค่อย ๆ พัฒนาอุปกรณ์ เทคนิค และมีทฤษฎีรองรับมากขึ้น

เทปคาสเซ็ต (compact cassette)
เทคโนโลยีอัดเสียงที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ เสื่อมความนิยมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ จากการเข้ามาแทนที่ของ CD DVD และเทคโนโลยี live streaming ในทศวรรษ ๒๐๒๐

Image

เริ่มสนใจเพลงของประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เมื่อใด

ตั้งแต่เด็ก เพราะมีพื้นเพเดิมจากการเรียนดนตรีไทย สนใจลิเก เพลงลูกทุ่ง ผมพบว่าสำเนียงเพลงมีความพิเศษ ลูกทุ่งสำเนียงลาวมาก่อนลูกทุ่งอีสาน สุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ  เพลิน พรหมแดน ฯลฯ ใคร ๆ ก็ร้อง พวกลูกทุ่งสำเนียงแขกก็น่าสนใจ ชาตรี ศรีชล  ยุพิน แพรทองสุมิตร สัจจเทพ ฯลฯ

สุรพล สมบัติเจริญ 
(ปี ๒๔๗๓-๒๕๑๑/.ศ.๑๙๓๐-๑๙๖๘)  ชื่อจริง พันจ่าอากาศโท ลำดวน สมบัติเจริญ ได้รับสมญาว่า “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ของไทย 

ในดนตรีไทยยังมีเพลงที่เรียกว่าออกภาษา ครูสมชาย ทับพร ร้องสิบสองภาษาสนุกมาก  เพลงภาษานี้เป็นการทำงานสร้างสรรค์ของครูเพลงรุ่นเก่า ต่างจากเพลงไทยเดิมแบบอื่น ในเพลงมีทุกอย่างทั้งวรรณกรรม ละคร จังหวะ สีสันดนตรีฉูดฉาดมาก  เอาเรื่อง สามก๊ก มาร้องโดยใส่ภาษาจีนที่คนจีนก็ฟังไม่ออก เอาเรื่อง ราชาธิราช มาใส่ก็มี

ตอนผมตั้งวงกอไผ่ เมื่อปี ๒๕๒๖/ค.ศ. ๑๙๘๓ ออกงานครั้งแรกก็เล่นเพลงสิบสองภาษาจากมุมมองของเด็กมัธยมศึกษา ตีความกันว่าภาษาลาวจะเป็นอย่างไร เขมร พม่า มอญจะออกมาแบบไหน  ที่บ้านผมมีเชื้อสายมอญ ตายายผมคุยกันเป็นคำมอญ ผมจึงรู้จักสำเนียง วิถีชีวิต อาหารการกิน เพลงมอญในมุมที่ต่างจากคนทั่วไป  ที่จริงปี่พาทย์มอญก็ไม่ได้อยู่แค่สังคมคนมอญ แต่อยู่กับใครก็ได้ จนถึงไปอยู่ในโรงลิเกเป็นปี่พาทย์ลอยฟ้าประดับฉากด้วยซ้ำ แล้วเสียงจังหวะมอญก็ช่วยให้เพลงลูกทุ่งลิเกน่าฟังมาก

วงกอไผ่
อานันท์ นาคคง กับเพื่อน ๆ ตั้งวงนี้ ในปี ๒๕๒๖/ค.ศ. ๑๙๘๓ ช่วงเรียนมัธยมศึกษา โดยมุ่งหวังจะให้เป็นวงดนตรีไทยที่มีลักษณะร่วมสมัย

อีกส่วนเพราะผมไม่ได้เรียนดนตรีไทยเป็นงานเป็นการในโรงเรียนเหมือนเด็กมัธยมฯ คนอื่น แต่ออกไปเรียนกับครูดนตรีไทยผู้ใหญ่ อยู่ในสวน ใช้ชีวิตกันในงานวัด  วงดนตรีรับงานแสดงในงานศพ งานบวช งานเข้าทรง ดนตรีไทยที่ผมสัมผัสจึงมีเจ้าหลายองค์ที่ต้องไหว้ ส่งภาษาต่างดาวกันตลอดเวลา เลยตระหนักเรื่องความหลากหลาย

ผมไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นนักดนตรีไทยพันธุ์แท้ เป็นพันทางมากกว่า ในยุคที่ผมโตก็เต็มไปด้วยเพลงญี่ปุ่น จีน ป็อป แจซ คลาสสิก ก็ซึมซับเหมือนคนอื่น ผมไม่ได้กลัวว่าของเหล่านี้จะมาทำลายดนตรีไทย

ต่อมาหันมาศึกษาเพลงจากสื่อหลากหลาย ดูละคร ภาพยนตร์ ฟังเพลงหนัง สตาร์วอร์ส เพลงโฆษณาผมก็สนใจ

สมัยเรียนปริญญาโทที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS) เคยใช้ชีวิตกับผู้ลี้ภัย ไปขลุกกับ VLC Community (ชุมชนเวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่หนีภัย
สงครามเวียดนาม) ได้เรียนดนตรีภาษา ช่วยเขาทำอาหาร  คนเราเวลาพลัดบ้านเมือง สิ่งที่บอกตัวตนได้ดีที่สุดก็คือเรื่องนี้  ขณะที่ SOAS สอนดนตรีแบบเจ้าอาณานิคม เชยมาก ทุกอย่างเป็นรูปแบบไปหมด  ผมไปเรียนดนตรีกับครูเขมร เล่นพินเพียตขแมร์ (Khmer pinpeat) ได้วิธีตีระนาดและเพลงเขามา นักดนตรีไทยชอบล้อผมว่าตีโขยกเขยกเป็นเขมร

ผมเรียนดนตรีเขมร เพราะอยากรู้ว่าดนตรีไทยยุคก่อนหลวงประดิษฐไพเราะจะมาปฏิวัติจนมีมาตรฐานเคยเป็นอย่างไร สิ่งนี้เหลือร่องรอยอยู่ในพื้นที่รอบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ผมฟังเพลงป็อปเขมรด้วย สนใจ สิน สีสะมุท (สะกดตามเสียงเขมร Sin Sisamuth-นักร้องที่ได้รับสมญาว่าอธิราช
เสียงทองของกัมพูชา) ฟังเพลงเขาอย่างจริงจังจนพบว่ามีสำเนียงเพลงวงสุนทราภรณ์ เพลงลูกทุ่งไทย เพลงไทยเดิม ปะปนอยู่  สินเสียชีวิตในปีแรกที่ เขมรแดงลงมือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนกัมพูชาเศร้ามาก

การฆ่าศิลปินสะเทือนยิ่งกว่าฆ่านักการเมือง เพราะเขามีแฟนเพลงมากมาย

สงครามเวียดนาม  
ส่วนหนึ่งของสงครามอินโดจีน ซึ่งเป็นการรบระหว่างขบวนการเวียดมินห์ (พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม)/เวียดนามเหนือ ใต้การหนุนหลังของจีนคอมมิวนิสต์ และสหภาพโซเวียตกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส กับเวียดนามใต้ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง สงครามอินโดจีน เกิดขึ้นระหว่างปี ๒๔๘๙-๒๕๑๘/ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๗๕ จบลงโดยเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะ คนยุคหลังเรียก “สงครามเวียดนาม”

ระบอบเขมรแดง  
เขมรแดงเป็นหนึ่งในกลุ่มกองกำลังที่เคลื่อนไหวอยู่ในชนบทของกัมพูชาช่วงสงครามเย็น นำโดย พอลพต  กลุ่มเขมรแดงยึดอำนาจรัฐบาลของนายพลลอนนอลได้ในปี ๒๕๑๘/ค.ศ. ๑๙๗๕ จากนั้นพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ นำผู้คนออกไปใช้แรงงานทำไร่ไถนา กำจัดชนชั้นนายทุนผู้ต่อต้านจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒ ล้านคน โลกรับรู้เหตุการณ์นี้จากกรณี “ทุ่งสังหาร” (Killing Field)

อาจารย์เคยพูดถึงตระกูลเสียงดนตรีอุษาคเนย์ มีอยู่จริงหรือ

มีครับ ดนตรีในภูมิภาคนี้มีเสน่ห์คือความหลากหลายโดดเด่นทั้งแนวดนตรีภาคพื้นทวีปกับคาบสมุทร-กลุ่มเกาะชาติพันธุ์ ภาษามากมาย แถมมีญาติทางวัฒนธรรมเต็มไปหมด ไม่ว่าจีน แขก อาหรับ ฝรั่ง บางพื้นที่ก็มีเสียงที่แสดงความเป็นศูนย์กลางอยู่เหนือคนอื่น เช่นดนตรีไทย ซึ่งมักลืมว่าเรามีแคน สะล้อด้วย ชอบไปนึกว่ามีแค่ซอสามสาย ปี่พาทย์หลวง แล้วดูถูกสะล้อ ปี่พาทย์ล้านนา

บางชาติมีหน่วยงานระดับกระทรวงที่ชูว่าสิ่งไหนเป็นเอกลักษณ์แล้วก็กดทับคนอื่น ระดับการข่มเหง อคติทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้สูงที่สุดในโลก

Image

เรื่องความพยายามกดทับคนอื่น ดนตรีหรือวงการวัฒนธรรมของประเทศอื่นมีหรือไม่

เชื่อว่ามีทุกประเทศ แต่ตัวอย่างที่ชัดเราเห็นจากไทย  พม่ามีวันชนเผ่าแห่งชาติ แต่ไทยมีวันภาษาไทยแห่งชาติ ให้รางวัลคนที่พูดภาษาไทยดีเด่นตามที่กระทรวงตั้งมาตรฐาน  เชื่อไหมทุกปีผมต้องไปตัดสินรางวัล “เพชรในเพลง” โดยไม่มีความสุขเลย ลองอ่านสูจิบัตรงานจะช็อก นักแต่งเพลงโดนครูภาษาไทยตรวจฉันทลักษณ์ ความหมาย การควบกล้ำ ไม่ให้ร้องไทยปนฝรั่ง นอกจากข่มเหงตัวภาษาหนังสือนี่ยังข่มเหงสำเนียงถิ่นด้วยบางครั้งเวลาร้อง เขาไม่ได้ต้องการความถูกต้องทางภาษาไทยหรอก

สิบปีมานี้ผมนั่งฟังผู้เชี่ยวชาญภาษากับครูเพลงตอบโต้กัน นักร้องจำนวนหนึ่งก็ยอมจำนน แต่ตอนหลังเพลงพื้นถิ่นกลับบูม เกิดสถานการณ์ป่าล้อมเมือง พวกครูสลา คุณวุฒิ และ
นักร้องอีสาน นักร้องใต้ ได้รางวัลบ่อยขึ้น ก็ค่อย ๆ ยอมรับกันมากขึ้น แต่พวกเพลงฮิปฮอปที่แทรกภาษาอังกฤษหรือคำแสลงหูก็ยังไม่มีสิทธิ์อยู่ดี

เพลงไทยยุคเก่ามาก ๆ มีเรื่องการอ้างความเป็นเจ้าของหรือไม่

อาจไม่อยู่ในรูปกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่อยู่ในรูปแบบความเชื่อ เช่น เพลงหน้าพาทย์สาธุการในพิธีไหว้ครูโขนละครดนตรีมีตำนานว่าพระอิศวรแต่งเพลงถวายพระพุทธเจ้า หลังจากประลองฤทธิ์เล่นซ่อนหาแล้วพระอิศวรแพ้

สาธุการคือเพลงแรกที่คนเรียนปี่พาทย์ถูกจับมือเริ่มต้นในงานไหว้ครู ในซีรีส์ยังมีเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น จริง ๆ ผมเชื่อว่าคงมีคนแต่ง แต่พอใช้ในพิธีกรรมเลยยกให้เทวดา สร้างนิทานขึ้น ลองไปอ่านงานอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ หรืออาจารย์มนตรี ตราโมท ก็ยังระบุที่มาของนิทานเรื่องนี้ จนแพร่ไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาสมัยใหม่ ก็ตอกย้ำกันต่อมา ไม่มีใครสงสัยว่ามนุษย์เป็นคนแต่งเลย แล้วก็ต้องรักษา อย่าให้ผิดพลาดจะเป็นบาป ตำนานนี้แหละคือลิขสิทธิ์

ยุคปัจจุบันก็มักจะอ้างกันไปมาว่า เพลงนี้เพลงนั้นของใครแน่ 

เกิดจากการใช้วิธีคิดแบบชาตินิยมเข้ามานิยาม เป็นเรื่องของเส้นเขตแดนที่เกิดทีหลัง

ทางกัมพูชาเขาก็มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเพลงสาธุการเป็นของเขา เพราะมีเวอร์ชันของเขาจริง ๆ  การที่จะบอกว่าใครคือเจ้าของ ถ้าไม่มีหลักฐานประเภทลายเซ็นคนแต่ง ตัวโน้ตพิสูจน์ได้ว่าพิมพ์ปีไหน ออกเผยแพร่เมื่อไร ก็ยาก  เรื่องนี้เป็นหน้าที่นักดนตรีวิทยา (musicologist) ที่ต้องเอาหลักฐานมาดู เอาความรู้เรื่องดนตรีวิทยา (musicology) มาจับ

แต่นักมานุษยวิทยาดนตรีไม่ได้หยุดที่นั่น เราสนใจการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง และสิ้นสลายของเพลงในห้วงต่าง ๆ เช่น เพลงอยู่ในพิธีไหว้ครูมันเท่มาก แต่พอมาอยู่ริมถนนเป็นอีกแบบ

ประเด็นดรามาทุกครั้งในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด คือบางครั้งมีวิวาทะระหว่างคนไทยกับคนชาติอื่นเรื่องใครเป็นเจ้าของ กรณีดนตรีไทยเคยเกิดปัญหาแบบนี้หรือไม่

มีเป็นบางครั้งในเวทีประชุมวิชาการที่จัดในไทย คนไทยเป็นคนส่วนใหญ่ในที่ประชุม ด่าคนอื่นด้วยภาษาไทยกันอย่างสนุกปาก แต่พอเป็นพื้นที่ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษจะเกิดข้อจำกัดทางภาษา ศัพท์ที่ว่าด้วยดนตรีวิทยา การเถียงไม่ออกรสชาตินักวิชาการไทยก็ได้แต่เงียบ แต่โซเชียลมีเดียในโลกสมัยใหม่ ใช้กูเกิลแปลซัดกันได้เป็นหมัด ๆ

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐ มีเวทีกลางเล่นโขนที่สนามหลวง ตอนนั้นผมก็ไปเล่นด้วย หน่วยงานรัฐถ่ายทอดสด ไลฟ์สด พอกลับบ้านก็พบว่าระหว่างไลฟ์มีการแสดงความคิดเห็นต่อท้าย เถียงกันยาวมากระหว่างกองเชียร์ไทยกับกัมพูชาว่าทำไมทศกัณฐ์รำแบบนี้ ปรากฏการณ์นี้มีให้เห็นเยอะมาก  เฟซบุ๊กบางเพจทำเพื่อถล่มกัมพูชาโดยเฉพาะก็มี

คนมักมองว่านักดนตรีไทยส่วนมากมีทัศนะในทางอนุรักษนิยม

เป็นความเข้าใจผิดของสังคม ว่านักดนตรีไทยหรือกระทั่งคนแสดงโขนต้องมีมุมมองแบบอนุรักษนิยม  เถียงไม่ได้ครับ ว่าบางส่วนจำเป็นต้องดูแลตัวเอง ต้องเป็นชาตินิยม เพื่อแสดงความแตกต่าง ให้ได้รับการนับถือ มีตัวตน มีชื่อเสียง ไม่ง่ายเลยสำหรับนักดนตรีไทย คนที่มีชื่อเสียงอย่างครูมนตรี ตราโมทครูบุญยงค์ เกตุคง ล้วนต้องผ่านการทดสอบอันโหดเหี้ยม
ผ่านการต่อรองกับเจ้านาย กว่าจะมีชื่อ นี่เป็นวิถีทางที่คนเหล่านี้เลือก

ที่ผ่านมาเราขายของใหญ่ ละทิ้งของเล็ก พอพูดว่ามรดกภูมิปัญญาไทยก็มองข้ามคนร่วมแผ่นดิน กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กะเหรี่ยง ลัวะ อาข่า มูเซอ ไทใหญ่ ฯลฯ

Image

อาจารย์เล่าว่าหลังกลับจากเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ กลับมาเปิดวิชา World Music เพื่อสลายตัวตนของ “นักดนตรีไทย ๕๐๐ เปอร์เซ็นต์” นักดนตรีไทย ๕๐๐ เปอร์เซ็นต์มีคำนิยามว่าอย่างไร

หายใจเข้าออกอยู่กับธรรมเนียมดนตรีไทย เพลงไทยเดิม มองว่าทุกอย่างเป็นของเรา เราคือ “กู” โดยไม่มี “มึง” ไม่มีเขมร ไม่มีลาว ไม่มีเพลงพื้นบ้าน ไม่มีเครื่องดนตรีอย่างแคน ปรากฏอยู่กับวิชาดนตรีไทยประเพณี

ผมเปิดวิชา World Music เพื่อสลายกรอบความคิดลูกศิษย์
ส่งความรู้ชุดที่แตกต่างให้ มันมีเรื่องราวดนตรีเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมโลกที่บันทึกถึงโดย “คนนอก” ที่เป็นฝรั่ง พวกนี้ทำคุณประโยชน์มาก ทำให้เกิดการยอมรับ เช่น ฌัก บรูเน (Jacques Brunet) นักมานุษยวิทยาดนตรีฝรั่งเศสที่เข้าไปในกัมพูชาแล้วเก็บเสียงดนตรีเขมรก่อนสงครามไปฝากไว้ที่ยูเนสโก ฝรั่งคนอื่น ๆ ก็ทำ ดังนั้นอย่าตกใจว่าทำไมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (intangible cultural heritage -
ICH) ของกัมพูชาหลายเรื่องจึงได้รับการขึ้นทะเบียน เพราะคนนอกทำให้ดนตรีกัมพูชาเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

กรณีของ ฌัก บรูเน สะท้อนว่าเมืองไทยมีนักมานุษยวิทยาดนตรีน้อยเกินไปหรือไม่

บ้านเราเปิดสาขามานุษยวิทยาดนตรีมากว่า ๓๐ ปี แต่ไม่แข็งแรง เรียนกันเป็นหมื่นคนทั้งปริญญาตรี โท เอก แต่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้จริง หลักสูตรในไทยพอสูงกว่าระดับปริญญาโทก็มุ่งวิจัยในกระดาษ งานภาคปฏิบัติลงสนามก็ไม่ค่อยมีใครเอาจริง จะไปทางดนตรีวิทยาองค์ความรู้ก็ง่อนแง่นไม่ทำงานกว้างขวางต่อเนื่อง เราจึงต่างจากกัมพูชา

กว่าเราจะดันเรื่องวงปี่พาทย์ แคน มันเชื่องช้ามาก กรณี สปป. ลาว เสียงแคนของเขาได้รับการยอมรับมาก่อนขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๐/ค.ศ. ๒๐๑๗ เพราะมีการตีพิมพ์งานศึกษาค้นคว้าในวงกว้าง แล้วนักมานุษยวิทยาดนตรีที่สนใจแคนจริง ๆ ก็มี เช่น แทร์รี มิลเลอร์ เป็นต้น

การที่ดนตรีไทย-ดนตรีพื้นบ้านเป็นที่สนใจของชาวโลกก็ต้องให้เครดิตนักมานุษยวิทยาดนตรีช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ อย่าง เดวิด มอร์ตัน ที่มาใช้ชีวิตอยู่กับสำนักครูหลวงประดิษฐไพเราะ หรือ เจอรัลด์ ไดก์ ที่ไปเก็บข้อมูลดนตรีล้านนาในเชียงใหม่อย่างจริงจัง แล้วนำมาเผยแพร่ให้โลกภายนอกรับรู้ด้วยงานเขียนและงานบันทึกเสียง

เรื่องแคน คนไทยจำนวนมากเข้าข้างตัวเองเกินไป น้อยใจตีโพยตีพายว่าแคนอีสานเราเก่งกว่า ทำไมยูเนสโกไม่ยอมรับ เรามีการบันทึกนะ แต่ทำแบบเข้าข้างตัวเอง ขณะที่นักมานุษยวิทยาดนตรีเก็บข้อมูลโดยไม่เข้าข้างใคร

ถ้าดูกรณีของผม หลัง ๆ ผมทำงานเกี่ยวกับพม่าเยอะ ข้ามไปอยู่กับงานดนตรีหลายประเภท

ประสบการณ์มานุษยวิทยาดนตรีที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมมากที่สุด คือการมีโอกาสตั้งวงดนตรีซีอาเซียนคอนโซแนนต์ โดยรวมครูเพลงและนักดนตรีเยาวชนจากอาเซียน ๑๐ ประเทศมาทำงานเพลงสร้างสรรค์ ทุกคนมีส่วนร่วมคิดงาน แชร์ความรู้ มุมมอง ประสบการณ์ เรียนรู้ไปด้วยกัน เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรียนรู้จากเด็ก แล้วก็ไปค้นหาคนดูคนฟังร่วมกัน หาทางพัฒนาเสียงของวงที่เดิมมีความหลากหลายให้สนทนากันผ่านเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้กลมกลืน แต่ไม่เสียเอกลักษณ์ที่เคยมี เช่น แคนไม่ได้มีไว้เป่าเฉพาะเพลงลาว แต่เป่าเพลงของชาติต่าง ๆ ได้ด้วย

นักดนตรีของผมมีทั้งพุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม  มาจากระบบการเมืองที่แตกต่างกันตั้งแต่ประชาธิปไตย เผด็จการ มีกษัตริย์ ไม่มีกษัตริย์ ก็อยู่กันได้ ทำงานด้วยความเชื่อมั่นกันโดยไม่ต้องมีใครเป็นผู้นำคุมอำนาจ  เดินทาง กิน อดด้วยกัน อยู่กันเหมือนครอบครัว ผมก็คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมงานดนตรีตรงนี้เขาจะรักกันไปอีกยาวนาน

วิชา World Music ที่อาจารย์เปิดสอนเปลี่ยนแปลงนักดนตรีไทย ๕๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่

เปลี่ยนได้ ในวิชานี้ไม่พูดถึงดนตรีไทย หลวงประดิษฐฯ โมซาร์ต แต่พูดถึงซีตาร์ของ ระวี แชงการ์ (Ravi Shankar/รวี ศังกร/นักเล่นซีตาร์และนักประพันธ์ชาวอินเดีย) เพลงของเขาไม่ได้ใช้ระบบเสียงแบบดนตรีไทยหรือฝรั่ง แต่เป็นระบบเสียงแบบอินเดีย เรียกว่า “รากา” raga มีชุดเสียงที่อิงกับฤดูกาล วันเวลา ห้วงเวลา ๘ ช่วงใน ๑ วัน อารมณ์ ๙ แบบ

การทำความเข้าใจต้องโยนทฤษฎีและอุปาทานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตกทิ้ง ยังมีแง่มุมการศึกษาเรื่องของดนตรีที่มากกว่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ควรไปศึกษาดูว่าเหมาเจ๋อตง ทำอะไรบ้างกับดนตรีจีนยุคหลังปฏิวัติ เขาตีความเพลงพื้นบ้านอย่างไร จนเอาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ควบคุมดนตรีจีนได้ทั้งประเทศ ทำอย่างไรให้คนต่างมณฑลเข้าใจเรื่องเดียวกันได้

โมซาร์ต
(ปี ๒๒๙๙-๒๓๓๔/ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๙๑) โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) นักดนตรีคลาสสิกชื่อดังชาวออสเตรีย

กลับมาเรื่องการอ้างความเป็นเจ้าของ อาจารย์มองปรากฏการณ์วิวาทะเรื่องนี้อย่างไรในภาพรวม

แม้เป็นการเอาชนะคะคาน แต่การถกเถียงบางอย่างก็น่าสนใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้ ค้นคว้า กลับมาสำรวจความเชื่อมาดูเชิงลึกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ของไทย” เป็นไทยขนาดไหนเป็นโดยธรรมชาติหรือโดยอำนาจฝั่งไหน ผู้ปกครอง ผู้ถือครองมีส่วนถกเถียงหรือไม่ หรือกองเชียร์มาเถียงกัน

ยุคหลังกองเชียร์มีบทบาทน่าตื่นเต้นกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนเรื่องศิลปะ ประเพณี กองเชียร์จะไม่สนใจหรือปล่อยผ่านไป
แต่สงครามชิงทรัพยากร ดินแดน อธิปไตยนี่เรื่องหนักหนามาก ต้องคว้าหอกคว้าดาบขี่ช้างขี่ม้ามาดวลกัน แต่เมื่อเขาตระหนักรู้ว่าสงครามชิงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมก็สำคัญ กองเชียร์กลับเดือดขึ้นอีก สงครามเข้าไปในชีวิตประจำวันพวกเขาด้วย คือทะเลาะกันแล้วก็ขึ้นสเตตัสในแพลตฟอร์มอื่น เฟซบุ๊กทวิตเตอร์ อะไรก็ว่าไป

การเถียงกันเรื่องวัฒนธรรมเป็นของใครส่งผลให้เกิดความร้าวราน ขาดเพื่อนขาดญาติ เช่นกรณีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๕๑/ค.ศ. ๒๐๐๘ อันนั้นก็โกรธกันยาว

ที่น่าหนักใจกว่าคือ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ ควรเปิดพื้นที่ให้คนเรียนรู้ ไม่ใช่พยายามครอบงำ  ที่อันตรายคือครูดนตรีไทย ครูนาฏศิลป์ไทยที่มักเข้าข้างตัวเอง อ้างหลักฐานที่ตัวคิดว่าใช่มาทะเลาะกับเขา เช่นอ้างงานเขียนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง โครงกระดูกในตู้ มาใช้

คุณชายคึกฤทธิ์ทำให้ครูโขนละครดนตรีไทยเชื่อว่าคณะละครสยามของหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เข้าไปในกรุงพนมเปญแล้วเปลี่ยนโขนละครกัมพูชาทั้งประเทศ  ลูกศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ก็พยายามอ้างว่าครูท่านเอาเพลงไทยไปเผยแพร่ในกัมพูชา แต่พอดูเวลาในปฏิทิน มันแค่เดือนเดียวในปี ๒๔๗๓/ค.ศ. ๑๙๓๐ ย่อมเป็นไปได้ยากว่าจะเปลี่ยนทั้งประเทศได้

ที่จริงประวัติศาสตร์ไม่ได้มีด้านเดียว ทศวรรษ ๒๔๗๐ มีวิทยุคลื่นสั้นแล้ว แต่ไม่มีเอกสารบันทึกไว้ว่าเทคโนโลยีช่วยกระจายความรู้อย่างไร สมัยนั้นเสียงเพลงจากไทย พม่า เวียดนาม เดินทางไปตามคลื่นสั้น ข้ามพรมแดนกันไป

เพื่อนนักดนตรีชาวกัมพูชาคนหนึ่งเล่าว่าปู่ของเขาเคยซ้อมดนตรีกับวิทยุที่รับคลื่นจากเมืองไทย ที่ไทยเปิดเพลงอะไรแกก็ซ้อมตรงนั้น แต่นี่ไม่ใช่การลอก เป็นการคุยภาษาดนตรีเดียวกัน ต่อมือซ้อมกัน

ครูดนตรีกัมพูชาของผมที่ SOAS เล่าว่าท่านเกิดที่พระตะบอง ได้อ่านโน้ตร้านดุริยบรรณ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ ได้ดูละครรำคนไทยสมัยเด็ก จะเห็นว่ามันไปถึงกัมพูชามาแทบทุกยุค แต่เรากลับอ้างแค่คุณชายคึกฤทธิ์

Image

คิดว่าวิวาทะจะนำไปสู่ข้อยุติได้หรือไม่

ถ้าระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลคิดว่าคุยกันรู้เรื่อง แต่ถ้าระหว่างประชาชนต้องดูว่ากลุ่มไหน ถ้าเป็นกลุ่มกองเชียร์ยังไงก็คุยไม่รู้เรื่อง เทียบกับคนปฏิบัติ นักดนตรีจะมีวิชา ภาษาที่เชื่อมเข้าหากันได้

กรณีโขน เราอาจคิดว่าการรำโขนของไทยเป็นเอกลักษณ์ แต่ถ้าไปดูลาว พม่า ผมมองว่าไม่ได้แตกต่างกัน โขนจากสองสามชาตินี้เคยขึ้นเวทีร่วมกัน เกาหลีใต้มาช่วยจัด สนุกมาก แต่เขาไปชวนโขนจากอินโดนีเซียมาร่วมด้วย วงแตกเลยเพราะอินโดนีเซียรำเข้มแข็ง มีพลังมาก ดนตรีก็อลังการ พวกโขนจากชาติบนแผ่นดินใหญ่ชิดซ้าย

เคยมีกรณีขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ร่วมกันระหว่างสองชาติในอาเซียนหรือไม่

ไม่เคยมีชัดเจน 

ต้องเข้าใจว่ากระทรวงวัฒนธรรมแต่ละประเทศยึดกับความเป็นชาติและเอกลักษณ์ของตัวเอง มีพันธกิจเพื่อชาติและอธิปไตย ถ้าขึ้นร่วมกันก็คงมีปัญหาอีกแบบ

ลองคิดดู กรณีโขน ถ้าไทย กัมพูชา พม่า ลาว ขึ้นร่วมกันต้องสลายภาษา สลายกระบวนการการศึกษาของแต่ละประเทศ ยังมีรายละเอียดประเพณีที่ไม่เข้าใจกัน เช่น ไทยกับกัมพูชาบอกว่าต้องไหว้ครู ต้องมีบทอาศิรวาท แต่พม่าบอกฉันไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้ว ลาวก็ไม่มีแล้ว

ถ้าเอาแค่โขนต้อนรับนักท่องเที่ยว ภารกิจแบบนี้จีนก็ทำได้อาจก้าวหน้ากว่า เพราะเรื่องพวกนี้เรียนรู้กันได้  จีนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของหนึ่งในหลายเผ่าที่เขามี แถมไม่ได้สนใจเอาไปจดทะเบียนด้วยซ้ำ

ได้ยินว่าอาจารย์ทำงานเกี่ยวข้องกับ ICH ในส่วนของไทยด้วย

ผมเป็นตัวเล็ก ๆ ในกลไกนั้น เขามีคณะกรรมการภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีคณะอนุกรรมการมรดกภูมิปัญญา ด้านศิลปะการแสดง ฯลฯ เพื่อเตรียมส่งเรื่องขึ้นทะเบียน ICH
ผมอยู่ในส่วนกรรมการศิลปะการแสดง จะมีวาระว่าช่วงปีนี้เราพยายามจะดันเรื่องอะไร

ตอนเริ่มขึ้นทะเบียนโขนก็มีการมอบหมายให้มีคณะกรรมการเรียบเรียงเอกสาร คณะกรรมการตรวจสอบ แบ่งบทบาทกันผมเคยอยู่ในส่วนของการตรวจสอบ เขาจะมาซ้อมนำเสนอเราก็ตั้งคำถามให้เขากลับไปแก้ ก่อนจะส่งไปที่ยูเนสโก

จริง ๆ มีกรรมการส่วนอื่นด้วย เช่น กรรมการกฎบัตรกรรมการที่รับงานส่งเสริม ไปหาว่าทำอะไรได้บ้าง ตรงกับจุดประสงค์ยูเนสโกข้อไหน มีกรรมการที่ดูว่าจะส่งต่อไปยังสถาบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร เช่น มองว่าควรไปทำงานกับเด็กระดับมัธยมฯ อนุปริญญา ปริญญาตรี จะทำให้เขาเป็นพลเมืองโขนในอุดมคติได้อย่างไร จะอบรมอย่างไร จะใส่อุดมการณ์อย่างไรให้เขารักบ้านเมืองด้วยการมีส่วนร่วมกับ
การแสดงโขน

มีการเชิญศิลปินแห่งชาติมาอยู่ในกระบวนการ ซึ่งส่วนมากก็จะคิดกันว่ารับน้ำลายสืบทอดต่อกันไป จะเห็นว่ามีการทำงานต่อเนื่องหลังขึ้นทะเบียน อย่างปีนี้ ๒๕๖๕ ศิลปินแห่งชาติก็ต้องมีด้านโนรา ต่อไปอาจสถาปนาหลักสูตรโนราในระบบการศึกษา ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไปต่อได้ สายวิจัยจะวิจัยอะไรที่นำโนรามาพัฒนาเศรษฐกิจสังคม มีการให้ทุน คิดจนถึงนโยบายจังหวัดที่อ้างว่าเป็นแหล่งกำเนิด เช่น ทำเป็นศูนย์โนรา แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาชุมชนด้วยโนรา ฯลฯ

เราจะเห็นสื่อทีวีช่อง Thai PBS ลงไปทำเรื่องโนราในพื้นที่จริงจังมาก เพื่อบอกว่าเขาคือทีวีวัฒนธรรม ไม่ต่างกับ NHK
(ญี่ปุ่น) อารีรังทีวี (เกาหลีใต้) ที่มีจุดขายเรื่องนี้  พวกนี้คือผลจากยูเนสโก

การขึ้นทะเบียน ICH จริง ๆ เกิดผลดีหรือไม่

มีทั้งข้อดีและข้อน่าวิตก  ข้อดี เกิดการตื่นเต้นยินดีหากได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จริง ๆ เอามาตรฐานยูเนสโกมาวัดก็เป็นเรื่องผิด จะวัดกันจริงต้องดู TikTok มากกว่า ยูเนสโกนี่กว่าจะขึ้นทะเบียนใช้ระบบเก่ามาก เอาคนแก่มาประชุมช่วงปลายปี อ่านเอกสาร ถ้าถูกใจเรื่องนั้นก็ได้เข้ารอบ

แต่คำว่ายูเนสโกก็มีความหมาย มาพร้อมกับโอกาสคิดเรื่องการอนุรักษ์และส่งต่อความรู้ การถือครองไปยังหลากหลายวงการ

กรณีโขน (ขึ้นทะเบียนปี ๒๕๖๑/ค.ศ. ๒๐๑๘) นวดไทย (ขึ้นทะเบียนปี ๒๕๖๒/ค.ศ. ๒๐๑๙) กระทั่งล่าสุด โนรา (ขึ้นทะเบียนปี ๒๕๖๔/ค.ศ. ๒๐๒๑) น่าสนใจคือ พอโนราขึ้นทะเบียน ทำให้สายตาคนที่ภูมิใจในโขนลดความเย่อหยิ่ง เพราะเท่ากับโนราพื้นบ้านได้รับการยอมรับว่าดีไม่แพ้โขน แม้จะไม่ได้อยู่ในราชสำนัก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชูปโภคโนรายังเป็นปฏิบัติการทางสังคม ไม่ได้มีแค่รำสวยเครื่องงาม แต่เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคในยุคที่ยังไม่มีแพทย์แผนใหม่ในแง่กำลังใจ ให้ความบันเทิงผู้คน ทำให้คนที่ได้ยินเสียงปี่กลองต้องไปฟังไปดู แล้วก็เป็น FC ตลอดชีวิต นี่ยังอาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้หมอลำพัฒนาตัวเองหลังโดนรัฐทำลายความมั่นใจไปมาก ก่อนนี้โดนมองว่าเป็นโลกของคนชั้นล่าง ทั้ง ๆ ที่หมอลำพัฒนาไปไกลยิ่งกว่าดนตรีไทย เล่นเพลงแนวไหนก็ได้คนดูหมอลำก็มีส่วนร่วมมากกว่า ลองนึกดูว่าคอนเสิร์ตหมอลำสุดยอดขนาดไหน

ข้อน่าวิตกคือ ขึ้นทะเบียนแล้วอาจติดกับดักเรื่อง “อนุรักษ์” แบบไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงแล้วเช่นคนรำโนราไม่ได้มีแต่ผู้ชายแท้ มี LGBTQ+ เต็มไปหมด ยังมีกติกาห้ามผู้หญิงผูกจุกครอบครูโนราคนต่อไป เรื่องพวกนี้ต้องเปลี่ยน ต้องคิดว่าโนราไทยจะสื่อสารอะไรให้ชัด นี่ยังเป็นโอกาสพัฒนาสินค้า ลูกปัดโนราทำของประดับได้หรือไม่ ผู้ว่าฯที่กระทรวงมหาดไทยส่งลงไปจังหวัดที่มีโนรา สักแต่ส่งไม่ได้ต้องอบรมให้ความรู้ ต้องมีวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรม ยังไม่นับอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ที่มีโนรา ที่จริงก็ไม่ควรขังโนราไว้แค่ภาคใต้ เพราะกรณีอย่างหมอลำโปงลางหาได้ทุกภูมิภาค กรุงเทพฯ ก็มี ภูเก็ต เชียงใหม่ ก็มีหมอลำ

การได้รับการยกย่องจากยูเนสโกยังเป็นโอกาสของคนที่ทำงานสายศิลปะนั้น ๆ ศึกษาให้ถ่องแท้ ลึกซึ้ง รวบรวมองค์ความรู้ วิจัย ต่อยอด สร้างคนรุ่นต่อไปด้วยประสบการณ์นอกตำรา ความท้าทายคือเราจะอยู่ในเส้นกั้นประเทศเท่านี้ หรือจะเปิดพรมแดนออกไป แบ่งปันสิ่งที่เป็นมรดกร่วมกับเพื่อนบ้าน

กรณีโขน ก็คือการทำงานกับกัมพูชา พม่า ลาว กระทั่งอินโดนีเซียที่เริ่มเล่นรามายณะมาก่อนรัฐบนภาคพื้นทวีป เราจะสานสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความรู้อย่างไร การแลกเปลี่ยนจะทำให้อยู่ร่วมกันด้วยสันติอย่างไร

ศิลปะจะเป็นโจทย์ที่ทำให้คนในเส้นทางนี้ รวมถึงกองเชียร์มาถกกัน เพราะที่ผ่านมา การขึ้น ICH มีทะเลาะกันอยู่แล้วแต่การทะเลาะหรือถกเถียงที่ไม่ได้นำไปพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ก็มีแต่รบกัน เคารพกันในความแตกต่างบ้างได้หรือไม่

หลายคนจำภาพติดตาว่ายังมีกลุ่มอนุรักษนิยมไม่ยอมให้ประยุกต์หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เช่นกรณีของโขน

พวกโขนหลวงจะพูดมาก โดยเฉพาะแนวคิด “ของกู” การอิงราชสำนัก ในความเป็นจริงโขนหลวงเกี่ยวโยงกับโขนชาวบ้าน (โขนสด) ด้วย พวกโขนสดจะรำหย็องแหย็ง เพราะพื้นมันร้อน เปิดหน้าคนเล่น เพราะไม่มีนักพากย์ช่วย บทก็ไม่มีต้องด้นสด ถ้าคนโขนหลวงเข้าใจ ไม่ดูถูก จะเกิดแรงสนับสนุนอีกมาก เรื่องนี้ต้องเอื้อกับคนส่วนมาก เปิดใจได้หรือไม่ที่โขนจะถูกปรับในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แตะนิดเดียวต้องขอขมา

Image

อย่างกรณีของผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ บัณฑิต ทองดี และนักร้องนักแสดง ธชย ประทุมวรรณ (นำตัวละครใน รามเกียรติ์อย่างเช่นทศกัณฐ์มาแสดงใน MV ส่งเสริมการท่องเที่ยว จนเกิดดรามา และปรากฏภาพขอโทษศิลปินแห่งชาติด้านโขนภายหลัง) พิเชษฐ กลั่นชื่น (ตีความการแสดงโขนให้ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ใส่หัวโขนแล้วใส่แต่กางเกงใน เป็นต้น) ที่โดนต่อว่าข้อหาทำลายวัฒนธรรม

แต่เดิมโขนเป็นเรื่องของลูกชาวบ้านฝึกฝน มีเรื่องราวมากกว่าการแสดงถวายเจ้านาย ใครทำเรื่องโขนต้องมีความรู้ทางช่าง กว่าจะทำหัวโขนได้ต้องปั้น สลัก เขียน กลึง ฯลฯ งานหนักทุกขั้นตอน แต่เมื่อกลายเป็นของมูลค่าสูง หรูหรา จะให้คนรุ่นใหม่สนใจก็ยาก คำถามคือ อยากจะให้เข้าถึงประชาชนวงกว้างจะยอมไหม ก็ไม่ยอม เพราะเอาหัวโขนไปผูกติดการไหว้ครู กลัวกันมาก

ผมกลับมองว่าต้องแยกระหว่างพิธีกรรมและสัญญะ อันหลังหมายถึงการแสดง การทดลอง ผมเคยเห็นเด็กเรียนเต้นโขนไม่ใส่หัวโขน เพราะกลัวชำรุด พอถึงวันแสดงใส่หัวโขนรำไม่ได้เรื่อง เพราะเครียด กดดันมาก จนลืมท่ารำ แสดงต่อไปในร่างตัวโขนไม่ได้ ผมเสียใจแทนเขา เหมือนคนไม่เคยใส่สูท ไปใส่สูทมันก็สูญเสียความเป็นตัวเอง จึงคิดต่อว่าเขียนหน้าแบบงิ้วได้ไหม ทำหน้ากากง่าย ๆ ได้ไหม

บัณฑิต ทองดี (อ๊อด) 
ผู้กำกับภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอ ในช่วงปลายปี ๒๕๕๙/ค.ศ. ๒๐๑๖ เกิดกรณีดรามา MV “เที่ยวไทยมีเฮ” ที่เขาทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำตัวละครใน รามเกียรติ์ คือ ทศกัณฐ์ นางสีดา และเหล่ายักษ์ ตระเวนไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จนเกิดเสียงวิจารณ์ (โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ว่าเป็นการ “ทำลายวัฒนธรรมชาติ”  ต่อมาปรากฏภาพกราบขอโทษ จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ปี ๒๕๕๒ โดยเจ้าตัวระบุว่าเป็นการ “กราบขอโทษส่วนบุคคล” ไม่ใช่ขอโทษกลุ่มคนที่คัดค้านสั่งแก้ เขายืนยันว่าเป็นการนอบน้อม มิใช่การ “ยอมแพ้”

มีวรรณกรรม ภาพยนตร์ ที่นำทศกัณฐ์ หนุมาน ไปตีความใหม่ ผมชอบแอนิเมชันเรื่อง ยักษ์ มาก สนุกกว่ายุคคุณสมโภช แสงเดือนฉาย ทำหนัง  กรณีคุณจิตติ ชมพี ออกแบบงานเต้นร่วมสมัยก็น่าสนใจ เขาสวมหัวโขน แต่ใส่สูทแสดง เปลี่ยนมุมมองเรื่องฉาก โคตรมัน เพราะมีวัฒนธรรมที่เรารับมาทั้งสองทาง สูทก็มาจากเจ้าอาณานิคม เครื่องทรง หัวโขน ก็มาจากอินเดีย คนเหล่านี้ตีความ ทำไมเราต้องขัดขวาง

ผมพูดบ่อยเรื่องโขนพระราชทานว่าชนชั้นนำยึดโขนไปไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำไมเราต้องบังคับให้ทศกัณฐ์เป็นแบบเดิมไปตลอด การขอโทษของคุณบัณฑิตต่อศิลปินแห่งชาติด้านโขน ก็ไม่ได้อธิบายว่าจะทำให้โขนกลับมาอยู่ในความสนใจได้อย่างไรอาจมีคำถามว่าประยุกต์มาก ๆ แล้วโขนจะเหลืออะไร

ผมคิดว่าเราต้องหา “หัวใจของโขน” ให้เจอ ทำเป็นละครหน้ากากได้หรือไม่ ทำเป็นงานโฆษณาได้หรือไม่ ลดทอนความเป็นเปลือกให้ได้แก่นอย่างงานของ พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้หรือไม่หรือที่ครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน) ทำ “โขนหารสอง” เป็นทางเลือกได้หรือไม่ หรือมองว่าโขนเป็นแค่การแสดงเชิงพิธีกรรมการแสดงศักดิ์สิทธิ์ วรรณกรรมชั้นสูง

ทุกวันนี้พิธีกรรมตายแล้ว วรรณกรรมชั้นสูงหมดเวลาแล้ว คนดูชั้นล่างมีมากกว่าคนชั้นสูง จะมีสิทธิ์เอาโขนไปทำเป็นลิเกหรือหมอลำได้หรือไม่ ที่ผ่านมาคนไม่กล้าทำ เพราะคิดว่าโขนราชสำนักคือเจ้าของ รามเกียรติ์ แบบนี้ใจร้ายเกินไป

จะทำอย่างไรกับกลุ่มคนที่ยังทำตัวเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

คนพวกนี้จะหมดไปทีละน้อย แต่นโยบาย แนวคิดอย่างหนังสือ วัฒนธรรม ที่เขียนโดย พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) อาจยังไม่ตาย แต่ค่อย ๆ คลี่คลาย เพราะมีส่วนเอื้อเรื่องความรู้ แต่อย่าลืมว่าสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนเรื่องโขนก็มีวิชาคู่ขนาน เช่น นาฏศิลป์สร้างสรรค์ ดนตรีสร้างสรรค์ คอมพิวเตอร์กราฟิก โฆษณาประชาสัมพันธ์ ของเหล่านี้พิสูจน์ว่ามันย่อยง่ายและนำไปใช้งานได้ง่ายกว่า

การขึ้นทะเบียน ICH ผมหวังว่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนเหล่านี้ทบทวนหลายเรื่อง เช่น ระหว่างใช้ชุดโขนที่ต้องผลิตกันนานนับเดือน ราคาสูง กับใช้ชุดแบบง่าย ออกแบบกันใหม่ได้ไหม เปลี่ยนแม่ท่าร่ายรำเต้นได้ไหม แต่คุณภาพศิลปะยังแข็งแกร่งเหมือนเดิม การใช้ภาษาเปลี่ยนไป แต่ถ้ารักษาหัวใจของบทละครได้ แก่นสัจธรรมยังอยู่เหมือนเดิม เปลี่ยนวิธีการดูโขนเต้น ๆ รำ ๆ เป็นสายตาแบบอื่นจะดีกว่าหรือไม่ในโลกยุคนี้

พระยาอนุมานราชธน 
(ปี ๒๔๓๑-๒๕๑๒/ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๖๙) ชื่อจริง ยง เสฐียรโกเศศ เป็นนักการศึกษา มีบทบาทด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในช่วงที่ทำงานกับกรมศิลปากร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ชาวไทย) เมื่อปี ๒๕๓๑ ตามการเสนอของรัฐบาลไทย

โนราขึ้นทะเบียนปลายปี ๒๕๖๔ รัฐควรทำอะไรต่อไปในอนาคต

ส่งเสริมสร้างโนราพันธุ์ใหม่ ที่สื่อสารด้วยภาษาสากลกับกลุ่มประเทศที่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องเดียวกันได้ ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาภาษาอังกฤษของคนโขน คนโนรา เพิ่มเติมบุคลากรทางวิชาการ งานค้นคว้าวิจัย ต้องมีมากกว่าประวัติ เช่น วิจัยเรื่องเทคโนโลยี การตลาด ประยุกต์ทักษะ การออกแบบผลิตภัณฑ์โนรา  ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีโนราอยู่ต้องมีความรู้ มีวิสัยทัศน์เรื่องนี้  อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ที่มีโนราต้องหาทุนสนับสนุน หาทางเผยแพร่งานวิจัย นี่คือแต้มต่อมหาวิทยาลัย เราต้องการคนอย่าง “เสนีย์ เสาวพงศ์” (นักการทูตที่มีความรู้เรื่องวรรณกรรม) ไปดูแลพื้นที่บุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต้องมองใหม่ คนเล่นโนราถึงวัยหนึ่งจะข้อเข่าเสีย ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีสวัสดิการให้คนที่ไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติ ถ้ามีจะช่วยคนทำงานด้านนี้ได้มาก ที่ผ่านมาโรงพยาบาลท้องถิ่นช่วยคนเหล่านี้ไม่ทันหลายคน กระทั่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็ทำประโยชน์ได้ เช่นทำหมู่บ้านวัฒนธรรม เปลี่ยนพัทลุงดินแดนโนราให้เป็นพื้นที่คล้ายดิสนีย์แลนด์ ให้คนไปดิสนีย์แลนด์โนรา มีพิพิธภัณฑ์ มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดนี้ยูเนสโกไม่ได้บอกให้ทำ แต่นี่คือการคิดต่อเนื่องจากทุนทางวัฒนธรรมที่เรามี

ถ้าจะขึ้นทะเบียน ICH อีก มองว่าปัญหาในกระบวนการของไทยคืออะไร

ที่ผ่านมาเราขายของใหญ่ ละทิ้งของเล็ก พอพูดว่ามรดกภูมิปัญญาไทยก็มองข้ามคนร่วมแผ่นดิน กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กะเหรี่ยง ลัวะ อาข่า มูเซอ ไทใหญ่ ฯลฯ

ที่จริงการแสดงของไทใหญ่ “ฟ้อนนกกิงกะหร่า” ก็เป็นญาติโนรา แต่เรากลับไม่นับรวม คนไทใหญ่อยู่ในไทย สิ่งที่แสดงถึงจิตวิญญาณเขาคือการแสดงชนิดนี้ ไทยมองว่าไทใหญ่มาจากรัฐฉาน ก็ปล่อยให้พม่าขึ้นทะเบียนไปดีกว่า เดี๋ยวมีปัญหา แต่กลายเป็นพม่าก็ไม่สนับสนุนคนรัฐฉานเรื่องการศึกษา เรื่องศิลปะ ในที่สุดนกกิงกะหร่าก็คงตายไปเองหรืออยู่เป็นของแสดงอวดนักท่องเที่ยวที่มาไทย ก็พูดไม่ได้ว่าใครจะอุปถัมภ์ค้ำชู

มวยไทย ถ้าจะขึ้นทะเบียน ICH จะอวดเรื่องอะไรแน่ และ
จะปกปิดความจริงว่ามีโลกการพนัน ธุรกิจค้ามนุษย์ และผลประโยชน์แอบแฝงอื่น ๆ ที่เกาะอยู่กับมวยไทยหรือไม่ เพราะมันไม่ใช่แค่ศิลปะป้องกันตัวที่สืบทอดมาแต่โบราณเท่านั้นแต่มีมุมมืดไม่ต่างจากกีฬาชนิดอื่น

ย้อนกลับมาที่ดนตรีไทย เรากีดกันแคน สะล้อ กันตรึม เตหน่า มาตลอด วงปี่พาทย์มอญก็ไม่มีวันที่จะได้ขึ้นทะเบียนเพราะมีคำว่ามอญอยู่ด้วย ทั้งที่พัฒนากันในประเทศไทยเหมือนคำว่าแตรวง  นักดนตรีไทยใช้วงปี่พาทย์มอญหากินเลี้ยงชีพได้ชัดเจนกว่าปี่พาทย์ไทย เพราะทุกวัดต้องเผาผี โรงลิเกต้องใช้ จะเอาไว้ประชันแข่งขันแบบในภาพยนตร์ โหมโรง
เท่านั้นหรือ จะห้ามเล่นเพลงลูกทุ่ง เพลงป็อป ห้ามร้องฮิปฮอปต้องเพลงไทยเท่านั้น แล้วคนยุคนี้จะฟังรู้เรื่องหรือ

ยูเนสโกไม่มีวันทราบความจริงเรื่องนี้ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิในไทยนั่นแหละที่ไม่ยอมรับความจริง